ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 27อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 25 / 29อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘

หน้าต่างที่ ๔ / ๑๒.

               ๔. เรื่องพระโลฬุทายีเถระ [๑๘๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อสชฺฌายมลา มนฺตา" เป็นต้น.

               พระโลฬุทายีอวดดีอยากแสดงธรรม               
               ดังได้สดับมา พวกอริยสาวกประมาณ ๕ โกฏิในพระนครสาวัตถี ถวายทานในเวลาก่อนภัตแล้ว ในเวลาหลังภัตจึงถือวัตถุทั้งหลายมีเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยและผ้าเป็นต้น ไปวิหารแล้ว ฟังธรรมกถาอยู่,
               ก็ในเวลาฟังธรรมแล้วเดินไป ย่อมกล่าวคุณของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ.
               พระอุทายีเถระสดับถ้อยคำของอริยสาวกเหล่านั้นแล้ว จึงพูดว่า "พวกท่านฟังธรรมกถาของพระเถระทั้งสองนั้น ยังกล่าวถึงอย่างนี้ก่อน, ฟังธรรมกถาของฉันแล้ว จักกล่าวอย่างไรหนอแล?"
               พวกมนุษย์ฟังถ้อยคำของท่านแล้ว คิดว่า "พระเถระแม้นี้ จักเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง, พวกเราฟังธรรมกถาของพระเถระแม้นี้ ควร."
               วันหนึ่ง พวกเขาอาราธนา๑- พระเถระว่า "ท่านขอรับ วันนี้เป็นวันฟังธรรมของพวกกระผม" ถวายทานแก่พระสงฆ์แล้วพูดว่า "ท่านขอรับ ขอท่านพึงกล่าวธรรมกถาในกลางวันเถิด."
               ฝ่ายพระเถระนั้นรับนิมนต์ของพวกมนุษย์นั้นแล้ว.
____________________________
๑- ยาจิตฺวา = ขอหรือวิงวอน.

               พระเถระไม่สามารถแสดงธรรมได้               
               เมื่อพวกมนุษย์นั้นมาในเวลาฟังธรรมแล้ว พูดว่า "ท่านขอรับ ขอท่านจงกล่าวธรรมแก่พวกกระผมเถิด." พระโลฬุทายีเถระนั่งบนอาสนะแล้ว จับพัดอันวิจิตรสั่นอยู่ ไม่เห็นบทธรรม แม้บทหนึ่งพูดว่า "ฉันจักสวดสรภัญญะ ขอภิกษุรูปอื่นจงกล่าวธรรมกถา" ดังนี้แล้ว ก็ลง (จากอาสนะ).
               มนุษย์พวกนั้นนิมนต์ภิกษุรูปอื่นให้กล่าวธรรมกถาแล้ว นิมนต์พระโลฬุทายีขึ้นอาสนะอีก เพื่อต้องการสวดสรภัญญะ. พระโลฬุทายีนั้นไม่เห็นบทธรรมอะไรๆ แม้อีก จึงพูดว่า "ฉันจักกล่าวในกลางคืน ขอภิกษุรูปอื่นจงสวดสรภัญญะ" แล้วก็ลง
               มนุษย์พวกนั้นนิมนต์ภิกษุรูปอื่นให้สวดสรภัญญะแล้ว นำพระเถระมาในกลางคืนอีก. พระเถระนั้นก็ยังไม่เห็นบทธรรมอะไรๆ แม้ในกลางคืน พูดว่า "ฉันจักกล่าวในเวลาใกล้รุ่งเทียว, ขอภิกษุรูปอื่นจงกล่าวในเวลากลางคืน" แล้วก็ลง.
               มนุษย์พวกนั้นนิมนต์ภิกษุรูปอื่นให้กล่าวแล้วในเวลาใกล้รุ่ง ก็นำพระเถระนั้นมาอีก. พระเถระนั้น แม้ในเวลาใกล้รุ่ง ก็มิได้เห็นบทธรรมอะไรๆ.

               พระเถระถูกมหาชนไล่ไปตกหลุมคูถ               
               มหาชนถือวัตถุทั้งหลายมีก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น คุกคามว่า "พระอันธพาล เมื่อพวกข้าพเจ้ากล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ท่านพูดอย่างนี้และอย่างนี้ บัดนี้ เหตุไรจึงไม่พูด?" ดังนี้แล้ว ก็ติดตามพระเถระผู้หนีไป.
               พระเถระนั้นหนีไปตกลงในเวจกุฎีแห่งหนึ่ง.
               มหาชนสนทนากันว่า "พระโลฬุทายี เมื่อถ้อยคำสรรเสริญคุณพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นไปอยู่ อวดอ้างประกาศความที่ตนเป็นธรรมกถึก เมื่อพวกมนุษย์ทำสักการะแล้ว พูดว่า "พวกกระผมจะฟังธรรม" นั่งบนอาสนะถึง ๔ ครั้ง ไม่เห็นบทธรรมอะไรๆ ที่สมควรจะพึงกล่าว ถูกพวกมนุษย์ถือวัตถุทั้งหลายมีก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น คุกคามว่า "ท่านถือตัวเท่าเทียม๑- กับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานเถระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา" ไล่ให้หนีไปตกลงในเวจกุฎีแล้ว.
____________________________
๑- ยคคฺคาหํ คณฺหสิ = ถือความเป็นคู่.

               บุรพกรรมของพระโลฬุทายี               
               พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร?" เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน โลฬุทายีนี้ก็จมลงในหลุมคูถเหมือนกัน"
               ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสชาดก๑- นี้ให้พิสดารว่า :-
                                   สหาย เรามี ๔ เท้า, สหาย แม้ท่านก็มี ๔ เท้า. มาเถิด
                         สีหะ ท่านจงกลับ, เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงกลัวแล้วหนีไป?
                                   สุกร ท่านเป็นผู้ไม่สะอาด มีขนเปื้อนด้วยของเน่า มีกลิ่น
                         เหม็นฟุ้งไป, ถ้าท่านประสงค์ต่อสู้ เราจะให้ความชนะแก่ท่าน
                         นะสหาย.

               ดังนี้แล้ว ตรัสว่า
                         ราชสีห์ในกาลนั้นได้เป็น สารีบุตร,
                         สุกรได้เป็น โลฬุทายี.
____________________________
๑- ขุ. ชา. ทุก. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๕๕; อรรถกถา ขุ. ชา. ทุก. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๕๕

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายีเรียนธรรมมีประมาณน้อยแท้, อนึ่ง มิได้ทำการท่องเลย การเรียนปริยัติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไม่ทำการท่องปริยัตินั้น เป็นมลทินแท้"
               ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๔. อสชฺฌายมลา มนฺตา    อนุฏฺฐานมลา ฆรา
                         มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ    ปมาโท รกฺขโต มลํ.
                         มนต์ทั้งหลายมีอันไม่ท่องบ่น เป็นมลทิน,
                         เรือนมีความไม่หมั่น เป็นมลทิน,
                         ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ,
                         ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสชฺฌายมลา เป็นต้น ความว่า เพราะปริยัติหรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลไม่ท่อง ไม่ประกอบเนืองๆ ย่อมเสื่อมสูญ หรือไม่ปรากฏติดต่อกัน.
               ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อสชฺฌายมลา มนฺตา."
               อนึ่ง เพราะชื่อว่าเรือนของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้วไม่ทำกิจ มีการซ่อมแซมเรือนที่ชำรุดเป็นต้น ย่อมพินาศ
               ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อนุฏฺฐานมลา ฆรา."
               เพราะกายของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ผู้ไม่ทำการชำระสรีระ หรือการชำระบริขาร ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน ย่อมมีผิวพรรณมัวหมอง.
               ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ."
               อนึ่ง เพราะเมื่อบุคคลรักษาโคอยู่ หลับหรือเล่นเพลินด้วยอำนาจความประมาท โคเหล่านั้นย่อมถึงความพินาศ ด้วยเหตุมีวิ่งไปสู่ที่มิใช่ท่าเป็นต้นบ้าง ด้วยอันตรายมีพาลมฤค๑- และโจรเป็นต้นบ้าง ด้วยอำนาจการก้าวลงสู่ที่ทั้งหลาย มีนาข้าวสาลีเป็นต้นของชนพวกอื่นแล้วเคี้ยวกินบ้าง แม้ตนเองย่อมถึงอาชญาบ้าง การบริภาษบ้าง.
               ก็อีกอย่างหนึ่ง กิเลสทั้งหลายล่วงล้ำเข้าไปด้วยอำนาจความประมาท ย่อมยังบรรพชิตผู้ไม่รักษาทวาร ๖ ให้เคลื่อนจากศาสนา;
               ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ปมาโท รกฺขโต มลํ."
               อธิบายว่า ก็ความประมาทนั้น ชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะความประมาทเป็นที่ตั้งของมลทินด้วยการนำความพินาศมา.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
____________________________
๑- พาลมิค-เนื้อร้าย.

               เรื่องพระโลฬุทายีเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 27อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 28อ่านอรรถกถา 25 / 29อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=895&Z=945
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๐  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :