ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 143อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 25 / 145อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ คณิกาสูตร

               อรรถกถาคณิกาสูตร               
               คณิกาสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เทฺว ปูคา ได้แก่ ๒ คณะ.
               บทว่า อญฺญตริสฺสา คณิกาย ได้แก่ หญิงงามเมืองคนหนึ่ง.
               บทว่า สารตฺตา แปลว่า กำหนัดด้วยดี.
               บทว่า ปฏิพทฺธจิตฺตา แปลว่า มีจิตผูกพันด้วยกิเลส.
               ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ ในวันมหรสพวันหนึ่ง พวกนักเลงเป็นอันมาก เที่ยวกันเป็นพวกๆ แต่ละคนก็นำหญิงแพศยามาคนหนึ่งๆ เข้าสวนเล่นมหรสพ. หลังจากนั้น ในวันมหรสพ นักเลง ๒-๓ คนพาหญิงแพศยาคนนั้นแหละมาเล่นมหรสพ ครั้นวันมหรสพวันหนึ่ง พวกนักเลงแม้เหล่าอื่น ก็ประสงค์จะเล่นมหรสพเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อจะนำหญิงแพศยามา จึงนำหญิงแพศยาคนหนึ่งที่พวกนักเลงพวกก่อนเคยนำมา ฝ่ายนักเลงพวกก่อนเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า หญิงนี้อยู่ในปกครองของพวกเรา. ฝ่ายนักเลงพวกหลังก็ได้กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน. นักเลงทั้ง ๒ พวกนั้น ก่อการทะเลาะกันว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราก็ปกครองได้ พวกเราก็ปกครองได้ จึงได้ประหัตประหารกันด้วยฝ่ามือเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน ราชคเห เทฺว ปูคา ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปกฺกมนฺติ แปลว่า ประหารกัน.
               บทว่า มรณมฺปิ นิคจฺฉนฺติ ความว่า เข้าถึงความตายด้วยการประหารกันอย่างรุนแรง. ฝ่ายอีกพวกหนึ่งได้รับทุกข์ปางตาย คือมีความตายเป็นประมาณ.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยอาการทั้งปวง ซึ่งความกำหนัดในกามทั้งหลายนั้นว่า เป็นมูลแห่งความวิวาท และว่าเป็นมูลแห่งความฉิบหายทั้งปวง.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศโทษในส่วนสุด ๒ อย่าง และอานิสงส์ในมัชฌิมาปฏิปทา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยญฺจ ปตฺตํ ความว่า เบญจกามคุณมีรูปเป็นต้นที่บุคคลได้รับ คือที่บุคคลทำทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า หรือไม่ทำไว้ในเบื้องหน้าว่า โทษในกามไม่มี ได้แล้วคือเสวยอยู่ในบัดนี้.
               บทว่า ยญฺจ ปตฺตพฺพํ ความว่า กามคุณใด อันทิฏฐิคติกบุคคลอาศัยทิฏฐิว่า กามเราพึงบริโภค กามเราพึงใช้สอย กามเราพึงเสพ กามเราพึงเสพเฉพาะ บุคคลใดบริโภคกาม บุคคลนั้นชื่อว่าทำโลกให้เจริญ บุคคลใดทำโลกให้เจริญ บุคคลนั้นชื่อว่าประสบบุญเป็นอันมาก ดังนี้แล้ว พึงถึง คือพึงเสวยในอนาคต ด้วยกรรมที่ตนไม่สละทิฏฐินั้นกระทำ.
               บทว่า อุภยเมตํ รชานุกิณฺณํ ความว่า กามคุณทั้งสองนั้นอันบุคคลถึงแล้วและจะพึงถึง เกลื่อนกล่นด้วยธุลีคือราคะเป็นต้น. จริงอยู่ บุคคลเมื่อเสวยวัตถุกามที่ประจวบเข้า ย่อมเป็นอันชื่อว่าเกลื่อนกล่นด้วยธุลีคือราคะ ก็ใน ๒ อย่างนั้น เมื่อผลแห่งจิตที่เศร้าหมองมาถึงในอนาคต จึงเป็นอันชื่อว่าเกลื่อนกล่นด้วยธุลี คือโทสะ ในเมื่อโทมนัสเกิดขึ้น แม้โดยประการทั้งสอง เป็นอันชื่อว่าเกลื่อนกล่นด้วยธุลีคือโมหะ.
               เพื่อจะเฉลยคำถามว่า ก็กามทั้งสองนั้นเกลื่อนกล่นด้วยธุลีแก่ใคร? จึงตรัสว่า แก่บุคคลกระสับกระส่าย ผู้สำเหนียกตามอยู่
               อธิบายว่า แก่บุคคลผู้เร่าร้อนเพราะกิเลส ด้วยอำนาจปรารถนากาม และผู้เร่าร้อนเพราะทุกข์ ด้วยผลของกิเลสนั้น ผู้สำเหนียกกามกิเลสและผลของกิเลส ด้วยมุ่งหวังการตอบแทน แม้ในทั้ง ๒ อย่าง.
               อนึ่ง บทว่า ยญฺจ ปตฺตพฺพํ ความว่า กามคุณใดอันบุคคลถึงแล้ว ด้วยอำนาจอเจลกวัตรเป็นต้น ชื่อว่ายังตนให้เดือดร้อน.
               บทว่า ยญฺจ ปตฺตพฺพํ ความว่า กามคุณใด เป็นผลที่จะพึงถึงในอบาย เพราะเหตุแห่งการสมาทานมิจฉาทิฏฐิกรรม.
               บทว่า อุภยเมตํ รชานุกิณฺณํ ได้แก่ กามคุณทั้งสองนั้น เกลื่อนกล่นด้วยธุลีคือทุกข์.
               บทว่า อาตุรสฺส ได้แก่ ผู้เดือดร้อน เพราะทุกข์ ด้วยความลำบากทางกาย.
               บทว่า อนุสิกฺขโต ได้แก่ ผู้สำเหนียกตามมิจฉาทิฏฐิ และบุคคลผู้ยึดมั่นมิจฉาทิฏฐินั้น.
               บทว่า เย จ สิกฺขาสารา ความว่า ก็เหล่าชนที่เขาเรียกว่าบริสุทธิ์ในสงสารด้วยศีลพรตนี้ เพราะถือเอาสิกขา คือศีลพรตเป็นต้น ที่ตนยึดถือโดยเป็นสาระ. ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า ศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ การอุปัฏฐากอันเป็นสาระ ดังนี้เป็นต้น.
               ในข้อนั้น ข้อที่บุคคลงดเว้นย่อมไม่ทำ จัดเป็นศีล. การประพฤติลำบากเพราะจะต้องบริโภคตามเวลาเป็นต้น จัดเป็นวัตร. การเป็นอยู่ด้วยความเป็นผู้มีผักเป็นภักษาเป็นต้น จัดเป็นชีวิต. เมถุนวิรัติ จัดเป็นพรหมจรรย์. การที่ศีลพรตเหล่านั้นดำรงอยู่เนืองๆ จัดเป็นการอุปัฏฐาก.
               อีกอย่างหนึ่ง การปรนนิบัติ พระขันธกุมาร และพระอิศวร เป็นต้น ด้วยการประพรมตั่งของภูตเป็นต้น จัดเป็นการอุปัฏฐาก ความบริสุทธิ์ในสงสาร ย่อมมีด้วยศีลเป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วเหล่านี้ ด้วยการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ยึดถือศีลเป็นต้นเหล่านั้น โดยเป็นสาระดำรงอยู่ พึงทราบว่า ผู้มีการศึกษาเป็นสาระ มีศีล พรต ชีวิต พรหมจรรย์ และการอุปัฏฐากเป็นสาระ.
               บทว่า อยเมโก อนฺโต ความว่า ส่วนสุดนี้ คือการประกอบตนให้ลำบาก โดยการยึดถือศีลพรต เป็นการปฏิบัตินอกทางมัชฌิมาปฏิปทา และชื่อว่าเป็นส่วนสุดอันหนึ่ง เพราะอรรถว่า ต่ำทราม.
               บทว่า อยํ ทุติโย อนฺโต ความว่า การประกอบตนให้พัวพันอยู่ในกามสุขนี้ จัดเป็นการดื่มด่ำในกามทั้งหลาย จัดเป็นส่วนสุดที่สอง โดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อิจฺเจเต อุโภ อนฺตา ได้แก่ ที่สุดโต่ง ๒ อย่างเหล่านี้คือ กามสุขัลลิกานุโยค ๑ อัตตกิลมถานุโยค ๑. ก็ที่สุดทั้งสองนั้นแล ชื่อว่าที่สุดโต่ง เพราะเป็นสิ่งต่ำทรามและนอกทาง เหตุผู้ติดอยู่ในกามคุณที่เกลื่อนกล่นด้วยธุลี คือกิเลสและทุกข์ที่ตนได้รับในปัจจุบัน และที่จะพึงได้รับในอนาคต และติดอยู่ในการทำตนให้เดือดร้อน. ชื่อว่าผู้สำเหนียกตามความเร่าร้อน เพราะกิเลสและทุกข์ และเพราะผู้เร่าร้อนเพราะกิเลสและทุกข์ จะพึงดำเนินด้วยตนเอง.
               บทว่า กฏสิวฑฺฒนา ได้แก่ ความขยายตัวของตัณหาและอวิชชา คือกฏสิ เพราะอรรถว่าอันธปุถุชนพึงหวังเฉพาะ.
               บทว่า กฏสิโย ทิฏฺฐึ วฑฺเฒนฺติ ความว่า ก็ตัณหาและอวิชชา ที่ชื่อว่ากฏสิเหล่านั้น ย่อมขยายทิฏฐิ มีประการต่างๆ.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ตามเห็นความยินดีในวัตถุกาม ได้ตัณหาและอวิชชาอันเป็นเหตุทำร่วมกันของบุคคลผู้ไม่อาจจะละวัตถุกามนั้นได้ จึงให้ยึดถือซึ่งนัตถิกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ และอเหตุกทิฏฐิ โดยนัยมีอาทิว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล.
               ก็แลครั้นได้ตัณหาและอวิชชาเป็นเหตุกระทำร่วมกัน ของบุคคลผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งการทำตนให้เดือดร้อน ย่อมให้ถือศีลพรตและการถือผิด โดยมุ่งหวังความบริสุทธิ์เฉพาะตน โดยนัยมีอาทิว่า ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยศีล ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยพรต ดังนี้.
               ก็ภาวะแห่งสักกายทิฏฐิ เป็นปัจจัยแก่อันธปุถุชนเหล่านั้น ย่อมปรากฏชัดทีเดียว. พึงทราบความที่ตัณหาและอวิชชาเป็นตัวขยายทิฏฐิ เพราะเข้าไปอาศัยที่สุดโต่ง ๒ อย่างดังว่ามานี้.
               ก็อาจารย์บางพวกกล่าวว่าบทว่า กฏสิ นี้เป็นชื่อของขันธ์ ๕. อาจารย์บางพวกเหล่านั้นมีความประสงค์ว่า ความบริสุทธิ์ในสงสาร ย่อมไม่มีโดยส่วนที่สุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ก็ที่สุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ย่อมขยายอุปาทานขันธ์ โดยส่วนนั้น. แต่อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวอรรถของบทว่า กฏสิ วฑฺฒนา ว่า ขยายป่าช้า โดยชราและมรณะสืบๆ กันมา. อาจารย์เหล่านั้นกล่าวเฉพาะความมีและความไม่มีแห่งส่วนสุดโต่งทั้ง ๒ ว่าเป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ในสงสารเท่านั้น. แต่พึงกล่าวตัณหาและอวิชชาที่ชื่อว่า กฏสิ เป็นตัวขยายทิฏฐิ.
               บทว่า เอเต เต อุโภ อนฺเต อนภิญฺญาย ความว่า อันธปุถุชนเหล่านั้นเพราะไม่รู้ส่วนสุดโต่งทั้ง ๒ ตามที่กล่าวแล้วนี้ เพราะเหตุไม่รู้ คือเพราะการณ์ไม่รู้อย่างนี้ว่า ส่วนสุดโต่งเหล่านี้และเหล่านั้น อันอันธปุถุชนยึดถือแล้วอย่างนี้ ตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ มีคติอย่างนี้ มีภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้าอย่างนี้. พึงทราบอรรถแห่งบทนั้นว่า ใช้ในอรรถแห่งเหตุ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า๑- ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะของเขาจึงสิ้นไป ดังนี้.
____________________________
๑- อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๑๕๑ องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๔๖

               บทว่า โอลียนฺติ เอเก ความว่า คนพวกหนึ่งถึงความหดเข้าด้วยอำนาจการประกอบตนในความสุขในกาม.
               บทว่า อติธาวนฺติ เอเก ความว่า คนบางพวกก้าวล่วงด้วยอำนาจการประกอบตนให้ลำบาก.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ประกอบกามสุข ชื่อว่าย่อมจมลง เพราะถึงความหดเข้าจากสัมมาปฏิบัติ ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน โดยไม่ได้ทำความเพียร.
               ส่วนผู้ประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เมื่อละความเกียจคร้าน กระทำการปรารภความเพียรโดยมิใช่อุบาย ชื่อว่าย่อมแล่นไป เพราะล่วงเลยสัมมาปฏิบัติ.
               ก็บททั้งสองนั้น ชื่อว่าย่อมแล่นไป เพราะไม่เห็นโทษ ในส่วนสุด ๒ อย่างนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เพราะไม่รู้ส่วนสุดทั้งสองอย่าง บางพวกจึงจมลง บางพวกจึงแล่นไป ดังนี้. ในคำนั้นพึงทราบว่า จมลงด้วยความเพลิดเพลินในตัณหา แล่นไปด้วยความเพลิดเพลินในทิฏฐิ.
               อีกอย่างหนึ่ง บางพวกย่อมจมลงด้วยอำนาจยึดถือสัสสตทิฏฐิ บางพวกย่อมแล่นไปด้วยอำนาจยึดถืออุจเฉททิฏฐิ.
               จริงอยู่ คนบางพวกผู้ประกอบด้วยการทำตนให้เดือดร้อน ด้วยอำนาจโคศีลเป็นต้น เมื่อยึดถือสัสสตทิฏฐิว่า เราจักเป็นเทพ หรือเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีลนี้ ด้วยวัตรนี้ ด้วยตบะนี้ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน แน่นอน มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา ดำรงอยู่ติดต่อสม่ำเสมอเหมือนอย่างนั้นในเทวโลกนั้น ชื่อว่าจมลงในสงสาร.
               ส่วนบางพวกประกอบในกามสุข ยึดถืออุจเฉททิฏฐิ อันคล้อยตามสัสสตทิฏฐินั้น เหมือนนักพรตในโลกประสงค์จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วทำอินทรีย์ให้เร่าร้อน ชื่อว่าแล่นไป เพราะแสวงหาการขาดสูญแห่งวัฏฏะโดยหาอุบายมิได้.
               พึงทราบความจมลงและความแล่นไป แม้ด้วยอำนาจสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ ด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า เย จ โข เต อภิญฺญาย ความว่า ก็พระอริยบุคคลเหล่าใดแล รู้ที่ส่วนสุดโต่ง ๒ อย่างตามที่กล่าวแล้วนั้นด้วยญาณอันพิเศษ คือด้วยมรรคปัญญา อันประกอบด้วยวิปัสสนาว่า ที่สุดโต่งเหล่านี้อันอันธปุถุชนยึดถือแล้วอย่างนี้ ตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ มีคติอย่างนี้ มีอภิสัมปรายภพอย่างนี้ ปฏิบัติโดยชอบซึ่งมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยสัมมาปฏิบัตินั้น.
               บทว่า ตตฺร จ นาเหสุํ ได้แก่ ไม่ได้ตกไปในส่วนสุดทั้ง ๒ นั้น. อธิบายว่า ละส่วนสุดทั้งสองนั้น.
               บทว่า เตน จ นามญฺญึสุ ความว่า ก็เพราะละส่วนสุดสองอย่างนั้น พระอริยบุคคลไม่ได้สำคัญโดยสำคัญตัณหาทิฏฐิและมานะด้วยนัยมีอาทิว่า นี้เป็นการละส่วนสุดโต่งของเรา เราได้ละที่สุดโต่งสองอย่างแล้ว เพราะการละส่วนสุดโต่งนี้จึงจัดว่าประเสริฐ เพราะละความสำคัญทั้งปวงได้โดยชอบทีเดียว. ก็ในที่นี้ เพราะหมายถึงพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในอรหัตผล จึงประกาศเทศนานี้ด้วยอำนาจอดีตกาลว่า ไม่ได้ตกไปในส่วนสุดสองอย่างนั้น และไม่ได้สำคัญด้วยการละส่วนสุดสองอย่างนั้น. ก็เมื่อท่านประสงค์เอาขณะแห่งมรรค ก็จำต้องกล่าวถึงด้วยอำนาจปัจจุบันกาลเหมือนกัน.
               บทว่า วฏฺฏํ เตสํ นตฺถิ ปญฺญาปนาย ความว่า ชนเหล่าใดเป็นบุรุษอันสูงสุด ละความสำคัญทั้งหมดเสียได้ด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อท่านเหล่านั้นปรินิพพานโดยหาเชื้อมิได้ วัฏฏะแม้ทั้งสาม คือกัมมวัฏ วิปากวัฏและกิเลสวัฏ ย่อมไม่มีโดยบัญญัติ.
               อธิบายว่า หลังจากขันธ์ที่เป็นปัจจุบันดับไป พระอริยบุคคลเหล่านั้นก็ถึงภาวะหาบัญญัติมิได้ทีเดียว เหมือนไฟหมดเชื้อดับไปฉะนั้น.

               จบอรรถกถาคณิกาสูตรที่ ๘               
               -----------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ คณิกาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 143อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 25 / 145อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3689&Z=3719
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=8402
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=8402
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :