ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 161อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 162อ่านอรรถกถา 23 / 163อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑
๑๒. อภิภายตนสูตร

               อรรถกถาอภิภายตนสูตรที่ ๕               
               อภิภายตนสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อภิภายตนานิ แปลว่า เหตุแห่งการครอบงำ.
               ครอบงำอะไร? ครอบงำธรรมอันเป็นข้าศึกบ้าง อารมณ์บ้าง.
               จริงอยู่ เหตุแห่งการครอบงำเหล่านั้น ย่อมครอบงำธรรมอันเป็นข้าศึกโดยภาวะเป็นปฏิปักษ์ ครอบงำอารมณ์โดยภาวะที่บุคคลมีญาณสูงยิ่งขึ้นไป.
               ก็ในคำว่า อชฺฌตฺตํ รูปสญฺญี ดังนี้เป็นต้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้กำหนดรูปภายใน ด้วยอำนาจบริกรรมรูปภายใน.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อกระทำบริกรรมนีลกสิณในภายใน ย่อมกระทำที่ผมที่ดี หรือที่ดวงตา. เมื่อกระทำบริกรรมปีตกสิณ ย่อมกระทำที่มันข้น ที่ผิวหนัง ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า หรือที่ตำแหน่งสีเหลืองของดวงตา. เมื่อจะกระทำบริกรรมโลหิตกสิณ ย่อมกระทำที่เนื้อ ที่โลหิต ที่ลิ้นหรือที่ตำแหน่งที่มีสีแดงของดวงตา. เมื่อจะกระทำบริกรรมโอทาตกสิณ ย่อมกระทำที่กระดูก ที่ฟัน ที่เล็บหรือที่ตำแหน่งที่มีสีขาวแห่งดวงตา.
               ก็สีนั้นเขียวสนิท เหลืองสนิท แดงสนิท ขาวสนิท ก็หาไม่ เป็นสีไม่บริสุทธิ์ทั้งนั้น.
               บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ความว่า บริกรรมอันหนึ่งของภิกษุใดเกิดขึ้นในภายใน แต่นิมิตเกิดภายนอก ภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดรูปภายในด้วยอำนาจบริกรรมภายใน และอัปนาภายนอก เรียกว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ แปลว่า รูปีบุคคลผู้ได้รูปฌานผู้หนึ่ง ย่อมเห็นรูปภายนอก.
               บทว่า ปริตฺตานิ ได้แก่ ไม่ขยาย.
               บทว่า สุวณฺณานิ ทุพฺพณฺณานิ แปลว่า มีวรรณะดีหรือวรรณะเลว.
               พึงทราบว่าตรัสอภิภายตนะนี้ ด้วยอำนาจปริตตารมณ์นั่นเอง.
               บทว่า ตานิ อภิภุยฺย ความว่า คนผู้มีไฟธาตุดี ได้อาหารเพียงทัพพีเดียว คิดว่าจะมีประโยชน์อะไรที่จะพึงกินในอาหารนี้ จึงรวบมาทำให้เป็นคำเดียวกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นด้วยคิดว่า จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะพึงเข้าสมาบัติในปริตตารมณ์นี้ นี้ไม่เป็นความหนักใจสำหรับเรา ดังนี้แล้วจึงเข้าสมาบัติ. อธิบายว่า ภิกษุนั้นย่อมถึงอัปปนาในอารมณ์นี้ พร้อมกับทำนิมิตให้เกิดขึ้นนั่นแหละ.
               ก็ด้วยบทว่า ชานามิ ปสฺสามิ นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความผูกใจของภิกษุนั้น ก็แหละความผูกใจนั้นแลย่อมมีแก่ภิกษุผู้ออกจากสมาบัติ ไม่ใช่มีในภายในสมาบัติ.
               บทว่า เอวํสญฺญี โหติ ความว่า เป็นผู้มีความสำคัญอย่างนี้ ด้วยอาโภคสัญญาบ้าง ด้วยฌานสัญญาบ้าง. เพราะอภิภวนสัญญา สัญญาในการครอบงำ ย่อมมีแก่เธอแม้ในภายในสมาบัติ แต่อาโภคสัญญา สัญญาในการผูกใจ ย่อมมีแก่เธอผู้ออกจากสมาบัติเท่านั้น.
               อปฺปมาณานิ ได้แก่ ขยายขนาดออกไปไม่จำกัด. อธิบายว่า ใหญ่.
               ก็ในคำว่า อภิภุยฺย มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บุคคลกินจุได้อาหารเพิ่มขึ้นอย่างหนึ่ง จึงกล่าวว่า แม้สิ่งอื่นๆ ก็เอามาเถิดๆ นั่นจักทำอะไรแก่เราได้ ไม่เห็นอาหารนั้นเป็นของมากฉันใด บุคคลผู้มีฌานสูง มีฌานแก่กล้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ครอบงำรูปเหล่านั้นด้วยคิดว่า ประโยชน์อะไรที่เราจะพึงเข้าสมาบัติในอารมณ์นี้ นี้ไม่เป็นประมาณ, ในการทำจิตให้เป็นเอกัคคตา ไม่หนักใจแก่เราเลย ดังนี้แล้ว จึงเข้าสมาบัติ. อธิบายว่า ทำจิตให้ถึงอัปปนาในอารมณ์นี้ พร้อมกับทำนิมิตให้เกิดขึ้นนั่นแหละ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี ความว่า เว้นจากบริกรรมสัญญาในรูปภายใน เพราะไม่ได้รูปหรือเพราะไม่ต้องการรูป
               บทว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปฺสฺสติ ความว่า บริกรรมก็ดี นิมิตก็ดี ของผู้ใดเกิดในภายนอก ผู้นั้นก็มีความกำหนดอรูปภายใน ด้วยอำนาจบริกรรม และอัปปนาในภายนอกอย่างนี้ ตรัสเรียกว่า เอโก พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ ผู้หนึ่งย่อมเห็นรูปภายนอก.
               คำที่เหลือในพระสูตรนี้มีนัยดังกล่าวแล้วในอภิภายตนะที่ ๔ นั่นแหละ.
               ก็ในอารมณ์ทั้ง ๔ นี้ ปริตตารมณ์มาแล้วด้วยอำนาจวิตกจริต อัปปมาณารมณ์มาแล้วด้วยอำนาจโมหจริต อารมณ์ที่มีวรรณะดีมาแล้วด้วยอำนาจโทสจริต อารมณ์ที่มีวรรณะทรามมาแล้วด้วยอำนาจราคจริต เพราะอารมณ์เหล่านี้เป็นสัปปายะของจริตเหล่านั้น.
               ก็ความที่อารมณ์เหล่านั้นเป็นสัปปายะนั้นได้กล่าวแล้วในจริยนิเทศ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               ในอภิภายตนสูตรที่ ๕ เป็นต้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า นีลานิ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจรวมเอาสีทั้งหมด.
               บทว่า นีลวณฺณานิ ตรัสด้วยอำนาจวรรณะ (คือสี).
               บทว่า นีลนิทสฺสนานิ ตรัสด้วยอำนาจเห็นรูปสีเขียว. ท่านอธิบายไว้ว่า รูปมีสีไม่เจือกัน ไม่ปรากฏช่อง ปรากฏมีสีเขียวเป็นอันเดียวกัน.
               ก็บทว่า นีลนิภาสานิ นี้ ตรัสด้วยโอภาสแสง. อธิบายว่า แสงมีสีเขียวคือประกอบด้วยแสงสีเขียว.
               ด้วยคำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่าสีเหล่านั้นเป็นสีบริสุทธิ์ด้วยดี. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอภิภายตนะทั้ง ๔ นี้ ด้วยอำนาจสีที่บริสุทธิ์เท่านั้น.
               ก็ในกสิณเหล่านี้ การทำกสิณ การบริกรรมและวิธีอัปปนา มีอาทิว่า พระโยคีเมื่อกำหนดนีลกสิณ ย่อมกำหนดนิมิตในสีเขียว ที่ดอกไม้ ที่ผ้า หรือที่วรรณธาตุ ธาตุสี ดังนี้ ทั้งหมดได้กล่าวไว้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล.

               จบอรรถกถาอภิภายตนสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑ ๑๒. อภิภายตนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 161อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 162อ่านอรรถกถา 23 / 163อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=6420&Z=6444
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=6076
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=6076
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :