ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 293อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 25 / 295อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
อุรคสูตร

               อรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถโชติกา               
               (ปฐมภาค)               
               อรรถกถาอุรควรรค สุตตนิบาต               
               -----------------------------               
               อรรถกถาอุรคสูตร               

                                   ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค
                         อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
                                   ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) ขอถวาย
                         อภิวาทแด่พระรัตนตรัย อันสูงสุดกว่าสิ่งที่ควร
                         ไหว้ทั้งหลาย แล้วจักอธิบายความแห่งสุตตนิ-
                         บาต ที่พระโลกนาถเจ้าผู้ทรงแสวงหาทางแห่ง
                         การหลุดพ้นจากโลก ผู้ทรงมีปกติละเสียซึ่ง
                         ความเสียหาย (แม้) เล็กน้อย ได้ทรงแสดงไว้
                         แล้วในคัมภีร์ขุททกนิกาย.
                                   ก็สุตตนิบาตนี้ได้หยั่งลง (มีอยู่) ในคัมภีร์
                         ขุททกนิกายนั่นเอง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักได้
                         อธิบายความแห่งสุตตนิบาตแม้นี้.
                                   หากจะมีคำถามว่า เพราะเหตุไร คัมภีร์นี้
                         ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยคาถานับร้อยประกอบด้วย
                         เคยยะและเวยยากรณะ จึงได้ชื่อว่า สุตตนิบาต
                         เล่า?
                                   ตอบว่า ที่เรียกว่าสูตร เพราะพระพุทธเจ้า
                         ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะไหลออกซึ่งประโยชน์ทั้งหลาย
                         เพราะเป็นเครื่องต้านทานไว้ เพราะไขและเพราะ
                         แสดงออกซึ่งอรรถทั้งหลายด้วยดี นิบาตนี้ อันพระ
                         ธรรมสังคาหกาจารย์เจ้าทั้งหลาย รวบรวมพระสูตร
                         ทั้งหลายเห็นปานนั้น แล้วย่อลงไว้โดยประการนั้นๆ
                         ฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าสุตตนิบาต.
                                   อนึ่ง พระสูตรแม้ทั้งหมด โดยกำหนดแล้ว
                         ก็เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้คงที่ และคัมภีร์
                         นี้ก็เป็นการรวบรวมพระสูตรเหล่านั้น เพราะฉะนั้น
                         จึงได้ชื่อว่าสุตตนิบาต เพราะไม่มีลักษณะพิเศษที่
                         เป็นเครื่องหมายให้เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นไปได้.


               ก็สุตตนิบาตนี้ซึ่งได้รับการตั้งชื่ออย่างนี้ เมื่อว่าโดยวรรคแล้วก็มี ๕ วรรค คือ
                         ๑. อุรควรรค
                         ๒. จูฬวรรค
                         ๓. มหาวรรค
                         ๔. อัฏฐกวรรค
                         ๕. ปารายนวรรค.
               บรรดาวรรคทั้งห้านั้น อุรควรรคเป็นวรรคแรก เมื่อว่าโดยสูตรแล้ว ในอุรควรรคมี ๑๒ สูตร ในจูฬวรรคมี ๑๔ สูตร ในมหาวรรคมี ๑๒ สูตร ในอัฏฐกวรรคมี ๑๖ สูตร ในปารายนวรรคมี ๑๖ สูตร จึงรวมเป็น ๗๐ สูตร.
               บรรดาพระสูตรเหล่านั้น อุรคสูตรเป็นสูตรแรก เมื่อว่าโดยประมาณแห่งปริยัติแล้ว ก็มี ๘ ภาณวาร.
               แต่เมื่อว่าโดยปริมาณแห่งวรรค สูตรและปริยัติอย่างนี้ อุรคสูตรนี้ก็มีคาถาแรก นี้ว่า
                                   โย จ อุปฺปติตํ วิเนติ โกธํ
                                   วิสฏํ สมฺปวิสํว โอสเถภิ
                                   โส ภิกฺขุ ชหาติ โอรปารํ
                                   อุรโค ชิณฺณมิว ตจํ ปุราณํ

                         ภิกษุใดแล ย่อมกำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นแล้ว
               เหมือนหมอกำจัดพิษงูที่ซ่านไปแล้วด้วยโอสถฉะนั้น
               ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละ ซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้
               เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าแล้วฉะนั้น.

               เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ เพื่อจะได้อธิบายความแห่งคาถานั้น ท่านจึงได้กล่าวปัญหากรรมนี้ว่า
                         คาถานี้ ใครกล่าว? กล่าวที่ไหน? กล่าวเมื่อใด?
                         กล่าวเพราะเหตุไร? ข้าพเจ้าจักประกาศวิธีนี้
                         แล้วอธิบายความแห่งคาถานั้น.
               ถามว่า ก็คาถานี้ใครกล่าว? กล่าวที่ไหน? กล่าวเมื่อใด? และกล่าวเพราะเหตุใด?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงได้รับพยากรณ์ในสำนักพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ ทรงบำเพ็ญบารมีตราบเท่าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร แล้วทรงอุปบัติในดุสิตภพ. พระองค์ทรงจุติแม้จากดุสิตภพนั้นแล้ว ก็ทรงอุบัติในศากยตระกูล ได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้โพธิ แล้วทรงแสดงธรรมจักร ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์โดยลำดับ.
               คาถานี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้เป็นสยัมภู ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง ตรัสไว้แล้ว.
               ก็คาถานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วเพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในเมืองอาฬวี ในกาลที่พระองค์ทรงบัญญัติภูตคามสิกขาบท (สิกขาบทที่ห้ามพรากของเขียว เช่นตัดต้นไม้เป็นต้น) ในเมืองอาฬวีนั้น.
               การวิสัชนาโดยสังเขปในคาถาที่หนึ่งนี้ มีเพียงเท่านี้.
               ส่วนการวิสัชนาโดยพิสดาร ผู้ศึกษาพึงทราบได้ด้วยสามารถแห่งทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน และสันติเกนิทาน ดังต่อไปนี้ :-
               ในนิทาน (เหตุเกิด) ทั้ง ๓ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าทูเรนิทาน ได้แก่กถาที่กล่าวถึงเรื่องของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร จนถึงปัจจุบัน.
               ที่ชื่อว่าอวิทูเรนิทาน ได้แก่กถาที่กล่าวถึงเรื่องของพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่ดุสิตภพจนถึงปัจจุบัน.
               ที่ชื่อว่าสันติเกนิทาน ได้แก่ กถาที่ปรารภเรื่องของพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่โพธิมณฑลจนถึงปัจจุบัน.
               เพราะในนิทานทั้งสามนั้น อวิทูเรนิทานและสันติเกนิทาน จัดเข้าในทูเรนิทานนั่นเอง ฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงทราบวิสัชนาในที่นี้โดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งทูเรนิทานเท่านั้น.
               ก็การวิสัชนานี้นั้น ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) ได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาชาดก เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงไม่ต้องกล่าวให้พิสดารอีก. เพราะผู้ศึกษาพึงทราบโดยนัยพิสดารที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในอรรถกถาชาดกนั่นเอง.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-
               ในคาถาที่หนึ่ง (ในอรรถกถาชาดก) เรื่องบังเกิดขึ้นในเมืองสาวัตถี.
               ในพระสูตรนี้เรื่องบังเกิดขึ้นในเมืองอาฬวี ดังที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า
               สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์เมืองอาฬวี. ก็สมัยนั้นแล พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี พากันทำนวกรรมอยู่ ตัดต้นไม้เองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง แม้ภิกษุชาวเมืองอาฬวีรูปหนึ่งก็ตัดต้นไม้. เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นได้กล่าวคำนี้กะภิกษุนั้นว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านต้องการทำที่อยู่ของตน จงอย่าทำลาย (ตัด) ที่อยู่ของข้าพเจ้า” ภิกษุนั้นไม่สนใจ ยังตัดอยู่นั้นเอง และได้สับเอาแขนลูกของเทวดานั้นเข้า.
               ครั้งนั้นแล เทวดานั้นมีความดำริดังนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงฆ่าภิกษุนี้เสียในที่นี้ทีเดียว ครั้งนั้นแล เทวดานั้นได้มีความคิดอีกว่า ก็การที่เราพึงฆ่าพระภิกษุรูปนี้เสียในที่นี้นั่นเองไม่ควรเลย ไฉนหนอ เราพึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ครั้งนั้นแล เทวดานั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สาธุๆ เทพดา เธอดีนักแล เทพดา ที่เธอไม่ปลงชีวิตภิกษุนั้นเสีย. ดูก่อนเทพดา ถ้าหากว่าเธอจะพึงปลงชีวิตพระภิกษุนี้แล้วไซร้ เธอจะประสบบาปมาก จงไปเถิดเทพดา ต้นไม้ในโอกาสโน้นว่างอยู่ เธอจงเข้าสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้นั้น.
               ก็แล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เพื่อจะกำจัดความโกรธที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เทวดานั้น จึงตรัสคาถานี้ว่า๑-
                         ผู้ใดแลพึงยับยั้งความโกรธที่บังเกิดขึ้นไว้ได้
                         ผู้นั้นก็ดุจบุคคลหยุดรถที่ไปอย่างรวดเร็วไว้ได้ ฉะนั้น.

____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗

               ต่อแต่นั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูล (พระผู้มีพระภาคเจ้า) เพราะเหตุที่ได้ฟังพวกมนุษย์กล่าวโทษอย่างนี้ว่า อย่างไรกันนะ พวกสมณศากยบุตรจักตัดต้นไม้เองบ้าง จักให้บุคคลอื่นตัดบ้าง พวกสมณศากยบุตรย่อมเบียดเบียนสิ่งที่มีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์อันเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ว่า เป็นปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคาม ดังนี้แล้ว เพื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายที่มาในที่นั้น จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า
                         ภิกษุใดแลกำจัดความโกรธที่บังเกิดขึ้นแล้ว
                         เหมือนหมองูกำจัดพิษงูที่ซ่านไปแล้วด้วยโอสถฉะนั้น
ดังนี้.
               เรื่องเดียวกันนี้เอง ถึงการสงเคราะห์ (ปรากฎว่ามีอยู่) ในที่มา ๓ แห่ง คือในวินัย ในธรรมบท (และ) ในสุตตนิบาต ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ด้วยคำเพียงเท่านี้ มาติกานั้นใด ท่านตั้งไว้แล้วว่า
                         คาถานี้ ใครกล่าว? กล่าวที่ไหน? กล่าวเมื่อใด?
                         กล่าวเพราะเหตุไร? ข้าพเจ้าจักประกาศวิธีนี้
                         แล้วอธิบายความแห่งคำนั้น
               มาติกานั้นเป็นอันข้าพเจ้าประกาศแล้วทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร ยกเว้นการอธิบายความ (เท่านั้น) ก็ในคาถาที่หนึ่งนี้มีอรรถาธิบายดังต่อไป :-
               บทว่า โย ได้แก่ ภิกษุใดคือเช่นไร คือบวชจากขัตติยสกุลก็ตาม บวชจากพราหมณสกุลก็ตาม จะเป็นผู้บวชใหม่ก็ตาม จะเป็นพระมัชฌิมะก็ตาม จะเป็นพระเถระก็ตาม.
               บทว่า อุปฺปติตํ ได้แก่ ที่ตกไปแล้ว ที่ไปแล้ว ที่เป็นไปแล้วเบื้องบนๆ. มีคำอธิบายว่า ที่บังเกิดขึ้นแล้ว.
               ธรรมดาว่า ความโกรธที่บังเกิดขึ้นนี้มีหลายประเภท คือ วัตตมานะ ๑ ภุตวาปคตะ ๑ โอกาสกตะ ๑ ภูมิลัทธะ ๑.
               บรรดาความโกรธทั้ง ๔ ประเภทนั้น ความพร้อมเพรียงแห่งการบังเกิดขึ้นเป็นต้นที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแม้ทั้งหมด ชื่อว่าวัตตมานุปปันนะ ซึ่งท่านกล่าวหมายเอาว่า ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ธรรมทั้งหลายที่ไม่เกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายที่มีปกติเกิดขึ้น.๒-
               กุศลและอกุศล กล่าวคือภุตวาปคตะที่เสวยรสแห่งอารมณ์แล้วดับไป และสังขาตะที่เหลือ กล่าวคือภุตวาปคตะที่ไม่ถึงขณะทั้ง ๓ มีอุปปาทขณะเป็นต้นแล้วดับไป ชื่อว่าภุตวาปคตุปันนะ. ภุตวาปคตุปปันนะนี้นั้นพึงเห็นได้ ในคำว่า “ทิฏฐิที่เป็นบาปเห็นปานนี้บังเกิดขึ้นแล้ว”๓- และในสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ “เมื่อสติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นแล้ว การบำเพ็ญภาวนาให้บริบูรณ์ก็ย่อมมีได้ ฉันใด”.๔-
               กรรมที่ท่านกล่าวแล้วโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า “กรรมทั้งหลายที่ทำแล้วในกาลก่อนของเขาเหล่านั้นใด” ดังนี้ แม้เป็นกรรมที่ล่วงแล้ว ก็ชื่อว่าโอกาสกตุปปันนะ เพราะห้ามวิบากของกรรมอื่นแล้วให้โอกาสแก่วิบากของตนตั้งอยู่ และเพราะวิบากที่ได้โอกาสแล้วอย่างนั้น แม้ยังไม่บังเกิดขึ้นก็บังเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ในเมื่อได้ทำโอกาสอย่างนี้แล้ว.
               อกุศลที่ยังไม่ได้ถอนขึ้นในภูมิทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าภูมิลัทธุปปันนะ.
____________________________
๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑
๓- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๙๙
๔- ที. ม. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๙๓

               ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างกันแห่งภูมินี้และภูมิที่ได้แล้ว คือขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ชื่อว่าภูมิ. กิเลสชาตที่สมควรบังเกิดขึ้นในขันธ์ ๕ ชื่อว่าภูมิลัทธะ. เพราะเหตุนั้นแล ภูมินั้นจึงชื่อว่าเป็นภูมิอันได้แล้ว ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภูมิลัทธะ.
               ก็ภูมิลัทธะนั้น จะพึงได้ก็ด้วยสามารถแห่งอารมณ์.
               จริงอยู่ กิเลสแม้ทั้งหมดย่อมบังเกิดขึ้นปรารภขันธ์ทั้งหลายของพระขีณาสพทั้งหลาย แม้ที่ท่านกำหนดแล้ว อันต่างด้วยขันธ์ในอดีตเป็นต้น ก็ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ดุจกิเลสที่บังเกิดขึ้นแก่นันทมาณพ และบุตรเศรษฐีชื่อว่าโสเรยยกะ เป็นต้น เพราะปรารภขันธ์ทั้งหลายของพระมหากัจจายนะ และของนางอุบลวรรณาเถรีเป็นต้น.
               ก็ถ้าหากว่าอารมณ์นี้จะพึงชื่อว่าภูมิลัทธะแล้วไซร้ ใครๆ ก็ไม่พึงละมูลแห่งภพได้ เพราะเหตุที่อารมณ์นั้นอันใครๆ ไม่พึงละได้ แต่พึงทราบว่าที่ชื่อว่าภูมิลัทธะ ก็ด้วยสามารถแห่งวัตถุ.
               ด้วยว่า ขันธ์ทั้งหลายที่มิได้กำหนดแล้วด้วยวิปัสสนา ย่อมบังเกิดขึ้นในวัตถุใดๆ กิเลสชาตที่มีวัฏฏะเป็นมูล ก็ย่อมนอนเนื่องในขันธ์เหล่านั้น นับตั้งแต่ได้บังเกิดขึ้นในวัตถุนั้นๆ กิเลสชาตนั้น พึงทราบว่าภูมิลัทธุปปันนะ เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ ก็กิเลสทั้งหลายที่ยังละไม่ได้ และที่ยังนอนเนื่องอยู่ในขันธ์เหล่าใด (ย่อมบังเกิดขึ้น) แก่บุคคลใดในวัตถุนั้น ขันธ์เหล่านั้นนั้นเองของบุคคลนั้นเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านั้น หาใช่ขันธ์ของบุคคลเหล่าอื่นไม่.
               ก็ขันธ์ที่เป็นอดีตเท่านั้น เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งหลายที่บุคคลนั้นยังละไม่ได้ และที่นอนเนื่องอยู่ในอดีตขันธ์ทั้งหลาย หาใช่ขันธ์นอกจากนี้ไม่. ในขันธ์ที่เป็นอนาคตเป็นต้นก็มีนัยนี้ (เหมือนกัน).
               อนึ่ง ขันธ์ที่เป็นกามาวจรเท่านั้น เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งหลายที่สัตว์ยังละไม่ได้ และที่นอนเนื่องอยู่ในกามาวจรขันธ์ทั้งหลาย หาใช่ขันธ์นอกนี้ไม่. ในขันธ์ที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจรก็นัยนี้ (เหมือนกัน).
               ก็กิเลสชาตอันมีวัฏฏะเป็นมูลนั้นๆ มีอยู่ในขันธ์ทั้งหลายของพระอริยบุคคลใดๆ ในบรรดาพระโสดาบันเป็นต้นอันพระอริยบุคคลนั้นๆ ย่อมละได้ด้วยมรรคนั้นๆ ขันธ์เหล่านั้นๆ ของพระอริยบุคคลนั้นๆ จะนับว่าเป็นภูมิไม่ได้ เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันมีวัฏฏะเป็นมูลเหล่านั้นๆ ที่พระอริยบุคคลนั้นๆ ละได้แล้ว. แต่ว่ากรรมที่ทำไว้อย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นกุศลก็ตาม เป็นอกุศลก็ตาม ย่อมมีแก่ปุถุชนได้ เพราะกิเลสที่มีวัฏฏะเป็นมูล อันปุถุชนยังละไม่ได้โดยประการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น วัฏฏะของปุถุชนนั้นจึงเป็นไปเพราะกิเลสเป็นปัจจัย.
               กิเลสชาตที่มีวัฏฏะเป็นมูลนั้น ของบุคคลนั้น ไม่ควรกล่าวว่ามีในรูปขันธ์เท่านั้น ไม่มีในขันธ์ทั้งหลายมีเวทนาขันธ์เป็นต้น ฯลฯ หรือไม่ควรกล่าวว่า มีในวิญญาณขันธ์เท่านั้น ไม่มีในขันธ์ทั้งหลายมีรูปขันธ์เป็นต้น.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเหตุที่ว่ากิเลสชาตนั้นนอนเนื่องอยู่ในขันธ์ทั้ง ๕ โดยไม่พิเศษกว่ากัน (โดยไม่แปลกกัน) คืออย่างไร?
               คือกิเลสชาตที่นอนเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ นั้น เปรียบเหมือนรสแห่งพื้นดินเป็นต้น ซึ่งติดอยู่ที่ต้นไม้ฉะนั้น เหมือนอย่างว่า เมื่อต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ที่พื้นดิน อาศัยรสแห่งดินและรสแห่งน้ำ เจริญงอกงามขึ้นด้วยราก ลำต้น กิ่ง ใบอ่อน ใบแก่ ดอกและผลเพราะได้อาศัยรสแห่งดินและรสแห่งน้ำนั้นเป็นปัจจัย ทำท้องฟ้าให้เต็ม มีการสืบต่อเชื้อสายของต้นไม้ไว้ ก็เพราะพืชที่สืบต่อกันมา ดำรงอยู่ได้จนถึงกัลปาวสาน รสแห่งแผ่นดินเป็นต้นนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่า มีอยู่ที่รากเท่านั้น หาได้มีอยู่ที่ลำต้นเป็นต้นไม่ ฯลฯ หรือไม่ควรจะกล่าวว่า มีอยู่ที่ผลเท่านั้น หาได้มีอยู่ที่รากเป็นต้นไม่
               เพราะเหตุไร?
               เพราะรสแห่งแผ่นดินเป็นต้นซ่านไปในรากเป็นต้น (ของต้นไม้นั้น) ทั้งหมดทีเดียว โดยไม่พิเศษกว่ากันฉันใด กิเลสชาตก็ฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษบางคนเบื่อในดอกและผลเป็นต้นของต้นไม้นั้นนั่นแหละ จะพึงใส่ยาพิษชื่อมัณฑุกกัณฑกะ ลงที่ต้นไม้ในทิศทั้งสี่ เมื่อเป็นเช่นนั้นต้นไม้นั้น ได้รับสัมผัสที่เป็นพิษนั้นถูกต้องเข้าแล้ว ก็ไม่พึงสามารถเพื่อจะให้การสืบต่อเกิดขึ้นอีกได้ เพราะมีน้ำออกน้อยเป็นธรรมดา เนื่องจากรสแห่งแผ่นดินและรสแห่งน้ำถูกยาพิษครอบงำแล้วฉันใด
               กุลบุตรผู้เบื่อหน่ายในความเป็นไปของขันธ์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปรารภการเจริญมรรค ๔ ในสันดานของตน ดุจการที่บุรุษนั้นประกอบยาพิษในทิศทั้ง ๔ เมื่อเป็นเช่นนั้น ขันธสันดานนั้นของกุลบุตรนั้นที่แตกต่างกันโดยกรรมทั้งปวง มีกายกรรมที่เข้าถึงสักว่าความเป็นกิริยาเป็นต้น เพราะกิเลสมีวัฏฏะเป็นมูลถูกสัมผัสคือยาพิษในมรรคทั้ง ๔ นั้นครอบงำแล้วโดยประการทั้งปวง จึงไม่สามารถที่จะทำสันดานคือภพใหม่ให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะถึงความไม่เกิดขึ้นในภพใหม่เป็นธรรมดา แต่ว่าอนุปาทานย่อมดับไปอย่างเดียว เพราะความดับไปแห่งปุริมวิญญาณ ดุจไฟป่าบังเกิดขึ้นแล้วดับไปเพราะหมดเชื้อฉะนั้น
               ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างกันแห่งภูมิและภูมิลัทธะ ดังพรรณนามาฉะนี้
               อีกอย่าง อุปปันนะแม้อื่นอีก ๔ อย่างคือ
                         ๑. สมุทาจารุปปันนะ
                         ๒. อารัมมณาธิคคหิตุปปันนะ
                         ๓. อวิกขัมภิตุปปันนะ
                         ๔. อสมูหตุปปันนะ.
               ในอุปปันนะทั้ง ๔ นั้น ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ชื่อว่าสมุทาจารุปปันนะ.
               ก็กิเลสชาต แม้ยังไม่เกิดขึ้นในส่วนเบื้องต้น ในอารมณ์ที่มาสู่ครองแห่งจักขุทวารเป็นต้น ท่านเรียกว่า อารัมมณาธิคคหิตุปปันนะ เพราะต้องบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในส่วนอื่น เพราะเหตุที่ตนได้รับอารมณ์ได้แล้วนั่นเอง.
               ในข้อนี้มีกิเลสชาตที่บังเกิดขึ้นแก่พระมหาติสสเถระผู้เที่ยวไปบิณฑบาตในกัลยาณคาม เพราะการเห็นรูปที่เป็นวิสภาคกันเป็นตัวอย่าง.
               พึงทราบประโยคในคำทั้งหลายมีคำว่า๕- กามวิตกบังเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้นดังนี้ เป็นต้น.
____________________________
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๔

               กิเลสชาตที่ข่มไม่ได้ด้วยอำนาจของสมถะและวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่มาสู่การสืบต่อแห่งจิตแล้ว ก็ชื่อว่าอวิกขัมภิตุปปันนะ เพราะไม่มีเหตุที่จะห้ามการบังเกิดขึ้นได้.
               อวิกขัมภิตุปปันนะนั้นพึงเห็นในอาคตสถานทั้งหลายเป็นต้นว่า๖-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานัสสติสมาธิแม้นี้แลที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว เป็นธรรมชาติสงบระงับ, ประณีต, ไม่ต้องรดน้ำก็เย็น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขและย่อมทำให้อกุศลบาปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานไปโดยฐานะ ดังนี้.
____________________________
๖- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๓๕๓

               ส่วนกิเลสชาตแม้ที่ข่มได้แล้วด้วยสมถะและวิปัสสนา ท่านเรียกว่า อสมูหตุปปันนะ เพราะอธิบายว่าไม่ล่วงการบังเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะเหตุที่กิเลสชาตนั้นยังถอนไม่ได้ด้วยอริยมรรค. ก็ในข้อนี้มีกิเลสชาตที่บังเกิดขึ้นแก่พระเถระผู้ได้สมาบัติแปด ซึ่งกำลังเหาะไปในอากาศได้ฟังเสียงเพลงขับของสตรี ผู้กำลังเก็บดอกไม้ทั้งหลายที่ต้นไม้มีดอกอยู่ ณ ชายป่าซึ่งขับร้องอยู่ด้วยเสียงอันไพเราะเป็นตัวอย่าง.
               ผู้ศึกษาพึงทราบการประกอบประโยคแห่งอุปปันนะนั้น ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า พระอริยบุคคลผู้ทำให้มากซึ่งมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ พึงยังธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานไปในระหว่างทีเดียว.๗-
____________________________
๗- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๒๘๗

               ก็อารัมมณาธิคคหิตุปปันนะ อวิกขัมภิตุปปันนะและอสมูหตุปปันนะ แม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ พึงทราบว่า ย่อมถึงการสงเคราะห์ด้วยภูมิลัทธะนั้นแล.
               เมื่อกิเลสชาตมีประเภทตามที่กล่าวแล้วนั้น เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้นั่นเอง.
               ความโกรธนี้ก็พึงทราบว่าบังเกิดขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งภูมิลัทธุปปันนะ อารัมมณาธิคตุปปันนะ อวิกขัมภิตุปปันนะ และอสมูหตุปปันนะ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะว่า บุคคลพึงกำจัดความโกรธนั้นด้วยวิธีอย่างนี้ ด้วยว่าบุคคลย่อมสามารถจะกำจัดความโกรธที่บังเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งมีประเภทตามที่กล่าวมาอย่างนี้ ด้วยวินัยอย่างใดอย่างหนึ่งได้. ก็กิเลสชาตนี้ใด กล่าวคือวัตตมานะ ภุตวาปคตะ โอกาสคตะและสมุทาจาระ บังเกิดขึ้นแล้ว ความพยายามในกิเลสชาตนี้นั้นย่อมไม่มีผล และไม่สามารถจะบังเกิดขึ้นๆ ด้วยว่าความพยายามในกิเลสชาต (คือความโกรธ) ที่เป็นภุตวาปคตะ ชื่อว่าไม่มีผล เพราะกิเลสนั้นดับไปแล้ว ในระหว่างแห่งความพยายาม แม้ในความโกรธที่เป็นโอกาสคตะก็เหมือนกัน ความพยายามในกิเลสชาตที่เป็นวัตตมานุปปันนะและสมุทาจารุปปันนก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วไม่บังเกิดขึ้นพร้อมกัน.
               ก็ในบทว่า วิเนติ นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
                                   ชื่อว่า วินัย มี ๒ อย่าง ใน ๒ อย่างนี้
                         อย่างหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๕ อย่าง ใน ๕ อย่างนั้น
                         วินัยนี้ ท่านเรียกว่า วิเนติ ก็ด้วยวิธี ๘ อย่าง.

               ด้วยว่า วินัยนี้มี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ อสังวรวินัย ๑.
               ก็ในวินัย ๒ อย่างนี้ วินัยหนึ่งๆ แบ่งเป็น ๕ อย่าง
               ก็แม้สังวรวินัยนี้ก็มี ๕ อย่าง คือ
                         ๑. ศีลสังวร
                         ๒. สติสังวร
                         ๓. ญาณสังวร
                         ๔. ขันติสังวร
                         ๕. วิริยสังวร.
               แม้ปหานวินัยก็มี ๕ อย่าง คือ
                         ๑. ตทังคปหาน
                         ๒. วิกขัมภนปหาน
                         ๓. สมุจเฉทปหาน
                         ๔. ปฏิปัสสัทธิปหาน
                         ๕. นิสสรณปหาน.
               ในสังวรวินัยทั้ง ๕ อย่างนั้น ความสำรวมซึ่งมาแล้ว ในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง เป็นผู้เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวรนี้๘- ชื่อว่าศีลสังวร.
               ความสำรวมซึ่งมาแล้วในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์๙- ชื่อว่าสติสังวร.
____________________________
๘- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๒
๙- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๕

               ความสำรวมซึ่งมาแล้วในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอชิตะ
                         กระแส (กิเลส) เหล่าใดมีอยู่ในโลก สติเป็นเครื่อง
                         กั้นกระแสเหล่านั้น เราเรียกเครื่องกั้นกระแสทั้ง
                         หลายว่าสังวร กระแสเหล่านั้นอันบุคคลย่อมกั้น
                         เสียได้ด้วยปัญญา
ดังนี้.๑๐-
               ชื่อว่าญาณสังวร.
____________________________
๑๐- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๒๕

               ความสำรวมซึ่งมาแล้วในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมอดทนต่อความหนาว ต่อความร้อน๑๑- ดังนี้ ชื่อว่าขันติสังวร.
               ความสำรวมซึ่งมาแล้วในคำทั้งหลายเป็นต้นว่า ภิกษุย่อมยับยั้ง คือว่าย่อมละ ย่อมบรรเทากามวิตกที่บังเกิดขึ้นแล้ว๑๒- ดังนี้ พึงทราบว่าวิริยสังวร.
____________________________
๑๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕
๑๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๑๔

               ก็ความสำรวมนี้แม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่าสังวร ก็เพราะสำรวมระวังกายทุจริตและวจีทุจริตเป็นต้นที่จะพึงสำรวมระวัง เรียกว่าวินัย เพราะกำจัดกายทุจริต และวจีทุจริตเป็นต้น ที่จะพึงกำจัดตามความเป็นจริง.
               สังวรวินัย พึงทราบว่าแบ่งเป็น ๕ อย่าง อย่างนี้ก่อน.
               อีกอย่างหนึ่ง การสืบต่อสันดานที่ไม่มีประโยชน์อันใด เป็นไปอยู่ในองค์แห่งวิปัสสนาทั้งหลาย มีนามรูปปริเฉท (การกำหนดรู้นามรูป) เป็นต้น ด้วยอำนาจที่ยังละตนไม่ได้อยู่เพียงใด การละสันดานที่ไม่มีประโยชน์นั้นๆ ด้วยญาณนั้นๆ ก็ย่อมมีอยู่เพียงนั้น.
               คืออย่างไร?
               คือ การละสักกายทิฏฐิ ด้วยการกำหนดนามรูป. ละอเหตุกทิฏฐิ และวิสมเหตุกทิฏฐิ ด้วยการกำหนดปัจจัย. ละความสงสัยด้วยการข้ามพ้นความสงสัย อันเป็นส่วนอื่นแห่งการกำหนดปัจจัยนั้นนั่นเอง. ละการยึดถือว่าเรา ว่าของเรา ด้วยการพิจารณากลาปะ. ละความสำคัญว่ามรรคในธรรมที่ไม่ใช่มรรค ด้วยการกำหนดมรรคและธรรมที่ไม่ใช่มรรค. ละอุจเฉททิฏฐิ ด้วยการเห็นความเกิดขึ้น. ละสัสสตทิฏฐิ ด้วยการเห็นความเสื่อม ละความสำคัญว่าสิ่งที่ไม่มีภัยในสิ่งที่มีภัย ด้วยการเห็นภัย. ละความสำคัญว่าความยินดี ด้วยการเห็นโทษ. ละความสำคัญว่าความยินดียิ่ง ด้วยการตามเห็นความเบื่อหน่าย. ละความเป็นผู้ไม่ใคร่เพื่อจะพ้น ด้วยมุญจิตุกัมยตาญาณ. ละความไม่วางเฉย ด้วยอุเบกขาญาณ. ละธัมมทิฏฐิ ด้วยอนุโลมญาณ และละการกำหนดสังขารนิมิตอันตรงกันข้ามกับพระนิพพาน ด้วยโคตรภูญาณนี้ ชื่อว่าตทังคปหาน.
               ก็การละนิวรณ์ทั้งหลายที่สมาธิอันต่างด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิกำจัดเสียได้ จนกระทั่งตนไม่เสื่อม (จากสมาธินั้น) และยังเป็นไปอยู่ และการละกล่าวคือการไม่บังเกิดขึ้นแห่งปัจจนิกธรรมมีวิตกเป็นต้น ตามสมควรแก่ตน ชื่อว่าวิกขัมภนปหาน.
               ก็การละ กล่าวคือการตัดขาดซึ่งกองแห่งกิเลสอันเป็นฝ่ายของสมุทัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วโดยนัยเป็นต้นว่า๑๓- เพื่อละทิฏฐิตามหน้าที่ของตนในสันดานของตน โดยประกอบด้วยองค์มรรคนั้นๆ เพราะได้เจริญอริยมรรค ๔ แล้วโดยความไม่เป็นไปโดยส่วนเดียวอีก นี้ชื่อว่าสมุจเฉทปหาน.
               ก็การที่กิเลสทั้งหลายสงบระงับไปในขณะแห่งผล ชื่อว่าปฏิปัสสัทธิปหาน.
               ส่วนพระนิพพานที่ละสังขตธรรมทั้งปวงเสียได้ เพราะสลัดสังขตธรรมทั้งปวงออกไปได้ ชื่อว่านิสสรณปหาน.
____________________________
๑๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๙๑

               ก็เพราะเหตุที่การละแม้ทั้งหมดนี้ ชื่อว่าปหาน เพราะอรรถว่าสละ. ชื่อว่าวินัย เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องกำจัด. ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปหานวินัย.
               อีกอย่างหนึ่ง การละนี้ท่านเรียกว่า ปหานวินัย ก็เพราะความมีอยู่แห่งวินัยนั้นๆ โดยการละความประพฤติล่วงละเมิดข้อนั้นๆ เสียได้ แม้ปหานวินัยนี้ พึงทราบว่าแบ่งเป็น ๕ อย่างดังพรรณนามาฉะนี้.
               วินัยเหล่านี้จัดเป็น ๑๐ อย่าง เพราะวินัยข้อหนึ่ง แบ่งเป็น ๕ ด้วยประการฉะนี้.
               ในวินัยทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เว้นปฏิปัสสัทธิวินัยและนิสสรณวินัยเสียแล้ว วินัยนี้ท่านเรียกว่า วิเนติ (ย่อมกำจัด) ด้วยปริยายนั้นๆ
               ด้วยวินัย ๘ อย่างที่เหลือ ย่อมกำจัดอย่างไร?
               คือ ด้วยว่าบุคคลเมื่อกำจัดกายทุจริตและวจีทุจริต ด้วยศีลสังวร ชื่อว่าย่อมกำจัดความโกรธที่ประกอบด้วยกายทุจริตและวจีทุจริตนั้น แม้กำจัดอยู่ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น ด้วยสติสังวรและปัญญาสังวร ชื่อว่าย่อมกำจัดความโกรธที่ประกอบด้วยโทมนัส แม้เมื่ออดทนความหนาวเป็นต้น ด้วยขันติสังวรอยู่ ชื่อว่าย่อมกำจัดความโกรธอันเกิดแต่อาฆาตวัตถุนั้นๆ ได้ แม้กำจัดพยาบาทวิตก ด้วยวิริยสังวรอยู่ ชื่อว่าย่อมกำจัดความโกรธที่ประกอบด้วยพยาบาทวิตกนั้นได้.
               ตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน และสมุจเฉทปหาน ย่อมมีได้ (ย่อมเกิดได้) ด้วยธรรมเหล่าใด บุคคลแม้ละอยู่ซึ่งธรรม(อกุศลธรรม) เหล่านั้นๆ ด้วยไม่ให้ธรรมเหล่านั้นเป็นไปในตน ก็ชื่อว่าย่อมกำจัดความโกรธที่มีฐานอันเดียวกับธรรมที่จะพึงประหานเสียด้วยองค์นั้นๆ อันตนจะพึงข่มและอันตนจะพึงละเสีย.
               ก็ในที่นี้ แม้วินัยจะเกิดมีขึ้นไม่ได้เพราะปหานวินัยก็จริง แต่การละย่อมมีได้ด้วยธรรมเหล่าใด บุคคลแม้กำจัดอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ท่านก็เรียกว่าย่อมกำจัดด้วยปหานวินัยโดยปริยาย.
               ส่วนในกาลแห่งปฏิปัสสัทธิปหาน บุคคลนั้น ท่านเรียกว่าย่อมหากำจัดอะไร ด้วยธรรมทั้งหลายเหล่านั้นได้ไม่ ก็เพราะเหตุที่นิสสรณปหานเป็นสภาพธรรมอันผู้ปฏิบัติไม่พึงให้เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุที่ไม่มีสิ่งที่จะพึงกำจัด.
               ก็ในวินัย ๑๐ อย่างนี้ เว้นปฏิปัสสัทธิวินัยและนิสสรณวินัยเสียแล้ว วินัยนี้ท่านเรียกว่าย่อมกำจัดได้โดยปริยายนั้นๆ ด้วยวินัย ๘ อย่างที่เหลือ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำจัดอาฆาตไว้ ๕ อย่าง อย่างนี้ว่า๑๔-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุ อันเธอจะพึงกำจัดเสียได้โดยประการทั้งปวง ในเพราะการกำจัดเสียได้ซึ่งอาฆาตใด ก็การกำจัดซึ่งอาฆาตเหล่านี้มี ๕ อย่าง.
               ๕ อย่างอะไรบ้าง?
               คือ ภิกษุทั้งหลายอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด ภิกษุพึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ... พึงเจริญกรุณา ... พึงเจริญมุทิตา ... พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น พึงทำอมนสิการ (ความไม่ใส่ใจ) ในบุคคลนั้นต่อไป อาฆาตในบุคคลนั้นอันภิกษุพึงกำจัดอย่างนี้.
               หรือว่าภิกษุพึงตั้ง (พิจารณา) ความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนนั่นเอง ในบุคคลนั้นไว้ให้มั่นคงว่า ท่านผู้มีอายุนี้มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว ก็จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น.
____________________________
๑๔- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๖๑

               และท่านกล่าวการกำจัดอาฆาต ๕ อย่างโดยนัยแม้มีอาทิอย่างนี้ว่า๑๕-
               ดูก่อนท่านผู้มีอายุ อาฆาตบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุ อันท่านพึงกำจัดเสียได้โดยประการทั้งปวง ในเพราะการกำจัดอาฆาตใด การกำจัดอาฆาตเหล่านี้มี ๕ อย่าง.
               ๕ อย่างอะไรบ้าง?
               คือ ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีกายสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีกายและวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์ บุคคลพึงกำจัดอาฆาตในบุคคลเห็นปานนี้แล.
____________________________
๑๕- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๖๒

               บุคคลนี้แม้กำจัดอาฆาตอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอาฆาต ๕ อย่างนั้น ท่านเรียกว่า วิเนติ (ย่อมกำจัด).
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อภิกษุระลึกถึงโอวาทของพระศาสดาอย่างนี้ว่า๑๖-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่าพวกโจรที่มีใจต่ำช้า พึงเอาเลื่อยมีคมสองข้างตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดพึงยังใจให้ประทุษร้ายแม้ในโจรนั้น เธอนั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา เพราะทำใจให้ประทุษร้ายในโจรนั้น ดังนี้
____________________________
๑๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๗๒

               เมื่อระลึกถึงโอวาทของพระศาสดาที่ตรัสไว้อีกว่า๑๗-
                                   ผู้ใดย่อมโกรธตอบต่อผู้โกรธแล้ว
                         ผู้นั้นแลเลวเสียกว่าผู้โกรธทีแรกนั้นอีก
                         เพราะเหตุที่โกรธตอบเขานั้น
                                   ผู้ที่ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธตนแล้ว
                         ชื่อว่าย่อมชนะสงครามซึ่งชนะได้แสนยาก
                                   ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติ
                         สงบเสงี่ยม ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งสอง
                         ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและผู้อื่น.

____________________________
๑๗- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๗๕

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันบุคคลผู้เป็นข้าศึกมุ่งแล้ว เป็นธรรมอันบุคคลผู้เป็นศัตรูพึงทำแก่กัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้เป็นคนขี้โกรธ.
               ธรรม ๗ ประการอะไรบ้าง? คือ
               (๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนที่เป็นศัตรูกันในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นศัตรู (ของตน) อย่างนี้ว่า โอหนอ! ขอให้เจ้าคนนี้พึงเป็นผู้มีผิวพรรณทราม.
               ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าคนที่เป็นศัตรูกัน ย่อมไม่ยินดีในการที่คนที่เป็นศัตรูของตนมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลขี้โกรธนี้ถูกความโกรธครอบงำ มีความโกรธออกหน้า แม้เขาจะอาบน้ำแล้วอย่างสะอาด ลูบไล้อย่างดี ตัดผมและหนวดแล้ว นุ่งผ้าสะอาดก็จริง ถึงกระนั้น เขามีความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมมีผิวพรรณทรามแท้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อที่หนึ่งนี้ ที่บุคคลผู้เป็นศัตรูกันชอบใจ ที่บุคคลผู้เป็นศัตรูกันพึงทำแก่กัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้ขี้โกรธ.
               (๒) ภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ศัตรูย่อมหวังต่อศัตรู (ของตน) อย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้พึงนอนเป็นทุกข์ ฯลฯ
               (๓) ฯลฯ ขออย่าให้มันมีทรัพย์พอใช้จ่าย ฯลฯ
               (๔) ฯลฯ ขออย่าให้มันมีโภคทรัพย์ ฯลฯ
               (๕) ฯลฯ ขออย่าให้มันมียศ ฯลฯ
               (๖) ฯลฯ ขออย่าให้มันมีเพื่อน ฯลฯ
               (๗) ฯลฯ เพราะกายแตกเบื้องหน้าแต่ตาย ขอให้มันเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.
               ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศัตรูย่อมไม่ยินดีด้วยการไปสุคติของศัตรู (ของตน).
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลขี้โกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว มีความโกรธออกหน้า ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจ เขาครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจาและทางใจแล้ว เบื้องหน้าแต่การตายเพราะกายแตก เป็นผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้.๑๘-
____________________________
๑๘- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑

               และแม้เมื่อพิจารณาโทษในความโกรธ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
                                   คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนโกรธย่อมไม่
                         เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนใด
                         ความมืดบอดก็ย่อมมีแก่นรชนนั้นในกาลนั้น.๑๙-
                                   สัตว์ทั้งหลายโกรธเพราะความโกรธใด
                         แล ย่อมเข้าถึงทุคติ ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง
                         ทั้งหลาย รู้ดีแล้วจึงละความโกรธนั้นเสีย.๒๐-
                                   บุคคลพึงละความโกรธ พึงสละมานะ
                         พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย.๒๑-
                                   ความโกรธก่อให้เกิดเสื่อมเสีย ความ
                         โกรธทำจิตให้กำเริบ คนย่อมไม่รู้จักความ
                         โกรธที่เกิดขึ้นแล้วแต่จิตว่า เป็นภัย.๒๒-
                                   ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน
                         ท่านจงข่มความผิดพลาดครั้งหนึ่งเสีย บัณฑิต
                         ทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธเป็นพลัง๒๓- ดังนี้.

____________________________
๑๙- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑
๒๐- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๘๒
๒๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗
๒๒- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑
๒๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๐๕๐

               ความโกรธก็ย่อมถึงความกำจัดไป ฉะนั้น บุคคลนี้แม้พิจารณาอย่างนี้แล้วกำจัดความโกรธอยู่ ท่านเรียกว่า วิเนติ (ย่อมกำจัด).
               บทว่า โกธํ ได้แก่ ความอาฆาตที่เกิดขึ้นแต่อาฆาตวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอาฆาตวัตถุ ๑๘ คือ อาฆาตวัตถุ ๙ อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระสูตร โดยนัยว่า “ย่อมบังเกิดอาฆาตขึ้นว่า เขาได้ประพฤติความฉิบหายให้แก่เรา เป็นต้น” และอาฆาตวัตถุ ๙ อย่างซึ่งสำเร็จแล้วโดยนัยตรงกันข้ามกับอาฆาตวัตถุ ๙ อย่างแรกนั้นนั่นแลว่า เขาไม่ได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เราเป็นต้น๒๔- จึงรวมเป็นอาฆาตวัตถุ ๑๙ พร้อมกับอัฏฐานะมีตอและหนามตำเป็นต้น.
____________________________
๒๔- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๓๕๑   องฺ นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๓๓

               บทว่า วิสฏํ ได้แก่ ซ่านไป.
               บทว่า สปฺปวิสํ ได้แก่ พิษงู.
               คำว่า อิว เป็นคำอุปมา. ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า สปฺปวิสํว ก็เพราะลบอิอักษรออกเสีย.
               บทว่า โอสเถภิ ได้แก่ ด้วยยาทั้งหลาย.
               ท่านอธิบายไว้ว่า “ผู้ใดย่อมกำจัด คือย่อมอดกลั้น ได้แก่ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้ถึงที่สุด ซึ่งความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วตามอรรถที่กล่าวแล้ว คือที่ซึมซาบไปทั่วจิตสันดานแล้วตั้งอยู่ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอุบายเครื่องกำจัดทั้งหลายตามที่กล่าวแล้ว เหมือนหมอที่กำจัดพิษซึ่งถูกงูกัด พึงกำจัดพิษงูที่แผ่ซ่านไปทั่วร่างกายแล้วคงอยู่ด้วยยานานาชนิด บรรดายาที่ทำด้วยรากไม้ ต้นไม้ เปลือกไม้ ใบและดอกเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือด้วยโอสถที่จัดปรุงขึ้นได้ฉับพลันทีเดียวฉะนั้น.”
               บาทพระคาถาว่า โส ภิกฺขุ ชหาติ โอรปารํ ความว่า ภิกษุนั้นกำจัดความโกรธอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุที่ความโกรธท่านละเสียได้สิ้นเชิงด้วยมรรคที่สาม (อนาคามิมรรค) ฉะนั้น ภิกษุนั้น พึงทราบว่าย่อมละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการที่เรียกกันว่าโอปาระฝั่งในเสียได้.
               แต่เมื่อกล่าวโดยไม่แปลกกันแล้ว คำว่า ปารํ เป็นชื่อของฝั่ง ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า โอรปารํ ก็เพราะอธิบายว่าฝั่งในด้วยเป็นฝั่งแห่งทะเล คือสังสารวัฏเหล่านั้นด้วย.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุใดกำจัดความโกรธที่บังเกิดขึ้นเสียได้ เหมือนหมอกำจัดพิษงูที่ซ่านไปด้วยโอสถ ฉะนั้น ภิกษุนั้นกำจัดความโกรธได้สิ้นเชิง ด้วยมรรคที่สาม แล้วตั้งอยู่ในอนาคามิผล ชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้.
               ในคำว่า โอรปารํ นั้น อัตภาพของตนชื่อว่า โอรํ ฝั่งใน. อัตภาพของคนอื่นชื่อว่า ปารํ ฝั่งนอก.
               อีกอย่างหนึ่ง อายตนะภายใน ๖ ชื่อว่าฝั่งใน อาตยนะภายนอก ๖ ชื่อว่าฝั่งนอก.
               อนึ่ง มนุษยโลกชื่อว่าฝั่งใน เทวโลกชื่อว่าฝั่งนอก. กามธาตุชื่อว่าฝั่งใน รูปธาตุและอรูปธาตุชื่อว่าฝั่งนอก. กามและรูปภพชื่อว่าฝั่งใน อรูปภพชื่อว่าฝั่งนอก. อัตภาพชื่อว่าฝั่งใน อุปกรณ์แห่งความสุขของอัตภาพชื่อว่าฝั่งนอก.
               ภิกษุละอยู่ซึ่งฉันทราคะในฝั่งในและฝั่งนอกนี้ด้วยมรรคที่สี่อย่างนี้ ท่านเรียกว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้. ก็ในฝั่งในและฝั่งนอกนี้ พระอนาคามีไม่มีฉันทราคะเลยในอัตภาพนี้เป็นต้น เพราะเหตุที่ท่านละกามราคะได้แล้วแม้ก็จริง แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ยังกล่าวว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกได้ด้วยการละฉันทราคะ ในพระคาถานั้น เพราะสงเคราะห์ฝั่งในและฝั่งนอกทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน ก็เพื่อจะประกาศคุณแห่งมรรคที่ ๔ นั้น เหมือนมรรคที่ ๓ เป็นต้น.
               บัดนี้ เพื่อจะประกอบเนื้อความนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอุปมาว่า เหมือนกับงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าไปฉะนั้น.
               ในพระคาถานั้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               สัตว์ที่ชื่อว่า งู เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ไปด้วยอก.
               คำว่า อุรโค เป็นชื่อของงู. งูนั้นมี ๒ ชนิด คือ งูที่มีกามเป็นรูป ๑ งูที่มีอกามเป็นรูป ๑. แม้งูที่มีกามเป็นรูปก็มี ๒ ชนิด คืองูที่เกิดในน้ำ ๑ งูที่เกิดบนบก ๑.
               งูที่เกิดในน้ำย่อมได้กามรูปในน้ำเท่านั้น หาได้กามรูปบนบกไม่ ดุจสังขปาลนาคราช ในสังขปาลชาดก. งูที่เกิดบนบกย่อมได้กามรูปบนบกเท่านั้น หาได้กามรูปในน้ำไม่.
               งูนั้นย่อมลอกหนังที่เรียกกันว่า คร่ำคร่า เพราะเป็นของแก่ และว่าเก่า เพราะดำรงอยู่สิ้นกาลนาน จึงลอกคราบไปด้วยวิธี ๔ อย่างคือ ๑. ดำรงอยู่ในชาติกำเนิดของตน ๒. เกลียดอยู่ ๓. เพราะอาศัย ๔. ด้วยกำลัง.
               ชาติกำเนิดของงูชื่อว่า สชาติ ได้แก่ การมีตัวยาว.
               ด้วยว่างูทั้งหลายย่อมไม่ล่วงชาติกำเนิดของตนในฐานะทั้ง ๕ คือ ๑. ในกาลอุบัติ ๒. ในกาลจุติ ๓. ในกาลล่วงความหลับที่ตนปล่อยแล้ว ๔.ในกาลเสพเมถุนกับนางนาคที่มีชาติกำเนิดเสมอกัน ๕. ในกาลลอกคราบ เพราะเมื่อใดก็ตามที่งูลอกคราบ เมื่อนั้นงูนั้นทั้งๆ ที่ยังดำรงอยู่ในชาติกำเนิดของตนนั่นเอง ก็ย่อมลอกคราบ แม้ดำรงอยู่ในชาติกำเนิดของตน รังเกียจอยู่ (อึดอัดอยู่) ก็ย่อมลอกคราบ.
               งูที่ชื่อว่าเกลียดคราบอยู่ คือเมื่อใดก็ตามที่ตนเป็นผู้พ้นจากคราบในฐานะกึ่งหนึ่ง ไม่พ้นจากคราบไปในฐานะกึ่งหนึ่งห้อยอยู่ เมื่อนั้นงูนั้นอึดอัดอยู่ ย่อมลอกคราบนั้นไป.
               ก็งูนั้นแม้รังเกียจอยู่อย่างนี้ อาศัยระหว่างท่อนไม้บ้าง ระหว่างรากไม้บ้าง ระหว่างแผ่นหินบ้าง ย่อมลอกคราบนั้นไป.
               ก็งูนั้นได้อาศัยระหว่างท่อนไม้เป็นต้น แม้เมื่อจะลอกคราบไป ทำกำลังให้เกิดแล้ว กระทำความอุตสาหะ กระทำหางให้คดด้วยความเพียร กำลังเห็นอยู่นั่นเอง แผ่พังพานก็ย่อมลอกคราบไปได้ งูนั้นครั้นลอกคราบอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมหลีกไปได้ตามปรารถนา ฉันใด
               ภิกษุแม้นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปรารถนาจะละฝั่งในและฝั่งนอก ย่อมละไปได้ด้วยอาการ ๔ คือ
               ๑. แม้ดำรงอยู่แล้วในชาติกำเนิดของตน
               ๒. เกลียดอยู่ลอกคราบไป
               ๓. ย่อมลอกคราบไปเพราะอาศัย
               ๔. ย่อมลอกคราบไปด้วยกำลัง.
               ศีลชื่อว่าชาติกำเนิดของภิกษุ เพราะพระบาลีว่า เราเกิดแล้วแต่อริยชาติ๒๕- เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุเป็นคนมีปัญญาดำรงอยู่ในศีลแล้ว๒๖- เป็นต้น.
               ภิกษุดำรงอยู่ในชาติของตนนี้อย่างนี้แล้ว เกลียดซึ่งฝั่งในและฝั่งนอก มีอัตภาพของตนเป็นต้นนั้น ซึ่งยังทุกข์ให้เกิดขึ้น เพราะการเห็นโทษในเรื่องนั้นๆ ดุจงูเกลียดอยู่ซึ่งคราบอันเก่าคร่ำคร่าของตนฉะนั้น.
               อาศัยกัลยาณมิตรทั้งหลาย ทำกำลังกล่าวคือความเพียรอันมีประมาณยิ่งให้เกิดขึ้น แบ่งกลางคืนและกลางวันออกเป็น ๖ ส่วน แล้วเพียรพยายามอยู่ โดยนัยที่ท่านกล่าวไว้ว่า ภิกษุชำระจิตให้สะอาดจากอาวรณียธรรมทั้งหลายด้วยการเดินจงกรมและด้วยการนั่งตลอดทั้งวัน ดังนี้เป็นต้น นั่งคู้บัลลังก์ ดุจงูทำหางของตนให้คดฉะนั้น.
               ภิกษุแม้นี้พยายามอยู่ เพราะความที่ตนมีความบากบั่น ไม่ท้อถอย ดุจงูที่กำลังมองดูฉะนั้น. ภิกษุแม้นี้ทำความแผ่ไปแห่งญาณให้บังเกิดขึ้น ดุจงูแผ่พังพานไปฉะนั้น ก็ย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ ดุจงูลอกคราบฉะนั้น
               ก็ครั้นสละฝั่งในและฝั่งนอกได้แล้ว เป็นผู้มีคราบอันละแล้ว ดุจงูลอกคราบแล้วฉะนั้น.
               ภิกษุแม้นี้ เป็นผู้มีภาระอันปลงลงแล้ว ย่อมก้าวไปสู่ทิศคืออนุปาทิเสสนิพพานธาตุได้ตามปรารถนา.
____________________________
๒๕- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๕๓๑
๒๖- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑

               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                         ภิกษุใดกำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วเสียได้
                         ดุจหมองูกำจัดพิษงูที่ซ่านไปด้วยโอสถฉะนั้น
                         ภิกษุนั้นย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้
                         ดุจงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าเสียฉะนั้น.

               คาถาที่หนึ่งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้แล.
               บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาเนื้อความแห่งคาถาที่ ๒.
               ในคาถาที่ ๒ นั้นมีมาติกา (หัวข้อ) ดังนี้เหมือนกันว่า
                         คาถานี้ใครกล่าว? กล่าวที่ใด? กล่าวเมื่อใด?
                         กล่าวเพราะเหตุไร? ข้าพเจ้าจักประกาศวิธีนี้
                         แล้วทำการอธิบายความแห่งพระคาถานั้น.
               ต่อแต่นั้นไป ก็เพราะกลัวความพิสดารเกินไปในคาถาทั้งปวง นับแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะไม่ยกมาติกามาแสดง แสดงอยู่ซึ่งเนื้อความแห่งคาถานั้นๆ โดยนัยแสดงเหตุเกิดขึ้นเท่านั้น จักกระทำการอธิบายเนื้อความ คือคาถาที่ ๒ นี้ว่า โย ราคมุทจฺฉิทา อเสสํ เป็นต้น.
               คาถาที่ ๒ นั้นมีเหตุเกิดขึ้นดังต่อไปนี้ :-
               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้เมืองสาวัตถี.
               ก็สมัยนั้นแล บุตรช่างทองคนหนึ่งซึ่งเป็นอุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระ ได้บวชในสำนักของพระเถระ. พระเถระคิดว่า อสุภกรรมฐานเหมาะสำหรับคนหนุ่มทั้งหลาย จึงได้ให้อสุภกรรมฐานแก่พระหนุ่มนั้นเพื่อกำจัดราคะ. จิตแม้สักว่าเสพคุ้นในกรรมฐานนั้นก็ไม่เกิดแก่พระภิกษุนั้น ท่านจึงได้บอกแก่พระเถระว่า กรรมฐานนี้ไม่เป็นอุปการะแก่ผม. พระเถระคิดว่า กรรมฐานนี้เหมาะสำหรับคนหนุ่มทั้งหลาย จึงได้ให้กรรมฐานนั้นนั่นแลซ้ำอีก ๔ เดือนผ่านไปอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ได้คุณวิเศษแม้สักอย่างหนึ่ง.
               ต่อจากนั้น พระเถระจึงได้กราบทูลถึงเรื่องภิกษุนั้นแม้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตร การรู้กรรมฐานที่สบายแก่ภิกษุนั้น ไม่ใช่วิสัยของเธอ ภิกษุนี้เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าจะพึงแนะนำดังนี้แล้ว จึงทรงเนรมิตดอกปทุมมีสีประภัสสร (สีเลื่อมๆ พรายๆ) ด้วยฤทธิ์ ทรงประทานในมือของพระภิกษุนั้นแล้ว ตรัสว่า เอาเถิดภิกษุ เธอจงเอาก้านดอกปทุมนี้ปักลงบนเนินทรายที่ร่มเงาหลังวิหาร และจงนั่งขัดสมาธิหันหน้าไปหาดอกปทุมนั้น ระลึกภาวนาอยู่ว่า โลหิตํๆ (สีแดงๆ).
               ทราบว่า ภิกษุนี้เคยเกิดเป็นช่างทองอย่างเดียวมาถึง ๕๐๐ ชาติ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่านิมิตแห่งสีแดงเหมาะสำหรับภิกษุนั้น จึงได้ทรงประทานโลหิตกรรมฐานแก่ภิกษุนั้น. ภิกษุนั้นได้กระทำตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำเพียงชั่วครู่เท่านั้นก็ได้บรรลุแม้ฌาน ๔ ในที่นั้นตามลำดับ ปรารภฌานกีฬาโดยนัยมีอนุโลมและปฏิโลมเป็นต้น.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่าขอดอกปทุมนี้จงเหี่ยว. ภิกษุนั้นออกจากฌาน เห็นดอกปทุมนั้นซึ่งเหี่ยวแห้งไปเป็นสีดำ จึงได้อนิจจสัญญาว่า รูปที่ประภัสสรถูกชราย่ำยีแล้ว ต่อแต่นั้น ท่านได้นำดอกปทุมที่เหี่ยวแห้งนั้นน้อมเข้าไปแม้ภายใน ต่อจากนั้น ท่านได้เห็นภพทั้ง ๓ ปรากฎดุจไฟติดทั่วแล้วว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา.
               ก็ในที่ไม่ไกลจากภิกษุนั้นผู้เห็นอยู่อย่างนี้ มีสระบัวอยู่สระหนึ่ง พวกเด็กๆ ลงไปในสระนั้น หักดอกปทุมทั้งหลาย แล้ว (นำมา) ทำเป็นกองไว้ ดอกปทุมในน้ำเหล่านั้นปรากฏแก่ภิกษุนั้น ดุจเปลวไฟที่ป่าไม้อ้อ ใบทั้งหลาย (ของดอกปทุมเหล่านั้น) หล่นลงก็ปรากฏแก่ภิกษุนั้นดุจตกลงไปในเหว ส่วนยอดของดอกปทุมที่ทิ้งไว้บนบก เหี่ยวแห้งไปแล้ว ปรากฏดุจถูกไฟไหม้.
               ครั้งนั้น เมื่อภิกษุนั้นเพ่งพินิจธรรมทั้งปวงตามกระแสแห่งธรรมนั้นอยู่ ภพทั้งสามก็ปรากฏเป็นสภาพหาที่พึ่งพิงไม่ได้ ประดุจเรือนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น.
               ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่ประทับอยู่ในพระคันธกุฎีนั่นเอง ก็ทรงแผ่รัศมีแห่งพระสรีระไปเบื้องบนพระภิกษุนั้น และพระรัศมีนั้นก็ท่วมทับใบหน้าของภิกษุนั้นเต็มที่. ลำดับนั้น ท่านนึกรำพึงอยู่ว่านี้อะไรกัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าราวกะว่าเสด็จมาประทับยืนอยู่ใกล้ จึงได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ประคองอัญชลี.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความสบายของพระภิกษุนั้น เมื่อจะทรงแสดงธรรมจึงได้ตรัสโอภาสคาถานี้ว่า โย ราคมุทจฺฉิกา อเสสํ เป็นต้น.
               ในคาถานั้น ที่ชื่อว่าราคะ ก็ด้วยอำนาจแห่งความรัญจวน. คำว่าราคะนี้ เป็นชื่อแห่งราคะ คือกามคุณ ๕.
               บทว่า อุทจฺฉิกา ได้แก่ ย่อมตัดคือหัก ได้แก่ทำให้พินาศ. จริงอยู่ นักประพันธ์ทั้งหลายย่อมปรารถนาคำที่เป็นวัตตมานาวิภัตติว่า ฉินฺทติ แม้สำหรับคำทั้งหลายที่เป็นอดีตกาล.
               บทว่า อเสสํ ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ (คือหมดสิ้นทั้งอนุสัย).
               สองบทว่า ภึสปุปฺผํว สโรรุหํ ความว่า ราวกะว่า ดอกบัวนี้งอกขึ้นแล้วในสระ.
               บทว่า วิคยฺห ได้แก่ ลงแล้ว. อธิบายว่า เข้าไปแล้ว.
               คำที่เหลือเช่นเดียวกับที่กล่าวมาในตอนต้นนั่นเอง.
               ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายอะไรไว้?
               ตอบว่า เปรียบเหมือนเด็กเหล่านี้ลงสู่สระ เด็ดดอกปทุมซึ่งงอกในสระ ชื่อฉันใด ภิกษุใดหยั่งลงแล้วสู่โลกสันนิวาส คือไตรธาตุนี้ เข้าถึงแล้ว ซึ่งนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า
                         ไฟที่จะเสมอด้วยราคะไม่มี๒๗-
                         เราย่อมเร่าร้อนด้วยกามราคะ จิตของเราถูกกามราคะเผาไหม้อยู่.๒๘-
                         สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกลง
               กระแสแห่งกิเลสทั้งหลาย ประดุจแมงมุมตกลงไปสู่สาย
               ใยที่ตนเองทำไว้ฉะนั้น.
๒๙-
____________________________
๒๗- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๕   ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๘
๒๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๓๖
๒๙- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔

               ดูก่อนอาวุโส บุคคลผู้ถูกราคะย้อมแล้วแล มีจิตถูกราคะครอบงำแล้วย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ดังนี้แล้ว ก็ถอนราคะไปทีละน้อยอยู่ด้วยการพิจารณาโทษของราคะ ด้วยการสำรวมทั้งหลายมีการสำรวมศีลเป็นต้นมีประการตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว และด้วยความสำคัญว่าไม่งามในวัตถุทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ ชื่อว่าย่อมตัดกิเลสที่เหลือด้วยอนาคามิมรรค และแม้กิเลสที่ยังเหลืออยู่ (อีก) จากอนาคามิมรรคนั้นเสียได้ด้วยอรหัตมรรค ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ โดยประการที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั่นเอง ดุจงูละคราบที่เก่าคร่ำคร่าไปฉะนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
               คาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้ ก็ในที่สุดแห่งเทศนา ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต.
               ถามว่า คาถาที่ว่า โย ตณฺหมุทจฺฉิทา เป็นต้น มีเหตุเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ที่ฝั่งสระโปกขรณี ชื่อคัคครา กำลังตรึกอกุศลวิตกอยู่ด้วยอำนาจของตัณหา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของท่าน จึงได้ทรงภาษิตโอภาสคาถานี้.
               ในพระคาถานั้น ที่ชื่อว่าตัณหา เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องสะดุ้ง (แห่งหมู่สัตว์). อธิบายว่า หมู่สัตว์ย่อมไม่ถึงความอิ่มด้วยอารมณ์ทั้งหลาย คำว่าตัณหานี้ เป็นชื่อของกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา.
               บทว่า สุริตํ ได้แก่ ไปแล้ว คือเป็นไปแล้ว. มีคำอธิบายว่าท่วมทับสัตวโลกตั้งแต่ภวัครพรหมดำรงอยู่.
               บทว่า สีฆสรํ ได้แก่มีปกติไปรวดเร็ว. มีคำอธิบายว่าตัณหาซึ่งไม่คำนึงถึงโทษที่เป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพ สามารถเพื่อจะให้ถึงจักรวาลอื่นบ้าง ภวัครพรหมบ้างโดยครู่เดียวเท่านั้น.
               ผู้ใดทำตัณหานี้ซึ่งซ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้โดยประการทั้งปวงให้เหือดแห้งไปทีละน้อยๆ โดยการพิจารณาถึงโทษอย่างนี้ว่า
                         ก็ชนเหล่าใดปรารถนาอยู่ ซึ่งตัณหา
               อันกว้างขวางในเบื้องบน อันบุคคลให้เต็ม
               ได้โดยยาก อันมีปกติซ่านไป ย่อมติดมั่น
               ตัณหานั้น ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ทรงไว้
               ซึ่งจักร (ล้อ).
๓๐-
               ว่า
                         บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไป
               อยู่ตลอดกาลนาน ย่อมไม่ข้ามพ้นสังสารวัฏ
               ซึ่งมีความเป็นอย่างนี้ และไม่มีความเป็น
               อย่างอื่น.
๓๑-
               และว่า “มหาบพิตร โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสของตัณหา”๓๒- ดังนี้ และด้วยคุณทั้งหลายมีศีลสังวรเป็นต้น มีประการดังที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว แล้วตัดตัณหาไม่ให้เหลือด้วยอรหัตมรรค ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกได้ โดยประการทั้งปวง ในขณะนั้นนั่นเอง. ในที่สุดแห่งเทศนา พระภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต.
____________________________
๓๐- ขุ. ชา. เล่ม ๒๕๒๗/ข้อ ๗๙๗
๓๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๙
๓๒- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๔๕๐

               มีคำถามว่า คาถาที่ว่า โย มานมูทพฺพธิ เป็นต้น มีเหตุบังเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในเมืองสาวัตถี ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ คงเห็นสะพานไม้อ้อที่เขาทำไว้ที่กระแสน้ำอันมีน้ำน้อยในฤดูร้อน ถูกห้วงน้ำใหญ่ไหลในภายหลังพัดแล้ว ก็เกิดความสังเวชขึ้นว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง” ได้ยืนอยู่แล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของท่าน จึงได้ทรงเปล่งโอภาสคาถานี้.
               มานะคือความฟูขึ้นแห่งใจซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นต้นเป็นวัตถุ ชื่อว่ามานะ ในคาถานั้น. มานะนั้นมี ๓ อย่าง คือ ๑. การถือว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าเขา ๒. การถือว่าเราเป็นผู้เสมอเขา ๓. การถือว่าเราเป็นผู้เลวกว่าเขา.
               อีกอย่างหนึ่ง มานะมี ๙ อย่าง คือ
                         ๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขา
                         ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่า เสมอเขา
                         ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลวกว่าเขา
                         ๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขา
                         ๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่า เสมอเขา
                         ๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่า เลวกว่าเขา
                         ๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลิศกว่าเขา
                         ๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่า เสมอเขา
                         ๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่า เลวกว่าเขา.๓๓-
               มีคำอธิบายว่า ภิกษุใดฆ่ามานะแม้มีประการทั้งปวงนั้น ด้วยการพิจารณาเห็นโทษในมานะนั้น โดยนัยว่า
               สัตว์ทั้งหลายเมาแล้วแล เพราะมานะใด ย่อมไปสู่ทุคติเป็นต้น.๓๔-
____________________________
๓๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๘๖-๘๙๔
๓๔- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๘๔

               และด้วยศีลสังวรเป็นต้นมีประการดังที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ได้ทีละน้อยๆ ชื่อว่าถอนขึ้นซึ่งมานะอันเช่นกับสะพานไม้อ้อ เพราะความที่กิเลสทั้งหลายไม่มีกำลัง และมีกำลังทราม (และ) ถอนกิเลสที่เหลือด้วยอรหัตมรรคอันเช่นกับห้วงน้ำใหญ่ เพราะโลกุตรธรรมทั้งหลายมีกำลังยิ่งนัก เมื่อถอนขึ้นด้วยสามารถแห่งการละเสียไม่ให้เหลือ ชื่อว่าย่อมฆ่า (ซึ่งมานะ). ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ แม้โดยประการทั้งปวง ในขณะนั้นนั่นเอง. ในที่สุดแห่งเทศนา ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต.
               มีคำถามว่า คาถาที่ว่า โย นาชฺฌคมา เป็นต้น มีเหตุเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า การเกิดขึ้นแห่งคาถานี้ และแห่งคาถา ๑๒ คาถาเหล่าอื่นซึ่งต่อจากนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกันนั่นเองคือ :-
               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี ก็สมัยนั่นแล พราหมณ์คนหนึ่ง เมื่อบุตรสาวของตนดำรงอยู่ในปฐมวัยที่คนอื่นจะพึงขอได้ คิดว่า “เราจักประดับตกแต่งบุตรสาวด้วยดอกไม้ที่คนถ่อยไรๆ ไม่เคยใช้สอยแล้วส่งไปสู่สกุลสามี” พราหมณ์นั้นเมื่อตรวจค้นทั่วกรุงสาวัตถี ทั้งภายในและภายนอกกรุง ก็ไม่ได้พบแม้สักว่าดอกหญ้าไรๆ ที่คนถ่อยไม่เคยใช้สอย. ครั้นเขาได้เห็นพวกเด็กลูกพราหมณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพวกนักเลงประชุมกันอยู่ จึงคิดว่า “ข้าพเจ้าจักถามพวกเด็กเหล่านี้ในเด็กเป็นจำนวนมาก จักต้องมีใครสักคนหนึ่งรู้แน่นอน” แล้วจึงได้ถามพวกเด็กพราหมณ์เหล่านั้น.
               พวกเด็กพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อจะเย้ยหยันพราหมณ์นั้นจึงกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ธรรมดาว่าดอกมะเดื่อใครๆ ในโลกก็ไม่เคยใช้สอยกัน ท่านจงให้ธิดาประดับด้วยดอกมะเดื่อนั้น แล้วจงให้ (ธิดาของท่าน).
               ในวันที่สอง พราหมณ์ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ก็ไปยังป่ามะเดื่อบนฝั่งแม่น้ำอจิรวดี แสวงหาต้นไม้ต้นหนึ่งๆ อยู่ ก็ไม่ได้พบแม้สักว่าขั้วแห่งดอก (มะเดื่อ). ครั้งนั้นเมื่อเลยเวลาเที่ยงไปแล้ว พราหมณ์ก็ได้ไปเป็นครั้งที่สอง ก็ที่ป่ามะเดื่อนั้น. ภิกษุรูปหนึ่งนั่งพักกลางวันมนสิการกรรมฐานอยู่ที่โคนต้นมะเดื่ออันรื่นรมย์ต้นหนึ่ง. พราหมณ์นั้นเข้าไปในที่ที่พระภิกษุนั้นนั่งอยู่นั้นไม่สนใจ นั่งแล้วครู่หนึ่ง ก็กลับนั่งยองๆ ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นยืนครู่หนึ่ง ค้นอยู่ซึ่งต้นไม้นั้นในระหว่างกิ่งและคาคบทั้งปวง ลำบากอยู่ (เหน็ดเหนื่อยอยู่).
               ลำดับนั้น ภิกษุนั้นกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า “พราหมณ์ท่านแสวงหาอะไร?”
               พราหมณ์นั้นตอบว่า “ผมแสวงหาดอกมะเดื่อขอรับ”
               ภิกษุนั้นกล่าวว่า “พราหมณ์ ธรรมดาว่าดอกมะเดื่อไม่มีในโลก คำพูดนี้ (คำว่าดอกมะเดื่อมี) เป็นคำเท็จ ท่านอย่าได้ลำบากเลย”
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของภิกษุนั้น จึงทรงเปล่งรัศมี แล้วได้ตรัสโอภาสคาถาทั้งหลายเหล่านี้แก่ภิกษุนั้นผู้มีมานะมาก อันประมวลมาถึงพร้อมแล้วว่า โย นาชุฌคมา ภเวสุ สารํ เป็นต้น
               ผู้ศึกษาควรกล่าวคาถาทุกคาถา.
               ในบรรดาคาถาเหล่านั้นจะได้กล่าวถึงคาถาที่ ๑ ก่อน.
               บทว่า นาชุฌคมา ได้แก่ ไม่ถึง คือไม่ประสบ.
               บทว่า ภเวสุ ได้แก่ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ และปัญจโวการภพ.
               บทว่า สารํ ได้แก่ ภาวะที่เที่ยง หรืออัตภาพ.
               บทว่า วิจินํ คือ แสวงหาอยู่ด้วยปัญญา.
               คำว่า ปุปฺผมิว อุทุมฺพเรส เป็นต้น มีเนื้อความและโยชนาดังนี้ว่า
               ก็พระโยคาวจรเลือกอยู่ด้วยปัญญา ก็ไม่พบสาระไรๆ ในภพทั้งหลาย เหมือนพราหมณ์นี้ เมื่อเลือกดอกที่ต้นมะเดื่อทั้งหลายก็ไม่พบดอกมะเดื่อ ฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นเห็นแจ้งธรรมเหล่านั้นอยู่ โดยความไม่เที่ยงและโดยความเป็นสภาพไม่ใช่ตน เพราะอรรถว่าหาสาระไม่ได้ บรรลุอยู่ซึ่งโลกุตรธรรมทั้งหลายโดยลำดับ ชื่อว่าย่อมละซึ่งฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ เหมือนงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าเสียฉะนั้น.
               แต่ในคาถาที่เหลือทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักไม่กล่าวโยชนาแห่งคาถานั้น กล่าวเฉพาะเนื้อความที่แปลกกันเท่านั้น.
               ในสองบาทคาถาว่า ยสฺสนฺตรโต น สนฺติ โกปา อิติ ภวาภวตญฺจ วีติวตฺโต นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               อันตรศัพท์นี้ปรากฏในอรรถทั้งหลายเป็นอันมาก มีอรรถว่าเหตุ อรรถว่าท่ามกลาง และอรรถว่าจิต เป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         ชนทั้งหลายประชุมปรึกษากัน ที่ฝั่งแม่น้ำ
                         ที่หนทาง ที่สภาและที่ถนน. ส่วนข้าพเจ้า
                         และท่านมาประชุมกัน เพราะเหตุอะไร?
๓๕-
               ว่า “บุคคลย่อมถึงที่สุดในท่ามกลางได้ด้วยการบรรลุคุณวิเศษอันมีประมาณน้อย”๓๖-
               และว่า
                                   ความโกรธก่อให้เกิดความฉิบหาย
                         ความโกรธทำให้จิตกำเริบ ชนย่อมไม่รู้จัก
                         ความโกรธนั้นซึ่งบังเกิดขึ้นแต่จิตที่เป็นภัย
.๓๗-
____________________________
๓๕- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๘๑
๓๖- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๘๔
๓๗- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑

               แต่ในที่นี้ อันตรศัพท์ใช้ในอรรถว่าจิต.
               บาทคาถาว่า ยสฺสนฺตรโต น สนฺติ โกปา ความว่า ความโกรธย่อมไม่มีในใจของผู้ใด เพราะความโกรธนั้น ท่านถอนขึ้นเสียแล้วด้วยมรรคที่ ๓.
               ก็เพราะเหตุที่สมบัติชื่อว่าภวะ วิบัติชื่อวิภวะ. อนึ่ง ความเจริญชื่อว่าภวะ. ความเสื่อมชื่อว่าวิภวะ. ความเที่ยงชื่อว่าภวะ ความขาดสูญชื่อว่าวิภวะ. บุญชื่อว่าภวะ บาปชื่อว่าวิภวะ.
               เมื่อว่าโดยใจความแล้วทั้งวิภวะทั้งอภวะก็เป็นอันเดียวกันนั่นเอง ฉะนั้น ในคำว่า ภวาภวตญฺจ วีติวตฺโต นี้ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า
               ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงความเสื่อมและความเจริญมีประการเป็นอเนกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งสมบัติ วิบัติ ความเจริญ ความเสื่อม ความเที่ยง ความขาดสูญ บุญและบาป ด้วยมรรคทั้ง ๔ โดยนัยนั้นๆ ตามสมควรแก่เหตุ.
               ก็ในข้อว่า ยสฺส วิตกฺกา เป็นต้นนี้ มีอธิบายว่า ภิกษุใดพิจารณาเห็นโทษในวิตกนั้นๆ แล้วกำจัดคือทำให้สงบ ได้แก่เผาผลาญ วิตก ๙ อย่างคือ :-
               วิตก ๓ อย่าง คือ
                         ๑. กามวิตก (ความดำริในทางกาม)
                         ๒. พยาบาทวิตก (ความดำริในการปองร้าย)
                         ๓. วิหิงสาวิตก (ความดำริในการเบียดเบียน)
               วิตก ๓ อย่าง คือ
                         ๑. ญาติวิตก (การคิดกังวลถึงญาติ)
                         ๒. ชนปทวิตก (การคิดกังวลถึงชนบท)
                         ๓. อมรวิตก (การคิดกังวลถึงความไม่ตาย)
               วิตก ๓ อย่าง คือ
                         ๑. ปรานุททยตาปฏิสังยุตตวิตก
                                   (ความคิดกังวลที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น)
                         ๒. ลาภสักการสิโลกวิตก
                                   (ความคิดกังวลถึงลาภสักการะและชื่อเสียง)
                         ๓. อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก
                                   (ความคิดกังวลที่ประกอบด้วยการไม่ดูหมิ่น).
               โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในสมันตภัทรกสูตร ด้วยการพิจารณาธรรมที่ปฏิปักษ์กัน และด้วยมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ อันสามารถที่จะละวัตถุนั้นๆ เสียได้.
               ผู้ศึกษาพึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ก็วิตกที่เหลืออันภิกษุกำจัดได้แล้วอย่างนี้ ทำให้สงบราบคาบในภายใน ย่อมไม่เกิดขึ้นอีกในจิตที่เป็นไปในขันธสันดานของตน อันเกิดในภายในตนฉันใด กิเลสที่เหลือที่พระอรหันต์ตัดได้แล้วก็ฉันนั้น เพราะสิ่งที่ตัดได้แล้วท่านเรียกว่า “กัปปิตะ”
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กปฺปิตเกสมสฺสุ (ผู้มีผมและหนวดอันปลงแล้ว).๓๘-
____________________________
๓๘- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑

               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถานี้ว่า โย นาจฺจสารี เป็นต้นดังต่อไปนี้ :-
               สองบทว่า โย นาจฺจสารี ได้แก่ ภิกษุใดไม่แล่นเลยไป.
               บทว่า น ปจฺจสารี คือ ไม่ล้าอยู่.
               ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ก็ภิกษุใดตกไปอยู่ในอุทธัจจะด้วยการปรารภความเพียรจัด ชื่อว่าย่อมแล่นเลยไป เมื่อตกไปในโกสัชชะด้วยความเพียรที่หย่อนเกินไป ชื่อว่าย่อมล้าอยู่.
               อนึ่ง เมื่อทำตนให้ลำบากด้วยภวตัณหา ชื่อว่าย่อมแล่นเลยไป เมื่อประกอบกามสุขอยู่ด้วยกามตัณหา ชื่อว่าย่อมล้าอยู่. ด้วยสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่าย่อมแล่นเลยไป ด้วยอุทเฉททิฏฐิ ชื่อว่าย่อมล้าอยู่. เมื่อเศร้าโศกถึงอดีตอยู่ ชื่อว่าย่อมแล่นเลยไป เมื่อเพ้อหวังอนาคตอยู่ ชื่อว่าย่อมล้าอยู่. ด้วยปุพพันตานุทิฏฐิ ชื่อว่าย่อมแล่นเลยไป ด้วยอปรันตานุทิฏฐิ ชื่อว่าย่อมล้าอยู่. เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเว้นที่สุด ๒ อย่างนี้ได้แล้ว ปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทาอยู่ ชื่อว่าไม่แล่นเลยไปและไม่ล้าอยู่.
               บาทคาถาว่า สพฺพํ อจฺจุคมา อิมํ ปปญฺจํ ความว่า ก็แลผู้ใดก้าวล่วง คือข้ามพ้น. อธิบายว่า ก้าวล่วงเสียด้วยดีซึ่งความเนิ่นช้า ๓ อย่าง คือตัณหา มานะและทิฏฐิ อันมีเวทนาสัญญาและวิตกเป็นแดนเกิดทั้งปวงเสียได้ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาอันมีอรหัตมรรคเป็นที่สุด.
               ก็ในคาถาต่อจากนั้น มีความแปลกกันเพียงเท่านี้ว่า สพฺพํ วิตถมิทํ ญฺตวา โลเก. เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า บทว่า สพฺพํ ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ. มีคำอธิบายว่า ทั้งสิ้นคือเต็ม.
               ก็แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ในคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาสังขตธรรมอันต่างโดยขันธ์ อายตนะและธาตุที่เป็นโลกีย์ซึ่งเข้าถึงวิปัสสนาเท่านั้น.
               บทว่า วิตถํ ได้แก่ ความแปรผัน. มีคำอธิบายว่า ชื่อว่าแปรผัน เพราะความเป็นโดยประการที่พวกคนพาลยึดถือเอาด้วยอำนาจกิเลสว่าเที่ยง หรือว่ายั่งยืน ว่าเป็นสุข หรือว่าสวยงาม หรือว่าเป็นตัวตน.
               บทว่า อิทํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงตรัสธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้นทั้งหมดนั้นนั่นแล โดยภาวะที่เห็นประจักษ์.
               บทว่า ญตฺวา ได้แก่ ทราบด้วยมรรคปัญญา. อธิบายว่า ก็แลภิกษุใดทราบธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้นนั้น โดยความไม่หลง และโดยอารมณ์.
               บทว่า โลเก ได้แก่ ในโอกาสโลก. เชื่อมความว่า รู้ว่าธรรมชาติมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวงนี้เป็นของแปรผัน.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้ง ๔ เบื้องหน้าแต่นี้ไป ดังต่อไปนี้ :-
               ศัพท์เหล่านี้คือ วีตโลโภ วีตราโค วีตโทโส วีตโมโห มีความแปลกกัน (ไม่เหมือนกัน).
               ในบรรดาคำทั้ง ๔ นี้ ที่ชื่อว่าโลภะ ด้วยอำนาจแห่งความโลภ (อยากได้). คำว่าโลภะ นี้เป็นคำที่รวมอกุศลธรรมฝ่ายโลภะเข้าไว้ทั้งหมด เป็นชื่อแห่งอกุศลมูลที่หนึ่ง หรือเป็นชื่อแห่งวิสมโลภะ โลภธรรมนั้นใดบางคราวย่อมเกิดขึ้นได้แม้ในวัตถุทั้งสาม คือ โภคะ ๑ รัฐ ๑ หมู่บ้าน ๑ ที่ชื่อว่าราคะด้วยสามารถแห่งความรัญจวน ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า โลภธรรมย่อมบังเกิดขึ้นในสตรีทั้งหลายรุ่นพี่น้องหญิง รุ่นธิดา. คำว่าราคะ นี้เป็นชื่อของราคะคือกามคุณทั้งห้า.
               ที่ชื่อว่าโทสะ ด้วยสามารถแห่งการประทุษร้าย. คำว่าโทสะ นี้เป็นชื่อของความโกรธที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น.
               ที่ชื่อว่าโมหะ ด้วยสามารถแห่งความหลง. คำว่าโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งความไม่รู้ในอริยสัจ ๔. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุเกลียดโลภะ ในบรรดาโลภะราคะโทสะและโมหะนั้น จึงเริ่มเจริญวิปัสสนาว่า ทำไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงกำจัดโลภะ เป็นผู้ปราศจากความโลภ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงการละฝั่งในและฝั่งนอกทั้งปวง อันเป็นอุบายเครื่องละโลภะ อันเป็นเครื่องแสดงความแปรผันแห่งสังขารทั้งหลาย และเป็นอานิสงส์แห่งการละโลภะ จึงทรงตรัสคาถานี้ ในแม้คาถาทั้งหลายเบื้องหน้าแต่นี้ (ต่อจากนี้) ก็นัยนี้ (เหมือนกัน). แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ภิกษุนั้นซึ่งปรารภวิปัสสนาแล้วเกลียดธรรมเหล่านั้น จึงกล่าวคาถารูปละ ๑ คาถา ในพระสูตรนี้ โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นเอง ท่านชอบใจคำใดก็พึงถือเอาคำนั้น. ในคาถาทั้ง ๔ ต่อจากนี้ก็นัยนี้ (เหมือนกัน) แต่การพรรณนาความในคาถานี้ดังต่อไปนี้ :-
               อกุศลธรรมเหล่าใด ย่อมนอนเนื่องอยู่ในสันดานทั้งหลาย เพราะอรรถว่ายังละไม่ได้ เหตุนั้นอกุศลธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอนุสัย. คำว่าอนุสัยนี้เป็นชื่อแห่งกามราคะ ปฏิฆะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ภวราคะและอวิชชา. ที่ชื่อว่ามูล เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งอาการของตนแห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย. ที่ชื่อว่าอกุศล เพราะอรรถว่าไม่เกษม. ที่ชื่อว่ามูล เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งสัมปยุตธรรมนั้นบ้าง. ที่ชื่อว่าอกุศล เพราะอรรถว่ามีโทษและมีวิบากเป็นทุกข์.
               คำว่า มูลและอกุศลทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นชื่อแห่งโลภะโทสะและโมหะ. จริงอยู่ อกุศลมูลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนี้ โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย โลภะเป็นอกุศลด้วย เป็นอกุศลมูลด้วย. อนุสัยเหล่านี้บางอย่างไม่มีแก่ภิกษุใด เพราะเธอละเสียได้ ด้วยมรรคนั้นๆ อย่างนี้ และอนุสัยเหล่านี้ก็เป็นอกุศลมูล อันภิกษุถอนขึ้นได้แล้วแล. อธิบายว่า ถอนเสียแล้ว.
               ก็พวกอาจารย์ผู้รู้ลักษณะของศัพท์ ปรารถนาการลง เส อักษร สำหรับคำที่เป็นปฐมาวิภัตติพหุวจนะ แต่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายพรรณนาว่า ศัพท์ว่าเส เป็นนิบาต, ท่านชอบใจคำใด ก็พึงถือเอาคำนั้น.
               ก็ในคาถานี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ภิกษุนั้น คือผู้มีอย่างนี้ เป็นพระขีณาสพ ก็พระขีณาสพย่อมไม่ยึดมั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่า พระขีณาสพย่อมละ ครั้นละแล้วก็ดำรงอยู่แม้ก็จริง ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังตรัสว่า ภิกษุนั้นย่อมละฝั่งนอกและฝั่งในเสียได้ด้วยลักษณะของคำที่เป็นปัจจุบัน ในวิภัตติที่เป็นปัจจุบันใกล้อดีต.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็ภิกษุปรินิพพานอยู่ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ บัณฑิตพึงทราบว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอก กล่าวคืออายตนะภายในและอายตนะภายนอกของตนเสียได้.
               พึงทราบความไม่มีอนุสัยในพระคาถานั้น โดยแยกเป็น ๒ ส่วน คือตามลำดับกิเลส และตามลำดับมรรค.
               ก็เมื่อว่าตามลำดับกิเลส ความไม่มีแห่งกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่สาม. ความไม่มีแห่งมานานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่สี่ ความไม่มีแห่งทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่หนึ่ง. ความไม่มีแห่งภวราคานุสัยและอวิชชานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่สี่.
               เมื่อว่าตามลำดับมรรค ความไม่มีแห่งทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่หนึ่ง. ความไม่มีแห่งกามราคานุสัยและอวิชชานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่สาม. ความไม่มีแห่งมานานุสัย ภวราคานุสัยและอวิชชานุสัย ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่สี่.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า ก็เพราะเหตุที่อนุสัยทั้งปวงเป็นอกุศล คือกามราคานุสัยและภวราคานุสัยเท่านั้น ถึงการสงเคราะห์เข้าด้วยโลภะเป็นอกุศลมูล. ปฏิฆานุสัยและอวิชชานุสัย ย่อมถึงการนับว่าโทสะเป็นอกุศลมูล โมหะเป็นอกุศลมูล ส่วนทิฏฐิ มานะและวิจิกิจฉานุสัย ไม่จัดเป็นอกุศลมูลข้อใดเลย.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะภิกษุปรารถนาการละกิเลสด้วยสามารถแห่งความไม่มีอนุสัย และด้วยสามารถแห่งการถอนอกุศลมูลเสียได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุใดไม่มีอนุสัยไรๆ ถอนอกุศลมูลได้แล้ว.
               ในบาทพระคาถาว่า ยสฺส ทรถชา เป็นต้นนี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               กิเลสที่เกิดขึ้นครั้งแรก ชื่อว่าทรถะ เพราะอรรถว่าเร่าร้อน. ส่วนกิเลสที่เกิดต่อมา ชื่อว่าทรถชา เพราะเกิดจากกิเลสเป็นเครื่องกระวนกระวายเหล่านั้น. ความถือตัวตนชื่อว่า โอรํ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า โอริมนฺตีรํ นี้ เป็นชื่อของการถือตัวถือตน.
               คำว่า อาคมนาย ได้แก่ เพื่อการอุบัติขึ้น.
               บทว่า ปจฺจยาเส ได้แก่ ปัจจัยทั้งหลายนั่นเอง.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร ?
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ก็ภิกษุไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความกระวนกระวายบางอย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งการยึดถืออุปาทานขันธ์ เพราะเหตุที่กิเลสเหล่านั้นตนละเสียได้แล้ว ด้วยอริยมรรค ภิกษุนั้นชื่อว่าละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้โดยนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั่นเอง.
               แม้ในคาถาที่ว่า ยสฺส วนถชา เป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบกิเลสทั้งหลายที่เกิดจากป่า ดุจกิเลสทั้งหลายที่เกิดจากความกระวนกระวาย
               แต่ในอรรถแห่งคำ มีแปลกกันดังต่อไปนี้ :-
               ธรรมชาติที่ชื่อว่าป่า ก็เพราะอรรถว่าปรารถนาหรือต้องการ. อธิบายว่า ย่อมจำนง คือย่อมขอ ย่อมคบ. คำว่าวนะ นี้เป็นชื่อของตัณหา. จริงอยู่ ตัณหานั้น ท่านเรียกว่าวนะ เพราะปรารถนา คือเพราะไหลออกมาแห่งอารมณ์ทั้งหลาย ตัณหา (วนะ) ย่อมแผ่ไปด้วยอำนาจที่มีอารมณ์เป็นปริยุฏฐาน (กลุ้มรุม) เพราะเหตุนั้น ตัณหานั้นจึงชื่อว่าวนถะ. คำว่าวนถะ นี้เป็นชื่อแห่งตัณหานุสัย กิเลสทั้งหลายที่เกิดจากป่าคือตัณหา ชื่อว่าวนถชา. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กิเลสแม้ทั้งหมด ท่านเรียกว่าวนถะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องรกชัฎ. ส่วนกิเลสที่เกิดขึ้นต่อๆ มา ชื่อว่าวนถชา. ก็ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาเนื้อความในสุภสูตรเพียงเท่านี้ แต่เนื้อความนอกจากนี้ตรงกับที่ตรัสไว้ในพระคาถาธรรมบท.
               สองบทว่า วินิพนฺธาย ภวาย ได้แก่ เพื่อความผูกพันในภพ. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เมื่อความผูกพันในอารมณ์ทั้งหลายแห่งจิต หรือเพื่อความอุบัติขึ้นต่อไป เหตุนั่นเอง จึงชื่อว่า เหตุกัปปา.
               คำว่า นิวรณ์ ในคาถานี้ว่า โย นีวรเณ เป็นต้น มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่านิวรณ์ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่าย่อมทำจิตให้เดือดร้อน. อธิบายว่า เป็นเครื่องปกปิดจิต.
               บทว่า ปหาย ได้แก่ ทิ้งเสีย
               บทว่า ปญฺจ เป็นการกำหนดนับนิวรณ์เหล่านั้น ภิกษุที่ชื่อว่าไม่มีทุกข์ เพราะไม่มีความทุกข์ ที่ชื่อว่าข้ามความสงสัยเสียได้ เพราะตนข้ามความสงสัยได้แล้ว ที่ชื่อว่ามีลูกศรออกแล้ว เพราะเป็นผู้มีลูกศรไปปราศแล้ว
               ถามว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ตอบว่า ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ภิกษุใดเห็นนิวรณ์ทั้งห้ามีกามฉันท์เป็นต้น และเห็นโทษในนิวรณ์ทั้งหลายโดยความเป็นของเสมอกันและโดยพิเศษ โดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสมันตรภัทรกสูตร จึงละ (นิวรณ์เหล่านั้น) ได้ด้วยมรรคนั้นๆ ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีทุกข์ เพราะความไม่มีแห่งทุกข์ คือกิเลสทุกข์ เพราะเหตุที่ตนละนิวรณ์เหล่านั้นได้แล้วนั่นเอง. ชื่อว่าข้ามพ้นความสงสัยเสียได้ เพราะท่านข้ามพ้นความสงสัยที่เป็นไปแล้ว โดยนัยเป็นต้นว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว เราได้เป็นแล้วหรือหนอ๓๙- ชื่อว่าสลัดลูกศรเสียได้ เพราะท่านปราศจากลูกศรทั้งห้า ที่ท่านกล่าวไว้ว่า๔๐-
               ในบรรดาลูกศรเหล่านั้น ลูกศร ๕ อย่างเป็นไฉน
               ๕ อย่าง คือ ลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะ ลูกศรคือมานะ ลูกศรคือทิฏฐิ.
               ภิกษุนั้นชื่อว่าละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในตอนต้นนั่นเอง.
____________________________
๓๙- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒
๔๐- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๘๐

               แม้ในพระคาถานั้น บัณฑิตพึงทราบการละนิวรณ์ ๒ อย่างเช่นกัน คือ โดยลำดับกิเลส ๑ โดยลำดับแห่งมรรค ๑.
               ก็เมื่อว่าตามลำดับกิเลส การละกามฉันทนิวรณ์และพยาบาทนิวรณ์ ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๓. การละถีนมิทธนิวรณ์และอุทธัจจนิวรณ์ ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๔. การละกุกกุจจนิวรณ์กล่าวคือความเดือดร้อนที่เป็นไปแล้วโดยนัยเป็นต้นว่า “กุศลเราไม่กระทำแล้วหนอ” และวิจิกิจฉานิวรณ์ ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๑.
               แต่เมื่อว่าตามลำดับมรรค การละกุกกุจจนิวรณ์และวิจิกิจฉานิวรณ์ ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๑. การทำกามฉันทนิวรณ์และพยาบาทนิวรณ์ให้เบาบาง ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๒. การละกามฉันทะและพยาบาทนิวรณ์ได้สิ้นเชิง ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๓. การละถีนมิทธนิวรณ์และอุทธัจจนิวรณ์ ย่อมมีได้ด้วยมรรคที่ ๔ ฉะนี้แล.
               ภิกษุใดละนิวรณ์ทั้งหลายได้อย่างนี้ เป็นผู้ไม่มีทุกข์ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากลูกศร ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ ดุจงูละคราบเก่าที่คร่ำคร่าไปฉะนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงด้วยยอดคือพระอรหัตทีเดียว ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ภิกษุนั้นดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คาถาใดๆ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุเหล่านั้นโดยประการใดๆ ภิกษุนั้นๆ ดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต ในที่สุดแห่งพระคาถานั้นๆ โดยประการนั้นๆ .

               จบ อรรถกถาอุรคสูตร               
               แห่ง               
               อรรถกถาขุททกนิกาย ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค อุรคสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 293อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 294อ่านอรรถกถา 25 / 295อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6835&Z=6894
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :