ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 281อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 282อ่านอรรถกถา 22 / 283อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สาราณิยาทิวรรคที่ ๒
๑. สาราณิยสูตรที่ ๑

               สาราณิยาทิวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาปฐมสาราณียสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสาราณียสูตรที่ ๑ แห่งสาราณียาทิวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สาราณียา ได้แก่ ธรรมที่ควรให้ระลึกถึงกัน.
               บทว่า เมตฺตํ กายกมฺมํ ได้แก่ กายกรรมที่พึงกระทำด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา.
               แม้ในวจีกรรมและมโนกรรมทั้งหลาย ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็แลเมตตากายกรรมเป็นต้นเหล่านี้ ตรัสไว้ด้วยสามารถแห่งภิกษุทั้งหลาย. แม้คฤหัสถ์ทั้งหลายก็นำไปใช้ได้. อธิบายว่า สำหรับภิกษุทั้งหลายการบำเพ็ญธรรม คืออภิสมาจาริกวัตรด้วยเมตตาจิต ชื่อว่าเมตตากายกรรม. สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย กรรมมีอาทิอย่างนี้ว่า การเดินทางไป เพื่อไหว้พระเจดีย์ เพื่อไหว้โพธิพฤกษ์ เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ การเห็นภิกษุทั้งหลายผู้เข้าไปสู่บ้าน เพื่อบิณฑบาต แล้วลุกขึ้นต้อนรับ การรับบาตร การปูลาดอาสนะและการตามส่ง ชื่อว่าเมตตากายกรรม.
               สำหรับภิกษุทั้งหลาย การบอกสอนอาจารบัญญัติ การบอกกรรมฐาน การแสดงธรรม การบอกพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก (แก่ภิกษุ สามเณร) ด้วยเมตตาจิต ชื่อว่าเมตตาวจีกรรม.
               สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย ในเวลาที่กล่าวคำเป็นต้นว่า พวกเราจักไปเพื่อไหว้พระเจดีย์ พวกเราจักไปเพื่อไหว้โพธิพฤกษ์ พวกเราจักกระทำการฟังธรรม พวกเราจักกระทำการบูชาด้วยประทีป ระเบียบและดอกไม้ พวกเราจักสมาทานซึ่งสุจริต ๓ พวกเราจักถวายสลากภัตรเป็นต้น พวกเราจักถวายผ้าจำนำพรรษา วันนี้พวกเราจักถวายปัจจัย ๔ แก่พระสงฆ์ ท่านทั้งหลายจงนิมนต์พระสงฆ์แล้วจัดแจงของขบฉันเป็นต้น พวกท่านจงปูลาดอาสนะ พวกท่านจงตั้งน้ำดื่ม พวกท่านจงต้อนรับนำพระสงฆ์มา พวกท่านจงให้พระสงฆ์นั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว เกิดอุตสาหะ กระทำไวยาวัจกิจ ดังนี้ ชื่อว่าเมตตาวจีกรรม.
               สำหรับภิกษุทั้งหลาย การลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กระทำการปฏิบัติสรีระก็ดี กระทำวัตรที่ลานพระเจดีย์ เป็นต้นก็ดี นั่งบนอาสนะที่สงัดแล้วคิดว่า ภิกษุทั้งหลายในวิหารนี้ จงมีความสุข ไม่มีเวร ไม่มีทุกข์ ดังนี้ ชื่อว่าเมตตามโนกรรม. สำหรับคฤหัสถ์ทั้งหลาย การคิดว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงอยู่เป็นสุข ไม่มีเวร ไม่มีทุกข์ ดังนี้ ชื่อว่าเมตตามโนกรรม.
               บทว่า อาวิ เจว รโห จ ความว่า ทั้งต่อหน้า และลับหลัง.
               ในสองอย่างนั้น การถึงความเป็นสหาย (การช่วยเหลือ) ในจีวรกรรมเป็นต้นของภิกษุใหม่ทั้งหลาย ชื่อว่ากายกรรมต่อหน้า. ส่วนวจีกรรมทุกอย่าง แม้ต่างโดยการถวายน้ำล้างเท้าแก่พระเถระเป็นต้น ชื่อว่ากายกรรมต่อหน้า.
               การช่วยเก็บงำสิ่งของทั้งหลายมีฟืนเป็นต้นที่ภิกษุใหม่และพระเถระทั้งสองฝ่ายเก็บไว้ไม่เรียบร้อย ไม่ทำให้เสียหาย ในภัณฑะเหล่านั้น ดุจเก็บงำของที่ตนเก็บไว้ไม่ดีให้เรียบร้อยฉะนั้น ชื่อว่าเมตตากายกรรมลับหลัง.
               การกล่าวยกย่องอย่างนี้ว่า ท่านเทวเถระ ท่านติสสเถระ ดังนี้ ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมต่อหน้า. ก็และเมื่อจะสอบถามถึงพระเถระผู้ไม่อยู่ในวิหาร การกล่าวคำน่ารักอย่างนี้ว่า ท่านเทวเถระของเราไปไหน ท่านติสสเถระของเราไปไหน เมื่อไรจักมาหนอ ดังนี้ ชื่อว่าเมตตาวจีกรรมลับหลัง.
               ส่วนการลืมตา อันสนิทสนมด้วยสิเนหา มองดูด้วยใบหน้าอันแจ่มใส ชื่อว่าเมตตามโนกรรมต่อหน้า. การมุ่งดี (เอาใจช่วย) ว่า ขอท่านเทวเถระ ท่านติสสเถระ จงไม่มีโรค ไม่มีอาพาธ ดังนี้ ชื่อว่าเมตตามโนกรรมลับหลัง.
               บทว่า ลาภา ได้แก่ ปัจจัยที่ได้มา มีจีวรเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมิกา ได้แก่ ลาภที่เกิดขึ้นด้วยภิกขาจริยวัตรโดยธรรม สม่ำเสมอ โดยเว้นมิจฉาอาชีวะ ต่างโดยโกหก (หลอกลวง) เป็นต้น.
               บทว่า อนฺตมโส ปตฺต ปริยาปนฺนตฺตมฺปิ ความว่า โดยที่สุดแม้เพียงภิกษา ๒-๓ ทัพพีที่เนื่องแล้วในบาตร คืออยู่ติดก้นบาตร.
               ในบทว่า อปฺปฏิวิภตฺตโภคี นี้ การแบ่งปันมี ๒ อย่าง คือการแบ่งปันอามิส ๑ การแบ่งปันบุคคล ๑.
               ในสองอย่างนั้น การแบ่งปันโดยคิดอย่างนี้ว่า เราจักให้เท่านี้ ไม่ให้เท่านี้ดังนี้ ชื่อว่าแบ่งปันอามิส. การแบ่งปันโดยคิดอย่างนี้ว่า เราจักให้แก่ภิกษุรูปโน้น ไม่ให้รูปโน้นดังนี้ ชื่อว่าแบ่งปันบุคคล. ภิกษุผู้ไม่หวงลาภบริโภค โดยไม่กระทำทั้งสองอย่างนั้น ชื่อว่า อปฺปฏิวิภตฺตโภคี.
               ลักษณะของผู้บริโภคร่วมกัน ในบทว่า สีลวนฺเตหิ สพฺรหฺมจารีหิ สาธารณโภคี นี้ มีดังนี้
               ภิกษุได้อาหารใดๆ ที่ประณีต ไม่ยอมให้แก่คฤหัสถ์ทั้งหลายโดยมุ่งเอาลาภต่อลาภ (ทั้ง) ไม่บริโภคด้วยตนเอง และเมื่อจะรับก็รับด้วยคิดว่าจงเป็นของสาธารณะกับหมู่สงฆ์ ย่อมเห็นเหมือนเป็นของสงฆ์ ที่จะต้องตีระฆังให้มาบริโภคร่วมกัน.
               ถามว่า ก็ใครบำเพ็ญสาราณียธรรมนี้ให้บริบูรณ์ได้ ใครไม่บำเพ็ญให้บริบูรณ์?
               ตอบว่า ผู้ทุศีลย่อมบำเพ็ญให้บริบูรณ์ไม่ได้ ก่อน เพราะภิกษุผู้มีศีลทั้งหลายจะไม่ยอมรับสิ่งของของผู้ทุศีลนั้น. ส่วนภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ยอมให้วัตรด่างพร้อย ย่อมบำเพ็ญให้บริบูรณ์ได้.
               ในการบำเพ็ญสาราณียกรรมให้บริบูรณ์ได้นั้น มีธรรมเนียม ดังนี้
               ก็ภิกษุใดตั้งใจให้ของแก่มารดาก็ดี แก่บิดาก็ดี แก่อาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้นก็ดี ภิกษุนั้น (ชื่อว่า) ย่อมให้สิ่งที่ควรให้ (แก่คนที่ควรให้) แต่ไม่ชื่อว่ามีสาราณียธรรม มีแต่เพียงการปฏิบัติผู้ที่ควรห่วงใย. เพราะว่า สาราณียธรรมย่อมเหมาะแก่ผู้ที่พ้นจากปลิโพธี (ความห่วงใย) แล้ว.
               ก็ผู้ที่จะบำเพ็ญสาราณียธรรมนั้น เมื่อจะให้โดยเจาะจง ควรให้แก่ภิกษุไข้ ผู้พยาบาลภิกษุไข้ ภิกษุอาคันตุกะและภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง และภิกษุผู้บวชใหม่ยังไม่รู้การรับสังฆาฏิและการรับบาตร ครั้นให้แก่ภิกษุเหล่านี้แล้ว ยังมีของเหลือ นับจำเดิมแต่อาสนะแห่งพระเถระไป ภิกษุใดจะรับเท่าใด ควรให้ภิกษุนั้นเท่านั้น โดยไม่ให้องค์ละเล็กละน้อย. เมื่อไม่มีของเหลือ ออกไปบิณฑบาตอีก ควรให้ส่วนที่ประณีตนั้นๆ จำเดิมแต่อาสนะแห่งพระเถระไป (ตัวเอง) บริโภคส่วนที่เหลือ.
               เพราะมีพระบาลีว่า สีลวนฺเตหิ ดังนี้ ถึงจะไม่ให้แก่ภิกษุผู้ทุศีลก็ควร.
               ก็สาราณียธรรมนี้บำเพ็ญได้ง่ายในบริษัทที่ศึกษาดีแล้ว เพราะในหมู่บริษัทที่ศึกษาดีแล้ว ภิกษุใดได้ (อาหาร) มาจากที่อื่น ภิกษุนั้นจะไม่ยอมรับ ถึงแม้จะไม่ได้มาจากที่อื่น ก็จะรับแต่พอประมาณเท่านั้น ไม่รับจนเหลือเฟือ.
               ก็สาราณียธรรมนี้ เมื่อภิกษุจะให้ของที่ตนไปบิณฑบาตได้มาบ่อยๆ อย่างนี้. จะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ได้ ต้องใช้เวลา ๑๒ ปี ต่ำกว่านั้นบริบูรณ์ไม่ได้. เพราะถ้าเธอบำเพ็ญสาราณียธรรมในปีที่ ๑๒ วางบาตรที่เต็มด้วยอาหารไว้บนอาสนศาลา แล้วไปอาบน้ำ และพระสังฆเถระ มาถามว่า นี่บาตรของใคร? เมื่อเขาตอบว่า บาตรของผู้บำเพ็ญสาราณียธรรม ก็จะกล่าวว่า จงนำเอาบาตรนั้นมา แล้วเลือกฉันบิณฑบาตนั้นจนหมดทุกอย่าง ตั้งบาตรเปล่าไว้. ครั้นภิกษุนั้นมาเห็นบาตรเปล่า ก็จะเกิดโทมนัสว่า ภิกษุทั้งหลายฉันเสียหมด ไม่เหลือไว้ให้เราเลย. สาราณียธรรมจะแตก ต้องบำเพ็ญใหม่อีก ๑๒ ปี คล้ายกับติตถิยปริวาส. ภิกษุนั้น เมื่อสาราณียธรรมด่างพร้อยคราวเดียว ต้องบำเพ็ญใหม่อีก.
               ส่วนภิกษุใดเกิดโสมนัสว่า เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอที่เพื่อนสพรหมจารี ไม่สอบถามถึงอาหารที่อยู่ในบาตรของเราแล้วฉัน ดังนี้. สาราณียธรรมของภิกษุนั้น ชื่อว่าสมบูรณ์แล้ว.
               ก็ภิกษุผู้มีสาราณียธรรมบริบูรณ์อย่างนี้ ย่อมไม่มีความริษยา ไม่มีความตระหนี่ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย หาปัจจัยได้ง่าย แม้ของที่เขาถวายแก่เธอผู้มีสาราณียธรรมบริบูรณ์ ย่อมไม่สิ้นไป. เธอย่อมได้สิ่งของมีค่า ในฐานะที่เธอจำแนกแจกสิ่งของ เมื่อประสบภัยหรือความหิวโหย เทวดาทั้งหลายย่อมช่วยเหลือ.
               ในข้อนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง.

               เรื่องพระติสสเถระ               
               เล่ากันมาว่า พระติสสเถระ ชาวเลณคิรีวิหาร อยู่อาศัยบ้านชื่อว่ามหาขีระ. พระมหาเถระ ๕๐ รูปเดินทางไปไหว้นาคทีปเจดีย์ เที่ยวบิณฑบาตในขีรคาม ไม่ได้อะไรเลย จึงพากันออกไป. พระติสสเถระเข้าไปเห็นพระเถระเหล่านั้น จึงถามว่า ท่านขอรับ ท่านได้ (อาหาร) แล้วหรือ? พระเถระเหล่านั้นตอบว่า คุณ พวกเราไปมาแล้ว. ท่านรู้ว่า พระเถระเหล่านั้นไม่ได้อาหาร จึงกล่าวว่า ท่านขอรับ ขอพวกท่านจงรออยู่ในที่นี้แหละจนกว่าผมจะกลับมา. พระเถระเหล่านั้นกล่าวว่า คุณ! พวกเรามีถึง ๕๐ รูปยังไม่ได้แม้แต่เพียงน้ำล้างบาตร. ท่านพระติสสเถระกล่าวว่า ท่านขอรับ ขึ้นชื่อว่าภิกษุผู้เป็นเจ้าของถิ่น ย่อมเป็นผู้สามารถ ถึงแม้จะไม่ได้ภิกษา ก็ย่อมรู้ช่องทางภิกษาจาร. พระเถระทั้งหลายคอยอยู่แล้ว พระติสสเถระเข้าไปสู่บ้านแล้ว มหาอุบาสิกาจัดขีรภัตร (ไว้คอยท่า) ในหมู่บ้านใกล้ๆ นั่นเอง ยืนมองดูพระเถระอยู่แล้ว พอพระเถระมาถึงประตูเท่านั้น ก็ถวายอาหารจนเต็มบาตร ท่านถือเอาบาตรนั้น ตรงไปยังสำนักของพระเถระทั้งหลาย แล้วกล่าวกับพระสังฆเถระว่า นิมนต์รับเถิดขอรับ.
               พระเถระคิดว่า พวกเราจำนวนเท่านี้ยังไม่ได้อะไรเลย ภิกษุรูปนี้ถือเอาบาตรไป กลับมาเร็วแท้ นี้อะไรกันหนอ ดังนี้แล้ว มองหน้าพระเถระที่เหลือทั้งหลาย.
               พระติสสเถระรู้โดยอาการที่มองหน้านั่นแหละ กล่าวว่า ท่านขอรับ บิณฑบาต ผมได้มาโดยชอบธรรม ขอท่านทั้งหลายอย่ารังเกียจเลย นิมนต์รับเถิด แล้วถวายบิณฑบาตแก่พระเถระทุกรูป พอแก่ความต้องการ ส่วนตนเองก็ฉันจนอิ่ม.
               ครั้นในเวลาเสร็จภัตกิจ พระเถระทั้งหลายถามท่านว่า คุณ! คุณบรรลุโลกุตรธรรมเมื่อไร? ท่านตอบว่า ท่านขอรับ ผมยังไม่มีโลกุตรธรรม. พระเถระทั้งหลายถามว่า อาวุโส คุณได้ฌานหรือ? ท่านตอบว่า ท่านขอรับ ถึงฌานผมก็ยังไม่ได้. พระเถระทั้งหลายถามว่า หรือคุณมีปาฏิหาริย์?
               ท่านตอบว่า ผมบำเพ็ญสาราณียธรรมขอรับ ตั้งแต่เวลาที่ผมบำเพ็ญสาราณียธรรมบริบูรณ์แล้ว แม้หากจะมีภิกษุตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ รูป อาหารที่อยู่ในบาตรก็ไม่หมดสิ้น. พระเถระเหล่านั้น กล่าวว่า สาธุ สาธุ ท่านสัตบุรุษ ข้อนี้สมควรแก่ท่านแล้ว ดังนี้.
               เท่าที่เล่ามานี้เป็นตัวอย่างในข้อว่า อาหารที่อยู่ในบาตรไม่หมดสิ้นไปก่อน.
               ก็พระติสสเถระองค์เดียวกันนี้แหละไปสู่ที่ถวายทาน เพื่อมหาบูชาในเจติยบรรพต ชื่อว่าคิริกัณฑะ แล้วถามว่า ในการให้ทานนี้มีอะไรเป็นของประเสริฐที่สุด. คนทั้งหลายตอบว่า มีผ้าสาฎก ๒ ผืนขอรับ. พระเถระกล่าวว่า ผ้าสาฎกคู่นี้จักถึงแก่เรา. อำมาตย์ได้ยินคำนั้นแล้วไปกราบทูลพระราชาว่าภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งกล่าวอย่างนี้.
               พระราชาตรัสว่า ภิกษุหนุ่มมีความคิดอย่างนี้ (แต่) ผ้าสาฎกเนื้อละเอียดเหมาะแก่พระมหาเถระทั้งหลาย แล้วทรงวางคู่ผ้าสาฎกด้วยทรงดำริว่า เราจักถวายแก่พระมหาเถระทั้งหลาย. เมื่อท้าวเธอถวาย (ผ้า) ในภิกษุสงฆ์ผู้ยืนอยู่ตามลำดับ ผ้าสาฎกที่วางไว้บนก็ไม่ติดพระหัตถ์ ผ้าผืนอื่นกลับติดพระหัตถ์ แต่ในเวลาถวายแก่ภิกษุหนุ่ม ผ้าสาฎกทั้งสองผืนนั้น กลับติดพระหัตถ์ ท้าวเธอทรงวางไว้บนมือของภิกษุหนุ่มแล้ว ทรงมองดูหน้าอำมาตย์ นิมนต์ให้ภิกษุหนุ่มนั่ง ถวายทาน ทรงละภิกษุสงฆ์แล้ว ประทับในสำนักของภิกษุหนุ่ม ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณท่านบรรลุธรรมนี้ เมื่อไร? เธอไม่ทูลคุณธรรมที่ไม่มีอยู่โดยอ้อมค้อม แต่กลับทูลว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร โลกุตรธรรมของอาตมภาพไม่มี.
               พระราชาตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนพระคุณเจ้าก็ได้พูดไว้แล้วมิใช่หรือ?
               ภิกษุหนุ่มตอบว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถูกแล้ว อาตมภาพบำเพ็ญสาราณียธรรม เริ่มแต่เวลาที่อาตมภาพบำเพ็ญสาราณียธรรมบริบูรณ์แล้ว ในที่ที่เขาแจกสิ่งของ (ทุกแห่ง) ของมีค่ามากจะตก (แก่อาตมภาพ). พระราชาตรัสว่า สาธุ สาธุ พระคุณเจ้า ผ้าสาฎกคู่นี้สมควรแก่พระคุณเจ้าแล้ว เสด็จหลีกไป.
               เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นตัวอย่างในข้อว่า ในที่ที่เขาแจกของกัน ของมีค่าจะตก (แก่ผู้บำเพ็ญสาราณียธรรม).
               ก็ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในภารตคาม ไม่ทันได้บอกกล่าวพระนาคเถรี รีบหนีไป ในเพราะพรหมติสสภัย. ในวันรุ่งขึ้น พระเถรีพูดกับภิกษุณีสาวชื่อว่าจัณฑาลติสสะว่า บ้านเงียบเหลือเกิน เธอทั้งหลายจงไปตรวจสอบดูก่อน ภิกษุณีสาวเหล่านั้นไปแล้ว รู้ข้อที่คนทั้งปวงหนีไป จึงกลับมาบอกแก่พระเถรี.
               พระเถรีฟังแล้วจึงพูดว่า พวกเธอย่าคิดถึงข้อที่คนเหล่านั้นหนีไปเลย จงทำความเพียรในอุเทศ การสอบถามและโยนิโสมนิการของตนไว้เถิด ดังนี้แล้ว ในเวลาภิกขาจาร ห่มจีวรแล้ว (รวม) ๑๒ รูปทั้งตัวเอง ได้พากันไปยืนอยู่ที่โคนต้นไทร ใกล้ประตูบ้าน.
               เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้ได้ถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุทั้ง ๑๒ รูป แล้วกล่าวว่า ข้าแต่คุณแม่เจ้า ขอท่านอย่าไปที่อื่นเลย นิมนต์มาที่นี้แห่งเดียวเป็นประจำ.
               ก็ (ในที่นั้น) มีพระเถระองค์หนึ่งนามว่านาคะ เป็นน้องชายของพระเถรี. ท่านคิดว่าภัยใหญ่ (เหลือเกิน) เราไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เราจักไปฝั่งโน้น รวมเป็น ๑๒ รูปทั้งตัวท่านเองออกจากที่อยู่ของตนๆ มาสู่ภารตคามด้วยคิดว่า เราจักไปเยี่ยมพระเถรี. พระเถรีได้ทราบว่า พระเถระมาจึงไปยังสำนักของพระเถระเหล่านั้น แล้วถามว่า มีเรื่องอะไรหรือ พระคุณเจ้า? พระเถระแจ้งพฤติการณ์นั้นแล้ว. พระเถรีพูดว่า วันนี้ นิมนต์พวกท่านอยู่ในวิหารนี้ (สัก) วันหนึ่ง รุ่งขึ้นค่อยไป. พระเถระทั้งหลายได้ไปยังวิหารแล้ว.
               ในวันรุ่งขึ้น พระเถรีไปบิณฑบาตที่ควงไม้ แล้วเข้าไปหาพระเถระ พูดว่า นิมนต์พวกท่านฉันบิณฑบาตนี้. พระเถระไม่พูดว่าจักสมควร ดังนี้แล้วยืนนิ่งเสีย. พระเถรีกล่าวว่า พระคุณท่าน บิณฑบาตนี้เป็นของชอบธรรม ขอท่านทั้งหลายอย่ารังเกียจเลย จงฉันเถิด ดังนี้. พระเถระกล่าวว่า จะเหมาะหรือพระเถรี?
               พระเถรีนั้นหยิบบาตร (ของพระเถระ) แล้วโยนไปในอากาศ. บาตรได้ลอยอยู่บนอากาศ. พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนพระเถรี ภัตที่ลอยอยู่บนอากาศสูง ๗ ชั่วลำตาลเป็นภัตตาหารสำหรับภิกษุณีเท่านั้น ดังนี้แล้ว กล่าวต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าภัย จะไม่มีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อภัยสงบแล้ว เราผู้กล่าวอริยวงศ์ ถูกจิตกล่าวเตือนอยู่เนืองๆ ว่า ท่านผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจะฉันภัตตาหารของภิกษุณี แล้วปล่อยให้เวลาว่างไปหรือดังนี้ จักไม่สามารถจะอยู่ต่อไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.
               ฝ่ายรุกขเทวดาก็คิดว่า ถ้าพระเถระจักฉันบิณฑบาตจากมือของพระเถรีแล้วไซร้ เราจักไม่ให้ท่านกลับ ถ้าไม่ฉัน เราจักให้ท่านกลับ ยืนดูการเดินไปของพระเถระ แล้วลงจากต้นไม้ กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าจงให้บาตรแก่ข้าพเจ้า แล้วรับบาตร นำพระเถระไปยังควงไม้นั่นแหละ ปูอาสนะ ถวายบิณฑบาต ให้พระเถระที่เสร็จภัตกิจแล้ว กระทำปฏิญญา (รับคำ) บำรุงทั้งภิกษุณี ๑๒ รูป ทั้งภิกษุ ๑๒ รูป อยู่เป็นเวลาถึง ๗ ปี.
               นี้เป็นตัวอย่างในข้อว่า เทวดาทั้งหลายย่อมขวนขวาย. เพราะในเรื่อง (ที่เป็นตัวอย่าง) นั้น พระเถรีได้บำเพ็ญสาราณียธรรรมมาจนครบบริบูรณ์.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า อขณฺฑานิ เป็นต้น ดังต่อไปนี้
               บรรดากองอาบัติทั้ง ๗ กอง ผู้ใดมีสิกขาบทขาดในตอนปลายหรือตอนต้น ศีลของผู้นั้นชื่อว่าขาด เหมือนผ้าขาดที่ชาย ส่วนผู้ใดมีสิกขาบทขาดที่ท่ามกลาง ศีลของผู้นั้นชื่อว่าทะลุ เหมือนผ้าที่ทะลุ (ตรงกลาง) ผู้ใดมีสิกขาบท ๒-๓ สิกขาบทขาดตามลำดับ ศีลของผู้นั้นชื่อว่าด่าง เหมือนแม่โคมีสีดำสีแดงเป็นต้นสีใดสีหนึ่ง โดยมีสีตัดกันปรากฏที่หลังหรือที่ท้อง. ผู้ใดมีสิกขาบทขาดในระหว่างๆ ศีลของผู้นั้นชื่อว่าพร้อย เหมือนแม่โคที่มีจุดแพรวพราว สลับกันในระหว่างๆ. ส่วนผู้ใดมีสิกขาบททั้งหมดไม่ขาดเลย ผู้นั้นชื่อว่ามีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย.
               แต่ว่าสิกขาบทเหล่านี้นั้น ท่านเรียกว่า ชื่อว่าภุชิสฺส (เป็นไท) เพราะกระทำความเป็นไท โดยพ้นจากความเป็นทาสของตัณหา. ชื่อว่าวิญญูปสัตถะ (อันวิญญูชนสรรเสริญ) เพราะวิญญูชนทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงสรรเสริญ.
               ชื่อว่า อปรามัฏฐะ เพราะตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำ (ไม่เกาะเกี่ยว) และเพราะใครๆ ไม่สามารถปรามาสได้ว่า ท่านเคยต้องอาบัติชื่อนี้มา และท่านเรียกว่า ชื่อว่า สมาธิสังวัตตนิกา เพราะยังอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิให้เป็นไป.
               บทว่า สีลสามญฺญคโต วิหรติ ความว่า เป็นผู้มีปกติเข้าถึงความเป็นผู้เสมอกันด้วยภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในทิศาภาคเหล่านั้นๆ อยู่. เพราะว่าศีลของพระโสดาบันเป็นต้นย่อมเป็นศีลเสมอกันด้วยศีลของพระอริยะเหล่าอื่นมีพระโสดาบันเป็นต้น ผู้อยู่ในะหว่างแห่งมหาสมุทรบ้าง ในเทวโลกนั่นแหละบ้าง เพราะฉะนั้นในมรรคศีล (ศีลในองค์มรรค) จึงไม่มีความแตกต่างกัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า สีลสามญฺญคโต วิหรติ นี้ไว้โดยทรงหมายเอาศีลของพระโสดาบันเป็นต้นนั้น.
               บทว่า ยายํ ทิฏฺฐิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิที่สัมปยุตด้วยมรรค.
               บทว่า อริยา คือ ไม่มีโทษ.
               ทิฏฐิ ชื่อว่า นิยยนิกา เพราะเป็นเหตุนำสัตว์ออกไปจากภพ.
               บทว่า ตกฺกรสฺส ความว่า ได้แก่ ผู้ที่ทำอย่างนั้น.
               บทว่า ทุกฺขกฺขยาย ความว่า เพื่อสิ้นสรรพทุกข์.
               บทว่า ทิฏฺฐิสามญฺญคโต ความว่า เป็นผู้เข้าถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกันอยู่.

               จบอรรถกถาปฐมสาราณียสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สาราณิยาทิวรรคที่ ๒ ๑. สาราณิยสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 281อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 282อ่านอรรถกถา 22 / 283อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=6838&Z=6858
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=2164
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=2164
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :