ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
ขัคควิสาณสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๕.

               คาถาที่ ๒               
               คาถาว่า สํสคฺคชาตสฺส ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               พระปัจเจกโพธิสัตว์แม้นี้กระทำสมณธรรมโดยนัยก่อนนั่นแล ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป ตลอด ๒๐,๐๐๐ ปี ในที่สุดทำกสิณบริกรรม ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นและกำหนดนามและรูป ทำการพิจารณาลักษณะ ยังไม่บรรลุอริยมรรค เกิดในพรหมโลก.
               เขาจุติจากพรหมโลกนั้นแล้ว เกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี เมื่อให้เจริญเติบโตโดยนัยก่อนนั่นเทียว จำเดิมแต่นั้น ก็ไม่ทรงรู้ความแปลกกันว่า นี้สตรี นี้บุรุษ เพราะอาศัยเหตุนั้น จึงไม่ทรงยินดีในมือของสตรีทั้งหลาย ย่อมไม่อดทนแม้เหตุสักว่าการอบ การอาบและการประดับเป็นต้น บุรุษทั้งหลายเท่านั้นเลี้ยงดูพระราชกุมารนั้น ในเวลาให้เสวยน้ำนม พวกนางนมทั้งหลายก็สวมเสื้อแปลงเพศเป็นบุรุษให้เสวยน้ำนม พระกุมารนั้นสูดกลิ่นของสตรีทั้งหลาย ทรงลุกขึ้นกันแสง แม้ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่ทรงปรารถนาเพื่อแตะต้องสตรีทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระญาติทั้งหลายจึงขนานพระนามของพระกุมารนั้นว่า อนิตฺถิคนฺโธ.
               ครั้นพระกุมารนั้นมีพระชันษาได้ ๑๖ พระชันษา พระราชาทรงพระราชดำริว่า เราจักให้กุมารดำรงวงศ์ตระกูล ทรงนำราชกัญญาอันสมควรแก่พระกุมารนั้น แต่ตระกูลต่างๆ แล้วตรัสสั่งอำมาตย์คนหนึ่งว่า เจ้าจงให้พระกุมารยินดี.
               อำมาตย์มีความประสงค์เพื่อให้พระกุมารนั้นทรงยินดีด้วยอุบายทั้งหลาย ได้กั้นม่านในที่ไม่ไกลจากพระกุมารนั้น ให้นักฟ้อนทั้งหลายประเล้าประโลม. พระกุมารทรงสดับเสียงที่ขับร้องและประโคม จึงตรัสว่านั่นเสียงของใคร. อำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ นั่นเป็นเสียงของนักฟ้อนทั้งหลายของพระองค์ ผู้มีบุญทั้งหลายย่อมมีนักฟ้อนทั้งหลายเช่นนี้ ข้าแต่พระสมมติเทพ พระองค์ทรงมีบุญมาก ขอพระองค์จงทรงอภิรมย์. พระกุมารทรงตีอำมาตย์ด้วยท่อนไม้ให้ไล่ออกไป. อำมาตย์นั้นกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาได้ตรัสสั่งอำมาตย์อีกว่า เจ้าจงไปพร้อมกับพระมารดาของพระกุมาร แล้วให้พระกุมารยินดี.
               พระกุมารนั้นถูกคนเหล่านั้นบีบคั้นอย่างยิ่งอยู่ จึงได้ประทานทองคำอันประเสริฐ แล้วตรัสสั่งพวกช่างทองว่า ท่านทั้งหลายจงทำรูปสตรีให้งาม. พวกช่างทองเหล่านั้นก็ได้ทำรูปสตรี ซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงเช่นกับพระวิษณุกรรมเนรมิต แล้วแสดงแก่พระกุมาร. พระกุมารทอดพระเนตรแล้วสั่นพระเศียรด้วยความอัศจรรย์ ส่งไปแก่พระมารดาและพระบิดา ด้วยพระดำรัสว่า ถ้าหม่อมฉันได้สตรีเช่นนี้ก็จะยอมรับ. พระมารดาและพระบิดาก็ทรงดำริว่า บุตรของพวกเรามีบุญมาก นางทาริกาบางคนที่ได้เคยทำบุญร่วมกับบุตรนั้น จักเกิดแล้วในโลกแน่แท้ ดังนี้แล้ว จึงให้ยกรูปทองคำนั้นขึ้นสู่รถ ตรัสสั่งแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า เชิญเถิด ท่านปรารถนาพึงแสวงหาทาริกาเช่นนี้.
               อำมาตย์เหล่านั้นนำไปสู่มหาชนบท ๑๖ แห่ง ไปสู่บ้านนั้นๆ เห็นประชุมชนในที่ใดๆ มีท่าน้ำเป็นต้น จึงตั้งรูปทองคำดุจเทวดาไว้ในที่นั้นๆ ทำการบูชาด้วยดอกไม้และเครื่องอลังการนานาชนิด ผูกเพดานยืนอยู่ในที่สุดข้างหนึ่ง ด้วยคิดว่า ถ้าจักมีใครๆ เคยเห็นเคยได้ยินสตรี ซึ่งมีรูปงามเห็นปานนี้ไซร้ เขาจักพูดขึ้นดังนี้ แล้วเที่ยวไปสู่ชนบททั้งปวงด้วยอุบายนั่น เว้นมัททรัฐแต่รัฐเดียว ดูแคลนว่ามัททรัฐนั้นเป็นรัฐเล็ก ไม่ไปในมัททรัฐนั้นก่อน แล้วกลับ.
               ลำดับนั้น อำมาตย์เหล่านั้นมีความคิดว่า พวกเราจะต้องไปสู่แม้มัททรัฐก่อน ขอพระราชาอย่าได้ส่งพวกเราผู้เข้าสู่กรุงพาราณสีไปอีกดังนี้ จึงได้ไปสู่สาคลนครในมัททรัฐ.
               ก็ในสาคลนครมีพระราชาพระนามว่า มัททวะ พระธิดาของพระเจ้ามัททวะนั้น มีพระชันษาได้ ๑๖ ปี มีพระรูปโฉมสวยงามยิ่งนัก และนางวรรณทาสีของพระธิดานั้น ก็ไปสู่ท่าน้ำ เพื่อประโยชน์แก่การตักน้ำอาบ เห็นรูปทองคำนั้นซึ่งอำมาตย์ทั้งหลายตั้งไว้ในที่นั้นแต่ไกลเทียว ก็พูดว่า พระราชบุตรีทรงส่งพวกเราเพื่อประโยชน์แก่น้ำ ก็เสด็จมาเสียเอง แล้วเข้าไปใกล้พูดว่า สตรีนี้ไม่ใช่เจ้านายของพวกเรา เจ้านายของพวกเราสวยงามยิ่งกว่าสตรีนี้.
               พวกอำมาตย์ได้ฟังดังนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลขอทาริกาโดยนัยอันสมควร.
               พระราชาแม้นั้น ก็ทรงพระราชทาน.
               ต่อแต่นั้น พวกอำมาตย์ได้ส่งข่าวทูลพระเจ้ากรุงพาราณสีว่าทาริกาได้แล้ว พระองค์จักเสด็จมาเอง หรือพวกข้าพระองค์เท่านั้นจะนำมาดังนี้
               พระองค์ส่งข่าวไปว่า เมื่อเราไปจักเป็นการเบียดเบียนชนบท พวกท่านเท่านั้นจงนำทาริกานั้นมา. อำมาตย์ทั้งหลายพาทาริกาออกจากพระนคร ส่งข่าวไปถวายพระกุมารว่า ทาริกาเช่นกับรูปทองคำได้แล้ว พระกุมารแม้ทรงสดับข่าวนั้น ก็ถูกราคะครอบงำ เสื่อมจากปฐมฌาน พระองค์ทรงส่งทูตคนอื่นๆ ว่า พวกท่านจงนำมาเร็ว พวกท่านจงนำมาเร็ว.
               พวกอำมาตย์นั้นถึงกรุงพาราณสีโดยพักคืนเดียวเท่านั้นในที่ทั้งปวง ยืนอยู่ในภายนอกพระนคร ส่งข่าวถวายพระราชาว่า พึงเข้าไปในวันนี้หรือไม่.
               พระราชาตรัสสั่งว่า เรานำนางทาริกาจากตระกูลประเสริฐที่สุด ทำมงคลกิริยาแล้วจักให้เข้ามา ด้วยสักการะอันใหญ่ พวกท่านจงนำนางทาริกานั้นไปสู่อุทยานก่อน.
               อำมาตย์เหล่านั้นได้ทำตามพระราชโองการแล้ว นางทาริกานั้นเป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง บอบช้ำแล้วเพราะการกระทบกระแทกแห่งยาน มีโรคลมเกิดขึ้น เพราะความเมื่อยล้าจากเดินทางไกล จึงได้ทำกาละเสียในคืนนั้นเอง ดุจดอกไม้ที่เหี่ยวไปฉะนั้น.
               พวกอำมาตย์คร่ำครวญว่า พวกเราฉิบหายแล้วจากสักการะ พระราชาก็ดี ชาวนครก็ดีต่างก็คร่ำครวญว่าตระกูลวงศ์พินาศแล้ว ความวุ่นวายใหญ่ได้มีแล้วในพระนคร.
               พระกุมารพอได้สดับเท่านั้น ก็ทรงเกิดความเศร้าโศกอันยิ่งใหญ่. ต่อแต่นั้น พระกุมารก็ทรงปรารภเพื่อขุดรากเหง้าแห่งความเศร้าโศก พระองค์ทรงดำริว่า ธรรมดาความโศกนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด แต่ย่อมมีแก่ผู้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ความโศกมีเพราะอาศัยชาติ ก็ชาติมีเพราะอาศัยอะไรเล่า แต่นั้น ทรงมนสิการโดยแยบคายด้วยอานุภาพแห่งภาวนาในกาลก่อนอย่างนี้ว่า ชาติมีเพราะอาศัยภพ ทรงเห็นปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและปฏิโลม ทรงพิจารณาสังขารทั้งหลาย ประทับนั่ง ณ ที่นั้นนั่นแล ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ.
               อำมาตย์ทั้งหลายเห็นพระกุมารนั้น ทรงมีความสุขด้วยความสุขอันเกิดจากมรรคผล มีพระอินทรีย์สงบ พระมานัสสงบ ประทับอยู่ จึงประนมมือกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ ขอพระองค์อย่าทรงเศร้าโศกเลย ชมพูทวีปใหญ่ ข้าพระองค์จักนำมาซึ่งทาริกาอื่นที่งามกว่า.
               พระกุมารนั้นตรัสว่า เราไม่เศร้าโศก แต่หมดความเศร้าโศกแล้ว เราเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               คำนั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่นี้ เป็นเช่นกับคาถาแรก เว้นการพรรณนาคาถา.
               ก็ในการพรรณนาคาถา บทว่า สํสคฺคชาตสฺส ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องเกิดแล้ว ในคาถานั้น ความเกี่ยวข้องมี ๕ อย่าง คือ
               ๑. ทัสสนสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น
               ๒. สวนสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องเพราะการฟัง
               ๓. กายสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องทางกาย
               ๔. สมุลลาปนสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องเพราะการสนทนา
               ๕. สัมโภคสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องเพราะกินร่วมกัน.
               ในความเกี่ยวข้อง ๕ อย่างนั้น ราคะเกิดด้วยอำนาจแห่งจักขุวิญญาณวิถี เพราะเห็นซึ่งกันและกัน ชื่อว่าทัสสนสังสัคคะ.
               ธิดาของกุฎุมพีผู้มีจิตรักใคร่ เพราะเห็นภิกษุหนุ่มชื่อทีฆภาณกะ ผู้อยู่ในกัลยาณวิหาร ซึ่งกำลังไปสู่กาลทีฆวาปีคามเพื่อบิณฑบาต ในสีหลทวีป ไม่ได้ภิกษุหนุ่มนั้นด้วยอุบายบางอย่าง ก็ทำกาลกิริยา และภิกษุหนุ่มรูปนั้นเองเห็นผ้านุ่งของธิดานั้น ก็คิดว่าเราไม่ได้อยู่ร่วมกับนางผู้นุ่งผ้าเห็นปานนี้ แล้วหัวใจแตกตาย เป็นตัวอย่างในทัสสนสังสัคคะนั้น.
               ก็ราคะเกิดด้วยอำนาจแห่งโสตวิญญาณวิถี เพราะฟังสมบัติมีรูปเป็นต้นที่คนอื่นทั้งหลายพูดถึง หรือเพราะตนได้ฟังเสียงหัวเราะ เสียงพูดจาและเสียงเพลงขับ ชื่อว่าสวนสังสัคคะ.
               แม้ในสวนสังสัคคะนั้น ภิกษุหนุ่มชื่อติสสะผู้อยู่ในถ้ำปัญจัคคฬะ กำลังเหาะทางอากาศ ได้ฟังเสียงของธิดาช่างมีดผู้อยู่ในคิริคาม ไปสระปทุมพร้อมกับกุมารี ๕ นางอาบน้ำแล้วยกดอกไม้ร้องเพลงด้วยเสียงดัง ก็เสื่อมจากคุณวิเศษ เพราะกามราคะ ถึงความพินาศเป็นตัวอย่าง.
               ราคะเกิดเพราะลูบคลำอวัยวะของกันและกัน ชื่อว่ากายสังสัคคะ. ก็ในกายสังสัคคะนี้มีภิกษุหนุ่มชื่อธรรมภาสกะเป็นตัวอย่าง.
               ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มกล่าวธรรมในมหาวิหาร เมื่อมหาชนมาในมหาวิหารนั้น แม้พระราชาก็เสด็จไปพร้อมกับชาววัง แต่นั้นราคะกล้าได้เกิดแก่พระราชธิดา เพราะอาศัยรูปและเสียงของภิกษุหนุ่มนั้น และเกิดแม้แก่ภิกษุหนุ่มรูปนั้น. พระราชาทรงเห็นเหตุนั้น ทรงกำหนดแล้ว ให้ล้อมด้วยกำแพงคือม่าน เธอทั้งสองนั้นก็เคล้าคลึงโอบกอดซึ่งกันและกัน ชนทั้งหลายเลิกผ้าม่านแลดูอีก ก็เห็นเธอทั้งสองถึงแก่ความตายแล้ว.
               ก็ราคะเกิดเพราะการสนทนาปราศรัยกะกันและกัน ชื่อว่าสมุลลาปนสังสัคคะ.
               ราคะเกิดในเพราะทำการบริโภคร่วมกันกับภิกษุณีทั้งหลาย ชื่อว่าสัมโภคสังสัคคะ.
               ในสังสัคคะแม้ทั้งสองนั้น ภิกษุและภิกษุณีถึงอาบัติปาราชิกเป็นตัวอย่าง.
               ได้ยินว่า ในการฉลองมหาวิหาร ชื่อมิรจิวัฏฏกะ พระเจ้าทุฏฐคามณีอภยมหาราชทรงจัดแจงมหาทานอังคาสพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ในการฉลองมหาวิหารนั้น เมื่อถวายข้าวยาคูร้อน สามเณรีผู้ยังใหม่กว่าสงฆ์ได้ถวายวลัยงาแก่สามเณรผู้ใหม่กว่าสงฆ์ซึ่งไม่มีเชิงรองบาตร ได้ทำการเจรจาปราศรัยกัน. เธอแม้ทั้งสองนั้นอุปสมบทแล้วได้ ๖๐ พรรษา ไปสู่ฝั่งโน้นได้รับบุพสัญญา เพราะการเจรจาปราศรัยกะกันและกัน ก็เกิดสิเนหาในทันที ทันใดนั้นเองล่วงละเมิดสิกขาบท ต้องอาบัติปาราชิก.
               ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ด้วยความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งในความเกี่ยวข้อง ๕ อย่าง ราคะอันมีกำลังย่อมเกิดขึ้น เพราะราคะในกาลก่อนเป็นปัจจัยด้วยประการฉะนี้. แต่นั้น ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย คือทุกข์นี้มีประการต่างๆ มีความโศกและความคร่ำครวญเป็นต้น ทั้งที่เป็นทิฏฐธรรมและสัมปรายิกภพย่อมเกิดขึ้น คือย่อมบังเกิด ย่อมมี ย่อมเกิด ติดตามความเยื่อใยนั้นนั่นเอง. ส่วนอาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ได้แก่การปล่อยใจในอารมณ์ แต่นั้น ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเพราะความเยื่อใย ดังนี้แล.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ครั้นตรัสอรรถคาถานี้มีประเภทแห่งเนื้อความอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ทุกข์มีความโศกเป็นต้นนี้ใด ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย เรานั้นได้ขุดรากเหง้าของทุกข์นั้น จึงบรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณ. ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์เหล่านั้นจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พวกข้าพระองค์พึงทำอย่างไร.
               ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสว่า พวกท่านหรือพวกอื่น ผู้ใดต้องการพ้นจากทุกข์นี้ ผู้นั้นแม้ทั้งหมดเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               ก็คำว่า เล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใยนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายเอาคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเชื่อมความอย่างนี้ว่า ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้องเกิดแล้ว ด้วยความเกี่ยวข้องตามที่กล่าวแล้ว ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย เราเล็งเห็นทุกข์นั้นอันเกิดแต่ความเยื่อใย ทำความเสียดแทงตามที่มาแล้ว จึงบรรลุดังนี้
               พึงทราบว่า บาทที่ ๔ พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสแล้วด้วยอำนาจแห่งอุทาน โดยนัยที่กล่าวแล้วในก่อนนั่นเทียว.
               บททั้งปวงนอกจากนั้น เป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในคาถาต้นนั้นแล.
               สังสัคคคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓               
               คาถาว่า มิตฺเต สุหชฺเช ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               พระปัจเจกโพธิสัตว์นี้อุบัติโดยนัยที่กล่าวแล้วในคาถาแรกนั้นเทียว
               เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ยังปฐมฌานให้เกิดแล้ว ทรงพิจารณาว่าสมณธรรมประเสริฐ หรือว่าราชสมบัติประเสริฐ ทรงมอบราชสมบัติในมือของอำมาตย์ ๔ คนแล้วทรงกระทำสมณธรรม. อำมาตย์ทั้งหลายแม้พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงทำโดยธรรม โดยสม่ำเสมอ ก็รับสินบนทำโดยอธรรม อำมาตย์เหล่านั้นไม่รับสินบนก็ทำโดยอธรรม รับสินบนแล้วทำเจ้าของทั้งหลายให้แพ้.
               ในกาลครั้งหนึ่ง ให้ราชวัลลภคนหนึ่งให้แพ้ ราชวัลลภนั้นเข้าไปเฝ้าพร้อมกับพวกพนักงานห้องเครื่องของพระราชา ทูลบอกเรื่องทั้งหมด. ในวันที่ ๒ พระราชาเสด็จไปสู่สถานที่วินิจฉัยด้วยพระองค์เอง แต่นั้น หมู่มหาชนได้ร้องเสียงดังว่า พวกอำมาตย์ทำเจ้าของมิให้เป็นเจ้าของ ได้กระทำเสียงดังเหมือนการรบใหญ่.
               ลำดับนั้น พระราชาเสด็จลุกจากสถานที่วินิจฉัย เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ประทับนั่งเพื่อทรงเข้าสมาบัติ แต่ไม่อาจเพื่อทรงเข้าได้ เพราะทรงฟุ้งซ่านด้วยเสียงนั้น พระองค์ทรงพิจารณาว่า เราจะมีประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติ สมณธรรมประเสริฐกว่าดังนี้ แล้วทรงสละความสุขในราชสมบัติ ทรงยังสมาบัติให้เกิดขึ้นอีก ทรงพิจารณาเห็นโดยนัยที่กล่าวในกาลก่อนนั่นแล ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณ และถูกทูลถามถึงกรรมฐาน จึงได้ตรัสคาถานี้.
               ในคาถานั้น คนทั้งหลาย ชื่อว่ามิตร ด้วยอำนาจแห่งความรักใคร่. ชื่อว่าสหาย เพราะความเป็นผู้มีใจดี. ก็คนบางพวกเป็นมิตรเท่านั้นไม่เป็นสหาย เพราะความเป็นผู้ใคร่ประโยชน์เกื้อกูลอย่างเดียว. บางพวกเป็นสหายเท่านั้นไม่เป็นมิตร เพราะให้เกิดสุขทางใจในการทั้งหลายมีการมา การยืน การนั่งและการพูดเจรจาเป็นต้น. บางพวกเป็นทั้งสหายเป็นทั้งมิตร ด้วยอำนาจแห่งธรรมทั้งสองนั้น.
               มิตรสหายเหล่านั้นมี ๒ พวก คือ ฆราวาส ๑ บรรพชิต ๑.
               ใน ๒ พวกนั้น ฆราวาสมี ๓ พวก คือ ผู้มีอุปการะ ๑ ผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ ผู้อนุเคราะห์ ๑. บรรพชิตโดยพิเศษคือ ผู้บอกประโยชน์ มิตรสหายเหล่านั้นประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑-
               ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรสหายผู้มีอุปการะ พึงทราบด้วยฐานะ ๔ อย่างคือ
                         ๑. รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
                         ๒. รักษาทรัพย์สมบัติของมิตรผู้ประมาทแล้ว
                         ๓. เป็นที่พึ่งพำนักของมิตรผู้กลัว
                         ๔. เมื่อกรณียกิจเกิดขึ้น ก็เพิ่มโภคทรัพย์ให้มากกว่าที่ออกปากขอ.
               อนึ่ง ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรสหายผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบด้วยฐานะ ๔ อย่าง คือ
                         ๑. บอกความลับแก่มิตร
                         ๒. ปกปิดความลับของมิตร
                         ๓. ไม่ทอดทิ้งมิตรในคราวมีอันตราย
                         ๔. ชีวิตก็สละได้เพื่อประโยชน์แก่มิตร.
               อนึ่ง ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรสหายผู้อนุเคราะห์ พึงทราบด้วยฐานะ ๔ อย่าง คือ
                         ๑. ไม่ดีใจเพราะมิตรยากจน
                         ๒. ดีใจเพราะมิตรมั่งมี
                         ๓. ป้องกันคนติเตียนมิตร
                         ๔. สรรเสริญคนยกย่องมิตร.
               อนึ่ง ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรสหายผู้บอกประโยชน์ พึงทราบด้วยฐานะ ๔ อย่าง คือ
                         ๑. ห้ามจากการทำบาป
                         ๒. ให้ตั้งอยู่ในคุณความดี
                         ๓. ให้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง
                         ๔. บอกทางสวรรค์ให้
____________________________
๑- ที. ปา. ข้อ ๑๑/เล่ม ๑๙๓

               เพราะฉะนั้น ฆราวาสท่านประสงค์เอาในที่นี้ แต่โดยอรรถ ฆราวาสและบรรพชิตแม้ทั้งหมดก็ควร.
               บทว่า มิตฺเต สุหชฺเช อนุกมฺปมาโน ความว่า เอ็นดู คือประสงค์เพื่อนำเข้ามาซึ่งสุขแก่มิตรสหายเหล่านั้น.
               บทว่า หาเปติ อตฺถํ ความว่า ยังประโยชน์ ๓ อย่างด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิธัมมิกประโยชน์ สัมปรายิกประโยชน์และปรมัตถประโยชน์ให้เสื่อม คือให้พินาศ
               อีกอย่างหนึ่ง ยังประโยชน์ ๓ อย่าง แม้ด้วยอำนาจแห่งประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น และประโยชน์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ให้เสื่อม คือให้พินาศ ย่อมยังประโยชน์ให้เสื่อม คือย่อมให้พินาศ ด้วยการยังวัตถุที่ได้แล้วให้พินาศ และด้วยการไม่ให้เกิดสิ่งที่ยังไม่ได้บ้าง ด้วยวิธีทั้งสองบ้าง.
               บทว่า ปฏิพทฺธจิตฺโต ความว่า บุคคลแม้ตั้งตนไว้ในฐานะต่ำต้อยกว่า เราเว้นจากคนนี้จักไม่เป็นอยู่ คนนั่นเป็นคติของเรา คนนั่นเป็นผู้นำของเราดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว. แม้ตั้งตนไว้ในฐานะสูงส่งว่า คนเหล่านี้เว้นเราเสียแล้วย่อมไม่เป็นอยู่ เราเป็นคติของคนเหล่านั้น เป็นผู้นำของคนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว.
               ก็ผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้วอย่างนี้ ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้.
               บทว่า เอตํ ภยํ ท่านกล่าวหมายถึงภัยที่ยังประโยชน์ให้เสื่อมนั่น คือความเสื่อมจากสมบัติของตน.
               บทว่า สนฺถเว ความว่า การเชยชมมี ๓ อย่าง ด้วยสามารถแห่งการเชยชม คือ ตัณหา ทิฏฐิและมิตร.
               ในการเชยชม ๓ อย่างนั้น ตัณหาแม้ ๑๐๘ ประเภท ชื่อว่าตัณหาสันถวะ. ทิฏฐิแม้ ๖๒ ประเภท ชื่อว่าทิฏฐิสันถวะ. การอนุเคราะห์มิตร ด้วยความเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์แล้ว ชื่อว่ามิตรสันถวะ.
               มิตรสันถวะนั้น ท่านประสงค์เอาในพระสูตรนี้ ด้วยว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเสื่อมจากสมาบัติก็เพราะมิตรสันถวะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เราเล็งเห็นภัยนั่นในการชมเชย จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ.
               คำที่เหลือพึงทราบว่า เป็นเช่นกับคำที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               มิตตสุหัชชคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๔               
               คาถาว่า วํโส วิสาโล ดังนี้ มีอุบัติเหตุอย่างไร ?
               ได้ยินว่า ในกาลก่อน พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๓ องค์บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป. บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรสิ้น ๒๐,๐๐๐ ปี อุบัติในเทวโลก เคลื่อนจากเทวโลกนั้นแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าเกิดในราชตระกูลในกรุงพาราณสี. นอกนี้เกิดในราชตระกูล ในปัจจันตประเทศ.
               ทั้งสองนั้นเรียนกรรมฐาน สละราชสมบัติ บวชเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยลำดับ อยู่ที่เงื้อมนันทมูลกะ.
               ในวันหนึ่งออกจากสมาบัติ ระลึกว่า พวกเราทำกรรมอะไรจึงบรรลุถึงโลกุตรสุขนี้ พิจารณาอยู่ ได้เห็นจริยาของตนในกัสสปพุทธกาล. ลำดับนั้น ระลึกอีกว่าคนที่ ๓ อยู่ที่ไหน เห็นคนที่ ๓ เสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี ระลึกถึงคุณของหัวหน้านั้น คิดว่าโดยปกติเทียว พระราชาพระองค์นั้นทรงถึงพร้อมด้วยคุณมีความเป็นผู้ปรารถนาน้อยเป็นต้น ทรงโอวาทพวกเรา ผู้ประพฤติอดทนต่อคำพูด ทรงติเตียนบาป เอาเถิด พวกเราแสดงอารมณ์แล้ว จะเปลื้องพระองค์ ดังนี้ แสวงหาโอกาสอยู่.
               ในวันหนึ่ง เห็นพระราชาพระองค์นั้นทรงประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง กำลังเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน แล้วเหาะไปทางอากาศยืนอยู่ที่โคนก่อไม้ไผ่ ที่ประตูพระราชอุทยาน มหาชนกำลังแลดูพระราชาด้วยการดูพระราชาของตน.
               ต่อจากนั้น พระราชาทรงแลดูว่า มีใครหนอแลขวนขวายในการดูเรา ทรงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และพร้อมกับทรงเห็นนั่นเทียว พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาในพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น. พระองค์จึงเสด็จลงจากคอช้าง เสด็จเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยอากัปกิริยาอันสงบ แล้วตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมีชื่ออย่างไร.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทูลตอบว่า มหาบพิตร พวกอาตมาชื่อว่าผู้ไม่เกี่ยวข้อง.
               ร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ว่าผู้ไม่เกี่ยวข้อง มีประโยชน์อย่างไร.
               ป. มหาบพิตร ประโยชน์ คือความไม่เกี่ยวข้อง.
               ต่อแต่นั้น เมื่อจะแสดงกอไผ่นั้นจึงทูลว่า
               มหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษมีดาบในมือ ตัดรากกอไผ่นั้นซึ่งเกี่ยวพันราก ลำต้นและกิ่งโดยประการทั้งปวงอยู่ ดึงมาก็ไม่อาจยกขึ้นแม้ฉันใด พระองค์ถูกตัณหาพายุ่งเกี่ยวให้นุงทั้งข้างในและข้างนอก เป็นผู้เกี่ยวข้องซ่านไป ติดอยู่ในตัณหาพายุ่งนั้นฉันนั้นเหมือนกัน. หน่อไม้ไผ่นี้แม้จะอยู่ในท่ามกลางก่อไผ่นั้น แต่เพราะกิ่งยังไม่เกิด จึงไม่ติดกับอะไรอยู่ และใครก็อาจเพื่อจะตัดยอดหรือรากยกไปได้แม้ฉันใด พวกอาตมาไม่เกี่ยวข้องในที่ไหนๆ ย่อมเที่ยวไปทั่วทิศฉันนั้นเหมือนกัน แล้วเข้าฌานที่ ๔ ในทันใดนั้นแล เมื่อพระราชาทรงดูอยู่นั่นเทียว ก็เหาะไปสู่เงื้อมภูเขานันทมูล.
               แต่นั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า แม้เราพึงเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องอย่างนี้ในกาลไหนหนอแล แล้วประทับนั่งในที่นั้นแล พระองค์ทรงเห็นแจ้งได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ถูกถามถึงกรรมฐานโดยนัยก่อนเทียว จึงตรัสพระคาถานี้.
               ในคาถานั้น บทว่า วํโส ได้แก่ ไม้ไผ่.
               บทว่า วิสาโล ได้แก่ กว้างขวาง. อักษรลงในอรรถอวธารณะ หรือ เอวอักษร. เอวอักษรในที่นี้พึงเห็นด้วยการสนธิ. เอวอักษรเชื่อมกับบทปลายของบทว่า วิสาโล ข้าพเจ้าจะประกอบเอวอักษรนั้นในภายหลัง.
               บทว่า ยถา ได้แก่ การเปรียบเทียบ. บทว่า วิสตฺโต ได้แก่ ติดแล้ว คือพาให้นุง เย็บให้ติดกัน. บทว่า ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ คือ ในบุตร ธิดา และภริยา. บทว่า ยา อเปกฺขา ได้แก่ ตัณหาอันใด คือความเยื่อใยอันใด.
               บทว่า วํสกฬีโรว อสชฺชมาโน คือ ไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้.
               มีอธิบายอย่างไร
               ไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกันฉันใด ความเยื่อใยในบุตรและภรรยาแม้นั้น ชื่อว่าข้องอยู่แล้ว เพราะความเป็นธรรมเย็บวัตถุเหล่านั้นตั้งอยู่ฉันนั้น เรานั้นเห็นโทษในความเยื่อใยอย่างนี้ว่าข้องอยู่แล้วด้วยความเยื่อใยนั้น ดุจไม้ไผ่กอใหญ่ฉะนั้น แล้วตัดเยื่อใยนั้นด้วยมรรคญาณ ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจแห่งตัณหามานะและทิฏฐิในรูปเป็นต้น หรือในทิฏฐิเป็นต้น หรือในโลภะเป็นต้น หรือในกามภพเป็นต้น หรือในกามราคะเป็นต้น ดุจหน่อไม้ไผ่นี้ จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ดังนี้.
               บทที่เหลือพึงทราบ โดยนัยก่อนนั่นแล.
               วังสกฬีรคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๕               
               คาถาว่า มิโค อรญฺญมฺหิ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระโยคาวจร ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป. ทำกาลกิริยาแล้ว เกิดในตระกูลเศรษฐีอันมั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก ในกรุงพาราณสี. เขาเป็นคนมีราคะ เพราะเหตุนั้น จึงประพฤติล่วงภรรยาคนอื่น ได้ถึงแก่กรรมในชาตินั้นแล้วเกิดในนรก หมกไหม้ในนรกนั้นแล้ว ได้ถือปฏิสนธิเป็นหญิงในท้องของภรรยาเศรษฐี ด้วยเศษวิบากที่เหลือ. ร่างกายทั้งหลายของสัตว์ทั้งหลายที่มาจากนรก ย่อมเป็นของร้อน เพราะเหตุนั้น ภรรยาเศรษฐีทรงครรภ์นั้นด้วยท้องที่ร้อนโดยลำบากยากเข็ญ ได้คลอดเด็กหญิงโดยกาล.
               นางจำเดิมแต่วันเกิดแล้ว เป็นที่เกลียดชังของมารดาบิดา และพวกพ้องบริชนที่เหลือ และเจริญวัยแล้ว บิดามารดาให้ในตระกูลใดก็เป็นที่เกลียดชังของสามี พ่อผัวแม่ผัวในตระกูลแม้นั้น ครั้นเขาประกาศนักษัตร บุตรเศรษฐีเมื่อไม่ปรารถนาเพื่อจะเล่นกับธิดาของเศรษฐีนั้น นำนางแพศยาเล่นกีฬา.
               นางได้ฟังจากสำนักของทาสีทั้งหลาย จึงเข้าไปหาบุตรเศรษฐี ค่อนว่าด้วยประการต่างๆ ว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ธรรมดาสตรีแม้ถ้าเป็นน้องสาวของพระราชาทั้ง ๑๐ พระองค์ก็ดี เป็นธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิก็ดี แม้ถึงอย่างนั้นก็เป็นผู้ทำงานรับใช้สามี เมื่อสามีไม่พูดเจรจาด้วยก็เสวยทุกข์ ดุจถูกยกขึ้นสู่หลาว จึงพูดว่า ถ้าดิฉันควรแก่การอนุเคราะห์ก็พึงอนุเคราะห์ ถ้าไม่ควรอนุเคราะห์ก็พึงทิ้งเสีย ดิฉันจักไปสู่ตระกูลญาติของตน.
               บุตรเศรษฐีกล่าวว่า ช่างเถิด นางคนสวย เจ้าอย่าเศร้าโศก จงเตรียมการเล่น พวกเราจักเล่นนักษัตร.
               ธิดาเศรษฐีเกิดอุตสาหะด้วยเหตุสักว่าการปราศัยแม้มีประการเพียงนั้น จึงคิดว่า พรุ่งนี้เราจักเล่นนักษัตร แล้วจัดแจงของเคี้ยวและของบริโภคจำนวนมาก. ในวันที่สอง บุตรเศรษฐีไม่บอก เลยไปในสนามกีฬา. นางคิดว่าจักส่งไปในบัดนี้ นั่งแลดูทางอยู่ เห็นตะวันสายแล้วจึงส่งคนทั้งหลาย คนเหล่านั้นกลับมาบอกว่าบุตรเศรษฐีไปแล้ว นางจึงถือของเคี้ยวและของบริโภคที่ตระเตรียมนั้นทั้งหมดขึ้นสู่ยาน ปรารภเพื่อจะไปสู่อุทยาน.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าที่เงื้อมนันทมูลกะออกจากนิโรธในวันที่ ๗ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เคี้ยวไม้สีฟันนาคลดา นึกอยู่ว่าวันนี้จักเที่ยวไปภิกษา ณ ที่ไหน เห็นธิดาเศรษฐีนั้น ก็รู้ว่าธิดาเศรษฐีนี้ทำสักการะในเราแล้ว กรรมนั้นจักถึงความหมดสิ้นไป ยืนที่พื้นมโนศิลากว้าง ๖๐ โยชน์ ที่ใกล้เงื้อมนั้น นุ่งแล้วถือบาตร จีวร เข้าฌานซึ่งมีอภิญญาเป็นบาท เหาะมาลงที่สวนทางของธิดาเศรษฐีนั้น มุ่งหน้าไปสู่กรุงพาราณสี.
               ทาสีทั้งหลายเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นแล้ว บอกแก่ธิดาเศรษฐี.
               นางเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นแล้ว ลงจากยาน ไหว้โดยเคารพ รับบาตรให้เต็มด้วยขาทนียะและโภชนียะที่ถึงพร้อมด้วยรสทั้งปวง และปิดด้วยดอกปทุม ทำดอกปทุมไว้ใต้บาตร ถือกำดอกไม้ เข้าไปหาพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ถวายบาตรที่มือของท่าน ไหว้แล้ว มือถือกำดอกไม้ ตั้งปรารถนาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเกิดในชาติใดๆ ก็ขอให้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของมหาชนในชาตินั้นๆ เหมือนดอกไม้นี้เถิด.
               ครั้นตั้งปรารถนาอย่างนี้แล้ว จึงตั้งปรารถนาแม้ครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การอยู่ในครรภ์เป็นทุกข์ ขอปฏิสนธิพึงมีในดอกปทุมเท่านั้น โดยไม่ต้องอาศัยครรภ์นั้นเถิด.
               แล้วตั้งปรารถนาแม้ครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มาตุคามอันมหาชนพึงรังเกียจ แม้พระธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิก็ยังไปสู่อำนาจบุรุษ เพราะฉะนั้น ขอดิฉันอย่าถึงความเป็นสตรี พึงเป็นบุรุษเถิด.
               ตั้งปรารถนาแม้ครั้งที่ ๔ ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอดิฉันพึงก้าวล่วงสังสารทุกข์นี้ บรรลุพระอรหัตอันเป็นอมตะที่ท่านได้บรรลุแล้วในที่สุดเถิด.
               ครั้นทำความปรารถนา ๔ อย่างนี้แล้ว เอากำดอกปทุมนั้นบูชาพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วทำความปรารถนาที่ ๕ นี้ว่า ขอดิฉันจงมีกลิ่นและวรรณะเป็นเช่นกับดอกปทุมนั่นเถิด.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ารับบาตรและกำดอกไม้แล้ว ยืนในอากาศทำอนุโมทนาแก่ธิดาเศรษฐี ด้วยคาถานี้ว่า
                         ขอสิ่งที่ต้องการ ที่ปรารถนาจงสำเร็จแก่ท่าน
                         โดยเร็วพลันเถิด ขอความดำริทั้งปวงจงเต็ม
                         เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
ดังนี้.
               แล้วอธิษฐานว่า ขอธิดาเศรษฐีจงเห็นเราผู้กำลังไปเถิด แล้วไปสู่เงื้อมนันทมูลกะ.
               ปีติใหญ่เกิดแล้วแก่ธิดาเศรษฐี เพราะเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น อกุศลกรรมที่ทำไว้ในระหว่างภพก็สิ้นไป เพราะไม่มีโอกาส. นางเป็นผู้บริสุทธิ์ ดุจภาชนะทองแดงที่ขัดด้วยมะขามเปรี้ยว ทันใดนั้น ชนทั้งหมดในตระกูลผัวและตระกูลญาติทั้งปวงก็ยินดีต่อนาง ต่างก็คิดว่าพวกเราจะทำอะไร แล้วส่งคำที่น่ารักและเครื่องบรรณาการไปให้. บุตรเศรษฐีก็ส่งคนทั้งหลายไปว่า พวกท่านจงนำธิดาเศรษฐีมาเร็วๆ เราระลึกได้มาสู่อุทยานแล้ว และจำเดิมแต่นั้น ก็รักนางปกครองดุจจันทน์ที่ลูบไล้ที่อก ดุจมุกดาหารที่ห้อยไว้ และดุจระเบียบดอกไม้.
               นางดำรงอยู่ในชาตินั้น เสวยอิสริยสุขและโภคสุขตลอดอายุแล้ว ตายไปเกิดในดอกปทุมในเทวโลกโดยความเป็นบุรุษ เทพบุตรนั้น แม้เมื่อจะไปก็ไปบนกลีบปทุมเท่านั้น เมื่อจะยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ก็ย่อมยืนนั่งนอน แม้บนกลีบปทุมเท่านั้น และเทพทั้งหลายจึงได้ขนานนามเทวบุตรนั้นว่า มหาปทุมเทวบุตร เทวบุตรนั้นท่องเที่ยวไปมาในเทวโลก ๖ ชั้นเท่านั้นด้วยอานุภาพนั้นด้วยประการฉะนี้.
               ก็โดยสมัยนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงมีสตรี ๒๐,๐๐๐ นาง แม้พระราชาก็ไม่ทรงได้พระโอรสในท้องของสตรีแม้นางหนึ่งเลย. อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ พระราชโอรสที่จะสืบตระกูลวงศ์ พระองค์พึงทรงปรารถนา และเมื่อไม่มีพระราชโอรสที่เกิดจากพระองค์ แม้พระราชโอรสเกิดในเขตก็จะทรงดำรงตระกูลวงศ์ได้ พระเจ้าข้า. พระราชาทรงให้สตรีนักฟ้อนที่เหลือเว้นพระมเหสีประพฤติตามลำพังว่า พวกเจ้าจงทำการฟ้อนรำโดยธรรมตลอดเจ็ดวัน แม้อย่างนั้นก็ไม่ได้พระโอรส. อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระมเหสีทรงมีบุญและมีปัญญา เลิศกว่าสตรีทั้งปวง ชื่อไฉนพระองค์พึงทรงได้พระราชโอรส ในพระครรภ์แม้ของพระมเหสี. พระราชาตรัสบอกเนื้อความนั่นแก่พระมเหสี.
               พระนางทูลว่า จริง มหาราช สตรีใดกล่าวคำสัจ รักษาศีล สตรีนั้นพึงได้บุตร เพราะสตรีเว้นจากหิริและโอตตัปปะแล้ว บุตรจะมีได้แต่ที่ไหน พระนางเสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทรงสมาทานศีล ๕ ทรงนึกถึงบ่อยๆ.
               เมื่อพระราชธิดาผู้มีศีลทรงนึกถึงศีล ๕ พอมีพระทัยปรารถนาพระราชโอรสเกิดขึ้น อาสน์ของท้าวสักกะก็หวั่นไหว.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงนึกอยู่ ทรงรู้ความนั้น ทรงดำริว่า เราจักให้พรคือบุตรแก่ราชธิดาผู้มีศีลดังนี้ แล้วเหาะมาประทับยืนตรงพระพักตร์ของพระเทวีแล้ว ตรัสว่า
               ดูก่อนพระเทวี พระองค์ทรงปรารถนาอะไร.
               พระราชโอรส มหาราช.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี เราจะให้พระโอรสแก่พระองค์ ขอพระองค์อย่าทรงคิด ดังนี้แล้ว เสด็จสู่เทวโลก ทรงนึกอยู่ว่า ในเทวโลกนี้ เทวบุตรผู้สิ้นอายุมีอยู่หรือหนอ ทรงทราบว่า มหาปทุมเทวบุตรนี้จะเคลื่อนจากเทวโลกนี้ เพื่อบังเกิดในเทวโลกชั้นสูงดังนี้ แล้วเสด็จไปสู่วิมานของมหาปทุมเทวบุตรนั้น ตรัสขอว่า ดูก่อนพ่อมหาปทุม เจ้าจงไปสู่มนุษยโลก. เทวบุตรนั้นทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าตรัสอย่างนั้นเลย มนุษยโลกน่าเกลียด.
               ส. ดูก่อนพ่อ คนทำบุญในมนุษยโลกแล้วเกิดในเทวโลกนี้ เจ้าจงไปเพื่อดำรงอยู่ในมนุษยโลกนั้นบำเพ็ญบารมีทั้งหลายเถิด พ่อ!
               ม. ข้าแต่มหาราช การอยู่ในครรภ์เป็นทุกข์ ข้าพระองค์ไม่อาจเพื่ออยู่ในครรภ์นั้น.
               ส. ดูก่อนพ่อ เจ้าจะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ในครรภ์เล่า ด้วยว่าเจ้าได้ทำกรรมโดยประการที่ตนจักเกิดในกลีบปทุมเท่านั้น ไปเถิด พ่อ!
               เทวบุตรนั้น เมื่อถูกท้าวสักกะตรัสบ่อยๆ จึงยอมรับคำเชิญ.
               ต่อแต่นั้น มหาปทุมเทวบุตรเคลื่อนจากเทวโลก เกิดในกลีบปทุม ในสระโบกขรณี ใกล้พระแท่นศิลา ในพระราชอุทยานของพระเจ้ากรุงพาราณสี.
               ก็ในคืนนั้น พระมเหสีทรงพระสุบินในสมัยใกล้รุ่ง เป็นเหมือนมีสตรี ๒๐,๐๐๐ นางแวดล้อม เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ได้พระโอรสในกลีบปทุม ในสระโบกขรณี ใกล้พระแท่นศิลา. พระนางทรงรักษาศีลในราตรีจวนสว่าง เสด็จไปที่พระแท่นศิลาอย่างนั้นเทียว ทรงเห็นดอกปทุมดอกหนึ่ง ดอกปทุมนั้นไม่อยู่ใกล้ฝั่ง ไม่อยู่ลึก และพร้อมกับทรงเห็นนั้นแล พระนางก็ทรงเกิดความเยื่อใยในพระโอรสในดอกปทุมนั้น พระนางเสด็จเข้าไปตามลำพังพระองค์ ทรงจับดอกนั้น พอพระนางทรงจับดอกเท่านั้น กลีบทั้งหลายก็แย้มออก. พระนางทรงเห็นทารกดุจรูปทองคำที่ติดอยู่ในกลีบนั้น ครั้นทรงเห็นแล้วเทียวก็ทรงเปล่งพระสุรเสียงว่า เราได้บุตรแล้ว.
               มหาชนก็เปล่งเสียงสาธุการตั้งพัน และพระนางก็ทรงส่งข่าวถวายพระราชา.
               พระราชาทรงสดับแล้ว จึงตรัสถามว่า ได้บุตรที่ไหน และทรงสดับโอกาสที่ได้แล้ว จึงตรัสว่า อุทยานและปทุมในสระโบกขรณี เป็นเขตของเราเท่านั้น เพราะฉะนั้น บุตรคนนี้ชื่อว่าบุตรเกิดในเขต เพราะเกิดในเขตของเรา ตรัสให้เสด็จเข้าสู่พระนคร ทรงให้สตรี ๒๐,๐๐๐ นางทำหน้าที่พระพี่เลี้ยง สตรีใดๆ ให้พระกุมารทรงรู้ ทรงเคี้ยวพระขาทนียะที่ทรงปรารถนาแล้วๆ สตรีนั้นๆ ย่อมได้ทรัพย์พันหนึ่ง ชาวพระนครพาราณสีทั้งสิ้นเคลื่อนไหว ชนทั้งปวงส่งบรรณาการตั้งพันถวายพระกุมาร
               พระกุมารถูกมหาชนนำสิ่งนั้นๆ ทูลว่า จงทรงเคี้ยวสิ่งนี้ จงเสวยสิ่งนี้ ก็ทรงเบื่อระอาด้วยโภชนะ ก็เสด็จไปสู่ซุ้มพระทวาร ทรงเล่นกับก้อนครั่ง.
               ในกาลครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งอาศัยกรุงพาราณสี อยู่ที่อิสิปตนะ. ท่านลุกขึ้นตามกาล ทำกิจทั้งปวงมีเสนาสนวัตร บริกรรมร่างกายและมนสิการเป็นต้น ออกจากที่หลีกเร้น นึกอยู่ว่าวันนี้จักรับภิกษาที่ไหน เห็นสมบัติของพระกุมารแล้ว พิจารณาว่า ในกาลก่อน พระกุมารนี้ทรงทำกรรมอะไรดังนี้ รู้ว่าพระกุมารนี้ได้ถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเช่นเราแล้วตั้งปรารถนา ๔ อย่าง ในปรารถนา ๔ อย่างนั้น ๓ อย่างสำเร็จแล้ว อีกอย่างหนึ่งยังไม่สำเร็จก่อน เราจักให้อารมณ์โดยอุบายแก่พระกุมารนั้น ดังนี้แล้ว ได้ไปสู่สำนักของพระกุมารด้วยอำนาจแห่งภิกขาจริยา.
               พระกุมารทรงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่พระสมณะ ท่านอย่ามาในที่นี้ ด้วยว่าคนเหล่านั้นพึงกล่าวแม้กะท่านว่า จงเคี้ยวสิ่งนี้ จงกินสิ่งนี้. พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นกลับจากที่นั้นด้วยคำพูดคำเดียวเท่านั้น เข้าไปสู่เสนาสนะของตน.
               ฝ่ายพระกุมารตรัสกะชนว่า สมณะนี้พอถูกเราพูดแล้วก็กลับ โกรธแก่เราหรือหนอ. แต่นั้น แม้อันชนเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายเป็นผู้โกรธเป็นเบื้องหน้าหามิได้ ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจัยที่คนอื่นถวายด้วยใจเลื่อมใส ดังนี้ ทรงดำริว่าสมณะนั่นคงเป็นอย่างนั้น จึงทูลแด่พระมารดาและพระบิดาว่า จักยังพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นให้อดโทษดังนี้แล้ว เสด็จทรงช้าง เสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนะด้วยอานุภาพพระราชาอันยิ่งใหญ่ ทรงเห็นฝูงเนื้อจึงตรัสถามว่า เหล่านั้นชื่ออะไร.
               บ. เหล่านั้นชื่อว่า เนื้อ พระเจ้าข้า.
               ก. เนื้อเหล่านั้นกล่าวว่า จงเคี้ยวสิ่งนี้ จงกินสิ่งนี้ จงลิ้มสิ่งนี้ ดังนี้แล้วปฏิบัติอยู่ มี หรือ ไม่มี.
               บ. ไม่มีพระเจ้าข้า ที่ใดมีหญ้าและน้ำหาง่าย เนื้อทั้งหลายก็อยู่ในที่นั้น.
               พระกุมารทรงคิดว่า เนื้อเหล่านี้ถึงไม่มีใครรักษา ก็ย่อมอยู่ในที่ที่ปรารถนาฉันใด ในกาลใดหนอแล แม้เราก็พึงอยู่ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ทรงยึดถือข้อนั้นเป็นอารมณ์.
               ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้ารู้การเสด็จมาของพระกุมารนั้นแล้ว กวาดทางแห่งเสนาสนะ และที่จงกรมทำให้เกลี้ยง แล้วแสดงรอยเท้าเดินจงกรม ๑-๒-๓ รอย กวาดโอกาสแห่งที่เป็นที่อยู่ในกลางวันและบรรณศาลา ทำให้เกลี้ยงแล้วแสดงรอยเท้าเข้าไป แต่ไม่แสดงรอยเท้าออกมา แล้วไปในที่อื่น.
               พระกุมารเสด็จไปในที่นั้น ทรงเห็นประเทศนั้นซึ่งกวาดทำให้เกลี้ยงแล้ว ทรงคิดว่าชะรอยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นอยู่ในที่นั่น ทรงสดับคำที่บริชนทูลแล้วตรัสว่า ก็พระสมณะนั่นโกรธแม้แต่เช้า บัดนี้เห็นช้างและม้าเป็นต้น เหยียบโอกาสของตนก็จะพึงโกรธยิ่งขึ้น พวกท่านจงนั่งในที่นี้เท่านั้นดังนี้แล้ว เสด็จลงจากคอช้าง พระองค์เดียวเท่านั้นเสด็จเข้าสู่เสนาสนะ ทรงเห็นรอยเท้าในโอกาสที่กวาดดีแล้วตามข้อวัตร มีพระทัยเลื่อมใสว่า พระสมณะนี้จงกรมอยู่ในที่นี้ คงไม่คิดถึงการค้าขายเป็นต้น ชะรอยจะคิดถึงประโยชน์เกื้อกูลของตนเท่านั้น แน่แท้. เสด็จขึ้นสู่ที่จงกรม ทรงกระทำให้ห่างไกลจากวิตกอันหนาแน่น ประทับนั่งบนแผ่นศิลา ทรงมีอารมณ์เดียวเกิดพร้อมแล้ว เสด็จเข้าสู่บรรณศาลา ทรงเห็นแจ้งอยู่ ทรงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ
               ครั้นปุโรหิตทูลถามถึงกรรมฐาน โดยนัยก่อนนั่นแล ประทับนั่งบนนภากาศ ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   มิโค อรญฺญมฺหิ ยถา อพนฺโธ
                                   เยนิจฺฉกํ คจฺฉติ โคจราย
                                   วิญฺญู นโร เสริตํ เปกฺขมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป
                         เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกแล้ว ย่อมไปหากินตาม
                         ความปรารถนาฉันใด นรชนผู้รู้แจ้ง เพ่งความ
                         ประพฤติตามความพอใจของตน พึงเที่ยวไป
                         แต่ผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               บทว่า มิโค ได้แก่ เนื้อ ๒ ชนิด คือ เนื้อกินหญ้า ๑ เนื้อกินรากเหง้า ๑.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า มิโค นั่น เป็นชื่อของสัตว์ ๔ เท้า ที่อยู่ในป่าทั้งหมด.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ท่านประสงค์เอาเนื้อกินรากเหง้า.
               บทว่า อรญฺญมฺหิ ได้แก่ ในป่าที่เหลือ เว้นบ้านและอุปจารของบ้าน. ก็ในคาถานี้ท่านประสงค์เอาป่า. อธิบายว่า ในอุทยาน.
               คำว่า ยถา เป็นคำเปรียบเทียบ.
               บทว่า อพนฺโธ ความว่า ที่บุคคลไม่ผูกแล้ว ด้วยวัตถุทั้งหลายมีเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้น.
               บทว่า เยนิจฺฉกํ ความว่า เนื้อย่อมปรารถนาเพื่อไป โดยทิศาภาคใดๆ ย่อมไปหากิน โดยทิศาภาคนั้นๆ.
               สมดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เนื้อในป่า เที่ยวในป่า ในป่าใหญ่ ไม่ระแวงไป ไม่ระแวงยืน ไม่ระแวงหมอบ ไม่ระแวงนอน นั้นเพราะเหตุอะไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเนื้อไม่ไปสู่ทางของนายพรานแม้ฉันใด
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล สงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าปฐมฌานอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่าได้กระทำมารให้มืด ให้ไม่มีเท้า ครั้นฆ่าแล้วก็ไปสู่ที่ที่มารผู้บาปไม่เห็นได้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๒๘

               บทว่า วิญฺญู นโร ได้แก่ คนเป็นบัณฑิต.
               บทว่า เสริตํ ได้แก่ ความประพฤติตามความพอใจของตน คือความประพฤติที่ไม่เนื่องกับบุคคลอื่น. ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ว่า เนื้อในป่าที่บุคคลไม่ผูกแล้ว ย่อมไปหากินตามความปรารถนาฉันใด แม้เราก็ตัดเครื่องผูกคือตัณหาได้อย่างนั้นแล้ว ก็พึงไปฉันนั้น นรชนผู้รู้แจ้งคือบัณฑิต เพ่งความประพฤติตามความพอใจของตน พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียวแล.
               มิคอรัญญคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๖               
               คาถาว่า อามนฺตนา โหติ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
               อำมาตย์ทั้งหลายได้เข้าไปเฝ้า ในสมัยเป็นที่บำรุงใหญ่ของพระเจ้ากรุงพาราณสี ในอำมาตย์เหล่านั้น อำมาตย์คนหนึ่งทูลขอการไปในที่สุดส่วนหนึ่งว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ สิ่งที่พึงฟังมีอยู่ดังนี้ เขาก็ลุกไป. คนหนึ่งทูลขอกะพระองค์ผู้ประทับนั่งในที่บำรุงใหญ่อีก. คนหนึ่งทูลขอช้างกะพระองค์ผู้ประทับนั่งบนคอช้าง. คนหนึ่งทูลขอม้ากะพระองค์ผู้ประทับนั่งบนหลังม้า. คนคนหนึ่งทูลขอรถทองกะพระองค์ผู้ประทับนั่งในรถทอง. คนหนึ่งทูลขอวอกะพระองค์ผู้ประทับนั่งในวอแล้วไปสู่อุทยาน พระราชาเสด็จลงจากวอประทานให้. คนอื่นทูลขอกะพระองค์ผู้กำลังเสด็จไปสู่จาริกในชนบท.
               พระราชาทรงสดับคำของคนแม้นั่น เสด็จลงจากคอช้าง เสด็จไปสถานที่แห่งหนึ่ง.
               พระองค์ทรงเอือมระอาด้วยอำมาตย์เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว ทรงผนวช. อำมาตย์ทั้งหลายเจริญด้วยอิสริยยศ ในอำมาตย์เหล่านั้น อำมาตย์คนหนึ่งไปทูลกะพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงพระราชทานชนบท ชื่อโน้นให้แก่พระองค์. พระราชาตรัสว่าคนชื่อนี้ปกครองชนบทนั้นอยู่. เขาไม่เอื้อเฟื้อพระดำรัสของพระราชาแล้วทูลว่า ข้าพระองค์จะไป จะยึดชนบทนั้นครอบครองดังนี้ แล้วไปในชนบทนั้นทำการทะเลาะ แม้ทั้งสองมาสู่พระราชสำนักอีก ทูลบอกโทษของกันและกัน.
               พระราชาทรงพระราชดำริว่า เราไม่อาจให้คนทั้งสองนี้ให้ยินดีได้ ทรงเห็นความโลภของอำมาตย์เหล่านั้น ทรงเห็นแจ้ง ทรงทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ และพระองค์ทรงเปล่งอุทานนี้ โดยนัยก่อนนั้นแลว่า
                                   อามนฺตนา โหติ สหายมชฺเฌ
                                   วาเส ฐาเน คมเน จาริกาย
                                   อนภิชฺฌิตํ เสริตํ เปกฺขมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         การปรึกษาในที่อยู่ ที่ยืน ในการไป ในการเที่ยวย่อมมี
                         ในท่ามกลางแห่งสหาย บุคคลเพ่งความประพฤติตาม
                         ความพอใจที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้ว พึงเที่ยวไป
                         แต่ผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น ดังนี้.

               เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า
               การปรึกษาโดยประการนั้นๆ โดยนัยว่า ท่านจงฟังสิ่งนี้ของข้าพเจ้า ท่านจงให้สิ่งนี้แก่ข้าพเจ้าเป็นต้น ในที่อยู่กล่าวคือที่พักกลางวัน ในการยืนกล่าวคือการบำรุงใหญ่ ในการไปกล่าวคือการไปสู่อุทยาน ในการเที่ยวกล่าวคือการเที่ยวในชนบท ย่อมมีแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่แล้วในท่ามกลางแห่งสหาย.
               เพราะฉะนั้น เราเบื่อหน่ายในการปรึกษาในท่ามกลางแห่งสหายนั้น เมื่อเล็งเห็นการบรรพชาที่มีอานิสงส์มาก มีสุขโดยส่วนเดียวอันอริยชนเสพแล้ว แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เป็นบรรพชาที่พวกคนชั่วทั้งปวงซึ่งถูกความโลภครอบงำแล้ว ไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา. และเพ่งความประพฤติตามความพอใจด้วยการไม่ตกอยู่ในอำนาจของบุคคลอื่น และด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยธรรมที่พวกบุรุษชั่วไม่เพ่งเล็งแล้ว ปรารภวิปัสสนา ได้บรรลุปัจเจกสัมโพธิญาณโดยลำดับ.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อามันตคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๗               
               คาถาว่า ขิฑฺฑา รติ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ในกรุงพาราณสี มีพระราชาพระนามว่า เอกปุตติกพรหมทัต ก็พระราชโอรสพระองค์เดียวนั้นเป็นที่รัก เป็นที่พอพระทัย เป็นผู้เสมอด้วยชีวิตของพระองค์. พระองค์ได้พาพระราชโอรสเป็นไปในพระอิริยาบถทั้งปวง.
               ในวันหนึ่ง พระองค์เมื่อเสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ไม่ทรงพาพระราชโอรสนั้นเสด็จไป. พระกุมารสิ้นพระชนม์ด้วยพยาธิซึ่งเกิดขึ้นในวันนั้นเท่านั้น. อำมาตย์ทั้งหลายคิดว่า แม้พระหทัยของพระราชาพึงแตก เพราะความเสน่หาในพระราชโอรส จึงไม่ทูลบอก พากันถวายพระเพลิงพระราชโอรสนั้นเสีย.
               พระราชาทรงเมาด้วยความเมาในน้ำจัณฑ์ในพระราชอุทยาน จึงไม่ทรงระลึกถึงพระราชโอรสในเวลาทรงสนานและเสวยเป็นต้น. แม้ในวันที่สอง ก็ทรงระลึกไม่ได้เหมือนกัน.
               ลำดับนั้น ทรงเสวยพระกระยาหาร ประทับนั่งแล้วทรงระลึกได้ จึงตรัสว่าจงนำบุตรให้แก่เรา. พวกอำมาตย์ทูลบอกเรื่องนั้นโดยวิธีอันสมควรแด่พระองค์.
               ตั้งแต่นั้น พระราชาถูกความโศกครอบงำ ประทับนั่งเท่านั้น ทรงกระทำในพระทัยโดยแยบคายว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิดดังนี้. พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลมโดยลำดับอย่างนี้ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกสัมโพธิญาณ.
               บทที่เหลือเป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในสังสัคคคาถานั้นแล เว้นอรรถวัณณนาแห่งคาถา.
               ก็ในอรรถวัณณนา บทว่า ขิฑฺฑา ได้แก่ การเล่น.
               การเล่นนั้นมี ๒ อย่าง คือ การเล่นทางกาย ๑ การเล่นทางวาจา ๑.
               การเล่นมีอาทิอย่างนี้ว่า ย่อมเล่นด้วยช้างทั้งหลายบ้าง ด้วยม้าทั้งหลายบ้าง ด้วยรถทั้งหลายบ้าง ชื่อว่าการเล่นทางกาย. การเล่นมีอาทิอย่างนี้ว่า การขับร้อง การกล่าวสรรเสริญ มุขเภรี ชื่อว่าการเล่นทางวาจา.
               บทว่า รติ ได้แก่ การยินดีในเบญจกามคุณ. บทว่า วิปุลํ ความว่า ซึมซาบไปทั่วอัตภาพทั้งสิ้นโดยฐานะจนถึงจรดเยื่อกระดูก.
               คำที่เหลือชัดแล้วทั้งนั้น ก็พึงทราบแม้การประกอบอนุสนธิในคาถานี้ โดยนัยที่กล่าวแล้วในสังสัคคคาถาและบททั้งปวงอื่นจากนั้น.
               ขิฑฑารติคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๘               
               คาถาว่า จาตุทฺทิโส ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๕ องค์บวชแล้วในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป. บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรตลอด ๒๐,๐๐๐ ปีแล้ว อุบัติในเทวโลก เคลื่อนจากเทวโลกนั้นแล้ว.
               บรรดาท่านทั้ง ๕ นั้น ผู้หัวหน้าเป็นพระราชาในกรุงพาราณสี ที่เหลือ ๔ ท่านเป็นพระราชาธรรมดา พระราชาแม้ทั้ง ๔ นั้นทรงเรียนกรรมฐาน ทรงสละราชสมบัติแล้วผนวช เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าโดยลำดับ อยู่ในเงื้อมนันทมูลกะ.
               ในวันหนึ่ง ออกจากสมาบัติแล้ว นึกถึงกรรมของตนและสหาย โดยนัยที่กล่าวแล้วในวังสกฬีรคาถานั้นแล ครั้นรู้แล้ว ก็แสวงหาโอกาสเพื่อแสดงอารมณ์โดยอุบายแก่พระเจ้ากรุงพาราณสี.
               ก็พระราชาพระองค์นั้นทรงสะดุ้งตื่นในราตรีถึง ๓ ครั้ง ทรงกลัวร้องพระสุรเสียงผิดแปลก ทรงวิ่งสู่พื้นใหญ่ แม้ถูกปุโรหิตลุกขึ้นตามกาลทูลถามถึงการบรรทมเป็นสุข ก็ตรัสบอกเรื่องนั้นทั้งหมดว่า อาจารย์ เราจะมีความสุขแต่ที่ไหน.
               ฝ่ายปุโรหิตคิดว่า โรคนี้ไม่อาจจะกำจัดให้หายขาดได้ด้วยการประกอบยามีการถ่ายท้องเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเกิดอุบายที่จะให้ทรงเสวยยา จึงทูลพระราชาให้สะดุ้งกลัวยิ่งขึ้นว่า ข้าแต่มหาราช นั่นเป็นบุพนิมิตแห่งการเสื่อมจากราชสมบัติและอันตรายแก่พระชนมชีพเป็นต้น จึงทูลชวนพระราชานั้นประกอบการบูชายัญว่า ขอพระองค์พึงจัดช้างม้ารถเป็นต้น และเงินทองมีประมาณเท่านี้ๆ เป็นทักขิณาบูชายัญ เพื่อให้อันตรายนั้นสงบ ดังนี้.
               แต่นั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นสัตว์หลายพันถูกนำมารวมไว้เพื่อประโยชน์แก่การบูชายัญ จึงคิดว่า พระราชาเมื่อทรงกระทำกรรมนี้แล้ว จะเป็นผู้แนะนำให้ตรัสรู้ได้ยาก เอาเถิด พวกเราจะรีบไปเปลื้องพระองค์ก่อนเทียว แล้วมาโดยนัยที่กล่าวแล้วในวังสกฬีรคาถานั่นแล เที่ยวบิณฑบาตไปที่ลานฆ่าสัตว์ในพระลานหลวง.
               พระราชาประทับยืนที่สีหบัญชร ทรงแลดูพระลานหลวงอยู่ ทรงเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น และพระองค์ก็ทรงเกิดพระสิเน่หาพร้อมกับการเห็นนั้นแล. แต่นั้นทรงให้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมา ทรงให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว ที่พื้นสำหรับตากอากาศ (ระเบียง) ทรงให้ฉันโดยเคารพแล้ว ตรัสถามพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทำภัตกิจเสร็จแล้วว่า พวกท่านชื่ออะไร.
               ป. มหาบพิตร พวกอาตมาชื่อว่า มาจากทิศทั้ง ๔
               ร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คำว่าทิศทั้ง ๔ นี้ มีประโยชน์อย่างไร?
               ป. มหาบพิตร ในทิศทั้ง ๔ พวกอาตมาไม่มีภัย หรือความสะดุ้งแห่งจิตอะไรๆ ณ ที่ไหนเลย
               ร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภัยนั้นย่อมไม่มีแก่ท่าน เพราะเหตุอะไร?
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทูลว่า มหาบพิตร เพราะพวกอาตมาเจริญเมตตา เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะเหตุนั้น ภัยนั้นจึงไม่มีแก่พวกอาตมา ดังนี้แล้วลุกจากอาสนะไปสู่ที่อยู่ของตน.
               แต่นั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า สมณะเหล่านี้กล่าวว่าภัยย่อมไม่มี เพราะการเจริญเมตตาเป็นต้น แต่พวกพราหมณ์กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์หลายพัน คำของพวกไหนหนอแลเป็นคำจริง.
               ลำดับนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำรินี้ว่า สมณะทั้งหลายย่อมกล่าวสิ่งที่บริสุทธิ์ ด้วยสิ่งที่บริสุทธิ์เท่านั้น ส่วนพวกพราหมณ์กล่าวสิ่งที่บริสุทธิ์ ด้วยสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ และใครๆ ไม่อาจล้างสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ คำของพวกบรรพชิตเท่านั้นเป็นคำจริงดังนี้
               พระราชานั้นทรงเจริญพรหมวิหารแม้ทั้ง ๔ มีเมตตาเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุขเถิด. ตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายด้วยพระทัยแผ่ไปด้วยประโยชน์เกื้อกูลว่า ท่านทั้งหลายจงปล่อยสัตว์ทั้งหมด ขอให้สัตว์ทั้งหลายได้ดื่มน้ำที่เย็น กินหญ้าที่เขียว และลมเย็นจงรำเพยพัดสัตว์เหล่านั้น.
               อำมาตย์เหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น.
               แต่นั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า เราพ้นแล้วจากบาปกรรมด้วยคำของกัลยาณมิตรทั้งหลาย ประทับนั่ง ณ ที่นั้นเอง ทรงเห็นแจ้ง ทรงทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ และครั้นอำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถึงเวลาเสวยพระกระยาหารแล้ว ขอพระองค์จงเสวย จึงตรัสพระดำรัสทั้งปวงว่าเราไม่ใช่พระราชา โดยนัยก่อนนั้นแล แล้วตรัสอุทานพยากรณคาถานี้.
               ในคาถานั้น บทว่า จาตุทฺทิโส ได้แก่ ผู้อยู่ตามสบายในทิศทั้งสี่.
               ที่ชื่อว่า จาตุทฺทิโส แม้เพราะอรรถว่า บุคคลนั้นมีทิศทั้งสี่แผ่พรหมวิหารภาวนา โดยนัยมีอาทิว่าแผ่ตลอดทิศหนึ่งอยู่.๑- ชื่อว่าไม่เดือดร้อน เพราะอรรถว่าไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย หรือสังขารทั้งหลายด้วยภัยในทิศเหล่านั้นทิศใดทิศหนึ่ง.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๒๖

               บทว่า สนฺตุสฺสมาโน ความว่า ยินดีด้วยสามารถความยินดี ๑๒ อย่าง.
               บทว่า อิตริตเรน ได้แก่ ด้วยปัจจัยสูงต่ำ.
               ในบาทพระคาถาว่า ปริสฺสยานํ สหิตา อจฺฉมฺภี นั้นชื่อว่า ปริสฺสยา ด้วยอรรถว่าครอบงำ หรือยังกายและจิตให้เสื่อม ย่อมครอบงำกายและจิตเหล่านั้น ทำสมบัติของกายและจิตเหล่านั้นให้เสื่อมเสีย.
               คำว่า ปริสฺสยา นั้นเป็นชื่อของอันตรายทางกายและทางจิต ที่เป็นภายนอกมีสีหะและเสือโคร่งเป็นต้น และที่เป็นภายในมีกามฉันทะเป็นต้น.
               ชื่อว่า สหิตา เพราะอรรถว่าครอบงำอันตรายเหล่านั้นด้วยอธิวาสนขันติ และด้วยธรรมมีวิริยะเป็นต้น. อธิบายว่า ไม่หวาดเสียว เพราะไม่มีภัยที่จะทำความแข็งกระด้าง.
               เราเห็นคุณในการปฏิบัติอย่างนี้ว่า
               บุคคลยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้เหมือนสมณะ ๔ รูปเหล่านั้น ดำรงอยู่ในสันโดษอันเป็นปทัฏฐานแห่งการปฏิบัตินี้ อยู่ในทิศทั้งสี่ด้วยการเจริญเมตตาเป็นต้นในทิศทั้งสี่ และเป็นผู้ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีการกระทำความเบียดเบียนในสัตว์และสังขารทั้งหลาย บุคคลนั้นชื่อว่าครอบงำเสียซึ่งอันตรายมีประการที่กล่าวแล้ว เพราะความเป็นผู้อยู่ในทิศทั้งสี่ และชื่อว่าเป็นผู้ไม่หวาดเสียว เพราะความเป็นผู้ไม่เดือดร้อนดังนี้แล้ว ปฏิบัติโดยแยบคาย เป็นผู้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง เรารู้ว่า บุคคลยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้เหมือนสมณะเหล่านั้นเป็นผู้อยู่ในทิศทั้งสี่ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล ปรารถนาอยู่ซึ่งความเป็นผู้อยู่ในทิศทั้งสี่อย่างนี้แล้ว ปฏิบัติโดยแยบคายบรรลุแล้ว เพราะฉะนั้น แม้คนอื่นเมื่อปรารถนาฐานะเช่นนี้ เป็นผู้ครอบงำเสียซึ่งอันตราย เพราะเป็นผู้อยู่ในทิศทั้งสี่ และไม่หวาดเสียว เพราะความเป็นผู้ไม่เดือดร้อน พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จาตุททิสคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๙               
               คาถาว่า ทุสฺสงฺคหา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงสิ้นพระชนม์ ต่อจากนั้น เมื่อวันเป็นที่เศร้าโศกผ่านไปแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ธรรมดาพระราชาทั้งหลายทรงปรารถนาพระมเหสีในกิจนั้นๆ แน่แท้ ดังข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอพระองค์ทรงโปรดนำพระเทวีองค์อื่นมาเถิด.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พนายจงรู้.
               อำมาตย์เหล่านั้นแสวงหาอยู่ รู้ว่า พระราชาในประเทศใกล้เคียง สวรรคตแล้ว พระเทวีของพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ และพระนางทรงมีพระครรภ์ พระนางนี้ทรงเหมาะสมแก่พระราชา ดังนี้แล้ว ทูลขอพระนาง.
               พระนางตรัสว่า ธรรมดาหญิงมีครรภ์ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าท่านรอจนกว่าข้าพเจ้าคลอดก็ตกลงตามนั้น ถ้ารอไม่ได้ก็จงแสวงหาหญิงอื่นเถิด.
               อำมาตย์เหล่านั้นทูลบอกเนื้อความนั้นแด่พระราชา.
               พระราชาตรัสว่า แม้พระนางทรงมีครรภ์ก็ช่างเถิด จงนำมา. อำมาตย์เหล่านั้นนำมาแล้ว พระราชาทรงอภิเษกพระนางนั้นแล้ว ทรงพระราชทานโภคทรัพย์ทั้งหมดแก่พระมเหสี และทรงสงเคราะห์ด้วยการสงเคราะห์นานาชนิดแก่บริชนทั้งหลายของพระนาง พระนางประสูติพระโอรสตามกาลอันสมควร พระราชาทรงกระทำพระโอรสแม้นั้นในพระเพลาและในพระอุระ ทุกพระอิริยาบถเหมือนพระโอรสของพระองค์อยู่.
               แต่นั้นบริชนของพระเทวีคิดว่า พระราชาทรงสงเคราะห์พระกุมารเหลือเกิน พระราชหฤทัยทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง เอาเถิด พวกเราจะยุยงพระกุมารนั้นให้แตกกัน. ลำดับนั้น จึงทูลพระกุมารว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า พระองค์เป็นพระโอรสของพระราชาของพวกข้าพระองค์ ไม่ใช่เป็นพระโอรสของพระราชาพระองค์นี้ ขอพระองค์อย่าถึงความคุ้นเคยในพระราชาพระองค์นี้.
               ลำดับนั้น พระกุมารอันพระราชาตรัสว่า มาซิ ลูก! ก็ดี ทรงจับแม้ที่พระหัตถ์ดึงมาก็ดี ก็ไม่ทรงสนิทกับพระราชาเหมือนในกาลก่อน.
               พระราชาทรงพิจารณาว่า นั่นอะไรๆ ทรงทราบประพฤติการณ์นั้นแล้ว ทรงพระราชาดำริว่า เออ! ชนเหล่านั้น เราแม้สงเคราะห์แล้วอย่างนี้ ยังประพฤติปฏิปักษ์ต่อตระกูลเทียว ทรงเอือมระอา จึงทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช.
               แม้อำมาตย์และบริชนมากรู้ว่า พระราชาทรงผนวชแล้ว ก็ออกบวช.
               มนุษย์ทั้งหลายรู้ว่า พระราชาพร้อมกับบริชนบวชแล้วก็นำปัจจัยอันประณีตน้อมถวาย พระราชาให้ถวายปัจจัยอันประณีตตามลำดับผู้แก่ ในบรรพชิตเหล่านั้น บรรพชิตเหล่าใดได้ปัจจัยดี บรรพชิตเหล่านั้นก็ดีใจ พวกบรรพชิตนอกนี้ก็เพ่งโทษว่า พวกเราทำกิจทั้งปวงมีการกวาดบริเวณเป็นต้น แต่ได้ภัตเลวและผ้าเก่า.
               ท้าวเธอทรงทราบเรื่องแม้นั้นแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เออ! เมื่อถวายปัจจัยตามลำดับผู้แก่ บรรพชิตทั้งหลายก็เพ่งโทษ โอ! บริษัทนี้สงเคราะห์ได้ยาก ดังนี้แล้ว ทรงถือบาตรและจีวรแต่พระองค์เดียวเสด็จเข้าป่า ปรารภวิปัสสนา ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ และชนทั้งหลายผู้มาในที่นั้นทูลถามกรรมฐาน ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
                                   ทุสฺสงฺคหา ปพฺพชิตาปิ เอเก
                                   อโถ คหฎฺฐา ฆรมาวสนฺตา
                                   อปฺโปสฺสุโก ปรปุตฺเตสุ หุตฺวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         แม้บรรพชิตบางพวกก็สงเคราะห์ได้ยาก
                         อนึ่ง คฤหัสถ์อยู่ครองเรือนสงเคราะห์ได้ยาก
                         บุคคลเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรของผู้อื่น
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               คาถานั้นโดยเนื้อความชัดแล้วเทียว แต่โยชนามีดังนี้
               บรรพชิตพวกหนึ่งเหล่าใดถูกความไม่ยินดีครอบงำแล้ว แม้บรรพชิตเหล่านั้นก็สงเคราะห์ได้ยาก และอนึ่ง คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็สงเคราะห์ได้ยากเหมือนกัน เราเกลียดความเป็นผู้สงเคราะห์ได้ยากนั้น ปรารภวิปัสสนา ได้บรรลุแล้วดังนี้.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ทุสสังคหคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๑๐               
               คาถาว่า โอโรปยิตฺวา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระนามว่า จาตุมาสิกพรหมทัต ในกรุงพาราณสี เสด็จไปสู่พระราชอุทยานในเดือนต้นแห่งฤดูร้อน ทรงเห็นต้นทองหลางซึ่งสล้างด้วยใบหนาสีเขียว ในภูมิภาคอันเป็นที่รื่นรมย์ในพระราชอุทยานนั้น ตรัสว่าจงจัดที่นอนให้เราที่โคนต้นทองหลาง. ทรงเล่นในพระราชอุทยานแล้ว ทรงบรรทมที่โคนต้นทองหลางนั้นจนถึงเวลาเย็น เสด็จไปสู่พระราชอุทยานในเดือนท่ามกลางแห่งฤดูร้อนอีก ในกาลนั้น ต้นทองหลางผลิดอกแล้ว แม้ในกาลนั้นก็ทรงกระทำอย่างนั้น เสด็จไปสู่พระราชอุทยานในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อนอีก ในกาลนั้น ต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นแล้ว เป็นเหมือนต้นไม้แห้ง แม้ในกาลนั้น พระองค์ยังไม่ทรงเห็นต้นไม้นั้นเลย ตรัสสั่งให้จัดที่บรรทมที่โคนต้นทองหลางนั้นแหละ ตามที่ทรงประพฤติมาในกาลก่อน.
               อำมาตย์ทั้งหลายแม้รู้อยู่ ก็จัดที่บรรทมในโคนต้นทองหลางนั้น เพราะกลัวว่าพระราชาตรัสสั่งแล้ว.
               พระองค์ทรงเล่นในพระราชอุทยาน ในสมัยเย็น ทรงบรรทมที่โคนต้นทองหลางนั้น ทรงเห็นต้นไม้นั้นแล้ว ทรงพระราชดำริว่า
               ในกาลก่อน ต้นไม้นี้สล้างด้วยใบ น่าดูยิ่งนักเหมือนสำเร็จแล้วด้วยแก้วมณี ต่อแต่นั้น ก็เป็นต้นไม้ มีดอกบานสะพรั่งเช่นกับหน่อแก้วประพาฬที่วางไว้ในระหว่างกิ่งซึ่งมีสีเขียว น่าดูดุจทองคำมีสิริ และภายใต้ภูมิภาคแห่งต้นทองหลางนั้นเล่า ก็เกลื่อนกล่นด้วยทรายเช่นกับแล้วมุกดาหาร ดารดาษไปด้วยดอกซึ่งหลุดออกจากขั้ว เป็นดุจปูลาดด้วยผ้ากัมพลแดง วันนี้ ต้นไม้ชื่อนั้นยืนต้นอยู่เหลือแต่กิ่งเหมือนต้นไม้แห้ง
               โอ! ต้นไม้นี้ถูกชราเข้ากระทบแล้วย่อมร่วงโรยไปดังนี้แล้ว ทรงได้อนิจจสัญญาว่า แม้อนุปาทินนกสังขารยังถูกชรากระทบได้ ก็จะป่วยกล่าวไปใยถึงอุปาทินนกสังขารเล่า และพระองค์เมื่อทรงเห็นแจ้งซึ่งสังขารทั้งปวงตามทำนองแห่งอนิจจสัญญานั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง และโดยความเป็นอนัตตา ทรงปรารถนาว่า โอหนอ! แม้เราพึงปราศจากเพศคฤหัสถ์ เหมือนต้นทองหลางสลัดใบฉะนั้น ทรงบรรทมโดยปรัศว์เบื้องขวาบนพื้นพระที่บรรทมนั้นนั่นแล ก็ทรงทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณโดยลำดับ.
               ในกาลเสด็จไปจากพระราชอุทยานนั้น ครั้นอำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า ข้าแต่มหาราช ได้เวลาเสด็จกลับแล้วพระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า เราไม่ใช่พระราชาเป็นต้น จึงตรัสพระคาถาโดยนัยก่อนนั่นแลว่า
                                   โอโรปยิตฺวา คิหิพฺยญฺชนานิ
                                   สญฺฉินฺนปตฺโต ยถา โกวิฬาโร
                                   เฉตฺวาน ธีโร คิหิพนฺธนานิ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         นักปราชญ์ละเหตุอันเป็นเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์
                         ดุจต้นทองหลางมีใบร่วงหล่น
                         ตัดเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ได้แล้ว
                         พึงเที่ยวผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในคาถานั้น บทว่า โอโรปยิตฺวา ความว่า ทิ้งแล้ว นำออกแล้ว.
               บทว่า คิหิพฺยญฺชนานิ ความว่า ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ระเบียบของหอม ของลูบไล้ สตรี บุตร ทาสีทาสเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมแสดงความเป็นคฤหัสถ์ให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า คิหิพฺยญชนานิ แปลว่า เครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์.
               บทว่า สญฺฉินฺนปตฺโต ความว่า มีใบหล่นแล้ว.
               บทว่า เฉตฺวาน คือ ตัดแล้วด้วยมรรคญาณ.
               บทว่า ธีโร ได้แก่ ผู้ประกอบพร้อมด้วยมรรค วิริยะ.
               บทว่า คิหิพนฺธนานิ ได้แก่ เครื่องผูกคือกาม. เพราะกามทั้งหลายเป็นเครื่องผูกแห่งคฤหัสถ์ทั้งหลาย.
               เนื้อความตามบทมีเท่านี้ก่อน ส่วนอธิบายมีดังนี้
               ก็พระราชาทรงดำริอย่างนี้ว่า โอหนอ แม้เราละเหตุอันเป็นเครื่องปรากฏแห่งคฤหัสถ์แล้ว พึงเป็นเหมือนต้นทองหลางมีใบร่วงหล่นฉะนั้น ทรงปรารภวิปัสสนา บรรลุแล้วดังนี้.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               โกวิฬารคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์แล้ว               
               วรรคที่ ๑ จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6971&Z=7101
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1095
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1095
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :