ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 310อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 25 / 313อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
วิชยสูตร

               อรรถกถาวิชยสูตร               
               วิชยสูตร (นันทสูตร) เริ่มต้นด้วยคาถาว่า จรํ วา ยทิวา ติฏฺฐํ ดังนี้
               เรียกว่า กายวิจฉันทนิกสูตร ดังนี้บ้าง.
               มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า สูตรนี้ตรัสไว้ในฐานะ ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น วิชยสูตรนั้นจึงมีอุบัติ ๒ อย่าง.
               ในสูตรนั้น สตรีที่มีชื่อว่า นันทา มี ๓ นางคือนันทา ผู้เป็นน้องสาวของพระอานนทเถระ๑- อภิรูปนันทา พระธิดาของพระเจ้าเขมกศากยะ. นันทาผู้ชนบทกัลยาณีบรรพชาแล้วด้วยบรรพชาสำหรับมาตุคามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์โดยลำดับ ทรงแนะนำเจ้าศากยะทั้งหลาย ทรงให้สตรีทั้งหลายมีนางนันทาเป็นต้นบรรพชาอนุญาตแล้ว.
____________________________
๑- ยุ. นนฺทตฺเถรสฺส.

               ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางอภิรูปนันทามีรูปสวยยิ่งนัก น่าดู น่าเลื่อมใส ด้วยเหตุนั้น ญาติทั้งหลายจึงตั้งชื่อนางว่า อภิรูปนันทา. ฝ่ายนางนันทาผู้ชนบทกัลยาณีไม่เห็นสตรีที่มีรูปสวยเสมอกับตน. นางทั้งสองนั้นเมาแล้วด้วยความเมาในรูป คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงติเตียน ทรงครหารูป ทรงแสดงโทษในรูปโดยอเนกปริยาย จึงไม่ไปสู่ที่บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งไม่ปรารถนาเพื่อจะเห็น.
               หากจะมีคำถามว่า นางไม่เลื่อมใสอย่างนี้ เพราะเหตุไร จึงบรรพชาเล่า?
               ตอบว่า สัจจกุมารผู้เป็นสามีของนางอภิรูปนันทาได้ทำกาละโดยปกติ ในวันหมั้นนั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น มารดาและบิดาจึงให้นางผู้ไม่ประสงค์บรรพชา.
               ฝ่ายนางนันทาผู้ชนบทกัลยาณี เมื่อท่านพระนันทะบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็หมดความหวังว่าสามีของเรา. มหาปชาบดีพระมารดาและพระญาติอื่นๆ บรรพชาแล้ว นางเว้นจากพระญาติทั้งหลาย เมื่อไม่ได้ความสำราญใจในฆราวาสอันเป็นทุกข์จึงบรรพชา หาบรรพชาด้วยศรัทธาไม่.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ความแก่รอบแห่งญาณของนางทั้งสองนั้น จึงตรัสสั่งพระนางมหาปชาบดีว่า ภิกษุณีแม้ทั้งหมดจงมารับโอวาทตามลำดับ นางทั้งสองนั้น เมื่อถึงวาระของตน ก็สั่งภิกษุณีอื่นไปแทน. แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อถึงวาระตนเท่านั้นพึงมา ไม่พึงส่งภิกษุณีอื่นไปแทน. อยู่มาวันหนึ่ง นางอภิรูปนันทาได้ไปรับโอวาท พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยังนางให้สลดใจด้วยรูปที่ทรงเนรมิต ให้ตั้งอยู่ในพระอรหัตโดยลำดับ ด้วยคาถาในธรรมบทนี้ว่า กระทำสรีระให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย
               และด้วยเถรีคาถาเหล่านี้ว่า
                                   ดูก่อนนันทา เจ้าจงดูร่างกายอันอาดูร
                         ไม่สะอาด เปื่อยเน่า อันกระดูกยกขึ้น ไหลเข้า
                         ไหลออก ที่พวกคนพาลปรารถนายิ่งนัก
                         เจ้าจงเจริญอสุภนิมิต และจงละมานานุสัยเสีย
                         ต่อแต่นั้น เพราะละมานะเสียได้ เจ้าจักเป็นผู้
                         สงบระงับเที่ยวไป
ดังนี้.
               อยู่มาวันหนึ่ง ชาวกรุงสาวัตถีในปุเรภัตถวายทาน สมาทานอุโบสถ นุ่งดีห่มดี ถือวัตถุมีของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปสู่พระเชตวัน เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม ในเวลาจบการฟังธรรมไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าสู่พระนคร แม้พระภิกษุณีสงฆ์ฟังธรรมกถาแล้ว ก็ไปสู่สำนักของนางภิกษุณี มนุษย์และภิกษุณีทั้งหลายในกรุงสาวัตถีนั้นต่างก็สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ก็ในโลกสันนิวาสมีประมาณ ๔ อย่าง บุคคลเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ชื่อว่าไม่เลื่อมใส ไม่มี.
               จริงอยู่ บุคคลทั้งหลายผู้ถือรูปเป็นประมาณ เห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขจิตด้วยลักษณะ วิจิตรด้วยอนุพยัญชนะ มีพระเกตุมาลารุ่งเรือง มีพระรัศมีวาหนึ่งเปล่งออก ดุจอลังการอันมีประโยชน์ที่งามพร้อมซึ่งเกิดขึ้นแก่โลกฉะนั้น ย่อมเลื่อมใส.
               ผู้ถือเสียงเป็นประมาณฟังเสียงกิตติศัพท์ในชาดกหลายร้อย ประกอบด้วยองค์แปด ทรงเปล่งออกอย่างอ่อนหวานดุจเสียงนกกรวิก เหมือนเสียงแห่งพรหม ย่อมเลื่อมใส.
               ฝ่ายผู้ถือความเศร้าหมองเป็นประมาณ เห็นความเศร้าหมองด้วยจีวรเป็นต้น หรือความเศร้าหมองด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็ย่อมเลื่อมใส.
               ผู้ถือธรรมเป็นประมาณพิจารณาธรรมขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาขันธ์ทั้งหลายมีสีลขันธ์เป็นต้น ย่อมเลื่อมใส เพราะฉะนั้น จึงกล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าในที่ทั้งปวง.
               นางนันทาผู้ชนบทกัลยณีแม้ถึงสำนักของภิกษุณีแล้ว ได้ฟังบุคคลเหล่านั้นกำลังกล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยอเนกปริยาย ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบอกแก่ภิกษุณีทั้งหลาย. พวกภิกษุณีพานางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้การมาของนางก่อนทีเดียว ทรงเนรมิตสตรีที่มีอายุน่าดูยิ่งนักประมาณ ๑๕-๑๖ ปี ยืนถวายงานพัดอยู่ข้างๆ ด้วยกำลังฤทธิ์ของพระองค์ เพื่อทรงกำจัดความเมาในรูปด้วยรูปนั่นเทียว ดุจบุรุษต้องการบ่งหนามด้วยหนาม และต้องการถอนลิ่มด้วยลิ่มฉะนั้น.
               นางนันทาเข้าไปเฝ้าพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย ไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่งในระหว่างภิกษุสงฆ์ เห็นพระรูปสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่พื้นพระบาทจนถึงปลายพระเกสา และเห็นรูปเนรมิตนั้นซึ่งยืนข้างพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก คิดว่า โอ! สตรีนี้รูปสวย ละความเมาในรูปของตน มีอัตภาพอันยินดียิ่งในรูปของสตรีนั้น.
               แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสตรีนั้นทำให้มีอายุประมาณ ๒๐ ปี ด้วยว่า มาตุคามมีอายุ ๑๖ ปีเท่านั้นย่อมสวยงาม เกินนั้นไปย่อมไม่สวยงาม.
               ลำดับนั้น นางนันทาเห็นความเสื่อมแห่งรูปของสตรีนั้น ก็มีฉันทราคะในรูปนั้นลดน้อย.
               แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสตรีอย่างนี้ คือสตรียังไม่คลอด สตรีคลอดครั้งเดียว สตรีกลางคน สตรีแก่ จนถึงสตรีมีอายุ ๑๐๐ ปีหลังโก่ง ถือไม้เท้า มีตัวตกกระแล้วทรงแสดงการตายของสตรีนั้น อันต่างด้วยซากศพพองขึ้นเป็นต้น อันสัตว์ทั้งหลายมีกาเป็นต้น รุมจิกกิน และมีกลิ่นเหม็น น่าเกลียด น่าปฏิกูลแก่นางนันทาผู้แลดูอยู่นั่นเทียว.
               นางนันทาเห็นมาตุคามนั้น ก็มีอนิจจสัญญาปรากฏขึ้นว่า กายนี้ทั่วไปทั้งหมดทั้งแก่เราทั้งแก่คนอื่น อย่างนี้นั่นแล แม้ทุกขสัญญาและอนัตตสัญญาก็ปรากฏขึ้น โดยทำนองอนิจสัญญานั้น ภพทั้ง ๓ ปรากฏขึ้นไม่เป็นที่พึ่งอาศัย ดุจเรือนถูกไฟไหม้ฉะนั้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า จิตของนางนันทาแล่นไปในกรรมฐาน จึงตรัสคาถาเหล่านี้ด้วยอำนาจแห่งสัปปายะแก่นางว่า
                                   ดูก่อนนันทา เจ้าจงดูร่างกายนี้ อันอาดูร
                         ไม่สะอาด เปื่อยเน่า อันกระดูกยกขึ้นเป็นโครง
                         ไหลเข้า ไหลออก ที่พวกคนพาลปรารถนากัน
                         ยิ่งนัก สรีระของหญิงนี้เป็นฉันใด สรีระของเธอ
                         นี้ก็จักฉันนั้น สรีระของเธอนั้นฉันใด สรีระของ
                         หญิงนี้ก็ฉันนั้น เธอจงดูธาตุทั้งหลายโดยความ
                         เป็นของสูญ จงอย่ากลับมาสู่โลกนี้อีกเลย จง
                         สำรอกความพอใจในภพเสีย แล้วจักเป็นผู้สงบ
                         ระงับเที่ยวไป
ดังนี้.
               ในเวลาจบคาถา นางนันทาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสวิปัสสนากรรมฐานซึ่งมีสุญญตาเป็นบริวารเพื่อบรรลุมรรคเบื้องบนแก่นาง จึงตรัสพระสูตรนี้.
               นี้เป็นอุบัติหนึ่งของสูตรนั้นก่อน.

               อุบัติที่ ๒               
               อุบัติที่ ๒ ได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องของคาถาธรรมบทว่า
               ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ธิดาของนางสาลวดี คณิกา ซึ่งมีสมุฏฐานได้กล่าวแล้วโดยพิสดารในจีวรขันธกะ ชื่อว่าสิริมา ซึ่งเป็นน้องสาวของชีวกนั้นใด ได้ตำแหน่งนั้นโดยกาลล่วงไปแห่งมารดา ดูหมิ่นปุณเศรษฐีธิดา ในเรื่องแห่งคาถานี้ว่า พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ ขมาพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังพระธรรมเทศนา ได้เป็นโสดาบัน ยังนิจภัตร ๘ อย่างให้เป็นไปแล้ว.
               ภิกษุผู้รับนิจภัตรรูปหนึ่งปรารภถึงสิริมาธิดานั้น ก็เกิดราคะและไม่อาจเพื่อทำแม้อาหารกิจ นอนปราศจากอาหาร. ครั้นภิกษุนั้นนอนอย่างนั้นแล นางสิริมาตายไปเป็นเทวีของท้าวสุยาม ในยามภพ.
               ในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว พาภิกษุแม้นั้น เสด็จไปดูสรีระของนางสิริมานั้น ซึ่งพระราชาทรงห้ามการเผาศพของนางแล้วให้เก็บไว้ ณ ป่าช้าผีดิบ. มหาชนและพระราชาก็ไปดูอย่างนั้น ในชนจำนวนนั้น มนุษย์ทั้งหลายพูดกันว่า ในกาลก่อน การดูนางสิริมาด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๘ ก็ได้ยาก บัดนี้ในวันนี้ผู้ที่ใคร่จะดูนางแม้ด้วยหนึ่งกากณิกก็ไม่มี. ฝ่ายสิริมาเทพกัญญาอันรถ ๕๐๐ คันแวดล้อมแล้วไป ณ ที่นั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสูตรนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่ชนทั้งหลายที่ประชุม ณ ที่แม้นั้น และคาถาในธรรมบทนี้ว่า เธอจงดูร่างกายอันทำวิจิตร เพื่อทรงโอวาทแก่ภิกษุนั้น.
               นี้เป็นอุบัติที่ ๒ แห่งสูตรนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จรํ วา ความว่า ไปด้วยการนำรูปกายทั้งสิ้นไป โดยมุ่งหน้าต่อทิศที่จะพึงไป.
               บทว่า ยทิ วา ติฏฺฐํ ความว่า ยืนอยู่โดยไม่มีการยกรูปกายนั้นนั่นเทียว.
               บทว่า นิสินฺโน อุท วา สยํ ความว่า นั่งโดยความที่รูปกายนั้นแลคู้ส่วนเบื้องต่ำ และยกขึ้นซึ่งส่วนเบื้องสูง หรือนอนโดยเหยียดไปทางขวาง.
               บทว่า สมฺมิญฺเชติ ปสาเสติ ความว่า คู้เข้าและเหยียดออก ซึ่งข้อต่อนั้นๆ.
               บทว่า เอสา กายสฺส อิญฺชนา ความว่า นั่นแม้ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหว ได้แก่ความไหว ความเคลื่อนไปของกายที่มีวิญญาณนี้นั่นเทียว ใครอื่นที่ชื่อว่า เที่ยวไปอยู่ หรือเหยียดออกอยู่ในที่นี้ หามีไม่.
               อนึ่งแล เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะไปเที่ยว วาโยธาตุซึ่งมีจิตนั้นเป็นสมุฏฐาน ย่อมแผ่ไปสู่ร่างกาย กายนั้นก็มีการนำไปมุ่งหน้าต่อทิศที่จะพึงไป คือความเกิดขึ้นในระหว่างส่วน๑- ก็ย่อมมีด้วยจิตนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า จรํ เที่ยวไป.
____________________________
๑- ยุ. เทสนฺตเร รปนฺตรปาตภาโว.

               อนึ่ง เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เรายืน วาโยธาตุซึ่งมีจิตนั้นเป็นสมุฏฐานก็ย่อมแผ่ไปสู่ร่างกาย ร่างกายนั้นก็มีการยกขึ้น คือความปรากฏแห่งรูปโดยฐานเบื้องสูง ก็ย่อมมีด้วยจิตนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า ติฏฺฐํ ยืนอยู่.
               อนึ่ง เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะนั่ง วาโยธาตุซึ่งมีจิตนั้นเป็นสมุฏฐานย่อมแผ่ไปสู่ร่างกาย ร่างกายนั้นก็จะมีการคู้เข้าซึ่งส่วนเบื้องต่ำ และการยกขึ้นซึ่งส่วนเบื้องสูงด้วยจิตนั้น คือความปรากฏแห่งรูปย่อมมีโดยภาวะอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า นิสินฺโน นั่งแล้ว.
               อนึ่ง เมื่อมีจิตเกิดขึ้นว่า เราจะนอน วาโยธาตุซึ่งมีจิตนั้นเป็นสมุฏฐานย่อมแผ่ไปสู่ร่างกาย ร่างกายนั้นก็ย่อมมีการเหยียดออกตามขวาง ด้วยจิตนั้น คือความปรากฏแห่งรูปโดยภาวะอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า สยํ นอน.
               ก็ท่านผู้มีอายุนี้รูปใดรูปหนึ่งที่มีชื่ออย่างนี้ เที่ยวไป ยืนอยู่ นั่ง หรือนอนอย่างนี้ ซึ่งเรียกว่า คู้เข้า เหยียดออก ด้วยอำนาจแห่งการคู้เข้าและเหยียดออกซึ่งข้อต่อเหล่านั้นๆ ในอิริยาบถนั้นๆ เพราะเมื่อจิตจะคู้เข้า หรือเหยียดออกเกิดขึ้นอยู่ การเคลื่อนไหวแม้นั้นย่อมมีโดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นแล เพราะฉะนั้น นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของกาย ใครๆ อื่นในที่นี้หามีไม่ นี้สูญจากสัตว์หรือบุคคลไรๆ ซึ่งเที่ยวไปอยู่ หรือเหยียดออก แต่ในที่นี้ มีปรมัตถ์อย่างเดียวนี้ คือ
                         ความที่วาโยธาตุต่างกัน ย่อมมีเพราะอาศัย
                         ความที่จิตต่างกัน ความเคลื่อนไหวของกาย
                         ย่อมมีต่างๆ เพราะความที่วาโยธาตุต่างกัน

                         ดังนี้.
               ด้วยคาถานี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในอิริยาบถหนึ่ง การเบียดเบียนกายก็มีด้วยการประกอบ และเพื่อกำจัดความเบียดเบียนกายนั้น พระองค์จึงทรงกระทำการสับเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงทุกขลักษณะอันอิริยาบถปกปิดไว้ ด้วยบทว่า จรํ วา เป็นต้นด้วยประการดังนี้
               ในกาลเที่ยวไปก็อย่างนั้น เมื่อจะตรัสประเภทแห่งการเที่ยวไปเป็นต้นนั่นทั้งหมด เพราะไม่มีการยืนเป็นต้นว่า นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของกาย ชื่อว่าทรงแสดงอนิจจลักษณะ ซึ่งสันตติปกปิดไว้ และเมื่อความสามัคคีนั้นเป็นไปแล้ว ก็ตรัสโดยปฏิเสธสัตว์ว่า นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของกาย ชื่อว่าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ซึ่งอัตตสัญญาและความเป็นก้อนปกปิดไว้.
               ครั้นตรัสสุญญตากรรมฐานโดยการแสดงไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว จึงทรงปรารภอีกว่า กายประกอบแล้วด้วยกระดูกและเอ็น เพื่อทรงแสดงอสุภะทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า
               ก็นั่นเป็นความเคลื่อนไหวของกายใด กายนี้นั้นประกอบแล้วด้วยกระดูกและเอ็น.
               เพราะความที่กายนี้ประกอบแล้วด้วยกระดูกเกิน ๓๐๐ ท่อนและด้วยเอ็น ๙๐๐ เส้น ซึ่งข้าพเจ้าประกาศแล้วโดยประเภทแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและการกำหนด และโดยอัพยาปารนัย ในการพรรณนาถึงอาการ ๓๒ อย่างในวิสุทธิมรรค เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบว่า ฉาบด้วยหนังและเนื้อ เพราะความที่กายนี้ฉาบแล้วด้วยหนังมีหนังปลายเท้าและหนังนิ้วมือเป็นต้น และด้วยเนื้ออันต่างด้วยชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ชิ้นที่ข้าพเจ้าประกาศไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดปฏิกูลอย่างยิ่ง.
               ในกายนั่น ผู้ศึกษาจะพึงทราบอย่างไร
               ถ้ากายนี้ไม่พึงปกปิดด้วยผิวละเอียดดุจปีกแมลงวัน ซึ่งลอกจากร่างกายทั้งสิ้นของคนปานกลางก็จะมีประมาณเท่าเม็ดพุทรา ดุจฝาเรือนไม่ปกปิดด้วยรงค์มีสีเขียวเป็นต้นไซร้ กายนี้ปกปิดด้วยผิวแม้ละเอียดอย่างนั้นอันปุถุชนผู้เป็นพาล ปราศจากจักษุ คือปัญญา ย่อมไม่เห็นตามความเป็นจริง.
               ก็หนังของร่างกายนั้นอันเขาประเทืองด้วยเครื่องประทินผิว นับว่าน่าเกลียดและปฏิกูลอย่างยิ่งก็ดี
               เนื้อร้อยชิ้นที่กล่าวแล้วว่า
                         เนื้อมี ๙๐๐ ชิ้น ฉาบแล้วในร่างกาย เป็นของเปื่อย
                         เน่า ดุจส้วมอันเกลื่อนกล่นด้วยหมู่หนอน ฉะนั้น
.
               โดยประเภท อันหนังหุ้มห่อก็ดี
                         เอ็น ๙๐๐ เส้น อยู่ในร่างกายมีประมาณหนึ่งวา
                         รึงรัดโครงกระดูกไว้ ดุจเรือนรึงรัดด้วยเถาวัลย์
                         ฉะนั้น ฉาบด้วยเนื้อก็ดี
.
               กระดูก ๓๐๐ ท่อนที่เอ็นรึงรัดไว้ตั้งเรียงตามลำดับ เป็นของเน่า มีกลิ่นเหม็นก็ดี อันปุถุชนผู้เป็นพาล ย่อมไม่เห็นตามความเป็นจริง.
               เพราะบัณฑิตไม่ยึดถือผิวเป็นต้นนั้น ใช้จักษุคือปัญญาแทงตลอด ซึ่งซากศพในภายในและของไม่สะอาด กลิ่นเหม็น น่าเกลียดและปฏิกูลอย่างยิ่งมีประการต่างๆ ไม่ปรากฏแก่โลกทั้งหมด เพราะความที่กายปกปิดด้วยผิวละเอียดดุจปีกแมลงวัน ถูกหุ้มห่อไว้ด้วยหนังที่ประเทืองแล้วด้วยเครื่องประทินผิว พึงเห็นกายอย่างนี้ว่า เต็มด้วยไส้ อาหาร ฯลฯ ดี เปลวมัน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น กายเต็มด้วยไส้ ชื่อว่า อนฺตปูโร. เต็มด้วยอาหาร ชื่อว่า อุทรปูโร. ก็คำว่า อุทรํ นั่นเป็นชื่อของอาหารใหม่. จริงอยู่ อาหารใหม่นั้น เรียกว่า อุทรํ โดยชื่อของฐานะ.
               บทว่า ยกเปฬสฺส ได้แก่ มีก้อนตับ. บทว่า วตฺถิโน ได้แก่ มูตร. ก็มูตรนั่นเรียกว่า วตฺถิ โดยมุ่งถึงฐานะ. บทว่า ปูโร ได้แก่ กระทำอย่างยิ่ง.
               เพราะฉะนั้น พึงประกอบอย่างนี้ว่า เต็มด้วยก้อนตับ เต็มด้วยมูตร. ในหัวใจเป็นต้นก็นัยนี้. ก็บทว่าไส้เป็นต้นแม้นั่นทั้งหมด ผู้ศึกษาพึงทราบด้วยอำนาจแห่งคำที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรค ด้วยประเภทแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉท และด้วยอัพยาปารนัย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงซากศพในภายในว่า ในกายนี้ สิ่งที่ควรถือเอาเช่นกับแก้วมุกดาและแก้วมณีแม้อย่างหนึ่งก็ไม่มีเลย และกายนี้เต็มด้วยของไม่สะอาดทั้งนั้น บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงซากศพในภายในนั้นแล ทำให้ปรากฏด้วยซากศพที่ออกไปในภายนอก จึงสงเคราะห์สิ่งที่ตรัสแล้วในกาลก่อนและที่ยังไม่ตรัสเข้าด้วยกัน จึงตรัสสองคาถาว่า อถสฺส นวหิ โสเตหิ แปลว่า อนึ่ง ของอันไม่สะอาดย่อมไหลออกจากช่องทั้งเก้าของกายนั้น ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อถ เป็นการแสดงขยายปริยายอื่น. มีอธิบายว่า ท่านจงดูความไม่สะอาด โดยปริยายแม้อื่นอีก.
               บทว่า อสฺส ได้แก่ กายนี้. บทว่า นวหิ โสเตหิ ได้แก่ ช่องตา ๒ ช่องหู ๒ ช่องจมูก ๒ ปาก วัจจมรรคและปัสสาวมรรค.
               บทว่า อสุจี สวติ ความว่า ของอันไม่สะอาด คือกลิ่นเหม็นและน่าเกลียดอย่างยิ่งมีประการต่างๆ ปรากฏแล้วแก่โลกทั่วไป ย่อมไหลออก คือย่อมหลั่งออก ย่อมไหลออกไป คันธชาตมีกฤษณาและจันทน์เป็นต้น หรือรัตนชาตมีแก้วมณี แก้วมุกดาเป็นต้นอื่นไรๆ หาไหลออกไม่.
               บทว่า สพฺพทา ความว่า ก็ของอันไม่สะอาดนั้นแล ย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้ยืนอยู่ก็ตาม ไปอยู่ก็ตาม ทุกเมื่อ คือในกลางคืนบ้าง กลางวันบ้าง เวลาเช้าบ้าง เวลาเย็นบ้าง.
               หากมีคำถามว่า ของอันไม่สะอาดนั้น คืออะไร?
               ตอบว่า คือขี้ตาจากตาเป็นต้น.
               จริงอยู่ ขี้ตาเช่นกับเนื้อที่ลอกหนังออกแล้ว ย่อมไหลออกจากช่องตาทั้งสองของกายนั่น ขี้หูเช่นกับก้อนธุลี ย่อมไหลออกจากช่องหูทั้งสอง ขี้มูกเช่นกับน้ำหนองย่อมไหลออกจากช่องจมูกทั้งสอง บุคคลย่อมสำรอกออกจากปาก.
               หากมีคำถามว่า สำรอกอะไร?
               ตอบว่า บางคราวย่อมสำรอกน้ำดี. มีอธิบายว่า ในกาลใด น้ำดีไม่เป็นก้อนกำเริบ ก็ย่อมสำรอกน้ำดีในกาลนั้น.
               บทว่า เสมฺหํ จ ความว่า ย่อมสำรอกน้ำดีอย่างเดียวหามิได้ แม้น้ำเสมหะที่เป็นก้อนซึ่งมีประมาณเต็มบาตรหนึ่งนั้นแม้ใด ตั้งอยู่ในช่องท้อง ย่อมสำรอกน้ำเสมหะแม้นั้นในกาลบางคราว. ก็เสมหะนี้นั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคโดยสีเป็นต้น. ด้วย ศัพท์ว่า เสมฺหํ จ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ย่อมสำรอกเสมหะและของอันไม่สะอาดอย่างอื่นมีอาหารใหม่และโลหิตเป็นต้นเห็นปานนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นกาลัญญู ปุคคลัญญูและปริสัญญู ครั้นทรงแสดงการสำรอกของอันไม่สะอาดออกจากทวารทั้งเจ็ดอย่างนี้แล้ว ต่อจากนั้นไม่ทรงแตะต้องทวารทั้งสอง ด้วยพระดำรัสพิเศษ เมื่อจะทรงแสดงการสำรอกของอันไม่สะอาดออกจากกายแม้ทั้งหมด โดยปริยายอื่นอีก จึงตรัสว่า กายมฺหา เสทชลฺลิกา เหงื่อและหนองฝีซึมออกจากกาย ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสทชลฺลิกา สัมพันธ์กับบทนี้ว่าเหงื่อและน้ำเค็มอันต่างด้วยแผ่นเกลือและเหงื่อไคลของร่างกายนั้น ย่อมซึมออกทุกเมื่อ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความที่กายนี้เป็นของอันไม่สะอาดด้วยอำนาจแห่งมลทินจากอาหารที่กินและดื่มเป็นต้น เมื่ออาหารที่กินและดื่มเป็นต้น หุงต้มด้วยไฟอันเกิดจากกรรม ก็ปรากฏขึ้นไหลออก โดยประเภทมีอาทิว่า ขี้ตาจากตา แล้วเปื้อนอวัยวะมีตาเป็นต้น แล้วติดอยู่ข้างนอกเหมือนเมื่อหุงต้มภัต คราบข้าวสารและคราบน้ำก็ปรากฏขึ้นกับฟองน้ำแล้ว เปื้อนปากหม้อข้าว ติดอยู่ข้างนอกฉะนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความที่กายนั้นเป็นของอันไม่สะอาด เพราะความที่ศีรษะที่สมมติว่าเป็นอุดมมงคลในโลก ซึ่งคนทั้งหลายถือโดยความเป็นของประเสริฐอย่างยิ่ง ไม่ทำการไหว้แม้แก่บุคคลที่ควรไหว้ทั้งหลายแม้นั้นเป็นของไม่มีแก่นสาร และความเป็นของอันไม่สะอาด จึงตรัสคาถานี้ว่า อถสฺส สุสิรํ สีสํ อนึ่ง อวัยวะเบื้องสูงของกายนี้เป็นโพรง ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สุสิรํ ได้แก่ ช่อง. บทว่า มตฺถลุงฺคสฺส ปูริตํ ความว่า เต็มด้วยมันสมอง ดุจน้ำเต้าเต็มด้วยนมส้ม ฉะนั้น. ก็มันสมองนี้นั้น ผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล.
               บทว่า สุภโต นํ มญฺญติ พาโล ความว่า คนพาลชอบคิดสิ่งที่คิดชั่วย่อมสำคัญแม้กายนี้นั้น ซึ่งเต็มด้วยซากศพมีอย่างต่างๆ อย่างนี้ คือย่อมสำคัญด้วยความสำคัญคือตัณหาทิฏฐิมานะแม้ทั้งสามว่า สวย สะอาดน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ. เพราะเหตุไร เพราะคนพาลถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว คือถูกโมหะอันปกปิดสัจจะทั้งสี่หุ้มห่อแล้ว คือเตือนแล้ว ให้เป็นไปแล้ว ให้ยึดถือแล้วว่า เจ้าจงถืออย่างนี้ ยึดอย่างนี้ สำคัญอย่างนี้. อธิบายว่า เจ้าจงดูตลอดอวิชชาอันเป็นเหตุไม่น่าปรารถนา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงอสุภะด้วยอำนาจแห่งกายมีวิญญาณครองอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงอสุภะด้วยอำนาจแห่งกายไม่มีวิญญาณครอง หรือเพราะกายแม้ของพระเจ้าจักรพรรดิก็เต็มด้วยซากศพตามที่กล่าวแล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงอสุภะในสมบัติภพโดยประการทั้งปวงแล้ว ทรงแสดงในวิบัติภพในบัดนี้ จึงตรัสคาถาว่า ยทา จ โส มโต เสติ แปลว่า ก็เมื่อใด เขาตายนอนอยู่.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า กายมีอย่างนี้นั่นแล เมื่อใด เขาตายเพราะปราศจากอายุ ไออุ่น และวิญญาณ ขึ้นพองดุจสูบเต็มด้วยลมฉะนั้น มีสีเขียวเพราะสีแตกสลาย ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า เพราะถูกทิ้งไว้ดุจท่อนไม้ไร้ประโยชน์ฉะนั้น นอนอยู่ ในกาลนั้น ญาติทั้งหลายย่อมไม่ห่วงใยโดยส่วนเดียวว่า บัดนี้เขาจักไม่ลุกขึ้นอีก.
               ในคาถานั้น ทรงแสดงความไม่เที่ยง ด้วยบทว่า มโต ทรงแสดงความที่กายไม่ลุกขึ้น ด้วยบทว่า เสติ และทรงประกอบไว้ในการละความมัวเมาในชีวิตและกำลังด้วยบททั้งสองนั้น ทรงแสดงวิบัติในสัณฐาน ด้วยบทว่า อุทฺธุมาตโก ทรงแสดงวิบัติในเครื่องประทินผิว ด้วยบทว่า วินีลโก และทรงประกอบในการละความมัวเมาในรูปและในการละมานะ เพราะอาศัยความงามแห่งผิวพรรณด้วยบททั้งสองนั้น ทรงแสดงความไม่มีของที่จะพึงถือเอาด้วยบทว่า อปวิฏฺโฐ ทรงแสดงความเป็นกายอันน่าพึงเกลียด อันไม่ควรเพื่อให้อยู่ในภายในด้วยบทว่า สุสานสฺมึ ทรงประกอบในการละความยึดถือว่าของเราและในการละสุภสัญญา ด้วยบทแม้ทั้งสองนั้น ทรงแสดงความไม่มีกิริยาโต้ตอบ ด้วยบทว่า อนเปกฺขา โหนฺติ ญาตโย ทรงประกอบในการละความมัวเมาในบริวาร ด้วยบทนั้น.
               ครั้นทรงแสดงอสุภะด้วยอำนาจกายอันไม่มีวิญญาณครอง ยังไม่แตกสลาย ด้วยคาถานี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงแม้ด้วยอำนาจแห่งกายแตกสลาย จึงตรัสคาถาว่า ขาทนฺติ นํ ดังนี้
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย จญฺเญ ความว่า สัตว์ทั้งหลายที่กินซากศพแม้เหล่าอื่นมีกาและพังพอนเป็นต้น ย่อมกัดกินกายนั้น.
               บทที่เหลือตื้นทั้งนั้นแล.
               ครั้นทรงแสดงกาย ด้วยอำนาจแห่งสุญญตากรรมฐาน โดยนัยมีอาทิว่า จรํ วา ด้วยอำนาจแห่งอสุภะสำหรับกายที่มีวิญญาณครอง โดยนัยมีอาทิว่า กายประกอบแล้วด้วยกระดูกและเอ็น. ด้วยอำนาจแห่งอสุภะสำหรับกายที่ไม่มีวิญญาณครอง โดยนัยมีอาทิว่า ก็เมื่อใด เขาตายอย่างนี้แล้ว ทรงประกาศความประพฤติของปุถุชนผู้เป็นพาลและทรงแสดงวัฏฏะโดยมีอวิชชาเป็นประธาน ด้วยบทนี้ว่า คนพาลถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ย่อมสำคัญกายนั้นโดยความเป็นของสวยงาม ในกายนี้อันสูญจากความเที่ยง ความสุขและตัวตน และแม้อันไม่สวยงามโดยส่วนเดียวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงความประพฤติของบัณฑิตในกายนั้น และวิวัฏฏะ โดยมีปริญญาเป็นประธาน จึงทรงปรารภว่า สุตฺวาน พุทฺธวจนํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตฺวาน ได้แก่ พิจารณาโดยแยบคาย.
               บทว่า พุทฺธวจนํ ได้แก่ พุทธพจน์อันทำการกำหนดรู้กาย.
               บทว่า ภิกฺขุ ได้แก่ พระเสกขะหรือปุถุชน.
               บทว่า ปญฺญาณวา ความว่า วิปัสสนา เรียกว่า ปัญญาณ ผู้ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนานั้น เพราะความเป็นผู้เป็นไปแล้วในประการมีความไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า อิธ คือ ในศาสนา.
               บทว่า โส โข นํ ปริชานาติ ความว่า ภิกษุนั้นกำหนดรู้กายนี้ ด้วยปริญญา ๓.
               อย่างไร
               คือ เหมือนพ่อค้าผู้ฉลาดแลดูสินค้าว่านี้และนี้แล้ว เปรียบเทียบว่า เมื่อซื้อสินค้าด้วยทรัพย์เท่านี้แล จักมีกำไรเท่านี้ ครั้นทำอย่างนั้นแล้ว ถือเอาต้นทุนกับกำไรอีกทิ้งสินค้านั้น ชื่อฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อแลดูด้วยจักษุคือญาณว่า ส่วนเหล่านี้มีกระดูกและเอ็นเป็นต้น และมีผมขนเป็นต้น ชื่อว่ากำหนดรู้ด้วยญาตปริญญา. เมื่อเทียบเคียงว่า ธรรมเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ชื่อว่ากำหนดรู้ด้วยตีรณปริญญา. ครั้นเทียบเคียงอย่างนี้แล้ว ถึงอยู่ซึ่งอริยมรรค ชื่อว่ากำหนดรู้ด้วยปหานปริญญา เพราะละฉันทราคะในกายนั้น. หรือเมื่อเห็นด้วยอำนาจแห่งอสุภะของกายที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครอง ชื่อว่ากำหนดรู้ด้วยญาตปริญญา. เมื่อเห็นด้วยอำนาจแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น ชื่อว่ากำหนดรู้ด้วยตีรณปริญญา คือฉันทราคะออกจากกายนั้น ละกายนั้นด้วยอรหัตมรรค ชื่อว่ากำหนดรู้ด้วยปหานปริญญา.
               หากจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร ภิกษุนั้นย่อมกำหนดรู้อย่างนี้.
               ตอบว่า เพราะย่อมเห็นตามความเป็นจริง.
               อธิบายว่า เพราะเห็นความจริง ก็เมื่อประโยชน์นั่นสำเร็จ ด้วยบทว่า ปญฺญาณวา เป็นต้นนั่นเทียว เพราะปัญญาณวัตรย่อมมีแก่ภิกษุนั้น เพราะฟังพุทธพจน์ และเพราะกายนี้แม้ปรากฏแก่ชนทั้งปวง อันภิกษุไม่ฟังพุทธพจน์แล้วก็ไม่อาจเพื่อกำหนดรู้ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงเหตุแห่งญาณของภิกษุนั้นและความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่สามารถเพื่อเห็นรูปภายนอกทั้งหลายจากกายนี้ อย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า สุตฺวาน พุทฺธวจนํ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภนันทภิกษุณีและภิกษุผู้มีจิตวิปลาสแล้วนั้น จึงตรัสว่า ภิกฺขุ โดยยังเทศนาให้เป็นไป โดยเป็นบริษัทที่เลิศและโดยแสดงภิกษุภาวะ แก่ชนทั้งหลายผู้ถึงการปฏิบัติในกายนั้น.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงประการที่ภิกษุเมื่อเห็นอยู่ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ในบาทคาถานี้ว่า ยถาภูตญฺหิ ปสฺสติ แปลว่า เพราะเห็นตามความเป็นจริงดังนี้ จึงตรัสว่า สรีระที่มีวิญญาณนี้ เหมือนสรีระที่ตายแล้วนั่น สรีระที่ตายแล้วนั้น เหมือนสรีระที่มีวิญญาณนี้ ดังนี้.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า
               สรีระนี้มีวิญญาณครองและเป็นของอันไม่สวยงาม ย่อมเดิน ย่อมยืน ย่อมนั่ง ย่อมนอน เพราะยังไม่ปราศจากอายุ ไออุ่นและวิญญาณฉันใด สรีระแม้ไม่มีวิญญาณครองนั่นนอนอยู่ในป่าช้าในบัดนี้ ในกาลก่อนก็มีแล้ว เพราะไม่ปราศจากธรรมเหล่านั้นก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง สรีระของคนที่ตายแล้วในบัดนี้นั่นย่อมไม่เดิน ย่อมไม่ยืน ย่อมไม่นั่ง ย่อมไม่สำเร็จการนอน เพราะปราศจากธรรมเหล่านั้นฉันใด สรีระแม้มีวิญญาณครองนี้ เพราะปราศจากธรรมเหล่านั้นจักเป็นฉันนั้น.
               อนึ่ง สรีระมีวิญญาณครองนี้ยังไม่นอนตายในป่าช้าในบัดนี้ ยังไม่ถึงความเป็นของที่พองขึ้นเป็นต้นฉันใด แม้สรีระของคนตายแล้วในบัดนี้นั้น ในกาลก่อนก็ได้เป็นแล้วฉันนั้น.
               อนึ่ง สรีระที่ตายแล้ว ไม่มีวิญญาณครอง และเป็นของไม่สวยงาม นอนอยู่ในป่าช้า และถึงความเป็นของพองขึ้นเป็นต้นฉันใด สรีระแม้มีวิญญาณครองนี้ก็จักถึงฉันนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยถา อิทํ ตถา เอตํ ความว่า ภิกษุเมื่อทำความที่สรีระที่ตายแล้วเป็นของเสมอกับตน ย่อมละโทษในภายนอกได้.
               บทว่า ยถา เอตํ ตถา อิทํ ความว่า เมื่อทำความที่ตนเป็นผู้เสมอด้วยสรีระที่ตายแล้ว ย่อมละความกำหนัดในภายในได้ คือเมื่อรู้ชัดซึ่งอาการที่ทำสรีระทั้งสองให้เสมอกัน ย่อมละโมหะในสรีระทั้งสองนั้นได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำระการละอกุศลมูลในส่วนเบื้องต้นนั่นแล ด้วยการเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว เพราะภิกษุปฏิบัติในการละอกุศลมูลนั้น ย่อมเป็นผู้สามารถเพื่อบรรลุอรหัตมรรค สำรอกฉันทราคะทั้งปวงโดยลำดับ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า ภิกษุพึงคลายความพอใจในกายเสียทั้งภายในและภายนอกดังนี้ บาลีที่เหลือว่า เอวํ ปฏิปนฺโน ภิกฺขุ อนุปุพฺเพน แปลว่า ภิกษุปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมสำรอกความพอใจในกายเสียทั้งภายในและภายนอกโดยลำดับ ดังนี้.
               ครั้นทรงแสดงเสกขภูมิอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอเสกขภูมิ จึงตรัสว่า ฉนฺทราควิรตฺโต โส ภิกษุนั้นไม่ยินดีแล้วด้วยฉันทราคะ.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า ภิกษุนั้นมีความรู้ชัดด้วยอรหัตมรรคญาณ ย่อมบรรลุผลในลำดับแห่งมรรค ในกาลนั้น เรียกว่าไม่ยินดีแล้วด้วยฉันทราคะ เพราะความที่ฉันทราคะอันภิกษุนั้นละแล้วโดยประการทั้งปวง และเรียกว่าได้บรรลุบทที่ทรงพรรณนาแล้วว่า ชื่อว่าอมตะ เพราะไม่มีความตาย หรือเพราะอรรถว่าประณีต. ชื่อว่าสันติ เพราะสงบจากสังขารทั้งปวง. ชื่อว่านิพพาน เพราะไม่มีเครื่องร้อยรัดคือตัณหา. ชื่อว่าไม่จุติ เพราะไม่มีการเคลื่อนไป.
               อนึ่ง ภิกษุนั้นมีความรู้ชัดด้วยอรหัตมรรคญาณ ดำรงอยู่ในผลในลำดับแห่งมรรค พึงทราบว่า ไม่ยินดีแล้วด้วยฉันทราคะ และได้บรรลุบทมีประการที่กล่าวแล้ว ด้วยบทว่า อชฺฌคา นั้น ทรงแสดงว่า ฉันทราคะนี้อันภิกษุนั้นละได้แล้ว และนิพพานนี้อันภิกษุนี้ได้แล้ว ดังนี้.
               ครั้นตรัสอสุภกรรมฐานพร้อมกับความสำเร็จ ด้วยอำนาจแห่งกายมีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครองอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงติเตียนการอยู่ด้วยความประมาท ซึ่งทำอันตรายแก่อานิสงส์มากมายอย่างนี้ ด้วยการทรงแสดงโดยย่ออีก จึงตรัสสองคาถาว่า ทิปาทโกยํ.
               ในคาถานั้น กายทั้งหลายแม้ไม่มีเท้าเป็นต้นเป็นของไม่สะอาดทีเดียว แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในคาถานี้ ด้วยอำนาจแห่งการกระทำยิ่ง หรือด้วยอำนาจแห่งการกำหนดอย่างสูง หรือเพราะกายเหล่าอื่นแม้เป็นของไม่สะอาด แต่บุคคลปรุงด้วยรสเค็มและรสเปรี้ยวเป็นต้นแล้ว นำไปใช้เป็นอาหารของมนุษย์ทั้งหลายได้.
               ส่วนกายของมนุษย์หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้น แม้เมื่อจะทรงแสดงมนุษย์ซึ่งมีภาวะอันไม่สะอาดยิ่งนัก จึงตรัสว่า ทิปาทโก มีสองเท้าดังนี้.
               บทว่า อยํ ได้แก่ ทรงแสดงกายมนุษย์.
               บทว่า ทุคฺคนฺโธ ความว่า กายนี้มีกลิ่นเหม็น อันบุคคลปรุงแต่งด้วยดอกไม้และของหอมทั้งหลาย บริหารอยู่.
               บทว่า นานากุณปริปูโร ได้แก่ เต็มไปด้วยซากศพอเนกประการ มีเส้นผมเป็นต้น.
               บทว่า วิสฺสวนฺโต ตโต ตโต ความว่า หลั่งออกอยู่ซึ่งของไม่สะอาดทั้งหลายมีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้นจากทวารทั้งเก้า และคราบเหงื่อจากขุมขนทั้งหลาย กระทำความพยายามของคนทั้งหลายแม้จะพยายามเพื่อปกปิดด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นให้ไร้ผล.
               บัดนี้ ท่านจงดูในกายนั้นว่า ด้วยกายเช่นนี้ คนพาลไรๆ จะเป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม พึงสำคัญเพื่อยกย่องตัวเอง คือพึงสำคัญยกย่องตัวเองด้วยความสำคัญ คือตัณหาทิฏฐิและมานะ โดยนัยมีอาทิว่าเรา ว่าของเรา หรือว่าเที่ยง หรือตั้งตนไว้ในฐานะสูงพึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยชาติเป็นต้น จักมีอะไรนอกจากการไม่เห็นอริยสัจจะ คือเว้นจากความไม่เห็นอริยสัจจะด้วยอริยมรรคแล้ว จักมีอะไรอื่น คือพึงมีแต่การยกย่องตนและการดูหมิ่นผู้อื่นอย่างนี้สำหรับผู้นั้น.
               ในเวลาจบเทศนา นางนันทาภิกษุณีได้ถึงความสังเวชว่า
               โอหนอ! เราช่างพาลเสียกระไรที่ปรารภเราเท่านั้น ไม่ไปสู่ที่บำรุงของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงยังพระธรรมเทศนาอย่างต่างๆ ให้เป็นไปอย่างนี้ และสังเวชอย่างนี้แล้ว พิจารณาพระธรรมเทศนานั้นนั่นเทียวได้กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ในภายใน ๒-๓ วันด้วยกรรมฐานนั้นนั่นแล.
               ได้ยินว่า แม้ในฐานะที่สอง ในเวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ธรรมาภิสมัย สิริมาเทพกัญญาได้บรรลุอนาคามิผล. ส่วนภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล.

               จบอรรถกถาอรรถกถาวิชยสูตร๒-               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               --------------------               
๒- ปุราณโปฏฺ ฐก. ยุ. กายวิจฺฉนฺท นิกสุตฺตวณฺณนา

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค วิชยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 310อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 312อ่านอรรถกถา 25 / 313อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=7571&Z=7599
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=6424
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=6424
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :