ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 16อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 25 / 18อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗

               ๗. อรหันตวรรควรรณนา               
               ๑. เรื่องหมอชีวก [๗๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในสวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงปรารภปัญหาอันหมอชีวกทูลถามแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "คตทฺธิโน" เป็นต้น.

               พระเทวทัตทำโลหิตุปบาทกรรม               
               เรื่องหมอชีวก ท่านให้พิสดารในขันธกะแล้วแล.
               ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พระเทวทัตเป็นผู้ร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรู ขึ้นสู่เขาคิชฌกูฏ มีจิตคิดร้าย คิดว่า "เราจักปลงพระชนม์พระศาสดา" จึงกลิ้งหินลง. ยอดเขา ๒ ยอด รับหินนั้นไว้. สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้น กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระโลหิตให้ห้อแล้ว. เวทนากล้าเป็นไปแล้ว.

               หมอชีวกทำการพยาบาลแผล               
               ภิกษุทั้งหลายนำพระศาสดาไปยังสวนมัททกุจฉิ. พระศาสดามีพระประสงค์จะเสด็จ แม้จากสวนมัททกุจฉินั้นไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก จึงตรัสว่า "เธอทั้งหลายจงนำเราไปในสวนมะม่วงของหมอชีวกนั้น." พวกภิกษุได้พาพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวกแล้ว.
               หมอชีวกทราบเรื่องนั้น ไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายเภสัชขนานที่ชะงัด เพื่อประโยชน์กำชับแผล พันแผลเสร็จแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ประกอบเภสัชแก่มนุษย์ผู้หนึ่งภายในพระนคร, ข้าพระองค์จักไปยังสำนักของมนุษย์นั้นแล้ว จัก (กลับ) มาเฝ้า นี้จงตั้งอยู่โดยนิยามที่ข้าพระองค์พันไว้นั่นแหละ จนกว่าข้าพระองค์จะกลับมาเฝ้า."
               เขาไปทำกิจที่ควรทำแก่บุรุษนั้นแล้ว กลับมาในเวลาปิดประตู จึงไม่ทันประตู. ทีนั้น เขาได้มีความวิตกอย่างนี้ว่า "แย่จริง เราทำกรรมหนักเสียแล้ว, ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัด พันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้า ดุจคนสามัญ๑- เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น, เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้, ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า จักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง."
____________________________
๑- อญฺญตรสฺส แปลว่า คนใดคนหนึ่ง.

               แผลของพระศาสดาหายสนิท               
               ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า รับสั่งว่า "อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู, ก็เขาคิดว่า ‘เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล’, เธอจงแก้แผลนั้น." พระเถระแก้แล้ว. แผลหายสนิท ดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้.

               พระอรหันต์ไม่มีความเร่าร้อนใจ               
               หมอชีวกมายังสำนักพระศาสดาโดยเร็ว ภายในอรุณนั่นแล ทูลถามว่า "พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่?" พระศาสดาตรัสว่า "ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่ควงโพธิพฤกษ์นั่นแล" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๑. คตทฺธิโน วิโสกสฺส    วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
                         สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส    ปริฬาโห น วิชฺชติ.
                         ความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว
                         หาความเศร้าโศกมิได้ หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง
                         ผู้ละกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้แล้ว.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คตทฺธิโน ได้แก่ ผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว. ชื่อว่าทางไกลมี ๒ อย่าง คือ ทางไกลคือกันดาร ทางไกลคือวัฏฏะ, บรรดาทางไกล ๒ อย่างนั้น ผู้เดินทางกันดาร ยังไม่ถึงที่ๆ ตนปรารถนาเพียงใด ก็ชื่อว่าผู้เดินทางไกลเรื่อยไปเพียงนั้น, แต่เมื่อทางไกลนั้นอันเขาถึงแล้ว ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีทางไกลอันถึงแล้ว,
               ฝ่ายสัตว์ทั้งหลายแม้ผู้อาวัฏฏะ, ตนยังอยู่ในวัฏฏะเพียงใด ก็ชื่อว่าผู้เดินทางไกลเรื่อยไปเพียงนั้น,
               มีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร?
               แก้ว่า เพราะความที่วัฏฏะอันตนยังให้สิ้นไปไม่ได้. แม้พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ก็ชื่อว่าผู้เดินทางไกลเหมือนกัน, ส่วนพระขีณาสพยังวัฏฏะให้สิ้นไปได้แล้วดำรงอยู่ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีทางไกลอันถึงแล้ว แก่พระขีณาสพนั้นผู้มีทางไกลอันถึงแล้ว.
               บทว่า วิโสกสฺส คือ ชื่อว่าผู้หาความเศร้าโศกมิได้ เพราะความที่ความเศร้าโศกมีวัฏฏะเป็นมูลปราศจากไปแล้ว.
               บาทพระคาถาว่า วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ คือ ผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง.
               บาทพระคาถาว่า สพฺพคนฺถปฺปหีนสฺส คือ ชื่อว่าผู้ละกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้ เพราะความที่กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่างอันตนละได้แล้ว.
               บาทพระคาถาว่า ปริฬาโห น วิชฺชติ ความว่า ความเร่าร้อนมี ๒ อย่าง คือความเร่าร้อนเป็นไปทางกายอย่าง ๑ ความเร่าร้อนเป็นไปทางจิตอย่าง ๑. บรรดาความเร่าร้อน ๒ อย่างนั้น ความเร่าร้อนเป็นไปทางกาย ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ ด้วยสามารถแห่งผัสสะมีหนาวและร้อนเป็นต้น ยังไม่ดับเลย,
               หมอชีวกทูลถามหมายถึงความเร่าร้อนอันเป็นไปทางกายนั้น. แต่พระศาสดาทรงพลิกแพลงพระเทศนาด้วยสามารถแห่งความเร่าร้อนอันเป็นไปทางจิต เพราะความที่พระองค์เป็นผู้ฉลาดในเทศนาวิธี เพราะความที่พระองค์เป็นพระธรรมราชาจึงตรัสว่า "ชีวกผู้มีอายุ ก็โดยปรมัตถ์ ความเร่าร้อน ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพผู้เห็นปานนั้น."
               ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องหมอชีวก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 16อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 25 / 18อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=515&Z=543
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=21&A=1085
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=21&A=1085
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :