ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 28อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 29อ่านอรรถกถา 25 / 30อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๐.

               ๘. เรื่องเดียรถีย์ [๒๐๑]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกเดียรถีย์
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น โมเนน" เป็นต้น.

               เหตุที่ทรงอนุญาตอนุโมทนากถา               
               ได้ยินว่า พวกเดียรถีย์เหล่านั้นทำอนุโมทนาแก่พวกมนุษย์ ในสถานที่ตนบริโภคแล้ว กล่าวมงคลโดยนัยเป็นต้นว่า "ความเกษมจงมี ความสุขจงมี อายุจงเจริญ, ในที่ชื่อโน้นมีเปือกตม ในที่ชื่อโน้นมีหนาม การไปสู่ที่เห็นปานนั้นไม่ควร" แล้วจึงหลีกไป.
               ก็ในปฐมโพธิกาล ในเวลาที่ยังไม่ทรงอนุญาตวิธีอนุโมทนาเป็นต้น ภิกษุทั้งหลายไม่ทำอนุโมทนาแก่พวกมนุษย์ในโรงภัตเลย ย่อมหลีกไป.
               พวกมนุษย์ยกโทษว่า "พวกเราได้ฟังมงคลแต่สำนักของเดียรถีย์ทั้งหลาย แต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายนิ่งเฉย หลีกไปเสีย."
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลความนั้นแด่พระศาสดา.
               พระศาสดาทรงอนุญาตว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้ไป ท่านทั้งหลายจงทำอนุโมทนาในที่ทั้งหลายมีโรงภัตเป็นต้น ตามสบายเถิด จงกล่าวอุปนิสินนกถาเถิด"
               ภิกษุเหล่านั้นทำอย่างนั้นแล้ว.

               พวกเดียรถีย์ติเตียนพุทธสาวก               
               พวกมนุษย์ฟังวิธีอนุโมทนาเป็นต้น ถึงความอุตสาหะแล้ว นิมนต์ภิกษุทั้งหลาย เที่ยวทำสักการะ.
               พวกเดียรถีย์ยกโทษว่า "พวกเราเป็นมุนีทำความเป็นผู้นิ่ง, พวกสาวกของพระสมณโคดมเที่ยวกล่าวกถามากมาย ในที่ทั้งหลายมีโรงภัตเป็นต้น."

               ลักษณะมุนีและผู้ไม่ใช่มุนี               
               พระศาสดาทรงสดับความนั้น ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ‘มุนี’ เพราะเหตุสักว่าเป็นผู้นิ่ง, เพราะคนบางพวกไม่รู้ ย่อมไม่พูด, บางพวกไม่พูด เพราะความเป็นผู้ไม่แกล้วกล้า, บางพวกไม่พูด เพราะตระหนี่ว่า ‘คนเหล่าอื่นอย่ารู้เนื้อความอันดียิ่งนี้ของเรา’ เพราะฉะนั้น คนไม่ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะเหตุสักว่าเป็นคนนิ่ง, แต่ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะยังบาปให้สงบ."
               ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๘. น โมเนน มุนิ โหติ    มูฬฺหรูโป อวิทฺทสุ
                         โย จ ตุลํว ปคฺคยฺห    วรมาทาย ปณฺฑิโต
                         ปาปานิ ปริวชฺเชติ    ส มุนิ เตน โส มุนิ
                         โย มุนาติ อุโภ โลเก    มุนิ เตน ปวุจฺจติ.
                                    บุคคลเขลา ไม่รู้โดยปกติ ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะ
                         ความเป็นผู้นิ่ง, ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต ถือธรรมอันประเสริฐ
                         ดุจบุคคลประคองตาชั่ง เว้นบาปทั้งหลาย ผู้นั้นเป็นมุนี,
                         ผู้นั้นเป็นมุนี เพราะเหตุนั้น, ผู้ใดรู้อรรถทั้งสองในโลก
                         ผู้นั้น เรากล่าวว่า "เป็นมุนี" เพราะเหตุนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น โมเนน ความว่า ก็บุคคลชื่อว่าเป็นมุนี เพราะโมนะ คือมรรคญาณ๑- กล่าวคือข้อปฏิบัติเครื่องเป็นมุนี ก็จริงแล ถึงอย่างนั้น ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โมเนน หมายเอาความเป็นผู้นิ่ง.
               บทว่า มุฬฺหรูโป คือ เป็นผู้เปล่า.
               บทว่า อวิทฺทสุ คือ ไม่รู้โดยปกติ.
               อธิบายว่า "ก็บุคคลเห็นปานนั้น แม้เป็นผู้นิ่ง ก็ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี;
               อีกอย่างหนึ่ง ไม่ชื่อว่าโมไนยมุนี แต่เป็นผู้เปล่าเป็นสภาพ และไม่รู้โดยปกติ.
               บาทพระคาถาว่า โย จ ตุลํ ว ปคฺคยฺห ความว่า เหมือนอย่างคนยืนถือตาชั่งอยู่, ถ้าของมากเกินไป ก็นำออกเสีย, ถ้าของน้อย ก็เพิ่มเข้า ฉันใด ผู้ใดนำออก ชื่อว่าเว้นบาป ดุจคนเอาของที่มากเกินไปออก. บำเพ็ญกุศลอยู่ดุจคนเพิ่มของอันน้อยเข้า ฉันนั้นเหมือนกัน;
               ก็แล เมื่อทำอย่างนั้น ชื่อว่าถือธรรมอันประเสริฐ คือสูงสุดทีเดียว กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เว้นบาป คือกรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย.
               สองบทว่า ส มุนิ ความว่า ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนี.
               หลายบทว่า เตน โส มุนิ ความว่า หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า "ก็เพราะเหตุไร ผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นมุนี?" ต้องแก้ว่า "ผู้นั้นเป็นมุนี เพราะเหตุที่กล่าวแล้วในหนหลัง."
               บาทพระคาถาว่า โย มุนาติ อุโภ โลเก ความว่า บุคคลผู้ใดรู้อรรถทั้งสองนี้ ในโลกมีขันธ์เป็นต้นนี้ โดยนัยเป็นต้นว่า "ขันธ์เหล่านี้เป็นภายใน, ขันธ์เหล่านี้เป็นภายนอก" ดุจบุคคลยกตาชั่งขึ้นชั่งอยู่ฉะนั้น.
               หลายบทว่า มุนิ เตน ปวุจฺจติ ความว่า ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า "เป็นมุนี" เพราะเหตุนั้น.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
____________________________
๑- ญาณอันสัมปยุตด้วยมรรค.

               เรื่องเดียรถีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 28อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 29อ่านอรรถกถา 25 / 30อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=946&Z=985
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=828
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=828
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :