ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 272อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 25 / 274อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค อัคคิสูตร

               อรรถกถาอัคคิสูตร               
               ในอัคคิสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าไฟ เพราะความหมายว่า ลวกลน. ไฟคือราคะ ชื่อว่าราคัคคิ เพราะว่า ราคะ เมื่อเกิดขึ้นจะลวกลนคือไหม้สัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า อัคคิ.
               ในโทสะและโมหะ ๒ อย่างนอกจากนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ราคคฺคิ เป็นต้นต่อไป.
               ไฟติดขึ้นเพราะอาศัยเชื้ออันใด ก็จะไหม้เชื้อนั้น (ลุกฮือ) เร่าร้อนมากทีเดียวฉันใด ราคะเป็นต้นแม้เหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นเองในสันดานใด ก็จะเผาลนสันดานนั้นให้กลัดกลุ้มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดับได้ยาก บรรดาสัตว์ที่ถูกราคะเป็นต้นเผาลนเหล่านั้น เหล่าสัตว์ที่ถูกความกลัดกลุ้มเผาลนหทัย ประสบความตายเพราะความทุกข์ คือไม่ได้สิ่งที่ต้องการ (ไม่สมหวัง) หาประมาณมิได้ นี้เป็นการเผาลนของราคะก่อน แต่โดยพิเศษแล้ว ได้แก่เทพเจ้าเหล่ามโนปโทสิกา (จุติเพราะทำร้ายใจ) เพราะการเผาลนของโทสะ.
               เทพเจ้าเหล่าขิฑฑาปโทสิกา (จุติเพราะเพลิดเพลินกับการเล่น) เป็นตัวอย่าง เพราะการเผาลนของโมหะ เพราะว่า ความเผลอสติของเทพเจ้าเหล่านั้นมีได้ ด้วยอำนาจโมหะ เพราะฉะนั้น เทพเจ้าเหล่านั้น เมื่อปล่อยเวลารับประทานอาหารให้ล่วงเลยไป ด้วยอำนาจการเล่นจนทำกาละ นี้คือการเผาลนแห่งราคะเป็นต้นที่มีผลทันตาเห็นก่อน แต่ที่มีผลในสัมปรายิกภพซึ่งร้ายแรงกว่า และยับยั้งได้ยาก มีขึ้นด้วยอำนาจแห่งการเกิดขึ้นในนรกเป็นต้น และอรรถาธิบายนี้ควรขยายให้แจ่มชัดตามอาทิตตปริยายสูตร.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายต่อไป.
               บทว่า กาเมสุ มุจฺฉิเต ความว่า ถึงการสยบคือความโง่ ได้แก่ความประมาท หมายความว่า มิจฉาจารด้วยอำนาจภาวะที่จะต้องดื่มด่ำในวัตถุกามทั้งหลาย.
               บทว่า พฺยาปนฺเน ความว่า มีจิตถึงความพินาศ เชื่อมความว่าเผาอยู่.
               คำว่า นเร ปาณาติปาติโน นี้เป็นชื่อของไฟคือโทสะ
               บทว่า อริยธมฺเม อโกวิเท ความว่า ชนเหล่าใดเว้นการทำไว้ในใจซึ่งการเรียนและการซักถาม ในธรรมทั้งหลายมีขันธ์และอายตนะเป็นต้นทั่วทุกอย่าง ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม. ชนเหล่านั้นถูกความงมงายครอบงำแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า ชื่อว่าเป็นผู้งมงายโดยพิเศษ.
               บทว่า เอเต อคฺคี อชานนฺตา ความว่า ไม่รู้อยู่ว่า ไฟราคะเป็นต้นเหล่านี้เผาลนอยู่ทั้งในภพนี้และในสัมปรายภพ คือไม่แทงตลอดด้วยอำนาจแห่งการบรรลุด้วยปริญญากิจ และด้วยสามารถแห่งการบรรลุด้วยปหานกิจ.
               บทว่า สกฺกายาภิรตา ความว่า เพลิดเพลินยินดียิ่งนักในกายของตน คือในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า วฑฺฒยนฺติ ความว่า เพิ่มพูนคือสะสมไว้ โดยการให้เกิดขึ้นบ่อยๆ.
               บทว่า นิรยํ ได้แก่ นรกทุกๆ ขุม คือนรกใหญ่ ๘ ขุม และอุสสทนรก ๑๖ ขุม.
               บทว่า ติรจฺฉานญฺจ โยนิยํ ได้แก่ กำเนิดเดียรฉานด้วย.
               บทว่า อสุรํ ได้แก่ อสุรกาย เชื่อมความว่า เพิ่มปิตติวิสัยเข้าไปด้วย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัฏฏะโดยมุข คือการแสดงภาวะที่ไฟราคะเป็นต้น เผาลนทั้งในภพนี้และภพหน้า ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะ ด้วยการดับไฟราคะเป็นต้นเหล่านั้น จึงตรัสคำมีอาทิไว้ว่า เย จ รตฺตินฺทิวา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุตฺตา ความว่า ประกอบแล้วด้วยสามารถแห่งการประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนา.
               บรรดาภาวนาทั้ง ๒ นั้น ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงความที่ไฟราคะเป็นต้น ดับได้ ไม่ใช่ในศาสนาอื่น.
               อนึ่ง เมื่อจะทรงแสดงวิธีดับไฟราคะเป็นต้นเหล่านั้น และอสุภกรรมฐานที่ไม่ทั่วไปแก่ศาสนาอื่น โดยสังเขปเท่านั้น จึงตรัสไว้ว่า
                                   ท่านเหล่านั้นมีความสำคัญว่าไม่งามอยู่เนืองนิตย์
                         ย่อมดับไฟราคะได้ แต่ผู้สูงสุดกว่านรชนดับไฟโทสะได้
                         ด้วยเมตตา ส่วนไฟโมหะ ท่านดับได้ด้วยปัญญานี้ ที่เป็น
                         เหตุให้เจาะทะลุไปเป็นปกติ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสุภสญฺญิโน ความว่า ผู้ชื่อว่ามีอสุภสัญญาเป็นปกติ (มีความสำคัญหมายว่าไม่งาม) เพราะประกอบความเพียรเนืองๆ ในอสุภภาวนา ด้วยอำนาจอาการ ๓๒ และด้วยอำนาจอารมณ์มีซากศพที่ขึ้นพองเป็นต้น.
               บทว่า เมตฺตาย ความว่า ด้วยเมตตาภาวนาที่ตรัสไว้ว่า เธอมีจิตสรหคตด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศๆ หนึ่งอยู่๑- และในพระคาถานี้ ผู้ศึกษาพึงทราบการดับไฟราคะและไฟโทสะด้วยอนาคามิมรรคที่เกิดขึ้นโดยทำฌานที่มีอสุภะเป็นอารมณ์ และ (ฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์) ให้เป็นเบื้องบาท.
____________________________
๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๐๓

               บทว่า ปญฺญาย ความว่า ด้วยมรรคปัญญาที่ประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ยายํ นิพฺเพธคามินี เพราะว่า ปัญญานั้นจะทะลุทะลวงกิเลสและขันธ์ไปคือเป็นไป เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า นิพเพธคามินี (เจาะทะลุไป)
               บทว่า อเสสํ ปรินิพฺพนฺติ ความว่า ท่านเหล่านั้นให้ไฟราคะเป็นต้นดับไปไม่มีเหลือด้วยอรหัตมรรค แล้วดำรงอยู่ด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ. ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน เพราะถึงความไพบูลย์แห่งปัญญา. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ซึมเซาตลอดทั้งวันทั้งคืน เพราะเป็นผู้ละความเกียจคร้านได้โดยเด็ดขาดมาก่อนแล้วด้วยสัมมัปปธาน และเพราะเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรด้วยการเข้าผลสมาบัติ. ชื่อว่าดับสนิทไม่มีเหลือ ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะจิตดวงหลัง (สุดท้าย) ดับแล้ว และต่อจากนั้นไปก็จะข้ามไป คือก้าวล่วงวัฏทุกข์ไปได้ ไม่มีเหลือคือไม่เหลือไว้เลย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความดับด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแก่เหล่าภิกษุผู้ดับไฟราคะเป็นต้น ได้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงชมเชย (ภิกษุเหล่านั้น) ด้วยคุณธรรมทั้งหลายที่เธอได้แทงตลอดกันแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาสุดท้ายไว้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อริยทฺทส ความว่า ท่านเหล่าใดเห็นอยู่ซึ่งธรรมที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย คือบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นจะพึงเห็น หรือเห็นพระนิพพาน ที่ชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง เห็นอยู่ซึ่งสัจจะทั้ง ๔ ที่ประเสริฐ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่า อริยทฺทส (ผู้เห็นสัจจะอันประเสริฐ). ท่านเหล่าใดถึงที่สุดแห่งพระเวท คือมรรคญาณ หรือถึงที่สุดแห่งสงสารด้วยพระเวท (คือมรรคญาณ) นั้น เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่า เวทคุโน (ผู้ถึงที่สุดแห่งพระเวท)
               บทว่า สมฺมทญฺญาย ความว่า เพราะรู้กุศลธรรมเป็นต้น และขันธ์เป็นต้นที่จะต้องรู้ทุกอย่าง โดยชอบนั่นเอง.
               คำที่เหลือมีนัยเหมือนที่กล่าวมาแล้ว.

               จบอรรถกถาอัคคิสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค อัคคิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 272อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 273อ่านอรรถกถา 25 / 274อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6361&Z=6382
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=7439
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=7439
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :