ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               เรื่องมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา               
               ในการพรรณนามงคลสูตรนั้น เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งมาติกาหัวข้อไว้ว่า เมื่อจะพรรณนาความแห่งปาฐะ มีอาทิว่า เอวํ โดยประการต่างๆ จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุ ดังนี้ นี้เป็นโอกาสที่จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุนั้น ฉะนั้น จะกล่าวถึงสมุฏฐานมูลเหตุเกิดมงคลปัญหาเสียก่อนแล้วภายหลัง จึงจักพรรณนาความแห่งบทคาถาเหล่านี้.
               เล่ากันมาว่า ในชมพูทวีป มหาชนชุมนุมกันในที่นั้นๆ เช่น ใกล้ประตูเมือง สภาแห่งสถานราชการเป็นต้น มอบทรัพย์สินเงินทอง ให้เขาเล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องนำนางสีดามาเป็นต้น. เรื่องหนึ่งๆ เล่าอยู่ถึง ๔ เดือนจึงจบ. ในสถานที่นั้น วันหนึ่ง เรื่องมงคลปัญหาก็เกิดขึ้นว่า อะไรเล่าหนอ เป็นมงคล. สิ่งที่เห็นหรือเป็นมงคล เรื่องที่ได้ยินหรือเป็นมงคล หรือเรื่องที่ทราบเป็นมงคล ใครหนอรู้จักมงคล ดังนี้.
               ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อทิฏฐมังคลิกะ [นับถือสิ่งที่เห็นเป็นมงคล] กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้จักมงคล. สิ่งที่เห็นเป็นมงคลในโลก. รูปที่สมมติกันว่า เป็นมงคลยิ่ง ชื่อว่าทิฏฐะ. รูปอย่างไรเล่า. คนบางคนในโลกนี้ ตื่นแต่เช้าเห็นนกกระเต็นบ้าง เห็นต้นมะตูมรุ่นบ้าง เห็นหญิงมีครรภ์บ้าง เห็นเด็กรุ่นหนุ่ม ตกแต่งประดับกาย เทินหม้อเต็มน้ำบ้าง ปลาตะเพียนแดงสดบ้าง ม้าอาชาไนยบ้าง รถเทียมม้าบ้าง โคผู้บ้าง โคเมียบ้าง โคแดงบ้าง ก็หรือว่าเห็นรูปแม้อื่นใด เห็นปานนั้น ที่สมมติกันว่าเป็นมงคลยิ่ง รูปที่เห็นนี้ เรียกว่าทิฎฐมงคล คนบางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับก็ขัดแย้งกับเขา
               ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อสุตมังคลิกะ ก็กล่าวว่า ท่านเอย ขึ้นชื่อว่า ตาย่อมเห็นของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง ของดีบ้างของไม่ดีบ้าง ของชอบใจบ้าง ของไม่ชอบใจบ้าง ผิว่า รูปที่ผู้นั้นเห็นพึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะพึงเป็นมงคลทั้งหมดนะสิ เพราะฉะนั้น รูปที่เห็นไม่เป็นมงคล. ก็แต่ว่าเสียงที่ได้ยินต่างหากเป็นมงคล. เสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง. ชื่อว่าสุตะ อย่างไรเล่า. คนบางคนในโลกนี้ ลุกขึ้นแต่เช้า ได้ยินเสียงเช่นนี้ว่า เจริญแล้ว เจริญอยู่ เต็ม ขาว ใจดี สิริ เจริญด้วยสิริ วันนี้ ฤกษ์ดี ยามดี วันดี มงคลดี หรือเสียงที่สมมติว่ามงคลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง. เสียงที่ได้ยินนี้ เรียกว่าสุตมงคล. บางพวกก็ยอมรับคำของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ พวกที่ไม่ยอมรับก็ขัดแย้งกับเขา.
               ครั้งนั้น บุรุษผู้หนึ่ง ชื่อมุตมังคลิกะ กล่าวว่า ท่านเอย แท้จริง ขึ้นชื่อว่าหู ย่อมได้ยินเสียงดีบ้างไม่ดีบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ผิว่า เสียงที่ผู้นั้นได้ยิน พึงเป็นมงคลไซร้ ก็จะเป็นมงคลทั้งหมดน่ะสิ. เพราะฉะนั้น เสียงที่ได้ยินจึงไม่เป็นมงคล. ก็แต่ว่าสิ่งที่ทราบแล้วต่างหากเป็นมงคล. กลิ่นรสและโผฏฐัพพะสิ่งที่พึงถูกต้อง ชื่อว่ามุตะ. อย่างไรเล่า. คนบางคนลุกแต่เช้าสูดกลิ่นดอกไม้มีกลิ่นดอกปทุมเป็นต้นบ้าง เคี้ยวไม้สีฟันขาวบ้าง จับต้องแผ่นดินบ้าง จับต้องข้าวกล้าเขียวบ้าง มูลโคสดบ้าง เต่าบ้าง งาบ้าง ดอกไม้บ้าง ผลไม้บ้าง ฉาบทาด้วยดินขาวโดยชอบบ้าง นุ่งผ้าขาวบ้าง โพกผ้าโพกขาวบ้าง ก็หรือว่าสูดกลิ่น ลิ้มรส หรือถูกต้องโผฏฐัพพะ ที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งอย่างอื่นใด เห็นปานนั้น สิ่งดังกล่าวมานี้ เรียกว่ามุตมงคล. บางพวกก็ยอมรับคำแม้ของเขา บางพวกก็ไม่ยอมรับ.
               ในสามพวกนั้น ทิฏฐมังคลิกบุรุษ ก็ไม่อาจทำให้สุตมังคลิกบุรุษและมุตมังคลิกบุรุษยินยอมได้ ทั้งสามฝ่ายนั้น ฝ่ายหนึ่ง ก็ทำอีกสองฝ่ายให้ยินยอมไม่ได้ บรรดามนุษย์เหล่านั้น พวกใดยอมรับคำของทิฏฐมังคลิกบุรุษ พวกนั้นก็ถือว่ารูปที่เห็นแล้วเท่านั้นเป็นมงคล. พวกใดยอมรับคำของสุตมังคลิกบุรุษและมุตมังคลิกบุรุษ พวกนั้นก็ถือว่าเสียงที่ได้ยินเท่านั้นเป็นมงคล สิ่งที่ได้ทราบเท่านั้น เป็นมงคล.
               เรื่องมงคลปัญหานี้ปรากฏไปทั่วชมพูทวีป ด้วยประการฉะนี้.
               ครั้งนั้น มนุษย์ทั่วชมพูทวีปถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลายว่า อะไรกันหนอเป็นมงคล. อารักขเทวดาของมนุษย์พวกนั้น ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันคิดมงคลทั้งหลายเหมือนกัน. เหล่าภุมมเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น ฟังเรื่องจากอารักขเทวดานั้นแล้วก็พากันคิดมงคลอย่างนั้นเหมือนกัน. อากาสัฏฐกเทวดาเป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น จตุมหาราชิกเทวดาเป็นมิตรของอากาสัฏฐกเทวดาเหล่านั้น โดยอุบายนี้ ตราบถึงอกนิฏฐเทวดาเป็นมิตรของสุทัสสีเทวดา ฟังเรื่องจากสุทัสสีเทวดานั้นแล้ว ก็ถือกันเป็นพวกๆ พากันคิดมงคลทั้งหลาย ด้วยอุบายอย่างนี้ การคิดมงคลได้เกิดไปในที่ทุกแห่งจนถึงหมื่นจักรวาล. ก็การคิดมงคลเกิดขึ้นแล้ว แม้วินิจฉัยว่านี้เป็นมงคล นี้เป็นมงคลแต่ก็ยังไม่เด็ดขาด จึงตั้งอยู่ถึง ๑๒ ปี. ทั้งมนุษย์ทั้งเทวดาทั้งพรหมหมดด้วยกันเว้นพระอริยสาวกแตกเป็น ๓ พวก คือทิฏฐมังคลิกะ สุตมังคลิกะและมุตมังคลิกะ แม้แต่พวกหนึ่ง ก็ตกลงตามเป็นจริงไม่ได้ว่า นี้เท่านั้นเป็นมงคล มงคลโกลาหล การแตกตื่นเรื่องมงคลเกิดขึ้นแล้วในโลก.
               ขึ้นชื่อว่า โกลาหลมี ๕ คือ กัปปโกลาหล จักกวัตติโกลาหล พุทธโกลาหล มงคลโกลาหล โมเนยยโกลาหล.
               บรรดาโกลาหลทั้ง ๕ นั้น เหล่าเทวดาชั้นกามาวจร ปล่อยศีรษะ สยายผม ร้องไห้ เอาหัตถ์เช็ดน้ำตา นุ่งผ้าสีแดง ทรงเพศแปลกๆ อย่างยิ่ง เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ร้องบอกกล่าวว่า ล่วงไปแสนปี กัปจักปรากฏ โลกนี้จักพินาศ มหาสมุทรจักแห้ง มหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ จักถูกไฟไหม้ จักพินาศ โลกพินาศจักมีจนถึงพรหมโลก. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านทั้งหลายจงพากันเจริญเมตตาไว้เถิด จงพากันเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขาไว้เถิด ท่านผู้นิรทุกข์จงบำรุงมารดาบิดา จงยำเกรงท่านผู้เป็นผู้ใหญ่ในตระกูล ตื่นกันเถิด อย่าได้ประมาทกันเลย.
               นี้ชื่อว่า กัปปโกลาหล.

               เทวดาชั้นกามาวจรนั่นแล เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์บอกกล่าวว่า ล่วงไปร้อยปี พระเจ้าจักรพรรดิจักเกิดขึ้นในโลก. นี้ชื่อว่า จักกวัตติโกลาหล.

               ส่วนเทวดาชั้นสุทธาวาส ประดับองค์ด้วยอาภรณ์พรหม โพกผ้าของพรหมที่พระเศียรเกิดปีติปราโมทย์ กล่าวพระพุทธคุณ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่าล่วงไปพันปี พระพุทธเจ้าจักอุบัติในโลก.
               นี่ชื่อว่า พุทธโกลาหล.

               เทวดาชั้นสุทธาวาสนั่นแหละ รู้จิตของพวกมนุษย์ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์บอกกล่าวว่า ล่วงไปสิบสองปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักตรัสมงคล.
               นี้ชื่อว่า มงคลโกลาหล.

               เทวดาชั้นสุทธาวาสนั่นแหละ เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่า ล่วงไปเจ็ดปี ภิกษุรูปหนึ่งสมาคมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า จักทูลถามโมเนยยปฏิปทา
               นี้ชื่อว่า โมเนยยโกลาหล.
               บรรดาโกลาหลทั้ง ๕ นี้ มงคลโกลาหลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วในโลก.
               ครั้งนั้น เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พากันเลือกเฟ้นก็ยังไม่ได้มงคลทั้งหลาย ล่วงไป ๑๒ ปี เทวดาชั้นดาวดึงส์คบหาสมาคมกัน ก็ช่วยกันคิดอย่างนี้ว่า เจ้าของเรือนก็เป็นหัวหน้าของคนภายในเรือน เจ้าของหมู่บ้านก็เป็นหัวหน้าของชาวหมู่บ้าน พระราชาก็เป็นหัวหน้าของมนุษย์ทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมทวยเทพพระองค์นี้ ก็เป็นผู้เลิศประเสริฐสุดของพวกเรา คือเป็นอธิบดีของเทวโลกทั้งสอง [ชั้นจาตุมหาราชและดาวดึงส์] ด้วยบุญ เดช อิสริยะ ปัญญา. ถ้ากระไร เราจะพึงพากันไปทูลถามความข้อนี้กะท้าวสักกะจอมทวยเทพเถิด. เทวดาเหล่านั้นก็พากันไปยังสำนักท้าวสักกะ ถวายบังคมจอมทวยเทพ ซึ่งมีพระสรีระมีสิริด้วยอาภรณ์ประจำพระองค์ อันเหมาะแก่ขณะนั้น มีหมู่อัปสร ๒๕๐ โกฏิห้อมล้อม ประทับนั่งเหนือบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์อันประเสริฐ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกะ แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ทูลว่า ขอประทานพระวโรกาส พระองค์ผู้นิรทุกข์ โปรดทรงทราบเถิด. บัดนี้ มงคลปัญหาตั้งขึ้นแล้ว พวกหนึ่งกล่าวว่า รูปที่เห็นเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่า เสียงที่ได้ยินเป็นมงคล พวกหนึ่งกล่าวว่าสิ่งที่ทราบแล้วเป็นมงคล บรรดาท่านเหล่านั้น พวกข้าพระบาทและพวกอื่นยังไม่ได้ข้อยุติ สาธุ ขอพระองค์โปรดทรงพยากรณ์ตามเป็นจริง แก่พวกข้าพระบาทด้วยเถิด.
               ท้าวสักกะเทวราชแม้โดยปกติ ทรงมีปัญญา จึงตรัสว่า เรื่องมงคลนี้เกิดขึ้นที่ไหนก่อนเล่า.
               ทูลว่า ข้าแต่เทวราช พวกข้าพระบาทฟังคำของพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ต่อจากนั้น พวกเทวดาจาตุมมหาราชก็ฟังคำของพวกอากาสัฏฐเทวดา พวกอากาสัฏฐเทวดาฟังคำของพวกภุมมเทวดา พวกภุมมเทวดาฟังคำของเทวดาผู้รักษามนุษย์ พวกเทวดาผู้รักษามนุษย์กล่าวว่า เรื่องมงคลเกิดขึ้นในมนุษยโลก.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสถามจอมเทวดาเหล่านั้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน. เทวดาทั้งหลายทูลว่า ประทับอยู่ในมนุษยโลก พระเจ้าข้า.
               ตรัสถามว่า ใครได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแลหรือ. ทูลว่า ไม่มีใคร พระเจ้าข้า.
               ตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ทำไมหนอ ท่านทั้งหลายจึงมาทิ้งดวงไฟเสียแล้วมาตามไฟต่อจากแสงหิ่งห้อย ด้วยเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงมาล่วงเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงแสดงมงคลไว้ไม่เหลือเสียเล่า ยังเข้าใจว่าควรจะไต่ถามเรา มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เราจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พวกเราคงจักได้การพยากรณ์ปัญหาอันมีสิริแน่แท้ จึงมีเทวโองการใช้เทพบุตรองค์หนึ่งว่า ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.
               เทพบุตรองค์นั้นแต่งองค์ด้วยเครื่องอลังการ อันเหมาะแก่ขณะนั้น รุ่งโรจน์ดุจสายฟ้าแลบ มีหมู่เทพแวดล้อม ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
               เมื่อทูลถามมงคลปัญหา จึงกล่าวเป็นคาถาว่า พหู เทวา มนุสฺสา จ เป็นต้น.
               นี้เป็นมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา

               พรรณนาคาถาว่า พหู เทวา               
               บัดนี้ จะพรรณนาความแห่งบทคาถา. ศัพท์ว่า พหู แสดงจำนวนไม่แน่นอน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงอธิบายว่า หลายร้อย หลายพัน หลายแสน. ชื่อว่า เทวะ เพราะเล่น อธิบายว่า เล่นกับกามคุณ ๕ หรือโชติช่วงด้วยสิริของตน. อีกนัยหนึ่ง บทว่า เทวา ได้แก่ เทพทั้ง ๓ คือสมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               บทว่า เทวา ได้แก่ เทพ ๓ คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ วิสุทธิเทพ
               บรรดาเทพทั้ง ๓ นั้น พระราชา พระราชเทวี พระราชกุมาร ชื่อว่าสมมติเทพ.
               เทพตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกาและสูงขึ้นไปกว่านั้น ชื่อว่าอุปปัตติเทพ
               ท่านที่เรียกกันว่าพระอรหันต์ ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.

               ในเทพทั้ง ๓ นั้น ในสูตรนี้ ท่านประสงค์เอาอุปปัตติเทพ.
               ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นเหล่ากอของพระมนู. แต่โบราณาจารย์กล่าวว่า ชื่อว่ามนุษย์ เพราะเป็นผู้มีใจสูง. มนุษย์เหล่านั้นมี ๔ คือชาวชมพูทวีป ชาวอปรโคยานทวีป ชาวอุตตรกุรุทวีป ชาวปุพพวิเทหทวีป ในสูตรนี้ท่านประสงค์เอามนุษย์ชาวชมพูทวีป.
               ชื่อว่า มงคล เพราะสัตว์เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณเหล่านี้ อธิบายว่า สัตว์ถึงความสำเร็จและความเจริญ.
               บทว่า อจินฺตยุํ แปลว่า คิดกันแล้ว.
               บทว่า อากงฺขมานา ได้แก่ ประสงค์ ปรารถนา กระหยิ่ม.
               บทว่า โสตฺถานํ แปลว่า ความสวัสดี ท่านอธิบายว่า ความที่ธรรมทั้งหลายอันเป็นไปในปัจจุบัน และภายภาคหน้าทุกอย่าง สวยดีงาม.
               บทว่า พฺรูหิ ได้แก่ แสดง ประกาศ บอก เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย.
               บทว่า มงฺคลํ ได้แก่ เหตุแห่งความสำเร็จ เหตุแห่งความเจริญ เหตุแห่งสมบัติทุกอย่าง.
               บทว่า อุตฺตมํ ได้แก่ วิเศษประเสริฐ นำประโยชน์สุขมาให้โลกทั้งปวง.
               ดังกล่าวมานี้ เป็นการพรรณนาตามลำดับบทแห่งคาถาทั้งหลาย.
               ส่วนความรวมมีดังนี้ เทพบุตรนั้นแลเห็นเทวดาในหมื่นจักรวาลชุมนุมกันในจักรวาลนี้ เพราะอยากจะฟังมงคลปัญหา พากันเนรมิตอัตภาพอันละเอียด ๑๐ บ้าง ๒๐ บ้าง ๓๐ บ้าง ๔๐ บ้าง ๕๐ บ้าง ๖๐ บ้าง ๗๐ บ้าง ๘๐ บ้าง ขนาดโอกาสปลายขนทรายขนหนึ่ง ยืนห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่จัดไว้ เปล่งพระรัศมีครอบงำเทวดามารพรหมทั้งหมด ด้วยพระสิริและพระเดช และหยั่งรู้ปริวิตกแห่งใจของเหล่ามนุษย์ชาวชมพู ที่ไม่ได้มาประชุมในสมัยนั้น ด้วยใจตนเอง จึงกล่าวคาถา เพื่อถอนลูกศรคือความสงสัยของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า
                         เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความสวัสดี
               จึงพากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกมงคล
               ด้วยเถิด พระเจ้าข้า.

               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โดยอนุมัติของเทวดาเหล่านั้น และโดยอนุเคราะห์มนุษย์ทั้งหลาย มงคลอันใดเป็นอุดมสูงสุด เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์หมดด้วยกัน โปรดอาศัยพระกรุณาตรัสบอกมงคลอันนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล.

               พรรณนาคาถาว่า อเสวนา จ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น. ในพระคาถานั้น บทว่า อเสวนา ได้แก่ การไม่คบ ไม่เข้าไปใกล้.
               บทว่า พาลานํ ความว่า ชื่อว่าพาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้. อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งพาลเหล่านั้น.
               บทว่า ปณฺฑิตานํ ความว่า ชื่อว่าบัณฑิต เพราะดำเนินไป. อธิบายว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและภายภาคหน้า ซึ่งบัณฑิตเหล่านั้น.
               บทว่า เสวนา ได้แก่ การคบ การเข้าใกล้ ความมีบัณฑิตนั้นเป็นสหาย มีบัณฑิตนั้นเป็นเพื่อน ความพรักพร้อมด้วยบัณฑิตนั้น.
               บทว่า ปูชา ได้แก่ การสักการะ เคารพนับถือ กราบไหว้.
               บทว่า ปูชเนยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรบูชา.
               บทว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประมวลการไม่คบพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาผู้ที่ควรบูชา ๑ ทั้งหมด จึงตรัสว่า เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ. ท่านอธิบายว่า คำใดท่านถามว่า โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดมเถิด ท่านจงถือคำนั้นว่า มงคลอันอุดม ในข้อนั้นก่อน
               นี้เป็นการพรรณนาบทแห่งคาถานี้.
               ส่วนการพรรณนาความแห่งบทนั้น พึงทราบดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น
               ในคาถานั้น คาถามี ๔ คือ ปุจฉิตคาถา อปุจฉิตคาถา สานุสันธิกคาถา อนนุสันธิกคาถา.
               บรรดาคาถาทั้ง ๔ นั้น คาถาที่ทรงถูกผู้ถามถามแล้ว จึงตรัสชื่อว่า ปุจฉิตคาถา ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         ปุจฺฉามิ ตํ โคตม ภูริปญฺญ กถํกโร สาวโก สาธุ โหติ

                         ท่านพระโคดม ผู้มีปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน
                         ข้าพเจ้าขอถามท่าน สาวกทำอย่างไรจึงเป็นคนดี

               และประโยคว่า
                         กถํ นุ ตฺวํ มาริส โอฆมตริ

                         ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านข้ามโอฆะอย่างไรเล่าหนอ.

               คาถาที่พระองค์ไม่ได้ถูกถาม แต่ตรัสโดยพระอัธยาศัยของพระองค์เอง ชื่อว่า อปุจฉิตคาถา ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         ยํ ปเร สุขโต อาหุ ตทริยา อาหุ ทุกฺขโต

                         คนอื่นๆ กล่าวสิ่งใดว่าเป็นสุข พระอริยะทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่าเป็นทุกข์.

               คาถาของพระพุทธะทั้งหลายแม้ทั้งหมด ชื่อว่า สานุสันธิกคาถา เพราะบาลีว่า
                         สนิทานาหํ ภิกฺขเว ธมฺมํ เทเสสฺสามิ

                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมมีนิทานคือเหตุ
ดังนี้.
               ที่ชื่อว่า อนสุสันธิกคาถา คาถาไม่มีเหตุ ไม่มีในศาสนานี้
               ก็บรรดาคาถาเหล่านี้ดังกล่าวมานี้ คาถานี้ชื่อว่า ปุจฉิตคาถา เพราะเป็นคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกเทพบุตรทูลถามแล้วจึงตรัสตอบ. ก็คาถานี้ บอกคนที่ไม่ควรคบ ในคนที่ควรคบและไม่ควรคบ แล้วจึงบอกคนที่ควรคบ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดรู้จักทาง รู้จักทั้งที่มิใช่ทาง ถูกถามถึงทาง จึงบอกทางที่ควรละเว้นเสียก่อนแล้ว ภายหลังจึงบอกทางที่ควรยึดถือไว้ว่า ในที่ตรงโน้นมีทางสองแพร่ง. ในทางสองแพร่งนั้น พวกท่านจงละเว้นทางซ้ายเสียแล้ว ยึดถือเอาทางขวา ฉะนั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเสมือนบุรุษผู้ฉลาดในทาง อย่างที่ตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนติสสะ คำว่าบุรุษผู้ฉลาดในทางนี้เป็นชื่อ
                         ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงอยู่ ตถาคต
                         อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ฉลาดรู้โลกนี้ ฉลาดรู้
                         โลกอื่น ฉลาดรู้ถิ่นมัจจุ ฉลาดรู้ทั้งมิใช่ถิ่นมัจจุ ฉลาด
                         รู้บ่วงมาร ฉลาดรู้ทั้งมิใช่บ่วงมาร.

               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสบอกถึงบุคคลที่ไม่ควรคบก่อน จึงตรัสว่า การไม่คบพาล การคบบัณฑิต ความจริง คนพาลทั้งหลายไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เหมือนทางที่ควรละเว้น แต่นั้น ก็ควรคบ ควรเข้าใกล้แต่บัณฑิตเหมือนทางที่ควรยึดถือไว้.
               ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสมงคล จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน ขอชี้แจงดังนี้ เพราะเหตุที่พวกเทวดาและมนุษย์ยึดความเห็นว่ามงคลในสิ่งที่เห็นแล้วเป็นต้นนี้ ด้วยการคบพาล ทั้งการคบพาลนั้นก็ไม่เป็นมงคล ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการสมคบกับคนที่มิใช่กัลยาณมิตร ซึ่งหักรานประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า และทรงสรรเสริญการสมาคมกับกัลยาณมิตร ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ในโลกทั้งสอง จึงตรัสการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตก่อน แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.
               สัตว์ทั้งหลายทุกประเภท ผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถมีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าพาล ในจำนวนพาลและบัณฑิตนั้น. พาลเหล่านั้นจะรู้ได้ก็ด้วยอาการทั้งสาม เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้.
               พระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พาลลักษณะของพาล ๓ เหล่านี้.
               อนึ่ง ครูทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปเป็นต้น และสัตว์อื่นๆ เห็นปานนั้นเหล่านี้ คือ เทวทัต โกกาลิกะ กฏโมทกะ ติสสขัณฑาเทวีบุตร สมุทททัตตะ นางจิญจมาณวิกาเป็นต้น และพี่ชายของทีฆวิทะ ครั้งอดีตพึงทราบว่า พาล.
               พาลเหล่านั้นย่อมยังตนเองและเหล่าคนที่ทำตามคำของตนให้พินาศด้วยทิฏฐิคตะความเห็นที่ตนถือไว้ไม่ดี ดังเรือนที่ถูกไฟไหม้ เหมือนพี่ชายของฑีฆวิทะ ล้มลงนอนหงาย ด้วยอัตภาพประมาณ ๖๐ โยชน์ หมกไหม้อยู่ในมหานรก อยู่ถึง ๔ พุทธันดร และเหมือนตระกูล ๕๐๐ ตระกูล ที่ชอบใจทิฏฐิความเห็นของพี่ชายของฑีฆวิทะนั้น เข้าอยู่ร่วมเป็นสหายของพี่ชายของฑีฆวิทะนั่นแหละ หมกไหม้อยู่ในมหานรกฉะนั้น.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฟลามจากเรือนไม้อ้อหรือ
                         เรือนหญ้า ย่อมไหม้แม้เรือนยอด ซึ่งฉาบไว้ทั้งข้าง
                         นอกข้างใน กันลมได้ ลงกลอนสนิท ปิดหน้าต่างไว้
                         เปรียบฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยทุกชนิด ย่อม
                         เกิดเปรียบฉันนั้นเหมือนกัน ภัยเหล่านั้นทั้งหมด เกิด
                         จากพาล ไม่เกิดจากบัณฑิต. อุปัทวะทุกอย่างย่อม
                         เกิด ฯลฯ อุปสรรคทุกอย่างย่อมเกิด ฯลฯ ไม่เกิดจาก
                         บัณฑิต. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนั้นแลพาลเป็นภัย
                         บัณฑิตไม่เป็นภัย พาลอุบาทว์ บัณฑิตไม่อุบาทว์
                         พาลเป็นอุปสรรค บัณฑิตไม่เป็นอุปสรรค ดังนี้.

               อนึ่ง พาลเสมือนปลาเน่า ผู้คบพาลนั้น ก็เสมือนห่อด้วยใบไม้ที่ห่อปลาเน่า ย่อมประสบภาวะที่วิญญูชนทอดทิ้ง และรังเกียจ.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ปูติมจฺฉํ กุสคฺเคน โย นดร อปุนยฺหติ
                         กุสาปิ ปูตี วายนฺติ                เอวํ พาลูปเสวนา
                                   นรชนผู้ใดผูกปลาเน่าด้วยปลายหญ้าคา
                         แม้หญ้าคาของนรชนผู้นั้น ก็มีกลิ่นเน่าฟุ้งไปด้วย
                         การคบพาลก็เป็นอย่างนั้น


               อนึ่งเล่า เมื่อท้าวสักกะจอมทวยเทพประทานพรแก่อกิตติบัณฑิต
               อกิตติบัณฑิตก็กล่าวอย่างนี้ว่า
                                   พาลํ น ปสฺเน น สุเณ น จ พาเลน สํวเส
                         พาเลนลฺลาปสลฺลาปํ                น เกร น จ โรจเย.
                                   ไม่ควรพบพาล ไม่ควรฟัง ไม่ควรอยู่ร่วมกับพาล
                         ไม่พึงทำการเจรจาปราศรัยกับพาล และไม่ควรชอบใจ.

               ท้าวสักกะ ตรัสถามว่า
                                   กินฺนุ เต อกรํ พาโล วท กสฺสป การณํ
                         เกน กสฺสป พาลสฺส                ทสฺสนํ นาภิกงฺขสิ.
                                   ท่านกัสสปะ ทำไมหนอ พาลจึงไม่เชื่อท่าน
                         โปรดบอกเหตุมาสิ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่อยาก
                         เห็นพาลนะ ท่านกัสสปะ.

               อกิตติบัณฑิตตอบว่า
                                   อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ อธุรายํ นิยุญฺชติ
                         ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ สมฺมา วุตฺโต ปกุปฺปติ
                         วินยํ โส น ชานาติ                สาธุ ตสฺส อทสฺสนํ.
                                   คนปัญญาทราม ย่อมแนะนำข้อที่ไม่ควรแนะนำ
                         ย่อมประกอบคนไว้ในกิจที่มิใช่ธุระ การแนะนำเขาก็
                         แสนยาก เพราะเขาถูกว่ากล่าวโดยดี ก็โกรธ พาลนั้น
                         ไม่รู้จักวินัย การไม่เห็นเขาเสียได้ก็เป็นการดี.


               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงติเตียนการคบพาลโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ จึงตรัสว่า การไม่คบพาลเป็นมงคล บัดนี้ เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล.
                                   สัตว์ทุกประเภท ผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐
                         มีเจตนางดเว้นปาณาติบาต เป็นต้น ชื่อว่า บัณฑิต ใน
                         จำพวกพาลและบัณฑิตนั้น.
               บัณฑิตเหล่านั้น จะพึงรู้ได้ก็ด้วยอาการทั้ง ๓ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้.
               พระสูตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตลักษณะของบัณฑิต ๓ เหล่านี้.
               อนึ่ง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอสีติมหาสาวก พระสาวกอื่นของพระตถาคต และบัณฑิตมีสุเนตตศาสดา มหาโควินทศาสดา พระวิธูรบัณฑิต สรภังคดาบส พระมโหสถ สุตโสมบัณฑิต พระเจ้านิมิราช อโยฆรกุมาร และอกิตติบัณฑิต เป็นต้น พึงทราบว่าบัณฑิต.
               บัณฑิตเหล่านั้น เป็นผู้สามารถกำจัดภัย อุปัทวะ และอุปสรรคได้ทุกอย่างแก่พวกที่ทำตามคำของตน ประหนึ่งป้องกันได้ในเวลามีภัย ประหนึ่งดวงประทีปในเวลามืด ประหนึ่งได้ข้าวน้ำเป็นต้น ในเวลาถูกทุกข์มีหิวระหายเป็นต้นครอบงำ.
               จริงอย่างนั้น อาศัยพระตถาคต พวกเทวดาและมนุษย์นับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้ พากันบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ดำรงอยู่ในพรหมโลก ดำรงอยู่ในเทวโลก เกิดในสุคติโลก ตระกูลแปดหมื่นตระกูล ทำจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรเถระ และบำรุงพระเถระด้วยปัจจัย ๔ ก็บังเกิดในสวรรค์. ตระกูลทั้งหลายทำจิตให้เลื่อมใสในพระมหาสาวกทั้งปวง นับตั้งแต่พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปเป็นต้นไป ก็อย่างนั้นเหมือนกัน. สาวกทั้งหลายของสุเนตตศาสดา บางพวกก็เกิดในพรหมโลก บางพวกก็เข้าเป็นสหายของเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตสวัตดี ฯลฯ บางพวกก็เข้าเป็นสหายของคฤหบดีมหาศาล.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่มีภัยแต่บัณฑิต ไม่มีอุปัททวะแต่บัณฑิต ไม่มีอุปสรรคแต่บัณฑิต.
               อนึ่ง บัณฑิตเสมือนของหอมมีกฤษณา และดอกไม้เป็นต้น คนผู้คบบัณฑิตก็เสมือนห่อด้วยใบไม้ที่ห่อของหอมมีกฤษณาและดอกไม้เป็นต้น ยังประสบภาวะที่วิญญูชนชมเชยและพอใจ.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
                                   ตครญฺจ ปลาเสน  โย นโร อุปนยฺหติ
                         ปตฺตาปิ สุรภี วายนฺติ  เอวํ ธีรูปเสวนา.
                                   นรชนผู้ใดห่อกฤษณาไว้ด้วยใบไม้
                         แม้ใบไม้ของนรชนผู้นั้นก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง
                         การคบบัณฑิต ก็เหมือนอย่างนั้น.

               อนึ่งเล่า เมื่อท้าวสักกะจอมทวยเทพประทานพรแก่อกิตติบัณฑิต
               อกิตติบัณฑิตก็กล่าวว่า
                                   ธีรํ ปสฺเส สุเณ ธีรํ   ธีเรน สห สํวเส.
                         ธีเรนลฺลาปสลฺลาปํ   ตํ กเร ตญฺจ โรจเย.
                                   ควรพบบัณฑิต ควรฟังบัณฑิต ควรอยู่ร่วมกับ
                         บัณฑิต ควรทำการสนทนาปราศรัยกับบัณฑิต และ
                         ควรชอบใจบัณฑิตนั้น.
               ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสถามว่า
                                   กินฺนุ เต อกรํ ธีโร  วท กสฺสป การณํ
                         เกน กสฺสป ธีรสฺส  ทสฺสนํ อภิกงฺขสิ.
                                   ท่านกัสสปะ ทำไมหนอ บัณฑิตจึงไม่ทำต่อท่าน
                         โปรดบอกเหตุมาสิ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยากพบบัณฑิต
                         นะท่านกัสสปะ.
               อกิตติบัณฑิตตอบว่า
                                   นยํ นยติ เมธาวี    อธุรายํ น ยุญฺชติ
                         สุนโย เสยฺยโส โหติ    สมฺมา วุตฺโต น กุปฺปติ
                         วินยํ โส ปชานาติ    สาธุ เตน สมาคโม.
                                   บัณฑิตย่อมแนะนำเรื่องที่ควรแนะนำ ไม่จูงคนไปในกิจมิใช่ธุระ
                         แนะนำเขาก็ง่ายดี เพราะเขาถูกว่ากล่าวโดยดี ก็ไม่โกรธ
                         บัณฑิตนั้นรู้วินัย สมาคมกับบัณฑิตนั้นได้ เป็นการดี.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต โดยธรรมทั้งปวงอย่างนี้ จึงตรัสว่า การคบบัณฑิตเป็นมงคล.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญการบูชาบุคคลผู้เข้าถึงความเป็นผู้ควรบูชาโดยลำดับ ด้วยการไม่คบพาลและการคบบัณฑิตนั้น จึงตรัสว่า
                         ปูชา จ ปูชเนยฺยานํ มงคลํ

                         การบูชาผู้ที่ควรบูชาเป็นมงคล.

               พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ชื่อว่า ปูชเนยยะ เพราะทรงเว้นจากโทษทุกอย่าง และเพราะทรงประกอบด้วยคุณทุกอย่าง และภายหลังจากนั้น ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลาย ชื่อว่า ปูชเนยยะ.
               จริงอยู่ การบูชาปูชเนยยบุคคลเหล่านั้น แม้เล็กน้อยก็เป็นประโยชน์สุขตลอดกาลยาวนาน. ในข้อนี้มีเรื่องนายสุมนมาลาการและนางมัลลิกาเป็นต้นเป็นตัวอย่าง. ใน ๒ เรื่องนั้นจะกล่าวแต่เรื่องเดียวพอเป็นตัวอย่าง.
               ความว่า เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ขณะนั้น นายช่างดอกไม้ ชื่อสุมนมาลาการ กำลังเดินถือดอกไม้สำหรับพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงประตูกรุง ผ่องใสน่าเลื่อมใสประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ รุ่งเรืองด้วยพระพุทธสิริ
               ครั้นเห็นแล้ว เขาก็คิดว่า พระราชาทรงรับดอกไม้แล้วก็จะพึงประทานทรัพย์ร้อยหนึ่งหรือพันหนึ่ง ก็อันนั้นก็จะพึงเป็นความสุขเพียงโลกนี้เท่านั้น. แต่การบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมจะมีผลประมาณไม่ได้ นับไม่ถ้วน นำประโยชน์สุขมาให้ตลอดกาลยาวนาน. เอาเถิด จำเราจะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้เหล่านี้ดังนี้ เขามีจิตเลื่อมใสจับดอกไม้กำหนึ่งเหวี่ยงไปเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดอกไม้ทั้งหลายไปทางอากาศประดิษฐานเป็นเพดานดอกไม้อยู่เหนือพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               นายมาลาการเห็นอานุภาพนั้น ก็มีจิตเลื่อมใสยิ่งขึ้น จึงเหวี่ยงดอกไม้ไปอีกกำหนึ่ง แม้ดอกไม้เหล่านั้นก็ไปประดิษฐานเป็นเกราะดอกไม้. นายมาลาการเหวี่ยงดอกไม้ไป ๘ กำ อย่างนี้ ดอกไม้เหล่านั้นก็ไปประดิษฐานเป็นเรือนยอดดอกไม้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเรือนยอด มหาชนก็ชุมนุมกัน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นนายมาลาการ ก็ทรงทำอาการแย้มให้ปรากฏ. พระอานนท์เถระก็ทูลถามถึงเหตุที่ทรงแย้มด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จะไม่ทรงแย้มให้ปรากฏ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ นายมาลาการผู้นี้จักท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์แสนกัป ด้วยอานุภาพของการบูชานี้แล้วในที่สุดก็จักเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า นามว่า สุมนิสสระ.
               ตรัสจบ ก็ได้ตรัสพระคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรมว่า
                                   ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
                         ยสฺส ปตีโต สุมโน                วิปากํ ปฏิเสวติ.
                                   บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนภายหลัง
                         บุคคลใจดีเอิบอิ่มแล้ว เสวยผลของกรรมใด กรรม
                         นั้น ทำแล้วดี.
               จบคาถาสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม การบูชาปูชเนยยบุคคลเหล่านั้น แม้เล็กน้อยพึงทราบว่า มีประโยชน์สุขตลอดกาลยาวนานด้วยประการฉะนี้.
               ก็การบูชานั้นเป็นอามิสบูชา จะป่วยกล่าวไปไยในปฏิบัติบูชา เพราะกุลบุตรเหล่าใดบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการรับสรณคมน์ และสิกขาบท ด้วยการสมาทานองค์อุโบสถ และด้วยคุณทั้งหลายของตน มีปาริสุทธิศีล ๔ เป็นต้น ใครเล่าจักพรรณนาผลแห่งการบูชาของกุลบุตรเหล่านั้นได้.
               ด้วยว่า กุลบุตรเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า บูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี
                         อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่
                         ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม ผู้นั้น ชื่อว่า
                         สักการะเคารพนับถือ บูชายำเกรงนอบน้อมตถาคต
                         ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม.

               ความที่การบูชาแม้พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอริยสาวกนำมาซึ่งประโยชน์สุข พึงทราบตามแนวนี้.
               อนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ พึงทราบปูชเนยยบุคคลในข้อนี้อย่างนี้ คือผู้เจริญที่สุด ทั้งพี่ชาย ทั้งพี่สาว ชื่อว่าปูชเนยยบุคคลของน้อง มารดาบิดาเป็นปูชเนยยบุคคลของบุตร สามีพ่อผัวแม่ผัวเป็นปูชเนยยบุคคลของกุลสตรีทั้งหลาย ด้วยว่า การบูชาปูชเนยยบุคคลแม้เหล่านั้น เป็นมงคลทั้งนั้น เพราะนับว่าเป็นกุศลธรรม และเพราะเป็นเหตุเจริญอายุเป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธดำรัสไว้ดังนี้ว่า
               ชนเหล่านั้น จักเป็นผู้เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ เป็นผู้นอบน้อมผู้ใหญ่ในสกุล ยังจักยึดถือกุศลธรรมนี้ปฏิบัติ ก็จักเจริญทั้งอายุ จักเจริญทั้งวรรณะ เพราะเหตุสมาทานกุศลธรรมเหล่านี้เป็นต้น.

               บัดนี้ เพราะเหตุที่ข้าพเจ้าตั้งมาติกาหัวข้อไว้ว่า กล่าวสมุฏฐานเป็นที่เกิดมงคล แล้วกำหนดมงคลนั้นจะชี้แจงความของมงคลนั้น ฉะนั้น จึงขอชี้แจงดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือ การไม่คบพาล, การคบบัณฑิต และการบูชาผู้ที่ควรบูชา ด้วยประการฉะนี้.
               ในมงคลทั้ง ๓ นั้น พึงทราบว่า การไม่คบพาลชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งประโยชน์ของโลกทั้งสอง เหตุป้องกันภัยมีภัยเกิดแต่คบพาลเป็นปัจจัยเป็นต้น
               การคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชา ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งนิพพานและสุคติ โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในการพรรณนาความเพิ่มพูนแห่งผลของการคบบัณฑิตและการบูชาผู้ที่ควรบูชานั้นนั่นแล. แต่ข้าพเจ้าจักยังไม่แสดงหัวข้อต่อจากนี้ไป จักกำหนดข้อที่เป็นมงคลอย่างนี้ จึงจักชี้แจงความที่ข้อนั้นเป็นมงคล.

               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า อเสวนา จ พาลานํ.               
               -----------------               

               พรรณนาคาถาว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ถูกเทพบุตรขอมงคลอย่างเดียวว่า พฺรูหิ มงฺคลมุตฺตมํ ขอได้โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดม แต่ก็ตรัสถึง ๓ มงคล ด้วยคาถาเดียว เปรียบเหมือนบุรุษใจกว้าง ถูกขอแต่น้อยแต่ก็ให้มาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเริ่มที่จะตรัสมงคลอีกเป็นอันมาก ด้วยคาถาทั้งหลายมีว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ เป็นต้น ก็เพราะเทวดาทั้งหลายอยากฟัง เพราะมงคลทั้งหลายมีอยู่ และเพราะมงคลใดๆ อนุกูลแก่สัตว์ใดๆ ทรงมีพุทธประสงค์จะทรงประกอบสัตว์นั้นๆ ไว้ ในมงคลนั้นๆ
               บรรดาคาถาเหล่านั้น จะกล่าวในคาถาแรกก่อน.
               บทว่า ปฏิรูโป แปลว่า สมควร. โอกาสเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย ทุกแห่ง ไม่ว่าเป็นคามก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ชนบทก็ดี ชื่อว่าเทสะ. การอยู่อาศัยในเทสะนั้น ชื่อว่า วาสะ.
               บทว่า ปุพฺเพ แปลว่า แต่ก่อน คือในชาติที่ล่วงมาแล้ว. ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมแล้ว ชื่อว่าความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว.
               จิตหรืออัตภาพทั้งสิ้น เรียกว่าอัตตะ. การประกอบไว้ คือการตั้งความปรารถนาของตนไว้ชอบ. ท่านอธิบายว่า การตั้งตนโดยชอบ ชื่อว่า สมฺมาปณิธิ การตั้งไว้ชอบ. คำนอกนั้น มีนัยที่กล่าวไว้แล้วทั้งนั้น.
               นี้เป็นการพรรณนาบทในคาถาแรกนั้น.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้. ในประเทศใดบริษัท ๔ ยังจาริกอยู่ ยังบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นอยู่ นวังคสัตถุศาสน์ยังรุ่งเรืองอยู่. ประเทศนั้น ชื่อว่าปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย. ในข้อนี้ มีชาวประมงที่เข้าไปยังเกาะสิงหลเป็นต้นเป็นตัวอย่าง.
               อีกนัยหนึ่ง ประเทศเป็นที่ตรัสรู้พระโพธิญาณ [ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกโพธิมัณฑสถาน] ประเทศที่ทรงประกาศพระธรรมจักร. ประเทศ คือโคนต้นมะม่วงของนายคัณฑะที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทำลายความเมาของพวกเดียรถีย์ทั้งปวง ท่ามกลางบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์, ประเทศที่เสด็จลงจากเทวโลก ก็หรือประเทศอื่นใดอันเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธเจ้า มีกรุงสาวัตถี กรุงราชคฤห์เป็นต้น ประเทศนั้น ชื่อว่าปฏิรูปเทส การอยู่อาศัยในปฏิรูปเทสนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแก่การได้อนุตตริยะ ๖ ของสัตว์ทั้งหลาย
               อีกนัยหนึ่ง ทิศบูรพา ตั้งแต่กชังคลนิคมลงมาถึงมหาสาลา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศอาคเนย์ ตั้งแต่แม่น้ำสัลลวตีลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศทักษิณ ตั้งแต่เสตกัณณิกนิคมลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศตะวันตก ตั้งแต่ถูณะตำบลบ้านพราหมณ์ลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติมชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. ทิศอุดร ตั้งแต่ภูเขาอุสีรธชะลงมา รอบนอกเป็นปัจจันติชนบท รอบในเป็นมัชฌิมชนบท. นี้เป็นมัชฌิมประเทศยาว ๓๐๐ โยชน์กว้าง ๒๕๐ โยชน์ โดยรอบ ๙๐๐ โยชน์. มัชฌิมประเทศนี้ ชื่อว่า ปฏิรูปเทส.
               พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลายผู้ครองอิสริยาธิปัตย์แห่งทวีปใหญ่ทั้ง ๔ ทวีป ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีป ย่อมเกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระมหาสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นต้น บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยกับแสนกัป ก็เกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมีมาสองอสงไขยกับแสนกัป ก็เกิดในปฏิรูปเทสนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญบารมีมาสี่อสงไขยกับแสนกัปบ้าง แปดอสงไขยกับแสนกัปบ้าง สิบหกอสงไขยกับแสนกัปบ้าง ก็เสด็จอุบัติในปฏิรูปเทสนั้น.
               บรรดาท่านเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายรับโอวาทของพระเจ้าจักรพรรดิตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วก็มีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า, ตั้งอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหมือนกัน. ส่วนสัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในโอวาทของพระพุทธเจ้า ของสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า มีพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น การอยู่ในปฏิรูปเทสนั้น จึงตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งสมบัติเหล่านี้.
               ความเป็นผู้ปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระขีณาสพ สร้างสมกุศลไว้ในชาติที่ล่วงมาแล้ว ชื่อว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน. แม้ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนนั้น ก็เป็นมงคล. เพราะเหตุไร เพราะทำอธิบายว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน ย่อมให้บรรลุพระอรหัต เมื่อจบคาถาแม้ ๔ บทที่แสดงต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือที่ฟังเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า.
               ก็มนุษย์ผู้ใดสร้างบารมีไว้ มีกุศลมูลอันแน่นหนามาก่อน มนุษย์ผู้นั้นทำวิปัสสนาให้เกิดแล้ว ย่อมบรรลุธรรมที่สิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล เหมือนพระเจ้ามหากัปปินะและอัครมเหสี
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน เป็นมงคล.
               คนบางคนในโลกนี้ ย่อมทำตนที่ทุศีลให้ตั้งอยู่ในสุศีล ตนที่ไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในสัทธาสัมปทา ตนที่ตระหนี่ให้ตั้งอยู่ในจาคสัมปทา การตั้งตนดังกล่าว ชื่อว่า ตั้งตนไว้ชอบ. การตั้งตนไว้ชอบนี้ เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ. อัตตสัมมาปณิธินี้แล เป็นมงคล. เพราะเหตุไร. เพราะเป็นเหตุละเวรที่เป็นไปในปัจจุบันและภายภาคหน้าและประสบอานิสงส์ต่างๆ อย่าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๓ มงคล คือการอยู่ในปฏิรูปเทส ๑ ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อน ๑ และการตั้งตนไว้ชอบ ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้น.

               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า ปฏิรูปเทสวาโส จ               

               พรรณนาคาถาว่า พาหุสจฺจญฺจ               
               บัดนี้ ความเป็นพหูสูต ชื่อว่า พาหุสัจจะ ในบทนี้ว่า พาหุสสจฺจญฺจ. ความฉลาดในงานฝีมือทุกอย่าง ชื่อว่า ศิลปะ การฝึกกายวาจาจิต ชื่อว่า วินัย.
               บทว่า สุสิกฺขิโต แปลว่า อันเขาศึกษาด้วยดีแล้ว.
               บทว่า สุภาสิตา แปลว่า อันเขากล่าวด้วยดีแล้ว.
               ศัพท์ว่า ยา แสดงความไม่แน่นอน. คำเปล่งทางคำพูด ชื่อว่าวาจา. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล.
               นี้เป็นการพรรณนาบทในคาถาว่า พาหุสจฺจญฺจ นี้.
               ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้.
               ความเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสัตถุศาสน์ ที่ทรงพรรณนาไว้ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า เป็นผู้ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ และว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ มีสุตะมาก คือสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ เป็นต้น ชื่อว่าความเป็นพหูสูต.
               ความเป็นพหูสูตนั้น ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุละอกุศลและประสบกุศล และเพราะเป็นเหตุทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะตามลำดับ
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้สดับแล้ว
                         ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละสิ่งมีโทษ เจริญ
                         สิ่งที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์
ดังนี้.
               อีกพระดำรัสหนึ่งตรัสว่า
                                   ย่อมพิจารณาความของธรรมทั้งหลาย ที่ทรงจำไว้
                         ธรรมทั้งหลายย่อมทนการเพ่งพินิจของเธอ ผู้พิจารณา
                         ความอยู่ เมื่อธรรมทนการเพ่งพินิจอยู่ ฉันทะย่อมเกิด
                         เกิดฉันทะแล้ว ก็อุตสาหะ เมื่ออุตสาหะ ก็ใช้ดุลยพินิจ
                         เมื่อใช้ดุลยพินิจ ก็ตั้งความเพียร เมื่อตั้งความเพียร
                         ย่อมทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะ ด้วยกาย [นามกาย] และ
                         ย่อมเห็นทะลุปรุโปร่ง ด้วยปัญญา
ดังนี้
               อนึ่ง แม้พาหุสัจจะความเป็นพหูสูตของคฤหัสถ์อันใดไม่มีโทษ อันนั้นก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง.
               ศิลปะของคฤหัสถ์ และศิลปะของบรรพชิต ชื่อว่าศิลปะ. บรรดาศิลปะทั้งสองนั้น กิจกรรมมีงานของช่างมณี ช่างทองเป็นต้น ที่เว้นจากการทำร้ายชีวิตสัตว์อื่น เว้นจากอกุศล ชื่อว่าอคาริกสิปปะ ศิลปะของคฤหัสถ์.
               อคาริกสิปปะนั้น ชื่อว่า เป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้.
               การจัดทำสมณบริขารมีการกะและเย็บจีวรเป็นต้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ในที่นั้นๆ โดยนัยเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำไรๆ ของสพรหมจารี ไม่ว่าสูงต่ำเหล่านั้นใด ภิกษุเป็นผู้ขยันในกิจที่ควรทำไรๆ นั้น และที่ตรัสว่า เป็นนาถกรณธรรม ธรรมทำที่พึ่ง ชื่อว่าอนาคาริกสิปปะ ศิลปะของบรรพชิต.
               ศิลปะของบรรพชิตนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสองแก่ตนเองและแก่คนอื่นๆ.
               วินัยของคฤหัสถ์และวินัยของบรรพชิต ชื่อว่าวินัย. บรรดาวินัยทั้งสองนั้น การงดเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่าวินัยของคฤหัสถ์. วินัยของคฤหัสถ์นั้น คฤหัสถ์ศึกษาดีแล้วในวินัยนั้น ชื่อว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง ด้วยการไม่ต้องสังกิเลสความเศร้าหมอง และด้วยการกำหนดคุณ คืออาจาระ.
               การไม่ต้องอาบัติ ๗ กอง ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต. แม้วินัยของบรรพชิตนั้น อันบรรพชิตศึกษาดีแล้ว โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว. หรือปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต. วินัยของบรรพชิตนั้น อันบรรพชิตศึกษาดีแล้ว ด้วยการศึกษาโดยประการที่ตั้งอยู่ในปาริสุทธิศีล ๔ นั้นแล้วจะบรรลุพระอรหัตได้ พึงทราบว่าเป็นมงคลเพราะเป็นเหตุประสบสุขทั้งโลกิยะทั้งโลกุตระ.
               วาจาที่เว้นจากโทษมีมุสาวาทเป็นต้น ชื่อว่าวาจาสุภาษิต
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นวาจาสุภาษิต.

               หรือว่า
                         วาจาที่เจรจาไม่เพ้อเจ้อ ก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิต.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         สุภาสิตํ อุตฺตมมาหุ สนฺโต
               ธมฺมํ ภเณ นาธมฺมํ ตํ ทุติยํ
               ปิยํ ภเณ นาปฺปิยํ ตํ ตติยํ
               สจฺจํ ภเณ นาลิกํ ตํ จตุตฺถํ.

                         สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า วาจาสุภาษิตเป็นวาจาสูงสุดเป็นข้อที่ ๑.
               บุคคลพึงกล่าวแต่ธรรม ไม่กล่าวไม่เป็นธรรมเป็นข้อที่ ๒.
               พึงกล่าวแต่คำน่ารัก ไม่กล่าวคำไม่น่ารัก เป็นข้อที่ ๓.
               กล่าวแต่คำสัตย์ ไม่กล่าวคำเหลาะแหละเป็นข้อที่ ๔.

____________________________
๑- ขุ.สุ. ๒๕/ข้อ ๓๕๖

               แม้วาจาสุภาษิตนี้ ก็พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขในโลกทั้งสอง แต่เพราะเหตุที่วาจาสุภาษิตนี้นับเนื่องในวินัย ฉะนั้น ถึงไม่สงเคราะห์วาจาสุภาษิตนี้ไว้ด้วยวินัยศัพท์ ก็พึงทราบว่าเป็นวินัย.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น วาจามีการแสดงธรรมแก่คนเหล่าอื่นเป็นต้น พึงทราบว่าเป็นวาจาสุภาษิตในที่นี้ ด้วยความกระอักกระอ่วนนี้หรือ. ความจริง วาจาสุภาษิตตรัสว่าเป็นมงคล ก็เพราะเป็นเหตุประสบสุขในโลกทั้งสองและพระนิพพานของสัตว์ทั้งหลาย ก็เหมือนการอยู่ในปฏิรูปเทศ.
               พระวังคีสเถระกล่าวไว้ว่า๒-
                         ยํ พุทฺโธ ภาสตี วาจํ เขมํ นิพฺพานปตฺติยา
               ทุกฺขสฺสนฺตกิริยาย                สา เว วาจานมุตฺตมา.
                         พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเกษม เพื่อบรรลุพระนิพพาน
               เพื่อทำที่สุดทุกข์ พระวาจานั้นแลเป็นยอดของวาจาทั้งหลาย.

____________________________
๒- ขฺ.สฺ. ๒๕/ข้อ ๓๕๗

               พระพุทธเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ ๔ มงคล
               คือ พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ และวาจาสุภาษิต ๑ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่มงคลนั้นเป็นมงคล ก็ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล.

               จบพรรณนาความแห่งคาถานี้ว่า พาหุสจฺจญฺจ เป็นต้น               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=41&Z=72
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=2022
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=2022
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :