ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 273อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 274อ่านอรรถกถา 25 / 275อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค อุปปริกขยสูตร

               อรรถกถาอุปปริกขยสูตร               
               ในอุปปริกขยสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ตถา ตถา ความว่า โดยประการนั้นๆ.
               บทว่า อุปริกฺเขยฺย ความว่า พึงพิจารณาไตร่ตรองดูหรือตรวจตราดู.
               บทว่า ยถา ยถาสฺส อุปปริกฺขโต ความว่า เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาอยู่โดยประการใดๆ.
               บทว่า พหิทธา จสฺส วิญฺญาณํ อวิกฺขิตฺตํ อวิสฏํ ความว่า วิญญาณ (จิต) ของเธอ ชื่อว่าเป็นจิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในอารมณ์มีรูปเป็นต้นภายนอก คือเป็นจิตตั้งมั่น พึงเป็นจิตไม่ซัดส่ายไปจากอารมณ์กรรมฐานนั้นนั่นเอง.
               มีพุทธาธิบายนี้ไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรูปนี้ผู้ปรารภวิปัสสนาใคร่ครวญ คือพิจารณาสังขารทั้งหลาย ได้แก่ถือเอานิมิตในสมถะด้วยอำนาจแห่งการกำหนดอาการที่จิตตั้งมั่นมาก่อนแล้วให้สัมมสนญาณเป็นไปตลอดเวลาไม่มีระหว่างขั้นโดยเคารพ วิปัสสนาจิตของตนจะไม่พึงเกิดขึ้นในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่นอกไปจากกรรมฐาน คือไม่พึงเป็นฝักฝ่ายแห่งความฟุ้งซ่าน เพราะปรารภความเพียรมากเกินไป โดยประการใดๆ ภิกษุพึงพิจารณาคือไตร่ตรองโดยประการนั้นๆ ดังนี้.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อสณฺฐิตํ ความว่า เพราะเหตุที่ (จิตของเธอ) ชื่อว่าหยุดอยู่แล้ว เพราะหยุดอยู่ ด้วยอำนาจแห่งความปั่นป่วน ชื่อว่าในภายใน คือในอารมณ์กรรมฐาน กล่าวคืออารมณ์ที่มีอยู่ในภายใน โดยการครอบงำความเกียจคร้านไว้ได้ เพราะเหตุที่เบื่อความเพียรดำเนินไปเพลาลงแล้ว สมาธิก็จะมีกำลัง แต่เมื่อพระโยคาวจรประกอบความเพียรสม่ำเสมอ แล้วจิตก็ชื่อว่าเป็นจิตไม่หยุดอยู่ คือเป็นจิตดำเนินไปสู่วิถีแล้ว ฉะนั้น ภิกษุนั้นพึงพิจารณาโดยประการที่เมื่อเธอพิจารณาแล้ว วิญญาณ (จิต) จะไม่พึงหยุดอยู่ในภายใน คือจะพึงดำเนินไปสู่วิถี.
               บทว่า อนุปาทาย น ปริตฺสเสยฺย มีการเชื่อมความว่า ภิกษุนั้นควรพิจารณาโดยประการที่เมื่อเธอพิจารณาอยู่จะไม่ยึดถือสังขารอะไรๆ ในรูปเป็นต้น ด้วยอำนาจการยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิว่า นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นอัตตาของเราแล้ว ต่อแต่นั้นไปนั่นเอง ก็จะไม่พึงหวาดสะดุ้งด้วยอำนาจการยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ.
               ถามว่า ก็เมื่อพิจารณาอยู่อย่างไร ทั้ง ๓ อย่างนี้ (จิตหยุด ไม่หยุด ดำเนินสู่วิถี) จึงจะมี.
               แก้ว่า เมื่อเธอระลึกถึงธรรมที่เป็นฝ่ายความฟุ้งซ่านและที่เป็นฝ่ายแห่งความเกียจคร้าน ประกอบความเพียรให้สม่ำเสมอ ชำระจิตให้สะอาดจากวิปัสสนูปกิเลส ในตอนต้นแล้ว (ต่อไป) ก็พิจารณาโดยที่วิปัสสนาญาณจะดำเนินไปสู่วิปัสสนาวิถีโดยชอบนั่นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอุบายสำหรับชำระจิตให้สะอาดจากความเพียรมากเกินไป ความเพียรหย่อนเกินไป และวิปัสสนูปกิเลส ด้วยปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิที่ประกอบแล้วแก่ภิกษุผู้บำเพ็ญกรรมฐานมีสัจจะทั้ง ๔ เป็นอารมณ์อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงว่า เมื่อพระโยคาวจรชำระวิปัสสนาญาณให้สะอาดอย่างนั้น ไม่นานเลยก็จะเป็นไปเพื่อสืบต่อด้วยวิปัสสนามรรคแล้วก้าวล่วงวัฏทุกข์ทั้งสิ้นได้ จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า พหิทฺธา ภิกฺขเว วิญฺญาเณ ดังนี้ คำนั้นมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.
               ส่วนพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า การสมภพ คือการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ คือชาติ ชราและมรณะ จะไม่มีต่อไป.
               มีเนื้อความดังนี้ คือ เมื่อกิเลสสิ้นไปแล้วด้วยมรรคเบื้องปลายตามลำดับมรรคโดยไม่มีเหลือเลย เพราะสืบต่อด้วยวิปัสสนามรรคอย่างนี้ การสมภพ กล่าวคือเหตุเกิดขึ้นแห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้น คือชาติ ชราและมรณะจะไม่มี และการอุบัติขึ้นแห่งวัฏทุกข์ทั้งสิ้นก็จะไม่มี ในกาลต่อไป คือในอนาคต.
               อีกอย่างหนึ่ง เหตุเกิดแห่งทุกข์ กล่าวคือชาติก็จะไม่มี และการเกิดแห่งทุกข์ คือชราและมรณะก็จะไม่มี.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาต่อไป
               บทว่า สตฺตสงฺคปฺปหีนสฺส ความว่า ผู้ชื่อว่าละเครื่องข้อง ๗ อย่างได้ เพราะละเครื่องข้อง ๗ อย่างเหล่านี้ได้ คือ เครื่องข้องคือตัณหา ๑ เครื่องข้องคือทิฏฐิ ๑ เครื่องข้องคือมานะ ๑ เครื่องข้องคือโกธะ ๑ เครื่องข้องคืออวิชชา ๑ เครื่องข้องคือกิเลส ๑ เครื่องข้องคือทุจริต ๑.
               ส่วนอาจารย์บางเหล่ากล่าวว่า เครื่องข้อง ๗ อย่างคือ อนุสัย ๗ นั่นเอง.
               บทว่า เนตฺติจฺฉินฺนสฺส ความว่า ผู้ตัดกิเลสที่จะนำไปสู่ภพขาดแล้ว.
               บทว่า วิกฺขีโณ ชาติสํสาโร ความว่า ก็สงสารที่ชื่อว่าเป็นตัวชาติ เพราะเป็นเหตุของชาติโดยการเป็นไปด้วยสามารถแห่งการเกิดขึ้นแล้วๆ เล่าๆ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชาติสํสาโร สงสารคือชาตินั้นสิ้นสุดแล้ว คือสุดสิ้นลงแล้ว เพราะตัณหาที่นำไปสู่ภพถูกตัดขาดแล้ว ต่อแต่นั้นนั่นเอง ภพใหม่ของท่านก็จะไม่มี ดังนี้แล.

               จบอรรถกถาอุปปริกขยสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค อุปปริกขยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 273อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 274อ่านอรรถกถา 25 / 275อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6383&Z=6391
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=7492
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=7492
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :