ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 333อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 334อ่านอรรถกถา 22 / 335อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑
๙. นิพเพธิกสูตร

               อรรถกถานิพเพธิกสูตรที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิพเพธิกสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
               ธรรมชื่อว่า นิพเพธิกปริยาย เพราะเจาะ คือทำลายกองโลภะเป็นต้นที่ยังไม่เคยเจาะ ยังไม่เคยทำลายมาก่อน. อธิบายว่า ได้แก่เหตุแห่งการเจาะแทง.
               บทว่า นิทานสมฺภโว ความว่า ชื่อว่านิทาน เพราะมอบให้ซึ่งกาม คือมอบหมายให้ โดยความเป็นเหตุสามารถให้เกิดขึ้น. ธรรม ชื่อว่าสัมภวะ เพราะเป็นแดนเกิดขึ้น. สัมภวะก็คือนิทานนั่นเอง จึงชื่อว่านิทานสัมภาวะ.
               บทว่า เวมตฺตตา ได้แก่ เหตุต่างๆ กัน.
               บทว่า กามคุณา ความว่า ชื่อว่ากาม เพราะหมายความว่า ชวนให้ใคร่. ชื่อว่าคุณ เพราะหมายความว่าผูกมัดไว้ ดังในประโยคเป็นต้นว่า อนฺตคุณํ (สายรัดไส้).
               บทว่า จกฺขุวิญฺเญยฺยา ความว่า ที่จะพึงเห็นด้วยจักษุวิญญาณ.
               บทว่า อิฏฐา มีอธิบายว่า จะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม ก็คงเป็นอิฏฐารมณ์อยู่นั่นแหละ.
               บทว่า กนฺตา ได้แก่ เป็นของน่าใคร่.
               บทว่า มนาปา ได้แก่ เป็นที่เจริญใจ.
               บทว่า ปิยรูปา ได้แก่ เป็นที่รัก โดยกำเนิด.
               บทว่า กามูปสญฺหิตา ความว่า อันกามที่เกิดขึ้นเพราะทำปิยรูปให้เป็นอารมณ์ ยั่วยวนแล้ว.
               บทว่า รชนียา ความว่า เป็นเหตุแห่งการบังเกิดขึ้นของราคะ.
               บทว่า เนเต กามา ความว่า รูปเป็นต้นเหล่านี้ ได้ชื่อว่าเป็นกาม เพราะอรรถว่าใคร่ ก็หามิได้.
               บทว่า สงฺกปฺปราโค ได้แก่ ราคะที่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งความดำริ.
               บทว่า กาโม ความว่า ราคะที่เกิดขึ้นแล้วนี้ ผู้ปฏิบัติเพื่อละกาม จำต้องละ. รูปเป็นต้น ชื่อว่ากาม ด้วยอรรถว่าเป็นเหตุใคร่.
               บทว่า จิตฺรานิ ได้แก่ มีอารมณ์ที่วิจิตรงดงาม.
               บทว่า ผสฺโส ได้แก่ ผัสสะที่เกิดขึ้นพร้อมกัน.
               บทว่า กามยมาโน ได้แก่ ผู้ใคร่กาม.
               บทว่า ตชฺชํ ตชฺชํ ได้แก่อัตภาพที่เกิดขึ้นๆ จากกามนั้น.
               บทว่า ปุญฺญภาคิยํ ความว่า อัตภาพของผู้ที่ปรารถนากามอันเป็นทิพย์ แล้วเกิดในเทวโลก เพราะสุจริตธรรมบริบูรณ์ ชื่อว่าปุญญภาคิยะ (ที่เป็นฝ่ายกุศล). อัตภาพของผู้ที่เกิดในอบาย เพราะทุจริตธรรมบริบูรณ์ ชื่อว่าอปุญญภาคิยะ (ที่เป็นฝ่ายอกุศล).
               บทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว กามานํ วิปาโก ความว่า อัตภาพทั้งสองอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นวิบากของกาม เพราะเกิดขึ้นโดยอาศัยความปรารถนากาม.
               บทว่า โส อิมํ นิพฺเพธิกํ ความว่า ภิกษุนั้นย่อมรู้จริยาอันประเสริฐนี้ เป็นเครื่องเจาะไชฐาน (อายตนะ) ๓๖ อย่าง.
               บทว่า กามนิโรธํ ความว่า (กามนิโรธ) ที่ได้มาอย่างนี้เพราะกามทั้งหลายดับไป. ด้วยว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกมรรค กล่าวคือพรหมจรรย์นั่นแหละว่า เป็นความดับกาม.
               บทว่า สามิสา ความว่า สัมปยุตด้วยอามิสคือกิเลส.
               ในทุกๆ ฐานะ (วาระ) พึงทราบความโดยนัยนี้.
               อีกประการหนึ่ง พึงทราบความในบทว่า โวหารปกฺกํ นี้ว่า ได้แก่โวหารวิบาก. อธิบายว่า โวหารกล่าวคือถ้อยคำ ชื่อว่าวิบากของสัญญา.
               บทว่า นํ ในคำว่า ยถา นํ นี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น. ดังนั้นจึงมีอธิบายว่า เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุคคลจำได้อย่างใดๆ ย่อมพูดไปอย่างนั้นๆ ด้วยคิดว่า เราจำได้อย่างนี้ ฉะนั้นจึงชื่อว่า โวหารเวปักกะ.
               บทว่า อวิชฺชา ได้แก่ อวิชชาที่หนาแน่น ที่เป็นตัวไม่รู้ในฐานะทั้ง ๘. อาสวะทั้งหลาย ชื่อว่านิรยคามนิยา เพราะให้สัตว์ไปนรก. อธิบายว่า เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในนรก.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แหละ.
               บทว่า เจตนาหํ ตัดบทเป็น เจตนํ อหํ (เราตถาคตกล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม).
               ในบทว่า เจตนาหํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเจตนาที่มีการจัดแจง (สัมปยุตธรรม) ที่รวบรวมธรรมทุกอย่าง (กุศลธรรม อกุศลธรรม) ไว้.
               บทว่า เจตยิตฺวา ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปในทวาร.
               บทว่า มนสา ได้แก่ จิตที่สัมปยุตด้วยเจตนา.
               บทว่า นิรยเวทนียํ ได้แก่ อำนวยวิบากในนรก.
               แม้ในบททั้งหลายที่เหลือ ก็มีนัยนี้แหละ.
               บทว่า อธิมตฺตํ ได้แก่ ทุกข์มีกำลัง.
               บทว่า ทนฺธวิราคํ ความว่า ทุกข์หนัก คือทุกข์ที่คลายไปได้ไม่เร็ว ได้แก่ค่อยๆ คลายไป.
               บทว่า อุรตฺตาฬี กนฺทติ ได้แก่ ค่อนอุระคร่ำครวญ.
               บทว่า ปริเยฏฺฐิ ได้แก่ การแสวงหา.
               บทว่า เอกปทํ ทฺวิปทํ ได้แก่ รู้เพียงทางเดียวหรือเพียงสองทาง. อธิบายว่า ใครจะรู้ประมาณการ.
               บทว่า สมฺโมหเวปกฺกํ ได้แก่ วิบากแห่งสัมโมหะ (ความงมงาย). อธิบายว่า ความลืมเลือน ชื่อว่าเป็นผลไหลออกแห่งทุกข์.
               แม้ในบทที่สองก็มีนัยนี้แหละ เพราะว่า ถึงการแสวงหาก็เป็นผลไหลออกแห่งทุกข์นั้น.
               ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.

               จบอรรถกถานิพเพธิกสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑ ๙. นิพเพธิกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 333อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 334อ่านอรรถกถา 22 / 335อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=9611&Z=9753
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=3347
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=3347
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :