ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 34อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 25 / 36อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๒.

               ๑๐. เรื่องพระนังคลกูฏเถระ [๒๖๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนังคลกูฏเถระ
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อตฺตนา โจทยตฺตานํ" เป็นต้น.

               คนเข็ญใจบวชในพระพุทธศาสนา               
               ดังได้สดับมา มนุษย์เข็ญใจผู้หนึ่ง ทำการรับจ้างของชนเหล่าอื่นเลี้ยงชีพ. ภิกษุรูปหนึ่งเห็นเขานุ่งผ้าท่อนเก่า แบกไถ เดินไปอยู่ จึงพูดอย่างนี้ว่า "ก็เธอบวช จะไม่ประเสริฐกว่าการเป็นอยู่อย่างนี้หรือ."
               มนุษย์เข็ญใจ. ใครจักให้กระผมผู้เป็นอยู่อย่างนี้บวชเล่าขอรับ.
               ภิกษุ. หากเธอจักบวช, ฉันก็จักให้เธอบวช.
               มนุษย์เข็ญใจ. "ดีละ ขอรับ, ถ้าท่านจักให้กระผมบวช กระผมก็จักบวช."
               ครั้งนั้น พระเถระนำเขาไปสู่พระเชตวัน แล้วให้อาบน้ำด้วยมือของตน พักไว้ในโรงแล้วให้บวช ให้เขาเก็บไถ พร้อมกับผ้าท่อนเก่าที่เขานุ่ง ไว้ที่กิ่งไม้ใกล้เขตแดนแห่งโรงนั้นแล. แม้ในเวลาอุปสมบท เธอได้ปรากฏชื่อว่า "นังคลกูฏเถระ" นั่นแล.

               ภิกษุมีอุบายสอนตนเองย่อมระงับความกระสัน               
               พระนังคลกูฏเถระนั้นอาศัยลาภสักการะซึ่งเกิดขึ้นเพื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เลี้ยงชีพอยู่ กระสันขึ้นแล้ว เมื่อไม่สามารถเพื่อจะบรรเทาได้ จึงตกลงใจว่า "บัดนี้ เราจักไม่นุ่งห่มผ้ากาสายะทั้งหลายที่เขาให้ด้วยศรัทธาไปละ" ดังนี้แล้ว ก็ไปยังโคนต้นไม้ ให้โอวาทตนด้วยตนเองว่า "เจ้าผู้ไม่มีหิริ หมดยางอาย เจ้าอยากจะนุ่งห่มผ้าขี้ริ้วผืนนี้ สึกไปทำการรับจ้างเลี้ยงชีพ (หรือ)." เมื่อท่านโอวาทตนอยู่อย่างนั้นแล จิตถึงความเป็นธรรมชาติเบา (คลายกระสัน) แล้ว.
               ท่านกลับมาแล้ว โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ก็กระสันขึ้นอีก จึงสอนตนเหมือนอย่างนั้นนั่นแล ท่านกลับใจได้อีก. ในเวลากระสันขึ้นมา ท่านไปในที่นั้นแล้ว โอวาทตนโดยทำนองนี้แล.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านไปอยู่ในที่นั้นเนืองๆ จึงถามว่า "ท่านนังคลกูฏเถระ เหตุไร ท่านจึงไปในที่นั้น."
               ท่านตอบว่า "ผมไปยังสำนักอาจารย์ ขอรับ" ดังนี้แล้ว ต่อมา ๒-๓ วันเท่านั้น (ก็) บรรลุพระอรหัตผล.
               ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะทำการล้อเล่นกับท่าน จึงกล่าวว่า "ท่านนังคลกูฏะผู้หลักผู้ใหญ่ ทางที่เที่ยวไปของท่าน เป็นประหนึ่งหารอยมิได้แล้ว, ชะรอยท่านจะไม่ไปยังสำนักของอาจารย์อีกกระมัง"
               พระเถระ. อย่างนั้น ขอรับ, เมื่อกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องยังมีอยู่ ผมได้ไปแล้ว แต่บัดนี้ กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ผมตัดเสียได้แล้ว เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ไป.
               ภิกษุทั้งหลายฟังคำตอบนั้นแล้ว เข้าใจว่า "ภิกษุนี่ พูดไม่จริง พยากรณ์พระอรหัตผล" ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระศาสดา.

               ภิกษุควรเป็นผู้เตือนตน               
               พระศาสดาตรัสว่า "เออ ภิกษุทั้งหลาย นังคลกูฏะบุตรของเรา เตือนตนด้วยตนเองแล แล้วจึงถึงที่สุดแห่งกิจของบรรพชิต" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:-
                         ๑๐.  อตฺตนา โจทยตฺตานํ    ปฏิมํเสตมตฺตนา
                         โส อตฺตคุตฺโต สติมา    สุขํ ภิกฺขุ วิหาหิสิ.
                         อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ    อตฺตา หิ อตฺตโน คติ
                         ตสฺมา สญฺญม อตฺตานํ    อสฺสํ ภทฺรํว วาณิโช.
                                   เธอจงตักเตือนตนด้วยตน จงพิจารณาดูตนนั้น
                         ด้วยตน, ภิกษุ เธอนั้นมีสติ ปกครองตนได้แล้ว จักอยู่
                         สบาย. ตนแหละ เป็นนาถะของตน, ตนแหละ เป็นคติ
                         ของตน เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตนให้เหมือนอย่าง
                         พ่อค้าม้า สงวนม้าตัวเจริญฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โจทยตฺตานํ ความว่า จงตักเตือนตนด้วยตนเอง คือจงยังตนให้รู้สึกด้วยตนเอง.
               บทว่า ปฏิมํเส คือ ตรวจตราดูตนด้วยตนเอง.
               บทว่า โส เป็นต้น ความว่า ภิกษุ เธอนั้นเมื่อตักเตือนพิจารณาดูตนอย่างนั้นอยู่ เป็นผู้ชื่อว่าปกครองตนได้ เพราะความเป็นผู้มีตนปกครองแล้วด้วยตนเอง เป็นผู้ชื่อว่ามีสติ เพราะความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว จักอยู่สบายทุกสรรพอิริยาบถ.
               บทว่า นาโถ ความว่า เป็นที่อาศัย คือเป็นที่พำนัก (คนอื่นใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้) เพราะบุคคลอาศัยในอัตภาพของผู้อื่น ไม่อาจเพื่อเป็นผู้กระทำกุศลแล้ว มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า หรือเป็นผู้ยังมรรคให้เจริญแล้ว ทำผลให้แจ้งได้ เพราะเหตุนั้น จึงมีอธิบายว่า "คนอื่นชื่อว่าใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้."
               บทว่า ตสฺมา เป็นต้น ความว่า เหตุที่ตนแลเป็นคติ คือเป็นที่พำนัก ได้แก่เป็นสรณะของตน.
               พ่อค้าม้าอาศัยม้าตัวเจริญ คือม้าอาชาไนยนั้น ปรารถนาลาภอยู่ จึงเกียดกันการเที่ยวไปในวิสมสถาน (ที่ไม่สมควร) แห่งม้านั้น ให้อาบน้ำ ให้บริโภคอยู่ ตั้งสามครั้งต่อวัน ชื่อว่าย่อมสงวน คือประคับประคองฉันใด,
               แม้ตัวเธอ เมื่อป้องกันความเกิดขึ้นแห่งอกุศลซึ่งยังไม่เกิด ขจัดที่เกิดขึ้นแล้วเพราะการหลงลืมสติเสีย (ก็) ชื่อว่า สงวนคือปกครองตนฉันนั้น;
               เมื่อเธอสงวนตนได้อย่างนี้อยู่ เธอจักบรรลุคุณพิเศษทั้งที่เป็นโลกิยะทั้งที่เป็นโลกุตระ เริ่มแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องพระนังคลกูฏเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 34อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 25 / 36อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1244&Z=1300
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=949
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=949
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :