ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 20อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 25 / 22อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑

หน้าต่างที่ ๗ / ๙.

               ๗. เรื่องพระโลฬุทายีเถระ [๑๒๔]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส" เป็นต้น.

               พระเถระกล่าวธรรมไม่เหมาะแก่งาน               
               ดังได้สดับมา พระโลฬุทายีเถระนั้นไปสู่เรือนของหมู่คนผู้ทำการมงคล ก็กล่าวอวมงคล โดยนัยเป็นต้นว่า "ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ" ไปเรือนของผู้ทำการอวมงคล เมื่อควรกล่าว ติโรกุฑฑสูตรเป็นต้น, ก็กล่าวมงคลคาถา โดยนัยเป็นต้นว่า "ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ" หรือรัตนสูตรเป็นต้นว่า "ยงฺกิญฺจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรํ วา." เธอคิดว่า "เราจักสวดสูตรอื่น" แม้สวดสูตรอื่นอยู่ในที่นั้นๆ อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่า "เราสวดสูตรอื่น."

               ถึงกาลก่อนก็เลอะเหมือนกัน               
               ภิกษุทั้งหลายฟังกถาของท่านแล้ว จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า เป็นอย่างไร พระโลฬุทายี ในที่ทำการมงคลและอวมงคล ควรกล่าวสูตรอื่น ก็ไพล่ไปกล่าวสูตรอื่น?"
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายีนั่นกล่าวอย่างนั้น ในกาลบัดนี้เท่านั้น ก็หาไม่. ถึงในกาลก่อน โลฬุทายี เมื่อสูตรอื่นอันตนควรกล่าว ก็ไพล่กล่าวสูตรอื่น"
               อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสดังต่อไปนี้) :-

               บุรพกรรมของพระโลฬุทายี               
               ในอดีตกาล บุตรของพราหมณ์ ชื่ออัคคิทัต ในกรุงพาราณสี ชื่อโสมทัตกุมาร บำรุงพระราชาแล้ว. เธอได้เป็นที่โปรดปรานพอพระหฤทัยของพระราชา. ส่วนพราหมณ์อาศัยกสิกรรมเลี้ยงชีพ. พราหมณ์นั้นมีโค ๒ ตัว, ใน ๒ ตัวนั้น ตัว ๑ ได้ล้มเสียแล้ว. พราหมณ์จึงกล่าวกะบุตรชายว่า "พ่อโสมทัต พ่อจงทูลขอในหลวง นำโคมาให้พ่อตัวหนึ่ง."

               โสมทัตสอนพ่อให้ทูลขอโค               
               มหาดเล็กโสมทัตคิดว่า "ถ้าเราจักขอพระราชทานกะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไซร้, ความเป็นคนผลุนผลันจักปรากฏแก่เรา" จึงพูดว่า "คุณพ่อขอรับ คุณพ่อเองจงขอพระราชทานกะในหลวงเถิด" เมื่อบิดาพูดว่า "ลูกเอ๋ย ถ้ากระนั้น เจ้าจงพาเข้าไปเถิด" จึงคิดว่า "ท่านพราหมณ์นี้มีปัญญาแล่นช้า ย่อมไม่รู้จักแม้สักแต่คำพูดเป็นต้นว่า "จงไปข้างหน้า จงถอยมาข้างหลัง เมื่อคำอื่นอันควรพูด ก็ไพล่พูดคำอื่นเสีย เราจะให้สำเหนียกแล้วจึงพาท่านไป."
               เธอพาท่านไปป่าช้า ชื่อวีรณัตถัมภกะแล้ว จึงมัดฟ่อนหญ้าหลายฟ่อน ทำสมมติว่า "ฟ่อนหญ้านี้เป็นเจ้าชีวิต, ฟ่อนหญ้านี้เป็นวังหน้า, ฟ่อนหญ้านี้เป็นเสนาบดี" ดังนี้เป็นต้น แสดงแก่บิดาตามลำดับแล้ว จึงชี้แจงว่า "อันคุณพ่อไปราชสกุลต้องเดินหน้าอย่างนี้ ต้องถอยหลังอย่างนี้. พระเจ้าอยู่หัว ต้องกราบบังคมทูลอย่างนี้, วังหน้า ต้องกราบทูลอย่างนี้, คุณพ่อเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ต้องถวายชัยมงคลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จงทรงชนะเถิด’ ดังนี้ พึงว่าคาถานี้แล้ว ขอพระราชทานโคเถิด"
               จึงให้บิดาเรียนคาถาว่า
                         ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้สมมติเทพ โคสำหรับไถนา
                         ของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่ง
                         ล้มเสียแล้ว, พระองค์ผู้เทพขัตติยราช ขอพระองค์ผู้
                         สมมติเทพ จงพระราชทานตัวที่ ๒ เถิด.

               โสมทัตพาพ่อเข้าเฝ้าพระราชา               
               พราหมณ์นั้นท่องคาถานั้นให้คล่องแคล่วราวปีหนึ่ง จึงบอกความที่คาถานั้นคล่องแคล่วแล้วแก่บุตร เมื่อลูกนั้นกล่าวว่า "คุณพ่อขอรับ ถ้ากระนั้น คุณพ่อจงเอาเครื่องบรรณาการนิดหน่อยนั่นแหละมาเถิด ผมจะไปก่อน แล้วยืนที่ราชสำนัก" จึงพูดว่า "ดีละ ลูก" แล้วถือเครื่องบรรณาการไป เป็นผู้ถึงความอุตสาหะไปราชสกุล
               ในเวลาที่โสมทัตยืนอยู่ในราชสำนัก เป็นผู้มีพระราชปฏิสันถาร อันพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชหทัยยินดี ทรงกระทำแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสว่า "ตา แกมานานแล้วหรือ? นี้ที่นั่ง แกจงนั่งแล้วพูดไปเถิด แกต้องการด้วยสิ่งใดเล่า?"
               จึงว่าคาถานี้ว่า
                         ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ผู้สมมติเทพ โคสำหรับไถนา
                         ของข้าพระพุทธเจ้ามี ๒ ตัว, ในโค ๒ ตัวนั้น ตัวหนึ่ง
                         ล้มเสียแล้ว, พระองค์ผู้เทพขัตติยราช ขอพระองค์ผู้
                         สมมติเทพ จงทรงถือเอาตัวที่ ๒ มาเสีย.

               โสมทัตได้รับพระราชทาน               
               แม้เมื่อในหลวงตรัสว่า "ตา แกว่าอะไรนะ? จงว่าไปอีก" พราหมณ์นั้นก็คงกล่าวคาถาบทนั้นเอง, ในหลวงทรงทราบความที่คาถานั้นพราหมณ์กล่าวผิด ทรงแย้มสรวลแล้วตรัสว่า "โสมทัต โคในบ้านของเจ้าเห็นจะมากนะ"
               เมื่อโสมทัตกราบทูลว่า "ขอเดชะฝ่าละอองธุลี พระบาทผู้สมมติเทวราช โคอันใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแล้ว จักมีมาก" ดังนี้แล้ว ทรงโปรดปรานโสมทัตผู้โพธิสัตว์ จึงพระราชทานโค ๑๖ ตัวแก่พราหมณ์ สิ่งของเครื่องอลังการและบ้านที่อยู่แก่โพธิสัตว์นั้นให้เป็นพรหมไทยแล้ว จึงทรงส่งพราหมณ์ไปด้วยยศใหญ่.

               ผู้มีสุตะน้อยเหมือนโคถึก               
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ประชุมชาดก๑- ว่า
                         พระเจ้าแผ่นดิน ในครั้งกระนั้น เป็นอานนท์,
                         ตาพราหมณ์ ในครั้งกระนั้น เป็นโลฬุทายี,
                         มหาดเล็กโสมทัต ในครั้งกระนั้น เป็นเราตถาคตนี่แหละ"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย โลฬุทายีนี้ เมื่อคำอื่นอันตนควรพูด ก็ไพล่พูดคำอื่นไปเสีย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เธอก็พูดแล้ว เพราะความที่ตนเป็นคนมีธรรมได้สดับน้อย เพราะว่า คนมีสุตะน้อย ชื่อว่าเป็นเหมือนโคถึก"
               จึงตรัสพระคาถาว่า
                         ๗. อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส    พลิพทฺโทว ชีรติ
                         มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ    ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ.
                         คนมีสุตะน้อยนี้    ย่อมแก่เหมือนโคถึก,
                         เนื้อของเขาย่อมเจริญ,    แต่ปัญญาของเขาหาเจริญไม่.
____________________________
๑- อรรถกถา. ขุ. ชา เล่ม ๒๗/ข้อ ๒๗๑.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น เนื้อความแห่งบทว่า อปฺปสฺสุตายํ ว่าคนชื่อว่า อัปปัสสุตะ เพราะไม่มีหมวดสูตร ห้าสิบ ๑ หมวด หรือ ๒ หมวด ก็หรือว่า เพราะไม่มีวรรคสูตร ๑ วรรค หรือ ๒ วรรค โดยกำหนดที่สุดทั้งหมด เพราะไม่มีแม้สูตร ๑ หรือ ๒ สูตร.
               แต่ได้เรียนกรรมฐานเล็กน้อยประกอบความเพียรเนืองๆ อยู่ ก็เป็นพหุสูตได้ทีเดียว.
               สองบทว่า พลิพทฺโทว ชีรติ ความว่า
               เหมือนโคถึกเมื่อแก่ คือเมื่อเฒ่า ย่อมโตขึ้นเพื่อประโยชน์แก่โคแม่พ่อหามิได้เลย แก่โคที่เป็นพี่น้องที่เหลือก็หามิได้ โดยที่แท้ก็แก่ไม่มีประโยชน์เลย ฉันใด,
               แม้อัปปัสสุตชนนี้ไม่ทำอุปัชฌายวัตร, ไม่ทำอาจริยวัตร, และไม่ทำวัตรอื่น มีอาคันตุกวัตรเป็นต้น, ไม่หมั่นประกอบแม้สักว่าภาวนา ชื่อว่า ย่อมแก่ไม่มีประโยชน์เลย ฉันนั้นนั่นแหละ.
               บาทพระคาถาว่า มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ มีอธิบายว่า
               เนื้อของโคถึกที่เจ้าของคิดว่า "อ้ายนี่ไม่อาจจะลากแอกไถเป็นต้นไหวแล้ว" ปล่อยเสียในป่า เที่ยวเคี้ยวกินดื่มอยู่ในป่านั้นแหละ ย่อมเจริญ ฉันใด,
               เนื้อแม้ของอัปปัสสุตชนนี้ อันพระครุฏฐานิยะมีพระอุปัชฌาย์เป็นต้น ปล่อยเสียแล้ว อาศัยสงฆ์ได้ปัจจัย ๔ ทำกิจมีระบายท้องเป็นต้น เลี้ยงกายอยู่ ย่อมเจริญ คือว่าเธอเป็นผู้มีร่างกายอ้วนพีเที่ยวไป ฉันนั้น นั่นแหละ.
               สองบทว่า ปญฺญา ตสฺส มีเนื้อความว่า ส่วนปัญญาที่เป็นโลกิยะ โลกุตระของอัปปัสสุตชนนั้น แม้ประมาณองคุลีเดียวก็ไม่เจริญ แต่ตัณหาและมานะ ๙ อย่าง ย่อมเจริญเพราะอาศัยทวาร ๖ เหมือนกอหญ้าลดาวัลย์เป็นต้น เจริญอยู่ในป่าฉะนั้น,
               ในเวลาจบเทศนา มหาชนบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว ดังนี้แล.

               เรื่องพระโลฬุทายีเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 20อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 21อ่านอรรถกถา 25 / 22อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=662&Z=691
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=1836
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=1836
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :