ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 219อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 220อ่านอรรถกถา 25 / 221อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต
ทุติยวรรค ธรรมสูตร

               อรรถกถาธรรมสูตร               
               ในธรรมสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สกฺกา ชื่อว่า สุกธรรมเพราะเป็นธรรมขาว ก็สุกธรรมย่อมเป็นไปเพื่อความผ่องแผ้วอย่างยิ่ง โดยความเป็นธรรมขาว เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายชื่อว่าขาว เพราะเป็นธรรมขาวบริสุทธิ์. ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลทั้งปวง แม้โดยพร้อมด้วยรส ชื่อว่าธรรมขาว เพราะตรงข้ามกับความเป็นธรรมดำ ด้วยว่าเพราะธรรมขาวเกิดขึ้น จิตจึงเป็นประภัสสรบริสุทธิ์.
               บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมเป็นกุศล.
               บทว่า โลกํ ได้แก่ สัตวโลก.
               บทว่า ปาเลนฺติ ได้แก่ วางขอบเขตรักษาด้วยการรองรับไว้ ทรงไว้.
               ในบทว่า หิริ จ โอตฺตปฺปญฺจ นี้พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าหิริ เพราะอันเขาละอาย หรือชื่อว่าหิริ เพราะเป็นเหตุละอาย. แม้ข้อนี้ท่านก็กล่าวไว้ว่า ข้อที่อันบุคคลละอายด้วยสิ่งที่ควรละอาย คือละอายต่อความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่าหิริ.
               ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะกลัว หรือชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะเป็นเหตุกลัว แม้ข้อนี้ท่านก็กล่าวไว้ว่า ข้อที่กลัวสิ่งที่ควรกลัว คือกลัวต่อความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่าโอตตัปปะ.
____________________________
๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๔๕

               ในหิริและโอตตัปปะนั้น
               หิริเกิดขึ้นในภายใน โอตตัปปะเกิดขึ้นในภายนอก. หิริถือตนเป็นใหญ่ โอตตัปปะถือโลกเป็นใหญ่. หิริตั้งอยู่ในความละอายเป็นสภาพ โอตตัปปะตั้งอยู่ในความกลัวเป็นสภาพ. หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะเห็นภัยอันเป็นโทษที่น่ากลัว.
               ในหิริและโอตตัปปะนั้น
               หิริเกิดขึ้นในภายในย่อมเกิดด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ นึกถึงชาติ นึกถึงวัย นึกถึงความเป็นผู้กล้า นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียน.
               ถามว่า อย่างไร
               ตอบว่า บุคคลนึกถึงชาติอย่างนี้ก่อนว่า ชื่อว่าการกระทำความชั่วนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำของคนผู้มีชาติเจริญ เป็นการกระทำของชาวประมงเป็นต้น ผู้มีชาติต่ำ ผู้เจริญด้วยชาติเช่นท่านไม่ควรกระทำกรรมนี้ดังนี้ แล้วไม่กระทำกรรมชั่ว เกิดหิริขึ้น.
               อนึ่ง นึกถึงวัยอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำกรรมชั่วนี้เป็นกรรมที่คนหนุ่มๆ ควรกระทำ คนที่ตั้งอยู่ในวัยเช่นท่านไม่ควรทำกรรมนี้ แล้วไม่กระทำกรรมชั่วมีปาณาติบาตเป็นต้น เกิดหิริขึ้น.
               อนึ่ง นึกถึงความเป็นผู้กล้าอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำ ความชั่วนี้เป็นการกระทำของผู้ที่มีกำลังอ่อนแอ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยกำลังเช่นท่านไม่ควรกระทำกรรมนี้ดังนี้แล้ว ไม่กระทำกรรมชั่วมีปาณาติบาตเป็นต้น เกิดหิริขึ้น.
               อนึ่ง นึกถึงความเป็นผู้คงแก่เรียนอย่างนี้ว่า ชื่อว่าการกระทำความชั่วนี้เป็นการกระทำของอันธพาล มิใช่เป็นการกระทำของบัณฑิต ผู้เป็นบัณฑิตคงแก่เรียนเช่นท่านไม่ควรกระทำกรรมนี้ดังนี้แล้ว ไม่กระทำความชั่วมีปาณาติบาตเป็นต้น เกิดหิริขึ้น.
               บุคคลยังหิริอันเกิดในภายในให้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างนี้ ก็และครั้นให้เกิดแล้ว พิจารณาถึงหิริในจิตของตนแล้วไม่กระทำกรรมชั่ว.
               หิริ ชื่อว่าเกิดขึ้นในภายในด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า โอตตัปปะ ชื่อว่าเกิดในภายนอกเป็นอย่างไร
               ตอบว่า บุคคลนึกอยู่ว่า หากว่าท่านจักกระทำกรรมชั่วนั้น ท่านจักได้รับความติเตียนในบริษัท ๔
                                   วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนท่าน เหมือนชาวเมือง
                         รังเกียจของสกปรก ท่านถูกผู้มีศีลกำจัดเสียแล้ว จักเป็น
                         ภิกษุอยู่ได้อย่างไร
ดังนี้.
               ย่อมไม่กระทำกรรมชั่ว ด้วยโอตตัปปะอันเกิดแล้วในภายนอก.
               โอตตัปปะ ชื่อว่าตั้งขึ้นในภายนอกด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า หิริ ชื่อว่าถือตนเป็นใหญ่เป็นอย่างไร.
               ตอบว่า กุลบุตรบางคนในโลกนี้กระทำตนให้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า แล้วไม่ทำกรรมชั่วด้วยเห็นว่า ผู้บวชด้วยศรัทธาเป็นผู้คงแก่เรียน ผู้กล่าวสอนธุดงค์ เช่นท่านไม่ควรทำกรรมชั่วดังนี้.
               หิริ ชื่อว่าถือตนเป็นใหญ่ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๒-
               โส อตฺตานํเยว อธิปตึ กตฺวา อกุสลํ ปชหติ กุสลํ ภาเวติ สาวชฺชํ ปชหติ อนวชฺชํ ภาเวติ สทฺธมตฺตานํ ปริหรติ
               ความว่า บุคคลนั้นนึกทำตนเป็นใหญ่แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละสิ่งมีโทษ เจริญสิ่งไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ ดังนี้.
               ถามว่า โอตตัปปะ ชื่อว่าถือโลกเป็นใหญ่ เป็นอย่างไร.
               ตอบว่า กุลบุตรบางคนในโลกนี้ นึกถึงโลกเป็นใหญ่เป็นผู้เจริญ แล้วไม่กระทำความชั่ว. ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               โลกสันนิวาสนี้ใหญ่นักแล ในโลกสันนิวาสใหญ่มีสมณพราหมณ์ ผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่น ท่านเหล่านั้นย่อมเห็นแต่ไกล ไม่เห็นแม้ในที่ใกล้ ย่อมรู้จิตด้วยจิต ท่านเหล่านั้นก็จักประกาศให้รู้จักเราอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้ เขามีศรัทธาออกบวชแล้วยังเกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่อีก ดังนี้.
               มีเทวดาผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่น เทวดาเหล่านั้นย่อมเห็นแม้แต่ไกล เขาไม่ปรากฏแม้ในที่ใกล้ ย่อมรู้จิตด้วยจิต เทวดาเหล่านั้นก็จักประกาศให้รู้จักเราอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงดูกุลบุตรนี้มีศรัทธาออกบวช แล้วยังเกลือกกลั้วด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่อีกดังนี้. กุลบุตรนั้นกระทำโลกให้เป็นใหญ่ แล้วจึงละอกุศล ดังนี้.๒-
               โอตตัปปะถือโลกเป็นใหญ่ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๗๙

               ในบทว่า สชฺชาสภาวสณฺฐิตา นี้ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
               อาการแห่งความละอายชื่อว่า ลชฺชา หิริตั้งอยู่โดยสภาพนั้น. ความกลัวในอบายชื่อว่า ภัย โอตตัปปะตั้งอยู่โดยสภาพนั้น. ทั้งสองอย่างนั้นเป็นอันปรากฏในการเว้นจากความชั่ว.
               ในหิริและโอตตัปปะนั้นมีวินิจฉัยว่า
               เหมือนอย่างว่า ก้อนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งแม้เย็นก็เปื้อนคูถ ก้อนหนึ่งร้อนจัด ใน ๒ ก้อนนั้น วิญญูชนเกลียดก้อนที่เย็นเพราะเปื้อนคูถจึงไม่จับ อีกก้อนหนึ่งไม่จับเพราะกลัวความร้อนฉันใด บัณฑิตเกลียด ไม่ทำความชั่วเพราะละอาย กลัวอบาย ไม่ทำความชั่วเพราะเกรงกลัว ก็ฉันนั้น.
               หิริตั้งอยู่ในสภาพแห่งความละอาย โอตตัปปะตั้งอยู่ในสภาพแห่งความกลัว.
               ถามว่า หิริมีลักษณะยำเกรง โอตตัปปะมีลักษณะเห็นภัยอันเป็นโทษที่น่ากลัวนั้น อย่างไร.
               ตอบว่า จริงอยู่ บุคคลบางคนยังหิริอันมีลักษณะยำเกรงให้เกิดขึ้น ด้วยเคารพในผู้นั้น โดยอาการ ๔ อย่างคือ
                         นึกถึงความเป็นใหญ่โดยชาติ ๑
                         นึกถึงความเป็นใหญ่โดยเป็นผู้สอน ๑
                         นึกถึงความเป็นใหญ่ในมรดก ๑
                         นึกถึงความเป็นใหญ่ในทางประพฤติพรหมจรรย์ ๑
               แล้วไม่ทำความชั่ว.
               บางคนกลัวโดยความเป็นโทษ ด้วยเหตุ ๔ อย่างคือ
                         อัตตานุวาทภัย (กลัวถูกติเตียนตน) ๑
                         ปรานุวาทภัย (กลัวผู้อื่นติเตียน) ๑
                         ทัณฑภัย (กลัวถูกลงอาญา) ๑
                         ทุคติภัย (กลัวตกนรก) ๑
               แล้วเกิดโอตตัปปะอันมีลักษณะเห็นภัยอันมีโทษน่ากลัว แล้วจึงไม่ทำกรรมชั่ว.
               อนึ่ง ในข้อนี้เมื่อท่านกล่าวถึงหิริโอตตัปปะอันเกิดในภายในเป็นต้น โดยความเป็นสิ่งปรากฏในที่นั้นๆ บางครั้งหิริโอตตัปปะนั้นไม่พรากจากกันและกันเลย เพราะความละอายไม่มี กลัวย่อมมีไม่ได้ หรือความกลัวต่อบาปไม่มี ความละอายย่อมมีไม่ได้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อิเม เจ ภิกฺขเว เทฺว สุกฺกา ธมฺมา โลกํ น ปาเลยฺยุํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผิว่า ธรรมไม่มีโทษ ๒ อย่างเหล่านี้ ไม่พึงรักษาโลก คือผิว่า ธรรมรักษาโลกไม่พึงมี.
               ทว่า นยิธ ปญฺญาเยถ มาตา ความว่า ในโลกนี้มารดาผู้บังเกิดเกล้า ก็จะไม่พึงปรากฏด้วยความเคารพว่านี้มารดาของเราดังนี้ คือไม่พึงได้ชื่อว่านี้เป็นมารดา.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มาตุจฺฉา ได้แก่ น้า.
               บทว่า มาตุลานี ได้แก่ ภรรยาของลุง (ป้า).
               บทว่า ครูนํ ได้แก่ ผู้อยู่ในฐานะควรเคารพมีลุง อา และพี่ชายใหญ่เป็นต้น.
               บทว่า สมฺเภทํ ได้แก่ ปะปนกันหรือทำลายมารยาทอันดี.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงข้ออุปมา ด้วยบทเป็นต้นว่า ยถา อเชฬกา ดังนี้.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไม่รู้ด้วยความเคารพยำเกรงว่า นี้มารดาของเรา หรือน้าของเรา ดังนี้. สัตว์ทั้งหลายย่อมปฏิบัติผิดแม้ในวัตถุที่อาศัยเกิด. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงนำการเปรียบเทียบมา จึงได้นำแพะและแกะเป็นต้นมา.
               ความย่อในข้อนี้มีดังนี้
               สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายมีแพะแกะเป็นต้น เว้นจากหิริและโอตตัปปะ ไม่สำคัญมารดาเป็นต้น ทำลายประเพณีสมสู่กันได้ทุกหนแห่งฉันใด มนุษยโลกนี้ก็ฉันนั้น ผิว่าไม่มีธรรมคุ้มครองโลก ก็จะพึงสมสู่กันได้ทุกหนทุกแห่ง เพราะธรรมคุ้มครองโลกเหล่านี้ยังคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้น จึงไม่มีการสมสู่กันด้วยประการฉะนี้.
               ในคาถาทั้งหลายมีอธิบายดังต่อไปนี้
               บทว่า เว ในบทว่า เยสํ เว หิริโอตฺตปฺปํ เป็นเพียงนิบาต ความว่า สัตว์เหล่าใดไม่มี คือ ไม่ได้เข้าถึงหิริและโอตตัปปะ ในกาลทุกเมื่อ คือตลอดกาล.
               บทว่า โวกฺกนฺตา สุกฺกมูลา เต ความว่า สัตว์เหล่านั้นก้าวล่วง คือพ้นจากกุศล เพราะทำกรรมอันตัดขาดกุศลมูล หรือเพราะไม่มีหิริและโอตตัปปะอันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลกรรม มีสุกธรรมไปปราศแล้ว ก้าวล่วงแล้ว เป็นผู้ถึงชาติและมรณะ เพราะมีสภาพเกิดตายบ่อยๆ ย่อมไม่พ้นสงสารไปได้.
               บทว่า เยสญฺจ หิริโอตฺตปฺปํ ความว่า ก็สัตว์เหล่าใดเข้าไปตั้งธรรมเหล่านี้ คือหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบ ในกาลเป็นนวกะ มัชฌิมะและเถระตลอดวันตลอดคืนในกาลทุกเมื่อ คือตลอดกาล สัตว์เหล่านั้นเกลียดกลัว ละบาป ด้วยตทังคปหานเป็นต้น
               บทว่า วิรุฬฺหพฺรหฺมจริยา ความว่า สัตว์เหล่านั้นถึงความงอกงาม ด้วยศาสนพรหมจรรย์ และมรรคพรหมจรรย์ เป็นผู้สงบเพราะสงบกิเลส หรือมีคุณคือความสงบโดยประการทั้งปวง ด้วยการบรรลุมรรคชั้นสูง เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว เพราะความสิ้นภพใหม่.

               จบอรรถกถาธรรมสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต ทุติยวรรค ธรรมสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 219อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 220อ่านอรรถกถา 25 / 221อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5199&Z=5218
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=3951
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=3951
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :