ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 108อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 109อ่านอรรถกถา 23 / 110อ่านอรรถกถา 23 / 281
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒
๙. ปหาราทสูตร

               อรรถกถาปหาราทสูตรที่ ๙               
               ปหาราทสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปหาราโท ได้แก่ มีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า อสุรินฺโท แปลว่า หัวหน้าอสูร. จริงอยู่ บรรดาอสูรทั้งหลาย อสูรผู้เป็นหัวหน้ามี ๓ ท่านคือ เวปจิตติ ๑ ราหู ๑ ปหาราทะ ๑.
               บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า นับตั้งแต่วันที่พระทศพลตรัสรู้แล้ว ท้าวปหาราทะจอมอสูรคิดว่า วันนี้เราจักไปเฝ้า พรุ่งนี้เราจักไปเฝ้า จนล่วงไป ๑๑ ปี ครั้นถึงปีที่ ๑๒ ในเวลาที่พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเวรัญชา เกิดความคิดขึ้นว่า เราจักไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงคิดต่อไปว่า เรามัวแต่ผลัดว่าจะไปวันนี้ จะไปพรุ่งนี้ ล่วงไปถึง ๑๒ ปี เอาเถอะเราจะไปเดี๋ยวนี้แหละ ในขณะนั้นนั่นเองอันหมู่อสูรแวดล้อมแล้ว ออกจากภพอสูรตอนกลางวัน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
               บทว่า เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ ความว่า ได้ยินว่า ท้าวปหาราทะจอมอสูรนั้นมาด้วยคิดว่า จักถามปัญหากะพระตถาคต แล้วจักฟังธรรมกถา ตั้งแต่เวลาที่ได้เฝ้าพระตถาคตแล้ว แม้เมื่อไม่อาจถาม เพราะความเคารพในพระพุทธเจ้า ก็ได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงพระดำริว่า เมื่อเราไม่พูด ปหาราทะนี้ก็ไม่อาจพูดก่อนได้ จำเราจักถามปัญหากะเธอสักข้อหนึ่ง เพื่อให้การสนทนาเกิดขึ้นในฐานะที่เธอมีวสีชำนาญอันสั่งสมไว้แล้วนั่นแหละ. เมื่อพระองค์จะตรัสถามปัญหาเขา จึงตรัสคำมีอาทิว่า อปิ ปน ปหาราท ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิรมนฺติ ความว่า ย่อมประสบความยินดี. อธิบายว่า ไม่เอือมระอาอยู่. ท่านมีจิตยินดีว่าในฐานะที่เราคุ้นเคยทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามเรา จึงกราบทูลว่า อภิรมนฺติ ภนฺเต พวกอสูรยังอภิรมย์อยู่ พระเจ้าข้า.
               บทว่า อนุปุพฺพนินฺโน เป็นต้นทั้งหมด เป็นไวพจน์แห่งความลุ่มไปตามลำดับ.
               ด้วยบทว่า น อายตเกเนว ปปาโต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า มหาสมุทรไม่เป็นเหวชันมาแต่เบื้องต้นเหมือนบึงใหญ่ที่มีตลิ่งชัน. ก็เริ่มตั้งแต่พื้นที่ที่เป็นตลิ่งไป มหาสมุทรนั้นจะลึกลงไป ด้วยสามารถแห่งการลึกลงที่ละ ๑ นิ้ว ๒ นิ้ว ๑ คืบ ๑ ศอก ๑ อสุภะ กึ่งคาวุต ๑ คาวุต กึ่งโยชน์ และ ๑ โยชน์ลึกไปๆ จนถึงลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ณ ที่ใกล้เชิงเขาพระสุเมรุ.
               บทว่า ฐิตธมฺโม ความว่า ตั้งอยู่แล้วเป็นสภาวะ คือตั้งอยู่เฉพาะเป็นสภาวะ.
               บทว่า กุณเปน ความว่า ด้วยซากศพอย่างใดอย่างหนึ่ง มีซากช้างและซากม้าเป็นต้น.
               บทว่า ถลํ อุสฺสาเทติ ความว่า ย่อมซัดขึ้นบกด้วยคลื่นซัดนั่นแหละ เหมือนคนเอามือจับซัดไปฉะนั้น.
               ในบทว่า คงฺคา ยมุนา ควรกล่าวถึงเหตุเกิดแห่งแม่น้ำเหล่านี้ เพราะตั้งอยู่ในที่นี้. ก่อนอื่นชมพูทวีปนี้ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ในจำนวนเนื้อที่นั้น ๔,๐๐๐ โยชน์ เป็นภูมิประเทศที่ถูกน้ำท่วม นับได้ว่าเป็นมหาสมุทร ๓,๐๐๐ โยชน์ พวกมนุษย์อาศัยอยู่ ๓,๐๐๐ โยชน์ ภูเขาหิมวันต์ตั้งอยู่สูง ๕๐๐ โยชน์ ประดับด้วยยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด วิจิตรด้วยแม่น้ำใหญ่ ๕ สายไหลมาโดยรอบเป็นที่สระใหญ่ ๗ สระตั้งอยู่ คือ สระอโนดาด สระกัณฑมุณฑะ สระรถกาฬะ สระฉัททันตะ สระกุนาละ สระมันทากินิ สระสีหัปปปาตะ ซึ่งยาว กว้างและลึกอย่างละ ๕๐ โยชน์ มีปริมณฑล ๑๕๐ โยชน์ บรรดาสระเหล่านั้น สระอโนดาดล้อมด้วยภูเขา ๕ ลูกเหล่านี้คือ สุทัสสนกูฏ จิตตกูฏ เทฬกูฏ คันทมากูฏ เกลาสกูฏ.
               ในภูเขาทั้ง ๕ ลูกนั้น ภูเขาสุทัสสนกูฏสำเร็จไปด้วยทอง สูง ๒๐๐ โยชน์ ภายในคดเคี้ยว มีสัณฐานดังปากของกา ตั้งปิดสระอโนดาดนั่นแหละ ภูเขาจิตตกูฏสำเร็จด้วยรตนะทั้งปวง ภูเขากาฬกูฏสำเร็จด้วยแร่พลวง ภูเขาคันทมาทนกูฏสำเร็จด้วยที่ราบเรียบ ภายในมีสีเหมือนเมล็ดถั่วเขียว หนาแน่นไปด้วยคันธชาติ ๑๐ ชนิดเหล่านี้ คือ ไม้มีกลิ่นที่ราก ไม้มีกลิ่นที่แก่น ไม้มีกลิ่นที่กะพี้ ไม้มีกลิ่นที่ใบ ไม้มีกลิ่นที่เปลือก ไม้มีกลิ่นที่สะเก็ด ไม้มีกลิ่นที่รส ไม้มีกลิ่นที่ดอก ไม่มีกลิ่นที่ผล ไม้มีกลิ่นที่ลำต้น ปกคลุมไปด้วยเครื่องสมุนไพรมีประการต่างๆ มีแสงเรืองตั้งอยู่ ประหนึ่งถ่านคุไฟ ในวันอุโบสถข้างแรม. ภูเขาเกลาสกูฏสำเร็จด้วยแร่เงิน. ภูเขาทั้งหมดมีสัณฐานสูงเท่ากับภูเขาสุทัสสนะ ตั้งปิดสระอโนดาดนั้นไว้. ภูเขาทั้งหมดนั้นฝนตกกราดด้วยอานุภาพของเทวดา และของนาค. และแม่น้ำทั้งหลายย่อมไหลไปที่ภูเขาเหล่านั้น น้ำทั้งหมดนั้นก็ไหลเข้าไปสู่สระอโนดาดแห่งเดียว. พระจันทร์และพระอาทิตย์ เมื่อโคจรผ่านทางทิศทักษิณหรือทิศอุดร ก็โคจรผ่านไปตามระหว่างภูเขา ส่องแสงไปในที่นั้น แต่เมื่อโคจรไปตรงๆ ก็ไม่ส่องแสง เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ สระนั้นจึงเกิดบัญญัติชื่อว่า สระอโนดาด แปลว่า พระอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง.
               ที่สระอโนดาดนั้นมีท่าสำหรับอาบน้ำ มีแผ่นศิลาเรียบน่ารื่นรมย์ใจ ไม่มีปลาหรือเต่า มีน้ำใสดังแก้วผลึก เป็นของอันธรรมชาติตกแต่งไว้ดีแล้ว เป็นที่ๆ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้าและฤาษีผู้มีฤทธิ์ทั้งหลายสรงสนาน เทวดาและยักษ์เป็นต้นก็พากันเล่นน้ำ ทั้ง ๔ ด้านในสระนั้น มีมุขอยู่ ๔ มุข คือสีหมุข หัสดีมุข อัศวมุข พฤษภมุขอันเป็นทางที่แม่น้ำทั้ง ๔ สายไหลไป. ที่ฝั่งแม่น้ำด้านที่ไหลออกทางสีหมุข มีราชสีห์อยู่มาก. ที่ฝั่งแห่งแม่น้ำด้านที่ไหลออกทางหัสดีมุขเป็นต้น มีช้าง ม้าและโคอุสภะอยู่มาก. แม่น้ำที่ไหลออกจากทิศตะวันออก ไหลเวียนขวาสระอโนดาด ๓ เลี้ยว แล้วเลี่ยงแม่น้ำอีก ๓ สาย ไหลไปยังถิ่นที่ไม่มีมนุษย์ ทางป่าหิมวันต์ด้านทิศตะวันออก และทางป่าหิมวันต์ด้านเหนือ แล้วไหลลงสู่มหาสมุทร. แต่แม่น้ำที่ไหลออกทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ ก็เวียนขวาเช่นนั้นเหมือนกัน ไปยังถิ่นที่ไม่มีมนุษย์ ทางป่าหิมวันต์ด้านทิศตะวันตกและป่าหิมวันต์ด้านเหนือ แล้วไหลลงสู่มหาสมุทร.
               แต่แม่น้ำที่ไหลออกทางมุขด้านใต้ เวียนขวาสระอโนดาดนั้น ๓ เลี้ยวแล้วก็ไหลตรงไปทางทิศเหนือ เป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์ ไปตามหลังแผ่นหินนั่นแหละ ปะทะภูเขาโลดขึ้นเป็นสายน้ำ โดยรอบประมาณ ๓ คาวุต ไหลไปทางอากาศ เป็นระยะ ๖๐ โยชน์ แล้วตกลงที่แผ่นหินชื่อว่าติยัคคฬะ แผ่นหินก็แตกไป เพราะความแรงแห่งสายน้ำ. ในที่นั้นเกิดเป็นสระใหญ่ ชื่อว่าติยัคคฬะขนาด ๕๐ โยชน์. กระแสน้ำพังทำลายฝั่งสระ แล้วไหลเข้าแผ่นหินไประยะ ๖๐ โยชน์. ต่อแต่นั้นก็เซาะแผ่นดินทึบเป็นเป็นอุโมงค์ไป ๖๐ โยชน์ แล้วปะทะติรัจฉานบรรพต ชื่อว่าวิชฌะ แล้วกลายเป็น ๕ สาย ประดุจนิ้วมือ ๕ นิ้วที่ฝ่ามือฉะนั้น. ในที่ๆ สายน้ำนั้นเลี้ยวขวาสระอโนดาด ๓ เลี้ยวแล้วไหลไป เรียกว่าอาวัตตคงคา. ในที่ๆ ไหลตรงไป ๖๐ โยชน์ ทางหลังแผ่นหิน เรียกว่ากัณหคงคา. ในที่ไหลไปทางอากาศ ๖๐ โยชน์ เรียกว่าอากาสคงคา. ในที่ที่หยุดอยู่ในโอกาส ๖๐ โยชน์ บนแผ่นหินชื่อว่าติยัคคฬะ เรียกว่าติยัคคฬโปกรณี. ในที่ที่เซาะฝั่งเข้าไปสู่แผ่นหิน ๖๐ โยชน์ เรียกว่าพหลคงคา. ในที่ที่ไหลไป ๖๐ โยชน์ ทางอุโมงค์เรียกว่าอุมมังคคงคา. ก็ในที่ที่สายน้ำกระทบติรัจฉานบรรพต ชื่อวิชฌะแล้วไหลไปเป็นสายน้ำ ๕ สาย ก็ถือว่าเป็นแม่น้ำทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจีรวดี สรภู มหี. พึงทราบว่า แม่น้ำใหญ่ ๕ สายเหล่านี้ย่อมไหลมาแต่ป่าหิมวันต์ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สวนฺติโย ได้แก่ แม่น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำใหญ่หรือแม่น้ำน้อย ซึ่งกำลังไหลไปอยู่.
               บทว่า อปฺเปนฺติ แปลว่า ไหลไปรวม คือไหลลง.
               บทว่า ธารา ได้แก่ สายน้ำฝน.
               บทว่า ปูรตฺตํ แปลว่า ภาวะที่น้ำเต็ม.
               ความจริง มหาสมุทรมีธรรมดาดังนี้ :-
               ใครๆ ไม่อาจกล่าวว่า เวลานี้ฝนตกน้อย พวกเราจะพากันเอาแหและลอบเป็นต้น ไปจับปลาและเต่า หรือว่า เวลานี้ฝนตกมาก เราจักได้ (อาศัย) สถานที่หลังหิน. ตั้งแต่ปฐมกัปมา น้ำเพียงนิ้วมือหนึ่งจากน้ำที่ขังจรดคอดของขุนเขาสิเนรุ จะไม่ยุบลงข้างล่างไม่ดันขึ้นข้างบน.
               บทว่า เอกรโส แปลว่า มีรสไม่เจือปน.
               บทว่า มุตฺตา ความว่า แก้วมุกดามีหลายชนิดต่างโดยชนิดเล็ก ใหญ่ กลมและยาวเป็นต้น.
               บทว่า มณี ความว่า มณีมีหลายชนิดต่างโดยสีมีสีแดงและสีเขียวเป็นต้น.
               บทว่า เวฬุริโย ความว่า แก้วไพฑูรย์มีหลายชนิดต่างโดยสีมีสีดังสีไม้ไผ่และสีดอกซึกเป็นต้น.
               บทว่า สงฺโข ความว่า สังข์มีหลายชนิดต่างโดยสังข์ทักษิณวรรต สังข์ทองแดง และสังข์สำหรับเป่าเป็นต้น.
               บทว่า สิลา ความว่า สิลา มีหลายอย่างต่างโดยสีมีสีขาว สีดำ และสีดังเมล็ดถั่วเขียวเป็นต้น.
               บทว่า ปวาฬํ ความว่า แก้วประพาฬมีหลายอย่างต่างโดยชนิดเล็ก ใหญ่ แดงและแดงทึบเป็นต้น.
               บทว่า มสารคลฺลํ ได้แก่ แก้วลาย.
               บทว่า นาคา ได้แก่ นาคที่อยู่บนหลังคลื่นก็มี นาคที่อยู่ในวิมานก็มี.
               บทว่า อฏฺฐ ปหาราท ความว่า พระศาสดาทรงสามารถตรัสธรรม ๘ ประการบ้าง ๑๖ ประการบ้าง ๓๒ ประการบ้าง ๖๔ ประการ บ้าง ๑๐๐ บ้าง ๑,๐๐๐ บ้าง แต่ทรงพระดำริว่า ปหาราทะกล่าว ๘ ประการ แม้เราก็จักกล่าวให้เห็นสมกับธรรม ๘ ที่ปหาราทะกล่าวนั้นนั่นแหละ จึงได้ตรัสอย่างนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อนุปุพฺพสิกฺขา เป็นต้นต่อไปนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาสิกขา ๓ ด้วยอนุปุพพสิกขา ทรงถือเอาธุดงค์ ๑๓ ด้วยอนุปุพพกิริยา. ทรงถือเอาอนุปัสสนา ๗ มหาวิปัสสนา ๑๘ การจำแนกอารมณ์ ๓๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ด้วยปทา.
               บทว่า อายตเกเนว อญฺญาปฏิเวโธ ความว่า ชื่อว่าภิกษุผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ในศีลเป็นต้น ตั้งแต่ต้นแล้วบรรลุพระอรหัต เหมือนอย่างกบกระโดดไปไม่มี เพราะเหตุนั้น จึงอธิบายว่า ก็ภิกษุบำเพ็ญศีล สมาธิและปัญญา ตามลำดับเท่านั้น จึงอาจบรรลุพระอรหัตได้.
               บทว่า อารกาว แปลว่า ในที่ไกลนั่นแล.
               บทว่า น เตน นิพฺพานธาตุยา อูนตฺตํ วา ปูรตฺตํ วา ความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เสด็จอุบัติขึ้น แม้ตลอดอสงไขยกัป แม้สัตว์ตนหนึ่งก็ไม่อาจปรินิพพานได้ แม้ในกาลนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า นิพพานธาตุว่างเปล่า แต่ในพุทธกาล ในสมาคมหนึ่งๆ สัตว์ทั้งหลายยินดีอมตธรรมนับไม่ถ้วน แม้ในกาลนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า นิพพานธาตุเต็ม.

               จบอรรถกถาปหาราทสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ๙. ปหาราทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 23 / 1อ่านอรรถกถา 23 / 108อรรถกถา เล่มที่ 23 ข้อ 109อ่านอรรถกถา 23 / 110อ่านอรรถกถา 23 / 281
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=4030&Z=4163
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=5375
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=5375
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :