ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 21อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 23 / 23อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วัชชีวรรคที่ ๓
๔. กรรมสูตร

               อรรถกถากรรมสูตรที่ ๔               
               กรรมสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า น กมฺมารามา ความว่า ภิกษุเหล่าใดกระทำกิจกรรมมีจีวร, ประคดเอว, ผ้ากรองน้ำ, ธัมกรก, ไม้กวาด, ที่รองเท้าเป็นต้นเท่านั้นประจำวัน ภิกษุเหล่านั้นก็ห้ามเสียได้ด้วยศรัทธา
               ส่วนภิกษุใด ในเวลากระทำกิจกรรมเหล่านั้น กระทำกิจกรรมเหล่านี้ ในเวลาอุเทศก็เรียนอุเทศ เวลากระทำวัตรที่ลานเจดีย์ก็กระทำวัตรที่ลานเจดีย์ เวลาทำมนสิการก็ทำมนสิการ ภิกษุนั้น ชื่อว่าผู้ไม่ยินดีในการงาน.
               ภิกษุใดกระทำการพูดคุยกันถึงผิวพรรณของหญิงและชายเป็นต้นเท่านั้น ให้ล่วงวันล่วงคืนไป ไม่จบการคุยกันเห็นปานนั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่ายินดีในการคุย.
               อนึ่ง ภิกษุใดย่อมกล่าวสนทนาธรรม ตอบปัญหาทั้งกลางคืนกลางวัน ภิกษุนี้ถึงจะเป็นผู้คุยน้อย ก็ยังพูดจบคุยจบเหมือนกัน เพราะเหตุไร? เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอประชุมกันแล้ว ก็มีกิจที่ควรกระทำ ๒ อย่าง คือ ธรรมีกถา กล่าวธรรม หรือดุษณีภาพนิ่งอย่างอริยะ".
               ภิกษุใดยืนก็ตาม เดินก็ตาม นั่งก็ตาม ถูกถีนมิทธะครอบงำก็หลับไป ภิกษุนี้ชื่อว่ามักหลับ. ส่วนภิกษุใดมีจิตหยั่งลงสู่ภวังค์ เพราะความป่วยไข้ของกรัชกาย ภิกษุนี้ ไม่ชื่อว่าไม่มักหลับ.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เราย่อมรู้ยิ่ง ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตร ปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น นอนตะแคงข้างขวา มีสติสัมปชัญญะหลับลง.
               ภิกษุใดคลุกคลีอยู่อย่างนี้ เป็นคนที่ ๒ สำหรับภิกษุรูปหนึ่งเป็นคนที่ ๓ สำหรับภิกษุ ๒ รูป เป็นคนที่ ๔ สำหรับภิกษุ ๓ รูป อยู่คนเดียวก็ไม่ได้อัสสาท ความยินดี ภิกษุนี้ ชื่อว่าชอบคลุกคลี. ส่วนภิกษุใดอยู่ผู้เดียวเท่านั้นในอิริยาบถ ๔ ย่อมได้อัสสาทะ ภิกษุนี้ ชื่อว่าไม่ชอบคลุกคลี.
               ภิกษุผู้ประกอบด้วยความปรารถนาความสรรเสริญคุณที่ไม่มีในตน เป็นผู้ทุศีล ชื่อว่ามีความปรารนาลามก. ภิกษุเหล่าใดมีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว เพราะบริโภคร่วมกันในอิริยาบถทั้ง ๔ และภิกษุเหล่าใดเป็นเพื่อนในภิกษุชั่วทั้งหลาย เพราะน้อมไป โอนไป เงื้อมไปในปาปมิตรนั้น. ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่ามีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว.
               บทว่า โอรมตฺตเกน ได้แก่ มีประมาณนิดหน่อย คือมีประมาณน้อย.
               บทว่า อนฺตรา ได้แก่ ในระหว่างนี้ เพราะยังไม่บรรลุพระอรหัต.
               บทว่า โวสานํ ได้แก่ ความจบสิ้น ความท้อถอยว่า เท่านี้ก็พอ.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ว่า ภิกษุจักไม่ถึงที่สุดด้วยคุณมีศีลปาริสุทธิ์, ฌานและความเป็นพระโสดาบันเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงใด ภิกษุทั้งหลายพึงหวังแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่เสื่อมเลยเพียงนั้น.

               จบอรรถกถากรรมสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วัชชีวรรคที่ ๓ ๔. กรรมสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 21อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 23 / 23อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=554&Z=567
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3941
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3941
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :