ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 290อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 25 / 293อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกกนิบาต
สัมปันนสูตร

               อรรถกถาสัมปันนสูตร               
               ในสัมปันนสูตรที่ ๑๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ในบทว่า สมฺปนฺนสีลา นี้ สมปนนํ สมบูรณ์ มี ๓ อย่าง คือ เต็มบริบูรณ์ ๑ พรั่งพร้อม ๑ หวานอร่อย ๑.
               บรรดาสัมปันนศัพท์ทั้ง ๓ อย่างนั้น สัมปันนศัพท์ที่มีความหมายว่า เต็มบริบูรณ์ เช่นในประโยคนี้ว่า๑-
                                   ข้าแต่ท่านท้าวโกสีย์ นกแขกเต้าทั้งหลาย
                         พากันจิกกินรวงข้าวสาลีที่ (มีเมล็ด) เต็มบริบูรณ์
                         ข้าแต่ท่านท้าวพระพรหม ข้าพเจ้าขอประกาศให้
                         ท่านทราบ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะห้ามพวกมันได้.
               สัมปันนศัพท์ที่มีความหมายว่า พรั่งพร้อม เช่นในประโยคนี้ว่า๒- ภิกษุเป็นผู้เข้าถึง เข้าถึงพร้อม เข้าไปใกล้ เข้าไปใกล้ชิด พรั่งพร้อมประกอบด้วยปาติโมกขสังวรนี้.
               สัมปันนศัพท์ที่มีความหมายว่า หวานอร่อย เช่นในประโยคนี้ว่า๓- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พื้นล่างมหาปฐพีนี้มีรสอร่อย เป็นสิ่งที่ชอบใจ เหมือนน้ำผึ้งหวานที่ไม่มีโทษ.
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๘๗๒
๒- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๖
๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๒

               แต่ในที่นี้ สัมปันนศัพท์เหมาะในความหมายว่า เต็มบริบูรณ์บ้าง ในความหมายว่า พรั่งพร้อมบ้าง เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า บทว่า สมฺปนฺนสีลา ได้แก่ เป็นผู้มีศีลบริบูรณ์บ้าง เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยศีลบ้าง.
               บรรดาความหมายทั้ง ๒ อย่างนั้นตามความหมายนี้ว่า มีศีลบริบูรณ์แล้ว มีอธิบายว่า ศีลชื่อว่าเป็นศีลสมบูรณ์แล้ว. เหมือนความบริบูรณ์ของนา เพราะปราศจากโทษของนา (วัชพืช) ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า ความบริบูรณ์ของศีล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพราะปราศจากโทษของศีล เหมือนความบริบูรณ์ของนา เพราะปราศจากโทษของนา (วัชพืช).
               ส่วนตามความหมายนี้ว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยศีล มีพุทธาธิบายไว้ว่า เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พรั่งพร้อม ถึงการรวมลงเป็นผู้ประกอบด้วยศีลอยู่เถิด. ในจำนวน ๒ อย่างนั้น ความเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการเห็นโทษของศีลวิบัติ ๑ ด้วยการเห็นอานิสงส์ของศีลสมบัติ ๑.
               โทษและอานิสงส์ทั้ง ๒ อย่างนั้น พึงทราบตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค๔- คำใดที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าวในที่นี้ โดยนัยมีอาทิว่า บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทเพียงเท่านี้ว่า ผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นจะทรงแสดงปาริสุทธิศีล ๔ จึงทรงแสดงศีลที่เป็นหลักไว้ด้วยคำนี้ว่า เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยปาฏิโมกขสังวร คำนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหนหลังนั้นแล้ว.
____________________________
๔- วิสุทฺธิมคฺค. ๑/๖๗-๗๒

               บทว่า กิมสฺส อุตฺตรึ กรณียํ มีเนื้อความว่า ถ้าหากจะมีคำถามว่า เธอทั้งหลายผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วอยู่อย่างนี้ จะพึงมีอะไรที่จะต้องทำ คือจะต้องปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปเล่า?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกอบภิกษุทั้งหลายไว้ในศีลสัมปทา พร้อมด้วยอุบายที่จะเป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยคำมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันมีศีลสมบูรณ์อยู่อย่างนี้เถิด ดังนี้ ได้ทรงเริ่มพระธรรมเทศนายกบุคคลจำนวนมากขึ้นเป็นที่ตั้งแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนานั้น ด้วยสามารถแห่งการยกบุคคลคนเดียวขึ้นเป็นที่ตั้ง เพราะเหตุที่พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงจะเป็นไปแล้ว โดยการยกบุคคลคนเดียวขึ้นเป็นที่ตั้ง แต่ก็เป็นพระธรรมเทศนาที่ยกบุคคลเป็นอเนกขึ้นเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นสาธารณะแก่สรรพสัตว์ จึงตรัสคำมีอาทิไว้ว่า จรโต เจปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุโน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่า แก่ภิกษุผู้กำลังเดินไปไซร้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำเหล่านั้นต่อไป.
               กิเลสชาติ ชื่อว่าอภิชฌา เพราะเป็นเหตุเพ่งเล็ง. คำว่า อภิชฺฌาย นี้ เป็นชื่อของโลภะที่มีลักษณะเพ่งเล็งสิ่งของๆ ผู้อื่น อกุศลธรรมชื่อว่าพยาบาท เพราะเป็นเหตุให้จิตถึงความพินาศ คือเป็นจิตเสีย คำนี้เป็นชื่อของโทสะที่มีอาฆาตวัตถุ ๑๙ อย่างเป็นอารมณ์ เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า เขาได้ประพฤติอนัตถะแก่เราแล้ว.
               พึงทราบความพิสดารของอภิชฌาและพยาบาททั้ง ๒ อย่างนั้น โดยนัยมีอาทิว่า
               บรรดาธรรมเหล่านั้น กามฉันท์คืออะไร?
               ความพอใจกาม ความเสน่หากาม ความระหายกาม ความร้อนรนเพราะกาม ความสยบอยู่กับกาม การหยั่งลงสู่กามในกามทั้งหลายดังนี้.๕-
               อนึ่ง คือ ความโลภ ความละโมบ ภาวะของผู้ละโมบแล้ว ความกำหนัดมาก ความกำหนัดจัด ภาวะของผู้กำหนัดมาก ความเพ่งเล็ง โลภะ อกุศลมูล ดังนี้๖-
               และโดยนัยมีอาทิว่า๗-
               ความพยาบาท คือ ความร้ายกาจ ความใจร้าย ภาวะของผู้มีจิตถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว ความพยาบาท ความถึงความพินาศแห่งจิต ภาวะของผู้พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย การให้ผู้อื่นหลั่งน้ำตา ความไม่พอใจแห่งจิตดังนี้.
____________________________
๕- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๔๙
๖- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๒๙๙
๗- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๓๒๖

               บทว่า วิคโต โหติ ความว่า ทั้งอภิชฌาทั้งพยาบาทนี้ เป็นของปราศไปแล้ว คือไปปราศแล้ว.
               อธิบายว่า ละได้แล้ว ด้วยคำเพียงเท่านี้เป็นอันพระองค์ทรงแสดงถึงการละกามฉันทนิวรณ์ และพยาบาทนิวรณ์ได้แล้ว.
               บทว่า ถีนมิทฺธํ ได้แก่ ทั้งถีนะทั้งมิทธะ.
               บรรดาถีนะและมิทธะทั้ง ๒ อย่างนั้น ภาวะที่จิตไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่าถีนะ. คำว่า ถีนะ นี้เป็นชื่อของความเกียจคร้าน. ความที่ขันธ์ทั้ง ๓ มีเวทนาขันธ์เป็นต้นไม่ควรแก่การงาน ชื่อว่ามิทธะ. คำว่า มิทธะ นี้เป็นชื่อของความเป็นผู้ปั่นป่วน.
               ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดารของถีนะและมิทธะทั้ง ๒ ศัพท์ โดยนัยมีอาทิว่า๘-
               บรรดาถีนะและมิทธะทั้ง ๒ นั้น ถีนะคืออะไร? คือความที่จิตไม่เหมาะสม ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ความหดหู่ ความหวั่นไหวแห่งจิต.
               บรรดาถีนะและมิทธะ ๒ อย่างนั้น มิทธะคืออะไร? คือ ความที่กายไม่เหมาะสม ความที่กายไม่ควรแก่การงาน ความล้า ความเมื่อยขบแห่งกาย.
____________________________
๘- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๕๑

               บทว่า อุทฺธจฺจกุกฺกุจฺจํ ได้แก่ ทั้งความฟุ้งซ่านทั้งความรำคาญใจ .
               บรรดาอุทธัจจะและกุกกุจจะนั้น อาการของจิตที่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าอุทธัจจะ. ความเดือดร้อนเพราะบาปที่ทำไว้เป็นปัจจัย ของผู้ไม่ได้ทำความดี ทำแต่ความชั่วไว้ ชื่อว่ากุกกุจจะ.
               ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดารของอุทธัจจะและกุกกุจจะทั้ง ๒ นั้น โดยนัยมีอาทิว่า
               บรรดาอุทธัจจะและกุกกุจจะทั้ง ๒ นั้น อุทธัจจะคืออะไร? คือ ความฟุ้ง ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต ความหมุนเวียนแห่งจิต.๙-
               พึงทราบอาการที่เป็นไป (พฤติการณ์ของนิวรณ์ทั้ง ๒ นั้น) โดยนัยมีอาทิว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ เราไม่ได้ทำกุศลไว้ เราไม่ได้ทำการต้านทานสิ่งที่น่ากลัวไว้ เราทำบาปไว้แล้ว เราทำกรรมชั่วช้าไว้แล้ว เราทำความผิดไว้แล้ว ดังนี้.๑๐-
____________________________
๙- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๕๒
๑๐- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๗๑

               บทว่า วิจิกิจฺฉา ได้แก่ ความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               ผู้ศึกษาพึงทราบความพิสดารของวิจิกิจฉานั้น โดยนัยมีอาทิว่า๑๑- ย่อมสงสัยคือแคลงใจ ได้แก่ไม่น้อมใจเชื่อ หมายความว่าไม่เลื่อมใสในพระศาสดาดังนี้
               และโดยนัยมีอาทิว่า๑๒-
               บรรดานิวรณ์เหล่านั้น วิจิกิจฉาคืออะไร? คือ ความกังขา ความกินแหนง ภาวะของผู้กินแหนง ความเคลือบแคลง ความแคลงใจ ความสองเงื่อน ทางสองแพร่ง ความสงสัย ความยึดถือหลายอย่าง ความสับสน ความกระเสือกกระสน ความยึดถือไม่รอบคอบ ความหวาดสะดุ้งแห่งจิต รอยขีดเขียนในใจ ดังนี้.
____________________________
๑๑- อภิ. วิ. ๓๕/๙๘๑
๑๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๕๓

               และในที่นี้ พระองค์ทรงประสงค์เอาการข่มอภิชฌาและพยาบาทเป็นต้นเหล่านั้นเท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งการพรากออกไป และด้วยอำนาจแห่งการละอภิชฌาและพยาบาทเป็นต้น ซึ่งพระองค์ตรัสหมายเอาว่า เธอละความโลภคืออภิชฌาแล้ว มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่ ชื่อว่าชำระจิตให้ผ่องใสจากอภิชฌา. ละความประทุษร้ายคือพยาบาทแล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่ ชื่อว่าชำระจิตให้ผ่องใสจากความประทุษร้ายคือพยาบาท. ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีอาโลกสัญญา (หมายรู้แสงสว่าง) มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชื่อว่าชำระจิตให้ผ่องใสจากถีนมิทธะ. ละอุทธัจจกุกกุจจะได้ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน ชื่อว่าชำระจิตให้ผ่องใสจากอุทธัจจกุกกุจจะ. ละความสงสัยได้แล้ว เป็นผู้ข้ามความสงสัยได้ เป็นผู้หายสงสัย ไม่สงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าชำระจิตให้ผ่องใสจากความสงสัย.๑๓-
____________________________
๑๓- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๙๙

               บรรดาการละและการเกิดขึ้นนั้น การละนิวรณ์มีอยู่โดยวิธีใด ควรทราบวิธีนั้น (ต่อไป)
               ก็การละนิวรณ์เหล่านั้นมีอย่างไร?
               การละกามฉันท์ มีโดยการทำไว้ในใจโดยแยบคายในอสุภนิมิต. ส่วนการเกิดขึ้น (แห่งกามฉันท์) มีโดยการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๑๔-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุภนิมิตมีอยู่ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตนั้น เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อกามฉันท์ที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์แห่งกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง. การละกามฉันท์ที่เกิดขึ้นโดยอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตอย่างนี้ มีอยู่โดยโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิต โดยตรงกันข้ามกับอโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตนั้น.
               บรรดานิมิตทั้ง ๒ อย่างนั้น อสุภบ้าง อสุภารมณ์บ้าง ชื่อว่าอสุภนิมิต การมนสิการโดยอุบาย คือมนสิการในทาง ได้แก่มนสิการว่าไม่เที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยงบ้าง ว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์บ้าง ว่าเป็นอนัตตาในสิ่งที่เป็นอนัตตาบ้าง ว่าไม่งามในสิ่งที่ไม่งามบ้าง ชื่อว่าโยนิโสมนสิการ เมื่อให้มนสิการนั้นเป็นไปมากครั้งในนิมิตนั้น ย่อมละกามฉันท์ได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๑๕-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อสุภนิมิต การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นเหตุนำผลมา (อาหารปัจจัย) เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งกามฉันท์ที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อละกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
____________________________
๑๔- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๕๘
๑๕- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๕๓๕

               ธรรมสำหรับละกามฉันท์ ๖ ข้อ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์ คือ
                         ๑. การเรียนเอาอสุภนิมิต
                         ๒. การประกอบความเพียรเนืองๆ ในอสุภภาวนา
                         ๓. ความเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย
                         ๔. ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ
                         ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
                         ๖. ถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ.
               อธิบายว่า ผู้กำลังเรียนอสุภนิมิต ๑๐ อย่างอยู่ย่อมละกามฉันท์ได้ ผู้กำลังเจริญอสุภนิมิตอยู่ก็ละกามฉันท์ได้ ผู้ปิดทวารในอินทรีย์ทั้งหลายแล้วก็ละได้ ผู้รู้ประมาณในการฉันอาหาร เพราะความเป็นผู้มีปกติยังอัตภาพให้เป็นไปได้โดยการดื่มน้ำ (ก่อน) ทั้งๆ ที่ยังมีโอกาส (ฉันได้อีก) ๔-๕ คำ ก็ละกามฉันท์ได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวไว้ว่า๑๖-
                                   ควรงดฉันข้าว ๔-๕ คำไว้แล้วดื่มน้ำ
                         เพียงพอเพื่อจะอยู่อย่างสบายสำหรับภิกษุ
                         ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.

____________________________
๑๖- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๖

               ผู้กำลังคบหากัลยาณมิตร เช่นกับพระติสสเถระผู้เจริญอสุภกรรมฐาน ละกามฉันท์ได้ก็มี ละได้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยอสุภ ๑๐ ในสถานที่ยืนและที่นั่งเป็นต้นก็มี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ธรรม ๖ อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์.
               การเกิดขึ้นแห่งพยาบาท มีโดยอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิต. ปฏิฆะชื่อว่าปฏิฆนิมิต ในคำว่า ปฏิฆนิมิตฺเต อโยนิโสมนสิกาเรน นั้น แม้ปฏิฆารมณ์ก็คือปฏิฆนิมิต. อโยนิโสมนสิการ (การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย) ในปฏิฆนิมิตนั้น มีลักษณะเดียวกันในที่ทุกแห่งทีเดียว พยาบาทย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ให้อโยนิโสมนสิการเป็นไปมากครั้งในนิมิตนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๑๗-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิต การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น เป็นอาหารปัจจัย (เหตุนำมา) เพื่อการเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่งขึ้น เพื่อความไพบูลย์แห่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
____________________________
๑๗- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๕๙

               ส่วนผู้ทำไว้ในใจโดยแยบคายซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ จะมีการละ (พยาบาท) ได้.
               บรรดาคำว่า เมตตา และเจโตวิมุตตินั้น เมื่อกล่าวคำว่าเมตตา ก็ใช้ได้ (หมายถึง) ทั้งอัปปนาทั้งอุปจาร แต่เมื่อกล่าวว่าเจโตวิมุตติ ก็ใช้ได้ (หมายถึง) เฉพาะอัปปนาเท่านั้น. โยนิโสมนสิการมีลักษณะดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เมื่อให้โยนิโสมนสิการนั้นเป็นไปมากครั้งในเมตตานั้น ก็ละพยาบาทได้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๑๘-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติ การทำไว้ในใจให้มาก โดยอุบายอันแยบคายในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น นี้เป็นอาหารปัจจัย (เหตุนำมา) เพื่อการไม่เกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อการละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
____________________________
๑๘- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๕๓๖

               ธรรมสำหรับละพยาบาท ๖ ข้อ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละพยาบาท คือ
                         ๑. การเรียนเมตตานิมิต
                         ๒. การเจริญเมตตา
                         ๓. การพิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
                         ๔. ความเป็นผู้มากไปด้วยการพิจารณา
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. การกล่าวคำที่เป็นสัปปายะ.
               อธิบายว่า ผู้กำลังเรียนเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปทั่วทิศทั้งโดยเจาะจง ทั้งโดยไม่เจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมละพยาบาทได้ แม้ผู้กำลังเจริญเมตตาด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปทั่วทิศโดยเจาะจง โดยไม่เจาะจง ก็ละพยาบาทได้. ผู้กำลังพิจารณาถึงความมีกรรมเป็นของตน ของคนทั้ง ๒ คือของตนเองและของผู้อื่นอย่างนี้ว่า ตัวเจ้าโกรธคนๆ นั้นแล้ว จักทำอะไร (เขา) ได้ จักสามารถให้คุณธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ของเขาพินาศไปได้หรือ? ตัวเจ้ามาแล้วตามกรรมของตน ก็จักไปตามกรรมของตนมิใช่หรือ? ธรรมดาความโกรธผู้อื่น ก็เหมือนกับความประสงค์ จะหยิบถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ท่อนเหล็กแดงและอุจจาระแล้ว ขว้างคนอื่น ถึงคนนั่นโกรธเจ้าก็จักทำอะไร (เจ้า) ได้ เขาจักสามารถให้ธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ของเจ้าพินาศไปได้หรือ? คนนั่นเขามาตามกรรมของตน ก็จักไปตามกรรมของตนนั่นแหละดังนี้ ย่อมละพยาบาทได้. พิจารณาแล้ว ยืนอยู่ที่ที่พิจารณาย่อมละพยาบาทได้ คบหากัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนา ย่อมละพยาบาทได้. ย่อมละพยาบาทได้แม้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยเมตตาในที่ที่ยืน และที่ที่นั่งเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละพยาบาท.
               การเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะ โดยอโยนิโสมนสิการในอกุศลธรรมมีอรติเป็นต้น. ความเอือมระอา ชื่อว่าอรติ. ความเกียจคร้านทางกาย ชื่อว่าตันทิ. การบิดคร้านกาย ชื่อว่าวิชัมภิกา. ความมึนงงเพราะภัต คือความอึดอัดเพราะภัต ชื่อว่าภัตตสัมมทะ (ความเมาอาหาร). อาการที่จิตห่อเหี่ยว ชื่อว่าความหดหู่จิต. เมื่อยังอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากครั้งในอกุศลธรรมเหล่านี้ ถีนมิทธะย่อมเกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๑๙-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ อรติ (ความเอือมระอา) ตันทิ (ความคร้านกาย) วิชัมภิกา (ความบิดคร้านกาย) ความหดหู่ใจ การทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในอรติเป็นต้นเหล่านั้น นี้เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อการเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์แห่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
____________________________
๑๙- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๖๐

               ส่วนการละถีนมิทธะ มีโดยโยนิโสมนสิการในอารัมภธาตุเป็นต้น ความเพียรที่เริ่มต้น ชื่อว่าอารัมภธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านั้น เพราะออกไปแล้วจากความเกียจคร้าน ชื่อว่านิกขมธาตุ. ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านั้นขึ้นไป เพราะก้าวไปสู่สถานที่ข้างหน้า ชื่อว่าปรักกมธาตุ.
               ผู้ยังโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากครั้งในวิริยะ ๓ ประเภทนี้ จะละถีนมิทธะได้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อารัมภธาตุ ๑ นิกกมธาตุ ๑ ปรักกมธาตุ ๑ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธาตุเหล่านั้น นี้เป็นเหตุนำผลมา (อาหารปัจจัย) เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดบ้าง เพื่อละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

               ธรรมสำหรับละถีนมิทธะ ๖ ข้อ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ
                         ๑. การบริโภคโภชนะที่เหลือเฟือแต่พอประมาณ
                         ๒. การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
                         ๓. การมนสิการอาโลกสัญญา
                         ๔. การอยู่แต่ในที่แจ้ง
                         ๕. ความมีกัลยาณมิตร
                         ๖. การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ.
               อธิบายว่า ผู้บริโภคโภชนะเยี่ยงอาหารหัตถกพราหมณ์ ภุตตวัมมิกพราหมณ์ ตัตถวัฏฏกพราหมณ์ อลังสาฏกพราหมณ์และกากมาสกพราหมณ์ แล้ว นั่ง ณ ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ความง่วงเหงาหาวนอนจะมาทับถมเหมือนช้างใหญ่มาทับ แต่เมื่อภิกษุเว้นระยะไว้ ๔-๕ คำแล้วดื่มน้ำแล้วยังอัตภาพให้เป็นไปตามปกติ ความง่วงเหงาหาวนอนนั้นจะไม่มี ผู้รับโภชนะที่เหลือเฟือแต่พอประมาณอย่างนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้ ผู้เปลี่ยนอิริยาบถอื่นไปจากอิริยาบถที่ตนก้าวลงสู่ความง่วงเหงาหาวนอนบ้าง ในเวลากลางคืน มนสิการถึงแสงพระจันทร์แสงประทีปแสงคบเพลิง เวลากลางวันมนสิการถึงแสงพระอาทิตย์บ้าง อยู่ ณ ที่กลางแจ้งบ้าง คบหาสมาคมกัลยาณมิตรผู้ปราศจากความง่วงเหงาหาวนอน เช่นพระมหากัสสปเถระบ้าง ก็ย่อมละถีนมิทธะได้ ย่อมละถีนมิทธะได้ แม้ด้วยกถาที่เป็นสัปปายะอาศัยธุดงค์ ในที่นั่งและที่นอนเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ.
               อุทธัจจกุกกุจจะมีการเกิดขึ้น เพราะมนสิการโดยไม่แยบคายในความไม่สงบแห่งจิต อาการที่ (จิต) ไม่สงบแล้ว ชื่อว่าอวูปสมะ. โดยเนื้อความได้แก่ อุทธัจจกุกกุจจะนั้นนั่นเอง ผู้ยังอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบแห่งจิตให้เป็นไปมากครั้ง อุทธัจจกุกกุจจะจะเกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๒๐-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบแห่งจิต การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการ ในความไม่สงบแห่งจิตนั้น นี้เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อการเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่ง ความไพบูลย์แห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
               แต่เมื่อมนสิการโดยแยบคายในความสงบแห่งใจ กล่าวคือสมาธิอยู่ การละ (อุทธัจจกุกกุจจะ) ก็จะมี.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๒๑-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความสงบแห่งจิต การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในความสงบแห่งจิตนั้น นี้เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อการไม่เกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
____________________________
๒๐- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๖๑
๒๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๕๓๘

               ธรรมสำหรับละอุทธัจจกุกกุจจะ ๖ ข้อ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ
                         ๑. ความเป็นพหูสูต
                         ๒. การสอบถาม
                         ๓. ความรอบรู้ (ชำนาญ) ในพระวินัย
                         ๔. การคบหาสมาคมผู้ใหญ่
                         ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
                         ๖. การกล่าวคำที่เป็นสัปปายะ.
               (อธิบายว่า) ผู้เรียน ๑, ๒, ๓, ๔ หรือ ๕ นิกายด้วยสามารถแห่งบาลี และด้วยสามารถแห่งเนื้อความ (อรรถกถา) โดยความเป็นพหูสูตอยู่ ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. ผู้มากไปด้วยการสอบถามสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะบ้าง ผู้รอบรู้ เพราะความเป็นผู้ประพฤติมาจนชำนาญในภาระวินัยบัญญัติบ้าง ผู้เข้าไปหาพระเถระผู้เจริญ คือผู้ใหญ่บ้าง ผู้คบหากัลยาณมิตร ผู้ทรงพระวินัย เช่นกับพระอุบาลีเถระบ้าง ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้ แม้โดยการกล่าวถ้อยคำเป็นที่สบาย ที่อาศัยสิ่งที่ควรและไม่ควร ณ ที่ยืนและที่นั่งเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ.
               วิจิกิจฉา มีการเกิดขึ้นโดยอโยนิโสมนสิการ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา ความสงสัยนั่นเอง ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา เพราะเป็นเหตุให้สงสัยบ่อยๆ เมื่อให้อโยนิโสมนสิการในวิจิกิจฉานั้นเป็นไปบ่อยๆ วิจิกิจฉาก็เกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๒๒-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยนั้น นี้เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อการเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์แห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
               ส่วนการละวิจิกิจฉามีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๒๓-
               มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและไม่มีโทษ ธรรมทั้งหลายที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ธรรมทั้งหลายที่เป็นส่วนดำส่วนขาว การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นเหตุนำผลมาให้ (อาหารปัจจัย) เพื่อการไม่เกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อการละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.
____________________________
๒๒- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๓๖๒
๒๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๕๓๙

               ธรรมสำหรับละวิจิกิจฉา ๖ ข้อ               
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมไปเพื่อการละวิจิกิจฉา คือ
                         ๑. ความเป็นพหูสูต
                         ๒. การซักถาม
                         ๓. ความรอบรู้ในพระวินัย
                         ๔. ความเป็นผู้มากไปด้วยอธิโมกข์
                         ๕. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
                         ๖. การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ.
               ผู้เรียนเอานิกาย ๑ บ้าง ฯลฯ ๕ นิกายบ้างด้วยอำนาจแห่งบาลีและด้วยอำนาจแห่งเนื้อความ (อรรถกถา) ย่อมละวิจิกิจฉาได้ ผู้สอบถามมากในธรรมทั้งหลายมีประเภทกุศลเป็นต้น ปรารภพระไตรรัตน์บ้าง ผู้รอบรู้ (ชำนาญ) เพราะความเป็นผู้ประพฤติจนชำนาญในพระวินัยบ้าง๒๔- ผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ กล่าวคือความเชื่อที่พึงกำหนดแน่ในพระรัตนตรัยบ้าง ผู้คบหาสมาคมกัลยาณมิตรผู้น้อมไปในศรัทธา เช่นกับพระวักกลิเถระบ้าง ย่อมละวิจิกิจฉาได้. ย่อมละวิจิกิจฉาได้แม้โดยการกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ อาศัยคุณของพระรัตนตรัย ณ ที่ยืนและที่นั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา.
____________________________
๒๔- แปลตามเชิงอรรถ.

               ก็ในอธิการนี้ บรรดานิวรณ์เหล่านี้ที่ละได้แล้วด้วยอำนาจการข่มไว้ด้วยธรรมเหล่านั้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว กามฉันทนิวรณ์มีการละได้เด็ดขาดด้วยอรหัตมรรคก่อน ถีนมิทธนิวรณ์และอุทธัจจนิวรณ์ ก็อย่างนั้น (คือ มีการละได้เด็ดขาดด้วยอรหัตมรรค). ส่วนพยาบาทนิวรณ์และกุกกุจจนิวรณ์มีการละได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค. วิจิกิจฉานิวรณ์มีการละได้เด็ดขาดด้วยโสดาปัตติมรรค. เพราะฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงธรรมที่เป็นอุปการะแก่การละนิวรณ์เหล่านั้นอย่างนั้น จึงได้ทรงปรารภคำมีอาทิไว้ว่า อารทฺธํ โหติ วิริยํ (วิริยะเป็นอันปรารภแล้ว).
               อีกอย่างหนึ่ง การละนิวรณ์มีอภิชฌาเป็นต้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็คือวิริยะที่ได้ปรารภแล้วนี้นั่นเอง เพราะเหตุที่แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ผู้ชื่อว่าเกียจคร้านแล้ว เพราะปราศจากความเพียร. ชื่อว่ามีสติหลงลืมแล้ว เพราะไม่เข้าไปตั้งสติไว้. ชื่อว่ามีกายมีความกระวนกระวาย เพราะว่าระงับความกระวนกระวายยังไม่ได้ ชื่อว่ามีจิตฟุ้งซ่าน เพราะว่ามีจิตยังไม่ได้ตั้งมั่นแล้ว ไม่อาจจะยังธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงจะยังธรรมนอกจากนี้ให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงถึงวิธีที่การไปปราศ คือการละอภิชฌาเป็นต้นนั้น จะสำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติได้ จึงได้ทรงปรารภคำมีอาทิไว้ว่า อารทฺธํ โหติ วิริยํ (วิริยะเป็นอันได้ปรารภแล้ว)
               คำนั้นมีเนื้อความว่า ความเพียรเป็นอันเธอปรารภแล้ว คือประคองไว้แล้ว. มีอธิบายว่า เป็นไปแล้วโดยไม่ย่อหย่อน เพื่อละนิวรณ์เหล่านั้น คือเพื่อประโยชน์แก่การตัดขาดสังกิเลสธรรมแม้ทั้งหมด และความเพียรชื่อว่าเป็นอันไม่หลบหลีกแล้ว เพราะไม่ถึงความหดหู่ในระหว่าง เหตุที่ปรารภแล้วนั่นเอง.
               บทว่า อุปฏฺฐิตา สติ อปฺปมุฏฺฐา ความว่า ไม่ใช่เพียงความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น (ที่ปรารภแล้ว) ถึงสติก็เป็นอันเข้าไปตั้งไว้แล้ว เพราะความมุ่งหน้าต่ออารมณ์. อนึ่ง ชื่อว่าไม่หลงลืมแล้ว เพราะเข้าไปตั้งไว้แล้วนั่นเอง. และเพราะความสามารถระลึกถึงเรื่องที่ทำ คำที่พูดไว้นานแล้วได้
               บทว่า ปสฺสทฺโธ ความว่า แม้กายของเธอก็เป็นอันสงบระงับแล้ว เพราะระงับความกระวนกระวายกายและจิตได้ เพราะเหตุที่บรรดานามกายและรูปกายทั้ง ๒ อย่างนั้น เมื่อนามกายสงบแล้ว แม้รูปกายก็เป็นอันสงบไปด้วยทีเดียว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ปสฺสทฺโธ กาโย (กายระงับ) โดยไม่ให้แปลกไปว่า นามกาโย รูปกาโย.
               บทว่า อสารทฺโธ ความว่า และผู้นั้นชื่อว่าไม่ระส่ำระสายแล้ว เพราะเป็นผู้สงบแล้วนั่นเอง. มีอธิบายไว้ว่า เป็นผู้มีความกระวนกระวายปราศไปแล้ว.
               บทว่า สมาหิตํ จิตฺตํ เอกคฺคํ ความว่า แม้จิตของเธอเป็นเสมือนตั้งมั่นแล้วโดยชอบ คือเสมือนตั้งไว้แล้วด้วยดี ได้แก่เป็นเสมือนแนบแน่นแล้ว และเพราะตั้งมั่นแล้วนั่นเอง จึงมีอารมณ์เลิศเป็นอันเดียว คือไม่หวั่นไหว ได้แก่ไม่ดิ้นรน หมายความว่าไม่เอนเอียง.
               ด้วยคำเพียงเท่านี้เป็นอันพระองค์ตรัสถึงปฏิปทาอันเป็นเบื้องต้นแห่งฌานและมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า๒๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นอย่างนี้ถึงกำลังเดินไป เราตถาคตก็กล่าวว่า เป็นผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว เป็นไปเนืองนิจติดต่อกันไป.
____________________________
๒๕- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๑

               เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์นั้น ได้กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายต่อไป
               บทว่า ยตํ จเร ความว่า ภิกษุพึงเดินไปเพียรไป.
               อธิบายว่า แม้กำลังสำเร็จการเดินด้วยสามารถจงกรมเป็นต้น คือเพียรสืบต่อพยายามอยู่ ด้วยสามารถแห่งความเพียร คือสัมมัปปธานดังที่กล่าวแล้วโดยนัยมีอาทิว่า๒๖- ภิกษุยังฉันทะให้เกิดขึ้นพยายามอยู่ เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ควรสำเร็จการเดินไปเป็นต้น โดยวิธีที่จะละอกุศลธรรมทั้งหลายได้ กุศลธรรมทั้งหลายจะถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา.
____________________________
๒๖- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๐๙๐   อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๔๖๕

               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็มีนัยนี้.
               ส่วนอาจารย์บางเหล่ากล่าวเนื้อความของบท ยตํ นี้ว่าได้แก่ สํยโต (สำรวมแล้ว).
               บทว่า ติฏฺเฐ ได้แก่ พึงเดินไป คือพึงสำเร็จการเดิน.
               บทว่า อจฺเฉ ได้แก่ พึงนั่ง. บทว่า สเย ได้แก่ พึงนอน.
               บทว่า ยตเมนํ ปสารเย ความว่า ภิกษุเพียรคือหมั่นอยู่ ได้แก่เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความเพียรตามที่กล่าวมาแล้ว พึงเหยียดออกไปซึ่งมือและเท้าเป็นต้นนั่น ที่ควรเหยียดออกไป. อธิบายว่า พึงละทิ้งความประมาทในที่ทุกสถาน.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ภิกษุเมื่อปฏิบัติอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้เพียร คือหมั่นอยู่ จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า อุทฺธํ
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธํ ได้แก่ เบื้องบน. บทว่า ติริยํ ได้แก่ ด้านขวาง.
               อธิบายว่า ในทิศาภาครอบด้านด้วยสามารถแห่งทิศตะวันออกเป็นต้น.
               บทว่า อปาจินํ ได้แก่ ทิศเบื้องล่าง.
               บทว่า ยาวตา ชคตา คติ ความว่า ความเป็นไปของสัตวโลกที่จำแนกออกเป็นสัตว์และสังขารมีประมาณเท่าใด ในความเป็นไปมีประมาณเท่านั้น. อธิบายว่า ในที่ทุกแห่งหน.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยทรงสงเคราะห์เอาอารมณ์ของสัมมสนญาณเข้าไว้โดยไม่มีเหลือ.
               บทว่า สมเวกฺขิตา ความว่า ได้พิจารณาแล้วโดยชอบ คือโดยเหตุ ได้แก่โดยนัย. มีอธิบายว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นแจ้ง ด้วยอำนาจแห่งอนิจจลักษณะเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมานํ ได้แก่ ขันธ์ทั้งหลายที่สูญจากสัตว์.
               บทว่า ขนฺธานํ ได้แก่ ขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า อุทยพฺพยํ ได้แก่ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมไป.
               มีคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็น คือพิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งความเกิดโดยอาการ ๒๕ อย่าง และความเสื่อมสิ้นไปโดยอาการ ๒๕ อย่าง ด้วยอุทยัพพยญาณที่บรรลุได้ด้วยการพิจารณาความไม่เที่ยงเป็นต้นแห่งรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งมวล กล่าวคืออุปทานขันธ์ทั้ง ๕ ที่แตกต่างกันโดยจำแนกออกเป็นอดีตเป็นต้นในสัตวโลกแม้ทั้งหมดที่สงเคราะห์เป็น ๓ คือ เบื้องบน ด้านขวาง เบื้องล่าง.
               บทว่า เจโตสมถสามีจึ ได้แก่ญาณทัสสนวิสุทธิที่เป็นปฏิปทาสมควรแก่อริยมรรค กล่าวคือเจโตสมถะ เพราะสงบระงับสังกิเลสแห่งจิตได้สิ้นเชิง.
               บทว่า สิกฺขมานํ ได้แก่ ปฏิบัติอยู่ คือเจริญอยู่ หมายความว่ายังญาณที่สูงๆ ขึ้นไปให้เกิดขึ้น.
               บทว่า สทา ความว่า ตลอดกาลทุกเมื่อ คือทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน.
               บทว่า สตํ ความว่า ผู้ทำสติ ด้วยสติที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ ๔.
               บทว่า สตต ปหิตฺตโต ความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสแล้ว คือย่อมตรัส ได้แก่ ย่อมบอกซึ่งภิกษุอย่างนั้นว่า เป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว ตลอดกาลทุกเมื่อ คือเป็นผู้ส่งใจไปสู่นิพพาน.
               คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาสัมปันนสูตรที่ ๑๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกกนิบาต สัมปันนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 290อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 292อ่านอรรถกถา 25 / 293อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6749&Z=6779
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=8857
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=8857
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :