ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 16อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 25 / 18อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗

หน้าต่างที่ ๒ / ๑๐.

               ๒. เรื่องพระมหากัสสปเถระ [๗๒]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุยฺยุญฺชนฺติ" เป็นต้น.

               ธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าผู้จะเสด็จจาริก               
               ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ รับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "โดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน เราจักหลีกไปสู่ที่จาริก."
               ได้ยินว่า การรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "บัดนี้ เราจักหลีกไปสู่ที่จาริกโดยกาลล่วงไปกึ่งเดือน" ดังนี้ ด้วยทรงประสงค์ว่า "ภิกษุทั้งหลายจักทำกิจต่างๆ มีการระบมบาตรและย้อมจีวรเป็นต้นของตนแล้ว จักไปตามสบายด้วยอาการอย่างนี้" นี้เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีพระประสงค์จะเสด็จจาริกไปกับพวกภิกษุ.
               ก็เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังทำกิจต่างๆ มีการระบมบาตรเป็นต้นของตนอยู่. แม้พระมหากัสสปเถระก็ซักจีวรทั้งหลายแล้ว.

               พวกภิกษุว่าพระเถระละญาติและอุปัฏฐากไปไม่ได้               
               พวกภิกษุยกโทษว่า "เพราะเหตุไร พระเถระจึงซักจีวร? ในพระนครนี้ ทั้งภายในและภายนอก มีมนุษย์อาศัยอยู่ ๑๘ โกฏิ บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดไม่เป็นญาติของพระเถระ พวกนั้นเป็นอุปัฏฐาก, พวกใดไม่เป็นอุปัฏฐาก พวกนั้นเป็นญาติ, ชนเหล่านั้นย่อมทำความนับถือ (และ) สักการะแก่พระเถระด้วยปัจจัย ๔, พระเถระนั้นจักละอุปการะมีประมาณเท่านั้น ไป ณ ที่ไหนได้ แม้หากพึงไปได้ ก็จักไม่ไปเลยจากซอกชื่อมาปมาทะ.
               ดังได้สดับมา พระศาสดาเสด็จถึงซอกใดแล้ว ย่อมตรัสบอกภิกษุทั้งหลาย ผู้ควรที่พระองค์พึงให้กลับอีกว่า "เธอทั้งหลายจงกลับเสียแต่ที่นี้, อย่าประมาท" ซอกนั้นชาวโลกเรียกว่า "ซอกมาปมาทะ", คำนั่น ภิกษุทั้งหลายกล่าวหมายเอาซอกมาปมาทะนั้น.

               รับสั่งให้พระมหากัสสปกลับ               
               แม้พระศาสดาเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกพลางดำริว่า "ในนครนี้ทั้งภายใน ทั้งภายนอก มีมนุษย์อยู่ ๑๘ โกฏิ อันภิกษุจะต้องไปในที่ทำการมงคลและอวมงคลของมนุษย์ทั้งหลายมีอยู่, เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้ เราจักให้ใครหนอแลกลับ."
               ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า "ก็พวกมนุษย์เหล่านั้น เป็นทั้งญาติเป็นทั้งอุปัฏฐากของกัสสป, เราควรให้กัสสปกลับ." พระองค์ตรัสกะพระเถระว่า "กัสสป เราไม่อาจทำวิหารให้เปล่าได้, ความต้องการด้วยภิกษุ ในที่ทำมงคลและอวมงคลทั้งหลาย ของพวกมนุษย์มีอยู่, เธอกับบริษัทของตน จงกลับเถิด." พระเถระทูลว่า "ดีละ พระเจ้าข้า" แล้วพาบริษัทกลับ.
               ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเห็นไหมละ พวกเราพูดประเดี๋ยวนี้เองมิใช่หรือ? คำที่พวกเราพูดว่า ‘เพราะเหตุไร พระมหากัสสปจึงซักจีวร? ท่านจักไม่ไปกับพระศาสดา’, ดังนี้นั่นแลเกิด [เป็นจริง] แล้ว."

               ทรงชี้แจงเหตุที่พระมหากัสสปกลับ               
               พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายแล้ว เสด็จกลับประทับยืน ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวชื่ออะไรกันนั่น?" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "พวกข้าพระองค์กล่าวปรารภพระมหากัสสปเถระ พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตามแนวความที่ตนกล่าวแล้วนั่นแล.
               พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าว (หา) กัสสปว่า ‘ข้องแล้วในตระกูลและในปัจจัยทั้งหลาย’, (แต่ความจริง) เธอกลับแล้ว ด้วยทำในใจว่า ‘เราจักทำตามคำของเรา (ตถาคต)’. ก็กัสสปนั่น แม้ในกาลก่อน เมื่อจะทำความปรารถนานั่นแล ก็ได้ทำความปรารถนาว่า ‘เราพึงเป็นผู้ไม่ข้องในปัจจัย ๔ มีอุปมาดังพระจันทร์สามารถเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายได้’, กัสสปนั่นไม่มีความข้องในตระกูลหรือในปัจจัยทั้งหลาย, เราเมื่อจะกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์ และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ ก็กล่าวอ้างกัสสปให้เป็นต้น."

               พระศาสดาตรัสบุรพจริตของพระเถระ               
               ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระศาสดาว่า ก็พระเถระตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร? พระเจ้าข้า.
               พระศาสดา. พวกเธอประสงค์จะฟังหรือ? ภิกษุทั้งหลาย.
               พวกภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก" ดังนี้แล้ว ตรัสความประพฤติในกาลก่อนของพระเถระทั้งหมด ตั้งต้นแต่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ.
               บุรพจริตนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ให้พิสดารแล้ว ในพระบาลีอันแสดงประวัติของพระเถระนั่นแล้ว.

               ตรัสเปรียบพระเถระด้วยพระยาหงส์               
               ก็พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพจริตของพระเถระนี้ให้พิสดารแล้ว จึงตรัสว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย เพราะอย่างนี้แล เราจึงกล่าวข้อปฏิบัติอันเปรียบด้วยพระจันทร์และข้อปฏิบัติแห่งวงศ์ของพระอริยะ อ้างเอากัสสปบุตรของเราให้เป็นต้น. ชื่อว่าความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา. บุตรของเราไม่ข้องในอะไรๆ เลย เหมือนพระยาหงส์ ร่อนลงในเปือกตม เที่ยวไปในเปือกตมนั้นแล้ว ก็บินไป ฉะนั้น" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๒. อุยฺยุญฺชนฺติ สติมนฺโต    น นิเกเต รมนฺติ เต
                         หํสาว ปลฺลลํ หิตฺวา    โอกโมกํ ชหนฺติ เต.
                         ท่านผู้มีสติย่อมออก, ท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่
                         ท่านละความห่วงใยเสีย เหมือนฝูงหงส์ละเปือก
                         ตมไปฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อุยฺยุญฺชนฺติ สตีมนฺโต ความว่า ท่านผู้ถึงความไพบูลย์แห่งสติ คือว่าท่านผู้มีอาสวะสิ้นแล้วย่อมขวนขวาย ร่ำอยู่ในคุณอันตนแทงตลอดแล้ว มีฌานและวิปัสสนาเป็นต้น ด้วยนึกถึง ด้วยเข้าสมาบัติ ด้วยออกจากสมาบัติ ด้วยตั้งใจอยู่ในสมาบัติและด้วยพิจารณาถึง.
               บาทพระคาถาว่า น นิเกเต รมนฺติ เต คือ ชื่อว่าความยินดีในที่ห่วงของท่าน ย่อมไม่มี.
               บทว่า หํสาว นี้ เป็นแง่แห่งเทศนา.
               ก็นี้ความอธิบายในคำนี้ว่า :-
               ฝูงนกถือเอาเหยื่อของตน ในเปือกตมอันบริบูรณ์ด้วยเหยื่อแล้ว ในเวลาไปไม่ทำความห่วงสักหน่อยในที่นั้นว่า "น้ำของเรา, ดอกปทุมของเรา, ดอกอุบลของเรา, ดอกบุณฑริกของเรา, หญ้าของเรา" หาความเสียดายมิได้เทียว ละประเทศนั้น บินเล่นไปในอากาศ ฉันใด:
               พระขีณาสพทั้งหลายนั่น ก็ฉันนั้นแล แม้อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ข้องแล้วในสกุลเป็นต้นเทียวอยู่ แม้ในคราวไป ละที่นั้นไปอยู่ หาความห่วงหา ความเสียดายว่า "วิหารของเรา, บริเวณของเรา, อุปัฏฐากของเรา" มิได้เทียว ไปอยู่.
               บทว่า โอกโมกํ คือ อาลัย, ความว่า ละความห่วงทั้งปวงเสีย.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องพระมหากัสสปเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 16อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 25 / 18อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=515&Z=543
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=21&A=1085
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=21&A=1085
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :