ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 193อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 194อ่านอรรถกถา 22 / 195อ่านอรรถกถา 22 / 388
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๕
๔. การณปาลีสูตร

               อรรถกถาการณปาลีสูตรที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในการณปาลีสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า การณปาลี เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น. พราหมณ์ชื่อการณปาลี เพราะทำราชการในราชสำนัก.
               บทว่า กมฺมนฺตํ กาเรติ ความว่า การณปาลีพราหมณ์ลุกแต่เช้าตรู่ กระทำประตูป้อม และกำแพงที่ยังไม่ได้ทา ซ่อมส่วนที่ชำรุด.
               บทว่า ปิงฺคิยานึ พฺราหฺมณํ ได้แก่ พราหมณ์ผู้เป็นอริยสาวกตั้งอยู่ในอนาคามิผล จึงมีชื่ออย่างนี้.
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วบูชาด้วยดอกไม้เป็นต้น แล้วจึงเข้าเมือง. นี้เป็นกิจวัตรประจำวันของพราหมณ์.
               การณปาลีพราหมณ์นั้นได้เห็นพราหมณ์ปิงคิยานีทำกิจวัตรอย่างนั้นแล้วกำลังเดินมา.
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า การณปาลีพราหมณ์คิดว่า พราหมณ์ผู้นี้มีปัญญา ญาณกล้า ไปไหนมาแต่เช้าหนอ รู้สึกว่าพราหมณ์เดินเข้ามาใกล้โดยลำดับ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า หนฺท กุโต ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิวา ทิวสฺส ได้แก่ กลางวัน. อธิบายว่า เที่ยงวัน.
               บทว่า ปณฺฑิโต มญฺญติ ในสูตรนี้มีใจความว่า การณปาลีพราหมณ์คิดว่า ท่านพราหมณ์ปิงคิยานีย่อมสำคัญพระสมณโคดมว่าเป็นบัณฑิตหรือไม่หนอ.
               บทว่า โกจาหมฺโภ ความว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าในอันที่จะรู้ถึงความฉลาดปราดเปรื่องแห่งพระปัญญาของพระสมณโคดมได้.
               บทว่า โก จ สมณสฺส โคตมสฺส ปญฺญา เวยฺยตฺติยํ ชานิสฺสามิ ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานีแสดงความไม่รู้ของตนด้วยประการทั้งปวงอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจักรู้ความฉลาดปราดเปรื่องแห่งพระปัญญาของพระสมณได้แต่ไหน คือข้าพเจ้าจักรู้ได้ด้วยเหตุไรเล่า.
               บทว่า โสปิ นูนสฺสตาทิโสว ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานีแสดงว่า ผู้ใดพึงรู้ถึงความฉลาดปราดเปรื่องแห่งพระปัญญาของพระสมณโคดม ผู้นั้นก็ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ แล้วบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ก็จะพึงเป็นพุทธะเช่นนั้นเท่านั้น. อันผู้ประสงค์จะวัดภูเขาสิเนรุก็ดี แผ่นดินก็ดี อากาศก็ดี ควรได้ไม้วัดหรือเชือกเท่ากับเขาสิเนรุแผ่นดินและอากาศนั้น แม้ผู้รู้ปัญญาของพระสมณโคดม ก็ควรจะได้พระสัพพัญญุตญาณเช่นเดียวกับพระญาณของพระองค์เหมือนกัน.
               ก็ในสูตรนี้ พราหมณ์ปิงคิยานีกล่าวย้ำด้วยความเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า อุฬาราย ได้แก่ สูงสุดคือประเสริฐสุด.
               บทว่า โกจาหมฺโภ ความว่า ท่านผู้เจริญ เราเป็นใครเล่าในการที่จะสรรเสริญพระสมณโคดม.
               บทว่า โก จ สมณํ โคตมํ ปสํสิสฺสามิ ความว่า เราจักสรรเสริญได้ด้วยเหตุไรเล่า.
               บทว่า ปสฏฺฐปสฏฺโฐ ความว่า พราหมณ์ปิงคิยานีสรรเสริญด้วยพระคุณทั้งหลายของพระองค์ ซึ่งชาวโลกทั้งปวงสรรเสริญแล้ว อันฟุ้งไปเหนือคุณทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องสรรเสริญพระองค์ด้วยพระคุณอื่นๆ เหมือนอย่างว่า ดอกจัมปาก็ดี อุบลขาบก็ดี ปทุมแดงก็ดี จันทน์แดงก็ดี เป็นของผ่องใสและมีกลิ่นหอมด้วยสิริ คือสีและกลิ่นประจำภายในของมันเอง ไม่จำจะต้องชมดอกไม้นั้นด้วยสีและกลิ่นทีจรมาภายนอก.
               อนึ่ง เหมือนอย่างว่า แก้วมณีก็ดี ดวงจันทร์ก็ดี ย่อมส่องประกายด้วยแสงของมันเอง แก้วมณีและดวงจันทร์นั้นก็ไม่จำต้องส่งประกายด้วยแสงอื่นฉันใด พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ทรงได้รับสรรเสริญยกย่อง ให้ถึงความเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลกทั้งปวงด้วยพระคุณของพระองค์เองที่ชาวโลกทั้งปวงสรรเสริญแล้ว ก็ไม่จำต้องสรรเสริญพระองค์ด้วยพระคุณอื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปสฏฺฐปสฏฺโฐ เพราะเป็นผู้ประเสริฐกว่าชนผู้ประเสริฐทั้งหลาย ดังนี้ก็มี.
               ถามว่า ก็ใครชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ.
               ตอบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นผู้ประเสริฐกว่าชาวกาสีและชาวโกศล พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ประเสริฐกว่าชาวอังคะและมคธ กษัตริย์ลิจฉวีกรุงเวสาลีประเสริฐกว่าชาวแคว้นวัชชี มัลลกษัตริย์เมืองปาวา เมืองกุสินาราเป็นผู้ประเสริฐ แม้กษัตริย์นั้นๆ เหล่าอื่นก็ประเสริฐกว่าชนบทเหล่านั้นๆ พราหมณ์มีจังกีพราหมณ์เป็นต้นก็ประเสริฐกว่าหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย อุบาสกมีอนาถบิณฑิกะเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าอุบาสกทั้งหลาย อุบาสิกามีนางวิสาขาเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าอุบาสิกาหลายร้อย ปริพาชกมีสุกุลุทายีเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าปริพาชกหลายร้อย มหาสาวิกามีอุบลวัณณาเถรีเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าภิกษุณีหลายร้อย พระมหาเถระมีพระสารีบุตรเถระเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าภิกษุหลายร้อย เทวาดมีท้าวสักกะเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าทวยเทพหลายพัน พรหมมีมหาพรหมเป็นต้นก็ประเสริฐกว่าพรหมหลายพัน ชนและเทพแม้เหล่านั้นทั้งหมดก็ยังยกย่องชมเชยสรรเสริญพระทศพล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านเรียกว่า ปสฏฺฐปสฏโฐ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อตฺถวสํ แปลว่า อำนาจแห่งประโยชน์ทั้งหลาย.
               ครั้งนั้น พราหมณ์ปิงคิยานี เมื่อบอกถึงเหตุที่ตนเลื่อมใสแก่การณปาลีพราหมณ์นั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ โภ ปุริส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อคฺครสปริติตฺโต ความว่า ชื่อว่ารสเลิศมีอาทิอย่างนี้ คือบรรดารสโภชะ ข้าวปายาสเลิศ บรรดารสข้น เนยใสจากโคเลิศ บรรดารสฝาด ผึ้งอ่อนเลิศ. บรรดารสหวาน น้ำตาลกรวดเลิศ. อิ่มในรสเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง บริโภคพอหอมปากหอมคอดำรงอยู่ได้.
               บทว่า อญฺเญสํ หีนานํ ได้แก่ รสเลวอื่นจากรสเลิศ.
               บทว่า สุตฺตโส แปลว่า โดยสูตร. อธิบายว่า โดยได้สดับมา.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตโต ตโต ได้แก่ จากบรรดาสัตถุศาสน์มีสุตตะเป็นต้นนั้นๆ.
               บทว่า อญฺเญสํ ปุถุสมณพฺราหฺมณปฺปวาทานํ ได้แก่ ไม่ชอบใจ ไม่ปรารถนา คำสอนอันเป็นลัทธิของสมณพราหมณ์เป็นอันมากอื่น ไม่ปรารถนาแม้แต่จะฟังสมณพราหมณ์เหล่านั้นพูด.
               บทว่า ชิฆจฺฉาทุพฺพลฺยปเรโต ได้แก่ ถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำ.
               บทว่า มธุปิณฺฑิกํ ได้แก่ ข้าวสัตตุก้อนที่เขาคั่วแป้งสาลีแล้ว ปรุงด้วยรสหวาน ๔ อย่าง หรือขนมหวานนั่นเอง.
               บทว่า อธิคจฺเฉยฺย ได้แก่ พึงได้.
               บทว่า อเสจนกํ ได้แก่ มีรสประณีตอร่อย ไม่ราดด้วยรสอย่างอื่น เพื่อทำให้หวาน.
               บทว่า หริจนฺทนสฺส ได้แก่ ไม้จันทน์สีเหลืองเหมือนทอง.
               บทว่า โลหิตจนฺทนสฺส ได้แก่ ไม้จันทน์สีแดง.
               บทว่า สุรภิคนฺธํ ได้แก่ มีกลิ่นหอม.
               ก็ความกระวนกระวายเป็นต้น ได้แก่กระวนกระวายเพราะวัฏฏะ ลำบากเพราะวัฏฏะ ชื่อว่าเร่าร้อนเพราะวัฏฏะ.
               บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ แปลว่า เปล่งอุทาน เหมือนอย่างว่า น้ำมันอันใดที่ไม่สามารถจะเอามาตวงได้ แต่ไหลไป น้ำมันอันนั้นเรียกว่าอวเสกะ น้ำใดไม่สามารถจะขังสระได้ไหลท้นไป น้ำนั้นท่านเรียกว่าโอฆะ ฉันใด. คำใดที่ประกอบด้วยปีติไม่สามารถจะขังใจอยู่ มีเกินไปตั้งอยู่ไม่ได้ในภายใน ก็ออกไปภายนอก คำที่ประกอบด้วยปีตินั้น ท่านเรียกว่าอุทานก็ฉันนั้น. อธิบายว่า พราหมณ์การณปาลีเปล่งคำที่สำเร็จด้วยปีติเห็นปานนี้.

               จบอรรถกถาการณปาลีสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๕ ๔. การณปาลีสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 22 / 1อ่านอรรถกถา 22 / 193อรรถกถา เล่มที่ 22 ข้อ 194อ่านอรรถกถา 22 / 195อ่านอรรถกถา 22 / 388
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=5502&Z=5556
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=16&A=1670
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=16&A=1670
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :