ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕] [๑๖] [๑๗] [๑๘] [๑๙] [๒๐] [๒๑] [๒๒] [๒๓] [๒๔] [๒๕] [๒๖] [๒๗] [๒๘] [๒๙] [๓๐] [๓๑] [๓๒] [๓๓] [๓๔] [๓๕] [๓๖] [๓๗] [๓๘] [๓๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 35อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 36อ่านอรรถกถา 25 / 38อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖

หน้าต่างที่ ๓๐ / ๓๙.

               ๓๐. เรื่องพระจันทาภเถระ [๒๙๓]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระจันทาภเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "จนฺทํว" เป็นต้น.

               พระจันทาภะเคยเป็นพ่อค้าไม้จันทน์แดง               
               อนุปุพพีกถาในเรื่องของพระจันทาภเถระ ดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล พ่อค้าในกรุงพาราณสีคนหนึ่งคิดว่า "เราจักไปสู่ปัจจันตชนบทแล้ว นำไม้จันทน์แดงมา" ขนเอาวัตถุเป็นอันมาก มีผ้าและเครื่องอาภรณ์เป็นต้น ไปยังปัจจันตชนบท ด้วยเกวียน ๕๐๐ ยึดที่พักใกล้ประตูบ้านแล้ว ถามพวกเด็กเลี้ยงโคในดงว่า "มนุษย์ไรๆ ในบ้านนี้ ผู้ทำงานที่เชิงเขามีอยู่หรือ?"
               พวกเด็กเลี้ยงโค. จ้ะ มีอยู่.
               พ่อค้า. มนุษย์นั่นชื่ออะไร?
               พวกเด็กเลี้ยงโค. มนุษย์นั่นชื่อโน้น.
               พ่อค้า. ก็ภรรยาหรือพวกบุตรของเขา มีชื่ออย่างไร?
               พวกเด็กเลี้ยงโค. เขามีชื่ออย่างนี้ๆ.
               พ่อค้า. ก็เรือนของเขาอยู่ที่ไหน?
               พวกเด็กเลี้ยงโค. เรือนของเขาอยู่ที่ชื่อโน้น.
               พ่อค้านั้นนั่งบนยานน้อยอันสบาย ไปสู่ประตูเรือนของเขาตามสัญญาที่พวกเด็กเหล่านั้นให้แล้ว ลงจากยาน เข้าไปสู่เรือนแล้วเรียกหาหญิงนั้นว่า "ชื่อโน้น."
               หญิงนั้นคิดว่า "บุคคลนี้จักเป็นญาติของพวกเราคนหนึ่ง" จึงมาโดยเร็ว ปูอาสนะไว้ (รับรอง).
               พ่อค้านั้นนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว ระบุชื่อถามว่า "สหายของฉันไปไหน?"
               หญิง. ไปสู่ป่า นาย.
               พ่อค้าระบุชื่อของคนทั้งปวงเทียว ถามว่า "บุตรของฉันชื่อโน้น ธิดาของฉันชื่อโน้น ไปไหน?" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "ท่านพึงให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เหล่านี้แก่ชนเหล่านั้น, ในเวลาที่แม้สหายของฉันกลับมาแล้วจากดง หล่อนพึงให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์นี้" แล้วได้ให้ (วัตถุเหล่านั้น).
               นางทำสักการะอย่างยิ่งแก่เขาแล้ว ในเวลาที่สามีมา จึงกล่าวว่า "นาย บุคคลนี้ จำเดิมแต่เขามาแล้ว ระบุชื่อของชนทั้งปวงแล้ว ให้สิ่งนี้และสิ่งนี้".
               ฝ่ายสามีของหญิงนั้น ก็ทำกิจอันควรทำแก่เขา.
               ครั้นในเวลาเย็น พ่อค้านั่งบนที่นอน ถามเขาว่า "สหาย ท่านเที่ยวไปที่เชิงเขา เคยเห็นอะไรมาก?"
               ชายเจ้าถิ่น. ฉันไม่เห็นอย่างอื่น แต่ฉันเห็นต้นไม้ชนิดที่มีกิ่งแดงมาก.
               พ่อค้า. ต้นไม้ (ชนิดนั้น) มีมากหรือ?
               ชายเจ้าถิ่น. จ้ะ ต้นไม้ (ชนิดนั้น) มีมาก.
               พ่อค้ากล่าวว่า "ถ้ากระนั้น ท่านจงแสดงไม้เหล่านั้นแก่ฉัน" ดังนี้แล้ว ไปกับเขา ตัดต้นจันทน์แดงบรรทุกให้เต็มเกวียน ๕๐๐ เล่มแล้ว เมื่อเดินมา กล่าวกะชายนั้นว่า "สหาย เรือนของฉันมีอยู่ในที่ชื่อโน้นในกรุงพาราณสี ท่านพึงมายังสำนักของฉันตลอดกาลตามกาล ฉันไม่มีความต้องการด้วยเครื่องบรรณาการอย่างอื่น ท่านพึงนำมาเฉพาะแต่ต้นไม้ที่มีกิ่งแดงเท่านั้น.
               เขารับรองว่า "ดีละ" แล้วเมื่อมาสู่สำนักของพ่อค้านั้นตลอดกาลตามกาล ย่อมนำมาแต่ไม้จันทน์แดงเท่านั้น. แม้พ่อค้านั้นก็ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่เขา.
               โดยสมัยอื่นอีกแต่กาลนั้น เมื่อพระกัสสปทศพลปรินิพพานแล้ว เมื่อสถูปทองอันเขาประดิษฐานไว้แล้ว, บุรุษนั้นได้บรรทุกไม้จันทน์แดงเป็นอันมาก ไปสู่กรุงพาราณสี.
               ครั้งนั้น พ่อค้านั้นผู้เป็นสหายของเขา ให้บดไม้จันทน์เป็นอันมากให้เต็มถาดแล้ว กล่าวว่า "สหาย ท่านจงมา พวกเราจักไปสู่ที่ก่อเจดีย์จนกว่าจะหุงภัต (สุก) แล้วจึงกลับ" ได้พาเขาไปในที่นั้น ทำการบูชาด้วยไม้จันทน์แล้ว.
               สหายชาวปัจจันตชนบทของเขาแม้นั้น ได้สร้างที่ดุจมณฑลแห่งพระจันทร์ด้วยไม้จันทน์ ในห้องแห่งพระเจดีย์.
               บุรพกรรมของเขามีเพียงนี้เท่านั้น.

               อานิสงส์การบูชาด้วยไม้จันทน์แดง               
               เขาจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเทวโลก ยังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไปแล้วในเทวโลกนั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงราชคฤห์. รัศมีเช่นกับด้วยมณฑลพระจันทร์ตั้งขึ้นจากมณฑลแห่งนาภีของเขา. เพราะเหตุนั้น พวกญาติจึงขนานนามของเขาว่า "จันทาภะ" นัยว่า นั่นเป็นผลแห่งการทำที่ดุจมณฑลแห่งพระจันทร์ ในพระเจดีย์ของเขา.
               พราหมณ์ทั้งหลายคิดกันว่า "พวกเราอาจเพื่อพาเอาพราหมณ์นี้ไปหากินกะโลกเขาได้" ดังนี้แล้ว ให้เขานั่งบนยานน้อย เที่ยวกล่าวว่า "ผู้ใดเอามือลูบคลำสรีระของจันทาภพราหมณ์นี้, ผู้นั้นจะได้อิสริยสมบัติ ชื่อเห็นปานนี้."
               ชนทั้งหลาย เมื่อให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง แสนหนึ่งบ้างนั่นแล จึงจะได้เพื่อเอามือถูกต้องสรีระของพราหมณ์นั้น.
               พราหมณ์เหล่านั้น เที่ยวไปเนืองๆ อยู่อย่างนี้ ก็ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ยึดเอาที่พักในระหว่างแห่งพระนครและวิหารแล้ว.
               อริยสาวกประมาณ ๕ โกฏิแม้ในกรุงสาวัตถี ถวายทานในกาลก่อนแห่งภัตแล้ว ในกาลภายหลังภัต มีมือถือของหอมระเบียบดอกไม้ผ้าและเภสัชเป็นต้น ไปเพื่อฟังธรรม.
               พราหมณ์ทั้งหลายเห็นอริยสาวกเหล่านั้นแล้ว ถามว่า "ท่านทั้งหลายจะไปที่ไหนกัน?"
               อริยสาวก. พวกเราจักไปสู่สำนักของพระศาสดา เพื่อฟังธรรม.
               พวกพราหมณ์. ท่านทั้งหลายจงมา ท่านทั้งหลายไปในที่นั้นแล้ว จักทำอะไร? อานุภาพเช่นกับด้วยอานุภาพของจันทาภพราหมณ์ ของพวกข้าพเจ้าไม่มี เพราะว่าชนทั้งหลายถูกต้องสรีระของจันทาภพราหมณ์นั่น ย่อมได้สมบัติชื่อนี้ ท่านทั้งหลายจงมา จงดูจันทาภพราหมณ์นั้น.
               อริยสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า "ชื่อว่าอานุภาพของจันทาภพราหมณ์ของท่านทั้งหลาย เป็นอย่างไร? พระศาสดาของพวกเราเท่านั้น มีอานุภาพมาก."
               อริยสาวกและพวกพราหมณ์เหล่านั้น ไม่อาจเพื่อยังกันและกันให้ยินยอมได้ จึงกล่าวว่า "พวกเราไปสู่วิหารแล้ว จักรู้อานุภาพของจันทาภพราหมณ์ หรือของพระศาสดาของพวกเรา" ดังนี้แล้ว ได้พาจันทาภพราหมณ์นั้นไปสู่วิหารแล้ว.

               จันทาภพราหมณ์อับเฉาในสำนักพระศาสดา               
               พระศาสดา เมื่อจันทาภพราหมณ์นั้น พอเข้าไปสู่สำนักของพระองค์ ได้ทรงทำให้รัศมีเพียงดังพระจันทร์หายไปเสีย. จันทาภพราหมณ์นั้นได้เป็นประหนึ่งกาในกระเช้าถ่าน ในสำนักพระศาสดา.
               ครั้งนั้น พราหมณ์ทั้งหลายจึงนำเขาไปไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. รัศมีได้กลับเป็นปกติอย่างเดิม. พราหมณ์ก็นำมาสู่สำนักพระศาสดาอีก รัศมีก็หายไปอย่างนั้นเหมือนกัน. จันทาภพราหมณ์ไปแล้วอย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง เห็นรัศมีหายไปอยู่ จึงคิดว่า "ผู้นี้ เห็นจะรู้มนต์เป็นเครื่องหายไปแห่งรัศมี." เขาจึงทูลถามพระศาสดาว่า "พระองค์ทรงทราบมนต์เป็นเครื่องหายไปแห่งรัศมีหรือหนอแล?"
               พระศาสดา. เออ เรารู้.
               จันทาภะ. ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงประทานแก่ข้าพระองค์บ้าง.
               พระศาสดา. เราไม่อาจเพื่อให้แก่บุคคลผู้ไม่บวช.
               จันทาภะนั้นกล่าวกะพวกพราหมณ์ว่า "เมื่อฉันเรียนมนต์นั่นแล้ว ฉันจักเป็นผู้ประเสริฐในชมพูทวีปทั้งสิ้น พวกท่านจงรออยู่ที่นี่ก่อน ฉันจักบวชเรียนมนต์โดย ๒-๓ วันเท่านั้น."
               เขาทูลขอการบรรพชากะพระศาสดา ได้อุปสมบทแล้ว.
               ครั้งนั้น พระศาสดาจึงตรัสบอกอาการ ๓๒ แก่จันทาภภิกษุนั้น.
               เธอทูลถามว่า "นี้อะไร?"
               พระศาสดา. นี้เป็นบริกรรมแห่งมนต์, เธอควรสาธยาย.
               แม้พวกพราหมณ์มาในระหว่างๆ แล้ว ถามว่า "ท่านเรียนมนต์ได้แล้วหรือ?"
               จันทาภะ. ยังก่อน ฉันกำลังเรียน.
               เขาบรรลุพระอรหัตโดย ๒-๓ วันเท่านั้น ในเวลาที่พวกพราหมณ์มาถามแล้ว กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงไปเถิด เดี๋ยวนี้ ฉันเป็นผู้มีธรรมเครื่องไม่ไปเสียแล้ว."
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระตถาคตว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุนี้กล่าวคำไม่จริง ย่อมพยากรณ์พระอรหัตผล."

               พระขีณาสพกล่าวแต่คำจริง               
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ จันทาภะบุตรของเรามีอาสวะสิ้นแล้ว ย่อมกล่าวแต่คำจริงเท่านั้น"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๓๐.  จนฺทํว วิมลํ สุทฺธํ    วิปฺปสนฺนมนาวิลํ
                         นนฺทิภวปริกฺขีณํ    ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.
                                   เราเรียกผู้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว มีภพ
                         เครื่องเพลิดเพลินสิ้นแล้ว เหมือนพระจันทร์ ที่
                         ปราศจากมลทินนั้นว่า เป็นพราหมณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิมลํ ได้แก่ เว้นแล้วจากมลทินมีหมอกเป็นต้น.
               บทว่า สุทฺธํ ได้แก่ ไม่มีอุปกิเลส.
               บทว่า วิปฺปสนฺนํ ได้แก่ มีจิตผ่องใสแล้ว.
               บทว่า อนาวิลํ ได้แก่ เว้นแล้วจากมลทินมีกิเลสเป็นต้น.
               บทว่า นนฺทิภวปริกฺขีณํ ความว่า เราเรียกผู้มีตัณหาในภพทั้ง ๓ สิ้นแล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องพระจันทาภเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕] [๑๖] [๑๗] [๑๘] [๑๙] [๒๐] [๒๑] [๒๒] [๒๓] [๒๔] [๒๕] [๒๖] [๒๗] [๒๘] [๒๙] [๓๐] [๓๑] [๓๒] [๓๓] [๓๔] [๓๕] [๓๖] [๓๗] [๓๘] [๓๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 35อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 36อ่านอรรถกถา 25 / 38อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1301&Z=1424
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=2016
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=2016
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :