ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 34อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 25 / 36อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๒.

               ๕. เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง [๒๕๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุผู้คบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สลาภํ นาติมญฺเญยฺย" เป็นต้น.

               ภิกษุคบภิกษุพวกพระเทวทัตเพราะเห็นแก่ลาภ               
               ดังได้สดับมา ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัตรูปหนึ่ง ได้เป็นสหายของภิกษุรูปนั้น. ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัตนั้น เห็นเธอเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตกับภิกษุทั้งหลาย ทำภัตกิจแล้ว (กลับ) มา จึงถามว่า "ท่านไปไหน?"
               ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระศาสดา. ผมไปสู่ที่ชื่อโน้นเพื่อเที่ยวบิณฑบาต.
               ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต. ท่านได้บิณฑบาตแล้วหรือ?
               ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระศาสดา. เออ เราได้แล้ว.
               ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต. ในที่นี้แหละ พวกผมมีลาภและสักการะเป็นอันมาก ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละสัก ๒-๓ วันเถิด.
               เธออยู่ในที่นั้น ๒-๓ วันตามคำของภิกษุนั้นแล้ว ก็ได้ไปสู่ที่อยู่ของตนตามเดิม.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระตถาคตว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุนี้บริโภคลาภและสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระเทวทัต, เธอเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต."
               พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ได้ยินว่า เธอได้ทำอย่างนั้น จริงหรือ?."
               ภิกษุ. จริง พระเจ้าข้า, ข้าพระองค์อาศัยภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยู่ในที่นั้น ๒-๓ วัน ก็แต่ว่า ข้าพระองค์มิได้ชอบใจลัทธิของพระเทวทัต.

               ภิกษุควรยินดีในลาภของตนเท่านั้น               
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเธอว่า "เธอไม่ชอบใจลัทธิ (ของพระเทวทัต) ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอเที่ยวไปประหนึ่งว่าชอบใจลัทธิของชนผู้ที่เธอพบเห็นแล้วทีเดียว เธอทำอย่างนี้ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นผู้เห็นปานนั้นเหมือนกัน"
               อันภิกษุทั้งหลายทูลวิงวอนว่า "พระเจ้าข้า ในบัดนี้ พวกข้าพระองค์เห็นภิกษุนี้ด้วยตนเองก่อน แต่ในกาลก่อน ภิกษุนี่พอใจลัทธิของใครเที่ยวไป? ขอพระองค์โปรดตรัสบอกแก่พวกข้าพระองค์เถิด"
               จึงทรงนำอดีตนิทานมา ทรงยังมหิลามุขชาดก๑- นี้ให้พิสดารว่า :-
                                   ช้างชื่อมหิลามุข ฟังคำของพวกโจรก่อนแล้ว
                         เที่ยวฟาดบุคคลผู้ไปตามอยู่, แต่พอฟังคำของสมณะ
                         ผู้สำรวมดีแล้ว ก็เป็นช้างประเสริฐ ตั้งอยู่แล้วในคุณ
                         ทั้งปวง.

____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๖. อรรถกถา ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๖.

               แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุเป็นผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น การปรารถนาลาภของผู้อื่น ไม่สมควร เพราะบรรดาฌาน วิปัสสนา มรรคและผลทั้งหลาย แม้ธรรมสักอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารถนาลาภของผู้อื่น แต่คุณชาติทั้งหลายมีฌานเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๕.  สาลภํ นาติมญฺเญยฺย    นาญฺเญสํ ปิหยญฺจเร
                         อญฺเญสํ ปิหยํ ภิกฺขุ    สมาธึ นาธิคจฺฉติ.
                         อปฺปลาโภปิ เจ ภิกฺขุ    สลาภํ นาติมญฺญติ
                         ตํ เว เทวา ปสํสนฺติ    สุทฺธาชีวึ อตนฺทิตํ.
                                   ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน, ไม่ควรเที่ยว
                         ปรารถนาลาภของผู้อื่น, ภิกษุ เมื่อปรารถนาลาภของ
                         ผู้อื่น ย่อมไม่ประสบสมาธิ, ถ้าภิกษุ แม้เป็นผู้มีลาภ
                         น้อย ก็ไม่ดูหมิ่นลาภของตน, เทพยดาทั้งหลายย่อม
                         สรรเสริญภิกษุนั้นแล (ว่า) ผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจ
                         คร้าน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สลาภํ ได้แก่ ลาภที่เกิดขึ้นแก่ตน.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้เว้นการเที่ยวไปตามตามลำดับตรอก เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ชื่อว่าดูหมิ่น คือดูแคลน ได้แก่รังเกียจลาภของตน เพราะเหตุนั้น ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน ด้วยการไม่ทำอย่างนั้น.
               สองบทว่า อญฺเญสํ ปิหยํ ความว่า ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของคนเหล่าอื่น.
               บาทพระคาถาว่า สมาธึ นาธิคจฺฉติ ความว่า ก็ภิกษุเมื่อปรารถนาลาภของชนเหล่าอื่นอยู่ ถึงความขวนขวายในการทำบริขารมีจีวรเป็นต้น แก่ชนเหล่านั้น ย่อมไม่บรรลุอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ.
               บาทพระคาถาว่า สลาภํ นาติมญฺญติ ความว่า ภิกษุแม้เป็นผู้มีลาภน้อย เมื่อเที่ยวไปตามลำดับตรอกโดยลำดับแห่งตระกูลสูงและต่ำ ชื่อว่าไม่ดูแคลนลาภของตน.
               บทว่า ตํ เว เป็นต้น ความว่า เทพดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญ คือชมเชย ภิกษุนั้นคือผู้เห็นปานนั้น ผู้ชื่อว่ามีอาชีวะหมดจด เพราะความเป็นผู้มีชีวิตเป็นสาระ ชื่อว่าผู้ไม่เกียจคร้าน เพราะความเป็นผู้ไม่ย่อท้อด้วยอาศัยกำลังแข้งเลี้ยงชีพ.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 34อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 25 / 36อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1244&Z=1300
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=949
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=949
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :