ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 127อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 132อ่านอรรถกถา 25 / 135อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ ปฏิสัลลานสูตร

               อรรถกถาปฏิสัลลานสูตร               
               ปฏิสัลลานสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า พหิทฺวารโกฏฺฐเก ได้แก่ ภายนอกซุ้มประตูปราสาท ไม่ใช่ภายนอกซุ้มประตูวิหาร.
               ได้ยินว่า ปราสาทนั้นเป็นเหมือนโลหปราสาทโดยรอบ แวดล้อมด้วยกำแพงอันเหมาะแก่ซุ้มประตูทั้ง ๔ ด้าน. ในร่มเงาปราสาทภายนอกซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ในบรรดาซุ้มประตูเหล่านั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่บรรจงจัดไว้ ทรงตรวจดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออก.
               บทว่า ชฏิลา ได้แก่ ผู้ทรงเพศดาบสผู้มีชฎา. บทว่า นิคฺคณฺฐา ได้แก่ ผู้ทรงรูปนิครนถ์ผู้นุ่งผ้าขาว.
               บทว่า เอกสาฏกา ได้แก่ ผู้เอาท่อนผ้าเก่าท่อนหนึ่งผูกมือ ปกปิดด้านหน้าของร่างกายด้วยชายผ้าเก่า แม้อื่นนั้นเที่ยวไป เหมือนพวกนิครนถ์ผู้มีผ้าผืนเดียว.
               บทว่า ปรูฬฺหกจฺฉนขโลมา ได้แก่ ผู้มีขนรักแร้งอกแล้ว เล็บงอกแล้ว และขนนอกนั้นก็งอกแล้ว. อธิบายว่า ขนที่รักแร้เป็นต้นยาว และเล็บยาว.
               บทว่า ขารึ วิวิธมาทาย ความว่า ใช้สาแหรกต่างๆ หาบเครื่องบริขารของบรรพชิตมีประการต่างๆ.
               บทว่า อวิทูเร อติกฺกมนฺติ ความว่า เข้าไปยังพระนครโดยทางไม่ไกลพระวิหาร.
               บทว่า ราชาหํ ภนฺเต ปเสนทิโกสโล ความว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประกาศว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นพระราชานามว่า ปเสนทิโกศล ท่านทั้งหลายจงทราบนามของข้าพเจ้า.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระราชาผู้ประทับอยู่ในสำนักของอัครบุคคลผู้เลิศในโลก จึงประคองอัญชลีแก่นักเปลือยผู้ไม่มีสิริเห็นปานนี้เล่า.
               ตอบว่า เพื่อต้องการจะทรงสงเคราะห์.
               จริงอยู่ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ถ้าเราจะไม่ทำเหตุแม้เพียงเท่านี้แก่พวกเหล่านี้ พวกเหล่านี้ก็จะคิดว่า พวกเราละบุตรและภรรยา ได้รับการกินและการนอนลำบากเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่พระราชานี้ พระราชานี้ไม่ทรงกระทำแม้เพียงความยำเกรงพวกเรา เพราะเมื่อทรงทำความยำเกรงเป็นต้นนั้น ผู้คนจะไม่เชื่อพวกเราว่าเป็นพวกสอดแนม จักเข้าใจเราว่าเป็นบรรพชิตจริง จะประโยชน์อะไรด้วยการบอกความจริงแก่พระราชานี้ จึงปกปิดสิ่งที่ตนเห็นและได้ยินมาไม่บอก แต่เมื่อทรงทำอย่างนั้น ชนเหล่านั้นจักบอกโดยไม่ปกปิด.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้เพื่อจะทรงทราบอัธยาศัยของพระศาสดา พระราชาจึงทรงกระทำอย่างนั้นแล.
               ได้ยินว่า พระราชา แม้เมื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ไม่ทรงเชื่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ สิ้นกาลเล็กน้อย. ด้วยเหตุนั้น พระราชาจึงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุทั้งปวงไซร้ เมื่อเรากระทำความยำเกรงต่อพวกเหล่านี้แล้วพูดว่า ชนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่พึงยินยอม ถ้าว่าพระองค์ทรงยินยอมคล้อยตามเรา พระองค์จะเป็นพระสัพพัญญูได้ที่ไหน.
               ท้าวเธอได้ทรงกระทำอย่างนั้น เพื่อจะทรงทราบอัธยาศัยของพระศาสดา ด้วยประการฉะนี้. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า เมื่อเราตถาคตกล่าวไปตรงๆ ว่า พวกนี้ไม่ใช่สมณะ เป็นคนสอดแนม แม้ถ้าพระราชาพึงเชื่อไซร้ ฝ่ายมหาชนเมื่อไม่ทราบความนั้นก็จะไม่พึงเชื่อ พึงกล่าวว่า พระสมณโคดมตรัสคำอะไรๆ จนคล่องพระโอฐว่า พระราชาฟังคำของพระองค์ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่มหาชนนั้น ทั้งงานลับของพระราชาจะพึงเปิดเผยขึ้น พระราชาจักตรัสว่า พวกเหล่านั้นเป็นคนสอดแนมด้วยพระองค์เอง จึงตรัสคำมีอาทิว่า ข้อนั้นรู้ได้ยากแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺตสมฺพาธสยนํ ได้แก่ ทรงนอนเบียดเสียดกับพระโอรสและพระมเหสี. ก็ในการนี้ ท่านแสดงถึงการกำหนดเอาพระมเหสี โดยยกพระโอรสขึ้นเป็นประธาน. ท่านแสดงถึงความที่จิตของชนเหล่านั้นเศร้าหมอง โดยถูกความโศกมีราคะเป็นต้นครอบงำ โดยความที่พระราชามีจิตติดข้องอยู่ในบุตรและภรรยา.
               ก็ด้วย บทว่า กามโภคินา นี้ ท่านแสดงถึงถูกราคะครอบงำ. แม้ด้วยบททั้ง ๒ แสดงถึงความที่ชนเหล่านั้นมีจิตฟุ้งซ่าน.
               บทว่า กาสิกจนฺทนํ ได้แก่ จันทน์ละเอียด. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ผ้าที่ทำในแคว้นกาสีและไม้จันทน์.
               บทว่า มาลาคนฺธวิเลปนํ ได้แก่ ทรงไว้ซึ่งระเบียบดอกไม้ เพื่อต้องการสีและกลิ่น ซึ่งของหอม เพื่อต้องการความหอม ซึ่งการลูบไล้ เพื่อต้องการย้อมผิว.
               บทว่า ชาตรูปรชตํ ได้แก่ ทองและทรัพย์ที่เหลือ.
               บทว่า สาทิยนฺเตน ได้แก่ รับไว้.
               แม้ด้วยทุกบทก็ประกาศถึงความที่ชนเหล่านั้นติดอยู่ในกามทั้งนั้น.
               บทว่า สํวาเสน แปลว่า ด้วยการอยู่ร่วม.
               บทว่า สีลํ เวทิตพฺพํ ความว่า อันผู้อยู่ร่วม คืออยู่ร่วมในที่เดียวกัน ก็พึงทราบว่า ผู้นี้เป็นผู้มีศีล หรือเป็นผู้ทุศีล.
               บทว่า ตญฺจ โข ทีเฆน อทฺธุนา น อิตฺตเรน ความว่า ก็ศีลนั่นพึงทราบโดยกาลนาน ไม่พึงทราบโดยกาลที่จะพึงมีพึงเกิด. จริงอยู่ ในวันเล็กน้อย ใครๆ อาจแสดงเป็นผู้มีอาการสำรวมและอาการสำรวมอินทรีย์.
               บทว่า มนสิกโรตา โน อมนสิกโรตา ความว่า ศีลแม้นั้นบุคคลผู้ใส่ใจ คือพิจารณาว่าเราจักกำหนดศีลของเขา อาจรู้ได้ บุคคลนอกนี้หารู้ได้ไม่.
               บทว่า ปญฺญวตา ความว่า ศีลแม้นั้นเฉพาะผู้มีปัญญา คือบัณฑิตอาจรู้ได้. เพราะคนเขลาใส่ใจอยู่ก็ไม่อาจรู้.
               บทว่า สํโวหาเรน แปลว่า ด้วยการกล่าว.
               จริงอยู่ วาณิชกรรม ชื่อว่าโวหาร ในประโยคนี้ว่า
                                   ก็บรรดามนุษย์ ผู้ใดผู้หนึ่งค้าขายเลี้ยงชีพ
                         ดูก่อนวาเสฏฐะ ท่านจงรู้เถอะว่า ผู้นั้นเป็นพ่อค้า
                         ไม่ใช่พราหมณ์.
               เจตนา ชื่อว่าโวหาร ในประโยคนี้ว่า อริยโวหาร ๔ อนริยโวหาร ๔.
               บัญญัติ ชื่อว่าโวหาร ในประโยคนี้ว่า การนับ สมัญญา บัญญัติ ชื่อว่าโวหาร.
               ถ้อยคำ ชื่อว่าโวหาร ในประโยคนี้ว่า เขาพึงกล่าวด้วยเหตุสักว่ากล่าว.
               แม้ในที่นี้ ท่านประสงค์โวหาร คือถ้อยคำนั้นนั่นเอง.
               จริงอยู่ การกล่าวต่อหน้าของคนบางคน ย่อมไม่สมกับถ้อยคำที่กล่าวลับหลัง และถ้อยคำที่กล่าวลับหลัง ไม่สมกับคำที่กล่าวต่อหน้า ถ้อยคำที่กล่าวก่อนก็เหมือนกัน ไม่สมกับคำที่กล่าวทีหลัง และถ้อยคำที่กล่าวทีหลังก็ไม่สมกับคำที่กล่าวก่อน ผู้นั้นเมื่อกล่าวอยู่นั่นแล ใครๆ อาจรู้ได้ว่า บุคคลนั้นไม่สะอาดแล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศว่า สำหรับผู้ที่มีความสะอาดเป็นปกติ บทที่กล่าวไว้ก่อนย่อมสมกับบทที่กล่าวไว้หลัง และบทที่กล่าวไว้หลังย่อมสมกับบทที่กล่าวไว้ก่อน บทที่กล่าวไว้ต่อหน้าย่อมสมกับบทที่กล่าวไว้ลับหลัง และบทที่กล่าวไว้ลับหลังย่อมสมกับบทที่กล่าวไว้ต่อหน้า เพราะฉะนั้น ผู้ที่กล่าวจึงสามารถรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นคนสะอาด จึงตรัสคำมีอาทิว่า บัณฑิตพึงทราบความสะอาดด้วยการกล่าว ดังนี้.
               บทว่า ถาโม ได้แก่ กำลังแห่งญาณ. ก็ผู้ที่ไม่มีกำลังแห่งญาณย่อมไม่มองเห็นสิ่งที่ควรถือเอา คือกิจที่ควรทำ ในเมื่ออันตรายเกิดขึ้นจึงเที่ยวไปเหมือนเข้าเรือนที่ไม่มีประตู. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร พึงทราบกำลัง ในเมื่ออันตรายเกิดขึ้นแล ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า สากจฺฉาย แปลว่า ด้วยการสนทนากัน. จริงอยู่ ถ้อยคำของผู้มีปัญญาทราม ย่อมเลื่อนลอยไปเหมือนลูกข่างในน้ำ. สำหรับผู้มีปัญญาเมื่อพูด ย่อมมีไหวพริบไม่มีที่สุด.
               จริงอยู่ ปลา เขารู้ได้ว่า ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ก็ด้วยน้ำที่กระเพื่อมนั่นเอง.
               ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสถึงคนเหล่านั้นแก่พระราชาโดยตรงทีเดียวว่า พวกเหล่านี้แล้ว จึงประกาศอุบายเป็นเหตุรู้ถึงพระอรหันต์ หรือผู้มิใช่พระอรหันต์.
               พระราชาทรงทราบดังนั้นแล้ว มีความเลื่อมใสยิ่งในพระสัพพัญญุตญาณ และเทศนาวิลาสของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงประกาศความเลื่อมใสของพระองค์ โดยนัยมีอาทิว่า น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า บัดนี้ เมื่อจะตรัสบอกคนเหล่านั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตามความเป็นจริง จึงตรัสคำมีอาทิว่า บุรุษของข้าพระองค์เหล่านี้เป็นโจร พระเจ้าข้า ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โจรา ความว่า บุคคลผู้ไม่ได้เป็นบรรพชิตเลย บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นโดยรูปของบรรพชิต เพราะเป็นผู้ปกปิดกรรมชั่วไว้.
               บทว่า โอจรกา แปลว่า เป็นคนสอดแนม.
               จริงอยู่ พวกโจร เมื่อเที่ยวไปตามยอดภูเขา ก็ชื่อว่าเป็นคนสอดแนมเหมือนกัน เพราะมีกรรมอันเลวทราม.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โอจรกา ได้แก่ จารบุรุษ.
               บทว่า โอจริตฺวา ได้แก่ ผู้เที่ยวพิจารณาสอดส่อง. อธิบายว่า รู้เรื่องนั้นๆ ในที่นั้นๆ.
               บทว่า โอยายิสฺสามิ แปลว่า จักดำเนินไป อธิบายว่า จักกระทำ.
               บทว่า รโชชลฺลํ ได้แก่ ธุลีและมลทิน.
               บทว่า ปวาเหตฺวา ได้แก่ กำจัด คือชำระให้สะอาด.
               บทว่า กปฺปิตเกสมสฺสุ ได้แก่ ใช้ช่างกัลบกตัดผมโกนหนวดตามวิธีที่กล่าวแล้วในอลังการศาสตร์.
               บทว่า กามคุเณหิ ได้แก่ ส่วนแห่งกาม หรือเครื่องผูกคือกาม.
               บทว่า สมปฺปิตา ได้แก่ ติดข้องด้วยดี.
               บทว่า สมงฺคิภูตา แปลว่า พรั่งพร้อม.
               บทว่า ปริจริสฺสนฺติ ได้แก่ ให้อินทรีย์เที่ยวไปโดยรอบ หรือจักเล่น.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบความนี้ กล่าวคือการที่ราชบุรุษเหล่านั้น เป็นผู้ลวงโลกโดยเพศบรรพชิต เพราะเหตุแห่งท้องของตน.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ได้แก่ ทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศถึงข้อห้ามความผิดและความเป็นผู้ลวงโลก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น วายเมยฺย สพฺพตฺถ ความว่า บรรพชิตไม่พึงพยายาม คือไม่พึงทำความพยายามขวนขวาย ในการทำความชั่วทั้งหมด มีความเป็นทูต และกระทำการสอดแนมเป็นต้น เหมือนราชบุรุษเหล่านี้.
               อธิบายว่า ไม่พึงทำความพยายามในกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด พึงพยายามเฉพาะในบุญ แม้มีประมาณน้อยเท่านั้น.
               บทว่า นาญฺญสฺส ปุริโส สิยา ได้แก่ ไม่พึงเป็นคนรับใช้คนอื่น โดยรูปบรรพชิต.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะจะต้องทำกรรมชั่วมีสอดแนมเป็นต้น แม้เห็นปานนี้.
               บทว่า นาญฺญํ นิสฺสาย ชีเวยฺย ได้แก่ เป็นผู้ไม่อาศัยบุคคลอื่นมีอิสรชนเป็นต้น มีความคิดอย่างนี้ว่า สุขทุกข์ของเรา เนื่องด้วยผู้นั้นดังนี้ แล้วเลี้ยงชีพ คือเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัย อย่ามีคนอื่นเป็นที่พึ่งที่อาศัยเลย.
               อีกอย่างหนึ่ง ไม่พึงอาศัยอกุศลกรรมอื่นเลี้ยงชีพ เพราะได้นามว่าผู้อื่น เหตุนำมาซึ่งความพินาศ.
               บทว่า ธมฺเมน น วณีจเร ความว่า ไม่พึงกล่าวธรรมเพื่อต้องการทรัพย์. เพราะผู้แสดงแก่ชนเหล่าอื่นด้วยเหตุแห่งทรัพย์เป็นต้น ย่อมชื่อว่านำธรรมไปทำการค้า. อย่าเที่ยวเอาธรรมไปทำการค้าอย่างนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ทำกรรมมีการสอดแนมเป็นต้น เหมือนคนของพระเจ้าโกศล ทำการสอดแนมเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์เป็นต้น ดำรงตามกิจมีการสมาทานเพศบรรพชาเป็นต้น โดยไม่ให้คนอื่นสงสัย ชื่อว่านำธรรมมาทำการค้า.
               ฝ่ายบุคคลใด แม้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ในศาสนานี้ ก็ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อปรารถนาเทพนิกายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้บุคคลนั้นก็ชื่อว่านำธรรมมาทำการค้า. อธิบายว่า ไม่พึงประพฤติ คือไม่พึงกระทำการค้าด้วยธรรมอย่างนี้

               จบอรรถกถาปฏิสัลลานสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ชัจจันธวรรคที่ ๖ ปฏิสัลลานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 127อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 132อ่านอรรถกถา 25 / 135อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=3412&Z=3479
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=7922
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=7922
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :