ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 331อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 332อ่านอรรถกถา 25 / 354อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค
ธรรมิกสูตร

               อรรถกถาธรรมิกสูตรที่ ๑๔               
               ธรรมิกสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               ถามว่า มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า มีการเกิดขึ้นดังต่อไปนี้ :-
               มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของโลกยังทรงดำรงอยู่ ได้มีอุบาสกชื่อธรรมิกะ โดยชื่อ และโดยการปฏิบัติ.
               นัยว่า ธรรมิกอุบาสกนั้นเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎก เป็นอนาคามี ได้อภิญญา ได้เที่ยวไปทางอากาศ. ธรรมิกอุบาสกนั้นมีอุบาสก ๕๐๐ เป็นบริวาร อุบาสกแม้เหล่านั้นก็ได้เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน.
               วันหนึ่ง ธรรมิกอุบาสกรักษาอุโบสถแล้วไปในที่ลับ หลีกเร้นอยู่ ในตอนสุดท้ายของมัชฌิมยาม ได้เกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า อย่ากระนั้นเลย เราควรจะทูลถามข้อปฏิบัติของผู้ครองเรือนและของนักบวช. เขาแวดล้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลถามความนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบปัญหาแก่เขา.
               ในบทเหล่านั้นพึงทราบบทที่พรรณนาไว้ในคราวก่อน โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ข้าพเจ้าจักพรรณนาบทที่ยังไม่เคยกล่าวไว้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่หนึ่งก่อน.
               บทว่า กถํกโร คือ กระทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร.
               บทว่า สาธุ โหติ ได้แก่ เป็นผู้ดี เป็นผู้ไม่มีโทษ เป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ. เป็นอันท่านกล่าวว่า อุบาสกทั้งนั้น ด้วยบทว่า ดังนี้.
               บทที่เหลือ โดยความชัดเจนแล้ว
               แต่โยชนาแก้ว่า บรรดาสาวกสองจำพวก คือสาวกผู้ออกจากเรือนมิได้ครองเรือนคือบวชก็ดี สาวกผู้ครองเรือนเป็นอุบาสกก็ดี สาวกกระทำอย่างไรจึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จ.
               บัดนี้ ธรรมิกอุบาสกเมื่อจะแสดงถึงความสามารถของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ถูกถามปัญหาอย่างนี้แล้วจะทรงแก้ได้ จึงกล่าวสองคาถาว่า ตุวํ หิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คตึ ได้แก่ คติที่เป็นอัธยาศัย. บทว่า ปรายนํ ได้แก่ ความสำเร็จ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า คตึ ได้แก่ ประเภทของคติ ๕ มีนรกเป็นต้น. บทว่า ปรายนํ ได้แก่ การออกไปจากคติ การพ้นจากคติ คือปรินิพพาน.
               บทว่า น จตฺถิ ตุลฺโย ได้แก่ คนเช่นกับพระองค์ ไม่มี.
               บทว่า สพฺพํ ตุวํ ญาณมเวจฺจ ธมฺมํ ปกาเสสิ สตฺเต อนุกมฺปมาโน ความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงแทงตลอดไญยธรรมไม่มีเหลือ ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย ทรงประกาศญาณและธรรมทั้งปวง คือทรงทำให้แจ้ง ทรงชี้แจงสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเท่านั้น.
               ท่านอธิบายว่า การปกปิดการสอนของอาจารย์ย่อมไม่มีแก่ท่าน.
               บทว่า วิโรจสิ วิมโล ความว่า พระองค์ปราศจากมลทิน ไพโรจน์เพราะไม่มีมลทินมีราคะเป็นต้น ดุจพระจันทร์เว้นจากหมอกและธุลีเป็นต้น.
               บทที่เหลือในคาถานี้มีความง่ายทั้งนั้น.
               บัดนี้ ธรรมิกอุบาสกเมื่อจะประกาศชื่อเทพบุตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมเหล่านั้นในครั้งนั้น และเมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวสองคาถาว่า อคจฺฉิ เต สนฺติเก ได้ไปในสำนักของพระองค์ดังนี้เป็นต้น.

               เทพบุตรนี้ชื่อว่า เอราวัณ               
               ในบทเหล่านั้นบทว่า นาคราชา เอราวโณ นาม ความว่า
               ได้ยินว่า เทพบุตรนี้ชื่อว่า เอราวัณ มีรูปเป็นเทพบนสวรรค์ สถิตอยู่ในวิมานทิพย์. เทพบุตรนั้นในเวลาที่ท้าวสักกะเสด็จชมพระอุทยาน ได้เนรมิตกาย ๑๕๐ โยชน์ เนรมิตกระพอง ๓๓ กระพอง เป็นช้างเอราวัณ. บนกระพองหนึ่งๆ มีงากระพองละ ๒ งา บนงาหนึ่งๆ มีสระโบกขรณีงาละ ๗ สระ. บนสระโบกขรณีสระหนึ่งๆ มีสระบัวละ ๗ สระ. สระบัวสระหนึ่งๆ มีดอกบัวสระละ ๗ ดอก. บนดอกบัวดอกหนึ่งๆ มีดอกละ ๗ กลีบ. บนกลีบหนึ่งๆ มีนางอัปสรกลีบละ ๗ นาง ปรากฏชื่อว่าปทุมอัปสรทั้งนั้นฟ้อนรำอยู่.
               นางฟ้อนของท้าวสักกะมีมาแล้วในวิมานวัตถุว่า นางอัปสรได้ศึกษาเป็นอย่างดีหมุนตัวบนดอกปทุม.๑-
____________________________
๑- ขุ. วิ. เล่ม ๒๖/ข้อ ๖๔

               ในท่ามกลางกระพอง ๓๓ กระพองเหล่านั้นมีกระพองชื่อสุทัสสนะประมาณ ๓๐ โยชน์. ที่กระพองสุทัสสนะนั้นมีบัลลังก์แก้วมณีประมาณโยชน์หนึ่งลาดไปบนมณฑปดอกบัวสูง ๓ โยชน์ อันเป็นสถานที่ที่ท้าวสักกะจอมเทพแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสรเสวยทิพยสมบัติ.
               ครั้นเมื่อท้าวสักกะจอมเทพเสด็จกลับจากการชมอุทยาน ช้างเอราวัณก็กลายรูปนั้นเป็นเทพบุตรอย่างเดิม.
               ธรรมิกอุบาสกกล่าวว่า พญาช้างชื่อเอราวัณได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ทรงชนะบาปกรรมแล้วดังนี้ จึงได้ไปในสำนักของพระองค์ หมายถึงเทพบุตรนั้น.
               บทว่า โสปิ ตยา มนฺตยิตฺวา ได้แก่ เทพบุตรนั้นก็ปรึกษากับพระองค์. อธิบายว่า ถามปัญหา. บทว่า อชฺฌคมา คือ ได้บรรลุแล้ว. บทว่า สาธูติ สุตฺวาน ปตีตรูโป ความว่า เทพบุตรสดับปัญหานั้นแล้วซ้องสาธุการชื่นชมยินดีกลับไป.
               ในบทว่า ราชาปิ ตํ เวสฺสวโณ กุเวโร นี้มีอธิบายว่า ยักษ์นั้นชื่อว่าเป็นพระราชาเพราะอรรถว่าเป็นที่ยินดี. ชื่อว่า เวสวัณ เพราะครองราชสมบัติในวิสาณราชธานี.
               พึงทราบว่า ชื่อว่ากุเวรตามชื่อเดิม.
               ได้ยินมาว่า ยักษ์ชื่อกุเวรนั้นเป็นพราหมณ์มหาศาล ทำบุญมีทานเป็นต้น เกิดเป็นใหญ่ในวิสาณราชธานี เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า กุเวร. ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอาฏานาฏิยสูตรว่า
               กุเวรสฺส โข ปน มาริสา มหาราชสฺส วิสาณา นาม ราชธานี
               ตสฺมา กุเวโร มหาราชา เวสฺสวโณติ ปวุจฺจติ.
๒-
               ความว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ราชธานีชื่อว่าวิสาณะเป็นของท้าวกุเวรมหาราช เพราะฉะนั้น ท้าวกุเวรมหาราชจึงมีชื่อว่า เวสวัณ.
____________________________
๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๑๒

               บทที่เหลือในสูตรนี้ความชัดดีแล้ว.
               ในเรื่องนั้นพึงมีข้อควรวินิจฉัยดังนี้
               ก็เพราะเหตุไร เอราวัณเทพบุตรอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งไกลกว่าจึงมาถึงก่อน เวสวัณเทพบุตรมาภายหลัง และอุบาสกนี้ก็อยู่ในนครเดียวกันมาทีหลังเขาทั้งหมด. ก็อุบาสกนั้นได้รู้การมาของเทวดาเหล่านั้นได้อย่างไร จะได้กล่าวให้ทราบต่อไป.
               ได้ยินว่า ในครั้งนั้นเวสวัณเทพบุตรขึ้นบัลลังก์แก้วประพาฬตั้งหลายพัน มีนารีเป็นพาหนะถึง ๑๒ โยชน์อันยักษ์หมื่นโกฏิชูกระบองแก้วประพาฬแวดล้อม ดำริว่า จักทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบังคับวิมานซึ่งตั้งอยู่บนอากาศ ลงมาตามถนนพื้นดิน บรรลุถึงส่วนบนของที่อยู่ของนันทมาตาอุบาสิกา ในเวฬุกัณฑกนคร.
               นี่เป็นอานุภาพของอุบาสิกา.
               อุบาสิกาเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เว้นบริโภคอาหารในเวลาวิกาลเป็นนิจ ทรงพระไตรปิฎก ตั้งอยู่ในอนาคามิผล. ขณะนั้น นางแง้มหน้าต่างยืนอยู่ใกล้ช่องลมผ่านเพื่อรับอากาศ แล้วสาธยายปารายนวรรค ในอัฏฐกนิบาตด้วยเสียงอันไพเราะด้วยบทและพยัญชนะอันกลมกล่อม.
               เวสวัณเทพบุตรหยุดยาน ณ ที่นั้นเองได้ยินเสียงทั้งหมด ตั้งแต่อุบาสิกาได้สาธยายบทสรุปว่า อิทมโวจ ภควา มคเธสุ วิหรนฺโต ปาสาณเก เจติเย ปริจารกโสฬสนฺนํ พฺราหฺมณานํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ใกล้แคว้นมคธได้ตรัสพระสูตรนี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นอุปัฏฐาก ๑๖ คน เมื่อจบวรรคสุดท้ายได้ประคองอัญชลีเช่นกับกลองทองซ้องสาธุการว่า สาธุ สาธุ น้องหญิง.
               นางถามว่า ใครอยู่ที่นั่น.
               เวสวัณเทพบุตรตอบว่า เรา เวสวัณเทพบุตร น้องหญิง.
               นัยว่า อุบาสิกาได้เป็นโสดาบันก่อน เวสวัณได้เป็นภายหลัง. เวสวัณเทพบุตรนั้นร้องเรียกอุบาสิกานั้นด้วยวาทะว่า น้องหญิง หมายถึงความเป็นผู้ร่วมท้องกันมา. โดยธรรมดา อุบาสิกากล่าวว่า พี่ชายผู้มีหน้าอันเจริญ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว.
               เวสวัณกล่าวว่า น้องหญิง เราเลื่อมใสท่าน เราขอแสดงอาการเลื่อมใสท่าน. อุบาสิกากล่าวว่า ท่านผู้มีหน้าอันเจริญ ถ้าเช่นนั้น พวกกรรมกรไม่สามารถนำข้าวสาลีที่เก็บเกี่ยวได้แล้วมาได้ ขอให้ท่านสั่งบริษัทของท่านให้นำมาเถิด. เวสวัณรับว่า ดีแล้วน้องหญิง จึงสั่งพวกยักษ์. พวกยักษ์นำข้าวสาลีใส่ฉาง ๑,๓๕๐ ฉางจนเต็ม ตั้งแต่นั้นมาฉางก็มิได้พร่องเลย จึงได้เป็นแบบอย่างขึ้นในโลกว่า เหมือนฉางของนันทมารดา.
               เวสวัณเทพบุตรใส่ข้าวสาลีจนเต็มฉาง แล้วก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านมาผิดเวลา จึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ ด้วยเหตุนี้ เวสวัณเทพบุตรอยู่ในภพจาตุมมหาราชิกาแม้ใกล้จึงมาถึงภายหลัง. ส่วนเอราวัณเทพบุตรไม่มีกิจไรๆ ที่จะต้องทำในระหว่าง ฉะนั้น เอราวัณเทพบุตรจึงมาก่อน.
               ส่วนอุบาสกนี้เป็นอนาคามี ตามปรกติบริโภคอาหารมื้อเดียวก็จริง ถึงดังนั้นขณะนั้นเป็นวันอุโบสถ เขาจึงต้องอธิษฐานองค์อุโบสถตอนเย็นนุ่งห่มผ้าอย่างดี แวดล้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ ไปยังพระเชตวันสดับพระธรรมเทศนาแล้ว มาเรือนของตน บอกธรรมของอุบาสกมีสรณะ ศีลและอานิสงส์ของอุโบสถเป็นต้นของตนแก่อุบาสกเหล่านั้น แล้วจึงกลับ
               ที่เรือนของอุบาสกเหล่านั้นและของธรรมิกอุบาสก มีเตียงที่เป็นกัปปิยะ ๕๐๐ เตียง มีเท้าประมาณศอกกำตั้งไว้ในห้องเฉพาะตน. อุบาสกเหล่านั้นเข้าห้องของตนๆ นั่งเข้าสมาบัติ แม้ธรรมิกอุบาสกก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน ก็สมัยนั้นในกรุงสาวัตถีมีตระกูลห้าล้านเจ็ดแสนอาศัยอยู่ เมื่อนับจำนวนคนก็มี ๑๘ โกฏิ ด้วยเหตุนั้นในปฐมยาม กรุงสาวัตถีมีเสียงช้างม้าคนและกลองเป็นต้น เป็นเสียงเดียวกันดุจมหาสมุทร ในระหว่างมัชฌิมยาม เสียงนั้นก็สงบลง.
               ในกาลนั้น อุบาสกออกจากสมาบัติ รำลึกถึงคุณความดีของตนแล้วคิดว่า เราอยู่เป็นสุขด้วยมรรคสุขผลสุขอันใด สุขนี้เราได้เพราะอาศัยใคร รู้ว่าเพราะอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า รำพึงต่อไปว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ไหน เห็นเอราวัณเทพบุตรและเวสวัณเทพบุตรด้วยทิพยจักษุ แล้วฟังพระธรรมเทศนาด้วยทิพยโสต ทราบว่าเทพบุตรทั้งสองเหล่านั้นมีจิตเลื่อมใส ด้วยเจโตปริยญาณ จึงคิดว่า ถ้ากระไรแม้เราก็ควรจะถามปฏิปทาอันเป็นประโยชน์ทั้งสองกะพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น อุบาสกนั้นแม้อยู่ในนครเดียวกันก็มาถึงทีหลัง ทั้งได้รู้การมาของเทพบุตรเหล่านั้นด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ธรรมิกอุบาสกจึงกล่าวว่า อคจฺฉิ เต สนฺติเก นาคราชา ฯเปฯ โส จาปิ สุตฺวาน ปตีตรูโป พญาช้างได้ไปในสำนักของพระองค์ ฯลฯ พญาช้างนั้นได้ฟังแล้วก็ซ้องสาธุการชื่นชม.
               บัดนี้ ธรรมิกอุบาสกเมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เลอเลิศขึ้นไปกว่าสมณพราหมณ์ที่โลกสมมติในภายนอกศาสนานี้ จึงกล่าวสองคาถาว่า เย เกจิเม ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ติตฺถิยา ได้แก่ ชนทั้งหลายผู้เกิดในลัทธินอกพระศาสนาซึ่งเจ้าลัทธิ ๓ คือ นันทะ วัจฉะและสังกิจฉะเป็นผู้ตั้งขึ้น ศาสดาทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปเป็นต้นบวชแล้วในศาสนาของเจ้าลัทธิเหล่านั้น ในศาสดาทั้ง ๖ นั้น นิครนถ์นาฏบุตรอาชีวกนอกนั้น.
               ธรรมิกอุบาสก เมื่อจะแสดงถึงคนทั้งหมดเหล่านั้น จึงกล่าวว่า เย เกจิเม วาทสีลา แปลว่า บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้มีปรกติกระทำวาทะ ดังนี้. พวกเจ้าลัทธิมีปรกติทำวาทะอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ผู้อื่นปฏิบัติผิด เที่ยวพูดทิ่มแทงชาวโลกด้วยหอกคือปาก.
               บทว่า อาชีวกา วา ได้แก่ ธรรมิกอุบาสกแสดงทำลายทิฏฐิที่ตนยกขึ้นแสดงรวมกันของบุคคลเหล่านั้น.
               บทว่า นาติตรนฺติ คือ ไม่เดิน. บทว่า สพฺเพ ความว่า ธรรมิกอุบาสกกล่าวรวมถึงสาวกเดียรถีย์เป็นต้นเหล่าอื่นด้วย.
               บทว่า ฐิโต วชนฺตํ วิย ความว่า เหมือนคนอ่อนแอยืนอยู่กับที่ไม่พึงเกินคนเดินเร็ว ซึ่งกำลังเดินอยู่ได้ฉันใด ชนทั้งหลายเหล่านั้นเพราะไม่มีคติคือปัญญาหยุดอยู่ ไม่สามารถจะรู้ประเภทของเนื้อความนั้นๆ ได้ ย่อมไม่เกินพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระปัญญาไวยิ่งนักฉันนั้น.
               บทว่า พฺราหฺมณา วาทสีลา วุฑฺฒา วา ธรรมิกอุบาสกแสดงถึงจังกีพราหมณ์ ตารุกพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์เป็นต้นด้วยคำเพียงเท่านี้.
               ด้วยบทนี้ว่า อปิ พฺราหฺมณา สนฺติ เกจิ ได้แก่ พวกพราหมณ์กลางคนบ้าง หนุ่มบ้างอย่างเดียวมีอยู่. ธรรมิกอุบาสกแสดงถึงอัสสลายนมาณพ วาเสฏฐมาณพ อัมพัฏฐมาณพ และอุตตรมาณพเป็นต้น ด้วยบทว่า เกจิ.
               บทว่า อตฺถพทฺธา ได้แก่ ชนทั้งหลายเป็นผู้เนื่องด้วยประโยชน์ คือเป็นผู้ผูกพันด้วยประโยชน์อย่างที่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงพยากรณ์ปัญหานี้ คือแก้ความสงสัยนี้ได้บ้างไหมหนอ.
               บทว่า เย จาปิ อญฺเญ ธรรมิกอุบาสกแสดงว่า ชนเหล่าใดแม้อื่นเที่ยวสำคัญอยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีวาทะ ชนเหล่านั้นทั้งหมดนับไม่ถ้วนมีกษัตริย์ บัณฑิต พราหมณ์ พรหม เทวดาและยักษ์เป็นต้น เป็นผู้เนื่องด้วยประโยชน์ในพระองค์.
               ธรรมิกอุบาสกสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยประการต่างๆ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะสรรเสริญพระองค์โดยธรรม จึงวิงวอนขอธรรมกถา กล่าวสองคาถาว่า อยญฺหิ ธมฺโม ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อยญฺหิ ธมฺโม ธรรมิกอุบาสกกล่าวหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ. บทว่า นิปุโณ ได้แก่ ธรรมที่ละเอียด คือตรัสรู้ได้ยาก.
               บทว่า สุโข คือ เป็นธรรมที่เข้าใจได้ตลอด นำโลกุตรสุขมาให้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสุโข เพราะนำความสุขมาให้. บทว่า สุปฺปวุตฺโต คือ อันพระองค์ตรัสดีแล้ว.
               บทว่า สุสฺสูสมานา ความว่า พวกข้าพระองค์ประสงค์จะฟัง. บทว่า ตํ โน วท ได้แก่ ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด. บาลีว่า ตฺวํ โน บ้าง ความว่า ขอพระองค์จงตรัสแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด.
               บทว่า สพฺเพปิเม ภิกฺขโว ความว่า นัยว่า ในขณะนั้นภิกษุ ๕๐๐ รูปนั่งอยู่แล้ว. ธรรมิกอุบาสิกเมื่อจะแสดงถึงภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น จึงทูลวิงวอน.
               บทว่า อุปาสกา จาปิ ความว่า ธรรมิกอุบาสกแสดงถึงบริวารของตนและคนอื่นๆ.
               บทที่เหลือในที่นี้ชัดเจนแล้ว.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทาของนักบวชก่อน ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว จึงตรัสคำมีอาทิว่า สุณาถ เม ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเราดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ธุตํ ตญฺจ จรถ สพฺเพ ความว่า ธรรมชื่อว่าธุตะ เพราะกำจัดกิเลสทั้งหลาย เราจะยังเธอทั้งหลายให้ฟังธรรมปฏิปทาอันกำจัดกิเลสเห็นปานนี้ และเธอทั้งปวงจงประพฤติ คือปฏิบัติธรรมที่เราประกาศแล้ว. อธิบายว่า พวกเธออย่าประมาท ดังนี้.
               บทว่า อิริยาปถํ ได้แก่ อิริยาบถ ๔ มีการเดินเป็นต้น.
               บทว่า ปพฺพชิตานุโลมิกํ ได้แก่ อิริยาบถอันสมควรแก่สมณะ คือประกอบด้วยสติสัมชัญญะ. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า อิริยาบถอันเป็นไปด้วยการบำเพ็ญกรรมฐานในป่า.
               บทว่า เสเวถ นํ คือ พึงเสพอิริยาบถนั้น. บทว่า อตฺถทสฺสี คือ ผู้เห็นประโยชน์เกื้อกูล. บทว่า มติมา คือ มีความคิด.
               บทที่เหลือปรากฏชัดแล้วในคาถานี้.
               บทว่า โน เว วิกาเล ความว่า ภิกษุเสพอิริยาบถสมควรแก่บรรพชิตอย่างนี้ ไม่ควรเที่ยวไปในเวลาวิกาล หมายถึงเลยเที่ยงวันไป แต่ควรเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้านในกาลอันสมควร.
               บทว่า อกาลจารึ หิ สชนฺติ สงฺคา ความว่า ธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งหลายไม่น้อยมีข้องด้วยราคะเป็นต้น ย่อมข้องคือเกี่ยวข้อง เข้าไปจับติดบุคคลผู้เที่ยวไปในกาลอันไม่สมควร. เพราะเหตุนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่เที่ยวไปในเวลาวิกาล ฉะนั้น พระอริยบุคคลผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ย่อมไม่เที่ยวบิณฑบาตในเวลาวิกาล.
               นัยว่า สมัยนั้นยังมิได้บัญญัติวิกาลโภชนสิกขาบท เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงโทษของปุถุชนทั้งหลายในข้อนี้ด้วยธรรมเทศนา จึงตรัสคาถานี้.
               แต่พระอริยะทั้งหลายเป็นผู้เว้นจากการเที่ยวไปในเวลาวิกาลนั้นพร้อมกับการได้มรรคทีเดียว. นี้เป็นธรรมดา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงห้ามการเที่ยวไปในเวลาวิกาลอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า แม้ภิกษุเที่ยวไปในกาลก็ควรประพฤติอย่างนี้ดังนี้ จึงตรัสว่า รูปา จ สทฺทา จ ดังนี้.
               คาถานั้นมีอธิบายดังนี้
               รูปเป็นต้นเหล่าใดยังความมัวเมามีประการต่างๆ ให้เกิด ยังสัตว์ทั้งหลายให้มัวเมา ภิกษุพึงกำจัดเสียซึ่งความพอใจในรูปเป็นต้นเหล่านั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในปิณฑจาริตปาริสุทธิสูตร๓- เป็นต้น พึงเข้าไปบริโภคอาหารในเวลาเช้า โดยกาลอันสมควร.
               อนึ่ง ชื่อว่า ปาตราโส เพราะพึงบริโภคในเวลาเช้า.
               บทนี้เป็นชื่อของบิณฑบาต. ในบทนี้ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุนั้นได้บิณฑบาตในถิ่นใด แม้ถิ่นนั้นก็ชื่อว่า ปาตราสะ เพราะความขวนขวายนั้น. ในบทนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้ว่า ภิกษุพึงเข้าไปยังโอกาสที่จะได้บิณฑบาต.
____________________________
๓- บาลีเป็น ปิณฑปาตปาริสุทธิสูตร ม. อุปริ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๘๓๗

               บทว่า เอวํ ปวิฏฺโฐ ปิณฺฑญฺจ ภิกฺขุ ฯเปฯ สงฺคหิตตฺตภาโว ความว่า อนึ่ง ภิกษุได้บิณฑบาตแล้วตามสมัย พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว ฯลฯ ภิกษุผู้สงเคราะห์อัตภาพแล้ว.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปิณฺฑํ ได้แก่ ภิกษามีภัตปนกัน. ภิกษานั้น ท่านเรียกว่า ปิณฑะ เพราะอรรถว่าสำรวมจากของนั้นๆ แล้วนำมาคลุกกัน.
               บทว่า สมเยน ได้แก่ ภายในเที่ยงวัน. บทว่า เอโก ปฏิกฺกมฺม คือ ให้เกิดกายวิเวก กลับไปนั่งไม่มีเพื่อน. บทว่า อชฺฌตฺตจินฺตี ได้แก่ คิดถึงขันธสันดานยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์.
               บทว่า น มโน พหิทฺธา นิจฺฉารเย ไม่พึงส่งใจไปในภายนอก ความว่า ไม่พึงนำจิตไปในรูปเป็นต้นในภายนอกด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า สงฺคหิตตฺตภาโว ได้แก่ มีจิตยึดมั่นไว้ด้วยดี.
               บทว่า เอวํ วิหรนฺโต จ สเจปิ โส ฯเปฯ ปรูปวาทํ ความว่า หากภิกษุนั้นอยู่อย่างนี้พึงเจรจากับสาวกอื่น หรือกับภิกษุไรๆ ภิกษุนั้นพึงกล่าวธรรมอันประณีต ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียด ทั้งไม่พึงกล่าวคำติเตียนผู้อื่น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ท่านอธิบายว่า พระโยคาวจรนั้นหากพึงเจรจากับสาวกผู้เข้าไปหาเพื่อประสงค์จะฟังอะไรๆ ก็ดี กับคฤหัสถ์ผู้เป็นอัญญเดียรดีย์ไรๆ ก็ดี กับภิกษุผู้บวชแล้วในศาสนานี้ก็ดี พึงกล่าวธรรมอันประณีต ไม่ทำให้เขาเดือดร้อน ประกอบด้วยมรรคผลเป็นต้น หรือกถาวัตถุ ๑๐ ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียดอื่นๆ หรือกล่าวคำติเตียนผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงโทษในการกล่าวคำติเตียนผู้อื่นนั้น จึงตรัสว่า วาทญฺหิ เอเก บุคคลบางพวกย่อมประถ้อยคำกัน ดังนี้.
               บทนั้นมีอธิบายดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ย่อมประ คือโต้วาทะอันเป็นถ้อยคำทำให้เกิดวิวาทกันนานาประการ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นคำติเตียนผู้อื่น ต้องการจะต่อสู้กัน ดุจประจัญหน้ากับนักรบ เราไม่สรรเสริญบุคคลเหล่านั้นผู้มีปัญญาทราม เพราะเหตุใด เพราะความเกี่ยวข้องทั้งหลายย่อมข้องบุคคลเหล่านั้น เพราะถ้อยคำนั้นๆ คือความเกี่ยวข้องด้วยการวิวาทเกิดขึ้นจากคลองแห่งคำนั้นๆ ย่อมข้องคือติดแน่นบุคคลเช่นนั้นไว้ เพราะคนเหล่านั้นเมื่อประคารมกัน ย่อมส่งจิตไปในคารมนั้น จิตย่อมไปไกลจากสมถะและวิปัสสนา ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงถึงความเป็นไปของผู้มีปัญญาน้อยแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงความเป็นไปของผู้มีปัญญามาก จึงตรัสว่า ปิณฺฑํ วิหารํ ฯเปฯ วรปญฺญสาวโก ความว่า สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตแสดงแล้ว พิจารณาบิณฑบาต ที่อยู่ ที่นอน ที่นั่ง น้ำและการซักผ้าสังฆาฏิแล้วพึงเสพ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น ท่านกล่าวถึงเสนาสนะอย่างเดียวด้วยสามบท คือด้วยวิหารคือที่อยู่ ด้วยที่นอนคือเตียง ด้วยที่นั่งคือตั่ง.
               บทว่า อาปํ คือ น้ำ. บทว่า สงฺฆาฏิรชูปวาหนํ ได้แก่ ซักธุลีผ้าสังฆาฏิมีฝุ่นและมลทินเป็นต้น.
               บทว่า สุตฺวาน ธมฺมํ สุคเตน เทสิตํ ความว่า ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า๔- ในการสังวรอาสวะทั้งปวงเป็นต้น ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย เสพจีวรเพื่อกำจัดความหนาว.
               บทว่า สงฺขาย เสเว วรปญฺญาสาวโก สาวกผู้มีปัญญาดีพิจารณาแล้วพึงเสพ ความว่า
               สาวกผู้มีปัญญาพิจารณาปัจจัยแม้ ๔ อย่าง คือ
                         บิณฑบาต ที่ท่านกล่าวว่าบิณฑะในที่นี้ ๑
                         เสนาสนะ ที่ท่านกล่าวด้วยวิหารศัพท์เป็นต้น ๑
                         คิลานปัจจัย ที่ท่านแสดงด้วยอาปศัพท์ ๑
                         จีวร ที่ท่านกล่าวด้วยสังฆาฎิศัพท์ ๑
               คือ พิจารณาโดยนัยมีอาทิว่า๔- ยาวเทว อิมสฺส กายสฺส ฐิติยา เพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งกายนี้เท่านั้นแล้วพึงเสพ. สาวกของพระตถาคตผู้มีปัญญาดี ทั้งที่เป็นเสกขะ ทั้งที่เป็นปุถุชน ทั้งที่เป็นพระอรหันต์โดยตรง พึงสามารถเสพได้.
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๔

               จริงอยู่ ท่านกล่าวถึง อปัสเสนธรรม๕- คือธรรมเป็นที่พึ่งพิง ๔ อย่าง คือ พิจารณาแล้วจึงเสพ ๑ พิจารณาแล้วจึงอาศัย ๑ พิจารณาแล้วจึงเว้น ๑ พิจารณาแล้วจึงบรรเทา ๑. เพราะสาวกผู้มีปัญญาดีพิจารณาแล้วพึงเสพ ฉะนั้นแล
____________________________
๕- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๓๖

               พึงทราบว่า ภิกษุไม่ติดแล้วในธรรมเหล่านี้ คือ บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระขีณาสพอย่างนี้ ยังการปฏิบัติของนักบวชให้จบลงด้วยยอดคือพระอรหัตแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า คหฏฺฐวตฺตํ ปน โว เราจะบอกวัตรแห่งคฤหัสถ์แก่เธอทั้งหลาย ดังนี้.
               ในคาถาเหล่านั้นพึงทราบวินิจฉัยในคาถาต้นก่อน.
               บทว่า สาวโก ได้แก่ สาวกผู้ครองเรือน.
               บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.
               แต่โยชนาแก้ว่า สาวกไม่พึงได้เพื่อจะถูกต้อง คือไม่อาจเพื่อบรรลุธรรมของภิกษุที่เรา (ตถาคต) กล่าวไว้ก่อนจากนี้ล้วน คือไม่มีอามิส บริบูรณ์สิ้นเชิงด้วยอาการที่มีความหวงแหนด้วยความหวงนาและไร่เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธธรรมของภิกษุแก่สาวกผู้ครองเรือนนั้น เมื่อจะทรงแสดงธรรมของคฤหัสถ์เท่านั้น จึงตรัสว่า ปาณํ น หเน ไม่พึงฆ่าสัตว์ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               ท่านกล่าวการเว้นจากการฆ่าสัตว์ อันเป็นความบริสุทธิ์ชั้นยอดด้วยกึ่งคาถาต้น การปฏิบัติประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลายด้วยกึ่งคาถาหลัง. ท่านพรรณนาบทที่ ๓ ไว้ในขัคควิสาณสูตรในสุตตนิบาตนี้
               ในบาทที่ ๔ ท่านพรรณนาประเภทของสัตว์ที่มั่นคงและที่สะดุ้งไว้ในอรรถกถาเมตตสูตรครบทุกประการ.
____________________________
๖- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๖
๗- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๐๘

               บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.
               พึงประกอบนอกลำดับว่า สาวกผู้ครองเรือนวางอาชญาในหมู่สัตว์ทั้งที่มั่นคง ทั้งที่หวาดสะดุ้ง ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า.
               อีกอย่างหนึ่ง นอกจากบทว่า นิธาย ทณฺฑํ นี้ควรนำปาฐะที่เหลือมาใช้ว่า วตฺเตยฺย พึงเป็นไป ดังนี้. นอกจากนี้ไม่ควรเชื่อมบทหลังด้วยบทต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงสิกขาบทต้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงสิกขาบทที่สอง จึงตรัสว่า ตโต อทินฺนํ พึงเว้นจากสิ่งที่เขาไม่ให้อะไรๆ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า กิญฺจิ คือ ของน้อยก็ดี ของมากก็ดี. บทว่า กฺจจิ คือ ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดี. บทว่า สาวโก ได้แก่ สาวกผู้ครองเรือน. บทว่า พุชฺฌมาโน คือรู้อยู่ว่านี้เป็นของของคนอื่น. บทว่า สพฺพํ อทินฺนํ ปริวชฺเชยฺย คือ เมื่อเว้นอยู่อย่างนี้พึงเว้นสิ่งทั้งหมดที่เขาไม่ให้ ท่านชี้แจงว่า ไม่เว้นโดยวิธีอย่างอื่น.
               บทที่เหลือในข้อนี้มีนัยดังกล่าวแล้ว และปรากฏชัดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงแม้สิกขาบทที่สองชัดเจนดีแล้วอย่างนี้ เมื่อจะทรงแสดงสิกขาบทที่สามตั้งข้อกำหนดให้ยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า อพฺรหฺมจริยํ พึงเว้นอพรหมจรรย์ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อสมฺภุณนฺโต คือ ไม่สามารถ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงสิกขาบทที่สี่ จึงตรัสว่า สภคฺคโต วา คือ อยู่ในที่ประชุมเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สภคฺคโต ได้แก่ ไปสู่สันถาคารเป็นต้น. บทว่า ปริสคฺคโต คือ อยู่ในท่ามกลางประชุมชน.
               บทที่เหลือในข้อนี้มีนัยดังกล่าวแล้ว และปรากฏชัดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงแม้สิกขาบทที่สี่ชัดเจนดีแล้ว เมื่อจะทรงแสดงสิกขาบทที่ห้า จึงตรัสว่า มชฺชญฺจ ปานํ พึงเว้นการดื่มน้ำเมาดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มชฺชญฺจ ปานํ ท่านกล่าวอย่างนี้เพื่อสะดวกในการแต่คาถา. แต่มีใจความ มชฺชปานญฺจ สมาจเรยฺย ไม่พึงดื่มน้ำเมา.
               บทว่า ธมฺมํ อิทํ ได้แก่ ธรรมคือเว้นจากการดื่มน้ำเมา. บทว่า อุมฺมาทนนฺตํ คือ การดื่มน้ำเมานั้นมีความบ้าเป็นที่สุด. เพราะว่า ผลของการดื่มน้ำเมาอย่างเบาเมื่อเป็นมนุษย์ ก็เป็นบ้า. บทว่า อิติ นํ วิทิตฺวา คือ รู้ชัดการดื่มน้ำเมานั้น.
               บทที่เหลือในข้อนี้มีนัยดังกล่าวแล้ว และปรากฏชัดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแม้สิกขาบทที่ห้าให้บริสุทธิ์ชัดเจนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงการดื่มน้ำเมาแห่งสิกขาบทก่อนว่าเป็นการทำความเศร้าหมองและก่อเวร ทรงชักชวนในการเว้นจากการดื่มน้ำเมานั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้นจึงตรัสว่า มทา หิ ปาปานิ กโรนฺติ เพราะคนพาลทั้งหลายย่อมกระทำบาป เพราะความเมาดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มทา คือเพราะเหตุแห่งความเมา. หิ เป็นนิบาตเพียงทำบทให้เต็ม. บทว่า อุมฺมาทนํ โมหนํ ได้แก่ ความบ้าในโลกหน้า ความหลงในโลกนี้.
               บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงนิจศีลของสาวกผู้ครองเรือนด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงองค์แห่งอุโบสถ จึงตรัสสองคาถาว่า ปาณํ น หเน บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อพฺรหฺมจริยา ได้แก่ ประพฤติธรรมไม่ประเสริฐ. บทว่า เมถุนา คือพึงเว้นจากการเข้าถึงเมถุนธรรม.
               บทว่า รตฺตึ น ภุญฺเชยฺย วิกาลโภชนํ ได้แก่ ไม่พึงบริโภคแม้ในกลางคืน ไม่พึงบริโภคโภชนะล่วงกาลแม้ในกลางวัน. แม้แป้งสำหรับลูบไล้ พึงทราบว่า ท่านถือเอาด้วยคันธศัพท์ในบทว่า น จ คนฺธํ นี้.
               บทว่า มญฺเจ คือเตียงที่เป็นกัปปิยะ.
               บทว่า สนฺถเต ได้แก่ บนพื้นที่เขาลาดแล้วด้วยเครื่องลาดอันเป็นกัปปิยะ มีเสื่อผืนเล็กเป็นต้น. แม้ลาดด้วยเครื่องลาดมีพรมทำด้วยขนแกะเป็นต้นบนแผ่นดินก็ควร.
               บทว่า อฏฺฐงฺคิกํ คือไม่พ้นองค์ ๘ ดุจดนตรีมีองค์ ๕.
               บทว่า ทุกฺขนฺตคุนา คือ พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในวัฏฏะ.
               บทที่เหลือในข้อนี้ปรากฏชัดดีแล้ว.
               พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า ก็กึ่งคาถาหลัง พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้แล้วบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงองค์แห่งอุโบสถอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงกาลแห่งอุโบสถ จึงตรัสว่า ตโต จ ปกฺขสฺส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตโต เป็นนิบาตเพียงทำบทให้บริบูรณ์. พึงประกอบด้วยบทอื่นอย่างนี้ว่า ปกฺขสสุปวสฺสุโปสถํ ความว่า พึงเข้าจำอุโบสถทุก ๓ วันเหล่านี้คือ ตลอด ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ พึงเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล.
               ก็ในบทว่า ปาฏิหาริกปกฺขญฺจ นี้ ห้าเดือนเหล่านี้คือ (อาสาฬหะ) เดือน ๘ ต้นใกล้วันเข้าพรรษาสามเดือนในพรรษา และเดือน ๑๒ ท่านเรียกว่าปาฏิหาริยปักษ์. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่าปาฏิหาริยปักษ์ มีสามเดือนเท่านั้นคือเดือน ๘ เดือน ๑๒ และเดือน ๔. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่ามี ๔ วัน คือ ๑๓ ค่ำ ๑ ค่ำ ๗ ค่ำ และ ๙ ค่ำในทุกๆ ปักษ์ โดยวันก่อนและวันหลังของวันอุโบสถแห่งปักษ์. ชอบอย่างใดก็พึงถือเอาอย่างนั้น. อันผู้ใคร่บุญพึงทำได้ทุกอย่าง พึงผูกใจไว้ว่า ผู้มีใจเลื่อมใสปาฏิหาริยปักษ์นี้ด้วยประการฉะนี้ ไม่เว้นแม้แต่วันเดียว เข้าถึงองค์ ๘ ทำให้สมบูรณ์ด้วยดี บริบูรณ์ด้วยดี พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกาลแห่งอุโบสถอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงกิจ ที่ผู้เข้าจำอุโบสถนั้นในกาลเหล่านั้นควรกระทำ จึงตรัสว่า ตโต จ ปาโต ดังนี้.
               บทว่า ตโต แม้ในบทนี้ก็เป็นนิบาตเพียงทำบทให้เต็ม หรือลงในอรรถไม่มีระหว่าง. ท่านอธิบายว่า ได้แก่ อถ แปลว่า ครั้งนั้น. บทว่า ปาโต ได้แก่ ส่วนเบื้องต้นของวันอื่น. บทว่า อุปวุฏฺฐุโปสโถ ได้แก่ เข้าจำอุโบสถ. บทว่า อนฺเนน ได้แก่ ข้าวยาคูและภัตรเป็นต้น. บทว่า ปาเนน คือ น้ำปานะ ๘ อย่าง. บทว่า อนุโมทมาโน ได้แก่ ชื่นชมยินดีอยู่เนืองๆ. อธิบายว่า ชื่นชมตลอดกาล. บทว่า ยถารหํ คือ สมควรแก่ตน ท่านอธิบายว่า ตามความสามารถ ตามกำลัง. บทว่า สํวิภเชถ คือ พึงแจกจ่าย คือพึงบูชา.
               บทที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงกิจของผู้เข้าจำอุโบสถอย่างนี้แล้ว บัดนี้ตรัสถึงครุวัตร (การเคารพ) และอาชีวปาริสุทธิศีล เมื่อจะทรงแสดงถึงฐานะที่ควรถึงด้วยปฏิปทานั้น จึงตรัสว่า ธมฺเมน มาตาปิตโร พึงเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน ได้แก่ ด้วยโภคสมบัติที่ได้มาโดยชอบธรรม.
               บทว่า ภเรยฺย ได้แก่ พึงเลี้ยง.
               บทว่า ธมฺมิกํโส วณิชฺชํ พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรมดังนี้ คือเว้นการค้าอันไม่เป็นธรรม ๕ อย่างเหล่านี้ คือ ค้าสัตว์เป็น ๑ ค้าศัสตรา ๑ ค้าเนื้อสัตว์ ๑ ค้าสุรา ๑ ค้ายาพิษ ๑ ค้าขายสิ่งอันเป็นธรรมที่เหลือ. ก็โดยหลักของการค้าในที่นี้ ท่านมุ่งถึงการค้าที่เป็นธรรมแม้อื่น เช่นกสิกรรมและโครักขกรรม.
               บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.
               แต่โยชนาแก้ว่า อริยสาวกใดประกอบด้วยธรรม คือนิจศีล อุโบสถศีลและทาน พึงประกอบการค้าอันชอบธรรม เลี้ยงดูมารดาบิดาด้วยโภคสมบัติอันได้มาโดยธรรม เพราะได้มาจากการค้าอันไม่ปราศจากธรรม ครั้นอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ประมาทแล้วอย่างนี้ บำเพ็ญวัตรนี้ดังที่กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้น เมื่อกายแตกดับ ผู้ใดกำจัดความมืดด้วยรัศมีของตน เป็นเทพชั้นกามาพจร ๖ ชั้นมีชื่อว่า สยัมปภา เพราะทำแสงสว่าง ผู้นั้นย่อมเข้าถึง คือย่อมคบ ย่อมติดต่อเทวดา ชื่อว่าสยัมปภา ย่อมบังเกิดในที่ที่เทวดาเหล่านั้นเกิดด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาธรรมิกสูตรที่ ๑๔               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถโชติกา               
               จบวรรคที่ ๒ ชื่อจูฬวรรค               
               แห่งอรรถกถาสุตตนิบาต ชื่อปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้คือ
                         ๑. รัตนสูตร
                         ๒. อามคันธสูตร
                         ๓. หิริสูตร
                         ๔. มงคลสูตร
                         ๕. สูจิโลมสูตร
                         ๖. ธรรมจริยสูตร
                         ๗. พราหมณธรรมิกสูตร
                         ๘. นาวาสูตร
                         ๙. กิงสีลสูตร
                         ๑๐. อุฏฐานสูตร
                         ๑๑. ราหุลสูตร
                         ๑๒. วังคีสสูตร
                         ๑๓. สัมมาปริพพาชนิยสูตร
                         ๑๔. ธรรมิกสูตร.
               ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระสูตร ๑๔ สูตรว่าจูฬวรรคแล.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค ธรรมิกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 331อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 332อ่านอรรถกถา 25 / 354อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=8275&Z=8387
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=4213
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=4213
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :