ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕] [๑๖] [๑๗] [๑๘] [๑๙] [๒๐] [๒๑] [๒๒] [๒๓] [๒๔] [๒๕] [๒๖] [๒๗] [๒๘] [๒๙] [๓๐] [๓๑] [๓๒] [๓๓] [๓๔] [๓๕] [๓๖] [๓๗] [๓๘] [๓๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 35อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 36อ่านอรรถกถา 25 / 38อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖

หน้าต่างที่ ๗ / ๓๙.

               ๗. เรื่องพระสารีบุตรเถระ [๒๗๐]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น พฺราหฺมณสฺส" เป็นต้น.

               พระเถระถูกพราหมณ์ตี               
               ได้ยินว่า มนุษย์เป็นอันมากในที่แห่งหนึ่ง กล่าวคุณกถาของพระเถระว่า "น่าชม พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ประกอบแล้วด้วยกำลังคือขันติ เมื่อชนเหล่าอื่นด่าอยู่ก็ตาม ประหารอยู่ก็ตาม แม้เหตุสักว่าความโกรธ ย่อมไม่มี."
               ครั้งนั้น พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งถามว่า "ใครนั่น ไม่โกรธ."
               พวกมนุษย์. พระเถระของพวกฉัน.
               พราหมณ์. บุคคลผู้ยั่วให้ท่านโกรธ จักไม่มีกระมัง?
               พวกมนุษย์. พราหมณ์ ข้อนั้น หามีไม่.
               พราหมณ์. ถ้าเช่นนั้น เราจักยั่วให้ท่านโกรธ.
               พวกมนุษย์. ถ้าท่านสามารถไซร้ ก็จงยั่วให้พระเถระโกรธเถิด.
               พราหมณ์นั้นคิดว่า "เอาละ เราจักรู้กิจที่ควรทำ" ดังนี้แล้ว เห็นพระเถระเข้าไปเพื่อภิกษา จึงเดินไปโดยส่วนข้างหลัง ได้ให้การประหารด้วยฝ่ามืออย่างแรงที่กลางหลัง.
               พระเถระมิได้คำนึงถึงเลยว่า "นี่ชื่ออะไรกัน" เดินไปแล้ว. ความเร่าร้อนเกิดขึ้นทั่วสรีระของพราหมณ์. เขาตกลงใจว่า "แหมพระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ด้วยคุณ" ดังนี้แล้ว หมอบลงแทบเท้าของพระเถระ เรียนว่า "ขอท่านจงอดโทษแก่กระผมเถิด ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "นี่อะไรกัน?" จึงเรียนว่า "กระผมประหารท่านเพื่อประสงค์จะทดลองดู."
               พระเถระกล่าวว่า "ช่างเถิด เราอดโทษให้ท่าน." พราหมณ์จึงเรียนว่า "ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านอดโทษให้กระผมไซร้ ก็ขอจงนั่งรับภิกษาในเรือนของกระผมเถิด" ดังนี้แล้ว ได้รับบาตรของพระเถระ. ฝ่ายพระเถระได้ให้บาตรแล้ว. พราหมณ์นำพระเถระไปเรือนอังคาสแล้ว.
               พวกมนุษย์โกรธแล้วต่างก็คิดว่า "พระผู้เป็นเจ้าของพวกเราผู้หาโทษมิได้ ถูกพราหมณ์นี้ประหารแล้ว ความพ้นแม้จากท่อนไม้ไม่มีแก่พราหมณ์นั้น พวกเราจักฆ่ามันเสียในที่นี้แหละ" ดังนี้แล้ว มีก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นในมือ ได้ยืนซุ่มอยู่ที่ประตูเรือนของพราหมณ์.
               พระเถระลุกขึ้นเดินไปอยู่ ได้ให้บาตรในมือของพราหมณ์.
               พวกมนุษย์เห็นพราหมณ์นั้นเดินไปกับพระเถระ จึงเรียนว่า "ท่านขอรับ ขอท่านจงรับบาตรของท่านแล้วให้พราหมณ์กลับเสีย" พระเถระกล่าวว่า "นี่เรื่องอะไรกัน? อุบาสก."
               พวกมนุษย์. พราหมณ์ประหารท่าน, พวกกระผมจักรู้กิจที่ควรทำแก่เขา.
               พระเถระ. ก็ท่านถูกพราหมณ์นี้ประหารหรือ หรือเราถูก?
               พวกมนุษย์. ท่านถูก ขอรับ.
               พระเถระกล่าวว่า "พราหมณ์นั่นประหารเราแล้ว (แต่) ได้ขอขมาแล้ว, พวกท่านจงไปกันเถิด" ส่งพวกมนุษย์ไปแล้ว ให้พราหมณ์กลับ ได้ไปสู่วิหารนั่นเทียว.
               ภิกษุทั้งหลายยกโทษว่า "นี่ชื่ออย่างไร? พระสารีบุตรเถระถูกพราหมณ์ใดประหารแล้ว ยังนั่งรับภิกษาในเรือนของพราหมณ์นั้นนั่นแหละ มาแล้ว จำเดิมแต่กาลที่พระเถระถูกพราหมณ์นั้นประหารแล้ว ต่อไปนี้ เขาจักไม่ละอายต่อใครๆ จักเที่ยวตีภิกษุทั้งหลายที่เหลือ."

               พราหมณ์ไม่ควรประหารพราหมณ์               
               พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้" แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ชื่อว่าประหารพราหมณ์ ย่อมไม่มี แต่พราหมณ์ผู้สมณะจักเป็นผู้ถูกพราหมณ์คฤหัสถ์ประหารได้ ขึ้นชื่อว่าความโกรธนั่น ย่อมถึงความถอนขึ้นได้ด้วยอนาคามิมรรค" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๗.  น พฺราหฺมณสฺส ปหเรยฺย    นาสฺส มุญฺเจถ พฺราหฺมโณ
                         ธิ พฺราหฺมณสฺส หนฺตารํ    ตโต ธิ ยสฺส มุญฺจติ.
                                        น พฺราหฺมณสฺเสตทกิญฺจิ เสยฺโย
                                        ยทานิเสโธ มนโส ปิเยหิ
                                        ยโต ยโต หึสมโน นิวตฺตติ
                                        ตโต ตโต สมฺมติเมว ทุกฺขํ.
                                   พราหมณ์ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์ ไม่ควร
                         จอง (เวร) แก่เขา, น่าติเตียนพราหมณ์ผู้จอง (เวร) ยิ่ง
                         กว่าพราหมณ์ผู้ประหารนั้น. ความเกียดกันใจ จาก
                         อารมณ์อันเป็นที่รักทั้งหลายใด, ความเกียดกันนั่น
                         ย่อมเป็นความประเสริฐไม่น้อยแก่พราหมณ์,
                                   ใจอันสัมปยุตด้วยความเบียดเบียน ย่อมกลับได้
                         จากวัตถุใดๆ, ความทุกข์ย่อมสงบได้ เพราะวัตถุนั้นๆ
                         นั่นแล.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหเรยฺย ความว่า พราหมณ์ผู้ขีณาสพ รู้อยู่ว่า "เราเป็น (พระขีณาสพ)" ไม่ควรประหารแก่พราหมณ์ขีณาสพ หรือพราหมณ์อื่น.
               สองบทว่า นาสฺส มุญฺเจถ ความว่า พราหมณ์ขีณาสพแม้นั้น ถูกเขาประหารแล้ว ไม่ควรจองเวรแก่เขาผู้ประหารแล้วยืนอยู่ คือไม่ควรทำความโกรธในพราหมณ์นั้น.
               บทว่า ธิ พฺราหมฺณสฺส ความว่า เราย่อมติเตียนพราหมณ์ผู้ประหารพราหมณ์ขีณาสพ.
               บทว่า ตโต ธิ ความว่า ก็ผู้ใดประหารตอบซึ่งเขาผู้ประหารอยู่ ชื่อว่าย่อมจองเวรในเบื้องบนของเขา, เราติเตียนผู้จองเวรนั้น แม้กว่าผู้ประหารนั้นทีเดียว.
               สองบทว่า เอตทกิญฺจิ เสยฺโย ความว่า การไม่ด่าตอบซึ่งบุคคลผู้ด่าอยู่ หรือการไม่ประหารตอบซึ่งบุคคลผู้ประหารอยู่ ของพระขีณาสพใด, การไม่ด่าตอบหรือการไม่ประหารตอบนั่น ย่อมเป็นความประเสริฐไม่ใช่น้อย คือไม่เป็นความประเสริฐที่มีประมาณน้อย แก่พราหมณ์ผู้เป็นขีณาสพนั้น ที่แท้ย่อมเป็นความประเสริฐอันมีประมาณยิ่งทีเดียว.
               บาทพระคาถาว่า ยทานิเสโธ มนโส ปิเยหิ ความว่า ก็ความเกิดขึ้นแห่งความโกรธ ชื่อว่าอารมณ์เป็นที่รักแห่งใจ ของบุคคลผู้มักโกรธ, ก็บุคคลผู้มักโกรธนั่น จะผิดในมารดาบิดาก็ดี ในพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ก็เพราะอารมณ์เป็นที่รักเหล่านั้น เหตุนั้น ความเกียดกันใจจากอารมณ์อันเป็นที่รักเหล่านั้น คือความข่มขี่จิตอันเกิดขึ้นอยู่ ด้วยอำนาจความโกรธ ของบุคคลผู้มักโกรธนั้นใด, ความเกียดกันนั่นย่อมเป็นความประเสริฐไม่น้อย.
               ใจอันสัมปยุตด้วยความโกรธ ชื่อว่า หึสมโน. ใจอันสัมปยุตด้วยความโกรธของเขานั้น เมื่อถึงความถอนขึ้นด้วยอนาคามิมรรค ชื่อว่าย่อมกลับได้จากวัตถุใดๆ.
               สองบทว่า ตโต ตโต ความว่า วัฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น ย่อมกลับได้ เพราะวัตถุนั้นๆ นั่นแล.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องพระสารีบุตรเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕] [๑๖] [๑๗] [๑๘] [๑๙] [๒๐] [๒๑] [๒๒] [๒๓] [๒๔] [๒๕] [๒๖] [๒๗] [๒๘] [๒๙] [๓๐] [๓๑] [๓๒] [๓๓] [๓๔] [๓๕] [๓๖] [๓๗] [๓๘] [๓๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 35อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 36อ่านอรรถกถา 25 / 38อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1301&Z=1424
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=2016
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=2016
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :