ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
ขัคควิสาณสูตร

หน้าต่างที่ ๕ / ๕.

               วรรคที่ ๔               
               คาถาที่ ๓๑               
               คาถาว่า รเสสุ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่งทรงแวดล้อมด้วยบุตรอำมาตย์ทั้งหลายในพระราชอุทยาน ทรงเล่นกีฬาในสระโบกขรณีที่มีแผ่นศิลา วิเสทถือเอารสแห่งเนื้อทั้งปวงปรุงพระกระยาหารในระหว่าง ซึ่งปรุงดีอย่างยิ่งดุจอมฤตแล้วน้อมถวายแด่พระองค์.
               พระราชานั้นทรงถึงความติดในพระกระยาหารนั้น ไม่ทรงประทานอะไรให้แก่ใครเลย เสวยแต่พระองค์เดียว เมื่อทรงเล่นในน้ำและเสด็จออกในเวลามืด ก็รีบเสวย ไม่ได้นึกถึงบริชนซึ่งพระองค์เคยเสวยด้วยกันมาแต่กาลก่อน.
               ต่อมาภายหลัง พระองค์ทรงนึกได้ว่า โอ! เราทำบาปที่เราถูกความอยากในรสครอบงำ ลืมนึกถึงปวงชน กินแต่ผู้เดียว เอาเถิด เราจะข่มความอยากในรสดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ทรงติเตียนการปฏิบัติในครั้งก่อนของพระองค์ จึงตรัสอุทานคาถานี้ อันแสดงถึงข้อปฏิบัติอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติครั้งก่อนนั้นว่า
                                   รเสสุ เคธํ อกรํ อโลโล
                                   อนญฺญโปสี สปทานจารี
                                   กุเล กุเล อปฺปฏิพทฺธจิตฺโต
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         ภิกษุไม่กระทำความยินดีในรสทั้งหลาย ไม่โลเล
                         ไม่เลี้ยงคนอื่น มีปกติเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับ
                         ตรอก ผู้มีจิตไม่ผูกพันในตระกูล พึงเที่ยวไปผู้
                         เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รเสสุ ความว่า ไม่กระทำความยินดี คือไม่กระทำความติดในรสอันควรลิ้มทั้งหลาย อันต่างโดยรสเปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด เค็ม เฝื่อนและรสฝาดเป็นต้น.
               มีอธิบายว่า ไม่ยังความอยากให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อโลโล ความว่า ไม่วุ่นวายในรสพิเศษทั้งหลายว่า เราจักลิ้มรสนี้.
               บทว่า อนญฺญโปสี ความว่า เว้นจากคนมีสัทธิวิหาริก อันตนจะพึงเลี้ยงดูเป็นต้น. มีอธิบายว่า ยินดีแล้ว ด้วยเหตุสักว่าการสำรวมทางกาย.
               อีกอย่างหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงว่า ในกาลก่อน เราเป็นผู้วุ่นวายในการกระทำความยินดีในรสทั้งหลายที่อุทยานแล้ว เป็นผู้เลี้ยงคนอื่นฉันใด เราไม่เป็นฉันนั้น. เป็นผู้วุ่นวายด้วยตัณหาใดแล้ว ทำความยินดีในรสทั้งหลาย ภิกษุละตัณหานั้น ไม่เลี้ยงคนอื่น เพราะอัตภาพอื่นอันมีตัณหาเป็นมูลไม่เกิดต่อไป.
               อีกอย่างหนึ่ง กิเลส เรียกว่า อญฺโญ (อื่น) เพราะอรรถว่าหักรานประโยชน์. ในข้อนี้มีอธิบายอย่างนี้ว่า ภิกษุชื่อว่า ไม่เลี้ยงคนอื่น เพราะไม่เลี้ยงกิเลสเหล่านั้น.
               บทว่า สปทานจารี ความว่า มีปกติเที่ยวไปด้วยการไม่ข้ามลำดับ คือมีปกติเที่ยวไปตามลำดับ ไม่ละลำดับแห่งเรือน เข้าไปสู่ตระกูลของคนมั่งคั่งและตระกูลของคนยากจน เพื่อบิณฑบาตเนืองๆ.
               บทว่า กุเล กุเล อปฺปฏิพทฺธจิตฺโต ความว่า ผู้มีจิตไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจแห่งกิเลส ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ในบรรดาตระกูลทั้งหลายมีตระกูลกษัตริย์เป็นต้น เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ดุจพระจันทร์.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               รสเคธคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๒               
               คาถาว่า ปหาย ปญฺจาวรณานิ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งในพระนครพาราณสีทรงได้ปฐมฌาน.
               ท้าวเธอทรงสละราชสมบัติ เพื่อทรงตามรักษาฌาน ทรงผนวชแล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ เพื่อจะทรงแสดงสัมปทาแห่งการปฏิบัติของพระองค์ จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   ปหาย ปญฺจาวรณานิ เจตโส
                                   อุปกฺกิเลส พฺยปนุชฺช สพฺเพ
                                   อนิสฺสิโต เฉตฺวา สิเนหโทสํ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลละธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต ๕ อย่าง
                         บรรเทาอุปกิเลสทั้งปวงแล้ว ผู้อันทิฏฐิไม่
                         อาศัย ตัดโทษคือความเยื่อใยได้แล้ว พึง
                         เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาวรณานิ ได้แก่ นิวรณ์ทั้งหลายนั้นแล.
               นิวรณ์เหล่านั้นโดยอรรถได้กล่าวแล้วในอุรคสูตร.
               ก็นิวรณ์เหล่านั้น เพราะกั้นจิต ดุจหมอกเป็นต้นปิดบังดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ธรรมเป็นเครื่องกั้นจิต ละนิวรณ์เหล่านั้นด้วยอุปจารหรือด้วยอัปนา.
               บทว่า อุปกฺกิเลส ได้แก่ อกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเข้ามาเบียดเบียนจิต หรือธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น ที่กล่าวแล้วในสูตรทั้งหลายมีวัตโถปมสูตรเป็นต้น.
               บทว่า พฺยปนุชฺช ความว่า บรรเทาแล้ว คือให้พินาศแล้ว. อธิบายว่า ละแล้วด้วยวิปัสสนามรรค.
               บทว่า สพฺเพ ได้แก่ ที่เหลือลง.
               บุคคลถึงพร้อมด้วยสมถะและวิปัสสนาอย่างนี้ ชื่อว่าผู้อันทิฏฐิไม่อาศัย เพราะความที่ทิฏฐินิสสัยอันท่านละแล้วด้วยปฐมมรรค ตัดโทษคือความเยื่อใยอันติดตามไตรธาตุได้แล้วด้วยมรรคที่เหลือทั้งหลาย.
               มีอธิบายว่า ตัดตัณหาราคะได้แล้ว ก็ความเยื่อใยนั่นแลเรียกว่าโทษ คือความเยื่อใย.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อาวรณคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๓               
               คาถาว่า วิปิฏฺฐิกตฺวาน ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งในกรุงพาราณสี ทรงได้จตุตถฌาน. ท้าวเธอทรงสละราชสมบัติเพื่อทรงตามรักษาฌาน ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ทรงทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ.
               เมื่อจะทรงแสดงสัมปทาแห่งการปฏิบัติของพระองค์ จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   วิปิฏฺฐิกตฺวาน สุขํ ทุกฺขญฺจ
                                   ปุพฺเพว จ โสมนสฺสโทมนสฺสํ
                                   ลทฺธานุเปกฺขํ สมถํ วิสุทฺธํ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัส
                         ในก่อนได้ ได้อุเบกขา และสมถะอัน
                         บริสุทธิ์แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
                         นอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิปิฏฺฐิกตฺวาน ความว่า ทำไว้ข้างหลัง คือทิ้งแล้ว สละแล้ว.
               บทว่า สุขํ ทุกฺขญฺจ ได้แก่ ความสำราญทางกายและความไม่สำราญทางกาย.
               บทว่า โสมนสฺสโทมนสฺสํ ได้แก่ ความสำราญทางใจและความไม่สำราญทางใจ.
               บทว่า อุเปกฺขํ ได้แก่ อุเบกขาในจตุตถฌาน.
               บทว่า สมถํ ได้แก่ สมถะในจตุตถฌานนั่นเทียว.
               บทว่า วิสุทฺธํ ความว่า ชื่อว่าอันบริสุทธิ์แล้ว เพราะพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย กล่าวคือนิวรณ์ ๕ วิตก วิจาร ปิติและสุข. อธิบายว่า ปราศจากอุปกิเลสแล้ว ดุจทองคำที่ไล้ดีแล้ว.
               ก็โยชนามีดังนี้
               ละสุขและทุกข์ อธิบายว่า ทุกข์ในอุปจารภูมิแห่งปฐมฌานนั่นเทียว สุขในอุปจารภูมิแห่งตติยฌาน.
               มีอธิการว่า ละโสมนัสและโทมนัสในก่อนได้ เพราะนำ อักษรที่กล่าวไว้ข้างต้นไปไว้ข้างหน้าอีก ด้วย อักษรนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงว่า ละโสมนัสในอุปจารแห่งจตุตถฌาน และโทมนัสในอุปจารแห่งทุติยฌานนั่นเอง.
               จริงอยู่ อุปจารแห่งจตุตถฌานและอุปจารแห่งทุติยฌานเหล่านั้น เป็นฐานะในการละโสมนัสและโทมนัสเหล่านั้นโดยทางอ้อม. แต่โดยทางตรง ปฐมฌานเป็นฐานะในการละทุกข์ ทุติยฌานเป็นฐานะในการละโทมนัส ตติยฌานเป็นฐานะในการละสุข จตุตถฌานเป็นฐานะในการละโสมนัส.
               เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
               ภิกษุเข้าปฐมฌานอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดแล้วในปฐมฌานนั้น ย่อมดับไม่มีส่วนเหลือ ดังนี้เป็นต้น.๑-
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๙๕๗

               ข้อความนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในอรรถกถาธรรมสังคหะ ชื่ออัฏฐสาลินี. เพราะบุคคลละทุกข์โทมนัสและสุขในก่อนได้ คือในฌานทั้ง ๓ มีปฐมฌานเป็นต้น แล้วจึงละโสมนัสในจตุตถฌานนั้นเอง ได้อุเบกขาอันสงบบริสุทธิ์ ด้วยปฏิปทานี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว.
               บทที่เหลือในที่ทั้งปวงปรากฏชัดแล้วแล.
               วิปิฏฐิกัตวาคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๔               
               คาถาว่า อารทฺธวิริโย ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าปัจจันตราชาพระองค์หนึ่ง (พระเจ้าขุททกราช) ทรงมีพลกายเป็นทหารประมาณหนึ่งพัน ทรงมีพระราชสมบัติน้อย แต่มีพระปัญญามาก.
               ในวันหนึ่ง ท้าวเธอทรงพระราชดำริว่า เราเป็นผู้ขัดสนแม้ก็จริง แต่เรามีปัญญาอาจเพื่อจะยึดเอาชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ดังนี้ แล้วก็ทรงส่งทูตแก่พระเจ้าสามันตรราชว่า ในภายในเจ็ดวัน จงให้ราชสมบัติแก่เรา หรือจงให้การรบ. ต่อจากนั้น พระองค์ทรงประชุมเหล่าอำมาตย์ของพระองค์แล้ว ตรัสว่า ข้าพเจ้ายังไม่ได้ปรึกษาพวกท่านเลย ได้ทำการผลุนผลันได้ส่งทูตอย่างนี้แก่พระราชาชื่อโน้น จะพึงทำอย่างไร?
               อำมาตย์เหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อาจที่จะทรงเรียกทูตนั้นกลับหรือ?
               ร. ไม่อาจ ทูตนั้นไปแล้ว
               อ. ถ้าอย่างนั้น พวกข้าพระองค์ก็ถูกพระองค์ให้พินาศแล้ว เพราะเหตุนั้น การตายด้วยมือของคนอื่นเป็นทุกข์ เอาเถิด พวกข้าพระองค์จะฆ่ากันตาย จะฆ่าตัวตาย จะผูกคอตาย จะดื่มยาพิษตาย.
               ในอำมาตย์เหล่านั้น อำมาตย์แต่ละคนได้พรรณนาถึงความตายอย่างนี้เท่านั้น แต่นั้น พระราชาตรัสว่าจะมีประโยชน์ด้วยอำมาตย์เหล่านี้ ดูก่อนพนาย ฉันมีทหารอยู่ดังนี้.
               ขณะนั้น ทหารหนึ่งพันนั้นลุกขึ้นทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เป็นทหาร. พระราชาทรงพระราชดำริว่า เราจักทดลองทหารเหล่านั้นดังนี้แล้ว ทรงให้เตรียมเชิงตะกอนไว้ ตรัสว่า ดูก่อนพนาย ฉันได้ทำการผลุนผลันชื่อนี้ พวกอำมาตย์คัดค้านการกระทำของฉันนั้น ฉันนั้นจะกระโดดเข้าสู่เชิงตะกอน ใครบ้างจะกระโดดเข้าพร้อมกับฉัน ใครยอมสละชีวิตเพื่อฉัน.
               ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พวกทหาร ๕๐๐ คนพากันลุกขึ้นทูลว่า ข้าพระองค์จะกระโดดเข้าไป มหาราช.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสกะทหาร ๕๐๐ อีกพวกว่า ดูก่อนพ่อ บัดนี้พวกเธอจักทำอย่างไร? ทหาร ๕๐๐ เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช นี้ไม่ใช่การกระทำของลูกผู้ชาย นั่นเป็นการประพฤติของผู้หญิง ความจริง พระมหาราชทรงส่งทูตแก่อริราชแล้ว พวกข้าพระองค์จักรบกับพระราชานั้นจนสิ้นชีวิต.
               แต่นั้น พระราชาตรัสว่า พวกท่านยอมสละชีวิตเพื่อเราดังนี้แล้ว ทรงตระเตรียมจตุรงคินีเสนา ทรงแวดล้อมด้วยทหารพันหนึ่งนั้น เสด็จไปประทับนั่ง ณ ชายแดนรัชสีมา.
               ฝ่ายพระเจ้าปฏิราชนั้นทรงสดับประพฤติการณ์นั้นแล้ว ทรงดีพระทัยว่า เอ้อเฮอ! เจ้าขุททกราชแม้นั้นไม่พอแม้แก่ทาสของเราดังนี้แล้ว ทรงยกกองทัพทั้งหมดเสด็จออกเพื่อรบ.
               พระเจ้าขุททกราชาทรงเห็นพระเจ้าปฏิราชนั้นผู้ยกทัพออกมาประเชิญหน้า จึงตรัสกะพลกายว่า ดูก่อนพ่อ พวกท่านไม่มากทั้งหมดจงรวมกันถือดาบและโล่ วิ่งไปตรงข้างหน้าพระราชานี้โดยเร็ว. ทหารเหล่านั้นได้กระทำตามพระดำรัส.
               ขณะนั้น กองทัพนั้นแตกออกเป็น ๒ ฝ่ายเปิดช่องว่างให้ พวกทหารเหล่านั้นจึงได้จับพระราชานั้นทั้งเป็น พวกทหารเหล่าอื่นก็หลบหนีไป พระเจ้าขุททกราชทรงวิ่งไปข้างหน้า ด้วยพระดำริว่าจักฆ่าพระราชานั้น.
               พระเจ้าปฏิราชทรงทูลขออภัยกะพระเจ้าขุททกราชนั้น.
               ต่อแต่นั้น พระเจ้าขุททกราชทรงประทานอภัยแก่พระเจ้าปฏิราชนั้น ทรงให้พระเจ้าปฏิราชนั้นทำการสาบาน ทำให้เป็นพวกของพระองค์แล้ว ทรงเริ่มเพื่อจะจับพระราชาองค์อื่นทั้งเป็นอีก จึงเสด็จไปพร้อมกับพระเจ้าปฏิราชนั้น ประทับยืน ณ ชายแดนรัชสีมาของพระเจ้าปฏิราชนั้น ทรงส่งข่าวไปว่าจงให้ราชสมบัติแก่เรา หรือจงให้การรบ.
               พระราชานั้นทรงพระราชดำริว่า เราไม่กล้ารบคนเดียวได้ จึงทรงมอบราชสมบัติ.
               โดยอุบายนั่นแล พระราชาทั้งหลายรบอยู่ พระราชาเหล่านั้นก็จักทรงพ่ายแพ้. พระราชาเหล่านั้นจึงไม่ทรงรบ ยอมมอบราชสมบัติให้ พระเจ้าขุททกราชจึงทรงพาพระราชาทั้งหมด จับพระเจ้ากรุงพาราณสีในที่สุด. พระราชาพระองค์นั้นทรงมีพระราชา ๑๐๑ พระองค์แวดล้อม ทรงครอบครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น เสวยสิริราชสมบัติ.
               ในกาลต่อมา พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ในกาลก่อน เราเป็นผู้ขัดสน ได้เป็นใหญ่แห่งชมพูทวีปทั้งสิ้นด้วยญาณสมบัติของตน ญาณของเราใดประกอบด้วยโลกิยวิริยะ ญาณนั้นย่อมไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา ย่อมไม่เป็นไปเพื่อปราศจากราคะ ดีทีเดียว ถ้าเราพึงแสวงหาโลกุตรธรรมด้วยญาณนี้.
               ลำดับนั้น จึงทรงพระราชทานราชสมบัติแก่พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงส่งพระราชบุตรและพระมเหสีกลับชนบทของตนเรียบร้อยแล้ว ทรงสมาทานบรรพชา ปรารภวิปัสสนา ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ.
               เมื่อจะทรงแสดงวิริยสมบัติของพระองค์ จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   อารทฺธวิริโย ปรมตฺถปตฺติยา
                                   อลีนจิตฺโต อกุสีตวุตฺตี
                                   ทฬฺหนิกฺขโม ถามพลูปปนฺโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลปรารภความเพียรเพื่อบรรลุปรมัตถประโยชน์
                         มีจิตไม่หดหู่ มีความประพฤติไม่เกียจคร้าน มีความ
                         บากบั่นมั่นคง ถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังกายและกำลัง
                         ญาณ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในคาถานั้น ชื่อว่าปรารภความเพียร เพราะอรรถว่าบุคคลนั้นปรารภความเพียรแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงความเพียรมีวิริยารัมภะเป็นต้นของตน ด้วยบทนี้.
               นิพพานเรียกว่าปรมัตถะ เพื่อบรรลุปรมัตถประโยชน์ด้วยการบรรลุนิพพานนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงผลอันพึงบรรลุด้วยวิริยารัมภะ ด้วยบทนี้.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงความที่จิตและเจตสิกอันพลวิริยะสนับสนุนแล้ว เป็นธรรมชาติไม่หดหู่ ด้วยบทว่า อลีนจิตฺโต นี้. แสดงความไม่เฉื่อยชาแห่งกายในการยืนการนั่งและการจงกรมเป็นต้น ด้วยบทว่า อกุสีตวุตฺติ นี้. แสดงความเพียรที่ตั้งมั่น ซึ่งเป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า๑- กามํ ตโจ จ นฺหารุ จ ด้วยบทว่า ทฬฺหนิกฺกโม นี้.
               บุคคลตั้งความเพียรนั้นในกิจทั้งหลายมีการศึกษาตามลำดับเป็นต้น เรียกว่าย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะด้วยกาย.๒-
               อีกอย่างหนึ่ง แสดงความเพียรที่สัมปยุตด้วยมรรค ด้วยบทนี้.
               จริงอยู่ ความเพียรนั้นชื่อว่า นิกขมะ เพราะเป็นความเพียรที่ได้แล้วด้วยการภาวนามั่นคง และเพราะเป็นความเพียรที่ออกจากธรรมที่เป็นปฏิปักษ์โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น แม้บุคคลผู้สมังคีด้วยความเพียรนั้น จึงชื่อว่า ทัฬหนิกกมะ เพราะอรรถว่าบุคคลนั้นมีความบากบั่นมั่นคง.
____________________________
๑- องฺ. ทุก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๕๑  ๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๕๗

               บทว่า ถามพลุปปนฺโน ความว่า ถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังกายและกำลังญาณ ในขณะแห่งมรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใดถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังอันเป็นเรี่ยวแรง เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังเรี่ยวแรง.
               มีอธิบายว่า ไม่ถึงพร้อมแล้วด้วยกำลังญาณ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อจะแสดงการประกอบวิปัสสนาญาณ จึงยังความที่ความเพียรนั้นเป็นประธานให้สำเร็จโดยแยบคาย ด้วยบทนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงประกอบบาทแม้ทั้งสามด้วยอำนาจแห่งความเพียรที่เป็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่อุกฤษฏ์.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อารัทธวิริยคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๕               
               คาถาว่า ปฏิสลฺลานํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               คาถานี้มีอุบัติเช่นเดียวกับอาวรณคาถานั่นเทียว จึงไม่มีความแปลกกันอย่างใดเลย แต่พึงทราบวินิจฉัยในอัตถวัณณนา.
               บทว่า ปฏิสลฺลานํ ได้แก่ การหมุนกลับจากสัตว์สังขารเหล่านั้นๆ แล้วหลีกเร้น. อธิบายว่า ความคบตนผู้เดียว ความเป็นผู้มีคนเดียว กายวิเวก.
               จิตวิเวกเรียกว่า ฌาน เพราะแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึก และเพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์และลักษณะ. ในบทนั้น สมาบัติแปดเรียกว่า ฌาน เพราะแผดเผาธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น และเพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์.
               ในคาถานี้ วิปัสสนา มรรคและผล ชื่อว่า ฌาน เพราะแผดเผาธรรมอันเป็นข้าศึกมีสัตตสัญญาเป็นต้น และเพราะเข้าไปเพ่งลักษณะนั่นเอง.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาอารัมมณูปนิชฌานเท่านั้น ไม่ละ คือไม่สละ ไม่ปล่อยซึ่งการหลีกเร้นและฌานนั่นด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ธมฺเมสุ ความว่า ในธรรมมีเบญจขันธ์เป็นต้น. ที่เข้าถึงวิปัสสนา.
               บทว่า นิจฺจํ ได้แก่ เนืองนิตย์ สม่ำเสมอ บ่อยๆ.
               บทว่า อนุธมฺมจารี ความว่า ประพฤติวิปัสสนาธรรมอันไปตาม เพราะปรารภธรรมเหล่านั้นเป็นไป. อีกอย่างหนึ่ง โลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่าธรรม. ธรรมอันอนุโลมแก่ธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าอนุธรรม. คำว่า อนุธรรมนั่นเป็นชื่อของวิปัสสนา.
               ในคาถานั้น เมื่อควรจะกล่าว ธมฺมานํ นิจฺจํ อนุธมฺมจารี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็กล่าวว่า ธมฺเมสุ ด้วยการเปลี่ยนวิภัตติ เพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา.
               บทว่า อาทีนวํ สมฺมสิตา ภเวสุ ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโทษมีอาการไม่เที่ยงเป็นต้น ในภพทั้งสามด้วยวิปัสสนา กล่าวคือความเป็นผู้ประพฤติตามธรรมนั้น พึงทราบว่าบรรลุแล้วซึ่งกายวิเวกและจิตวิเวกนี้ ด้วยปฏิปทากล่าวคือวิปัสสนาอันถึงยอดอย่างนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว. พึงทราบการประกอบดังนี้แล.
               ปฏิสัลลานคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๖               
               คาถาว่า ตณฺหกฺขยํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง ทรงกระทำประทักษิณพระนครด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ สัตว์ทั้งหลายมีหัวใจหมุนไปแล้ว เพราะความงามแห่งพระวรกายของท้าวเธอ จึงไปข้างหน้าบ้าง ไปข้างหลังบ้าง ไปโดยข้างทั้งสองบ้าง ก็ยังกลับมาแหงนดูพระราชาพระองค์นั้นแล.
               ก็ตามปกติแล้ว ชาวโลกไม่อิ่มในการดูพระพุทธเจ้า และในการดูพระจันทร์เพ็ญ สมุทรและพระราชา.
               ในขณะนั้น แม้ภรรยาของกุฏุมพีคนหนึ่งขึ้นปราสาทชั้นบน เปิดหน้าต่างยืนแลดูอยู่ พระราชาพอทรงเห็นนางเท่านั้น ก็มีพระราชหฤทัยปฏิพัทธ์ จึงตรัสสั่งอำมาตย์ว่า ดูก่อนพนาย เจ้าจงรู้ก่อนว่าสตรีนี้มีสามีแล้วหรือยังไม่มีสามี.
               อำมาตย์นั้นไปแล้วกลับมาทูลว่า มีสามีแล้ว พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า ก็สตรีนักฟ้อน ๒๐,๐๐๐ นางเหล่านี้ อภิรมย์เราคนเดียวเท่านั้น ดุจเหล่านางอัปสร บัดนี้ เรานั้นไม่ยินดีด้วยนางเหล่านั้น เกิดตัณหาในสตรีของบุรุษอื่น แม้ตัณหานั้นเกิดขึ้นก่อนก็จะฉุดไปสู่อบายเท่านั้นดังนี้แล้ว ทรงเห็นโทษของตัณหาแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เอาเถิด เราจะข่มตัณหานั้น. ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   ตณฺหกฺขยํ ปฏฺฐยํ อปฺปมตฺโต
                                   อเนลมูโค สุตฺวา สติมา
                                   สงฺขาตธมฺโม นิตโต ปธานวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลผู้ปรารถนาความสิ้นตัณหา พึงเป็นผู้
                         ไม่ประมาท ไม่เป็นคนบ้าคนใบ้ มีการสดับ
                         มีสติ มีธรรมอันกำหนดรู้แล้ว เป็นผู้เที่ยง
                         มีเพียร พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด
                         ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตณฺหกฺขยํ ได้แก่ พระนิพพาน หรือความไม่เป็นไปแห่งตัณหาที่มีโทษอันตนเห็นแล้วอย่างนี้นั่นเอง.
               บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ ผู้มีปกติกระทำติดต่อ.
               บทว่า อเนลมูโค ได้แก่ ไม่เป็นคนบ้าน้ำลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง คนไม่บ้าและคนไม่ใบ้ เป็นบัณฑิต. มีอธิบายว่า คนเฉลียวฉลาด.
               สุตะอันให้ถึงหิตสุขของบุคคลนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าสุตวา มีการสดับ. มีอธิบาย ผู้ถึงพร้อมด้วยอาคม.
               บทว่า สติมา ได้แก่ ผู้ระลึกถึงกิจทั้งหลายที่ทำไว้นานเป็นต้นได้.
               บทว่า สงฺขาตธมฺโม ได้แก่ มีธรรมอันกำหนดรู้แล้ว ด้วยการพิจารณาธรรม.
               บทว่า นิยโต ได้แก่ ถึงความเที่ยงด้วยอริยมรรค.
               บทว่า ปธานวา ได้แก่ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิริยคือสัมมัปปธาน.
               บาลีนั้น พึงประกอบสับเปลี่ยนลำดับว่า
               บุคคลผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยธรรมทั้งหลาย มีความไม่ประมาทเป็นต้นเหล่านั้น มีเพียรด้วยความเพียรอันให้ถึงความเที่ยง เป็นผู้เที่ยงโดยถึงความเที่ยง ด้วยความเพียรนั้น แต่นั้นมีธรรมอันกำหนดรู้แล้วด้วยการบรรลุพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               ก็พระอรหันต์ เรียกว่าผู้มีธรรมอันกำหนดรู้แล้ว เพราะไม่มีธรรมที่จะพึงกำหนดรู้อีก เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้มีธรรมอันตนกำหนดแล้วแล และพระเสขะและปุถุชนเหล่าใด มีอยู่ในโลกนี้๑- ดังนี้.
____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๙๘-๙๙

               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ตัณหักขยคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๗               
               คาถาว่า สีโห ว ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีพระองค์หนึ่ง มีพระราชอุทยานอยู่ในที่ไกล พระองค์ต้องเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน เสด็จลงจากพระยานในระหว่างมรรคา ด้วยพระราชดำริว่า เราไปสู่ท่าน้ำแล้วจักล้างหน้า.
               ก็ในประเทศนั้น นางราชสีห์ตกลูกราชสีห์แล้วไปหากิน.
               ราชบุรุษเห็นลูกราชสีห์นั้นแล้ว ทูลว่า ลูกราชสีห์ พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงพระราชดำริว่า ได้ยินว่า ราชสีห์ไม่กลัวใคร จึงตรัสสั่งให้ตีวัตถุมีกลองเป็นต้น เพื่อทดลองลูกราชสีห์นั้น. ลูกราชสีห์ฟังเสียงนั้นก็นอนตามเดิม. พระราชาตรัสสั่งให้ตีวัตถุถึงสามครั้ง ในครั้งที่ ๓ ลูกราชสีห์ก็ชูศีรษะขึ้น แลดูบริษัททั้งหมดแล้วนอนเหมือนเดิม.
               ขณะนั้น พระราชาตรัสว่า แม่ของลูกราชสีห์นั้นยังไม่กลับมาตราบใด พวกเราจะไปตราบนั้น เมื่อจะเสด็จไป ทรงพระราชดำริว่า ลูกราชสีห์แม้เกิดในวันนั้นก็ไม่สะดุ้ง ไม่กลัว ชื่อในกาลไหนหนอ เราพึงตัดความสะดุ้งเพราะตัณหาและทิฏฐิแล้ว ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงกลัว.
               พระองค์ทรงยึดอารมณ์นั้น เสด็จไปอยู่ ทรงเห็นลมพัดไม่ติดตาข่ายทั้งหลายที่พวกชาวประมงจับปลาแล้ว คลี่ตากไว้บนกิ่งไม้ทั้งหลาย ทรงยึดนิมิตแม้นั้นอีกว่า ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราพึงทำลายข่ายคือตัณหาทิฏฐิและข่ายคือโมหะ ไปไม่ติดขัดเช่นนั้น.
               ต่อมา พระองค์เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ประทับนั่งที่ฝั่งสระโบกขรณีที่มีแผ่นศิลา ทรงเห็นปทุมทั้งหลายที่ต้องลมแล้ว โอนเอนไปถูกน้ำ เมื่อปราศจากลม ก็ตั้งอยู่ตามที่เดิมอีก ไม่เปียกน้ำ จึงทรงถือนิมิตแม้นั้นว่า เมื่อไรหนอ แม้เราเกิดแล้วในโลก ไม่พึงติดในโลกดำรงอยู่ เหมือนปทุมเหล่านี้ เกิดในน้ำ ไม่เปียกน้ำดำรงอยู่ ฉะนั้น.
               พระราชานั้นทรงพระราชดำริบ่อยๆ ว่า เราไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงติด ไม่พึงเปียก เหมือนราชสีห์ ลมและปทุม ฉะนั้น แล้วทรงสละราชสมบัติ ผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ก็ทรงทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   สีโหว สทฺเทสุ อสนฺตสนฺโต
                                   วาโตว ชาลมฺหิ อสชฺชมาโน
                                   ปทุมํ ว โตเยน อลิมฺปมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยงเป็นต้น
                         เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง ไม่ข้องอยู่ใน
                         ธรรมมีขันธ์ และอายตนะเป็นต้น เหมือนลม
                         ไม่ข้องอยู่ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วยความยินดีและ
                         ความโลภ เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สีโห ได้แก่ สีหะ ๔ ประเภท คือ ติณสีหะ นรสีหะ กาฬสีหะ เกสรสีหะ. เกสรสีหะ ท่านกล่าวว่าเลิศกว่าสีหะ ๓ ประเภทนั้น
               เกสรสีหะนั้นเทียว ท่านประสงค์เอาในคาถานี้.
               บทว่า วาโต ได้แก่ ลมหลายชนิดด้วยอำนาจแห่งลมที่พัดมาทางทิศตะวันออกเป็นต้น.
               บทว่า ปทุมํ ว ได้แก่ ปทุมหลายชนิดด้วยอำนาจแห่งปทุมแดงและปทุมขาวเป็นต้น.
               ในลมและปทุมเหล่านั้น ลมอย่างใดอย่างหนึ่ง ปทุมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ควรทั้งนั้น.
               ในคาถานั้น เพราะความสะดุ้งย่อมมีได้ เพราะความรักตน และความรักตน ก็คือความติดด้วยอำนาจตัณหา แม้ความติดด้วยอำนาจตัณหานั้นย่อมมีได้ เพราะความโลภที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิหรือที่ปราศจากทิฏฐิ. ก็ความโลภนั้นคือตัณหานั่นเอง.
               ก็ในคาถานั้น ความข้องย่อมมีด้วยโมหะสำหรับบุคคลผู้เว้นจากการพิจารณา และโมหะก็คืออวิชชา ในการนั้น การละตัณหาย่อมมีได้ด้วยสมถะ การละอวิชชามีได้ด้วยวิปัสสนา เพราะฉะนั้น บุคคลละความรักตนด้วยสมถะแล้ว ไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยงเป็นต้น เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียงฉะนั้น ละโมหะด้วยวิปัสสนาปัญญาแล้ว ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่ายฉะนั้น ละโลภะและทิฏฐิที่สัมปยุตด้วยโลภนั่นเองด้วยสมถะนั้นแล ไม่ติดอยู่ด้วยความโลภ คือความยินดีในภพทั้งปวง เหมือนปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉะนั้น.
               ก็ในที่นี้ ศีลเป็นปทัฏฐานของสมถะ สมถะคือสมาธิ วิปัสสนาคือปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อธรรมทั้งสองนั้น สำเร็จอย่างนี้แล้ว ขันธ์ทั้ง ๓ ก็เป็นอันสำเร็จแล้ว.
               ในขันธ์ ๓ อย่างนั้น บุคคลเป็นผู้กล้าหาญด้วยศีลขันธ์ เขาย่อมไม่สะดุ้ง เพราะความที่ตนประสงค์เพื่อจะโกรธในอาฆาตวัตถุทั้งหลาย เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียงฉะนั้น ผู้มีสภาพอันแทงตลอดแล้วด้วยปัญญาขันธ์ ย่อมไม่ข้องอยู่ในธรรมอันต่างด้วยขันธ์เป็นต้น เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่ายฉะนั้น ผู้มีราคะไปปราศแล้วด้วยสมาธิขันธ์ ย่อมไม่ติดอยู่ด้วยราคะ เหมือนปทุมไม่ติดด้วยน้ำฉะนั้น
               บุคคลไม่สะดุ้ง ไม่ข้องอยู่ ไม่ติด ด้วยอำนาจแห่งการละอวิชชาตัณหา และอกุศลมูล ๓ ตามความเป็นจริง ด้วยสมถวิปัสสนา และด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์และปัญญาขันธ์ บัณฑิตพึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อสันตสันตคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๘               
               คาถาว่า สีโห ยถา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่งทรงทิ้งทางบ้านใหญ่และบ้านน้อย เพื่อทรงปราบปัจจันตชนบทที่กำเริบให้สงบ ทรงถือทางดงดิบซึ่งเป็นทางตรง เสด็จไปด้วยเสนาหมู่ใหญ่.
               ก็โดยสมัยนั้น ราชสีห์กำลังนอนตากแดดอ่อนอยู่ที่เชิงเขาลูกหนึ่ง ราชบุรุษเห็นราชสีห์นั้นแล้ว ทูลแด่พระราชา.
               พระราชาทรงพระราชดำริว่าได้ยินว่าราชสีห์ไม่สะดุ้งด้วยเสียง จึงตรัสสั่งให้ทำเสียง ด้วยเสียงกลอง สังข์และบัณเฑาะว์เป็นต้น ราชสีห์ก็นอนอย่างนั้นเทียว ทรงให้ทำเสียงแม้ในครั้งที่สองก็นอนอย่างนั้น ทรงให้ทำเสียงแม้ครั้งที่สาม ราชสีห์จึงคิดว่าศัตรูของเรามีอยู่ ก็ลุกขึ้นยืนผงาดด้วยเท้าทั้งสี่ บันลือสีหนาท พลกายทั้งหลายมีควาญช้างเป็นต้น ได้ฟังเสียงบันลือนั้นเทียวก็ลงจากพาหนะมีช้างเป็นต้น วิ่งเข้าพงหญ้า หมู่ช้างและหมู่ม้าก็วิ่งเตลิดไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่.
               แม้ช้างพระที่นั่งของพระราชาก็พาพระราชาบุกป่าทึบเป็นต้นหนีไป พระองค์เมื่อไม่สามารถเพื่อให้ช้างพระที่นั่งหยุดได้ จึงทรงเหนี่ยวโหนกิ่งไม้ตกลงพื้นดินแล้ว เสด็จไปโดยทางแคบที่เดินได้คนเดียว เสด็จถึงสถานเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงตรัสถามพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ณ ที่นั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าได้ฟังเสียงบ้างไหม?
               ป. ได้ฟัง พระมหาบพิตร
               ร. เสียงอะไร พระผู้เป็นเจ้า
               ป. ทีแรก เสียงกลอง เสียงสังข์เป็นต้น ภายหลัง เสียงราชสีห์.
               ร. พระผู้เป็นเจ้ากลัวไหม? ขอรับ
               ป. ไม่กลัวเสียงอะไรเลย พระมหาบพิตร
               ร. ก็พระผู้เป็นเจ้าอาจเพื่อกระทำข้าพเจ้ามิให้กลัวเช่นนี้ไหม?
               ป. อาจ พระมหาบพิตร ถ้าพระองค์ทรงผนวช
               ร. ข้าพเจ้าจะผนวช พระเจ้าข้า.
               แต่นั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้พระราชาพระองค์นั้นทรงผนวชแล้ว ให้ทรงศึกษาอภิสมาจาริกวัตร โดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั้นแล. พระราชาแม้พระองค์นั้นก็ทรงเจริญวิปัสสนา โดยนัยตามที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั่นเทียว ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   สีโห ยถา ทาฐพลี ปสยฺห
                                   ราชา มิคานํ อภิภุยฺยจารี
                                   เสเวถ ปนฺตานิ เสนาสนานิ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลพึงเสพเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียว
                         เช่นกับนอแรด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่
                         ครอบงำหมู่เนื้อเที่ยวไป ฉะนั้น
ดังนี้
               ในคาถานั้น ราชสีห์เป็นสัตว์มีความอดทน มีการฆ่าสัตว์และมีเชาว์เร็ว เกสรราชสีห์เท่านั้น ท่านประสงค์เอาในคาถานี้ พลังแห่งเขี้ยวของราชสีห์นั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ราชสีห์นั้น จึงชื่อว่า ทาฐพลี มีเขี้ยวเป็นกำลัง.
               สองบทว่า ปสยฺห อภิภุยฺย พึงประกอบพร้อมด้วย จารี ศัพท์ว่า ปสยฺหจารี อภิภุยฺยจารี.
               ในสองศัพท์นั้น ราชสีห์ชื่อว่า ปสยฺยหจารี เพราะเที่ยวข่มขี่เบียดเบียน ข่มไว้จับยึดไว้.
               ชื่อว่า อภิภุยฺยจารี เพราะเที่ยวครอบงำให้สะดุ้งทำไว้ในอำนาจ ราชสีห์นี้นั้นเที่ยวข่มขี่ด้วยกำลังกาย เที่ยวครอบงำด้วยเดช.
               ในสองศัพท์นั้น ถ้าใครพึงกล่าวว่า ราชสีห์เที่ยวข่มขี่ครอบงำซึ่งอะไรดังนี้ไซร้ แต่นั้น พึงทำสัตตมีวจนะว่า มิคานํ ให้เป็นทุติยาวจนะ เปลี่ยนเป็น มิเค ปสยฺห อภิภุยฺยจารี แปลว่าเที่ยวข่มขี่ครอบงำ ซึ่งเนื้อทั้งหลาย.
               บทว่า ปนฺตานิ ได้แก่ ที่ไกล.
               บทว่า เสนาสนานิ ได้แก่ สถานที่อยู่อาศัย.
               บทที่เหลืออาจเพื่อรู้ โดยนัยตามที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั่นแล เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้กล่าวไว้ให้พิสดาร
               ทาฐพลิคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๙               
               คาถาว่า เมตฺตํ อุเปกฺขํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งทรงได้เมตตาฌาน ท้าวเธอทรงพระราชดำริว่า ราชสมบัติกระทำอันตรายต่อความสุขในฌาน จึงทรงสละราชสมบัติเพื่อทรงรักษาฌานไว้ ทรงผนวชแล้ว ทรงเห็นแจ้งอยู่ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   เมตฺตํ อุเปกฺขํ กรุณํ วิมุตฺตึ
                                   อาเสวมาโน มุทิตญฺจ กาเล
                                   สพฺเพน โลเกน อวิรุชฺฌมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลเสพอยู่ ซึ่งเมตตาวิมุตติ กรุณาวิมุตติ
                         มุทิตาวิมุตติ และอุเบกขาวิมุตติ ในกาลอัน
                         สมควรไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวง พึงเที่ยว
                         ไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น
ดังนี้.
               ในคาถานั้น ความเป็นผู้ใคร่เพื่อนำเข้ามาซึ่งหิตสุข โดยนัยว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุขเถิด ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่าเมตตา. ความเป็นผู้ใคร่เพื่อนำออกไปซึ่งอหิตทุกข์ โดยนัยว่า โอหนอ! ขอเราพึงพ้นจากทุกข์นี้ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่ากรุณา. ความเป็นผู้ใคร่เพื่อไม่ให้พลัดพรากจากหิตสุข โดยนัยว่า สัตว์ผู้เจริญทั้งหลายเพลิดเพลินหนอ เพลิดเพลินดีแท้ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่ามุทิตา. ความเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ทั้งหลายว่า จักปรากฏด้วยกรรมของตนดังนี้ ชื่อว่าอุเบกขา.
               แต่ท่านกล่าวเมตตาแล้วกล่าวอุเบกขา แล้วกล่าวมุทิตาในภายหลัง โดยสับเปลี่ยนลำดับ ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การผูกคาถา.
               บทว่า วิมุตฺตึ ความว่า ก็ธรรมแม้ ๔ เหล่านั้น ชื่อว่าวิมุตติ เพราะเป็นธรรมพ้นแล้วจากธรรมเป็นข้าศึกทั้งหลายของตน.
               เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
                                   บุคคลเสพอยู่ ซึ่งเมตตาวิมุตติ
                         กรุณาวิมุตติ มุทิตาวิมุตติ และอุเบกขา
                         วิมุตติ ในกาลอันสมควร.

               ในคาถานั้น บทว่า อาเสวมาโน ความว่า อบรมอยู่ซึ่งธรรมทั้งสามด้วยอำนาจแห่งฌานหมวดสามและหมวดสี่ ซึ่งอุเบกขาด้วยอำนาจแห่งจตุตถฌาน.
               บทว่า กาเล ความว่า บุคคลเจริญเมตตาแล้ว ออกจากเมตตานั้นแล้วเสพกรุณา ออกจากกรุณานั้นแล้วเสพมุทิตา ออกจากมุทิตานั้น หรือจากฌานอันไม่มีปีตินอกนี้แล้วเสพอุเบกขา เรียกว่าเสพอยู่ในกาล. หรือเรียกว่าเสพอยู่ในกาลอันผาสุก เพื่อจะเสพ.
               บทว่า สพฺเพน โลเกน อวิรุชฺฌมาโน ความว่า ไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวงในทิศทั้งสิบ.
               จริงอยู่ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีเมตตาเป็นต้นอันตนเจริญแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็เป็นผู้ไม่น่าเกลียด และปฏิฆะอันก่อความโกรธในสัตว์ทั้งหลายย่อมสงบระงับ. เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวว่าไม่ยินร้ายด้วยโลกทั้งปวงดังนี้.
               ความสังเขปในคาถานี้มีเท่านี้. ส่วนเมตตาทิกถา ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาธรรมสังคหะ ชื่ออัฏฐสาลินี.
               บทที่เหลือเป็นเช่นกับนัยก่อนนั่นแล.
               อัปปมัญญาคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๔๐               
               คาถาว่า ราคญฺจ โทสํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อมาตังคะ องค์สุดท้ายของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย อยู่อาศัยพระนครราชคฤห์. ในกาลนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ของพวกเราอุบัติแล้ว เทวดาทั้งหลายพากันมา เพื่อประโยชน์ในการบูชาพระโพธิสัตว์ เห็นมาตังคปัจเจกพุทธเจ้านั้นแล้วกล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์! ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย! พระพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก.
               พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นออกจากนิโรธ ได้ฟังเสียงนั้นแล้วเห็นความสิ้นไปแห่งชีวิตของตนเทียว จึงเหาะไปที่ภูเขาชื่อว่ามหาปปาต ในหิมวันตประเทศซึ่งเป็นที่ปรินิพพานของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ใส่โครงกระดูกของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้วในกาลก่อนลงในเหว นั่งที่พื้นศิลา ได้กล่าวคาถานี้ว่า
                                   ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ
                                   สนฺทาลยิตฺวาน สํโยชนานิ
                                   อสนฺตสํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว
                         ทำลายสังโยชน์ทั้งหลายแล้ว ไม่สะดุ้ง
                         ในเวลาสิ้นชีวิต พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในคาถานั้น ราคะ โทสะ และโมหะ ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วในอุรคสูตร.
               บทว่า สํโยชนานิ ได้แก่ สังโยชน์ ๑๐. ทำลายสังโยชน์เหล่านั้นแล้วด้วยมรรคนั้นๆ.
               บทว่า อสนฺตสํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ ความว่า การจุติ คือการแตกดับแห่งจิต เรียกว่าความสิ้นชีวิต. ชื่อว่าไม่สะดุ้ง เพราะละความใคร่ในการสิ้นชีวิตนั้นแล้ว.
               พระมาตังคปัจเจกพุทธเจ้านั้นแสดงอุปาทิเสสนิพพานธาตุแก่ตน แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในเวลาจบคาถาด้วยประการฉะนี้แล.
               ชีวิตสังขยคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๔๑               
               คาถาว่า ภชนฺติ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งในพระนครพาราณสี ทรงครอบครองราชสมบัติกว้างขวาง มีประการที่กล่าวแล้วในคาถาต้นนั้นแล ท้าวเธอทรงพระประชวรหนัก ทุกขเวทนาเป็นไปอยู่ สตรี ๒๐,๐๐๐ นางต่างก็ทำการนวดพระหัตถ์และพระบาทเป็นต้น.
               อำมาตย์ทั้งหลายคิดว่า บัดนี้ พระราชาพระองค์นี้จักไม่รอดชีวิต เอาเถิด พวกเราจักแสวงหาที่พึ่งแห่งตนดังนี้ แล้วไปสู่พระราชสำนักของพระราชาพระองค์อื่น ก็ทูลขอการบำรุง. อำมาตย์เหล่านั้นบำรุงอยู่ในพระราชสำนักนั้นนั่นแล ก็ไม่ได้อะไรเลย.
               ฝ่ายพระราชาทรงหายพระประชวรแล้ว ตรัสถามว่า อำมาตย์ชื่อนี้และชื่อนี้ ไปไหน? แต่นั้น ทรงสดับประพฤติการณ์นั้นแล้วสั่นพระเศียร ทรงนิ่งแล้ว.
               อำมาตย์แม้เหล่านั้นสดับว่า พระราชาหายประชวรแล้ว เมื่อไม่ได้อะไรๆ ในพระราชสำนักของพระราชาพระองค์อื่นนั้น ประสบความเสื่อมอย่างยิ่ง จึงกลับมาอีก ถวายบังคมพระราชาแล้ว ยืนอยู่ในที่สุดส่วนหนึ่ง. อำมาตย์เหล่านั้นถูกพระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อ พวกท่านไปไหนมา จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ พวกข้าพระองค์เห็นพระองค์ทรงทุรพลภาพแล้ว จึงไปสู่ชนบทชื่อโน้น เพราะกลัวต่อการเลี้ยงชีวิต พระราชาทรงสั่นพระเศียรแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เอาเถอะ เราพึงทดลองอำมาตย์เหล่านี้ว่าจะพึงทำอย่างนี้แม้อีกหรือไม่.
               พระราชาพระองค์นั้นทรงแสดงพระองค์ประสบเวทนาหนัก ดุจถูกพระโรคให้ทรงพระประชวรในกาลก่อนกำเริบ ทรงกระทำความห่วงใยในการประชวร สตรีทั้งหลายก็แวดล้อมทำกิจทุกอย่างเช่นก่อนนั้นแล. อำมาตย์แม้เหล่านั้นก็พาชนนั้นมากกว่าเดิม หลีกไปอย่างนั้นอีก.
               พระราชาทรงกระทำเช่นกับที่กล่าวแล้วทั้งหมดถึงครั้งที่ ๓ อย่างนี้ แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็หลีกไปเหมือนเดิม.
               แต่นั้น พระราชาทรงเห็นอำมาตย์เหล่านั้นมาแล้วแม้ในครั้งที่ ๔ ทรงเบื่อหน่ายว่า โอ! อำมาตย์เหล่านี้ทิ้งเราผู้ป่วยไม่เยื่อใยหนีไป กระทำชั่วหนอ ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชเห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   ภชนฺติ เสวนฺติ จ การณตฺถา
                                   นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺช มิตฺตา
                                   อตฺตฏฺฐปญฺญา อสุจี มนุสฺสา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่สะอาด มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน
                         ผู้ไม่มีเหตุย่อมคบหาสมาคมมิตรผู้หาได้ยากในทุก
                         วันนี้ เพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ บุคคลพึงเที่ยวไปผู้
                         เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ภชนฺติ ความว่า แอบเข้าไปนั่งใกล้ด้วยร่างกาย.
               บทว่า เสวนฺติ ความว่า ย่อมบำเรอด้วยอัญชลีกรรมเป็นต้นและด้วยความเป็นผู้รับใช้. เหตุเป็นประโยชน์ของมนุษย์เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น มนุษย์เหล่านั้นจึงมีเหตุเป็นประโยชน์.
               อธิบายว่า เหตุอื่นในการคบและการเสพไม่มี. เหตุของมนุษย์เหล่านั้นอย่างนี้ มีอธิบายว่า ย่อมเสพเพราะเหตุแห่งตน.
               บทว่า นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺช มิตฺตา ความว่า ชื่อว่าผู้ไม่มีเหตุ เพราะเหตุแห่งการได้ประโยชน์อย่างนี้ว่าพวกเราจักได้ประโยชน์บางอย่างจากคนนี้ มาเป็นมิตรผู้ประกอบพร้อมด้วยความเป็นมิตรอันประเสริฐที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า
                         มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑
                         มิตรบอกประโยชน์ ๑ มิตรอนุเคราะห์ ๑.
#-
               ดังนี้อย่างเดียว ซึ่งหาได้ยากในทุกวันนี้.
____________________________
#- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๑๙๖ สิงฺคาลกสุตฺต

               ปัญญาของมนุษย์เหล่านั้นตั้งอยู่แล้วในตน มนุษย์เหล่านั้นเห็นแก่ตนเท่านั้น ไม่เห็นแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้น มนุษย์เหล่านั้นจึงชื่อว่ามีปัญญามุ่งประโยชน์ตน.
               ได้ยินว่า ศัพท์ อตฺตตฺถปญฺญา๒- แม้นี้เป็นบาลีเก่า.
               มีอธิบายว่า ปัญญาของมนุษย์เหล่านั้นย่อมเพ่งถึงประโยชน์ทั้งหลายที่เห็นในปัจจุบันเท่านั้น ย่อมไม่เพ่งถึงประโยชน์ในอนาคต.
____________________________
๒- ยุ. ทิฏฺฐฏฺฐปญฺญา.

               บทว่า อสุจี ความว่า ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอันไม่สะอาดคืออันไม่ประเสริฐ.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลก่อนนั่นแล.
               การณัตถคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               
               วรรคที่ ๔ ประกอบด้วยคาถา ๑๑ คาถาจบ               

               ขัคควิสาณสูตรนั้น มีคาถาจำนวน ๔๑ คาถา ผู้ศึกษาพึงประกอบตามสมควรในคาถาทั้งปวง โดยนัยแห่งโยชนาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในคาถาบางแห่งนั่นแล แล้วพึงทราบทั้งโดยอนุสนธิทั้งโดยอรรถดังพรรณนามาฉะนี้ แต่เราไม่ได้ประกอบในคาถาทั้งปวง เพราะเกรงว่าจะพิสดารเกินไป ดังนี้แล.
               จบอรรถกถาขัคควิสาณสูตร แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6971&Z=7101
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1095
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1095
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :