ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 384อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 25 / 390อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค
นาลกสูตร

               อรรถกถานาลกสูตรที่ ๑๑               
               นาลกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อานนฺทชาเต ผู้มีใจชื่นชม ดังนี้.
               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               มีเรื่องเล่าว่า ดาบสชื่อว่า นาลก เป็นหลานของอสิตฤษี เห็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา (ปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี) จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นอย่างนั้น จำเดิมแต่นั้นได้บำเพ็ญบารมีแสนกัป ได้ทูลถามโมเนยยปฏิปทากะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาสองคาถามีอาทิว่า อญฺญาตเมตํ ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤษีดังนี้. ในวันที่ ๗ จากวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์โมเนยยปฏิปทานั้นแก่นาลกดาบสโดยนัยมีอาทิว่า โมเนยฺยนฺเต อุปญฺญิสฺสํ เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีแก่ท่านดังนี้.
               ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์อันท่านพระมหากัสสปผู้ทำสังคายนาถามโมเนยยปฏิปทานั้น ประสงค์จะแสดงกระทำเรื่องราวทั้งหมดในขณะที่นาลกดาบสถูกชักชวนทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ปรากฎ จึงกล่าววัตถุคาถา ๒๐ คาถา มีอาทิว่า อานนฺทชาเต ดังนี้. ท่านเรียกเรื่องแม้ทั้งหมดนั้นว่า นาลกสูตร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อานนฺทชาเต ได้แก่ เป็นผู้สำเร็จ คือถึงความเจริญ. บทว่า ปตีเต คือ ยินดี.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อานนฺทชาเต คือ ชื่นชม. บทว่า ปตีเต คือ มีความโสมนัส.
               บทว่า สุจิวสเน คือ ในที่อยู่อันไม่เศร้าหมอง. จริงอยู่ ที่อยู่ของเทวดาทั้งหลายเกิดจากต้นกัลปพฤกษ์ จึงไม่จับละอองหรือมลทิน.
               บทว่า ทุสฺสํ คเหตฺวา ได้แก่ ยกผ้าทิพย์ที่ได้ชื่อว่า ทุสฺสํ เพราะเป็นเช่นผ้าในโลกนี้.
               บทว่า อสิโต อิสิ คือ อสิตฤษี ที่ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะมีผิวกายดำ.
               บทว่า ทิวาวิหาเร คือ ในที่พักกลางวัน.
               คำที่เหลือโดยบทง่ายทั้งนั้น แต่โดยความสัมพันธ์กัน
               นัยว่า อสิตฤษีนี้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสีหหนุพระชนกของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้เป็นอาจารย์บอกศิลปะแต่ครั้งพระเจ้าสุทโธทนะยังมิได้อภิเษก.
               ครั้นอภิเษกแล้วได้เป็นปุโรหิต เมื่ออสิตฤษีมารับราชการในเวลาเย็นและเวลาเช้า พระราชามิได้ทรงทำความเคารพเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงกระทำเพียงยกพระหัตถ์ประนมเท่านั้น.
               นัยว่า นี้เป็นธรรมดาของเจ้าศากยะทั้งหลายที่ได้อภิเษกแล้ว.
               ปุโรหิตเบื่อหน่ายด้วยการรับราชการ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จะบรรพชา พระเจ้าข้า. พระราชาทรงทราบความตั้งใจแน่วแน่ของปุโรหิตนั้น จึงตรัสขอร้องว่า ท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ขอให้ท่านอาจารย์อยู่ในอุทยานของข้าพเจ้าเถิด โดยที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมท่านอาจารย์เสมอๆ. ปุโรหิตรับกระแสพระดำรัสแล้ว บรรพชาเป็นดาบส พระราชาทรงอุปถัมภ์อยู่ในสวนนั่นเอง ดาบสกระทำกสิณบริกรรมยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้ว. ตั้งแต่นั้นมา อสิตดาบสนั้นก็ไปฉันในราชตระกูล แล้วไปพักกลางวัน ณ ป่าหิมพานต์ สวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา และนาคพิภพเป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่ง.
               อยู่มาวันหนึ่ง อสิตดาบสได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เข้าไปยังรัตนวิมาน นั่งบนทิพพรัตนบัลลังก์ เสวยสมาธิสุข ตอนเย็นจึงออกจากสมาธิแล้วไปยืนอยู่ที่ประตูวิมาน เหลียวแลดูข้างโน้นข้างนี้ ได้เห็นทวยเทพมีท้าวสักกะเป็นประมุข ยกผืนผ้าทิพย์ที่ถนนใหญ่ประมาณ ๖๐ โยชน์ แล้วกล่าวคำชมเชยคุณของพระโพธิสัตว์รื่นเริงอยู่.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า อานนฺทชาเต ฯเปฯ ทิวาวิหาเร ความว่า อสิตฤษีอยู่ในที่พักกลางวันได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพและเทวดาคณะไตรทศผู้มีใจชื่นชม มีปีติโสมนัสยกผ้าทิพย์ขึ้นเชยชมอยู่อย่างเหลือเกินในที่อยู่อันสะอาด ดังนี้.
               ครั้นอสิตฤษีเห็นอย่างนั้นแล้วจึงทำความเคารพ แล้วได้ถามทวยเทพผู้มีใจเบิกบานบันเทิงในที่นั้นว่า เพราะเหตุไร ทวยเทพจึงเป็นผู้ยินดีอย่างเหลือเกิน ท่านทั้งหลายยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้วรื่นรมย์อยู่เพราะอาศัยอะไร.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อุทคฺเค คือ มีกายสูงยิ่ง. บทว่า จิตฺตํ กริตฺวา ได้แก่ ทำความเคารพ. บทว่า กลฺยาณรูโป คือ ยินดีมาก. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.
               บัดนี้ พึงทราบคาถามีอาทิว่า ยทาปิ อาสิ แม้คราวใดได้มีสงครามกับพวกอสูรดังนี้ มีความเชื่อมกันง่ายทั้งนั้น. แต่พึงทราบความแห่งบทในคาถาต้นก่อน.
               บทว่า สงฺคโม ได้แก่ สงคราม.
               บทว่า ชโย สุรานํ คือ พวกเทวดาชนะ.
               เพื่อความแจ่มแจ้งของบทนั้น พึงทราบกถาตามลำดับต่อไปนี้.
               มีเรื่องเล่ามาว่า ท้าวสักกะเป็นมาณพชื่อ มาฆะ เป็นใหญ่ในมนุษย์ ๓๓ คนผู้เป็นชาวบ้านมจลคาม ในแคว้นมคธ บำเพ็ญวัตตบท ๗ บังเกิดในดาวดึงส์พิภพพร้อมกับบริษัท. ลำดับนั้น พวกเทวดาก่อนๆ กล่าวกันว่า พวกเทพบุตรผู้เป็นอาคันตุกะมาแล้ว พวกเราจักต้อนรับพวกเขาจึงน้อมนำดอกบัวทิพย์เข้าไปให้ และเชื้อเชิญให้ครองราชสมบัติกึ่งหนึ่ง. ท้าวสักกะไม่ทรงยินดีด้วยราชสมบัติเพียงกึ่งหนึ่ง จึงประกาศให้บริษัทของตนรู้. วันหนึ่งเมื่อเทวดาก่อนๆ เมาจึงจับเท้าขว้างไปที่เชิงเขาสิเนรุ. ณ พื้นชั้นล่างของภูเขาสิเนรุของทวยเทพเหล่านั้นเกิดอสูรภพประมาณหมื่นโยชน์ งดงามด้วยจิตตปาฏลีปกคลุมดอกไม้สวรรค์.
               แต่นั้น พวกบุรพเทวดาทั้งหลายเหล่านั้นครั้นได้สติไม่เห็นดาวดึงส์พิภพ จึงกล่าวกันว่า โอ! ร้ายจริงพวกเราพากันฉิบหาย เพราะโทษที่ดื่มสุราจนเมามาย บัดนี้พวกเราจะไม่ดื่มสุราอีกแล้ว พวกเราจะดื่มที่ไม่ใช่สุรา บัดนี้พวกเรามิได้เป็นเทวดาแล้ว พวกเราเป็นอสูรแล้ว ตั้งแต่นั้น ก็มีชื่อเกิดขึ้นว่า อสุรา คิดกันว่าพวกเราจะทำสงครามกับพวกเทวดาในบัดนี้ จึงพากันไปเบื้องหน้าภูเขาสิเนรุ.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะขึ้นไปรบกะพวกอสูร ขว้างลงในมหาสมุทรอีก สร้างรูปเปรียบพระอินทร์คล้ายพระองค์ตั้งไว้ที่ประตู ๔ ด้าน. พวกอสูรคิดว่า ท้าวสักกะนี้ช่างไม่ประมาทดีจริงหนอ มายืนอยู่ได้เป็นนิจ แล้วพากันกลับเข้าเมือง. ลำดับนั้น ทวยเทพประกาศชัยชนะของตน ยกผืนผ้าทิพย์ขึ้นที่ถนนใหญ่พากันเล่นนักษัตร.
               ครั้งนั้น อสิตฤษี เพราะตนสามารถระลึกชาติในอดีตและอนาคตได้ตลอด ๔๐ กัป จึงรำพึงว่า ทวยเทพเหล่านี้เคยเล่นนักษัตรอย่างนี้เหมือนในกาลก่อนหรือหนอ เห็นเทพชนะสงครามระหว่างเทวดากับอสูร จึงกล่าวว่า ยทาปิ อาสิ อสุเรหิ ฯเปฯ โลมหํโส ความว่า แม้ควาวใดได้มีสงครามกับพวกอสูร พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ แม้คราวนั้นขนลุกพองเช่นนี้ก็มิได้มี.
               บทว่า กิมพฺภูตํ ทฏฺฐุ มรู ปโมทิตา ความว่า วันนี้เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไรซึ่งไม่เคยมีมา จึงพากันเบิกบานอย่างนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๒ ดังนี้.
               บทว่า เสเฬนฺติ คือ เทวดาทั้งหลายเปล่งเสียงชมเชย ขับร้องหลายอย่าง ประโคมดนตรี ๖๘,๐๐๐ ชิ้น. บทว่า โผเฏนฺติ คือ ปรบมือ. บทว่า ปุจฺฉามิ โวหํ เราขอถามท่านทั้งหลาย คืออสิตฤษีแม้สามารถจะรู้ได้ด้วยตนเอง ก็ถามเพราะประสงค์จะฟังคำของพวกเทพเหล่านั้น.
               บทว่า เมรุมุทฺธวาสิเน คือ ผู้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ. จริงอยู่ ณ พื้นชั้นล่างของของเขาสิเนรุมีอสุรภพประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์. ณ พื้นชั้นกลางมีมหาทวีป ๔ มีทวีปน้อยประมาณ ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร. ณ พื้นชั้นบนมีดาวดึงส์พิภพ ๑๐,๐๐๐ โยชน์. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สิเนรุมุทฺธวาสิโน ผู้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ. บทว่า มาริสา อสิตฤษีเรียกพวกเทวดา. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้ไม่มีทุกข์ และไม่มีโรค.
               ต่อไปพึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๓ ซึ่งเทวดาทั้งหลายบอกความนั้นแก่อสิตฤษีได้กล่าวแล้ว. บทว่า โพธิสตฺโต ได้แก่ สัตว์ผู้จะตรัสรู้ คือสัตว์ผู้ควรบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ. บทว่า รตนวโร คือ ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ. บทว่า เตนมฺหา ตุฎฺฐา คือ เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงยินดี.
               เพราะว่า พระโพธิสัตว์นั้นครั้นบรรลุความเป็นพุทธะแล้วจักแสดงธรรมโดยประการที่พวกเราและเหล่าเทพอื่นจักบรรลุภูมิของพระเสกขะและพระอเสกขะได้ แม้มนุษย์ทั้งหลายเหล่าใดฟังธรรมของท่านแล้วยังไม่สามารถจะปรินิพพานได้ มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นจักทำทานเป็นต้น แล้วไปบังเกิดในเทวโลกได้
               นัยว่านี้เป็นอธิบายของหมู่เทพเหล่านั้นด้วยประการฉะนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ตุฏฺฐา กลฺยรูปา พวกเราพากันยินดีเบิกบาน.
               ความว่า สองบทนี้ไม่ต่างกันก็จริงถึงดังนั้น พวกเทวดาเห็นอะไรที่ไม่เคยมีมาแล้ว จึงพากันเบิกบาน การรบของเทวดาน่าเบิกบานนักหรือ พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้เพื่อแก้สองปัญหา ดังนี้.
               บัดนี้ พึงทราบความแห่งคาถาที่ ๔ ที่เทวดาทั้งหลายกล่าวชี้แจงถึงความประสงค์เมื่อพระโพธิสัตว์อุบัติแล้วพวกเขาพากันยินดี.
               พระสังคีติกาจารย์แสดงความที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ประเสริฐในคติทั้ง ๕ ด้วยสองบทเหล่านี้ แสดงถึงการถือกำเนิดเป็นเทวดาและมนุษย์ด้วย สัตตศัพท์ แสดงการถือคติที่เหลือด้วย ปชาศัพท์.
               จริงอยู่ แม้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายมีสีหะเป็นต้นก็ยังประกอบด้วยคุณมีความไม่หวาดสะดุ้งเป็นต้น พระโพธิสัตว์นี้แหละทำให้สัตว์แม้เหล่านั้นหวาดสะดุ้งได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปชานมุตฺตโม เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่สัตว์ทั้งหลาย. ก็ในบรรดาเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ในบุคคล ๔ จำพวกมีผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเป็นต้นเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งสองนี้เป็นอัครบุคคล และเป็นผู้องอาจกว่านรชนเพราะเป็นเช่นกับโคอุสภะในหมู่ชน. ด้วยเหตุนั้น เทวดาทั้งหลายเมื่อจะกล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวบททั้งสองนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๕.
               บทว่า ตํ สทฺทํ ความว่า อสิตฤษีได้ฟังคำที่เทวดาทั้งหลายได้กล่าวแล้วนั้น. บทว่า อวสริ คือ รีบลง. บทว่า ตทภวนํ ตัดบทเป็น ตทา ภวนํ ได้แก่ เข้าไปยังที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะในขณะนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๖.
               บทว่า ตโต ได้แก่ ต่อจากคำของอสิตฤษี. บทว่า อุกฺกามุเขว คือ เหมือนทองคำที่ปากเบ้า. อธิบายว่า เหมือนทองดำบริสุทธิ์ในเบ้า. บทว่า สุกุสลสมฺปหฏฺฐํ ได้แก่ นายช่างทองผู้ฉลาดหลอมดีแล้ว. อธิบายว่า หล่อหลอม. บทว่า ททฺทลฺลมานํ คือ ผู้รุ่งเรือง. บทว่า อสิตวฺหยสฺส คือ แก่ฤษีชื่ออสิตะ. ชื่อที่สองว่ากัณหเทวิลฤษี.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๗.
               บทว่า ตาราสภํ วา คือ เหมือนความรุ่งเรืองของดวงดาว. อธิบายว่า เหมือนพระจันทร์. บทว่า วิสุทฺธํ คือเว้นจากอุปกิเลสมีหมอกเป็นต้น. บทว่า สรทริว คือ ดุจในสรทกาล. บทว่า อานนฺทชาโต เกิดความยินดี คือเกิดปีติโดยเพียงได้ยินเท่านั้น. บทว่า อลตฺถ ปีตึ ได้ปีติ คือครั้นเห็นแล้วก็ได้ปีติยิ่งขึ้น.
               ต่อจากนั้นพึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๘ ที่พวกเทวดากล่าวแก่พระโพธิสัตว์ เพื่อแสดงสักการะอันประกอบขึ้นเอง. บทว่า อเนกสาขํ คือ มีซี่เป็นอันมาก. บทว่า สหสฺสมณฑลํ มีมณฑลตั้งพัน คือประกอบด้วยมณฑลตั้งพันสำเร็จด้วยทองคำสีแดง. บทว่า ฉตฺตํ คือ เศวตฉัตรอันเป็นทิพย์. บทว่า วีติปตนฺติ ตกลงอยู่ คือจามรด้ามทองทั้งหลายค้อมลงมาพัดวีสรีระ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๙.
               บทว่า ชฎี ได้แก่ ชฎิล. บทว่า กณฺหสิริวฺหโย ฤษีชื่อว่า กัณหสิริ คือเรียกชื่อด้วยกัณหศัพท์และสิรีศัพท์. ท่านอธิบายไว้ว่า ได้ยินว่า เรียกชื่อท่านว่าสิริกัณหะบ้าง. บทว่า ปณฺฑุกมฺพเล ได้แก่ บนผ้ากัมพลแดง. ก็เรื่องราวในที่นี้ควรกล่าวว่า ซึ่งพระกุมาร หรือควรทำปาฐะที่เหลือไว้.
               อนึ่ง ในคาถาต้นท่านกล่าวว่า ทิสฺวา เห็นแล้ว หมายถึงเข้าไปถึงหัตถบาส. แต่บทว่า ทิสฺวา นี้หมายถึงนำเข้ารับถึงหัตถบาส เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทิสฺวา ซ้ำอีก. ท่านกล่าวถึงทัศนะมีในก่อน หรือการมุ่งเพื่อได้ปีติ เพราะคำว่า วิปุลมลตฺถ ปีตึ ได้ปีติไพบูลในที่สุดคาถา กล่าวการมุ่งเพื่อรับนี้ เพราะคำว่า สุมโน ปฏิคฺคเห ดีใจรับเอาในที่สุด.
               อนึ่ง บทก่อนเกี่ยวกับพระกุมาร บทนี้เกี่ยวกับเศวตฉัตร ได้เห็นพระกุมารดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดงของแคว้นคันธาระมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บนพระเศียร ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทนี้ว่า ฉตฺตํ มรู พวกเทวดากั้นเศวตฉัตร ดังนี้. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ฉัตรนี้ท่านกล่าวหมายถึงฉัตรอันเป็นของมนุษย์. แม้พวกมนุษย์ก็ถือฉัตรจามร ฉัตรหางนกยูง ใบตาลและพัดวาลวีชนีเข้าไปหาพระมหาบุรุษเหมือนเทวดาทั้งหลายได้เหมือนกัน. เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรดียิ่งไปด้วยคำของอสิตฤษีนั้น เพราะฉะนั้นตามที่ท่านกล่าวไว้ก็ดีแล้ว.
               บทว่า ปฏิคฺคเห ได้แก่ ฤษีเอามือทั้งสองรับไว้. นัยว่า เจ้าศากยะทั้งหลายนำพระกุมารเข้าไปเพื่อให้ไหว้พระฤษี. ครั้งนั้นพระบาททั้งสองของพระกุมารก็กลับไปตั้งอยู่บนศีรษะของพระฤษี. พระฤษีเห็นความอัศจรรย์ ดังนั้น มีความชื่นชมยินดีรับไว้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๐.
               บทว่า ชิคึสโต ได้แก่ ปรารถนาค้นคว้า แสวงหา. ท่านอธิบายว่า เข้าไปตรวจตรา. บทว่า โส ลกฺขณมนฺตปารคู เรียนจบลักษณะมนต์ คือพระฤาษีนั้นถึงฝั่งแห่งลักษณะและแห่งเวททั้งหลาย. บทว่า อนุตฺตรายํ คือ พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า.
               นัยว่า อสิตฤษีนั้นเห็นจักรที่ฝ่าพระบาทของพระมหาสัตว์อยู่เฉพาะหน้าของตน จึงตรวจตราดูพระลักษณะที่เหลือโดยทำนองนั้น ครั้นเห็นความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะทั้งหมด ก็รู้ว่าพระกุมารนี้จักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน จึงกล่าวอย่างนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๑.
               คำว่า อถตฺตโน คมนํ ได้แก่ เข้าถึงอรูปด้วยอำนาจปฏิสนธิ. บทว่า อกลฺยรูโป คฬยติ อสฺสุกานี เป็นผู้เสียใจถึงน้ำตาตก คืออสิตฤษีระลึกถึงการอุบัติในอรูปภพของตนนั้น เสียใจว่า บัดนี้เราไม่ได้เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาของพระกุมารนั้นเสียแล้ว เกิดโทมนัสเพราะความโศกมีกำลังครอบงำถึงกับน้ำตาตก คือไหล. ปาฐะว่า ครยติ ก็มี. ก็ผิว่า อสิตฤษีนี้พึงน้อมจิตไปในรูปภพ ก็จะไม่เกิดเดือดร้อนอะไรถึงกับร้องไห้อย่างนั้น. แต่เกิดเดือดร้อน เพราะความไม่ฉลาดไม่รู้จักวิธี.
               หากมีคำถามว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อสิตฤษีนั้นไม่ควรเกิดโทมนัส เพราะข่มเสียได้ด้วยการได้สมาบัติมิใช่หรือ.
               ตอบว่า เพราะยังข่มไม่ได้นั้นเอง.
               จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายที่ตัดขาดด้วยมรรคภาวนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นได้เพราะปัจจัยมีกำลังแห่งการได้สมาบัติ.
               หากมีคำถามว่า เมื่อกิเลสเกิดขึ้นเพราะฌานเสื่อมเขาจะเข้าถึงอรูปภพได้แต่ไหน.
               ตอบว่า บรรลุได้อีกด้วยความลำบากเล็กน้อย. เพราะผู้ได้สมาบัติทั้งหลาย เมื่อกิเลสเกิดขึ้นจะไม่ถึงกับหมดกำลังไปทีเดียว พอเมื่อกำลังกิเลสสงบเท่านั้น ย่อมบรรลุคุณวิเศษนั้นได้อีกด้วยความลำบากเล็กน้อยเท่านั้น. เป็นอันรู้ได้ยากว่า ผู้ได้สมาบัติเหล่านี้เป็นผู้เสื่อมจากคุณวิเศษดังนี้บ้าง อสิตฤษีก็เป็นเช่นนั้น.
               บทว่า โน จ กุมาเร ภวิสฺสติ อนฺตราโย ความว่า อันตรายจักไม่มีในพระกุมารนี้หรือหนอ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๒.
               บทว่า น โอรกายํ คือ พระกุมารนี้เป็นผู้ไม่เลว คือไม่เป็นผู้เล็กน้อย.
               อสิตฤษีกล่าวถึงพุทธานุภาพที่ควรกล่าวในคาถาต่อไป.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๓.
               บทว่า สมฺโพธิยคฺคํ คือ สัพพัญญุตญาณ.
               จริงอยู่ สัพพุตญาณนั้นชื่อสัมโพธิ เพราะตรัสรู้โดยชอบด้วยความไม่วิปริต. สัพพัญญุตญาณ ท่านกล่าวว่าเลิศ เพราะสูงสุดกว่าญาณทั้งปวง โดยไม่มีเครื่องกีดกั้นในที่ไหนๆ.
               บทว่า ผุสิสฺสติ แปลว่า บรรลุ. บทว่า ปรมวิสุทฺธทสฺสี ได้แก่ เห็นพระนิพพาน.
               จริงอยู่ พระนิพพานนั้นชื่อว่าบริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะบริสุทธิ์โดยส่วนเดียว.
               บทว่า วิตฺถาริกสฺส ตัดบทเป็น วิตฺถาริกํ อสฺส พรหมจรรย์จักแพร่หลาย. บทว่า พฺรหฺมจริยํ คือ คำสั่งสอน
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๔.
               บทว่า อถนฺตรา คือ ในระหว่าง. ท่านอธิบายว่า ในระหว่างจากที่พระกุมารนั้นทรงบรรลุสัมโพธิญาณนั่นเอง. บทว่า น สุสฺสํ แปลว่า จักไม่ได้ฟัง. บทว่า อสมธุรสฺส คือ มีความเพียรไม่มีผู้เสมอ. บทว่า อุฏฺโฏ คือ เป็นผู้เร่าร้อน. บทว่า พฺยสนํ คโต คือ ถึงความพินาศอย่างเป็นสุข. บทว่า อฆาวี คือ ถึงความทุกข์.
               อสิตฤษีกล่าวหมายถึงความเกิดโทมนัสทั้งหมด เพราะเขาเดือดร้อนเพราะเสียใจ. ความเสียใจนั้น ชื่อว่า พยสนะ เพราะเป็นความพินาศอย่างเป็นสุขของอสิตฤษีนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สุขวินาสนโต. ด้วยบทนั้น อสิตฤษีนั้นจึงชื่อ อฆาว มีความทุกข์ เพราะมีทุกข์ทางใจ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๕.
               บทว่า วิปุลํ ชเนตฺวาน คือ ยังปีติอันไพบูลย์ให้เกิด.
               บทว่า นิคฺคมา คือ อสิตฤษีออกไปแล้ว.
               อสิตฤษีออกไปอย่างนี้เพื่ออนุเคราะห์หลานของตน. ท่านกล่าวว่าอนุเคราะห์บุตรของน้องสาวของตน.
               บทว่า สมาทเปสิ ความว่า อสิตฤษีรู้ด้วยกำลังปัญญาของตนว่าตนมีอายุน้อย และรู้ว่านาลกมาณพ บุตรของน้องสาวสะสมบุญไว้ คิดว่านาลกมาณพพอมีปัญญาแล้วจะพึงประมาท จึงไปเรือนของน้องสาวเพื่ออนุเคราะห์นาลกมาณพนั้น ถามว่า นาลกะไปไหน. ตอบว่า ไปเล่นอยู่ข้างนอกเจ้าค่ะ สั่งให้ไปนำมาแล้ว ให้บวชเป็นดาบสในขณะนั้นเอง ให้สมาทาน ให้โอวาท พร่ำสอน.
               อสิตฤษีให้สมาทาน ให้โอวาท พร่ำสอนอย่างไร.
               อสิตฤษีกล่าวคาถาที่ ๑๖ ว่า พุทฺโธติ โฆสํ ฯเปฯ พฺรหฺมจริยํ
               ความว่า ในกาลข้างหน้าเจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พุทฺโธ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ย่อมทรงเปิดเผยทางปรมัตถธรรม เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์ แล้วประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเถิด.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ยทิ ปรโต ได้แก่ ในกาลข้างหน้า.
               บทว่า ธมฺมมคฺคํ ได้แก่ ธรรมอันเป็นทางแห่งนิพพานคือปรมัตถธรรมหรือทางคือนิพพานกับข้อปฏิบัติ.
               บทว่า ตสฺมึ คือ ในสำนักนั้น. บทว่า พฺรหฺมจริยํ คือ สมณธรรม.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๗.
               บทว่า ตาทินา ตั้งมั่นอยู่เช่นนั้น. อธิบายว่า ในสมัยนั้นเมื่อมีการข่มอาสวะคือกิเลส ด้วยการข่มกิเลส และเมื่อมีการได้สมาธิด้วยจิตตั้งมั่น.
               บทว่า อนาคเต ปรมวิสุทฺธทสฺสินา อสิตฤษีมีปรกติเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต. ความว่า อสิตฤษีนั้น ท่านกล่าวว่าชื่อว่าเป็นผู้มีปรกติเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคตโดยปริยายนี้ เพราะค่าที่ตนเห็นอย่างนี้ว่า นาลกะนี้จักเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าในอนาคตกาลดังนี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนาคเต ปรมวิสุทฺทสฺสินา ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น.
               บทว่า อุปจิตปุญฺญสญฺจโย นาลกดาบสเป็นผู้สะสมบุญไว้ คือสะสมบุญไว้ตั้งแต่ศาสนาพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า. บทว่า ปติกฺขํ คือ รอคอยอยู่. บทว่า ปริวสิ คือ บวชอยู่ด้วยเพศดาบส. บทว่า รกขิตินฺทฺริโย คือ รักษาโสตินทรีย์ (อินทรีย์คือหู).
               ได้ยินว่า นาลกดาบสนั้นคิดว่า เราจะดำน้ำให้หูแตกเสีย แต่นั้นเราก็จะไม่ต้องฟังธรรมภายนอก จึงดำลงไปในน้ำตั้งแต่นั้นมา.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๘.
               บทว่า สุตฺวาน โฆสํ ความว่า นาลกะนั้นรอคอยอยู่อย่างนั้นได้ฟังเสียงประกาศที่พระชินสีห์ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ โดยนัยมีอาทิว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุสัมโพธิญาณโดยลำดับแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรในกรุงพาราณสี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วหนอดังนี้ อันพวกเทวดาผู้หวังประโยชน์แก่ตนพากันมาบอกแล้ว.
               บทว่า คนฺตฺวาน ทิสฺวา อิสินิสภํ ความว่า เมื่อทวยเทพทำการโกลาหลด้วยโมเนยยปฏิปทาอยู่ตลอด ๗ วัน
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ในวันที่ ๗ นาลกะจักไปยังที่อยู่ของฤษีแล้วก็จักมา เราจักแสดงธรรมแก่เขาดังนี้. นาลกะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือวรพุทธอาสน์ ด้วยความมุ่งหมายนี้ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระชินสีห์ผู้องอาจกว่าฤษี.
               บทว่า ปสนฺโน คือ มีจิตเลื่อมใสพร้อมกับการเห็นเท่านั้น.
               บทว่า โมเนยฺยเสฎฺฐํ ปฏิปทาอันประเสริฐของมุนี คือญาณชั้นสูงสุด อันได้แก่มรรคญาณ.
               บทว่า สมาคเต อสิตวฺหยสฺส สาสเน คือ ในเมื่อคำสั่งสอนของอสิตฤษีมาถึงเข้า.
               ก็เมื่อใดนาลกดาบสประพฤติมรรคธรรม เมื่อนั้นก็จะถูกอสิตฤษีไปถามแล้วสอนว่า ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเถิด. นี้แหละคือกาลนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมาคเต อสิตวฺหยสฺส สาสเน ดังนี้.
               บทที่เหลือในคาถานี้ ปรากฎชัดแล้ว.
               พึงทราบการพรรณนาวัตถุคาถานี้ไว้เพียงเท่านี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในสองคาถาอันเป็นคำถาม.
               บทว่า อญฺญาตเมตํ คือ ข้าพระองค์ได้รู้คำนี้แล้ว. บทว่า ยถาตถํ คือ ไม่วิปริต.
               อธิบายว่ากระไร
               อธิบายว่า นาลกดาบสกล่าวว่า อสิตฤษีรู้ว่าพระกุมารนี้จักบรรลุทางแห่งสัมโพธิญาณ ได้บอกกะข้าพระองค์ว่า ท่านจงฟังประกาศว่า พุทฺโธ ในกาลข้างหน้า ผู้บรรลุสัมโพธิญาณย่อมประพฤติมรรคธรรมดังนี้ วันนี้ ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤษีว่าคำนั้นเป็นคำจริง เพราะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพยาน.
               บทว่า ตํ ตํ คือ เพราะฉะนั้น. บทว่า สพฺพธมฺมานํ ปารคุํ พระองค์ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ความว่า ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมโดยอาการ ๖ ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วในเหมวตสูตร.
               บทว่า อนาคาริยุเปตสฺส ตัดบทเป็น อนาคาริยํ อุเปตสฺส คือ ออกบวช. อธิบายว่า บรรพชิต.
               บทว่า ภิกฺขาจริยํ ชิคึสโต แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา คือแสวงหาภิกขาจารอันไม่เศร้าหมองที่พระอริยเจ้าประพฤติสืบต่อกันมาแล้ว.
               บทว่า โมเนยฺยํ ได้แก่ เป็นของพระมุนี. บทว่า อุตฺตมํ ปทํ คือ ปฏิปทาอันสูงสุด.
               บทที่เหลือในคาถานี้ปรากฎชัดอยู่แล้ว.
               เมื่อนาลกดาบสได้กราบทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพยากรณ์โมเนยยปฏิปทาแก่นาลกดาบสนั้นโดยนัยมีอาทิว่า โมเนยฺยํ เต อุปญฺญิสฺสํ เราจักบัญญัติปฏิปทาของมุนีแก่เธอ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปญฺญิสฺสํ คือ เราพึงบัญญัติ. อธิบายว่า พึงแนะนำ พึงให้รู้ทั่วถึง.
               บทว่า ทุกฺกรํ ทุรภิสมฺภวํ ท่านอธิบายว่า ทำได้ยากทำให้เกิดความยินดีได้ยาก.
               ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               เราพึงบัญญัติปฏิปทาของมุนีแก่ท่าน หากความสุขจะพึงมีเพื่อการทำหรือเพื่อความเกิดขึ้น ซึ่งปฏิปทาของมุนีนั้นอันเป็นการทำได้ยาก ให้เกิดความยินดีได้ยาก ควรปฏิบัติไม่ให้จิตเศร้าหมองเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เวลาเป็นปุถุชน. เป็นความจริงดังนั้น สาวกรูปเดียวเท่านั้นของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวย่อมทำได้และทำให้เกิดได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงถึงความที่ปฏิปทาของมุนีทำได้ยากและทำให้ยินดีได้ยาก มีพระประสงค์จะให้นาลกดาบสเกิดอุตสาหะ จึงตรัสโมเนยยปฏิปทาแก่นาลกดาบสว่า หนฺท เต นํ ปวกฺขามิ สนฺถมฺภสฺสุ ทฬฺโห ภว เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ เธอจงช่วยเหลือตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า หนฺท เป็นนิบาตลงในอรรถบอกความเตือน.
               บทว่า เต นํ ปวกฺขามิ ได้แก่ เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ.
               บทว่า สนฺถมฺภสฺสุ คือ เธอจงช่วยเหลือตนด้วยการทำให้เกิดความเพียร สามารถทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก.
               บทว่า ทฬฺโห ภว คือ เธอจงเป็นผู้มั่นคง เพราะมีความเพียรไม่ย่อหย่อน สามารถอดกลั้นต่อการทำให้เกิดความยินดีได้ยาก. ท่านอธิบายไว้ว่า เพราะเธอได้สะสมบุญไว้มาก ฉะนั้น เราจะเป็นผู้เตือน จะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นที่บุคคลทำได้ยาก แม้ทำให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ เธอจงเป็นผู้ช่วยเหลือตน จงเป็นผู้มั่นคงเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะตรัสปฏิปทาของมุนีอันเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่งอย่างนี้ จึงทรงชักชวนนาลกดาบสในการช่วยตน และในความเป็นผู้มั่นคง เมื่อจะทรงแสดงการละกิเลสอันเข้าไปผูกพันกับชาวบ้าน จึงตรัสคาถากึ่งคาถาว่า สมานภาคํ ให้เสมอกัน.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า สมานภาคํ และบทว่า สมภาคํ เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ต่างกัน.
               บทว่า อกฺกุฏฺฐวนฺทิตํ ได้แก่ การด่าและการไหว้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอุบายอันจะทำการด่าและการไหว้นั้นให้เสมอกันจึงตรัสคาถากึ่งหนึ่งว่า มโนปโทสํ ความประทุษร้ายแห่งใจ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า มโนปโทสํ นั้นมีอธิบายว่า เขาด่าแล้วพึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ เขาไหว้แล้วพึงประพฤติเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่ง ไม่พึงมีความฟุ้งซ่านว่า พระราชาเมื่อเราไหว้ ยังไหว้เรา ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงการละกิเลสอันผูกพันในป่า
               จึงตรัสคาถาว่า อุจฺจาวจา อารมณ์ที่สูงต่ำ ดังนี้.
               บทว่า อุจฺจาวจา นั้นมีอธิบายว่า อารมณ์ที่สูงต่ำหลายอย่างย่อมซ่านไป คือแล่นไปด้วยเป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ แม้ในป่าย่อมมาสู่คลองแห่งจักษุเป็นต้น ก็อารมณ์เหล่านั้นแลที่สูงต่ำเพราะมีหลายอย่าง เปรียบด้วยเปลวไฟ เพราะทำให้เกิดอันตรายเหมือนเปลวไฟในป่าที่ถูกไฟไหม้ มีควันบ้าง ไม่มีควันบ้าง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง น้อยบ้าง มากบ้างฉันใด
               อารมณ์ทั้งหลายทั้งสูงต่ำ เพราะมีหลายอย่าง ย่อมซ่านไปในป่าโดยประเภทมีราชสีห์ เสือโคร่ง มนุษย์ อมนุษย์ เสียงขันของนกต่างๆ ดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้อ่อนเป็นต้น น่ากลัวบ้าง ไม่น่ากลัวบ้าง น่ายินดีบ้าง น่าอยากได้บ้าง น่าเคืองบ้าง น่าหลงบ้าง.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อุจฺจาวจา นิจฺฉรนฺติ ทาเย อคฺคิสิขูปมา อารมณ์ที่สูงต่ำอุปมาด้วยเปลวไฟในป่าดังนี้ บรรดาอารมณ์ทั้งหลายทั้งสูงต่ำซ่านไปอยู่อย่างนี้ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เที่ยวไปในสวนและป่า หรือนารีทั้งหลายมีหญิงแบกฟืนเป็นต้น เที่ยวไปในป่าตามปรกติ เห็นมุนีอยู่ในที่ลับแล้วประเล้าประโลมมุนีด้วยกระซิกกระซี้ พูดจา ร้องไห้ แก้ผ้าเป็นต้น.
               บทว่า ตา สุ ตํ มา ปโลภยุํ ความว่า นารีเหล่านั้นอย่าพึงประเล้าประโลมท่าน. อธิบายว่า ท่านจงทำโดยอาการที่นารีเหล่านั้นประเล้าประโลมไม่ได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวิธีปฏิบัติในป่าและในบ้านแก่นาลกดาบสอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงการสำรวมในศีลจึงตรัสสองคาถาว่า วิรโต เมถุนา ธมฺมา งดเว้นจากเมถุนธรรม ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า หิตฺวา กาเม วราวเร ความว่า มุนีละกามคุณ ๕ ทั้งดีทั้งไม่ดี แม้ที่เหลือจากเมถุนธรรม. ก็ด้วยการละเมถุนธรรมนั้น การงดเว้นจากเมถุนเป็นอันสมบูรณ์ด้วยดีแล้ว. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า หิตฺวา กาเม วราวเร เว้นกามทั้งดีทั้งไม่ดี ดังนี้.
               ในบทนี้มีอธิบายดังนี้.
               บททั้งหลายมีอาทิว่า อวิรุทฺโธ ไม่ยินดียินร้ายดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงถึงการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ดังที่กล่าวไว้ในคาถานี้ว่า น เหยฺย น ฆาตเย ไม่พึงฆ่าเองไม่พึงให้ผู้อื่นฆ่าดังนี้.
               ในคาถานั้นมีการพรรณนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้
               ไม่ยินร้ายในสัตว์ทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอื่น ไม่ยินดีในฝ่ายของตน สัตว์ทั้งปวงก็มีตัณหา กำจัดความยินร้ายในสัตว์เหล่านั้นเสีย เพราะเปรียบกับตนว่า เราเป็นฉันใด คือเพราะเราไม่มีความอยาก เพราะเราปรารถนาให้สัตว์ที่หวาดสะดุ้งและมั่นคงมีชีวิต เพราะเราไม่อยากตาย เพราะเราใคร่สุข เพราะเราเกลียดทุกข์ สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ฉันนั้น และกำจัดความยินดีในตน เพราะเปรียบตนกับคนอื่นว่า สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้นโดยทำนองนั้นนั่นแล ชื่อว่าเป็นผู้ละความยินดียินร้ายได้ทั้งสองอย่าง กระทำตนให้เป็นอุปมา เพราะเกลียดความตาย ไม่พึงเบียดเบียนบรรดาสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เป็นผู้หวาดสะดุ้งก็ดี ที่เป็นผู้มั่นคงก็ดี ไม่พึงฆ่าเอง ด้วยสาหัตถิกประโยคเป็นต้น (ลงมือฆ่าเอง) ไม่พึงให้ผู้อื่นฆ่าด้วยอาณัตติกประโยคเป็นต้น (ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า).
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีล คือความสำรวมในปาติโมกข์โดยสังเขปด้วยหัวข้อ คือการเว้นจากเมถุนและการเว้นจากฆ่าสัตว์แก่นาลกดาบส และทรงแสดงความสำรวมอินทรีย์ด้วยบทมีอาทิว่า หิตฺวา กาเม ละกามทั้งหลาย ดังนี้ บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะจึงตรัสคาถาว่า หิตฺวา อิจฺฉญฺจ ฯเปฯ ตเรยฺย นรกํ อิมํ ความว่า มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้ พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย.
               บทนั้นมีอธิบายดังนี้
               ตัณหาท่านกล่าวว่า อิจฺฉา เพราะปรารถนาเกินวิสัยที่จะได้อย่างนี้ คือได้หนึ่งแล้วปรารถนาสอง ได้สองแล้วปรารถนาสาม ได้สามแล้วปรารถนาสี่ ได้แสนแล้วยังปรารถนายิ่งไปกว่านั้น. ท่านกล่าวว่าโลภ เพราะโลภในวิสัยที่จะได้.
               ปุถุชนละความปรารถนาและความโลภในปัจจัยมีจีวรเป็นต้นที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว คือละแม้ทั้งสองอย่างนั้นในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว ติดอยู่แล้ว ผูกพันอยู่แล้ว ด้วยความปรารถนาและความโลภ ไม่ยินดีอาชีวปาริสุทธิเพื่อปัจจัย เป็นผู้มีจักษุด้วยจักษุคือญาณ พึงปฏิบัติโมเนยยปฏิปทานี้.
               ท่านอธิบายว่า ก็ครั้นปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงข้ามนรกนี้เสีย คือพึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัยอันเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรก เพราะเต็มได้ยากนี้เสีย หรือพึงข้ามด้วยปฏิปทานี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะด้วยหัวข้อ คือการละความทะเยอทะยานในปัจจัยอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงศีล คือการบริโภคปัจจัยด้วยหัวข้อโภชเนมัตตัญญุตา คือความรู้จักประมาณในการบริโภค และปฏิปทาตราบเท่าถึงการบรรลุพระอรหัตโดยทำนองนั้นก่อน จึงตรัสคาถาว่า
                         อโนทโร มิตาหาโร    อปฺปิจฺฉสฺส อโลลุโป
                         สทา อิจฺฉาย นิจฺฉาโต    อนิจฺโฉ โหติ นิพฺพุโต.
                                   พึงเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ
                         มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความโลภ เป็นผู้หายหิว
                         ไม่มีความปรารถนาด้วยความอยาก ดับความเร่า
                         ร้อนได้แล้วทุกเมื่อ.

               บทนั้นมีความดังนี้
               ท่านอธิบายไว้ว่า ภิกษุเมื่อได้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้นตามมีตามได้โดยธรรมโดยเสมอแล้ว เมื่อจะฉันอาหารพึงอย่าเห็นแก่ท้อง โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า๑-
                         จตุตาโร ปญฺจ อาโลเป    อภุตฺวา อุทกํ ปิเว
                         อลํ ผาสุวิหาราย    ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน
                              ภิกษุผู้มีความเพียร ไม่บริโภคอาหาร
                              อีก ๔ - ๕ คำ พึงดื่มน้ำเพื่ออยู่ผาสุก.
____________________________
๑- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๖

               ไม่ควรมีท้องพองเหมือนเครื่องสูบเต็มด้วยลม พึงป้องกันถีนมิทธะ เพราะเมาอาหารเป็นเหตุ. ภิกษุพึงเป็นผู้จำกัดอาหารโดยคุณและโทษด้วยการพิจารณามีอาทิว่า ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่เห็นแก่ท้องมีอาหารพอประมาณ พึงรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่บริโภคเพื่อเล่นดังนี้. แม้เป็นผู้มีอาหารพอประมาณอย่างนี้ ก็พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ด้วยมีความปรารถนาน้อย ๔ อย่าง คือปัจจัย ธุดงค์ ปริยัติและอธิคม.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาโดยส่วนเดียว พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้. ความสันโดษด้วยสันโดษ ๓ อย่างในปัจจัยหนึ่งๆ นั้น ชื่อว่าความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในปัจจัย.
               ความที่ภิกษุผู้ทรงธุดงค์อย่างเดียว ไม่ปรารถนาว่าชนเหล่าอื่นจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีสติ มีธุดงค์ ดังนี้ ชื่อว่าความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในธุดงค์.
               ความที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูตอย่างเดียว ไม่ปรารถนาว่าชนเหล่าอื่นจงรู้จักเราว่าเป็นผู้มีสติเป็นพหูสูต ชื่อว่าความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในปริยัติ ดุจความปรารถนาน้อยของพระมหามัชฌันติกเถระ ฉะนั้น.
               ความที่ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอธิคมอย่างเดียวไม่ปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นจงรู้จักเราว่าท่านผู้นี้มีสติบรรลุกุศลธรรม ชื่อว่าเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในอธิคม. ก็ความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในอธิคมนั้น พึงทราบว่าความปรารถนานี้ ต่ำกว่าการบรรลุพระอรหัต. เพราะนี้เป็นปฏิปทาเพื่อบรรลุพระอรหัต.
               อนึ่ง แม้ภิกษุผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ ก็ละความทะเยอทะยาน และความโลภเสียได้ด้วยอรหัตมรรค พึงเป็นผู้ไม่มีความโลภ.
               จริงอยู่ ผู้ไม่มีความโลภอย่างนี้ เป็นผู้ไม่มีความปรารถนา เพราะสละความปรารถนาเป็นต้น เป็นผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วทุกเมื่อ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้หิวด้วยความปรารถนาอันใด ไม่อิ่ม ดุจเดือดร้อนเพราะหิวกระหาย ภิกษุเป็นผู้ไม่ปรารถนาด้วยความปรารถนานั้น และชื่อว่าเป็นผู้หมดหิว เพราะเป็นผู้ไม่ปรารถนา ไม่เดือดร้อน ถึงความอิ่มเต็มที่ ชื่อว่าเป็นผู้ดับความเร่าร้อนได้คือสงบจากความเร่าร้อนคือกิเลสทั้งปวง เพราะเป็นผู้ไม่ปรารถนา.
               เพราะเหตุนั้น พึงทราบการประกอบนอกลำดับในบทนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสปฏิปทาตราบเท่าถึงการบรรลุพระอรหัตอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะตรัสถึงการสมาทานธุดงค์และวัตรเกี่ยวกับเสนาสนะอันจบลงด้วยการบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทานั้น จึงตรัสสองคาถาว่า ส ปิณฺฑจารํ ดังนี้
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ส ปิณฺฑจารํ จริตฺวา ความว่า ภิกษุนั้นเที่ยวไปเพื่อภิกษาหรือกระทำภัตกิจ. บทว่า วนนฺตมภิหารเย พึงไปยังชายป่า คือ เป็นผู้ไม่ชักช้าอย่างคฤหัสถ์ที่ชักช้า พึงไปป่าทีเดียว. บทว่า อุปฏฺฐิโต รุกฺขมูลสฺมึ คือ ไปที่โคนต้นไม้. บทว่า อาสนุปคฺโต คือ เข้าไปนั่ง. บทว่า มุนิ คือผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านกล่าวปิณฑปาติกังคธุดงค์ด้วยบทนี้ว่า ปิณฺฑจารํ จริตฺวา เที่ยวไปบิณฑบาต. ก็เพราะภิกษุเป็นผู้ถือการบิณฑบาตอย่างเคร่งครัด เที่ยวไปตามลำดับตรอก มีอาหารมื้อเดียว ฉันอาหารในบาตร ปฏิเสธหลังอาหาร สมาทานเตจีวริกังคธุดงค์ (มีจีวร ๓ ผืน) และปังสุกูลิกังคธุดงค์ (ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร) เท่านั้น ฉะนั้น จึงเป็นอันครบธุดงค์ ๖ เหล่านี้.
               ท่านกล่าวอารัญญิกังคธุดงค์ (คือการอยู่ป่าเป็นวัตร) ด้วยบทนี้ว่า วนนฺตมภิหารเย พึงไปยังชายป่าดังนี้. ท่านกล่าวรุกขมูลิกังคธุดงค์. (การถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร) ด้วยบทนี้ว่า อุปฏฺฐิโต รุกฺขมูลสฺมึ เข้าไปอยู่โคนต้นไม้ ดังนี้. ท่านกล่าวเนสัชชิกังคธุดงค์ (ถือการนั่งเป็นวัตร) ด้วยบทนี้ว่า อาสนุปคโต เข้าไปนั่ง ดังนี้.
               เป็นอันท่านกล่าวถึง อัพโภกาสิกังคธุดงค์ (คือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้เป็นวัตร) และโสสานิกังคธุดงค์ (ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร) เพราะอนุโลมตามธุดงค์เหล่านั้นตามลำดับ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธุดงค์ ๑๓ ด้วยคาถานี้อย่างนี้แก่พระนาลกเถระ.
               บทว่า ส ฌานปฺปสุโต ธีโร ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์.
               ความว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ขวนขวายคือประกอบเนืองๆ ในฌานทั้งหลายด้วยอาวัชชนะ สมาปัชชนะ อธิฎฐานะ วุฏฐานะและปัจจเวกขณะ เป็นนักปราชญ์คือสมบูรณ์ด้วยปัญญา.
               บทว่า วนนฺเต รมิโต สิยา คือ พึงยินดีในป่า. ท่านอธิบายว่า ไม่พึงยินดีในเสนาสนะใกล้บ้าน.
               บทว่า ฌาเยถ รุกฺขมูลสฺมึ อตฺตานมภิโตสยํ พึงทำจิตให้ยินดียิ่งเพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้.
               ความว่า ไม่พึงขวนขวายโลกิยฌานอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งแม้ด้วยโลกุตรฌานที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้นที่โคนต้นไม้นั้นแล.
               จริงอยู่ จิตย่อมยินดีเหลือเกินในโลกุตรฌานเหล่านั้น เพราะถึงซึ่งความโล่งใจอย่างยิ่ง มิใช่ยินดีด้วยอย่างอื่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อตฺตานมภิโตสยํ พึงทำจิตให้ยินดียิ่งดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความยินดีในเสนาสนะป่า และพระอรหัต เพราะความเป็นผู้ขวนขวายในฌานด้วยพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้. บัดนี้ เพราะพระนาลกเถระฟังพระธรรมเทศนานี้แล้วเข้าไปสู่ป่าอดอาหาร ได้เป็นผู้ขวนขวายยิ่งในการบำเพ็ญปฏิปทา แม้อดอาหารก็ไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ เมื่อพระนาลกเถระบำเพ็ญอยู่อย่างนั้น ชีวิตก็ลำบาก แต่เมื่อกิเลสยังไม่เกิด ควรแสวงหาอาหาร. นี้เป็นระเบียบในเรื่องนี้.
               ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงว่า ควรเที่ยวบิณฑบาตในวันต่อๆ ไป กิเลสทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อจะตรัสภิกขาจารวัตรจบด้วยการบรรลุพระอรหัต จึงได้ตรัสคาถา ๖ คาถามีอาทิว่า ตโต รตฺยา วิวสเน เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตโต คือ ต่อจากรับบิณฑบาตแล้วเที่ยวไปยังชายป่า ดังที่กล่าวไว้ในบทนี้ว่า ส ปิณฺฑจารํ จริตฺวา วนนฺตมภิหารเย ภิกษุนั้นเที่ยวไปบิณฑบาตแล้วพึงเข้าไปยังชายป่า.
               บทว่า รตฺยา วิวสเน คือ เมื่อราตรีล่วงไป. ท่านอธิบายว่า ในวันที่สอง.
               บทว่า คามนฺตมภิหารเย พึงเข้าไปสู่บ้าน.
               ความว่า กระทำอภิสมาจาริกวัตรแล้ว พึงเพิ่มพูนวิเวกจนถึงเวลาภิกขาจาร แล้วมนสิการกรรมฐานโดยนัยที่กล่าวแล้วในวัตรทั้งไปทั้งกลับ พึงไปสู่บ้าน.
               บทว่า อวฺหานํ นาภินนฺเทยฺย ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้.
               ความว่า ภิกษุผู้บำเพ็ญปฏิปทาไม่พึงยินดีการนิมนต์ว่า นิมนต์พระคุณเจ้าฉันในเรือนของพวกกระผมเถิด ดังนี้ และโภชนะที่มีวิตกอย่างนี้ว่า จะให้หรือไม่ให้ ให้ดีหรือไม่ให้ดีหนอดังนี้.
               ท่านอธิบายว่า ไม่ควรรับ.
               ก็หากว่าชนทั้งหลายรับบาตรไปโดยพลการตักถวายจนเต็ม ภิกษุฉันแล้วบำเพ็ญสมณธรรม ธุดงค์ไม่เสีย. แต่ไม่ควรเข้าบ้านนั้นเพราะอาศัยเหตุนั้น.
               บทว่า อภิหารญฺจ คามโต โภชนะที่เขานำมาแต่บ้าน.
               ความว่า หากชนทั้งหลายนำอาหารมาร้อยถาด ถวายแก่ภิกษุที่เข้าไปยังบ้าน ภิกษุไม่พึงยินดีอาหารนั้น ทั้งไม่พึงรับแม้เมล็ดเดียว ควรเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือนโดยแท้.
               บทว่า น มุนิ คามมาคมฺม กุเลสุ สหสา จเร มุนีอาศัยบ้าน ไม่ควรเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน.
               ความว่า มุนีปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ฉลาดนั้นไปสู่บ้านไม่ควรเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน. ท่านอธิบายว่า ไม่ควรเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ ไม่คล้อยตามไปกับเขามีการร่วมเศร้าโศกด้วยเป็นต้น.
               บทว่า ฆาเสสนํ ฉินฺนกโถ น วาจํ ปยุตฺตํ ภเณ ตัดถ้อยคำเสีย ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน.
               ความว่า เป็นดุจตัดถ้อยคำเสีย ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกินประกอบด้วยโอภาส (ชี้นำ) ปริกถา (เลียบเคียง) นิมิต (เครื่องหมาย) วิญญัตติ (การขอร้อง) หากพึงหวังเป็นไข้ควรกล่าวเพื่อปัดเป่าความเจ็บไข้ ไม่เป็นไข้ ไม่ควรกล่าวอะไรๆ เลย เพื่อต้องการปัจจัยที่เหลือประกอบด้วยโอภาส ปริกถา และนิมิต เว้นวิญญัตติ เพื่อต้องการเสนาสนะ.
               คาถานี้ว่า อลตฺถํ ยทิทํ เป็นต้น มีใจความดังต่อไปนี้.
               มุนีเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต เมื่อได้อะไรๆ แม้เล็กน้อยก็คิดว่า เราได้สิ่งใดสิ่งนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เมื่อไม่ได้ก็คิดว่า เราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้วเป็นผู้คงที่ คือไม่มีความผิดปรกติ เพราะการได้และไม่ได้ทั้งสองอย่างนั้นแล ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้ เหมือนบุรุษผู้แสวงหาผลไม้เข้าไปยังต้นไม้แล้ว แม้จะได้ แม้จะไม่ได้ผลไม้ ก็ไม่ยินดี ไม่เสียใจ วางจิตเป็นกลางกลับไปฉันใด มุนีเข้าไปสู่ตระกูล แม้จะได้ แม้จะไม่ได้ลาภ ก็วางจิตเป็นกลางกลับไปฉันนั้น.
               คาถาว่า สปตฺตปาณี มุนีมีบาตรในมือเป็นต้น มีความง่ายทั้งนั้น.
               พึงทราบการเกี่ยวเนื่องกันของคาถานี้ว่า อุจฺจาวจา ปฏิปทาสูงต่ำต่อไป.
               มุนีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยภิกขาจารวัตรอย่างนี้แล้ว ไม่พึงยินดีเพียงเท่านั้น ควรยินดีปฏิปทาต่อไป เพราะคำสั่งสอนมีสาระอยู่ที่การปฏิบัติ. ก็ปฏิปทานั้นทั้งสูงและต่ำ พระสมณะทรงประกาศแล้ว มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้ง นิพพานนี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้นหามิได้.
               บทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               มรรคปฏิปทานี้ชื่อว่าสูงต่ำ เพราะมีประเภทดีและเลว อันพระพุทธสมณะทรงประกาศไว้แล้ว. จริงอยู่ การปฏิบัติง่าย รู้เร็ว เป็นปฏิปทาสูง. ปฏิบัติยาก รู้ช้าเป็นปฏิปทาต่ำ. อีกสองอย่างนั้นเป็นปฏิปทาสูงด้วยองค์หนึ่ง ต่ำด้วยองค์หนึ่ง. หรือว่าปฏิปทาต้นสูง อีกสามอย่างก็ต่ำ.
               มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้งด้วยปฏิปทาสูงหรือต่ำนี้นั้น. ปาฐะว่า ทุคุณํ สองครั้งก็มี. อธิบายว่า มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้งด้วยมรรคเดียว.
               เพราะเหตุไร เพราะกิเลสเหล่าใดถูกละไปแล้วด้วยมรรคใด ไม่พึงละกิเลสเหล่านั้นอีก ด้วยบทนั้น ท่านแสดงความไม่เสื่อมแห่งธรรม.
               บทว่า น อิทํ เอกคุณมุตฺตํ นิพพานนี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้นหามิได้. อธิบายว่า นิพพานนี้นั้นแม้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้นก็หามิได้. เพราะเหตุไร. เพราะไม่มีการละกิเลสทั้งหมดได้ด้วยมรรคเดียว. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงความไม่บรรลุพระอรหัตด้วยมรรคเดียวเท่านั้น.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์แห่งปฏิปทา จึงตรัสคาถาว่า ยสฺส จ วิสตา ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               ก็เมื่อภิกษุปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าไม่มีตัณหา เพราะละได้ด้วยปฏิปทานั้น ชื่อว่าสลัดออกไป เพราะสลัดตัณหาวิจริต ๑๐๘ ออกไปได้ ตัดกระแสกิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ได้เด็ดขาดแล้ว ไม่มีความเร่าร้อนแม้แต่น้อย อันเกิดจากราคะก็ดี เกิดจากโทสะก็ดี.
               บัดนี้ เพราะจิตเกิดขึ้นแก่พระนาลกเถระ เพราะฟังคาถาเหล่านี้ว่า ชื่อว่าปฏิปทาของมุนีมีเพียงเท่านี้ ก็ทำได้โดยง่าย ไม่ยากนัก สามารถบำเพ็ญได้ด้วยความลำบากเล็กน้อย ดังนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า ปฏิปทาของมุนีทำได้ยากแก่พระนาลกเถระ จึงตรัสคาถามีอาทิว่า โมเนยฺยนฺเต อุปญฺญิสฺสํ เราจักบอกปฏิปทาของมุนีแก่ท่านอีก.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปญฺญิสฺสํ ท่านอธิบายไว้ว่า เราจักบอก. ชื่อว่า ขุรธารูปโม เพราะเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ. บทว่า ภเว แปลว่า พึงเป็น.
               มีอธิบายไว้อย่างไร
               ท่านอธิบายว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี พึงประพฤติในปัจจัยทั้งหลายทำคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ เมื่อได้ปัจจัยโดยชอบธรรมแล้วบริโภค พึงรักษาจิตให้พ้นจากกิเลส เหมือนการเลียคมมีดโกนที่มีหยาดน้ำผึ้ง ย่อมรักษาลิ้นเกรงจะขาด ฉะนั้น.
               จริงอยู่ ปัจจัยทั้งหลายที่พึงได้โดยวิธีอันบริสุทธิ์ แต่ไม่อาจบริโภคได้โดยง่าย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถึงการอาศัยปัจจัยเท่านั้นไว้โดยมาก.
               บทว่า ชิวฺหาย ตาลุํ อาหจฺจ อุทเร สํยโต สิยา กดเพดานไว้ด้วยลิ้นแล้ว พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง.
               ความว่า กดเพดานไว้ด้วยลิ้นบรรเทาความอยากในรส พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง เพราะไม่เสพปัจจัยที่เกิดขึ้นด้วยทางอันเศร้าหมอง.
               บทว่า อลีนจิตฺโต จ สิยา พึงเป็นผู้มีจิตไม่ท้อแท้.
               ความว่า พึงเป็นผู้มีจิตไม่เกียจคร้าน เพราะทำให้มั่นคงในการบำเพ็ญกุศลธรรมเป็นนิจ.
               บทว่า น จาปิ พหุ จินฺตเย ไม่พึงคิดมาก คือไม่พึงคิดมากโดยวิตกถึงญาติ ชนบทและเทวดา.
               บทว่า นิรามคนฺโธ อสิโต พฺรหฺมจริยปรายโน เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               ความว่า เป็นผู้ไม่มีกิเลส อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้วในภพไหนๆ พึงเป็นผู้มีไตรสิกขาและศาสนาพรหมจรรย์ทั้งสิ้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทีเดียว.
               บทว่า เอกาสนสฺส เพื่อการนั่งผู้เดียว คือนั่งในที่สงัด.
               ในบทนี้ ท่านกล่าวถึงอิริยาบถทั้งหมดด้วยหัวข้อว่าอาสนะ. พึงทราบว่า ท่านอธิบายไว้ว่า พึงศึกษาเพื่อความเป็นผู้เดียวในทุกอิริยาบถ.
               อนึ่ง บทว่า เอกาสนสฺส นี้เป็นจตุตถีวิภัตติ แปลว่าเพื่อการนั่งผู้เดียว.
               บทว่า สมณุปาสนสฺส จ เพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม.
               ความว่า เพื่อประกอบภาวนามีอารมณ์ ๓๘ อันสมณะพึงอบรม หรือเพื่อประเภทแห่งอารมณ์ ๓๘ อันเป็นที่อบรมของสมณะทั้งหลาย. แม้บทนี้ก็เป็นจตุตถีวิภัตติเหมือนกัน. ท่านอธิบายว่า เพื่ออบรม.
               อนึ่ง ในบทนี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงกายวิเวกด้วยการนั่งผู้เดียว กล่าวถึงจิตตวิเวกด้วยการอบรมของสมณะ.
               บทว่า เอกนฺตํ โมนมกฺขาตํ ความเป็นมุนีที่เราบอกแล้วโดยส่วนเดียว.
               ความว่า เราบอกแล้วว่าเป็นมุนีโดยส่วนเดียวด้วยกายวิเวกและจิตตวิเวก ด้วยประการฉะนี้.
               ก็บทว่า เอโก เว อภิรมิสฺสสิ ท่านผู้เดียวแลจักอภิรมย์นี้ เป็นบทมุ่งหมายถึงคาถาต่อไป. พึงเชื่อมด้วยบทนี้ว่า อถ ภาสิหิ ทส ทิสา ทีนั้นท่านจงประกาศไปตลอดทั้งสิบทิศ.
               บทว่า ภาสิหิ คือ ท่านจักกล่าว จักประกาศ. อธิบายว่า เมื่อท่านเจริญปฏิปทานี้ จักเป็นผู้ปรากฎด้วยเกียรติในทุกทิศ.
               เนื้อความแห่งบท ๔ บทมีอาทิว่า สุตฺวา ธีรานํ นี้มีอธิบายดังต่อไปนี้
               ท่านจงประกาศไปตลอดทั้งสิบทิศด้วยการประกาศถึงเกียรติ ท่านได้ฟังเสียงประกาศเกียรติของนักปราชญ์ทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ผู้สละกามแล้ว แต่นั้นไม่ฟุ้งซ่านพึงกระทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป ละอาการประกาศนั้น ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นว่านี้เป็นปฏิปทาเพื่อนำออกไปแล้ว เพิ่มพูนการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปทีเดียว.
               บทว่า มามโก ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสาวกของเราได้.
               บทว่า ตํ นทีภิ ท่านจะรู้แจ่มแจ้งคำที่เรากล่าวนั้นด้วยการแสดงแม่น้ำทั้งหลาย.
               ความว่า คำใดที่เรากล่าวว่า ท่านพึงกระทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้นไป กล่าวว่าไม่ควรทำความฟุ้งซ่าน ท่านจงรู้คำที่เรากล่าวนั้นด้วยการแสดงตัวอย่างแม่น้ำนี้และท่านจงรู้ความตรงกันข้ามกับคำที่เรากล่าวนั้นทั้งในเหมืองและในหนอง.
               บทว่า โสพฺเภสุ คือ เหมือง. บทว่า ปทเรสุ คือ แม่น้ำ.
               เป็นอย่างไร.
               บทว่า สนนฺตา ยนฺติ กุสพฺภา ตุณฺหี ยนฺติ มโหทธิ แม่น้ำห้วยย่อมไหลดังโดยรอบ แม่น้ำใหญ่ย่อมไหลนิ่ง.
               ความว่า เป็นความจริง แม่น้ำห้วยคือแม่น้ำเล็กๆ ทั้งหมดมีเหมืองและหนองเป็นต้นย่อมไหลดัง ส่วนแม่น้ำใหญ่มีแม่คงคาเป็นต้นย่อมไหลนิ่ง ผู้ไม่ถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ย่อมเป็นผู้ฟุ้งซ่านว่าเราบำเพ็ญปฏิปทาของมุนีอย่างนี้ ส่วนผู้เป็นพุทธมามกะคือถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ยังหิริและศรัทธาให้เกิด เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน.
               มีอะไรจะกล่าวยิ่งไปกว่านั้นอีก มีคาถาว่า ยทูนกํ ฯเปฯ ปณฺฑิโต ความว่า สิ่งใดพร่องสิ่งนั้นย่อมดัง สิ่งใดเต็มสิ่งนั้นย่อมสงบ คนพาลเปรียบด้วยหม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบด้วยห้วงน้ำที่มีน้ำเต็ม.
               ในคาถานั้นพึงมีคำถามว่า หากว่าคนพาลเปรียบเหมือนหม้อน้ำมีน้ำครึ่งหนึ่ง เพราะมีเสียงดัง บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็มเพราะเป็นผู้สงบ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร พระพุทธสมณะจึงเป็นผู้ขวนขวายในการแสดงธรรมอย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคาถาว่า ยํ สมโณ โดยเชื่อมกับบทนี้ว่า พหุํ ภาสติ.
               บทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               พระพุทธสมณะกล่าวคำใดมากที่เข้าถึงประโยชน์ประกอบด้วยประโยชน์ คือไม่เปล่าประโยชน์ และมีประโยชน์ ไม่กล่าวด้วยความฟุ้งซ่าน.
               อีกอย่างหนึ่ง รู้ถ้อยคำนั้นอยู่ ย่อมแสดงธรรม เมื่อแสดงแม้ตลอดวันก็ไม่ยืดยาว เพราะคำทั้งหมดของพระพุทธสมณะนั้นเป็นวจีกรรม ปรับปรุงด้วยญาณ.
               อนึ่ง เมื่อพระพุทธสมณะนั้นแสดงธรรมอยู่อย่างนี้ รู้ถ้อยคำนั้นอยู่อย่างมากว่า คำนี้พึงเป็นประโยชน์ดังนี้ ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก มิใช่กล่าวเพราะพูดมากอย่างเดียว.
               พึงทราบความสัมพันธ์กันแห่งคาถาสุดท้ายดังต่อไปนี้
               พระพุทธสมณะประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณรู้อยู่ ย่อมแสดงธรรม รู้อยู่ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก. อนึ่ง สมณะใดรู้อยู่ซึ่งธรรมอันพระพุทธสมณะนั้นแสดงแล้วด้วยญาณอันเป็นส่วนแห่งการรู้แจ้งแทงตลอด เป็นผู้สำรวมตน รู้เหตุที่ไม่นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวมาก สมณะนั้นเป็นมุนีย่อมควรซึ่งปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นเป็นมุนีได้เข้าถึงธรรมเครื่องเป็นมุนีแล้ว.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้
               สมณะรู้อยู่ซึ่งธรรมนั้นเป็นผู้สำรวมตนแล้ว คุ้มครองจิตแล้ว รู้คำที่ไม่นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวมาก สมณะอย่างนี้ย่อมควรซึ่งความเป็นมุนี.
               มุนีนั้นเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี ย่อมควรซึ่งปฏิปทาของมุนีอันได้แก่โมเนยปฏิปทา มิใช่ย่อมควรอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้มุนีนั้นพึงทราบว่า ได้ถึงธรรมเครื่องเป็นมุนีอันได้แก่อรหัตมรรคญาณ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต.
               พระนาลกเถระครั้นฟังดังนั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในฐานะ ๓ คือในการเห็น ๑ ในการฟัง ๑ ในการถาม ๑. เพราะเมื่อจบเทศนา พระนาลกเถระนั้นมีจิตเลื่อมใสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปสู่ป่า ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก. นี้คือความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการเห็นของพระนาลกเถระนั้น.
               อนึ่ง ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก. นี้คือความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการฟังของพระนาลกเถระนั้น.
               อนึ่ง ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้ถามโมเนยปฏิปทาอีก. นี้คือความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในการถามของพระนาลกเถระนั้น.
               พระนาลกเถระนั้นเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ จึงเข้าไปยังเชิงภูเขา ไม่อยู่ตลอดสองวัน ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่นั่งตลอดสองวัน ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ไม่เข้าไปบิณฑบาตตลอดสองวัน ณ บ้านแห่งหนึ่ง.
               พระนาลกเถระเที่ยวจากป่าสู่ป่าจากต้นไม้สู่ต้นไม้ จากบ้านสู่บ้าน ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรแล้วตั้งอยู่ในผลอันเลิศ. เพราะภิกษุผู้บำเพ็ญโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฎ์จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือนเท่านั้น บำเพ็ญอย่างกลางจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี บำเพ็ญอย่างอ่อนจะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี.
               พระนาลกเถระนี้บำเพ็ญอย่างอุกฤษฎ์ ฉะนั้นจะอยู่ได้ ๗ เดือน รู้ว่าตนจะสิ้นอายุจึงอาบน้ำ นุ่งผ้า คาดผ้าพันกาย ห่มสังฆาฏิสองชั้น บ่ายหน้าไปทางพระทศพล ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ประคองอัญชลี ยืนพิงภูเขาหิงคุลิกะ ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงทราบว่าพระนาลกเถระปรินิพพานแล้ว จึงเสด็จไป ณ ภูเขานั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ กระทำฌาปนกิจให้เก็บพระธาตุไปบรรจุยังเจดีย์ แล้วเสด็จกลับด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถานาลกสูตรที่ ๑๑               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค นาลกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 384อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 388อ่านอรรถกถา 25 / 390อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=9556&Z=9695
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=7078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=7078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :