ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 19อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 23 / 21อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วัชชีวรรคที่ ๓
๒. วัสสการสูตร

               อรรถกถาวัสสการสูตรที่ ๒               
               สูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อภิยาตฺกาโม ความว่า มีพระราชประสงค์จะกรีธาทัพไปย่ำยี.
               บทว่า วชฺชี ได้แก่ เจ้าวัชชีทั้งหลาย.
               ด้วยบทว่า เอวํมหิทฺธิเก ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยราชฤทธิ์ใหญ่อย่างนี้. ด้วยบทว่า เอวํมหิทฺธิเก นี้พระเจ้าอชาตสัตรูตรัสถึงความที่เจ้าวัชชีเหล่านั้นมีความพร้อมเพรียงกัน.
               บทว่า เอวํมหานุภาเว ได้แก่ ผู้ประกอบด่วยราชานุภาพใหญ่อย่างนี้. ด้วยบทว่า เอวํมหานุภาเว นี้ พระเจ้าอชาตสัตรูตรัสถึงความที่เจ้าวัชชีเหล่านั้นเป็นผู้กระทำการศึกษาแล้วในหัสดีศิลปเป็นต้นที่ทรงตรัสหมายเอาว่า เจ้าหนุทลิจฉวีเหล่านี้ศึกษาแล้วหนอ เจ้าลิจฉวีเหล่านี้ศึกษาดีแล้วหนอ ที่ปล่อยลูกธนูใหญ่น้อยที่มีภู่ติดปลาย ไม่พลาดเป้าทางช่องตาลที่ถี่ๆ.
               บทว่า อุจฺเฉชฺชิสฺสามิ แปลว่า จักตัดให้ขาด.
               บทว่า วินาเสสฺสามิ แปลว่า ทำไม่ให้ปรากฏเลย
               บทว่า อนยพฺยสนํ ได้แก่ ไม่เจริญและความย่อยยับแห่งญาติ.
               บทว่า อาปาเทสฺสามิ แปลว่า จักให้ถึงความเสื่อมและความพินาศ.
               ได้ยินว่า พระเจ้าอชาตสัตรูนั้นตรัสเรื่องการรบในที่ๆ ประทับยืนที่ประทับนั่งเป็นต้น และตรัสสั่งกองกำลังว่า พวกเจ้าเตรียมยาตราทัพด้วยประการฉะนี้. เหตุไร? เพราะว่า ริมฝั่งแม่น้ำคงคา อาศัยหมู่บ้านปัฏนตามตำบลหนึ่ง เป็นดินแดนของพระเจ้าอชาตสัตรู ๘ โยชน์ ของพวกเจ้าลิจฉวี ๘ โยชน์ ในปัฏฏนคามนั้น คันธชาตมีค่ามาก ไหลมาจากเชิงเขา เมื่อพระเจ้าอชาตสัตรูทรงสดับเรื่องนั้น ทรงตระเตรียมว่า เราจะไปวันนี้ พรุ่งนี้ พวกเจ้าลิจฉวีพร้อมเพรียงร่าเริงมาเสียก่อนเก็บเอาไปหมด.
               พระเจ้าอชาตสัตรูเสด็จมาทีหลัง ทรงทราบเรื่องนั้นเข้าก็ทรงพระพิโรธแล้วเสด็จกลับไป. แม้ในปีต่อไป เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นก็ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. ครั้งนั้นแล พระเจ้าอชาตสัตรูทรงกริ้วอย่างแรง ก็ได้กระทำอย่างนั้นในครั้งนั้น.
               ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตสัตรูทรงพระดำริว่า ชื่อว่าการรบกับคณะเจ้าลิจฉวี เป็นเรื่องหนัก การประหัตประหารกันอย่างไร้ผล แม้ครั้งเดียวมีไม่ได้ จำต้องมีการปรึกษากับบัณฑิตผู้หนึ่งจึงทำการคงจะไม่ผิดพลาด แต่บัณฑิตที่เสมือนกับพระศาสดาไม่มี และพระศาสดาก็ประทับอยู่ในพระวิหารใกล้ๆ ไม่ไกล เอาละจะส่งคนไปทูลถาม ถ้าหากว่าเราไปเองจักมีประโยชน์ไร พระศาสดาคงจักนิ่ง แต่เมื่อไม่มีประโยชน์ พระศาสดาจักตรัสว่าจะประโยชน์อะไรด้วยการไปในที่นั้น. ท้าวเธอจึงส่งวัสสการพราหมณ์ไป. พราหมณ์ไปกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข ราชา ฯลฯ อาปาเทสฺสามิ วชฺชีติ.
               บทว่า ภควนฺตํ วีชมาโน ความว่า พระเถระตั้งอยู่ในข้อวัตร ถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ความหนาวหรือความร้อนหามีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับคำของพราหมณ์แล้ว มิได้ทรงปรึกษากับพราหมณ์นั้น มีพระประสงค์ก็จะปรึกษากับพระเถระจึงตรัสว่า กินฺติ เม อานนฺท สุตํ ดังนี้.
               คำนั้นมีเนื้อความกล่าวไว้แล้วทั้งนั้น
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ว่า เอกมิทาหํ เพื่อทรงประกาศความที่วัชชีธรรม ๗ ประการนี้ที่ทรงแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลายมาก่อน.
               บทว่า กรณียา แปลว่า ไม่ควรทำ. อธิบายว่า ไม่ควรถือเอา.
               บทว่า ยทิทํ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ยุทฺธสฺส เป็นฉัฏฐีวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัติ. อธิบายว่า ใครๆ ไม่อาจยึดได้ด้วยการรบซึ่งๆ หน้า.
               บทว่า อญฺญตฺร มิถุเภทา ความว่า เว้นการเจรจาการส่งบรรณาการมีช้าง ม้า รถ เงินทองเป็นต้น กระทำการสงเคราะห์กันด้วยกล่าวว่า อลํ วิวาเทน อย่าวิวาทกันเลย บัดนี้ เราจักสามัคคีกัน กลมเกลียวกัน ชื่อว่าการเจรจากัน. อธิบายว่า กระทำการสงเคราะห์อย่างนี้ก็จะยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้ด้วยความสนิทสนมอย่างเดียว.
               บทว่า อญฺญตฺร มิถุเภทา ได้แก่ เว้นการทำให้สองฝ่ายแตกกัน. ด้วยบทนี้ พระเจ้าอชาตสัตรูแสดงว่า ทำให้แตกกันและกันแล้ว ก็จะจับเจ้าวัชชีเหล่านั้นไว้ได้.
               พราหมณ์ได้นัยแห่งพระพุทธดำรัสแล้ว จึงกล่าวดังนี้. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์ได้นัยแห่งพระดำรัสนี้หรือ? ใช่ทรงทราบ.
               ถามว่า ก็เมื่อทรงทราบ เหตุไรจึงตรัส.
               ตอบว่า เพื่อทรงอนุเคราะห์ นัยว่าพระองค์ได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า แม้เมื่อเราไม่กล่าว ๒-๓ วัน พระเจ้าอชาตสัตรูจักเสด็จไปจับเจ้าวัชชีไว้หมด. แต่ครั้นเรากล่าวแล้ว พระเจ้าอชาตสัตรูต้องใช้เวลา ๓ ปีทำลายพวกเจ้าลิจฉวีผู้สามัคคีกัน จึงจักจับได้ การมีชีวิตอยู่แม้เท่านี้ก็ประเสริฐ.
               จริงอยู่ เจ้าวัชชีเป็นอยู่เท่านี้ก็จักกระทำบุญอันเป็นที่พึ่งแก่ตนได้.
               บทว่า อภินนฺทิตฺวา แปลว่า บันเทิงแล้วด้วยจิต.
               บทว่า อนุโมทิตฺวา บันเทิงด้วยวาจาว่า พระดำรัสนี้ ท่านพระโคดมตรัสไว้ดีแล้ว.
               บทว่า ปกฺกามิ กลับไปเฝ้าพระราชาแล้ว.
               ฝ่ายพระราชาก็ส่งวัสสการพราหมณ์นั้นนั่นแล ไปทำลายเจ้าวัชชีทั้งหมดให้ถึงความย่อยยับ.

               จบอรรถกถาวัสสการสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วัชชีวรรคที่ ๓ ๒. วัสสการสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 19อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 23 / 21อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=421&Z=526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3803
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3803
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :