ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 179อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 180อ่านอรรถกถา 25 / 181อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ปฐมวรรค โทสสูตร

               อรรถกถาโทสสูตร               
               สูตรที่ ๒ มีบทเริ่มต้นว่า วุตฺตํ เหตํ ฯปฯ โทสํ ดังนี้.
               ในสูตรที่ ๒ นั้นมีการพรรณนาบทตามลำดับดังนี้.
               เราจักพรรณนาบทไปตามลำดับในสูตรทั้งปวง แม้อื่นจากสูตรนี้อย่างเดียวกับสูตรนี้ เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของบุคคลผู้มากด้วยโทสะ จึงทรงแสดงพระสูตรนี้ เพื่อระงับโทสะ ฉะนั้นจึงตรัสว่า โทสํ ภิกฺขเว เอกธมฺมํ ปชหถ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละธรรมอย่างหนึ่ง คือโทสะได้ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โทสํ ได้แก่ ความอาฆาตอันเกิดจากอาฆาตวัตถุ ๑๘ อย่าง คือ ๙ อย่างท่านกล่าวไว้ในพระสูตรโดยนัยเป็นต้นว่า อนตฺถํ เม อจรีติ อาฆาโต ชายติ ความอาฆาตย่อมเกิดขึ้นว่า เขาได้ประพฤติความพินาศแก่เรา ดังนี้ และ ๙ อย่างอันตรงกันข้ามกับข้างต้นเป็นต้นว่า อตฺถํ เม นาจริ เขาไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เราดังนี้ กับสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะมีตอและหนามเป็นต้น รวมเป็น ๑๙ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ความอาฆาตนั้นท่านกล่าวว่า เป็นโทสะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุประทุษร้าย หรือลงมือประทุษร้ายเอง หรือเพียงคิดประทุษร้ายเท่านั้น โทสะนั้นพึงเห็นว่ามีลักษณะดุร้าย ดุจอสรพิษที่ถูกทุบ พึงเห็นว่ามีความซ่านไปดุจถูกวางยาพิษ พึงเห็นว่ามีลักษณะเผานิสัยของตนดุจไฟไหม้ป่า พึงเห็นว่าเป็นการบำรุงความโหดเหี้ยมดุจศัตรูได้โอกาสแล้ว พึงเห็นว่าเป็นปทัฏฐานแห่งอาฆาตวัตถุตามที่กล่าวแล้ว ดุจของบูดและน้ำมูตรที่เขาทิ้งแล้ว.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๒๐

               บทว่า ปชหถ ได้แก่ พวกเธอจงตัดขาด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอาฆาตปฏิวินัย (การปลดเปลื้องความอาฆาต) ไว้ ๕ อย่าง อย่างนี้ว่า๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอาฆาตเกิดขึ้นแก่ภิกษุควรปลดเปลื้องในอาฆาตปฏิวินัย ๕ เหล่านี้ อาฆาตปฏิวินัย ๕ เป็นไฉน
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใดพึงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในบุคคลนั้น หรือพึงปลดเปลื้องความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน พึงตั้งอาฆาตปฏิวินัยในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน จักเป็นทายาทของกรรมดังนี้.
               ท่านกล่าวอาฆาตปฏิวินัย ๕ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า๓-
               ดูก่อนอาวุโส ความอาฆาตเกิดแก่ภิกษุควรปลดเปลื้องให้หมดไปในอาฆาตปฏิวินัย ๕ เหล่านี้ อาฆาตปฏิวินัย ๕ เป็นไฉน
               ดูก่อนอาวุโส บุคคลบางคนในโลกนี้ มีกายสมาจารไม่บริสุทธิ์ มีวจีสมาจารไม่บริสุทธิ์
               ดูก่อนอาวุโส พึงปลดเปลื้องความอาฆาตในบุคคลเห็นปานนั้น
               อนึ่ง พระศาสดาทรงสอนไว้ว่า๔- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่าผู้ที่พิจารณาโดยกฏแห่งอาฆาตปฏิวินัยอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนั้น แล้วยังมีใจประทุษร้าย แม้ในโจรผู้ต่ำช้าที่เอาเลื่อย เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่จนขาดเป็นสองท่อน ก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ทำตามคำสอนของเราดังนี้.
____________________________
๒- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๖๑
๓- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๖๒
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๗๒

                                   คนลามกเท่านั้น โกรธตอบผู้ที่โกรธ
                         ผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธ ย่อมชนะสงครามที่
                         ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติสงบ
                         ระงับได้ ชื่อว่า ประพฤติประโยชน์สองฝ่าย
                         คือทั้งของตนและทั้งของคนอื่น
๕-
____________________________
๕- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๓๓

               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการเหล่านี้ก่อศัตรู ทำให้เกิดศัตรู ย่อมมาสู่ทั้งสตรีหรือบุรุษผู้มักโกรธ
               ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศัตรูในโลกนี้ย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า กระไรหนอผู้นี้จะพึงมีผิวพรรณเศร้าหมอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศัตรูย่อมไม่พอใจ เพราะเห็นศัตรูมีผิวพรรณงาม
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนมักโกรธนี้ถูกความโกรธครอบงำ ถูกความโกรธชักนำไป แม้เขาอาบน้ำเป็นอย่างดี ลูบไล้เป็นอย่างดี โกนผมและหนวด นุ่งผ้าขาว ก็ยังมีผิวพรรณเศร้าหมองอยู่นั่นเอง
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่หนึ่งที่ก่อศัตรูทำให้เกิดศัตรูย่อมมาสู่ทั้งสตรีหรือบุรุษผู้มักโกรธ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ยังมีอีก ศัตรูย่อมปรารถนาต่อศัตรูอย่างนี้ว่า กระไรหนอ ผู้นี้พึงอยู่อย่างลำบาก ไม่พึงมีประโยชน์มากมาย ไม่พึงมีสมบัติ ไม่พึงมียศ ไม่พึงมีมิตร เมื่อตายไปแล้วพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศัตรูย่อมไม่พอใจในการที่ศัตรูไปสวรรค์
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนมักโกรธนี้ ถูกความโกรธครอบงำ ถูกความโกรธนำไป ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เขาประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.๖-
                                   คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนโกรธ
                         ย่อมไม่เห็นธรรม ฯลฯ๖-
                                   พึงละความโกรธ พึงละมานะ พึง
                         ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ฯลฯ๗-
                                   ความโกรธทำให้เกิดความพินาศ
                         ความโกรธทำให้จิตกำเริบ ฯลฯ
                                   บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ ย่อมอยู่
                         เป็นสุข บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ ย่อม
                         ไม่เศร้าโศก ดูก่อนพราหมณ์ ความโกรธ
                         มีรากเป็นพิษ มียอดหวาน.๘-
                                   ท่านผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ท่านจง
                         งดโทษเสียเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มี
                         ความโกรธเป็นกำลัง.๙-
____________________________
๖- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๑
๗- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗
๘- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๙๙
๙- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๙๓๙

               การแนะนำภิกษุเหล่านั้นในข้อนั้นว่า เธอทั้งหลายจงพิจารณาถึงโทษในโทสะและอานิสงส์ในการละโทสะโดยตรงกันข้าม ดังกล่าวแล้วโดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้แล้ว จงละโทสะในส่วนเบื้องต้นด้วยตทังคปหานเป็นต้น แล้วพึงขวนขวายวิปัสสนาให้เกิด จงตัดขาด จงละโทสะด้วยตติยมรรคให้หมดสิ้นไป
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า โทสํ ภิกฺขเว เอกธมฺมํ ปชหถ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงละธรรมอย่างหนึ่ง คือโทสะเสียดังนี้.
               บทว่า ทุฏฺฐาเส ได้แก่ ประทุษร้าย เพราะมีจิตประทุษร้ายด้วยความอาฆาต.
               บทที่เหลืออันควรกล่าวในสูตรที่ ๒ นี้ มีนัยดังได้กล่าวแล้วในอรรถกถาสูตรที่ ๑ นั่นแล.

               จบอรรถกถาโทสสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปฐมวรรค โทสสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 179อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 180อ่านอรรถกถา 25 / 181อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4419&Z=4433
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=1105
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=1105
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :