ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 181อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 21 / 201อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
๕. มหาวรรค

               มหาวรรควรรณนาที่ ๕               
               อรรถกถาโสตานุคตที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในโสตานุคตสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า โสตานุคตานํ ความว่า ธรรมที่บุคคลเงี่ยโสตประสาทฟังแล้วกำหนดด้วยโสตญาณ.
               บทว่า จตฺตาโร อานิสํสา ปาฏิกงฺขา ความว่า คุณานิสงส์ ๔ ประการ พึงหวังได้.
               ก็สูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภด้วยอำนาจอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง.
               ถามว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่องอะไร.
               ตอบว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่อง คือ การที่ภิกษุทั้งหลายไม่เข้าไปฟังธรรม.
               ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ ๕๐๐ บวชแล้วไม่ไปฟังธรรมด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสแต่ลิงค์ วจนะ วิภัติ บทและพยัญชนะเป็นต้น จักตรัสแต่ข้อที่พวกเรารู้แล้วทั้งนั้น ข้อที่เรายังไม่รู้ จักตรัสอะไรได้ ดังนี้. พระศาสดาได้สดับเรื่องนั้นแล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ที่บวชเหล่านั้นมาแล้วตรัสว่า เพราะอะไร พวกเธอจึงทำอย่างนี้ พวกเธอจงฟังธรรมโดยความเคารพ เมื่อฟังธรรมโดยความเคารพและสาธยายธรรม อานิสงส์เหล่านี้เท่านี้เป็นหวังได้ดังนี้ เมื่อทรงแสดงจึงเริ่มเทศนานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺมํ ปริยาปุณาติ ความว่า ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรมคือบาลี ซึ่งเป็นนวังคสัตถุศาสน์คำสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙ มีสุตตะ เคยยะเป็นอาทิ.
               บทว่า โสตานุคตา โหนฺติ ความว่า ธรรมเหล่านั้นก็ย่อมตามไปเข้าโสตเนืองๆ.
               บทว่า มนสานุเปกฺขิตา ได้แก่ ตรวจดูด้วยจิต.
               บทว่า ทิฏฺฐฺยา สุปฺปฏิวิทฺธา ความว่า รู้ทะลุปรุโปร่งดี คือทำให้แจ่มแจ้งด้วยปัญญาทั้งโดยผล ทั้งโดยเหตุ.
               พระพุทธพจน์ บทว่า มุฏฺฐสฺสติ กาลํ กุรุมาโน นี้ มิใช่ตรัส เพราะไม่มีสติระลึกถึง แต่ตรัสหมายถึงการตายของปุถุชน. จริงอยู่ ปุถุชนชื่อว่าหลงลืมสติตาย.
               บทว่า อุปปชฺชติ ความว่า ภิกษุตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์แล้ว ย่อมเกิดในเทวโลก.
               บทว่า ธมฺมปทา ปิลปนฺติ ความว่า ธรรมคือพระพุทธวจนะที่คล่องปากอันมีการสาธยายเป็นมูลมาแต่ก่อนทั้งหมด ย่อมลอยเด่นปรากฏรู้ได้ชัดแก่ภิกษุผู้มีสุข ซึ่งเกิดในระหว่างภพ เหมือนเงาในกระจกใส.
               บทว่า ทนฺโธ ภิกฺขเว สตุปฺปาโท ความว่า การระลึกถึงพระพุทธพจน์เกิดขึ้นช้าคือหนัก.
               บทว่า อถ โส สตฺโต ขิปฺปเมว วิเสสคามี โหติ ความว่า ย่อมบรรลุนิพพาน.
               บทว่า อิทฺธิมา เจโตวสิปฺปตฺโต ได้แก่ พระขีณาสพผู้ถึงพร้อมด้วยฤทธิ์ถึงความเชี่ยวชาญแห่งจิต.
               ในบทว่า อยํ วา โส ธมฺมํวินโย นี้ วา ศัพท์มีอรรถว่า กระจ่างแจ้ง.
               บทว่า ยตฺถ คือ ในธรรมวินัยใด.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ อจรี ได้แก่ เราได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์.
               บทนั้น ตรัสด้วยอำนาจการระลึกถึงพระพุทธพจน์ว่า ชื่อว่าพระพุทธพจน์แม้นี้ เราก็ได้เล่าเรียนมาแล้วแต่ก่อน.
               บทว่า เทวปุตฺโต ได้แก่ เทวบุตรผู้เป็นธรรมกถึกองค์หนึ่ง ดุจปัญจาลจัณฑเทวบุตร ดุจหัตถกมหาพรหมและดุจสนังกุมารพรหม.
               บทว่า โอปปาติโก โอปปาติกํ สาเรติ ความว่า เทวบุตรผู้เกิดก่อนให้เทวบุตรผู้เกิดภายหลังระลึก ทรงแสดงความที่สหายเหล่านั้นสนิทสนมกันมานาน ด้วยบทว่า สหปํสุกีฬกา นั้น.
               บทว่า สมาคจฺเฉยฺยุํ ความว่า สหายเหล่านั้นพึงไปพร้อมหน้ากันที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง.
               บทว่า เอวํ วเทยฺย ความว่า สหายผู้นั่งก่อนที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง พึงกล่าวอย่างนี้กะสหายผู้มาภายหลัง.
               บทที่เหลือทุกแห่ง พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วแล.
               จบอรรถกถาโสตานุคตสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาฐานสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในฐานสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ฐานานิ คือ เหตุทั้งหลาย.
               บทว่า ฐาเนหิ คือ ด้วยเหตุทั้งหลาย. ความสะอาดชื่อ โสเจยฺยํ.
               บทว่า สํวสมาโน แปลว่า เมื่ออยู่ร่วมกัน.
               บทว่า น สตตการี น สตตวุตฺตี สีเลสุ ความว่า ท่านผู้นี้จะมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยศีลอยู่เนืองนิตย์ทุกเวลา ก็หามิได้.
               บทว่า สํโวหรมาโน คือ เมื่อพูด.
               บทว่า เอเกน เอโก โวหรติ ความว่า ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว.
               บทว่า โวกฺกมติ คือ พูด.
               บทว่า ปุริมโวหารา ปจฺฉิมโวหารํ คือ ท่านผู้นี้พูดคำหลังผิดแผกไปจากคำก่อน. อธิบายว่า คำหลังกับคำก่อน และคำก่อนกับคำหลังไม่สมกัน.
               ในบทเป็นต้นว่า ญาติพฺยสเนน คือ เสื่อมญาติ. อธิบายว่า เสียญาติ.
               แม้ในบทที่สองก็นัยนี้แล.
               ส่วนในการเกิดโรค โรคนั้นแลชื่อว่าเสีย เพราะทำความไม่มีโรคให้เสียไป.
               บทว่า อนุปริวตฺตนฺติ คือ ติดตาม.
               ในบทว่า ลาโภ จ เป็นอาทิพึงนำนัยไปอย่างนี้ว่า ลาภย่อมหมุนไปตามอัตภาพหนึ่ง ความเสื่อมลาภย่อมหมุนไปตามอัตภาพหนึ่ง.
               บทว่า สากจฺฉายมาโน ความว่า เมื่อทำการสนทนาด้วยอำนาจการถามและการตอบปัญหา. บทว่า ยถา แปลว่า โดยอาการใด.
               อุมมงค์แห่งปัญหา ชื่ออุมมังคะ. อภินิหารแห่งจิตด้วยอำนาจการแต่งปัญหา ชื่ออภินิหาร. การถามปัญหา ชื่อสมุทาหาร.
               บทว่า สนฺตํ ความว่า ไม่กล่าวให้สงบ เพราะข้าศึกสงบ.
               บทว่า ปณีตํ ได้แก่ ถึงความล้ำเลิศ.
               บทว่า อตกฺกาวจรํ ความว่า ท่านผู้นี้ไม่กล่าวโดยประการที่อาจถือเอาได้ด้วยการเดา ด้วยการคาดคะเน.
               บทว่า นิปุณํ แปลว่า ละเอียด.
               บทว่า ปณฺฑิตเวทนียํ แปลว่า อันพวกบัณฑิตพึงรู้ได้.
               บทที่เหลือในที่ทุกแห่ง พึงทราบโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาฐานสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาภัททิยสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในภัททิยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เจ้าภัททิยลิจฉวีผู้บริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว ถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ เข้าไปเฝ้าด้วยคิดว่า เราจักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้.
               ในบทว่า มา อนุสฺสเวน เป็นอาทิ พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือคำของเราด้วยอำนาจการฟังตามกันมา.
               บทว่า สารมฺโภ ได้แก่ ความคิดแข่งดีกันเป็นลักษณะแข่งกันเกินกว่าเหตุ.
               ธรรมมีอโลภะเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับความโลภเป็นต้น.
               บทว่า กุสลธมฺมูปสมฺปทาย ได้แก่ เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้ถึงพร้อม. ท่านอธิบายว่า เพื่อให้ได้กุศลธรรม.
               บทว่า อิเม เจปิ ภทฺทิย มหาสาลา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงต้นสาละที่ยืนต้นอยู่ข้างหน้า จึงตรัสอย่างนี้.
               บทที่เหลือในสูตรนี้ พึงรู้ได้ง่ายเพราะมีนัยอันกล่าวแล้วแต่หนหลัง และเพราะมีอรรถง่าย. แต่เมื่อพระศาสดาทรงยักเยื้องเทศนา เจ้าภัททิยะก็เป็นโสดาบันบุคคลแล.
               จบอรรถกถาภัททิยสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาสามุคิยสูตรที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในสามุคิยสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สาปุคิยา ได้แก่ กุลบุตรชาวนิคมสาปุคะ.
               บทว่า พยคฺฆปชฺช ความว่า พระอานนท์ เมื่อเรียกโกฬิยบุตรเหล่านั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               โกฬนครมีสองชื่อ คือนครโกฬะ เพราะเขานำไม้กระเบามาสร้าง ๑ ชื่อว่าพยัคฆปัชชะ เพราะเขาสร้างในทางเสือผ่าน ๑. บรรพบุรุษของชาวโกฬิยะเหล่านั้นอาศัยอยู่ในพยัคฆปัชชนครนั้น เพราะฉะนั้น ท่านเรียกว่าพยัคฆปัชชะ เพราะอาศัยอยู่ในพยัคฆปัชชนคร. ด้วยเหตุนั้น พระอานนท์ เมื่อเรียกชาวโกฬิยะเหล่านั้น จึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ปาริสุทฺธิปธานิยงฺคานิ ได้แก่ องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์. อธิบายว่า องค์คือส่วนแห่งวความเพียรที่ควรตั้งไว้.
               บทว่า สีลปาริสุทฺธิปธานิยงฺคํ นี้เป็นชื่อของความเพียรอันยังศีลให้บริสุทธิ์.
               จริงอยู่ ปาริสุทธิปธานิยังคะนั้นเป็นองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อให้ความบริสุทธิ์แห่งศีลเต็มบริบูรณ์ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าสีลปาริสุทธิปธานิยังคะ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺถ ปญฺญาย อนุคฺคเหสฺสามิ ความว่า เราจักประคับประคองด้วยวิปัสสนาปัญญาไว้ในที่นั้นๆ.
               ในบทว่า โย ตตฺถ ฉนฺโท เป็นต้น พึงทราบความโดยนัยนี้ว่า กัตตุกัมมยตาฉันทะ ความพอใจคือความใคร่ทำในการประคับประคองนั้นอันใด. ก็สติสัมปชัญญะ ท่านกล่าวในที่นี้เพื่อภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วกำหนดด้วยญาณ ยังความเพียรให้ดำเนินไป.
               บทว่า รชฺชนีเยสุ ธมฺเมสุ จิตฺตํ วิราเชติ ความว่า ย่อมทำโดยอาการที่จิตคลายกำหนัดในอิฏฐารมณ์อันเป็นปัจจัยแห่งราคะ.
               บทว่า วิโมจนีเยสุ ธมฺเมสุ จิตฺตํ วิโมเจติ ความว่า ย่อมทำโดยอาการที่จิตเปลื้องไปจากอารมณ์ซึ่งจิตควรจะเปลื้อง.
               ในบทว่า วิราเชตฺวา นี้ชื่อว่า คลายกำหนัดในขณะแห่งมรรค ชื่อว่าคลายกำหนัดแล้วในขณะแห่งผล.
               แม้ในบทที่สองก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมฺมาวิมุตฺตึ ผุสติ ได้แก่ ถูกต้องอรหัตผลวิมุตติตามเหตุตามนัยด้วยญาณผัสสะ.
               จบอรรถกถาสามุคิยสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาวัปปสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในวัปปสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วปฺโป ได้แก่ เจ้าศากยะผู้เป็นพระเจ้าอาของพระทศพล.
               บทว่า นิคณฺฐสาวโก ได้แก่ เป็นอุปฐากของนิคัณฐนาฏบุตร ดุจสีหเสนาบดีในกรุงเวสาลี และดุจอุปาลิคฤหบดีในเมืองนาฬันทา.
               บทว่า กาเยน สํวุโต ความว่า ชื่อว่าสำรวมด้วยกาย เพราะสำรวมคือปิดกายทวาร.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อวิชฺชาวิราคา ได้แก่ เพราะอวิชชาคลายสิ้นไป.
               บทว่า วิชฺชุปฺปาทา ได้แก่ เพราะมรรควิชชาเกิดขึ้น.
               บทว่า ตํ ฐานํ แปลว่า เหตุนั้น.
               บทว่า อวิปกฺกวิปากํ ได้แก่ ยังไม่ถึงวาระได้รับผล.
               บทว่า ตโตนิทานํ ได้แก่ มีกรรมนั้นเป็นเหตุ มีบาปกรรมนั้นเป็นปัจจัย.
               บทว่า ทุกฺขเวทนิยา อาสวา อสฺสเวยฺยุํ ความว่า กิเลสทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา พึงไหลไปตาม คือพึงเข้าไปตาม. อธิบายว่า กิเลสทั้งหลายพึงเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น.
               บทว่า อภิสมฺปรายํ ได้แก่ ในอัตภาพที่สองนั้นแล.
               บทว่า กายสมารมฺภปจฺจยา แปลว่า เพราะกายกรรมเป็นปัจจัย.
               บทว่า อาสวา ได้แก่ กิเลสทั้งหลาย.
               ในบทว่า วิฆาตปริฬาหา นี้ ทุกข์ชื่อว่าวิฆาตะ. ความเร่าร้อนทางกายและทางจิต ชื่อว่าปริฬาหะ.
               บทว่า ผุสฺสผุสฺสพฺยนฺตีกโรติ ความว่า กรรมที่ญาณจะพึงฆ่า พอกระทบญาณสัมผัสก็สิ้นไป กรรมที่วิบากจะพึงฆ่า พอกระทบวิบากสัมผัส ก็สิ้นไป.
               บทว่า นิชฺชรา ได้แก่ ปฏิปทาที่ทำกิเลสให้โซมไป.
               แม้ในวาระที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ภิกษุนี้ดำรงอยู่ในปฏิปทานี้ ควรเป็นพระขีณาสพ. ควรนำมหาภูตรูป ๔ ออกแล้วแสดงการกำหนดด้วยอริยสัจ ๔ แล้วพึงบอกกรรมฐานจนถึงอรหัตผล.
               ก็บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงแสดงสตตวิหารธรรม ธรรมเครื่องอยู่ประจำของพระขีณาสพนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เอวํ สมฺมาวิมุตฺตจิตฺตสฺส ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมาวิมุตฺตสฺส ได้แก่ พ้นแล้วโดยชอบ โดยเหตุการณ์ โดยนัย.
               บทว่า สตตวิหารา ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นนิจ ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นประจำ.
               บทว่า เนว สุมโน โหติ ได้แก่ เป็นผู้ไม่เกิดโสมนัสด้วยอำนาจความกำหนัดในอิฏฐารมณ์.
               บทว่า น ทุมฺมโน ได้แก่ ไม่เป็นผู้เกิดโทมนัสด้วยอำนาจความขุ่นใจในอนิฏฐารมณ์.
               บทว่า อุเปกฺขโก วิหรติ สโต สมฺปชาโน ได้แก่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีความเป็นกลางในอารมณ์เหล่านั้น ด้วยอุเบกขามีอาการคือความเป็นกลางเป็นลักษณะ กำหนดถือเอาด้วยสติสัมปชัญญะอยู่.
               บทว่า กายปริยนฺติกํ ได้แก่ เวทนามีกายเป็นที่สุด คือกำหนดด้วยกาย. อธิบายว่า เวทนาเป็นไปในทวาร ๕ ยังเป็นไปอยู่ตราบเท่าที่กาย คือทวาร ๕ ยังเป็นไปอยู่.
               บทว่า ชีวิตปริยนฺติกํ ได้แก่ เวทนามีชีวิตเป็นที่สุด คือกำหนดด้วยชีวิต. อธิบายว่า เวทนาอันเป็นไปในมโนทวาร ยังเป็นไปอยู่ตราบเท่าที่ชีวิตยังเป็นไปอยู่.
               ในเวทนาเหล่านั้น เวทนาอันเป็นไปในทวาร ๕ เกิดทีหลังแต่ดับก่อน. เวทนาอันเป็นไปในมโนทวารอันเกิดก่อนแต่ดับทีหลัง. เพราะเวทนานั้นตั้งอยู่ในวัตถุรูปในขณะปฏิสนธิ. เวทนาอันเป็นไปในทวาร ๕ ยังเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจปัญจทวารในปัจจุบัน คราวมีอายุ ๒๐ ปีในปฐมวัย ยังมีกำลังแข็งแรงด้วยอำนาจความรัก ความโกรธและความหลง คราวมีอายุ ๕๐ ปียังคงที่อยู่ จะลดลงตั้งแต่อายุ ๖๐ ปี คราวอายุ ๘๐-๙๐ ปีก็น้อยเต็มที.
               ด้วยว่าในครั้งนั้นสัตว์ทั้งหลาย แม้เมื่อผู้กล่าวว่า พวกเรานั่งนอนร่วมกันมานานแล้ว ก็พูดว่าเราไม่รู้ดังนี้ก็มี พูดว่าเราไม่เห็นอารมณ์มีรูปเป็นต้น แม้มีประมาณมาก เราไม่ได้ยิน เราไม่รู้กลิ่นหอมกลิ่นเหม็น รสอร่อยรสไม่อร่อย หรือแข็งอ่อนดังนี้ก็มี. เวทนาเป็นไปในทวาร ๕ ของสัตว์เหล่านั้นถึงจะดับไป แต่เวทนาเป็นไปในมโนทวารก็ยังเป็นไปอยู่ด้วยประการฉะนี้. เวทนานั้นเสื่อมไปโดยลำดับ ในเวลาใกล้ตายอาศัยส่วนของหทยวัตถุเท่านั้นยังเป็นไปอยู่ได้. ก็เวทนานั้นยังเป็นไปอยู่ได้เพียงใด ท่านกล่าวว่าสัตว์ยังมีชีวิตอยู่ได้เพียงนั้น. เมื่อใดเวทนาเป็นไปไม่ได้ เมื่อนั้นท่านกล่าวว่า สัตว์ตายแล้ว ดับแล้ว ดังนี้.
               พึงเปรียบความข้อนั้นด้วยหนองน้ำ.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษพึงทำหนองน้ำให้มีทางน้ำ ๕ ทาง เมื่อฝนตกครั้งแรก พึงให้น้ำเข้าไปโดยทางน้ำทั้ง ๕ แล้วขังน้ำไว้ในบ่อ ภายในหนองน้ำให้เต็ม เมื่อฝนตกบ่อยๆ น้ำเต็มในทางของน้ำ แล้วท่วมล้นออกไปประมาณคาวุตหนึ่งหรือกึ่งโยชน์ น้ำยังขังอยู่ น้ำเมื่อไหลออกจากนั้น เมื่อชาวนาเปิดคันกั้นน้ำ ทำงานในนา น้ำไหลออก คราวข้าวกล้าแก่น้ำก็ไหลออก น้ำงวดไป ชาวนาก็พูดว่าเราจะจับปลา จากนั้นล่วงไป ๒-๓ วัน น้ำก็ขังอยู่แต่ในบ่อเท่านั้น ก็ตราบใดน้ำนั้นยังมีในบ่อ ตราบนั้นก็นับได้ว่าน้ำยังมีในหนองน้ำ แต่เมื่อใดน้ำในบ่อนั้นขาด เมื่อนั้นก็เรียกได้ว่าน้ำไม่มีในหนองน้ำฉันใด ข้ออุปไมยพึงทราบฉันนั้น.
               เวลาที่เวทนาอันเป็นไปในมโนทวารตั้งอยู่ในวัตถุรูปในขณะปฏิสนธิครั้งแรก เหมือนเวลาที่เมื่อฝนตกครั้งแรก เมื่อน้ำไหลเข้าไปโดยทางทั้ง ๕ บ่อก็เต็ม เมื่อวัตถุรูปยังเป็นไปอยู่ เวทนาอันเป็นไปในทวาร ๕ ก็เป็นไปอยู่ได้ เหมือนเวลาที่เมื่อฝนตกบ่อยๆ น้ำเต็มทางทั้ง ๕ ความที่เวทนานั้นมีกำลังมาก ยิ่งด้วยอำนาจความรักเป็นต้น คราวที่มีอายุ ๒๐ ปีในปฐมวัยเหมือนการที่น้ำท่วมล้นไปประมาณคาวุตหนึ่งและกึ่งโยชน์ เวลาเวทนานั้นยังคงที่อยู่ คราวที่มีอายุ ๕๐ ปี เหมือนเวลาที่น้ำยังขังอยู่เต็มในหนองน้ำ ตราบเท่าที่น้ำยังไม่ไหลออกจากหนองน้ำนั้น เวทนาเสื่อมตั้งแต่เวลาที่มีอายุ ๖๐ ปี เหมือนเวลาที่เมื่อเปิดคันกั้นน้ำ เมื่อทำงานน้ำก็ไหลออก เวลาที่เวทนาอันเป็นไปในทวาร ๕ อ่อนลง เมื่อมีอายุ ๘๐-๙๐ ปี เหมือนเวลาที่เมื่อน้ำงวด ยังมีน้ำเหลืออยู่นิดหน่อยที่ทางน้ำ เวลาที่เวทนาในมโนทวารยังเป็นไปอยู่ได้ เพราะอาศัยส่วนแห่งหทยวัตถุ เหมือนเวลาที่น้ำยังขังอยู่ในบ่อนั่นเอง ตราบใดที่เวทนานั้นยังเป็นไปอยู่ได้ ตราบนั้นเรียกได้ว่าสัตว์ยังมีชีวิตอยู่ เหมือนเวลาที่ควรจะพูดได้ว่า เมื่อในบ่อมีน้ำแม้นิดหน่อย น้ำในหนองน้ำก็ยังมีอยู่. ก็เมื่อน้ำในบ่อขาด ก็เรียกได้ว่าไม่มีน้ำในหนองน้ำฉันใด เมื่อเวทนาเป็นไปในมโนทวารเป็นไปไม่ได้ ก็เรียกได้ว่าสัตว์ตายฉันนั้น.
               บทว่า ชีวิตปริยนฺติกํ เวทนํ เวทิยมาโน ท่านกล่าวหมายถึงเวทนานี้แล.
               บทว่า กายสฺส เภทา ได้แก่ กายแตก.
               บทว่า อุทฺธํ ชีวิตปริยาทานา ได้แก่ เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิตไป.
               บทว่า อิเธว ได้แก่ ในโลกนี้เท่านั้น ไม่ไปข้างหน้าด้วยอำนาจปฏิสนธิ.
               บทว่า สีติ ภวิสฺสนฺติ ได้แก่ เวทนาทั้งปวง เว้นจากความเป็นไป ความดิ้นรนและความกระวนกระวายก็จักเป็นของเย็น มีอันไม่เป็นไปเป็นธรรมดา.
               บทว่า ถูณํ ปฏิจฺจ ได้แก่ อาศัยต้นไม้.
               บทว่า กุทฺทาลปิฎกํ อาทาย ความว่า ถือจอบ เสียมและตะกร้า แต่เทศนาท่านมุ่งแต่จอบเท่านั้น.
               บทว่า มูเล ฉินฺเทยฺย ได้แก่ พึงเอาจอบตัดที่โคน.
               บทว่า ปลิขเณยฺย ได้แก่ เอาเสียมขุดโดยรอบ.
               ในข้อว่า เอวเมว โข นี้ เทียบด้วยอุปมาดังนี้.
               อัตภาพพึงเห็นเหมือนต้นไม้ กุศลกรรมและอกุศลกรรมเหมือนเงาอาศัยต้นไม้ พระโยคาวจรเหมือนบุรุษผู้ประสงค์จะทำเงาไม่ให้เป็นไป ปัญญาเหมือนจอบ สมาธิเหมือนตะกร้า วิปัสสนาเหมือนเสียม เวลาที่ตัดอวิชชาด้วยอรหัตมรรคเหมือนเวลาที่เอาเสียมขุดราก เวลาที่เห็นเป็นกองเหมือนเวลาที่ทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เวลาที่เห็นเป็นอายตนะเหมือนเวลาที่ผ่าออก เวลาที่เห็นเป็นธาตุเหมือนเวลาที่ทำให้เป็นผง เวลาที่ทำความเพียรทางกายทางจิตเหมือนเวลาที่ตากให้แห้งที่ลมและแดด เวลาที่เผากิเลสด้วยญาณเหมือนเวลาที่เอาไฟเผา เวลาที่ขันธ์ ๕ ยังทรงอยู่เหมือนเวลาที่ทำเป็นเขม่า การดับขันธ์ ๕ ที่มีรากตัดขาดแล้วโดยไม่มีปฏิสนธิ เหมือนเวลาที่โปรยไปในพายุใหญ่ เหมือนเวลาที่ลอยไปในกระแสน้ำ ความที่ไม่มีบัญญัติ เพราะวิบากขันธ์ไม่เกิดในภพใหม่ พึงทราบเหมือนการเข้าไปสู่ความไม่มีบัญญัติโดยโปรยไปและลอยไป.
               บทว่า ภควนฺตํ เอตทโวจ ความว่า เมื่อพระศาสดาทรงยักเยื้องเทศนาอยู่ วัปปศากยราชบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ได้กราบทูลคำเป็นต้นว่า เสยฺยถาปิ ภนฺเต ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺรยตฺถิโก คือ เป็นผู้มีความต้องการกำไร.
               บทว่า อสฺสปณิยํ โปเสยฺย ความว่า พึงเลี้ยง ด้วยคิดว่า เราจักซื้อลูกม้า ๕๐๐ ตัวแล้วจึงขายในภายหลัง. ต้องใช้เครื่องอุปกรณ์ประมาณ ๕๐๐ เป็นค่าเลี้ยงดูม้าที่มีราคาพันหนึ่ง โดยเป็นของหอมและดอกไม้เป็นต้น. ต่อมาม้าเหล่านั้นของเขาเกิดโรควันเดียวเท่านั้นก็ตายหมด เพราะเหตุนั้น เขากล่าวอย่างนี้ด้วยความประสงค์นี้.
               บทว่า อุทฺรยญฺเจว นาธิคจฺเฉยฺย ได้แก่ ไม่ได้ทั้งกำไร ทั้งทุนที่ลงไป.
               บทว่า ปยิรูปาสึ ได้แก่ บำรุงด้วยปัจจัย ๔.
               บทว่า โสหํ อุทฺรยญฺเจว นาธิคจฺฉึ ความว่า ข้าพระองค์ไม่ได้กำไร ทั้งขาดทุนอีกด้วย.
               ท่านแสดงว่า เราชื่อว่าเป็นคนบำรุงม้าไว้ขาย.
               คำที่เหลือในบทนี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาวัปปสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ๕. มหาวรรค
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 181อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 191อ่านอรรถกถา 21 / 201อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=4991&Z=5844
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=9429
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=9429
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :