ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 23อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 25 / 25อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

หน้าต่างที่ ๘ / ๙.

               ๘. เรื่องสัมพหุลภิกขุ [๑๕๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภการสนทนาของภิกษุมากรูปด้วยกัน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท" เป็นต้น.

               ความเห็นในปัญหาต่างๆ กัน               
               ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุ ๕๐๐ รูปนั่งในศาลาเป็นที่บำรุง สนทนากันว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย อะไรหนอแล เป็นสุขในโลกนี้?"
               บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า "ชื่อว่าสุข เช่นกับด้วยสุขในราชสมบัติ ย่อมไม่มี." บางพวกกล่าวว่า "ชื่อว่าสุข เช่นกับด้วยสุขในกาม ย่อมไม่มี." บางพวกกล่าวว่า "ชื่อว่าสุข เช่นกับด้วยสุขอันเกิดแต่การบริโภคข้าวสาลีและเนื้อ ย่อมไม่มี."

               พระศาสดาทรงแก้ปัญหานั้น               
               พระศาสดาเสด็จมาสู่ที่ๆ ภิกษุเหล่านั้นนั่งแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไร? ก็ความสุขนี้แม้ทั้งหมด นับเนื่องด้วยทุกข์ในวัฏฏะทั้งนั้น แต่เหตุนี้เท่านั้นคือ ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การฟังธรรม ความพร้อมเพรียงของหมู่ ความเป็นผู้ปรองดองกัน เป็นสุขในโลกนี้"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๘. สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท    สุขา สทฺธมฺมเทสนา
                         สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี    สมคฺคานํ ตโป สุโข.
                         ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมา,
                         การแสดงธรรมของสัตบุรุษ เป็นเหตุนำสุขมา,
                         ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมา,
                         ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำสุขมา.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธานมุปฺปาโท๑- ความว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อทรงอุบัติขึ้น ย่อมยังมหาชนให้ข้ามจากความกันดารทั้งหลาย มีความกันดารคือราคะเป็นต้น เหตุใด, เหตุนั้น ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงชื่อว่าเป็นเหตุนำสุขมา.
               สัตว์ทั้งหลายผู้มีทุกข์มีชาติเป็นต้นเป็นธรรม อาศัยการแสดงธรรมของสัตบุรุษ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีชาติเป็นต้น เหตุใด, เหตุนั้น การแสดงธรรมของสัตบุรุษจึงชื่อว่าเป็นเหตุนำสุขมา.
               ความเป็นผู้มีจิตเสมอกัน ชื่อว่าสามัคคี แม้สามัคคีนั้นก็ชื่อว่าเป็นเหตุนำสุขมาโดยแท้.
               อนึ่ง การเรียนพระพุทธพจน์ก็ดี การรักษาธุดงค์ทั้งหลายก็ดี การทำสมณธรรมก็ดีของเหล่าชนผู้พร้อมเพรียงกัน คือผู้มีจิตเป็นอันเดียวกัน เป็นเหตุนำสุขมา เหตุใด, เหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "สมคฺคานํ ตโป สุโข."
               เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า๒-
               "ภิกษุทั้งหลาย ก็พวกภิกษุจักพร้อมเพรียงกันประชุม, จักพร้อมเพรียงกันเลิก (ประชุม), จักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำของหมู่, ตลอดกาลเพียงใด; ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญฝ่ายเดียว อันภิกษุทั้งหลายพึงหวังได้, ความเสื่อมอันภิกษุทั้งหลายไม่พึงหวังได้ ตลอดกาลเพียงนั้น."
               ในกาลจบเทศนา ภิกษุเป็นอันมากตั้งอยู่ในอรหัตผลแล้ว.
               เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.
____________________________
๑- บาลีเป็น พุทฺธานํ อุปฺปาโท.
๒- อัง. สัตตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๑.

               เรื่องสัมพหุลภิกขุ จบ.               
               ---------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 23อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 25 / 25อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=748&Z=798
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=1200
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=1200
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :