ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 258อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 259อ่านอรรถกถา 25 / 260อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
จตุตถวรรค สักการสูตร

               อรรถกถาสักการสูตร               
               ในสักการสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สกฺกาเรน ความว่า อันสักการะอันเป็นดังเหตุ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สกฺกาเรน ความว่า ถูกเหตุหรือสักการะ หรือถูกอกุศลธรรมมีสักการะเป็นเหตุ (ครอบงำ).
               อธิบายว่า เพราะอาศัยสักการะ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ ตั้งอยู่ในอิจฉาจาร คิดว่า เราจักให้สักการะเกิดขึ้นแล้วประพฤติการแสวงหาที่ไม่เหมาะสมมากอย่าง จุติจากโลกนี้แล้วจึงเกิดในอบายทั้งหลาย.
               ส่วนคนเหล่าอื่นได้สักการะอย่างใดแล้ว ถึงความประมาทอันมีสักการะอย่างนั้นเป็นนิมิตด้วยสามารถแห่งมานะ (ความถือตัว) มทะ (ความเมา) และมัจฉริยะ (ความตระหนี่) เป็นต้น จุติจากโลกนี้แล้วจึงเกิดในอบายทั้งหลาย ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาว่า ผู้ถูกสักการะครอบงำ มีจิตอันสักการะหุ้มห่อแล้ว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิภูตา ความว่า ถูกสักการะทับถมแล้ว.
               บทว่า ปริยาทินฺนจิตฺตา ความว่า มีจิตอันสักการะให้ส่ายไปแล้ว คือเป็นผู้มีกุศลจิต ถูกอิจฉาจารและอกุศลมีมานะและมทะเป็นต้นให้ถึงความสิ้นไป.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปริยาทินฺนจิตฺตา ความว่า มีจิตอันสักการะยึดเหนี่ยวไว้รอบด้าน. อธิบายว่า เป็นผู้มีจิตสันดาน ถูกฝ่ายอกุศลธรรมมีประการดังกล่าวแล้วยึดไว้แล้วรอบด้าน โดยไม่มีวาระแห่งกุศลจิตเกิดขึ้น.
               บทว่า อสกฺกาเรน ความว่า อันเหตุ คืออสักการะที่ผู้อื่นให้เป็นไปแล้วในตน โดยมุ่งให้ละอาย โดยเย้ยหยัน หรือถูกอกุศลธรรมมีมานะเป็นต้น ที่มีสักการะเป็นเหตุ (ครอบงำแล้ว).
               บทว่า สกฺกาเรน จ อสกฺกาเรน จ ความว่า ถูกทั้งสักการะที่ใครๆ ให้เป็นไปแล้ว ทั้งอสักการะที่ใครๆ ให้เป็นไปแล้ว. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาบุคคลเช่นนั้นที่ตอนต้นชนเหล่าใดสักการะแล้ว ภายหลังชนเหล่านั้นนั่นแหละไม่สักการะ เพราะรู้ว่าไม่มีสารธรรม จึงตรัสว่า สกฺกาเรน จ อสกฺกาเรน จ ดังนี้.
               ในเรื่องนี้ควรนำเรื่องพระเทวทัตเป็นต้นที่ถูกสักการะครอบงำมาแสดง (เป็นตัวอย่าง).
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ผลกล้วยแลฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่
                         สักการะฆ่าคนชั่ว เหมือนลูกม้า ฆ่าแม่ม้าอัสดร
                         ดังนี้.๑-
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๓๖๐   สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑๐   องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๖๘

               ควรนำเรื่องพระเจ้ากรุงทัณฑกี พระเจ้ากรุงกาลิงคะและพระเจ้ากรุงเมชฌะเป็นต้นมาแสดง (เป็นตัวอย่าง).
               สมดังคำที่สังกัจจฤาษีกล่าวไว้ว่า
                                   เพราะพระเจ้าทัณฑกีทรงโปรยธุลีใส่กีสวัจฉฤาษี
                         (ผู้หาธุลีมิได้) พระองค์พร้อมด้วยประชาชนและแว่นแคว้น
                         (จึงถึงความพินาศ) เหมือนไม้ที่รากขาดแล้ว หมกไหม้อยู่
                         ในกุกกุฬนรก ประกายไฟตกถูกต้องพระกายของพระองค์.
                                   อนึ่ง พระเจ้ากาลิงคะได้ล่วงเกินบรรพชิตผู้สำรวมแล้ว
                         ผู้สอนธรรม ผู้เป็นสมณะ ผู้ไม่ประทุษร้าย สุนัขทั้งหลาย
                         จึงรุมกัดพระเจ้ากาลิงคะนั้นผู้ทรงกลิ้งไปมาอยู่ เหมือนผล
                         มะพร้าว.๒-
                                   พระเจ้าเมชฌะคิดประทุษร้ายในมาตังคฤาษี
                         ผู้เรืองยศ รัฐมณฑลของพระเจ้าเมชฌะพร้อมด้วยบริษัท
                         ก็ได้สูญสิ้นไปในครั้งนั้น ดังนี้.๓-
____________________________
๒- ขุ. ชา. ๒๗/๒๔๖๔
๓- ขุ. ชา. ๒๘/๙๒

               อัญญเดียรดีย์ทั้งหลายมีนิครนถนาฏบุตรเป็นต้นผู้ถูกทั้งสักการะและอสักการะครอบงำ ก็ควรนำมาแสดงด้วย.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายต่อไปนี้.
               บทว่า อุภยํ ได้แก่ ทั้งสักการะและอสักการะทั้งสองอย่าง.
               บทว่า สมาธิ น วิกมฺปติ ความว่า สมาธิย่อมไม่หวั่นไหว คือมีสภาพเป็นเอกนั่นแหละตั้งอยู่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท (เพื่อจะทรงแก้คำถาม) ว่า ก็สมาธิของใครเล่าไม่หวั่นไหว?
               อธิบายว่า ของผู้ชื่อว่ามีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท คือเป็นพระอรหันต์ เพราะละธรรมที่เป็นเหตุแห่งความประมาทมีราคะเป็นต้นได้ด้วยดี ด้วยว่า ท่านไม่หวั่นไหว เพราะโลกธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า สุขุมทิฏฺฐิวิปสฺสกํ ความว่า ผู้ชื่อว่าเห็นแจ้งด้วยทิฏฐิอันสุขุม เพราะมีความเห็นแจ้งที่เป็นไปแล้วเนืองๆ ด้วยทิฏฐิ คือปัญญาอันสุขุม เหตุได้บรรลุผลสมาบัติ.
               บทว่า อุปาทานกฺขยารามํ ความว่า ผู้ชื่อว่ามีความสิ้นอุปาทานเป็นที่มายินดี เพราะมีอรหัตผลอันเป็นที่สิ้นไป คือเป็นที่สิ้นสุดแห่งอุปาทานทั้ง ๔ ที่ตนจะต้องยินดี.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาสักการสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต จตุตถวรรค สักการสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 258อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 259อ่านอรรถกถา 25 / 260อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6023&Z=6042
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=6267
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=6267
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :