ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 414อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 415อ่านอรรถกถา 25 / 416อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค
ปสูรสูตร

               อรรถกถาปสูรสูตรที่ ๘               
               ปสูรสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อิเธว สทฺธี สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิ ย่อมกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ดังนี้.
               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี.
               ปริพาชกชื่อว่า ปสูระ เป็นผู้มีวาทะจัดจ้าน. เขาพูดว่า ในชมพูทวีปทั้งสิ้นเราเป็นผู้เลิศด้วยวาทะ เพราะฉะนั้น ต้นชมพูปรากฏแก่ชมพูทวีปฉันใด แม้เราก็ควรเป็นฉันนั้น จึงเอากิ่งชมพูทำเป็นธง ทำให้ผู้โต้วาทะครั่นคร้ามไปทั่วชมพูทวีป. เขาเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ก่อกองทรายไว้ที่ประตูเมือง ปักกิ่งชมพูไว้ที่กองทรายนั้น กล่าวว่าผู้ใดสามารถโต้วาทะกับเรา ผู้นั้นจงหักกิ่งไม้นี้แล้วเข้าเมืองไป.
               มหาชนได้ยืนล้อมที่นั้น.
               สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรกระทำภัตกิจเสร็จแล้วออกจากกรุงสาวัตถี เห็นกิ่งไม้นั้น จึงถามพวกเด็กๆ หลายคนว่า เจ้าหนูทั้งหลาย นี่อะไรกัน. พวกเด็กบอกเรื่องราวทั้งหมดให้ทราบ.
               พระเถระกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงถอนกิ่งไม้นั้นแล้วเอาเท้าหักเสีย กล่าวว่า พวกเธอจงบอกเขาว่า ผู้ต้องการโต้วาทะ จงมายังวิหาร ดังนี้.
               ปริพาชกเที่ยวบิณฑบาตทำภัตกิจเสร็จแล้วเดินกลับ เห็นกิ่งไม้ถูกถอนแล้วหักทิ้งจึงถามว่านี่ใครทำ เมื่อได้รับคำตอบว่า พระสารีบุตรผู้เป็นพุทธสาวกให้เด็กทำ เขายินดีคิดว่าวันนี้พวกบัณฑิตจะได้เห็นความชนะของเราและความปราชัยของสมณะ จึงเข้าไปกรุงสาวัตถีเพื่อนำผู้รู้เหตุเป็นผู้ทดสอบปัญหา แล้วเที่ยวประกาศไปตามถนนและทางสี่แพร่งว่า ท่านทั้งหลายประสงค์จะฟังความเฉียบแหลมด้วยปัญญาในการโต้วาทะกับอัครสาวกของพระสมณโคดมจงพากันออกมา.
               พวกมนุษย์เป็นอันมากที่เลื่อมใสบ้าง ไม่เลื่อมใสบ้างในพระศาสนาพากันออกไปด้วยคิดว่าจักฟังถ้อยคำของบัณฑิต.
               ลำดับนั้น ปสูรปริพาชกแวดล้อมด้วยมหาชน ตรึกวาทะมีอาทิว่า เมื่อพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้ เราจักกล่าวอย่างนี้ ได้ไปยังวิหาร.
               พระเถระดำริว่า เสียงเอ็ดอึงและรบกวนผู้คนอย่าได้มีในวิหารเลย จึงให้ปูอาสนะแล้วนั่งที่ซุ้มประตูพระเชตวัน. ปริพาชกเข้าไปหาพระเถระกล่าวว่า บรรพชิตผู้เจริญ ท่านให้เด็กหักธงกิ่งชมพูของเราหรือ?
               เมื่อพระเถระตอบว่า เป็นความจริง ปริพาชก. เขาจึงกล่าวว่า ช่างเถิด ท่านผู้เจริญ เราทั้งสองเริ่มกล่าวอะไรๆ กันเถิด.
               พระเถระรับว่า ตกลง ปริพาชก. เขากล่าวว่า สมณะท่านจงถาม ข้าพเจ้าจะแก้.
               ครั้งนั้น พระเถระได้กล่าวกะปริพาชกว่า ดูก่อนปริพาชก ถามยากหรือแก้ยาก.
               เขาตอบว่า บรรพชิตผู้เจริญ การแก้ยากกว่าถาม เพราะใครจะถามอย่างไรๆ ก็ได้.
               พระเถระกล่าวว่า ปริพาชก ถ้าเช่นนั้นท่านถามเถิด เราจักแก้.
               เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคิดพิศวงว่า ภิกษุดูก็มีรูปงามให้เด็กเอาเท้าหักกิ่งไม้ได้ จึงถามพระเถระว่า อะไรเป็นกามของบุรุษ.
               พระเถระตอบว่า ความกำหนัดเพราะดำริ เป็นกามของบุรุษ.๑-
____________________________
๑- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๓๔

               ปสูรปริพาชกฟังดังนั้นมีความสำคัญในพระเถระว่าพลาดไปแล้ว ประสงค์จะยกให้พระเถระเป็นผู้แพ้ จึงกล่าวว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญ ท่านมิได้กล่าวถึงอารมณ์อันงดงามวิจิตรว่าเป็นกามของบุรุษดอกหรือ.
               พระเถระตอบว่า ถูกแล้วปริพาชก เราไม่กล่าวอย่างนั้น.
               แต่นั้น ปริพาชกให้พระเถระรับรองตลอด ๓ ครั้งแล้วเรียกผู้ตัดสินปัญหามาว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงฟังความผิดในวาทะของสมณะเถิด แล้วกล่าวว่า บรรพชิตผู้เจริญ เพื่อนพรหมจรรย์ของท่านยังอยู่ในป่าหรือ.
               พระเถระตอบว่า ถูกแล้ว ปริพาชก.
               ถามว่า เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นอยู่ในป่า ยังตรึกถึงกามวิตกเป็นต้นอยู่หรือ.
               ตอบว่า ถูกแล้ว ปริพาชก ปุถุชนทั้งหลายยังตรึกอยู่เป็นประจำ.
               ถามว่า ผิว่าเป็นอย่างนั้น ความเป็นสมณะของเพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นอยู่ที่ไหนเล่า นอกนั้นยังเป็นผู้บริโภคกามครองเรือนอยู่ มิใช่หรือ
               ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
                                   สิ่งสวยงามในโลกมิใช่กามของท่าน และ
                         ท่านกล่าวความกำหนัดเพราะความดำริว่าเป็น
                         กาม แม้ภิกษุของท่าน เมื่อดำริในอกุศลวิตก
                         ก็จักเป็นผู้บริโภคกาม.

               ลำดับนั้น พระเถระเมื่อจะแสดงความผิดในวาทะของปริพาชก จึงกล่าวว่า ปริพาชกท่านไม่กล่าวถึงความกำหนัดเพราะความดำริว่าเป็นของบุรุษ ท่านกล่าวถึงอารมณ์งดงามวิจิตรว่าเป็นกามหรือ.
               ปสูรปริพาชกตอบว่า ถูกแล้ว บรรพชิตผู้เจริญ.
               ลำดับนั้น พระเถระให้ปสูรปริพาชกรับรองตลอด ๓ ครั้งแล้วเรียกผู้ตัดสินปัญหามาว่า
               ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พวกท่านจงฟังความผิดในวาทะของปริพาชกเถิด
               แล้วกล่าวว่า
               ดูก่อนอาวุโสปสูระ ศาสดาของท่านยังมีอยู่หรือ.
               ปสูระตอบว่า ยังมีอยู่ บรรพชิต.
               ถามว่า ศาสดานั้นย่อมเห็นรูปารมณ์ที่ควรรู้ได้ด้วยจักษุ หรือว่าเสพสัททารมณ์เป็นต้น.
               ปริพาชกตอบว่า ใช่ ย่อมเสพ บรรพชิต.
               ถามว่า ผิว่าเป็นอย่างนั้น ความเป็นศาสดาของศาสดานั้นอยู่ที่ไหน ศาสดานั้นยังเป็นผู้บริโภคกามครองเรือนอยู่มิใช่หรือ.
               ครั้นพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
                                   ความงดงามในโลกเป็นกามของท่านแล
                         ท่านไม่กล่าวถึงความกำหนัดเพราะความดำริ
                         ว่าเป็นกาม เมื่อเห็นรูปน่ารื่นรมย์ เมื่อฟังเสียง
                         น่ารื่นรมย์ เมื่อดมกลิ่นน่ารื่นรมย์ เมื่อลิ้มรสน่า
                         รื่นรมย์ เมื่อถูกต้องผัสสะน่ารื่นรมย์ แม้ศาสดา
                         ของท่านก็จักเป็นผู้ยังบริโภคกามอยู่.

               เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกจนปัญญาคิดว่า บรรพชิตนี้เป็นผู้มีวาทะน่านับถือ เราจักบวชในสำนักของบรรพชิตนี้แล้วศึกษาตำราการพูด จึงเข้าไปยังกรุงสาวัตถีแสวงหาบาตรจีวรเข้าไปยังพระเชตวัน เห็นพระโลฬุทายี ณ ที่นั้นมีกายสีทองน่าเลื่อมใสโดยตลอดในอาการ ร่างกายและมารยาท เข้าใจว่าภิกษุรูปนี้คงมีปัญญามาก คงเป็นนักพูด จึงบวชในสำนักของท่านแล้ว ข่มท่านด้วยวาทะ หลีกเข้าไปสู่ลัทธินั้นแหละพร้อมด้วยเพศ แล้วคิดว่าเราจักทำการโต้วาทะกับพระสมณโคดมอีก จึงประกาศในกรุงสาวัตถีโดยนัยก่อนนั้นแลแวดล้อมด้วยมหาชน กล่าวอยู่ว่าเราจักข่มพระสมณโคดมเป็นต้นได้ไปยังพระเชตวัน.
               เทวดาที่สิงอยู่ ณ ซุ้มประตูพระเชตวันคิดว่า ผู้นี้ไม่ควรต้อนรับจึงได้บันดาลปิดปากเขาเสีย. ปสูระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งเหมือนคนใบ้. พวกมนุษย์คิดว่า เดี๋ยวท่านปสูระคงจักถามต่างมองหน้าปสูระนั้น แล้วพากันตะโกนว่า ท่านปสูระพูดซิ ท่านปสูระพูดซิ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ปสูระจะพูดได้อย่างไร เมื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นจึงได้ตรัสพระสูตรนี้.
               ในคาถาต้นนั้น พึงทราบความสังเขปดังต่อไปนี้
               สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเหล่านี้ย่อมกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้นหมายถึงทิฏฐิของตน แต่ไม่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ในธรรมเหล่าอื่น.
               เมื่อเป็นอย่างนี้ สมณพราหมณ์เป็นอันมากกล่าวความดีงามในศาสดาเป็นต้นของตนที่ตนอาศัยแล้วเท่านั้นว่านี้เป็นวาทะอันดีงาม ยึดมั่นในสัจจะเฉพาะอย่างมีว่าโลกเที่ยงเป็นต้น.
               พึงทราบคาถาว่า ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นยึดมั่นอย่างนี้ ประสงค์จะกล่าวโต้ตอบกัน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า พาลํ ทหนฺติ มิถุ อญฺญมญฺญํ ย่อมโต้เถียงกันและกันว่าเป็นคนเขลา คือชนทั้งสองนั้นย่อมโต้เถียงกันและกันว่าเป็นคนเขลา ย่อมเห็นโดยความเป็นคนเขลาว่า คนนี้เป็นคนเขลา คนนี้เป็นคนเขลา ดังนี้.
               บทว่า วทนฺติ เต อญฺญสิตา กโถชฺขํ คือ สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยศาสดาของกันและกันเป็นต้น ย่อมกล่าวคำทะเลาะกัน.
               บทว่า ปสํสกามา กุสลาวทานา ปรารถนาความสรรเสริญสำคัญว่าเราเป็นคนฉลาด คือปรารถนาแต่ความสรรเสริญเป็นผู้มีความสำคัญว่า แม้เราทั้งสองก็เป็นผู้มีวาทะฉลาด มีวาทะเป็นบัณฑิต.
               พึงทราบคาถาต่อไปว่า ยุตฺโต กถายํ ขวนขวายหาถ้อยคำวิวาท โดยกำจัดวาทะหนึ่งในบรรดาวาทะเหล่านั้นอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยุตฺโต กถายํ คือ ขวนขวายหาถ้อยคำวิวาท.
               บทว่า ปสํสมิจฺฉํ วินิฆาติ โหติ ปรารถนาแต่ความสรรเสริญกระทบกระเทียบกัน คือปรารถนาความสรรเสริญของตนกล่าวถ้อยคำกระทบกระเทียบกันมาก่อน โดยนัยมีอาทิว่าเราจักข่มได้อย่างไรหนอ.
               บทว่า อปาหตสฺมึ ในเพราะวาทะอันผู้ตัดสินไม่ทำให้เสื่อมใส. ความว่า ในเพราะวาทะอันผู้ตัดสินปัญหาไม่ทำให้เลื่อมใสโดยนัยมีอาทิว่า ท่านกล่าวปราศจากอรรถ ท่านกล่าวปราศจากพยัญชนะ ดังนี้.
               บทว่า นินฺทาย โส กุปฺปติ บุคคลนั้นย่อมโกรธ เพราะความนินทา คือบุคคลนั้นย่อมโกรธ เพราะความนินทาอันเกิดขึ้นในวาทะอันผู้ตัดสินไม่ทำให้เลื่อมใสอย่างนี้.
               บทว่า รนฺธเมสี คือ ผู้แสวงหาโทษของคนอื่น.
               พึงทราบคาถาต่อไปว่า ไม่แต่โกรธอย่างเดียว ยังกล่าววาทะของบุคคลนั้นว่าเป็นวาทะเสื่อมสิ้นอีกด้วย.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปริหีนมาหุ อปาหตํ ผู้ตัดสินปัญหาทั้งหลายกล่าววาทะของบุคคลอันตนไม่ทำให้เลื่อมใสแล้วว่าเป็นวาทะเสื่อมสิ้น คือกล่าววาทะอันตนไม่ทำให้เลื่อมใสแล้วโดยอรรถและโดยพยัญชนะเป็นต้นว่าเป็นวาทะเสื่อมสิ้น.
               บทว่า ปริเทวติ บุคคลผู้มีวาทะเสื่อมย่อมคร่ำครวญ คือบุคคลนั้นย่อมบ่นเพ้อด้วยคำมีอาทิว่า เรานึกถึงวาทะอื่นแล้วอันมีวาทะที่ไม่ทำให้เลื่อมใสนั้นเป็นนิมิต.
               บทว่า โสจติ บุคคลผู้มีวาทะเสื่อมสิ้นย่อมเศร้าโศก คือย่อมเศร้าโศกปรารภคำมีอาทิว่า เขานั่นแหละเป็นผู้ชนะ.
               บทว่า อุปจฺจคา มนฺติ อนุตฺถุนาติ ผู้มีวาทะเสื่อมย่อมทอดถอนใจว่าท่านผู้นี้กล่าวสูงเกินเราไป คือเขาบ่นเพ้อเป็นอย่างดีโดยนัยมีอาทิว่า มีวาทะเกินเราไป.
               ปริพาชกภายนอกท่านเรียกว่า สมณะ ในบทนี้ว่า เอเต วิวาทา สมเณสุ ความวิวาทเกิดแล้วในพวกสมณะ.
               บทว่า เอเตสุ อุคฺฆาติ นิคฺฆาติ โหติ ความกระทบกระทั่งกัน ย่อมมีในเพราะวาทะเหล่านี้ คือมีจิตกระทบกระทั่งกันด้วยการชนะและการแพ้เป็นต้น ย่อมมีในวาทะเหล่านั้น.
               บทว่า วิรเม กโถชฺชํ คือ พึงเว้นการทะเลาะกันเสีย.
               บทว่า น หญฺญทตฺถตฺถิ ปสํสลาภา ความสรรเสริญและลาภย่อมไม่มีเป็นอย่างอื่นไปเลย คือไม่มีความต้องการอย่างอื่น นอกจากความสรรเสริญและลาภในวาทะนี้.
               พึงทราบความคาถาที่หกต่อไป.
               ก็เพราะความสรรเสริญและลาภย่อมไม่มีเป็นอย่างอื่นไป ฉะนั้น บุคคลนั้นแม้ได้ลาภอย่างยิ่งก็ยังกล่าววาทะนั้นในท่ามกลางบริษัท เป็นผู้อันบุคคลสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้นว่า ผู้นี้เป็นคนดี แต่นั้นบุคคลนั้นด้วยต้องการความชนะนั้นจึงถึงความยินดีหรือยิ้มแย้ม ย่อมรื่นเริงและเย่อหยิ่งด้วยมานะ. เพราะเหตุไร. เพราะได้ถึงความต้องการชัยชนะนั้นสมใจนึก.
               พึงทราบคาถาว่า การยกตนของบุคคลผู้ยกตนเป็นอย่างนี้.
               ในบทเหล่านั้น มานติมานํ วทเต ปเนโส บุคคลนั้นย่อมกล่าวถึงการถือตัวและการดูหมิ่น คือบุคคลนั้นไม่รู้ถึงการยกตนนั้นว่าเป็นพื้นแห่งความกระทบกัน ย่อมกล่าวถึงการถือตัวและการดูหมิ่นอยู่นั่นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงถึงโทษในวาทะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อไม่ทรงรับวาทะของปสูรปริพาชกนั้น จึงตรัสคาถาว่า สูโร ผู้กล้าหาญ ดังนี้เป็นอาทิ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ราชขาทาย ได้แก่ ราชขาทนิยาหาร (อาหารที่พระราชาพระราชทานเลี้ยง). ท่านอธิบายว่า ด้วยค่าจ้างคือภัต.๒-
____________________________
๒- ม. บาลีว่า ภตฺตเวตเนน.

               บทว่า อภิคชฺชเมติ ปฏิสูรมิจฺฉํ ปรารถนาพบทหารผู้เป็นปฏิปักษ์กันย่อมคำราม คือท่านแสดงว่าบุคคลผู้นั้นเป็นเจ้าทิฏฐิ ปรารถนาพบบุคคลผู้เป็นเจ้าทิฏฐิ เหมือนผู้กล้าหาญปรารถนาพบผู้เป็นปฏิปักษ์กัน ย่อมคำรามเข้าหากัน ฉะนั้น.
               บทว่า เยเนว โส เตน ปเลหิ ได้แก่ ท่านจงไปยังที่ที่บุคคลผู้เป็นเจ้าทิฏฐิผู้เป็นปฏิปักษ์ของท่านอยู่เถิด.
               บทว่า ปุพฺเพว นตฺถิ ยทิทํ ยุธาย กิเลสชาติเพื่อการรบนี้มิได้มีในกาลก่อนเลย คือท่านแสดงว่ากิเลสชาติเพื่อการรบนี้มิได้มีในกาลก่อนเลย กิเลสชาตินั้นเราตถาคตละเสียได้ ณ ควงแห่งต้นโพธิ์นั่นแล.
               คาถาที่เหลือมีการเชื่อมกันชัดแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิวาทยนฺติ คือ วิวาทกัน.
               บทว่า ปฏิเสนิกตฺตา ท่านผู้กระทำเป็นข้าศึก คือผู้ทำตรงกันข้าม.
               บทว่า วิเสนิกตฺวา คือ กำจัดเสนาคือกิเลสให้พินาศไป.
               บทว่า กึ ลเภถ ท่านจะได้อะไร คือท่านจักได้สู้รบโต้ตอบอะไร.
               บทว่า ปสูร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกปริพาชกนั้น.
               บทว่า เยสีธ นตฺถิ คือ ในพระอรหันต์ผู้ไม่มีความยึดถือในโลกนี้.
               บทว่า ปวิตกฺกํ ความตรึกทั่วไป คือความตรึกมีอาทิว่า ความชนะจักมีแก่เราในที่นี้หรือไม่หนอ.
               บทว่า โธเนน ยุคํ สมาคมา ถือความเป็นคู่แข่งกับท่านผู้กำจัดกิเลส คือถือความเป็นคู่แข่งกับพระพุทธเจ้าผู้กำจัดกิเลสได้แล้ว.
               บทว่า น หิ ตวํ สกฺขสิ สมฺปยาตเว ท่านจะไม่อาจถือความเป็นคู่แข่งให้สำเร็จได้เลย. ความว่า ท่านไม่สามารถจะถือความเป็นคู่แข่งกับพระพุทธเจ้าผู้กำจัดกิเลส ให้สำเร็จได้แม้แต่บทเดียว หรือยังการถือความเป็นคู่แข่งให้ถึงพร้อมได้ เหมือนหมาไนเป็นต้นไม่สามารถแข่งกับราชสีห์เป็นต้นได้ฉะนั้น.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงปรากฏชัดแล้วด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาปสูรสูตรที่ ๘               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค ปสูรสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 414อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 415อ่านอรรถกถา 25 / 416อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=10174&Z=10221
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=8428
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=8428
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :