ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 147อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 25 / 149อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน จูฬวรรคที่ ๗ ภัททิยสูตรที่ ๒

               อรรถกถาปฐมภัททิยสูตร               
               ทุติยภัททิยสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เสโขติ มญฺญมาโน ได้แก่ สำคัญว่า ท่านพระภัททิยะนี้เป็นพระเสขะ. ในคำนั้น มีวจนัตถะดังต่อไปนี้ ชื่อว่าเสขะ เพราะยังต้องศึกษา.
               ศึกษาอะไร? ศึกษาอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา.
               อีกอย่างหนึ่ง การศึกษา ชื่อว่าสิกขา การศึกษานั้นเป็นปกติของผู้นั้น เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่าผู้มีการศึกษา.
               จริงอยู่ ผู้นั้น ชื่อว่ามีการศึกษาเป็นปกติโดยส่วนเดียว เพราะมีการศึกษายังไม่จบ และเพราะน้อมใจไปในการศึกษานั้น แต่มิใช่ผู้จบการศึกษาเหมือนอย่างพระอเสขะ ผู้ระงับการขวนขวายในการศึกษานั้น ทั้งมิใช่ผู้ละทิ้งการศึกษา เหมือนชนมากมายผู้ไม่น้อมใจไปในการศึกษานั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเสขะ เพราะเกิดสิกขา ๓ หรือมีในสิกขา ๓ นั้น โดยอริยชาติ.
               บทว่า ภิยฺโยโส มตฺตาย แปลว่า ยิ่งโดยประมาณ อธิบายว่า ยิ่งเกินประมาณ.
               จริงอยู่ ท่านลกุณฏกภัททิยะนั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละบรรลุธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะ ด้วยโอวาทแรกตามวิธีดังกล่าวในสูตรแรก.
               ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีไม่ทราบการบรรลุพระอรหัตนั้นของท่าน โดยมิได้คำนึงถึง สำคัญว่ายังเป็นพระเสขะอยู่ตามเดิม เหมือนบุรุษผู้มีใจกว้างขวาง เขาขอน้อยก็ให้มากฉะนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อสิ้นอาสวะ โดยอเนกปริยายยิ่งๆ ขึ้นไปทีเดียว.
               ฝ่ายท่านลกุณฏกภัททิยะมิได้คิดว่า บัดนี้ เราทำกิจเสร็จแล้ว จะมีประโยชน์อะไรด้วยโอวาทนี้ จึงฟังโดยเคารพ เหมือนในกาลก่อนทีเดียว เพราะความเคารพในพระสัทธรรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นดังนั้น ประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎีนั่นแหละ ทรงกระทำโดยที่พระธรรมเสนาบดีรู้ธรรมเป็นที่สิ้นกิเลสของท่าน ด้วยพุทธานุภาพ จึงทรงเปล่งอุทานนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน เป็นต้น.
               คำที่จะพึงกล่าวในข้อนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในอนันตรสูตรนั้นแล.
               ก็ในคาถามีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ บทว่า อจฺเฉจฺฉิ วฏฺฏํ ความว่า ตัดกิเลสวัฏได้เด็ดขาด ก็เมื่อตัดกิเลสวัฏได้แล้ว ก็เป็นอันชื่อว่าตัดกัมมวัฏได้ด้วย.
               ตัณหา ท่านเรียกว่า อาสา ความหวัง ในคำว่า พฺยาคา นิราสํ นี้ พระนิพพาน ชื่อว่านิราสะ เพราะไม่มีความหวัง ชื่อว่า พฺยาคา เพราะถึง คือบรรลุพระนิพพาน อันปราศจากความหวังนั้นโดยพิเศษ. อธิบายว่า เพราะบรรลุอรหัตมรรคแล้ว จึงชื่อว่าบรรลุโดยเว้นจากเหตุแห่งความบรรลุอีก.
               เพราะเหตุที่ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ กิเลส ชื่อว่าอันท่านยังละไม่ได้ด้วยการละนั้น ย่อมไม่มี ฉะนั้น เมื่อจะแสดงการละตัณหาให้พิเศษแก่ท่าน จึงตรัสคำว่า ตัณหาที่บุคคลให้เหือดแห้งแล้ว ย่อมไม่ไหลไปดังนี้เป็นต้น.
               คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ แม่น้ำคือตัณหา อันบุคคลให้เหือดแห้ง โดยไม่มีส่วนเหลือ ด้วยทำมรรคญาณที่ ๔ ให้เกิดขึ้น เหมือนแม่น้ำใหญ่ เหือดแห้งไป เพราะปรากฏพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ในบัดนี้ ย่อมไม่ไหลไป คือตั้งแต่นี้ไป ย่อมไม่เป็นไป.
               ก็ตัณหาท่านเรียกว่า สริตา. อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๑-
                         โสมนัสทั้งหลาย อันซ่านไป และมีใยยางย่อมมีแก่สัตว์.
               และว่า๒-
                         ตัณหา อันชื่อว่าสริตาซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ดุจเครือเถา.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔
๒- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๑๔ อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๗๓๗

               บทว่า ฉินฺนํ วฏฺฏํ น วตฺตติ ความว่า วัฏฏะอันขาดแล้วด้วยการตัดขาดกิเลสวัฏอย่างนี้ กัมมวัฏที่ตัดขาดด้วยการให้ถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรม และความไม่มีวิบากเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นไป คือย่อมไม่เกิด.
               บทว่า เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส ความว่า ความไม่เป็นไปแห่งกัมมวัฏ เพราะกิเลสวัฏไม่มีโดยประการทั้งปวงนั้น คือความไม่เกิดขึ้นแห่งวิปากวัฏต่อไป โดยส่วนเดียวแท้ๆ เป็นที่สุด เป็นเขตกำหนด เป็นภาวะที่หมุนเวียน ของสังสารทุกข์ แม้ทั้งสิ้น.

               จบอรรถกถาทุติยภัททิยสูตรที่ ๒               
               -----------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน จูฬวรรคที่ ๗ ภัททิยสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 147อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 148อ่านอรรถกถา 25 / 149อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3788&Z=3802
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=8697
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=8697
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :