ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 155อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 157อ่านอรรถกถา 25 / 158อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน จูฬวรรคที่ ๗ อุเทนสูตร

               อรรถกถาอุเทนสูตร               
               อุเทนสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า รญฺโญ อุเทนสฺส ได้แก่ พระราชาพระนามว่า อุเทน ซึ่งเขาเรียกกันว่าเจ้าวัชชีก็มี. บทว่า อุยฺยานคตสฺส ได้แก่ เสด็จไปอุทยาน เพื่อสำราญในพระอุทยาน.
               จริงอยู่ บทว่า อุเทนสฺส นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถอนาทร. ก็บทว่า อุเทนสฺส นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในสามีสัมพันธะ ไม่มุ่งถึงบทว่า อนฺเตปุรํ.
               บทว่า กาลกตานิ ได้แก่ ถูกไฟไหม้ตายแล้ว.
               ในบทว่า สามาวตีปมุขานิ นี้มีคำถามสอดเข้ามาว่า ก็พระนางสามาวดีนี้คือใคร และทำไมจึงถูกไฟไหม้?
               ข้าพเจ้าจะเฉลย ธิดาของเศรษฐีในเมืองภัททวดี อันโฆสกเศรษฐีตั้งไว้ในตำแหน่งธิดา มีหญิง ๕๐๐ เป็นบริวาร เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน เป็นพระอริยสาวิกามากไปด้วยเมตตาวิหารธรรม ทรงพระนามว่าสามาวดี.
               ในที่นี้ มีความสังเขปเพียงเท่านี้
               เมื่อว่าโดยพิสดาร พึงทราบอุปปัตติกถาของพระนางสามาวดีตั้งแต่ต้นแต่โดยนัยดังกล่าวในเรื่องพระธรรมบท.
               นางมาคัณฑิยาธิดาของมาคัณฑิยพราหมณ์สดับคาถานี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่บิดามารดาของตนว่า
                                   เพราะได้เห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
                         เรามิได้มีความพอใจแม้ในเมถุนเลย เพราะได้เห็น
                         สรีระแห่งธิดาของท่านนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยมูตและกรีส
                         (เราจักมีความพอใจในเมถุน) อย่างไรได้ เราไม่
                         ปรารถนาจะแตะต้องสรีระแห่งธิดาของท่านนั้น แม้
                         ด้วยเท้า
ดังนี้
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๖

               จึงผูกอาฆาตในพระศาสดา อยู่มาภายหลัง พระเจ้าอุเทนทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งมเหสี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงโกสัมพี และว่าหญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน เป็นอุบาสิกา จึงคิดว่า อันพระสมณโคดมผู้มายังพระนครนี้ บัดนี้ เราจะรู้กิจที่ควรทำแก่สมณโคดมนั้น ทั้งหญิงเหล่านี้ก็เป็นอุปัฏฐายิกาของเขา เราจักรู้กิจที่ควรทำแก่หญิงแม้เหล่านี้ ซึ่งมีนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ดังนี้
               แม้จะพยายามเพื่อทำความพินาศแก่พระตถาคตและแก่หญิงเหล่านั้นโดยอเนกปริยาย เมื่อไม่อาจทำ วันหนึ่ง พร้อมกับพระราชาเสด็จไปเล่นกรีฑาในอุทยาน จึงส่งสาส์นถึงอาว์ว่า ขออาว์จงขึ้นสู่ปราสาทของนางสามาวดี แล้วให้เปิดคลังผ้าและคลังน้ำมัน เอาผ้าจุ่มลงในตุ่มน้ำมันพันเสา แล้วให้หญิงทั้งหมดเหล่านั้นรวมกัน ปิดประตู ใส่ประแจด้านนอก เอาไฟชนวนจุดพระตำหนักแล้วจงลงไปเสียเถิด.
               อาว์ได้ฟังดังนั้น จึงขึ้นสู่ปราสาทเปิดคลัง เอาผ้าให้ชุ่มที่ตุ่มน้ำมันเริ่มพันเสา. ลำดับนั้นแล หญิงมีนางสามาวดีเป็นประมุข จึงเข้าไปหานายมาคัณฑิยะพลางกล่าวว่า นี่อะไรกัน อาว์. นายมาคัณฑิยะกล่าวว่า แม่ทั้งหลาย พระราชารับสั่งให้เอาผ้าชุ่มน้ำมันพันเสาเหล่านี้ เพื่อทำให้มั่นคง ชื่อว่าในพระราชตำหนัก กรรมที่ประกอบดีประกอบชั่วรู้ได้ยาก พวกเธออย่าอยู่ในสำนักของเราเลย ดังนี้แล้ว จึงให้หญิงที่มาเหล่านั้นเข้าไปในห้อง ลั่นกุญแจข้างนอก จุดไฟตั้งแต่ต้นจึงลงมา.
               พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงเหล่านั้นว่า แม่ทั้งหลาย เมื่อเราเที่ยวอยู่ในสงสารซึ่งไปตามรู้เบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ อัตภาพถูกไฟไหม้ถึงอย่างนี้ แม้กำหนดด้วยพุทธญาณก็กระทำไม่ได้ง่าย พวกเธออย่าประมาทเลย.
               หญิงเหล่านั้นบรรลุโสดาปัตติผลในสำนักของนางขุชชุตตรา อริยสาวิกาผู้รู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาผู้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา แล้วบรรลุผล ผู้บรรลุเสกขปฏิสัมภิทา แสดงธรรมตามทำนองที่พระศาสดาทรงแสดงนั่นแหละ และประกอบขวนขวายมนสิการกรรมฐานในลำดับๆ เมื่อไฟกำลังไหม้พระตำหนัก มนสิการถึงเวทนาปริคหกรรมฐาน บางพวกบรรลุผลที่ ๒ บางพวกบรรลุผลที่ ๓ แล้วถึงแก่กรรม.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี ภายหลังจากฉันภัตตาหารแล้ว จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถามถึงอภิสัมปรายภพของหญิงเหล่านั้น. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบอกการที่หญิงเหล่านั้นบรรลุอริยผลแก่ภิกษุทั้งหลาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน รญฺโญ อุเทนสฺส ฯเปฯ อนิปฺผลา กาลกตา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนิปฺผลา ความว่า หญิงที่ถึงแก่กรรม ไม่ไร้ผล คือบรรลุสามัญผลนั่นแล.
               ฝ่ายหญิงเหล่านั้นได้รับผล อันพระนางสามาวดีโอวาทด้วยคาถาว่า
                                   จงเริ่มพยายามขวนขวายในพระพุทธศาสนา จงกำจัด
                         เสนาของมัจจุมาร เหมือนกุญชรช้างประเสริฐย่ำยีเรือนไม้อ้อ
                         ฉะนั้น ผู้ใดไม่ประมาทเห็นแจ้งในพระธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจัก
                         ละชาติสงสาร จักทำที่สุดทุกข์ได้
ดังนี้
               จึงมนสิการเวทนาปริคหกรรมฐาน ได้เห็นแจ้งแล้วบรรลุผลที่ ๒ และที่ ๓.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑๗

               ฝ่ายนางขุชชุตตรา เพราะมีอายุเหลืออยู่ และเพราะไม่ได้ทำกรรมเช่นนั้นไว้ในปางก่อน จึงได้อยู่ภายนอกปราสาทนั้น. ก็อาจารย์บางพวกกล่าวว่า นางหลีกไปในระยะ ๑ โยชน์.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโส พระอริยสาวิกาถึงแก่กรรมเช่นนั้น ไม่สมควรเลยหนอ.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าความตายของหญิงเหล่านั้นไม่สมควรในอัตภาพนี้ไซร้ แต่กรรมที่เธอเคยทำไว้ก่อนนั่นแหละเป็นกรรมที่สมควรแท้ ที่พวกเธอจะได้รับ ดังนี้แล้ว
               อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงนำอดีตนิทานมาว่า
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ รูปฉันภัตตาหารเนืองนิตย์ ในพระราชนิเวศน์. หญิง ๕๐๐ คนพากันบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               ในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๘ รูปนั้น ๗ รูปไปยังป่าหิมพานต์. รูปหนึ่งนั่งเข้าสมาบัติที่พงหญ้าแห่งหนึ่ง ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ.
               ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว พระราชาทรงประสงค์จะเล่นน้ำกับพวกหญิงนั้น จึงเสด็จไป. หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำในที่นั้นตลอดทั้งวัน ถูกความหนาวบีบคั้น ประสงค์จะพิงไฟ ยืนล้อมพงหญ้านั้น ข้างบนอันดารดาษไปด้วยหญ้าแห้ง ด้วยสำคัญว่ากองหญ้า จึงจุดไฟ เมื่อหญ้าถูกไฟไหม้แล้วยุบลง เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า คิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าของพระราชา ถูกไฟไหม้ พระราชาทรงทราบเรื่องนั้น จักทำเราให้พินาศ เราจักเผาท่านให้เรียบร้อยเสียเลย ดังนี้แล้ว ทุกคนพากันขนฟืนมาจากที่โน้นที่นี้ ทำให้เป็นกองสุมไว้ข้างบนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น พากันหลีกไปด้วยเข้าใจว่า บัดนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าจักมอดไหม้ไปแล้ว.
               หญิงเหล่านั้น เมื่อก่อนไม่ได้มีเจตนา แต่บัดนี้พากันผูกพันด้วยกรรม.
               ก็ภายในสมาบัติ ถ้าหญิงเหล่านั้นพากันขนฟืนมาตั้งพันเล่มเกวียน แล้วสุมพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถจะให้ถือเอาแม้เพียงอาการไออุ่นได้. เพราะฉะนั้น ในวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นได้ลุกไปตามความสบาย. หญิงเหล่านั้น เพราะกรรมที่เขาทำไว้ จึงหมกไหม้ในนรกหลายพันปี หลายแสนปี เพราะเศษแห่งวิบากของกรรมนั้นนั่นแหละ เมื่อตำหนักถูกไฟไหม้ โดยทำนองนี้ เธอก็ถูกไฟไหม้ถึงร้อยอัตภาพ.
               นี้เป็นบุพกรรมของหญิงเหล่านั้น.
               ก็เพราะเหตุที่หญิงเหล่านั้น กระทำให้แจ้งซึ่งอริยผลในอัตภาพนี้ จึงเข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย ฉะนั้น ในหญิงเหล่านั้น หญิงผู้เป็นพระอนาคามินี เกิดในชั้นสุทธาวาส นอกนั้นบางพวก เกิดในภพดาวดึงส์ บางพวกเกิดในชั้นยามะ บางพวกเกิดในชั้นดุสิต บางพวกเกิดในชั้นนิมมานรดี บางพวกเกิดในชั้นปรนิมมิตวสวัตดี.
               ฝ่ายพระเจ้าอุเทนแลทรงสดับว่า ข่าวว่า พระตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้ จึงรีบเสด็จมาถึงที่นั้น ในเมื่อหญิงเหล่านั้นถูกไฟไหม้แล้วนั้นแล.
               ก็แล ครั้นเสด็จมา รับสั่งให้คนช่วยดับไฟไหม้ที่ตำหนัก ทรงเกิดโทมนัสอย่างรุนแรง ทรงทราบว่า พระนางมาคัณฑิยาก่อเหตุเช่นนั้นโดยอุบาย อันกรรมที่พระนางมาคัณฑิยากระทำความผิดในพระอริยสาวิกาตักเตือนอยู่ จึงให้ลงราชอาชญาแก่นางพร้อมด้วยพวกญาติ.
               พระนางมาคัณฑิยา พร้อมด้วยข้าราชบริพาร พร้อมทั้งมิตรและพวกพ้อง ได้ถึงความวอดวายด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวง ถึงเหตุที่หญิงเหล่านั้น อันมีพระนางสามาวดีเป็นประธาน ถึงความวอดวายในกองเพลิง และนิมิตที่พระนางมาคัณฑิยา พร้อมด้วยมิตรและพวกพ้อง ถึงความวอดวายด้วยพระราชอาชญานี้ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงความนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โมหสมฺพนฺธโน โลโก ภพฺพรูโปว ทิสฺสติ ความว่า สัตวโลกใดในโลกนี้ ปรากฏเป็นเหมือนผู้สมควรแท้ คือเป็นเหมือนสมบูรณ์ด้วยเหตุ สัตวโลกแม้นั้น มีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน คือเกลือกกลั้วไปด้วยโมหะ เมื่อไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์แก่ตน จึงไม่ดำเนินไปในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสมแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ อันนำความทุกข์มาให้ และพอกพูนอกุศลเป็นอันมาก.
               บาลีว่า ภวรูโปว ทิสฺสติ ดังนี้ก็มี.
               บาลีนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้
               โลกนี้มีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน คือเกลือกกลั้วด้วยโมหะ เพราะเหตุนั้นแล ตนของสัตวโลกนั้นจึงปรากฏเหมือนมีรูป คือเหมือนมีสภาวะเที่ยง คือปรากฏเหมือนไม่แก่ไม่ตาย อันเป็นเหตุให้ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ มีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า อุปธิพนฺธโน พาโล ตมสา ปริวาริโต สสฺสติ วิย ขายติ ความว่า ก็ไม่ใช่แต่สัตวโลกจะมีโมหะเป็นเครื่องผูกพันแต่อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แท้ สัตวโลกผู้บอดเขลานี้ ยังมีอุปธิเป็นเครื่องผูกพัน อันความมืด คืออวิชชาหุ้มห่อแล้ว.
               ท่านกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ว่า
               เพราะญาณอันเป็นเหตุให้บุคคลพิจารณาเห็นกาม และขันธ์อันไม่ผิดแผกว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดังนี้ไม่มี เพราะเหตุที่ปุถุชนคนบอดเขลาถูกความมืด คืออวิชชาแวดล้อมห่อหุ้มโดยรอบฉะนั้น ปุถุชนคนบอดเขลานั้นมีอุปธิเป็นเครื่องผูกพัน โดยอุปธิเหล่านี้คือ อุปธิคือกาม อุปธิคือกิเลส อุปธิคือขันธ์ ก็เพราะเหตุนั้นแล เมื่อเขาผู้มีอุปธิเห็นอยู่ ย่อมปรากฏดุจเที่ยง คือย่อมปรากฏว่า มีสภาวะเที่ยง ได้แก่มีอยู่ทุกกาล.
               บาลีว่า อสสฺสติริว ขายติ ดังนี้ก็มี.
               บาลีนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ว่า อุปธินั้นย่อมปรากฏ อธิบายว่า เข้าไปตั้งอยู่ เหมือนส่วนหนึ่งของโลก ด้วยอำนาจการยึดถือผิดว่าอัตตาย่อมมี คือย่อมเกิด ทุกกาล และว่าอัตตาอื่นไม่เที่ยง คือมีสภาวะไม่แน่นอน. จริงอยู่ อักษร ทำการต่อบท.
               บทว่า ปสฺสโต นตฺถิ กิญฺจนํ ความว่า ก็ผู้ใดกำหนดสังขารทั้งหลาย พิจารณาเห็นด้วยลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้น เมื่อบุคคลนั้นนั่นแลเห็นอยู่ รู้อยู่ แทงตลอดอยู่ ตามความเป็นจริงด้วยมรรคปัญญา อันประกอบด้วยวิปัสสนาปัญญา กิเลสเครื่องยียวนมีราคะเป็นต้น อันเป็นเหตุผูกพันสัตว์ไว้ในสงสาร ย่อมไม่มี
               อธิบายว่า ความจริง เมื่อบุคคลไม่เห็นอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ พึงเป็นผู้ถูกเครื่องผูกพัน มีอวิชชาตัณหาและทิฏฐิเป็นต้น ผูกไว้ในสงสาร.

               จบอรรถกถาอุเทนสูตรที่ ๑๐               
               จบจูฬวรรควรรณนาที่ ๗               
               -----------------------------               
               รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. ภัททิยสูตรที่ ๑
                         ๒. ภัททิยสูตรที่ ๒
                         ๓. กามสูตรที่ ๑
                         ๔. กามสูตรที่ ๒
                         ๕. ลกุณฐกภัททิยสูตร
                         ๖. ตัณหักขยสูตร
                         ๗. ปปัญจขยสูตร
                         ๘. มหากัจจานสูตร
                         ๙. อุทปานสูตร
                         ๑๐. อุเทนสูตร
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน จูฬวรรคที่ ๗ อุเทนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 155อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 157อ่านอรรถกถา 25 / 158อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3948&Z=3976
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=9156
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=9156
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :