ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 9อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 25 / 11อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กรณียเมตตสูตรในขุททกปาฐะ

               อรรถกถาเมตตสูตร               

               ประโยชน์ของการตั้งสูตร               
               บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความของเมตตสูตร ซึ่งยกตั้งไว้ในลำดับต่อจากนิธิกัณฑสูตร.
               ในที่นี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวประโยชน์ของการตั้งเมตตสูตรนั้นแล้ว ต่อจากนั้น พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านี้ว่า เมตตสูตรนั้น ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ชำระนิทานแล้ว จึงจักทำการพรรณนาความของเมตตสูตรนั้น.
               ในเมตตสูตรนั้น เพราะเหตุที่ตรัสบุญสัมปทามีทานศีลเป็นต้นด้วยนิธิกัณฑสูตร. เมื่อบุคคลทำเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย บุญสัมปทานั้น ย่อมมีผลมาก จนถึงสามารถให้บรรลุพุทธภูมิได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงยกเมตตสูตรขึ้นตั้งในที่นี้ เพื่อแสดงว่าเมตตาเป็นอุปการะแก่บุญสัมปทานั้น หรือเพราะเหตุที่ข้าพเจ้าครั้นแสดงกรรมฐานอันสามารถละโทสะด้วยทวัตติงสาการ สำหรับชนทั้งหลายผู้นับถือพระศาสนาด้วยสรณะ แล้วตั้งอยู่ในศีลด้วยสิกขาบททั้งหลาย และสามารถละโมหะด้วยกุมารปัญหา จึงแสดงว่าความประพฤติสรณะเป็นต้นนั้นเป็นมงคล และรักษาตนเองด้วยมงคลสูตร แสดงการรักษาผู้อื่นอันเหมาะแก่มงคลนั้นด้วยรัตนสูตร แสดงการเห็นภูตบางพวกในบรรดาภูตทั้งหลายที่กล่าวไว้ในรัตนสูตร และความวิบัติของเหล่าชนที่ประมาทในบุญสมบัติดังที่กล่าวแล้ว ด้วยติโรกุฑฑสูตร และแสดงสมบัติอันเป็นปฏิปักษ์ต่อวิบัติที่กล่าวไว้ในติโรกุฑฑสูตร ด้วยนิธิกัณฑสูตร แต่ยังมิได้แสดงกรรมฐานที่สามารถละโทสะ ฉะนั้น เพื่อแสดงกรรมฐานอันสามารถละโทสะนั้น ข้าพเจ้าจึงยกเมตตสูตรนี้ขึ้นตั้งในที่นี้. เมื่อเป็นดังนั้น ขุททกปาฐะจึงย่อมจะบริบูรณ์ด้วยดี ข้อที่กล่าวมาดังนี้ เป็นประโยชน์แห่งการตั้งเมตตสูตรนั้นไว้ในที่นี้.

               การชำระนิทาน               
               บัดนี้ ข้าพเจ้ายกมาติกาหัวข้อนี้ใดไว้ว่า
                                   พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านี้ว่า เมตตสูตรนี้ผู้ใด
                         กล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด
                         ข้าพเจ้าชำระนิทานแล้วจึงจักทำการพรรณนาความ
                         แห่งเมตตสูตรนั้น ดังนี้.

               ในมาติกาหัวข้อนั้น พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านี้และการชำระนิทานโดยสังเขปอย่างนี้ก่อนว่า
               เมตตสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เดียวตรัส พระสาวกเป็นต้นมิได้กล่าว.
               ก็แต่ว่า เมื่อใด ภิกษุทั้งหลายถูกเทวดาทั้งหลายรบกวนข้างภูเขาหิมวันต์ จึงพากันมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเมตตสูตรนั้น เพื่อป้องกันและเพื่อเป็นกรรมฐานสำหรับภิกษุเหล่านั้น.
               ส่วนโดยพิศดาร พึงทราบอย่างนี้.
               สมัยหนึ่ง ใกล้ดิถีเข้าจำพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจากชาวเมืองต่างๆ จำนวนมาก รับกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประสงค์จะเข้าจำพรรษาในที่นั้นๆ จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต, กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต, กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต, กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต, กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต.
               ลำดับนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเรียนกรรมฐานในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า กำลังแสวงหาเสนาสนะที่เป็นสัปปายะและโคจรคาม เดินไปตามลำดับ ได้พบภูเขาพื้นศิลาคล้ายมณีสีคราม ประดับด้วยราวป่าสีเขียวมีร่มเงาทึบเย็น มีภูมิภาคเกลื่อนด้วยทรายเสมือนแผ่นเงินข่ายมุกดา ล้อมด้วยชลาลัยที่สะอาดเย็นดี ติดเป็นพืดเดียวกับป่าหิมวันต์ ในปัจจันตประเทศ.
               ภิกษุเหล่านั้นพักอยู่คืนหนึ่ง ณ ที่นั้น เมื่อราตรีรุ่งสว่างทำสรีรกิจแล้ว ก็พากันเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้ๆ นั่นเอง หมู่บ้านประกอบด้วยตระกูล ๑,๐๐๐ ตระกูล ซึ่งอาศัยอยู่กันหนาแน่นในหมู่บ้านนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีศรัทธาปสาทะ พวกเขาเห็นภิกษุทั้งหลายเท่านั้นก็เกิดปีติโสมนัส เพราะการเห็นบรรพชิตในปัจจันตประเทศหาได้ยาก นิมนต์ภิกษุเหล่านั้นให้ฉันแล้ว ก็วอนขอว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านอยู่ในที่นี้ตลอดไตรมาสเถิด แล้วช่วยกันสร้างกุฏิสำหรับทำความเพียร ๕๐๐ หลัง จัดแจงเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง มีเตียง ตั่ง หม้อน้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้น ณ ที่นั้น.
               วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านตำบลอื่น. ในหมู่บ้านแม้นั้น มนุษย์ทั้งหลายก็บำรุงอย่างนั้นเหมือนกัน อ้อนวอนให้อยู่จำพรรษา. ภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อไม่มีอันตราย จึงพากันเข้าไปยังราวป่านั้น เป็นผู้ปรารภความเพียรตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ตีระฆังบอกยาม เป็นผู้มากด้วยโยนิโสมนสิการอยู่จึงเข้าไปนั่งที่โคนไม้.
               รุกขเทวดาทั้งหลายถูกเดชของเหล่าภิกษุผู้มีศีลกำจัดเดชเสียแล้ว ก็ลงจากวิมานของตนๆ พาพวกลูกๆ เที่ยวระหกระเหินไป เปรียบเหมือนเมื่อพระราชา หรือราชมหาอมาตย์ ไปยังที่อยู่ของชาวบ้าน ยึดโอกาสที่ว่างในเรือนทั้งหลายของพวกชาวบ้าน พวกชาวบ้านก็ต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ก็ได้แต่มองดูอยู่ไกลๆ ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ฉันใด เทวดาทั้งหลายต้องละทิ้งวิมานของตนๆ กระเจิดกระเจิงไป ได้แต่มองดูอยู่ไกลๆ ด้วยหวังว่า เมื่อไรหนอ ท่านจึงจักไปกัน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. แต่นั้น เทวดาทั้งหลายก็ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายเข้าพรรษาแรกแล้ว จักอยู่กันตลอดไตรมาสแน่ แต่พวกเราไม่อาจจะพาพวกเด็กอยู่อย่างระหกระเหินได้นานๆ เอาเถิด พวกเราจักแสดงอารมณ์ที่น่ากลัวแก่ภิกษุทั้งหลาย. เทวดาเหล่านั้นจึงเนรมิตรูปยักษ์ที่น่ากลัว ยืนอยู่ข้างหน้าๆ เวลาภิกษุทั้งหลายทำสมณธรรมตอนกลางคืน และทำเสียงที่น่าหวาดกลัว เพราะเห็นรูปเหล่านั้น และได้ยินเสียงนั้น หัวใจของภิกษุทั้งหลายก็กวัดแกว่ง ภิกษุเหล่านั้นมีผิวเผือดและเกิดเป็นโรคผอมเหลือง. ด้วยเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่อาจทำจิตให้มีอารมณ์เดียวได้ เมื่อจิตไม่มีอารมณ์เดียว สลดใจบ่อยๆ เพราะความกลัว สติของภิกษุเหล่านั้นก็หลงเลือนไป แต่นั้น อารมณ์ที่เหม็นๆ ก็ประจวบแก่ภิกษุเหล่านั้น ซึ่งมีสติหลงลืมแล้ว, มันสมองของภิกษุเหล่านั้น ก็เหมือนถูกกลิ่นเหม็นนั้นบีบคั้น โรคปวดศีรษะก็เกิดอย่างหนัก. ภิกษุเหล่านั้นก็ไม่ยอมบอกเรื่องนั้นแก่กันและกัน.
               ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อภิกษุทุกรูปประชุมกันในเวลาบำรุงพระสังฆเถระ. พระสังฆเถระก็ถามว่า ผู้มีอายุ เมื่อพวกท่านเข้าไปในราวป่านี้ ผิวพรรณดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างเหลือเกินอยู่ ๒-๓ วัน ทั้งอินทรีย์ก็ผ่องใส แต่บัดนี้ ในที่นี้พวกท่านซูบผอม ผิวเผือด เป็นโรคผอมเหลือง ในที่นี้พวกเธอไม่มีสัปปายะหรือ.
               ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า ท่านขอรับ ตอนกลางคืนกระผมเห็นและได้ยินอารมณ์ที่น่ากลัวอย่างนี้ๆ สูดแต่กลิ่นเช่นนี้ ด้วยเหตุนั้น จิตของกระผมจึงไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ. ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปจึงพากันบอกเรื่องนั้น โดยอุบายนี้เหมือนกัน.
               พระสังฆเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติการเข้าจำพรรษาไว้ ๒ อย่าง ก็เสนาสนะนี้ไม่เป็นสัปปายะแก่พวกเรา มาเถิดผู้มีอายุ พวกเราจะพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามถึงเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นๆ
               ภิกษุเหล่านั้นรับคำพระเถระว่า ดีละขอรับ ทุกรูปก็เก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรจีวร ไม่บอกกล่าวใครๆ ในตระกูลทั้งหลาย พากันจาริกไปทางกรุงสาวัตถี ก็ถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับแล้ว ก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า ภิกษุไม่พึงเที่ยวจาริกไปภายในพรรษา เหตุไร พวกเธอจึงยังจาริกกันอยู่เล่า. ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึก ก็ไม่ทรงเห็นเสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับภิกษุเหล่านั้นทั่วชูมพูทวีป โดยที่สุด แม้แต่เพียงตั่งมี ๔ เท้า ดังนี้ จึงตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่เป็นสัปปายะอื่นสำหรับพวกเธอไม่มีดอก พวกเธออยู่ในที่นั้นนั่นแหละจักบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละอยู่กันเถิด แต่ถ้าว่า พวกเธอปรารถนาความไม่มีภัยจากเทวดาทั้งหลาย ก็จงพากันเรียนพระปริตรนี้. ด้วยว่าพระปริตรนี้จักเป็นเครื่องป้องกัน และจักเป็นกรรมฐานสำหรับพวกเธอ ดังนี้แล้วจึงตรัสพระสูตรนี้.
               แต่อาจารย์พวกอื่นอีกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระดำรัสนี้ว่า ไปเถิดภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเข้าไปอาศัยเสนาสนะนั้นนั่นแหละ อยู่กันเถิด แล้วจึงตรัสว่า อนึ่งเล่า ภิกษุผู้อยู่ป่าควรรู้จักบริหาร. บริหารอย่างไร. บริหารอย่างนี้คือ แผ่เมตตา ๒ เวลา คือทำเวลาเย็นและเช้า ทำพระปริตร ๒ เวลา เจริญอสุภ ๒ เวลา เจริญมรณัสสติ ๒ เวลา และนึกถึงมหาสังเวควัตถุ ๘ ทั้ง ๒ เวลา
               ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อบายทุกข์ ๔ ชื่อมหาสังเวควัตถุ ๘.
               อีกนัยหนึ่ง ชาติชราพยาธิมรณะ ๔ อบายทุกข์เป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ๑ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ๑ ทุกข์มีการแสวงอาหารเป็นมูล ในปัจจุบัน ๑.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงบอกการบริหารอย่างนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระสูตรนี้เพื่อเป็นเมตตา เพื่อเป็นพระปริตรและเพื่อฌานอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนาแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               พึงทราบการชี้แจงบทเหล่านี้ว่า เยน วุตฺตํ ยทา ยตฺถ ยสฺมา เจ และการชำระนิทาน ด้วยประการฉะนี้.
               มาติกาหัวข้อนั้นใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า
                         เยน วุตฺตํ ยทา ยตฺถ ยสฺมา เจเตส ทีปนา นิทานํ โสธยิตฺวา.

               มาติกาหัวข้อนั้น เป็นอันข้าพเจ้ากล่าวพิศดารแล้ว โดยอาการทั้งปวง ด้วยกถามีประมาณเพียงนี้.

               พรรณนาคาถาที่ ๑               
               บัดนี้ จะเริ่มพรรณนาความแห่งพระสูตรนั้น ที่ทำการชำระนิทานแล้วอย่างนี้ เพราะข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จึงจักทำการพรรณนาความแห่งพระสูตรนั้นดังนี้.
               ในคาถานั้น จะเริ่มพรรณนาบทแห่งคาถานี้ว่า กรณียมตฺถกุสเลน ก่อน ดังนี้.
               บทว่า กรณียํ แปลว่า พึงทำ อธิบายว่า ควรแก่การทำ. ปฏิปทา ชื่อว่าอรรถ หรือประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนอย่างใดอย่างหนึ่งประโยชน์เกื้อกูลนั้นทั้งหมด ท่านเรียกว่าอรรถะ เพราะไม่มีกิเลสดังข้าศึก ชื่อว่าอรณียะ เพราะอันบุคคลพึงเข้าถึง. อันผู้ฉลาดในประโยชน์ ชื่อว่าอัตถกุสสะ ท่านอธิบายว่า อันผู้เฉียบแหลมในประโยชน์.
               บทว่า ยํ เป็นปฐมาวิภัตติแสดงความไม่แน่นอน.
               บทว่า ตํ เป็นทุติยาวิภัตติแสดงความแน่นอน. หรือว่าคำว่า ยํ ตํ แม้ทั้งสอง เป็นปฐมาวิภัตติ.
               คำว่า สนฺตํ ปทํ เป็นทุติยาวิภัตติ. บรรดาคำทั้งสองนั้น ที่ชื่อว่าสันตะ เพราะเป็นลักษณะ ที่มีชื่อว่าปทะ เพราะอันบุคคลพึงถึง คำนี้เป็นชื่อของพระนิพพาน.
               บทว่า อภิสเมจฺจ แปลว่า บรรลุแล้ว. ผู้ใดย่อมอาจ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าสักกะ ผู้อาจ. ท่านอธิบายว่า ผู้สามารถ ผู้อาจหาญ.
               บทว่า อุชุ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความตรง. ผู้ใดตรงด้วยดี เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า สุหุชู ผู้ตรงด้วยดี.
               ความว่าง่ายมีในผู้นั้น เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า สุวโจ ผู้ว่าง่าย.
               บทว่า อสฺส แปลว่า พึงมี พึงเป็น.
               บทว่า มุทุ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความอ่อนโยน.
               ผู้ใดไม่มีอติมานะ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อนติมานี ไม่มีอติมานะ.
               ส่วนการพรรณนาความในคาถาที่ ๑ มีดังนี้.
               จะวินิจฉัยในคำว่า กรณียมตฺถกุสเลน ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ นี้ก่อน.
               กรณียะ ก็มี อกรณียะ ก็มี. ในสองอย่างนั้น โดยสังเขป สิกขา ๓ ชื่อว่ากรณียะ. ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ ดังกล่าวมาอย่างนี้เป็นต้น ชื่อว่าอกรณียะ.
               อนึ่ง อัตถโกศลก็มี อนัตถโกศลก็มี. ใน ๒ อย่างนั้น ผู้ใดบวชในพระศาสนานี้ไม่ประกอบตนไว้โดยชอบ เป็นผู้มีศีลขาด อาศัยอเนสนา การแสวงหาที่ไม่สมควร ๒๑ อย่างเลี้ยงชีวิต คือ
                         ๑ ให้ไม้ไผ่ ๒ ให้ใบไม้ ๓ ให้ดอกไม้
                         ๔ ให้ผลไม้ ๕ ให้ไม้ชำระฟัน ๖ ให้น้ำล้างหน้า
                         ๗ ให้น้ำอาบ ๘ ให้ผงทาตัว ๙ ให้ดินถูกตัว
                         ๑๐ ประจบ ๑๑ พูดจริงปนเท็จ ๑๒ เลี้ยงลูกให้เขา
                         ๑๓ รับใช้คฤหัสถ์ ๑๔ ทำตัวเป็นหมอ ๑๕ ทำตัวเป็นทูต
                         ๑๖ รับส่งข่าวคฤหัสถ์ ๑๗ ให้ข้าวของหวังผลตอบแทน ๑๘ แลกเปลี่ยน
                         ๑๙ เป็นหมอดูพื้นที่ ๒๐ เป็นหมอดูฤกษ์ ๒๑ เป็นหมอดูลักษณะ
               และประพฤติอโคจร ๖ คือ
                         ๑ หญิงแพศยา ๒ หญิงหม้าย ๓ หญิงสาวแก่
                         ๔ บัณเฑาะก์ ๕ ภิกษุณี ๖ ร้านเหล้า.
               คลุกคลีกับคฤหัสถ์ คือพระราชา อมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร. เสพคบ เข้าใกล้ตระกูลที่ไม่มีศรัทธาปสาทะ ไม่เป็นดังบ่อน้ำ ด่าและบริภาษ หวังแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เกื้อกูล ไม่ผาสุก ไม่ปลอดโยคะ แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้นี้ชื่อว่าผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์.
               อนึ่ง ผู้ใดบวชในพระศาสนานี้ ประกอบตนโดยชอบ ละอเนสนา ปรารถนาแต่จะตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล บำเพ็ญปาติโมกขสังวรศีลด้วยศรัทธาเป็นสำคัญ บำเพ็ญอินทรียสังวรศีลด้วยสติเป็นสำคัญ บำเพ็ญอาชีวปาริสุทธิศีลด้วยความเพียรเป็นสำคัญ บำเพ็ญการเสพปัจจัยด้วยปัญญาเป็นสำคัญ ผู้นี้ชื่อว่าผู้ฉลาดในประโยชน์.
               อนึ่ง ผู้ใดชำระปาติโมกขสังวรศีล โดยชำระอาบัติ ๗ กอง ชำระอินทรียสังวรศีล โดยไม่ให้อภิชฌาเป็นต้นเกิดในอารมณ์ที่กระทบในทวาร ๖ ชำระอาชีวปาริสุทธิศีล โดยเว้นอเนสนา และเสพแต่ปัจจัยที่วิญญูชนสรรเสริญ และที่พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ชำระการเสพปัจจัย โดยการพิจารณาปัจจัยตามที่กล่าว และชำระสัมปชัญญะ โดยการพิจารณาโดยเป็นสาตถกสัมปชัญญะเป็นต้น ในการเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ แม้ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ฉลาดในประโยชน์.
               อนึ่ง ผู้ใดรู้ว่า ผ้าสกปรก อาศัยน้ำเค็ม ก็ทำให้สะอาดได้ กระจกอาศัยเถ้า ก็ทำให้สะอาดได้ ทองอาศัยเบ้าหลอมก็ทำให้ผ่องแผ้วได้ ฉันใด ศีลอาศัยญาณก็ผ่องแผ้วได้ฉันนั้น แล้วชำระด้วยน้ำคือญาณ ก็ทำศีลให้บริสุทธิ์ได้ เปรียบเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาไข่ เนื้อทรายจามรีรักษาขนหาง นารีมีบุตรคนเดียวรักษาบุตรคนเดียวที่น่ารัก บุรุษมีดวงตาข้างเดียวรักษาดวงตาข้างเดียวนั้นไว้ ฉันใด ผู้ไม่ประมาทอย่างเหลือเกิน ก็รักษาศีลขันธ์ของตน ฉันนั้น เขาพิจารณาทั้งเย็นเช้า ก็ไม่พบโทษแม้ประมาณน้อย แม้ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ฉลาดในประโยชน์.
               อนึ่งเล่า ผู้ใดตั้งอยู่ในศีลที่ไม่ทำความเดือดร้อน ย่อมประคองปฏิปทาเครื่องข่มกิเลส. ครั้นประคองปฏิปทานั้นแล้ว ย่อมทำบริกรรมในกสิณ ครั้นทำบริกรรมในกสิณแล้ว ย่อมยังสมาบัติทั้งหลายให้เกิด แม้ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ฉลาดในประโยชน์.
               อนึ่งเล่า ผู้ใดออกจากสมาบัติ พิจารณาสังขารทั้งหลายย่อมบรรลุพระอรหัต ผู้นี้เป็นยอดของผู้ฉลาดในประโยชน์. ชนเหล่านี้ใดเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์อันท่านสรรเสริญแล้ว โดยเพียงตั้งอยู่ในศีล ที่ไม่ทำความเดือดร้อน หรือโดยเพียงประคองปฏิปทาเครื่องข่มกิเลส ชนเหล่านั้น ท่านประสงค์ว่า ผู้ฉลาดในประโยชน์ในอรรถนี้. และภิกษุเหล่านั้นก็เป็นอย่างนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสด้วยเทศนาเป็นบุคลาธิษฐานอย่างหนึ่งว่า กรณียมตฺถกุสเลน อันผู้ฉลาดในประโยชน์พึงทำดังนี้.
               ต่อแต่นั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นเกิดความสงสัยว่า กิจอะไรที่ต้องทำ
               พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ.
               ในคำนี้มีอธิบายดังนี้. พระพุทธะและอนุพุทธะทั้งหลายต่างสรรเสริญกิจที่ผู้ประสงค์จะบรรลุสันตบท โดยการแทงตลอดแล้วอยู่พึงทำ. ก็ในคำนี้พึงทราบว่า คำว่า ยํ ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้นบทคาถานี้นั้นแล้ว ย่อมเป็นไปโดยอธิการว่า กรณียํ คือ ตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ. แต่เพราะเหตุที่ความนี้ มีปาฐะที่ต้องเติมคำที่เหลือ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า วิหริตุกาเมน.
               อีกอย่างหนึ่ง ในคำนี้พึงทราบอธิบายอย่างนี้ว่า คำว่า สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ ย่อมเป็นไปโดยอธิการว่า กิจนั้นใด อันผู้ประสงค์จะรู้บทคือพระนิพพานว่า สันตะ สงบ ด้วยโลกิยปัญญา โดยได้ฟังกันมาเป็นต้น จะบรรลุบทคือนิพพานนั้นพึงทำ.
               อีกนัยหนึ่ง ครั้นเมื่อตรัสว่า กรณียมตฺถกุสเลน เมื่อภิกษุทั้งหลายพากันคิดว่าอะไร
               จึงตรัสว่า ยนฺตํ สนฺตํ ปทํ อภิสเมจฺจ. นัยนั้นพึงทราบอธิบายอย่างไรนี้ กิจใดอันบุคคลรู้บทอันสงบด้วยโลกิยปัญญาแล้ว พึงทำพึงประกอบ กิจนั้นก็ควรทำ ท่านอธิบายว่า กิจนั้นควรแก่การทำทั้งนั้น.
               ถามว่า กิจนั้นคืออะไร.
               ตอบว่า กิจอะไรอื่นพึงมีอยู่นอกจากอุบายบรรลุนิพพานบทนั้น. กิจนั้นข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วด้วยบทต้นอันแสดงสิกขา ๓ เพราะอรรถว่าควรแก่การทำก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น ในการพรรณนาความแห่งคำนั้น ข้าพเจ้าก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า กรณียะ ก็มี อกรณียะ ก็มี. ในสองอย่างนั้น โดยสังเขป สิกขา ๓ ชื่อว่า กรณียะ. แต่เพราะทรงแสดงไว้สังเขปเกินไป บรรดาภิกษุเหล่านั้นบางพวกก็ไม่รู้. แต่นั้น เมื่อตรัสกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภิกษุผู้อยู่ป่าควรทำให้พิสดาร เพื่อให้พวกภิกษุที่ไม่รู้ได้รู้ จึงตรัสกึ่งคาถานี้ก่อนว่า สกฺโก อุชู จ สุหุชู จ สุวโจ จสฺส มุทุ อนติมานี.
               ท่านอธิบายไว้ว่าอย่างไร.
               ท่านอธิบายว่า ภิกษุผู้อยู่ป่า ประสงค์จะบรรลุสันตบทอยู่ หรือบรรลุสันตบทนั้นด้วยโลกิยปัญญาแล้ว ปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น ไม่อาลัยในกายและชีวิต ด้วยประกอบด้วยปธานิยังคะข้อ ๒ และ ๔ พึงเป็นผู้อาจปฏิบัติเพื่อแทงตลอดสัจจะ กรณียกิจที่ควรทำไรๆ นั้นใด ไม่ว่าสูงต่ำของสพรหมจารี ในการบริกรรมกสิณสมาทานวัตรเป็นต้น และในการซ่อมแซมบาตรจีวรเป็นต้นของตน ก็พึงอาจ พึงขยัน ไม่เกียจคร้าน สามารถในกรณียกิจเหล่านั้น และในกิจเช่นนั้นอย่างอื่นก็เหมือนกัน. แม้เมื่อเป็นผู้อาจ ก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยการประกอบด้วยปธานิยังคะข้อที่ ๓. แม้เมื่อเป็นผู้ตรงก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยดี ด้วยเป็นผู้ตรงคราวเดียว หรือด้วยเป็นผู้ตรงในเวลายังหนุ่ม ด้วยไม่ถึงสันโดษแต่ทำไม่ย่อหย่อนบ่อยๆ จนตลอดชีวิต. หรือว่า ชื่อว่าตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่าตรงดี (สุหุชู) เพราะไม่มีมายา. หรือว่า ชื่อว่าตรง เพราะละความคิดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่าตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่าตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง.
               พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน ด้วยสิกขาข้อ ๒-๓ ข้างต้น และด้วยปโยคสุทธิและอาสยสุทธิ ด้วยประการฉะนี้.
               ภิกษุมิใช่พึงเป็นผู้ตรงและตรงดีอย่างเดียวดอก ที่แท้พึงเป็นผู้ว่าง่ายอีกด้วย. ก็บุคคลใดถูกท่านว่ากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำข้อนี้ ก็พูดว่า ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราจึงพูด เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ หรือเบียดเบียนผู้นั้นด้วยความนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น ผู้นั้นชื่อว่ายังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ.
               ส่วนผู้ใดถูกท่านโอวาท ก็กล่าวว่า ดีละ ท่านขอรับ ท่านพูดดี. ขึ้นชื่อว่าโทษของตนเป็นของเห็นได้ยาก ท่านเห็นกระผมเป็นอย่างนี้ โปรดอาศัยความเอ็นดูว่ากล่าวอีกเถิด กระผมไม่ได้รับโอวาทจากสำนักท่านเสียนาน และปฏิบัติตามที่ท่านสอน ผู้นั้นชื่อว่าอยู่ไม่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของผู้อื่นแล้วกระทำอย่างนี้ พึงชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่าย.
               อนึ่ง เป็นผู้ว่าง่ายอย่างใด ก็พึงเป็นผู้อ่อนโยนอย่างนั้น.
               บทว่า มุทุ ความว่า ภิกษุถูกพวกคฤหัสถ์ใช้ในการเป็นทูตไปรับส่งข่าวเป็นต้น ก็ไม่ทำความอ่อนแอในกิจนั้น เป็นผู้แข็งกร้าวเสีย พึงเป็นผู้อ่อนโยน ในวัตรปฏิบัติ และพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ทนต่อการไม่ต้องรับใช้ในกิจนั้น เหมือนทองที่ช่างตกแต่งด้วยดี.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่เป็นผู้ไม่มีหน้าสยิ้ว คือเป็นผู้มีหน้าเบิกบาน เจรจาแต่คำที่ให้เกิดสุข ต้อนรับแขก พึงเป็นเหมือนผู้ลงสู่ท่าน้ำที่ดีโดยสะดวก มิใช่แต่เป็นผู้อ่อนโยนอย่างเดียวดอก พึงเป็นผู้ไม่มีอติมานะดูหมิ่นเขาด้วย. ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยวัตถุแห่งการดูหมิ่น มีชาติและโคตรเป็นต้น พึงมีใจเสมอด้วยเด็กจัณฑาลอยู่ เหมือนท่านพระสารีบุตรเถระ ฉะนั้น.

               พรรณนาคาถาที่ ๒               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสกรณียกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งของภิกษุผู้อยู่ป่า ซึ่งประสงค์จะบรรลุสันตบทอยู่ หรือปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้นอย่างนี้แล้ว มีพระพุทธประสงค์จะตรัสยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก
               จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า สนฺตุสฺสโก จ เป็นต้น.
               ในคาถาที่ ๒ นั้น ภิกษุชื่อว่า สันโดษ เพราะสันโดษด้วยสันโดษ ๑๒ อย่าง มีประเภทที่กล่าวไว้แล้วในมงคลข้อนี้ว่า สนฺตุฏฺฐี จ กตญฺญุตา นี้.
               อีกนัยหนึ่ง ภิกษุใดย่อมยินดี เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าตุสสกะ ผู้ยินดี ภิกษุผู้ยินดีด้วยของตนเอง ผู้ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ผู้ยินดีด้วยอาการสม่ำเสมอ เหตุนั้น จึงชื่อว่าสันตุสสกะ ผู้สันโดษ. ในลักษณะ ๓ อย่างนั้น ปัจจัย ๔ ที่ท่านยกขึ้นแสดงในโรงอุปสมบทอย่างนี้ว่า ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย อาศัยโภชนะ คือคำข้าวที่หามาด้วยปลีแข้งเป็นต้น และตนก็รับไว้แล้ว ชื่อว่าของๆ ตน.
               ภิกษุไม่แสดงอาการผิดปกติในเวลารับและในเวลาบริโภค ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยปัจจัยของตนนั้น ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ที่เขาถวายโดยเคารพและไม่เคารพก็ตาม เรียกว่า ผู้ยินดีด้วยของๆ ตน.
               ของใดได้มาแล้วมีอยู่แก่ตน ของนั้นชื่อว่ามีอยู่. ภิกษุยินดีด้วยของมีอยู่นั้นนั่นแล ไม่ปรารถนาของนอกจากนั้น ละความเป็นผู้ปรารถนาเกินส่วนเสีย [มักมาก] เรียกว่า ผู้ยินดีด้วยของมีอยู่
               การละความยินดียินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่า สม่ำเสมอ. ภิกษุยินดีในอารมณ์ทั้งปวง ด้วยอาการสม่ำเสมอนั้น เรียกว่า ผู้ยินดีด้วยอาการสม่ำเสมอ.
               ชื่อว่า สุภระ เพราะเขาเลี้ยงโดยง่าย. ท่านอธิบายว่า ผู้ที่เขาเลี้ยงง่าย. ภิกษุใด เมื่อมนุษย์เอาบาตรบรรจุเต็มด้วยข้าวสาลีเนื้อและข้าวสุกเป็นต้นถวายแล้ว แสดงภาวะหน้าเสียและใจเสีย พูดว่าพวกท่านให้อะไร หมิ่นบิณฑบาตนั้นต่อหน้าเขา ให้แก่สามเณรและคฤหัสถ์เป็นต้นเสีย ภิกษุนั้นชื่อว่า ทุพภระ ผู้ที่เขาเลี้ยงยาก. มนุษย์ทั้งหลายเห็นภิกษุนั้นแล้ว ก็ละเว้นเสียแต่ไกลทีเดียว ด้วยกล่าวว่า ภิกษุเลี้ยงยาก ใครก็ไม่อาจเลี้ยงดูได้.
               ส่วนภิกษุใด ได้ของปอนหรือประณีตอย่างใดอย่างหนึ่งน้อยหรือมาก มีใจดี หน้าตาผ่องใส ยังอัตภาพให้เป็นไป ภิกษุนั้นชื่อว่า สุภระ ผู้เลี้ยงง่าย. มนุษย์ทั้งหลายเห็นภิกษุนั้นเป็นผู้สนิทสนม ก็ปฏิญาณรับเลี้ยงว่า พระคุณเจ้าของเราเลี้ยงง่าย ภิกษุเห็นปานนี้ ท่านประสงค์ว่าเป็นสุภระผู้เลี้ยงง่ายในที่นี้.
               กิจของภิกษุนั้นน้อย เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า อัปปกิจจะ ผู้มีกิจน้อย มีใช่ผู้ขวนขวายด้วยกิจมาก อย่างเช่น เพลินงาน เพลินคุย เพลินคลุกคลีเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้เว้นกิจ มีงานก่อสร้าง การบริโภคของสงฆ์ การสั่งสอนสามเณรและคนวัดเป็นต้นทั่วทั้งวิหาร. ท่านอธิบายว่า ทำการปลงผม ตัดเล็บ ระบบบาตร ซ่อมจีวรเป็นต้นของตน นอกจากกิจคือสมณธรรม.
               ความประพฤติของภิกษุนั้นเบา เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า สัลลหุกวุตติ ผู้มีความประพฤติเบา ภิกษุผู้มีบริขารมากบางรูป เวลาออกเดินทางก็ให้มหาชนยกบาตร จีวร เครื่องปูลาด น้ำมัน น้ำอ้อยงบเป็นต้นเป็นอันมากเดินศีรษะ กระเดียดสะเอวเป็นต้น อย่างใดภิกษุใด ไม่เป็นอย่างนั้น ย่อมเป็นผู้มีบริขารน้อย รักษาแต่เพียงสมณบริขารแปดมีบาตรจีวรเป็นต้นเท่านั้น เวลาเดินทาง ก็ถือเดินทางไปเหมือนนกมีแต่ปีก ภิกษุเห็นปานนั้น ท่านประสงค์ว่า ผู้มีความประพฤติเบาในที่นี้.
               อินทรีย์ทั้งหลายของภิกษุนั้นสงบ เหตุนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ผู้มีอินทรีย์สงบ. ท่านอธิบายว่า ผู้มีอินทรีย์ไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยอำนาจราคะเป็นต้นในอิฏฐารมณ์เป็นอาทิ.
               บทว่า นิปโก ได้แก่ ผู้เป็นวิญญูชน ผู้แจ่มแจ้ง มีปัญญา อธิบายว่า ผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องตามรักษาศีล ด้วยปัญญากำหนดปัจจัยสี่มีจีวรเป็นต้น และด้วยปัญญากำหนดรู้สัปปายะเจ็ดอย่างมีอาวาสสัปปายะเป็นต้น.
               ผู้ไม่คะนอง เหตุนั้น จึงชื่อว่า อัปปคัพภะ ผู้ไม่คะนอง. อธิบายว่า เว้นจากการคะนองทางกาย ๘ ฐาน จากการคะนองวาจา ๔ ฐานและจากการคะนองทางใจมากฐาน.
               การทำไม่สมควรทางกาย ในสงฆ์ คณะ บุคคล โรงฉัน เรือนไฟ ท่าอาบน้ำ ทางบิณฑบาต และการเข้าสู่ละแวกบ้าน ชื่อว่า การคะนองทางกาย ๘ ฐาน คือเป็นต้นอย่างนี้ว่า
               ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ นั่งรัดเข่า หรือเอาเท้าจับเท้าในท่ามกลางสงฆ์. ในท่ามกลางคณะ ในที่ชุมนุมบริษัท ๔ ก็เหมือนกัน ในบุคคลผู้แก่กว่าก็เหมือนกัน. ส่วนในโรงฉัน ภิกษุไม่ให้อาสนะแก่ผู้แก่กว่า ห้ามอาสนะแก่ภิกษุใหม่ในเรือนไฟก็เหมือนกัน. ก็ในเรือนไฟนั้น ภิกษุไม่ขอโอกาสภิกษุผู้แก่กว่า ทำการติดไฟเป็นต้น. ส่วนในท่าอาบน้ำ ท่านกล่าวคำนี้ใดว่า ไม่ต้องถือว่าหนุ่มแก่ พึงอาบน้ำได้ ตามลำดับของผู้มาถึง ภิกษุไม่ยึดคำนั้น มาทีหลังก็ลงน้ำ กีดกันภิกษุผู้แก่และภิกษุใหม่. ส่วนในทางบิณฑบาต ภิกษุไปข้างหน้าๆ เอาแขนกระทบแขนภิกษุผู้แก่ เพื่อประสงค์อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศและอาหารอันเลิศ. ในการเข้าไปสู่ละแวกบ้าน ก็มีเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภิกษุเข้าไปก่อนภิกษุผู้แก่ ทำการเล่นทางกายกับภิกษุหนุ่ม.
               การเปล่งวาจาไม่สมควร ในสงฆ์ คณะ บุคคลและละแวกบ้าน ชื่อว่า คะนองทางวาจา ๔ ฐาน คือเป็นต้นอย่างนี้ว่า ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ ไม่ขอโอกาสในท่ามกลางสงฆ์กล่าวธรรม. ในคณะ ในบุคคลผู้แก่กว่า ดังที่กล่าวมาก่อนแล้วก็เหมือนกัน. ณ ที่นั้น ภิกษุถูกมนุษย์ทั้งหลายถามปัญหา ไม่ขอโอกาสภิกษุผู้แก่กว่า ก็ตอบปัญหา. ส่วนในละแวกบ้าน ภิกษุกล่าวเป็นต้นอย่างนี้ว่า มีอะไร ในบ้านโน้น ข้าวต้มหรือของเคี้ยวหรือของกิน ท่านจักให้อะไรแก่เรา วันนี้เราจักเคี้ยว จักกินอะไร จักดื่มอะไร.
               แม้ไม่ถึงความละเมิดทางกายวาจา ในฐานะนั้นๆ แต่ก็มีวิตกอันไม่สมควรประการต่างๆ มีกามวิตกเป็นต้นทางใจ ชื่อว่า การคะนองทางใจ มีมากฐาน.
               บทว่า กุเลสุ อนนุคิทฺโธ ความว่า ภิกษุเข้าไปหาตระกูลเหล่านั้นใด ไม่ติดด้วยความอยากได้ปัจจัย หรือด้วยการคลุกคลีที่ไม่สมควรในตระกูลเหล่านั้น ท่านอธิบายว่า ไม่โศกเศร้าร่วมด้วย ไม่ร่าเริงร่วมด้วย ไม่สุขด้วยเมื่อตระกูลเหล่านั้นประสบสุข ไม่ทุกข์ด้วยเมื่อตระกูลเหล่านั้นประสบทุกข์ หรือเมื่อกรณียกิจทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ไม่เข้าประกอบด้วยตนเอง. ก็คำใดว่า อสฺส ที่ตรัสไว้ในคำนี้ว่า สุวโจ อสฺส แห่งคาถานี้ คำนั้นพึงประกอบเข้ากับบททุกบทอย่างนี้ว่า สนฺตุสฺสโก จ อสฺส สุภโร จ อสฺส.

               พรรณนาคาถาที่ ๓               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสบอกกรณียะ แม้ยิ่งไปกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ภิกษุผู้อยู่ป่า ซึ่งประสงค์จะบรรลุสันตบทแล้วอยู่ หรือประสงค์จะปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ มีพระพุทธประสงค์จะตรัสบอกอกรณียะ จึงตรัสกึ่งคาถาว่า
                         น จ ขุทฺทํ สมาจเร กิญฺจิ เยน วิญฺญู ปเร อุปวเทยฺยุํ.
               กึ่งคาถานั้น มีความดังนี้ ภิกษุเมื่อทำกรณียะนี้อย่างนี้ ก็ไม่พึงประพฤติกายทุจริต วจีทุจริตและมโนทุจริต ที่เรียกว่า ขุททะ คือลามก เมื่อไม่ประพฤติ มิใช่ไม่ประพฤติแต่กรรมหยาบอย่างเดียว แม้กรรมเล็กน้อยไรๆ ก็ไม่ประพฤติ ท่านอธิบายว่า ไม่ประพฤติลามกกรรมทั้งจำนวนน้อย ทั้งขนาดเล็ก.
               แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโทษที่เห็นได้เอง ในการประพฤติลามกกรรมนั้นว่า เยน วิญฺญู ปเร อุปวเทยฺยุํ ก็ในคำนี้ เพราะเหตุที่ผู้มิใช่วิญญูชนเหล่าอื่น ไม่ถือเป็นประมาณ เพราะอวิญญูชนเหล่านั้นยังทำกรรมไม่มีโทษหรือมีโทษ มีโทษน้อยหรือมีโทษมาก. ส่วนวิญญูชนทั้งหลายเท่านั้น ถือเป็นประมาณได้ เพราะว่าวิญญูชนเหล่านั้นใคร่ครวญทบทวนแล้ว ย่อมติเตียนผู้ที่ควรติเตียน สรรเสริญูผู้ที่ควรสรรเสริญ. ฉะนั้น จึงตรัสว่า วิญฺญู ปเร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสอุปจารแห่งกรรมฐานต่างโดยกรณียะและอกรณียะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ภิกษุผู้อยู่ป่า ซึ่งประสงค์จะบรรลุสันตบทแล้วอยู่หรือประสงค์ปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น และแก่พวกภิกษุผู้ประสงค์จะรับกรรมฐานอยู่แม้ทุกรูป โดยยกภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นสำคัญ ด้วยสองคาถาครึ่งนี้อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ จึงทรงเริ่มตรัสเมตตากถา โดยนัยว่า สุขิโน วา เขมิโน โหนฺตุ เป็นต้น เพื่อเป็นปริตรกำจัดภัยแต่เทวดานั้น และเพื่อเป็นกรรมฐาน โดยฌานเป็นบาทแห่งวิปัสสนาแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขิโน ได้แก่ ผู้พรั่งพร้อมด้วยสุข.
               บทว่า เขมิโน แปลว่า ผู้มีความเกษม. ท่านอธิบายว่าผู้ไม่มีภัย ไม่มีอุปัทวะ
               บทว่า สพฺเพ ได้แก่ ไม่เหลือเลย. บทว่า สตฺตา ได้แก่ สัตว์มีชีวิต.
               บทว่า สุขิตตฺตา ได้แก่ ผู้มีจิตถึงสุข. ก็ในคำนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าผู้มีสุข โดยสุขทางกาย. ชื่อว่ามีจิตถึงสุข โดยสุขทางใจ, ชื่อว่ามีความเกษม แม้โดยสุขทั้งสองนั้น หรือโดยไปปราศจากภัยและอุปัทวะทั้งปวง.
               ก็เหตุไรจึงตรัสอย่างนี้. ก็เพื่อแสดงอาการแห่งเมตตาภาวนา. ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงควรเจริญเมตตาว่า ขอสัตว์ทั้งปวง จงมีสุข ดังนี้บ้าง ว่า จงมีความเกษม ดังนี้บ้าง จงเป็นผู้มีตนถึงสุข ดังนี้บ้าง.

               พรรณนาคาถาที่ ๔               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนา โดยสังเขปตั้งแต่อุปจารจนถึงอัปปนาเป็นที่สุดอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงเมตตาภาวนานั้น แม้โดยพิศดาร จึงตรัสสองคาถาว่า เยเกจิ เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่จิตถูกสะสมอยู่ในอารมณ์มากๆ ย่อมไม่หยุดอยู่ในอารมณ์เดียว โดยเบื้องต้นเท่านั้น แต่จะแล่นติดตามประเภทอารมณ์โดยลำดับ ฉะนั้น จึงตรัสสองคาถาว่า เยเกจิ เป็นต้น เพื่อจิตที่แล่นติดตามไปแล้วหยุดอยู่ในอารมณ์ อันเป็นประเภทแห่งทุกะหมวดสองแห่งสัตว์และติกะหมวดสามแห่งสัตว์ มีตสถาวรทุกะเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่อารมณ์ใดของผู้ใดเป็นอารมณ์ที่ปรากฎชัดแล้ว จิตของผู้นั้นย่อมตั้งอยู่เป็นสุขในอารมณ์นั้น ฉะนั้น อารมณ์ใดของภิกษุรูปใดในบรรดาภิกษุเหล่านั้นปรากฏชัดแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะให้จิตของภิกษุรูปนั้นตั้งอยู่ในอารมณ์นั้น จึงตรัสสองคาถาว่า เยเกจิ เป็นต้น อันแสดงความต่างแห่งอารมณ์เป็นทุกะและติกะ มีตสถาวรทุกะเป็นต้น.
               ความจริง ในสองคาถานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทุกะ หมวดสองแห่งสัตว์ ๔ ทุกะ คือ ตสถาวรทุกะ หมวดสองแห่งสัตว์ผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง (ไม่สะดุ้ง) ทิฏฐาทิฏฐทุกะ หมวดสองแห่งสัตว์ผู้ที่ตนเห็นแล้วและผู้ที่ตนยังไม่เห็น ทูรสันติกทุกะ หมวดสองแห่งสัตว์ผู้ที่อยู่ไกลและผู้ที่อยู่ใกล้ ภูตสัมภเวสีทุกะ หมวดสองแห่งสัตว์ผู้ที่เกิดแล้วและผู้ที่แสวงหาที่เกิด.
               และทรงแสดงติกะ หมวดสามเแห่งสัตว์ ๓ ติกะ คือทีฆรัสสมัชฌิมติกะ หมวดสามแห่งสัตว์ผู้มีอัตภาพยาวต่ำและปานกลาง มหันตาณุกมัชฌิมติกะ หมวดสามแห่งสัตว์ผู้มีอัตภาพใหญ่เล็กและปานกลาง ถูลาณุกมัชฌิมติกะ หมวดสามแห่งสัตว์ผู้มีอัตภาพอ้วนผอมและปานกลาง โดยมัชฌิมบทเป็นที่เกิดประโยชน์ใน ๓ ติกะ และอณุกถูลบทเป็นที่เกิดประโยชน์ใน ๒ ติกะ ด้วยบท ๖ บท มีทีฑบทเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยเกจิ เป็นคำแสดงว่าไม่มีส่วนเหลือเลย. หมู่สัตว์ที่เกิดแล้วคือปาณะ ชื่อว่า ปาณภูตะ. อีกอย่างหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมหายใจ เหตุนั้นจึงชื่อว่า ปาณะ. ทรงถือเอาปัญจโวการสัตว์ ที่เนื่องด้วยอัสสาสปัสสาสะลมหายใจเข้าออก ด้วยบทนี้. สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิด เหตุนั้นจึงชื่อว่าภูต. ทรงถือเอาเอกโวการสัตว์และจตุโวการสัตว์ด้วยบทนี้. บทว่า อตฺถิ แปลว่า มี มีพร้อม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัตว์ทั้งปวง ที่ทรงสงเคราะห์ด้วยทุกะและติกะรวมกัน ด้วยคำว่า เยเกจิ ปาณภูตตฺถิ นี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงสงเคราะห์สัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมด แสดงด้วยทุกะนี้ว่า ตสา วา ถาวรา วา อนวเสสา.
               ในทุกะนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุ้ง เหตุนั้นจึงชื่อว่า ตสา คำนี้เป็นชื่อของสัตว์ทั้งหลายผู้มีตัณหาและมีภัย. สัตว์ทั้งหลายย่อมมั่นคง เหตุนั้นจึงชื่อว่า ถาวรา คำนี้เป็นชื่อของพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ละตัณหาและภัยได้แล้ว. ส่วนเหลือของสัตว์เหล่านั้นไม่มี เหตุนั้นจึงชื่อว่า อนวเสสา
               ท่านอธิบายว่า แม้ทุกตัวสัตว์. ก็คำใด ตรัสไว้ท้ายแห่งคาถาที่ ๒ คำนั้น พึงเชื่อมกับทุกทุกะและติกะ.
               บทว่า เยเกจิ ปาณภูตตฺถิ ความว่า สัตว์ทั้งหลายที่สะดุ้งกลัวก็ดี ที่มั่นคงก็ดี ไม่เหลือเลย สัตว์แม้เหล่านี้ทั้งหมด จงเป็นผู้มีตนถึงสุข. หมู่สัตว์ที่เกิดแล้วก็ดี แสวงหาที่เกิดก็ดี เพียงใด สัตว์ทั้งหมดแม้เหล่านี้เพียงนั้นจงเป็นผู้มีตนถึงสุขเถิด ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ บรรดาบททั้ง ๖ มี ทีฆา วา เป็นต้น ที่แสดงติกะ ๓ หมวด มีทีฆรัสสมัชฌิมติกะเป็นต้น.
               บทว่า ทีฆา ได้แก่ สัตว์ที่มีอัตภาพยาว มีนาค, ปลา, เหี้ยเป็นต้น. จริงอยู่ อัตภาพของนาคทั้งหลายในมหาสมุทร แม้มีขนาดหลายร้อยวา. อัตภาพของปลาและเหี้ยเป็นต้น ก็มีขนาดหลายโยชน์.
               บทว่า มหนฺตา ได้แก่ สัตว์มีอัตภาพใหญ่ ในน้ำก็มีปลาและเต่า บนบกก็มีพระยาช้างเป็นต้น ในจำพวกอมนุษย์ก็มีทานพเป็นต้น และตรัสว่า ราหูเป็นยอดของสัตว์ที่มีอัตภาพทั้งหลาย. จริงอยู่ อัตภาพของราหูนั้น สูง ๔,๘๐๐ โยชน์ แขน ๑,๒๐๐ โยชน์ ระหว่างคิ้ว ๕๐ โยชน์ ระหว่างนิ้วก็เหมือนกัน ฝ่ามือ ๒๐๐ โยชน์แล.
               บทว่า มชฺฌิมา ได้แก่ อัตภาพของม้าโคกระบือสุกร เป็นต้น. บทว่า รสฺสกา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายมีขนาดต่ำ ตรงกลางยาว ตรงกลางอ้วน มีคนแคระเป็นต้นในชาตินั้นๆ.
               บทว่า อณุกา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่อัตภาพละเอียด หรือเล็กเป็นต้น ที่บังเกิดในน้ำเป็นต้น ไม่เป็นอารมณ์ของมังสจักษุ เป็นวิสัยของทิพยจักษุ. อนึ่ง สัตว์เหล่าใดมีขนาดต่ำ ตรงกลางใหญ่ และตรงกลางอ้วนในชาตินั้นๆ สัตว์เหล่านั้นพึงทราบว่า เล็ก.
               บทว่า ถูลา ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายที่มีอัตภาพกลม มีปลา เต่า หอยกาบ หอยโข่งเป็นต้น.

               พรรณนาคาถาที่ ๕               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงสัตว์ทั้งหลายไม่เหลือด้วยติกะ ๓ ติกะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ ทรงสงเคราะห์แสดงด้วยทุกะ ๓ ทุกะว่า ทิฏฺฐา วา เย จ อทิฏฺฐา เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐา ได้แก่ สัตว์เหล่าใดเคยเห็นโดยมาปรากฏแก่ตาของตน.
               บทว่า อทิฏฺฐา ได้แก่ สัตว์เหล่าใดตั้งอยู่ในสมุทรอื่นภูเขาอื่นและจักรวาลอื่นเป็นต้น. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัตว์ที่อยู่ไกลและไม่ไกล อัตภาพของตนด้วยทุกะนี้ว่า เย จ ทูเร วสนฺติ อวิทูเร. สัตว์เหล่านั้นพึงทราบโดยเป็นสัตว์ไม่มีเท้าและสัตว์ ๒ เท้า. ก็เหล่าสัตว์ที่อยู่ในกายของตน เรียกว่า อวิทูเร อยู่ไม่ไกล เหล่าสัตว์ที่อยู่นอกกาย เรียกว่า ทูเร อยู่ไกล. อนึ่ง เหล่าสัตว์ที่อยู่ภายในอุปจาร เรียกว่า อยู่ไม่ไกล. ที่อยู่ภายนอกอุปจาร เรียกว่า อยู่ไกล. ที่อยู่ในพระวิหาร ตามชนบท ทวีป จักรวาล เรียกว่า อยู่ไม่ไกล ที่อยู่ในจักรวาลอื่น เรียกว่า อยู่ไกล.
               บทว่า ภูตา ได้แก่ เกิดแล้ว บังเกิดแล้ว. พระขีณาสพเหล่าใด เป็นแล้วนั่นแล ไม่นับว่าจักเป็นอีก คำนั้นเป็นชื่อของพระขีณาสพเหล่านั้น. สัตว์เหล่าใดแสวงหาที่เกิด เหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า สัมภเวสี. คำนี้เป็นชื่อของพระเสขะและปุถุชนทั้งหลาย ที่กำลังแสวงหาที่เกิด แม้ในอนาคต เพราะภวสังโยชน์ยังไม่สิ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บรรดากำเนิด ๔ เหล่า สัตว์ที่เป็นอัณฑะเกิดในไข่และชลาพุชะเกิดในครรภ์ ยังไม่ทำลายเปลือกฟองไข่และรกออกมาตราบใด ตราบนั้น ก็ชื่อว่า สัมภเวสี ที่ทำลายเปลือกฟองไข่ และรกแล้วออกมาข้างนอก ชื่อว่า ภูต.
               เหล่าสัตว์ที่เป็นสังเสทชะ และโอปปาติกะ ชื่อว่า สัมภเวสี ในขณะปฐมจิต ตั้งแต่ขณะทุติยจิตไปชื่อว่า ภูตะ. หรือสัตว์ทั้งหลายเกิดโดยอิริยาบถใด ยังไม่เปลี่ยนอิริยาบถเป็นอื่นไปจากอิริยาบถนั้นตราบใด ตราบนั้น ยังชื่อว่า สัมภเวสี นอกจากนั้นไปชื่อว่า ภูตะ.

               พรรณนาคาถาที่ ๖               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาในสัตว์ทั้งหลาย โดยปรารถนาแต่จะให้เข้าถึงประโยชน์สุขของภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ ด้วย ๒ คาถาครึ่งว่า สุขิโน วา เป็นต้นอย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เมื่อทรงแสดงเมตตาภาวนานั้น แม้โดยปรารถนาให้ออกไปจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และทุกข์
               จึงตรัสว่า น ปโร ปรํ นิกุพฺเพถ. นี้เป็นปาฐะเก่า แต่ปัจจุบันสวดกันว่า ปรํ หิ ดังนี้ก็มี ปาฐะนี้ไม่งาม.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโร ได้แก่ ชนอื่น.
               บทว่า น กุพฺเพถ ได้แก่ ไม่หลอกลวง.
               บทว่า นาติมญฺเญถ ได้แก่ ไม่สำคัญเกินไป [ไม่ดูหมิ่น].
               บทว่า กตฺถจิ ได้แก่ ในโอกาสไหนๆ คือในหมู่บ้านหรือในเขตหมู่บ้าน ท่ามกลางญาติหรือท่ามกลางบุคคล ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า นํ แปลว่า นั่น.
               บทว่า กิญฺจิ ได้แก่ ผู้ใดผู้หนึ่ง คือกษัตริย์หรือพราหมณ์ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ที่ถึงสุขหรือที่ถึงทุกข์ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า พฺยาโรสนา ปฏิฆสญฺญา ได้แก่ เพราะความกริ้วโกรธด้วยกายวิการและวจีวิการ และเพราะคุมแค้นด้วยมโนวิการ. เพราะเมื่อควรจะตรัสว่า พฺยาโรสนาย ปฏิฆสญฺญาย แต่ก็ตรัสเสียว่า พฺยาโรสนา ปฏีฆสญฺญา เหมือนเมื่อควรจะตรัสว่า สมฺมทญฺญาย วิมุตฺตา แต่ก็ตรัสเสียว่า สมฺมทญฺญา วิมุตฺตา และเหมือนเมื่อควรจะตรัสว่า อนุปุพฺพสิกขาย อนุปุพฺพกิริยาย อนุปุพฺพปฏิปทา อญฺญาราธนา ฉะนั้น.
               บทว่า นาญฺญมญฺญสฺส ทุกฺขมิจฺเฉยฺย ความว่า ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน. ท่านอธิบายไว้อย่างไร. ท่านอธิบายไว้ว่ามิใช่เจริญเมตตา โดยมนสิการเป็นต้นว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีสุข มีความเกษมเถิดดังนี้อย่างเดียว ที่แท้พึงมนสิการอย่างนี้ว่า โอหนอ บุคคลอื่นไม่ว่าใครๆ ไม่พึงข่มเหงบุคคลอื่นไม่ว่าใครๆ ด้วยกิริยาคดโกงมีล่อลวงเป็นต้น ไม่พึงดูหมิ่นบุคคลอื่นไม่ว่าใครๆ ไม่ว่าในประเทศไหนๆ ด้วยวัตถุแห่งมานะ ๙ อย่าง มีชาติเป็นต้น และไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ หรือเพราะความคุมแค้น ดังนี้อีกด้วย.

               พรรณนาคาถาที่ ๗               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนา โดยอรรถด้วยปรารถนาให้เขาออกไปจากสิ่งไม่เป็นประโยชน์และทุกข์อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้ เมื่อทรงแสดงเมตตาภาวนานั้นนั่นแลด้วยอุปมา จึงตรัสว่า มาตา ยถา นิยํ ปุตฺตํ เป็นต้น.
               คาถานั้นมีความว่า มารดาพึงอนุรักษ์บุตรในตน คือบุตรที่เกิดในตน เกิดแต่อก พึงทะนุถนอมบุตรนั้นซึ่งมีคนเดียวเท่านั้นด้วยชีวิต คือยอมสละแม้ชีวิตของตนถนอมบุตรนั้น เพื่อห้ามกันทุกข์มาถึงบุตรนั้น ฉันใด ภิกษุพึงทำมนัสที่ประกอบด้วยเมตตานี้ให้เจริญ คือให้เกิดบ่อยๆ ให้ขยายไปและยังเมตตาภาวนานั้นให้เจริญไม่มีประมาณ โดยถือสัตว์ไม่มีประมาณเป็นอารมณ์ หรือโดยแผ่ไปไม่เหลือเลย แม้แต่ในสัตว์ผู้หนึ่ง.

               พรรณนาคาถาที่ ๘               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งทรงแสดงเมตตาภาวนาโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้
               บัดนี้ เมื่อทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนานั้นนั่นแล จึงตรัสว่า เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ เป็นต้น.
               ในคาถานั้น ชื่อว่า มิตร เพราะรักและรักษา. อธิบายว่า ห่วงใย เพราะมีอัธยาศัยมุ่งประโยชน์เกื้อกูล และรักษาให้พ้นจากการมาถึงของสิ่งไม่เป็นประโยชน์. ความเป็นแห่งมิตร ชื่อว่าเมตตา.
               บทว่า สพฺพโลกสฺมึ ได้แก่ ในสัตว์โลกไม่เหลือเลย.
               มีในใจ เหตุนั้นจึงชื่อว่า มานสะ. ก็คำว่า มานสํ นั้น ท่านกล่าวอย่างนี้ก็เพราะประกอบกับจิต.
               บทว่า ภาวเย แปลว่า ให้เจริญ. ประมาณของมานสะนั้นไม่มี เหตุนั้นจึงชื่อว่า อปริมาณ. ท่านกล่าวอย่างนี้ ก็เพราะเมตตามีสัตว์ไม่มีประมาณเป็นอารมณ์.
               บทว่า อุทฺธํ แปลว่า เบื้องบน. ทรงถือเอาอรูปภพด้วยบทนั้น.
               บทว่า อโธ แปลว่า เบื้องล่าง. ทรงถือเอากามภพด้วยบทนั้น.
               บทว่า ติริยํ ได้แก่เบื้องขวาง. ทรงถือเอารูปภพด้วยบทนั้น.
               บทว่า อสมฺพาธํ ได้แก่ เว้นจากความคับแคบ. ท่านอธิบายว่า มีขอบเขตอันแตกแล้ว [ไม่มีขอบเขต]. ข้าศึกท่านเรียกชื่อว่า ขอบเขต. อธิบายว่า เป็นไปในที่ไม่มีขอบเขตนั้น.
               บทว่า อเวรํ ได้แก่ เว้นจากเวร อธิบายว่า เว้นจากความปรากฏแห่งเจตนาก่อเวรแม้ในระหว่างๆ.
               บทว่า อสปตฺตํ ได้แก่ ปราศจากข้าศึก.
               จริงอยู่ บุคคลผู้อยู่ด้วยเมตตา ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของพวกอมนุษย์. ข้าศึกไรๆ ของเขาย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น มานัสสิ่งที่มีในใจของเขานั้น ท่านจึงเรียกว่า อสปัตตะ เพราะปราศจากข้าศึก. ก็คำที่ว่า ข้าศึก ศัตรู เป็นคำโดยปริยาย. การพรรณนาความตามบทมีเท่านี้ ส่วนการแสดงความที่ประสงค์ในที่นี้ มีดังนี้.
               พึงเจริญขยายเมตตาที่ตรัสไว้ว่า เอวมฺปิ สพฺพภูเตสุ มานสํ ภาวเย อปริมาณํ ดังนี้ แผ่เมตตาที่มีอยู่ในใจไม่มีประมาณ ให้บรรลุถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในโลกทั้งปวง.
               ทำอย่างไร. คือแผ่เมตตานั้นไปไม่เหลือ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างเบื้องขวาง คือเบื้องบนก็ตั้งแต่ภวัคคพรหมลงมา เบื้องล่างก็ตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นไป เบื้องขวางก็ตั้งแต่ทิศที่เหลือ หรือเบื้องบนก็ได้แก่อรูปธาตุ เบื้องล่างก็ได้แก่กามธาตุ เบื้องขวางก็ได้แก่รูปธาตุ
               ก็แลเมื่อเจริญเมตตาอยู่อย่างนี้ กระทำไม่ให้มีความคับแคบเวรและข้าศึก พึงเจริญเมตตานั้นโดยประการที่ไม่มีความคับแคบ ไม่มีเวรและไม่มีข้าศึก. หรือว่า เมตตานั้นถึงภาวนาสัมปทา เป็นคุณชื่อว่าไม่คับแคบ เพราะเป็นโอกาสโลกทั้งปวง (คือ ๓๑ ภูมิ) เป็นคุณชื่อว่าไม่มีเวร เพราะกำจัดความอาฆาตของตนในสัตว์อื่นเสีย เป็นคุณชื่อว่าไม่มีข้าศึก เพราะกำจัดความอาฆาตของสัตว์อื่นในตนเสีย ก็พึงเจริญขยายเมตตาอันมีในใจนั้น ที่ไม่คับแคบ ที่ไม่มีเวร ที่ไม่มีข้าศึก ไม่มีประมาณไปในโลกทั้งปวง โดยกำหนดทิศทั้งสาม คือ เบื้องบน เบื้องล่างและเบื้องขวาง.

               พรรณนาคาถาที่ ๙               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนาอย่างนี้แล้ว เมื่อทรงแสดงความไม่มีอิริยาบถแน่นอนของผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งการเจริญเมตตานั้นอยู่
               จึงตรัสว่า ติฏฺฐํ จรํ ฯเปฯ อธิฏฺเฐยฺย ดังนี้.
               คาถานั้นมีความว่า ผู้เจริญเมตตาเมื่อเจริญเมตตามีในใจนี้อย่างนี้ ไม่ต้องจำกัดอิริยาบถ เหมือนอย่างในบาลีว่า นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง เมื่อทำการบรรเทาความปวดเมื่อยด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งตามสบาย จะยืนหรือเดิน นั่งหรือนอน ยังเป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนเพียงใด ก็พึงตั้งสติในเมตตาฌานนั้นไว้เพียงนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการเจริญเมตตาภาวนาอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อทรงแสดงความเป็นผู้ชำนาญ จึงตรัสว่า ติฏฺฐํ จรํ เป็นต้น.
               จริงอยู่ ผู้ชำนาญแล้วยังประสงค์จะตั้งสติในเมตตาฌานด้วยอิริยาบถเพียงใด จะยืนหรือเดิน จะนั่งหรือนอนก็ย่อมได้. อีกนัยหนึ่ง ผู้ชำนาญจะยืนหรือเดิน จะนั่งหรือนอน เพราะเหตุนั้น การยืนเป็นต้น ย่อมไม่ทำอันตรายแก่ผู้นั้น. อนึ่งเล่า ผู้ชำนาญยังประสงค์จะตั้งสติมั่นไว้ในเมตตาฌานนี้เพียงใด ก็ต้องเป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนจึงตั้งสติไว้ได้เพียงนั้น. ความเนิ่นช้าในเมตตาฌานนั้นของผู้นั้นย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า จะยืนหรือเดิน นั่งหรือนอน ยังเป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนเพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น.
               คาถานั้นมีอธิบายดังนี้
               ผู้ชำนาญพึงเจริญเมตตา ที่ตรัสไว้ว่า เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสํ ภาวเย โดยประการที่ผู้ชำนาญไม่จำต้องเอื้อด้วยอิริยาบถ บรรดาอิริยาบถมียืนเป็นต้น หรือถึงอิริยาบถมียืนเป็นต้น ยังประสงค์จะตั้งสติในเมตตาฌานนั้นเพียงใด เป็นผู้ปราศจากความง่วงนอนแล้วก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงความเป็นผู้ชำนาญในเมตตาภาวนาอย่างนี้ ทรงประกอบภิกษุไว้ในเมตตาวิหาร การอยู่ด้วยเมตตานั้นว่า เอตํ สตึ อธิฏฺเญยฺย พึงตั้งสตินั้นไว้
               บัดนี้ เมื่อทรงชมเชยการอยู่นั้นจึงตรัสว่า พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ.
               คาถานั้น มีความว่า การอยู่ด้วยเมตตานี้ใด ทรงสรรเสริญตั้งต้นแต่พระพุทธดำรัสว่า สุขิโน วา เขมิโน วา โหนฺตุ จะเป็นผู้มีสุข หรือมีความเกษม จนถึงพระพุทธดำรัสว่า เอตํ สตึ อฐิฏฺเฐยฺย พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น.
               ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวการอยู่นั้นว่าพรหมวิหาร การอยู่อย่างพรหม กล่าวการอยู่นั้นว่า เสฏฺฐวิหาร การอยู่อย่างประเสริฐสุด ในพระศาสนา คือในธรรมวินัยของพระอริยะนี้ เพราะไม่มีโทษในการอยู่อย่างทิพย์ อยู่อย่างพรหม อยู่อย่างพระอริยะและอยู่โดยอิริยาบถวิหาร และการอยู่ด้วยเมตตานั้นทำประโยชน์ทั้งแก่ตนทั้งแก่ผู้อื่น. เพราะเหตุที่ความสงบติดต่อกันไม่ถูกแทรกแซง ฉะนั้น ผู้เจริญเมตตา ยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ยังไม่ง่วงนอนเพียงใด ก็พึงตั้งสตินั้นไว้เพียงนั้น.

               พรรณนาคาถาที่ ๑๐               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเมตตาภาวนาประการต่างๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพราะเหตุที่เมตตาใกล้ต่ออัตตทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตน เพราะมีสัตว์เป็นอารมณ์ ฉะนั้น เมื่อทรงแสดงการบรรลุอริยภูมิ ทำเมตตาฌานนั้นนั่นและให้เป็นบาทแก่ภิกษุเหล่านั้น โดยยกการห้าม การถือทิฏฐิขึ้นนำหน้า จึงทรงจบเทศนาด้วยคาถานี้ว่า ทิฏฺฐิญฺจ อนุปคมฺม เป็นต้น.
               คาถานั้นมีความว่า
               การอยู่ด้วยเมตตาฌานนี้ใด ทรงสรรเสริญไว้ว่า พรหฺมเมตํ วิหารํ อิธมาหุ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวการอยู่นั้นว่าพรหมวิหารในพระธรรมวินัยนี้ ผู้เจริญเมตตาออกจากการอยู่ด้วยเมตตาฌานนั้นแล้ว กำหนด [นาม] ธรรม มิวิตกวิจารเป็นต้นในที่นั้น และรูปธรรมตามแนวการกำหนด [นาม] ธรรมเหล่านั้นเป็นต้น แล้วกำหนดอรูปธรรม และด้วยการกำหนดนามรูปนี้ก็ไม่ยึดทิฏฐิอย่างนี้ว่า นี้กองสังขารอันบริสุทธิ์ บุคคลย่อมถือไม่ได้ว่าสัตว์ในสังขารนี้ดังนี้ เป็นผู้มีศีลโดยโลกุตรศีลตามลำดับ ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ ที่เข้าใจกันว่าสัมมาทิฏฐิในโสดาปัตติมรรค ซึ่งประกอบด้วยโลกุตรศีล ต่อจากนั้น ก็นำออก ขจัดระงับความหมกมุ่นในกามทั้งหลาย คือกิเลสกามที่ยังละไม่ได้ ด้วยการทำให้เบาบางด้วยสกทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค และด้วยการละไม่ให้เหลือเลย ก็ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์มารดาอีก คือไม่ต้องนอนในครรภ์อีกอย่างแน่นอน ได้แก่บังเกิดในหมู่เทพชั้นสุทธาวาสทั้งหลาย บรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้นนั่นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจบเทศนาอย่างนี้แล้วตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า ไปเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงอยู่ในราวป่านั้นนั่นแหละ และจงเคาะระฆังในวันธรรมสวนะ ๘ วันต่อเดือน แล้วจงสวดพระสูตรนี้ จงทำธรรมกถากล่าวธรรม สนทนาธรรม อนุโมทนากัน จงซ่องเสพ เจริญทำให้มากซึ่งกรรมฐานนี้นี่แหละ พวกอมนุษย์แม้เหล่านั้นจักไม่แสดงอารมณ์น่าสะพึงกลัวนั้น จักเป็นผู้หวังดี หวังประโยชน์แก่พวกเธอแน่แท้
               ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธดำรัสแล้ว ลุกจากอาสนะ กราบถวายบังคมแล้ว ทำประทักษิณ ไปในราวป่านั้นแล้วทำตามที่ทรงสอนทุกประการ. เทวดาทั้งหลายเกิดปีติโสมนัสว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย ช่างหวังดีหวังประโยชน์แก่พวกเรา. ก็พากันเก็บกวาดเสนาสนะเอง จัดแจงน้ำร้อน นวดหลัง นวดเท้า จัดวางอารักขาไว้ ภิกษุแม้เหล่านั้นก็พากันเจริญเมตตา ทำเมตตานั้นให้เป็นบาท เริ่มวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัต อันเป็นผลเลิศภายในไตรมาสนั้นนั่นเองหมดทุกรูป ปวารณาด้วยวิสุทธิปวารณา ในวันมหาปวารณา ออกพรรษาแล.
                                   พระตถาคตผู้เป็นเจ้าแห่งธรรม ผู้ทรงฉลาดใน
                         ประโยชน์ ตรัสกรณียเมตตสูตรอันมีประโยชน์ด้วย
                         ประการฉะนี้.
                                   ภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญาบริบูรณ์ ได้รับความสงบ
                         แห่งหฤทัยอย่างยิ่ง ก็บรรลุสันตบท.
                                   เพราะฉะนั้นแล วิญญูชนผู้ประสงค์จะบรรลุ
                         สันตบทอันเป็นอมตะ ที่น่าอัศจรรย์ อันพระอริยเจ้า
                         รักอยู่ ก็พึงทำกรณียะอันมีประโยชน์ ต่างโดยศีลสมาธิ
                         ปัญญาอันไร้มลทิน ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เทอญ.

               จบอรรถกถาเมตตสูตร               
               แห่งอรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อว่า ปรมัตถโชติกา               
               ------------------------               

               นิคมกถา               
               ด้วยกถามีประมาณเท่านี้ ข้าพเจ้ากล่าวคำใดไว้ว่า
                                   ข้าพเจ้าไหว้พระรัตนตรัยอันสูงสุดแห่งวัตถุที่ควร
                         ไหว้แล้ว จักแต่งอรรถกถาแห่งขุททกปาฐะบางปาฐะ.

               ในคำนั้น เป็นอันข้าพเจ้าแต่งอรรถกถาแห่งขุททกปาฐะ ๙ ประเภท คือ
                         ๑. สรณะ ๒. สิกขาบท ๓. ทวัตติงสาการ
                         ๔. กุมารปัญหา ๕. มงคลสูตร ๖. รัตนสูตร
                         ๗. ติโรกุฑฑสูตร ๘. นิธิกัณฑสูตร และ ๙. เมตตสูตร
               ก่อน. ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวคำนี้ว่า
                                   ข้าพเจ้าประสงค์จะให้พระสัทธรรมตั้งมั่น จึงแต่ง
                         อรรถกถาแห่งขุททกปาฐะนี้ ประสบกุศลอันใด.
                                   ขอชนนี้ จงพลันบรรลุความเจริญงอกงาม ไพบูลย์
                         ในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้ว เพราะอานุภาพแห่ง
                         กุศลอันนั้น.

               อรรถกถาแห่งขุททกปาฐะชื่อปรมัตถโชติกานี้ รจนาโดยพระเถระที่ท่านครูทั้งหลายถวายนามว่า พุทธโฆสะ ผู้ประดับด้วยคุณคือความบริสุทธิ์ ความเชื่อความรู้และความเพียร อันคุณสมุทัย คือ ศีลอาจาระ อาชวะและมัททวะเป็นต้นดลบันดาลแล้ว ผู้สามารถหยั่งลงสู่ชัฏ คือลัทธิตนและลัทธิอื่น ประกอบด้วยความรู้ความฉลาด ผู้มีประภาพคืออำนาจแห่งญาณอันไม่มีอะไรขัดขวางในสัตถุศาสน์ อันต่างโดยพระไตรปิฏกปริยัตติธรรมพร้อมทั้งอรรถกถา เป็นมหากวีประกอบด้วยความงามแห่งวจนะอันไพเราะโอฬารที่เปล่งได้สะดวก ซึ่งสมบัติคือกรณ์ให้เกิดแล้วโดยมหาไวยากรณ์ ผู้มีวาทะถูกต้องแตกฉาน มีวาทะอันประเสริฐ ผู้มีความบริสุทธิ์และความรู้อันไพบูลย์ เป็นอลังการแห่งวงศ์ของพระเถระทั้งหลายผู้อยู่ ณ มหาวิหาร ประทีปแห่งเถรวงศ์ [เถรวาท] ซึ่งมีความรู้มั่นคงดีแล้วในธรรมอันยิ่งของมนุษย์ อันประดับด้วยคุณต่างโดยอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาเป็นต้น.
                                   ตาว ติฏฺฐตุ โลกสฺมึ โลกนิตฺถรเณสินํ
                         ทสฺเตนฺตี กุลปุตฺตานํ                 นยํ สีลาทิวิสุทฺธิยา.
                         ยาว พุทฺโธติ นามมฺปิ                 สุทฺธจิตฺตสฺส ตาทิโน
                         โลกมฺหิ โลกเชฏฐสฺส                 ปวตฺตติ มเหสิโน.
                                   [คัมภีร์ปรมัตถโชติกา] อันแสดงนัยแห่งวิสุทธิ
                         มีศีลวิสุทธิเป็นต้น แก่กุลบุตรทั้งหลายผู้แสวงหาการ
                         ออกจากโลก จงดำรงอยู่ ตราบเท่าที่ แม้พระนามว่า
                         พุทธะของพระผู้มีจิตบริสุทธิ์ ผู้คงที่ ผู้เจริญที่สุดแห่ง
                         โลก ผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ยังเป็นไปอยู่ใน
                         โลกเทอญ.

               จบอรรถกถาขุททกปาฐะ               
               แห่ง               
               อรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อว่า ปรมัตถโชติกา               
               ------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ กรณียเมตตสูตรในขุททกปาฐะ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 9อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 10อ่านอรรถกถา 25 / 11อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=237&Z=267
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=5494
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=5494
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :