ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕] [๑๖] [๑๗] [๑๘] [๑๙] [๒๐] [๒๑] [๒๒] [๒๓] [๒๔] [๒๕] [๒๖] [๒๗] [๒๘] [๒๙] [๓๐] [๓๑] [๓๒] [๓๓] [๓๔] [๓๕] [๓๖] [๓๗] [๓๘] [๓๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 35อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 36อ่านอรรถกถา 25 / 38อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖

หน้าต่างที่ ๑๑ / ๓๙.

               ๑๑. เรื่องกุหกพราหมณ์ [๒๗๔]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ทรงปรารภกุหกพราหมณ์ผู้มีวัตรดังค้างคาวคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "กินฺเต" เป็นต้น.

               พราหมณ์ลวงเอาสิ่งของของชาวเมือง               
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นขึ้นต้นกุ่มต้นหนึ่ง ใกล้ประตูพระนครเวสาลี เอาเท้าทั้งสองเหนี่ยวกิ่งไม้ ห้อยหัวลงอยู่ กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงให้โคแดง ๑๐๐ แก่เรา จงให้กหาปณะทั้งหลายแก่เรา จงให้หญิงบำเรอแก่เรา ถ้าท่านทั้งหลายจักไม่ให้ เราตกจากต้นกุ่มนี้ตาย จักทำพระนครไม่ให้เป็นพระนคร."
               ในกาลเป็นที่เสด็จเข้าไปยังพระนครแม้ของพระตถาคต ผู้อันหมู่ภิกษุแวดล้อมแล้ว ภิกษุทั้งหลายเห็นพราหมณ์นั้นแล้ว แม้ในกาลเป็นที่เสด็จออกไป ก็เห็นเขาห้อยอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน.
               ฝ่ายชาวพระนครต่างก็คิดว่า "พราหมณ์นี้ห้อยอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เช้า พึงตกลง (ตาย) ทำพระนครไม่ให้เป็นพระนคร" กลัวความล่มจมแห่งพระนคร จึงยอมรับว่า "พวกเราจะให้ของทุกอย่างที่พราหมณ์นั้นขอ" แล้วได้ให้. เขาได้ลงรับเอาสิ่งของทั้งปวงไป.
               ภิกษุทั้งหลายเห็นเขาเที่ยวไปดุจแม่โค ใกล้อุปจารแห่งวิหาร จำได้จึงถามว่า "พราหมณ์ ท่านได้สิ่งของตามปรารถนาแล้วหรือ?" ได้ฟังว่า "ขอรับ กระผมได้แล้ว" จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระตถาคต ณ ภายในวิหาร.

               พระศาสดาตรัสบุรพกรรมของพราหมณ์               
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์นั่นเป็นโจรหลอกลวง ในกาลนี้เท่านั้น หามิได้, ถึงในกาลก่อน ก็เป็นโจรหลอกลวงแล้วเหมือนกัน; ก็บัดนี้ พราหมณ์นั่นย่อมหลอกลวงพาลชนได้ แต่ในกาลนั้น ไม่อาจเพื่อหลอกลวงบัณฑิตทั้งหลายได้"
               ดังนี้แล้ว อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า :-
               ในอดีตกาล ดาบสหลอกลวงรูปหนึ่งอาศัยกาสิกคามตำบลหนึ่ง ย่อมสำเร็จการอยู่. ตระกูลหนึ่งบำรุงเธอ คือย่อมถวายส่วนหนึ่งแม้แก่เธอ จากของควรเคี้ยวและของควรบริโภคอันเกิดขึ้นแล้วในกลางวัน เหมือนให้แก่บุตรของตน, เก็บส่วนอันเกิดขึ้นในตอนเย็นไว้ถวายในวันที่ ๒.
               ต่อมาวันหนึ่ง ตระกูลนั้นได้เนื้อเหี้ย (มา) ในเวลาเย็น แกงไว้เรียบร้อยแล้ว เก็บส่วนหนึ่งจากส่วนที่แกงนั้นไว้ ถวายแก่เธอในวันที่ ๒.
               ดาบสพอกินเนื้อแล้ว ถูกความอยากในรสผูกพันแล้ว ถามว่า "นั่นชื่อเนื้ออะไร?" ได้ฟังว่า "เนื้อเหี้ย" ดังนี้แล้ว เที่ยวไปเพื่อภิกษา รับเอาเนยใสนมส้มและเครื่องเผ็ดร้อนเป็นต้น ไปยังบรรณศาลา แล้วเก็บไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ก็พระยาเหี้ยอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ณ ที่ไม่ไกลแห่งบรรณศาลา. พระยาเหี้ยมาเพื่อไหว้พระดาบสตามกาลสมควร.
               ก็ในวันนั้น ดาบสนั่นคิดว่า "เราจักฆ่าเหี้ยนั้น" ดังนี้แล้ว ซ่อนท่อนไม้ไว้ นั่งทำทีเหมือนหลับอยู่ ณ ที่ใกล้จอมปลวกนั้น.
               พระยาเหี้ยออกจากจอมปลวกแล้ว มายังสำนักของเธอ กำหนดอาการได้แล้ว จึงกลับจากที่นั้น ด้วยคิดว่า "วันนี้ เราไม่ชอบใจอาการของอาจารย์." ดาบสรู้ความกลับของเหี้ยนั้นแล้วขว้างท่อนไม้ไปเพื่อประสงค์จะฆ่าเหี้ยนั้น. ท่อนไม้พลาดไป. พระยาเหี้ยเข้าไปสู่จอมปลวกแล้ว โผล่ศีรษะออกมาจากจอมปลวกนั้นแล้วแลดูทางที่มา กล่าวกะดาบสว่า :-
                                   ข้าพเจ้าสำคัญท่านผู้ไม่สำรวมว่าเป็นสมณะ
                         จึงเข้าไปหาแล้ว, ท่านนั้นย่อมไม่เป็นสมณะ โดย
                         ประการที่ท่านเอาไม้ประหารข้าพเจ้า
                                   ท่านผู้มีปัญญาทราม ประโยชน์อะไรด้วย
                         ชฎาทั้งหลายของท่าน ประโยชน์อะไรด้วยผ้าที่ทำ
                         ด้วยหนังสัตว์ของท่าน, ภายในของท่านรกรุงรัง
                         ท่านย่อมเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก.
               ครั้งนั้น ดาบสเพื่อจะล่อพระยาเหี้ยนั้นด้วยของมีอยู่ของตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า :-
                                   เหี้ย ท่านจงกลับมา จงบริโภคข้าวสุกแห่ง
                         ข้าวสาลีทั้งหลาย, น้ำมันและเกลือของข้าพเจ้ามีอยู่,
                         ดีปลีของข้าพเจ้าก็มีเพียงพอ.
               พระยาเหี้ยฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า "ท่านกล่าวโดยประการใดๆ ความที่ข้าพเจ้าประสงค์เพื่อหนีไปอย่างเดียว ย่อมมีโดยประการนั้นๆ" ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   ข้าพเจ้านั้นยิ่งจักเข้าไปสู่จอมปลวกลึกตั้ง
                         ๑๐๐ ชั่วบุรุษ น้ำมันและเกลือของท่าน จะเป็น
                         ประโยชน์อะไร? ดีปลีก็ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล
                         แก่ข้าพเจ้า.
               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว กล่าวว่า
               "ข้าพเจ้าได้ทำความสำคัญในท่านว่าเป็นสมณะสิ้นกาลประมาณเท่านี้ บัดนี้ ท่านขว้างท่อนไม้ไป เพราะความเป็นผู้ประสงค์จะประหารข้าพเจ้า ท่านไม่เป็นสมณะแต่กาลที่ท่านขว้างท่อนไม้ไปแล้วทีเดียว ประโยชน์อะไรด้วยชฎาทั้งหลายของบุคคลผู้ทรามปัญญาเช่นท่าน ประโยชน์อะไรด้วยหนังเนื้อชื่ออชินะพร้อมทั้งกีบ. เพราะภายในของท่านรกรุงรัง ท่านย่อมเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอกอย่างเดียวเท่านั้น."
               พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ตรัสว่า "พราหมณ์ นี้ ได้เป็นดาบสผู้หลอกลวงในกาลนั้น ส่วนพระยาเหี้ย ได้เป็นเรานี่เอง" ดังนี้ แล้วทรงประมวลชาดก.
               เมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งดาบสนั้น ถูกเหี้ยตัวฉลาดข่มในกาลนั้น
               จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๑๑.  กินฺเต ชฏาหิ ทุมฺเมธ    กินฺเต อชินสาฏิยา
                         อพฺภนฺตรนฺเต คหนํ    พาหิรํ ปริมชฺชสิ.
                                   ผู้มีปัญญาทราม ประโยชน์อะไรด้วยชฎา
                         ทั้งหลายของเธอ, ประโยชน์อะไรด้วยผ้าที่ทำด้วย
                         หนังเนื้อชื่ออชินะของเธอม ภายในของเธอรกรุงรัง
                         เธอย่อมเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า กินฺเต ชฏาหิ ความว่า ดูก่อนผู้ทรามปัญญา ประโยชน์อะไรด้วยชฎาเหล่านี้ แม้อันเธอเกล้าไว้ดีแล้ว และด้วยผ้าสาฎกที่ทำด้วยหนังเนื้อชื่ออชินะนี้ พร้อมทั้งกีบอันเธอนุ่งแล้วของเธอ.
               บทว่า อพฺภนฺตรํ ความว่า ในภายในของเธอรกรุงรังด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น, เธอย่อมเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก เหมือนคูถช้างคูถม้าเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอกอย่างเดียว.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องกุหกพราหมณ์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พราหมณวรรคที่ ๒๖
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] [๑๓] [๑๔] [๑๕] [๑๖] [๑๗] [๑๘] [๑๙] [๒๐] [๒๑] [๒๒] [๒๓] [๒๔] [๒๕] [๒๖] [๒๗] [๒๘] [๒๙] [๓๐] [๓๑] [๓๒] [๓๓] [๓๔] [๓๕] [๓๖] [๓๗] [๓๘] [๓๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 35อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 36อ่านอรรถกถา 25 / 38อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1301&Z=1424
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=2016
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=2016
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :