ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 237อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 238อ่านอรรถกถา 25 / 239อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ทุติยวรรค ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

               ติกนิบาตวรรณนา               
               วรรควรรณนาที่ ๒               
               อรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร               
               พึงทราบวินิจฉัยในปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถูนิ ความว่า กุศลทั้งหลายที่ให้เกิดผลในภพ ที่ควรบูชา หรือชำระสันดานของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญ บุญเหล่านั้นด้วย ชื่อว่าเป็นกิริยา เพราะต้องทำด้วยเหตุด้วยปัจจัยทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญกิริยา และบุญกิริยานั่นเอง ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะความเป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ.
               บทว่า ทานมยํ ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องบริจาคไทยธรรมของตนแก่ผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการอนุเคราะห์ หรือด้วยสามารถแห่งการบูชาของผู้ที่ตัดราก คือภพยังไม่ขาด ชื่อว่าทาน เพราะเป็นเหตุให้เขาให้. ทานนั่นเองชื่อว่าทานมัย เจตนาที่เป็นไปแล้วโดยนัยที่กล่าวแล้วในกาลทั้ง ๓ คือในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้น ตั้งแต่การให้ปัจจัย ๔ เหล่านั้นเกิดขึ้น ๑ ในเวลาบริจาค ๑ ในการโสมนัสจิตระลึกถึงในภายหลัง (จากที่ให้แล้ว) ๑ ของผู้ให้สิ่งนั้นๆ ในบรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น หรือในบรรดาทานวัตถุ ๑๐ อย่างมีข้าวเป็นต้น หรือบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยการให้ทาน.
               บทว่า สีลมยํ ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปแล้ว แก่บุคคลผู้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ด้วยสามารถแห่งการกำหนดให้เป็นนิจศีล และอุโบสถศีลเป็นต้น (หรือ) ผู้ที่คิดว่า เราจะบวชเพื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ แล้วไปวิหารบวช ผู้จะยังมโนรถให้ถึงที่สุดระลึกอยู่ว่าเราบวชแล้วเป็นการดีแล้วหนอ บำเพ็ญปาฏิโมกข์ให้บริบูรณ์ด้วยศรัทธา พิจารณาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นด้วยปัญญาสำรวมจักษุทวารเป็นต้น ในรูปเป็นต้นที่มาสู่คลองด้วยสติ และชำระอาชีวปาริสุทธิศีลด้วยความเพียร ย่อมตั้งมั่น เพราะฉะนั้น เจตนานั้นจึงชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล.
               อนึ่ง เจตนาของภิกษุผู้พิจารณาเห็นแจ้งซึ่งจักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ โดยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยวิปัสสนามรรคที่กล่าวแล้วในปฏิสัมภิทา#- ๑ เจตนาของผู้พิจารณาเห็นแจ้งรูปทั้งหลาย ฯลฯ ธรรมทั้งหลาย จักขุวิญญาณ ฯลฯ มโนวิญญาณ จักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส จักขุสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ มโนสัมผัสสชาเวทนา รูปสัญญา ฯลฯ ธรรมสัญญา (และ) ชรามรณะโดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ๑ ฌานเจตนาที่เป็นไปแล้วในอารมณ์ ๓๘ ประการมีปฐวีกสิณเป็นต้น ๑ เจตนาที่เป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งการสั่งสมและมนสิการเป็นต้น ในบ่อเกิดแห่งงาน บ่อเกิดแห่งศิลปะ และฐานะที่ตั้งแห่งวิชาที่ไม่มีโทษ ๑ อันใด ผู้ยังเจตนาทั้งหมดนั้นให้เจริญด้วยบุญกิริยานี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา ตามนัยที่กล่าวแล้วดังนี้แล.
____________________________
#- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๙๙

               ก็ในบรรดากรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ เมื่อกระทำกรรมอย่างหนึ่งๆ ด้วยกาย จำเดิมแต่ส่วนเบื้องต้นตามสมควร กรรมเป็นกายกรรม. เมื่อเปล่งวาจาอันเป็นประโยชน์แก่กรรมนั้น กรรมเป็นวจีกรรม. เมื่อไม่ยังองค์คือกาย และองค์คือวาจาให้หวั่นไหว คิดด้วยใจ (อย่างเดียว) กรรมเป็นมโนกรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ผู้ให้ข้าวเป็นต้นให้ (ทาน) โดยคิดว่า เราจะให้ข้าวและน้ำเป็นต้นก็ดี โดยระลึกถึงทานบารมีก็ดี บุญกิริยาวัตถุเป็นทานมัย.
               เมื่อให้ทานโดยดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ บุญกิริยาวัตถุเป็นสีลมัย.
               เมื่อให้ (ทาน) โดยเริ่มตั้งการพิจารณา (นามรูป) โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไปโดยกรรม บุญกิริยาวัตถุเป็นภาวนามัย.
               บุญกิริยาวัตถุอย่างอื่นอีก ๗ คือบุญกิริยาวัตถุที่สหรคตด้วยความยำเกรง (อ่อนน้อม) ๑ ที่สหรคตด้วยการขวนขวาย ๑ การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ ๑ การพลอยอนุโมทนา ๑ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม ๑ สำเร็จด้วยการฟังธรรม ๑ ความเห็นตรง ๑.
               ก็แม้การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ ย่อมสงเคราะห์เข้าด้วยการทำความเห็นให้ตรงนั่นเอง ก็คำที่ควรกล่าวในเรื่องนี้จักมีแจ้งข้างหน้า.
               บรรดาบุญกิริยาวัตถุ ๗ อย่างนั้น บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยความอ่อนน้อม พึงทราบด้วยสามารถแห่งการเห็นภิกษุผู้อาวุโสกว่าแล้วต้อนรับ รับบาตรและจีวร กราบไหว้และหลีกทางให้เป็นต้น.
               บุญกิริยาวัตถุที่สหรคตด้วยความขวนขวาย พึงทราบด้วยสามารถแห่งการทำวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุผู้มีอาวุโสกว่า ด้วยสามารถแห่งการที่เห็นภิกษุเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต รับบาตร (ของท่าน) แล้วบรรจุภิกษาแม้ในบ้านให้เรียบร้อย นำเข้าไปถวาย และด้วยสามารถแห่งการรีบนำเอาบาตรมาให้เป็นต้น โดยที่ได้ยิน (คำสั่ง) ว่าจงไปนำเอาบาตรของภิกษุทั้งหลายมา ดังนี้.
               บุญกิริยาวัตถุ คือการให้ส่วนบุญ พึงทราบด้วยสมารถน้อมใจว่า ขอส่วนบุญจงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งปวง เพราะการถวายปัจจัย ๔ หรือเพราะการกระทำการบูชาพระรัตนตรัย ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น หรือเพราะการกระทำบุญเช่นนั้นอย่างอื่น.
               บุญกิริยาวัตถุ คือการพลอยอนุโมทนา (บุญ) ก็อย่างนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว หรือบุญที่ผู้อื่นทำแล้วทั้งสิ้นว่า สาธุ สุฏฺฐุ (ดีแล้ว).
               ข้อที่ภิกษุไม่ปรารถนาความช่ำชองในธรรมเพื่อตนแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยอัธยาศัยที่เต็มไปด้วยความเกื้อกูล นี้ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม.
               แต่ว่าการที่ภิกษุรูปหนึ่งตั้งความปรารถนาไว้ว่า ชนทั้งหลายจักรู้ว่าเราเป็นธรรมกถึกด้วยวิธีอย่างนี้ แล้วอาศัยลาภสักการะและการยกย่องแสดงธรรมไม่มีผลมากเลย.
               การที่คนฟังธรรมด้วยจิตอ่อนโยนมุ่งแผ่ประโยชน์เกื้อกูล มีโยนิโสมนสิการไปว่านี้เป็นอุบายให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นแน่นอน นี้เป็นบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม. แต่การที่คนๆ หนึ่งฟังธรรมด้วยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้จักเราว่าเป็นผู้มีศรัทธาด้วยวิธีนี้ ไม่มีผลมากเลย.
               การที่ทิฏฐิดำเนินไปตรง ชื่อว่าความเห็นตรง (ทิฏฐิชุกรรม).
               คำว่า ทิฏฺฐิชุคตํ นี้เป็นชื่อของสัมมาทัสสนะอันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วมีผล. เพราะว่าความเห็นตรงนี้ถึงจะเป็นญาณวิปปยุตในตอนต้นหรือตอนหลัง แต่ในเวลาทำความเห็นให้ตรงแล้วก็เป็นญาณสัปปยุตนั่นเอง.
               แต่อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ทัสนะ คือความเห็นด้วยอำนาจแห่งการรู้แจ้งและการรู้ชัด ๑ วิญญาณที่เป็นกุศล ๑ กัมมัสสกตาญาณเป็นต้น ๑ เป็นสัมมาทัสสนะ.
               บรรดาธรรม ๓ อย่างมีทัสนะเป็นต้นนั้น แม้ในเมื่อญาณยังไม่เกิดขึ้นก็มีการสงเคราะห์เหตุที่สมควรแก่เหตุเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงบุญที่ตนได้ทำไว้แล้ว เข้ากับวิญญาณที่เป็นกุศลได้. มีการสงเคราะห์เข้ากับกัมมัสสกตาญาณ คือความเห็นชอบตามคัลลองของกรรมได้. แต่ความเห็นตรงนอกนี้ มีการกำหนดธรรมทั้งปวงเป็นลักษณะ.
               ด้วยว่า เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง บุญนั้นก็จะมีผลมาก เพราะเหตุที่ทิฏฐิทั้งหลายตรงนั่นเอง.
               แต่ว่ามีการสงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุ ๗ อย่างเหล่านี้เข้ากับบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างข้างต้นมีทานมัยเป็นต้น.
               อธิบายว่า บรรดาบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๗ อย่างนั้น
               ความอ่อนน้อม (อปจายนมัย) ความขวนขวาย (เวยยาวัจจมัย) สงเคราะห์เข้าในสีลมัย.
               การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) และการพลอยอนุโมทนาส่วนบุญ (อนุโมทนามัย) สงเคราะห์เข้าในทานมัย.
               การแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) และการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) สงเคราะห์เข้าในภาวนามัย.
               (ส่วน) ความเห็นตรง (ทิฏฐิชุกรรม) สงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ อย่าง.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุเหล่านี้มี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน? คือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน ฯลฯ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.๑-
____________________________
๑- องฺ. อฏฺฐก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๓๖

               ก็ในอธิการนี้ บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ อย่างมีการเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร ๘ ดวง. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า เมื่อบุคคลแสดงธรรมที่คล่องแคล่วก็ไม่คำนึงถึงอนุสนธิเลย ธรรมบางหมวดก็ดำเนินไปได้ฉันใด เมื่อพระโยคาวจรประกอบเนืองๆ ซึ่งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาที่ช่ำชอง มนสิการด้วยจิตที่เป็นญาณวิปยุตก็เป็นไปได้ในระหว่างๆ (แต่) ทั้งหมดนั้นเป็นบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยเจตนาอย่างเดียว ด้วยสามารถแห่งกุศลเจตนาที่เป็นมหัคคตะ หาเป็นบุญกิริยาวัตถุนอกนี้ไม่ (ทานมัย สีลมัย).
               เนื้อความแห่งพระคาถา ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ทุติยวรรค ปุญญกิริยาวัตถุสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 237อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 238อ่านอรรถกถา 25 / 239อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5574&Z=5590
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=5111
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=5111
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :