ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 32อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 21 / 34อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จักกวรรคที่ ๔
๓. สีหสูตร

               อรรถกถาสีหสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในสีหสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สีโห ได้แก่ ราชสีห์ ๔ ประเภทคือ ติณราชสีห์ ๑ กาฬราชสีห์ ๑ ปัณฑุราชสีห์ ๑ ไกรสรราชสีห์ ๑. ในราชสีห์เหล่านั้น ติณราชสีห์กินหญ้าเช่นกับแม่โคสีนกพิราบ. กาฬราชสีห์กินหญ้าเช่นกับแม่โคดำ. ปัณฑุราชสีห์กินเนื้อเช่นกับแม่โคมีสีใบไม้เหลือง. ไกรสรราชสีห์ประกอบด้วยหน้า ปลายหางและปลายเท้าทั้ง ๔ ที่ธรรมชาติตกแต่งด้วยครั่ง ตั้งแต่ศีรษะของไกรสรราชสีห์นั้น รอย ๓ รอยคล้ายเขาเขียนไว้ด้วยพู่กันครั่งไปตรงกลางหลัง เป็นขวัญอยู่ในระหว่างโคนขา. ส่วนที่คอของมันมีสร้อยคอคล้ายกับแวดวงไว้ด้วยผ้ากัมพลแดงมีค่านับแสน. ส่วนอวัยวะที่เหลือได้มีสีตัวดังก้อนข้าวสาลีล้วน หรือดังก้อนจุณแห่งหอยสังข์.
               ในราชสีห์ ๔ เหล่านี้ ท่านประสงค์เอาไกรสรราชสีห์ในที่นี้.
               บทว่า มิคราชา ได้แก่ เป็นราชาแห่งฝูงเนื้อทั้งหมด.
               บทว่า อาสยา ได้แก่ ออกจากสถานที่อยู่. ท่านอธิบายว่า ย่อมออกจากถ้ำทองหรือถ้ำเงิน ถ้ำแก้วมณี ถ้ำแก้วผลึก หรือถ้ำมโนศิลา.
               ก็เมื่อจะออก ย่อมออกด้วยเหตุ ๔ คือ ถูกความมืดบีบคั้น ออกเพื่อแสงสว่าง ๑ ปวดอุจจาระปัสสาวะ ออกเพื่อถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ๑ ถูกความหิวบีบคั้น ออกเพื่อหาเหยื่อ ๑ ถูกความสืบพันธุ์บีบคั้น ออกเพื่อสมสู่กัน ๑.
               แต่ในที่นี้ท่านหมายเอาออกเพื่อหาเหยื่อ.
               บทว่า วิชมฺภติ ความว่า ราชสีห์วางเท้าทั้งสองให้เสมอกัน บนพื้นถ้ำทอง หรือบนพื้นถ้ำเงิน ถ้ำแก้วมณี ถ้ำแก้วผลึก หรือถ้ำมโนศิลาอย่างใดอย่างหนึ่ง เหยียดเท้าหน้าไว้ตรงหน้า ชักส่วนหลังของตัว กระเถิบส่วนหน้า โน้มหลังลง ชูคอขึ้นสลัดธุลีที่ติดอยู่ที่ตัวสะบัดประหนึ่งเสียงฟ้าผ่า. ส่วนธุลีย่อมปลิววนกันอยู่บนพื้นที่สลัดเหมือนลูกโครุ่น ส่วนธุลีนั้นที่ปลิวอยู่ ปรากฏคล้ายลูกไฟที่หมุนอยู่ในความมืด.
               บทว่า อนุวิโลเกติ ถามว่า เพราะเหตุไร ราชสีห์จึงเหลียวดู.
               ตอบว่า เพราะความเอ็นดูสัตว์อื่น.
               ได้ยินว่า เมื่อมันแผดเสียง สัตว์ทั้งหลายมีช้าง วัว ควายเป็นต้น เที่ยวอยู่ใกล้เหวและบ่อ ก็ตกไปในเหวบ้าง ในบ่อบ้าง มันจึงเหลียวดูก็เพราะความเอ็นดูสัตว์เหล่านั้น.
               ถามว่า ก็ราชสีห์ตัวดุร้ายที่กินเนื้อของสัตว์อื่นนั้น ยังมีความเอ็นดูอยู่หรือ.
               ตอบว่า มีอยู่. จริงอย่างนั้น มันย่อมไม่จับสัตว์เล็กๆ เพื่อเป็นอาหารของตน ด้วยคิดว่า ประโยชน์อะไรของเราด้วยสัตว์เป็นอันมากที่ถูกฆ่าดังนี้. มันทำความเอ็นดูด้วยอาการอย่างนี้. ก็ข้อนั้นสมจริงดังท่านกล่าวว่า เราอย่าฆ่าสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในที่ไม่เรียบเสียเลย.
               บทว่า สีหนาทํ นทติ ความว่า ครั้งแรก แผดเสียงที่สัตว์กลัวขึ้น ๓ ครั้ง. ก็แลเมื่อมันยืนอยู่บนพื้นที่สะบัด แผดเสียงออก เสียงย่อมกึกก้องเป็นอย่างเดียวกันโดยรอบตลอดเนื้อที่ ๓ โยชน์ ฝูงสัตว์ ๒ เท้าและ ๔ เท้าที่อยู่ภายในสามโยชน์ ได้ยินเสียงกึกก้องของมันเข้า ย่อมยืนอยู่ในที่เดิมไม่ได้.
               บทว่า โคจราย ปกฺกมติ ได้แก่ ย่อมออกไปเพื่อหาเหยื่อ.
               ถามว่า อย่างไร?
               ตอบว่า มันยืนบนพื้นที่สะบัด กระโดดไปข้างเวที ข้างซ้ายที ข้างหลังทีย่อมวิ่งไปตลอดเนื้อที่ประมาณอุสภะหนึ่ง เมื่อกระโดดสูง กระโดดได้ ๔ อุสภะบ้าง ๘ อุสภะบ้าง เมื่อวิ่งตรงไปในที่เรียบ ก็วิ่งไปได้ตลอดเนื้อที่ประมาณ ๑๖ อุสภะบ้าง ๒๐ อุสภะบ้าง. เมื่อวิ่งลงจากที่ดอนหรือภูเขา ก็วิ่งได้ตลอดเนื้อที่ประมาณ ๖๐ อุสภะบ้าง ๘๐ อุสภะบ้าง เห็นต้นไม้หรือภูเขาในระหว่างทาง ก็เลี่ยงต้นไม้หรือภูเขานั้น หลีกไปที่สูงประมาณหนึ่งอุสภะ ทางขวาบ้าง ทางซ้ายบ้าง. ก็ราชสีห์แผดเสียงครั้งที่ ๓ ย่อมปรากฏตัวในที่สามโยชน์พร้อมกับเสียงนั้น มันไปได้สามโยชน์ กลับมายืนยังได้ยินเสียงกึกก้องของตนอยู่. ราชสีห์ย่อมหลีกไปด้วยฝีเท้าอันเร็วอย่างนี้.
               บทว่า เยภุยฺเยน แปลว่า โดยมาก.
               บทว่า ภยํ สนฺตาสํ สํเวคํ ทุกบท เป็นชื่อของความสะดุ้งแห่งจิตเหมือนกัน.
               แท้จริงสัตว์และคนได้ยินเสียงของราชสีห์ ส่วนมากกลัว ส่วนน้อยไม่กลัว. ถามว่า ก็สัตว์และคน ส่วนน้อยเหล่านั้นคือใคร?
               ตอบว่า คือ ราชสีห์ที่เสมอกัน ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย โคอุสภอาชาไนย บุรุษอาชาไนย พระขีณาสพ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร สัตว์และคนเหล่านั้นจึงไม่กลัว.
               ตอบว่า อันดับแรกราชสีห์ที่เสมอกัน ย่อมไม่กลัวเพราะคิดว่า เราเสมอกันด้วยชาติ โคตร ตระกูลและความกล้า. ช้างอาชาไนยเป็นต้นไม่กลัว เพราะว่าตนมีสักกายทิฏฐิเป็นกำลัง. พระขีณาสพไม่กลัว เพราะละสักกายทิฏฐิได้แล้ว.
               บทว่า พลาสยา ได้แก่ สัตว์ที่นอนอยู่ในรู อยู่ในโพรง มีงู พังพอนและเหี้ยเป็นต้น.
               บทว่า อุทกาสยา ได้แก่ สัตว์อยู่ในน้ำมีปลาและเต่าเป็นต้น.
               บทว่า วนาสยา ได้แก่ สัตว์อยู่ในป่ามีช้าง ม้า วัว เนื้อเป็นต้น.
               บทว่า ปวิสนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมองดูทางด้วยคิดว่า บัดนี้ ใครจักมาจับดังนี้ จึงเข้าไป.
               บทว่า ทฬฺเหหิ คือ อันเหนียวแน่น.
               บทว่า วรตฺเตหิ คือ ด้วยเชือกหนัง.
               ในบทว่า มหิทฺธิโก เป็นต้น พึงทราบว่า ความที่ราชสีห์มีฤทธิมากด้วยอำนาจยืนอยู่ที่พื้นที่สะบัดตัวกระโดดได้อุสภะหนึ่งทางข้างขวาเป็นต้น กระโดดตรงได้ประมาณ ๒๐ อุสภะเป็นต้น. พึงทราบความเป็นสัตว์มีศักดิ์ใหญ่ เพราะเป็นเจ้าเป็นใหญ่กว่ามฤคที่เหลือ. พึงทราบความที่ราชสีห์มีอานุภาพมาก ด้วยสามารถแห่งสัตว์ทั้งหลาย ได้ยินเสียงในที่สามโยชน์โดยรอบแล้ว ต้องพากันหนีไป.
               บทว่า เอวเมวโข ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าถึงพระองค์ไว้ในพระสูตรนั้นๆ โดยประการนั้นๆ ตรัสถึงพระองค์เปรียบด้วยราชสีห์ในพระสูตรนี้ก่อนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็คำว่า สีโห นั้นเป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้.
               เปรียบด้วยนายแพทย์ในพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนสุนักขัตตะ คำว่า ภิสกฺโก สลฺลกนฺโต นั่นเป็นชื่อของตถาคตดังนี้. เปรียบด้วยพราหมณ์ในพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บทว่า พฺราหฺมโณ นั่นเป็นชื่อของตถาคตดังนี้. เปรียบด้วยคนผู้นำทางในพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บทว่า ปฺริโส มคฺคกฺสโล นั่นเป็นชื่อของตถาคตดังนี้. เปรียบด้วยพระราชาในพระสูตรนี้ว่า ราชาหมสฺมิ เสลา ดังนี้.
               ส่วนในพระสูตรนี้ ตรัสพระองค์เปรียบด้วยราชสีห์ จึงตรัสอย่างนั้น.
               ในข้อนี้ มีการเปรียบดังนี้ เวลาที่พระตถาคตบำเพ็ญอภินิหารใกล้บาทมูลของพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายตลอดเวลากำหนดนับไม่ได้ ทำหมื่นโลกธาตุให้หวั่นไหว ด้วยการปฏิสนธิ และด้วยการประสูติจากครรภ์ของมารดา ในภพสุดท้าย ทรงเจริญวัยแล้ว เสวยสมบัติเช่นทิพยสมบัติ ประทับอยู่ในปราสาทสามหลัง พึงทราบเหมือนเวลาราชสีห์อยู่ในกาญจนคูหา ถ้ำทองเป็นต้น. เวลาที่ตถาคตทรงม้ากันถกะ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จออกทางพระทวารเปิด ในเวลามีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ก้าวล่วงราชสมบัติทั้งสาม (ราชา ราชาธิราช จักรพรรดิราชา) เสียแล้ว ทรงครองผ้ากาสายะอันพรหมถวาย ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงผนวชแล้ว ก็เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ในวันที่ ๗ เที่ยวบิณฑบาตให้กรุงราชคฤห์นั้น ทรงทำภัตกิจ ณ เงื้อมภูเขาปัณฑวะ จนทางถวายปฏิญญาแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จะเสด็จมาแคว้นมคธก่อนแห่งอื่น พึงทราบเหมือนเวลาราชสีห์ออกจากกาญจนคูหาเป็นต้น.
               เวลาพระตถาคต ทรงถวายปฏิญญาแล้ว เสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรเป็นต้น ไปจนเสวยก้อนข้าวปายาส ๔๙ ก้อนอันนางสุชาดาถวาย. พึงทราบเหมือนเวลาราชสีห์สะบัดตัว.
               การที่พระตถาคตทรงรับหญ้า (คา) ๘ กำที่พราหมณ์ชื่อโสตถิยะถวาย ในเวลาเย็น เทวดาในหมื่นจักรวาลชมเชยบูชาด้วยของหอมเป็นต้น ทรงทำประทักษิณโพธิพฤกษ์ ๓ ครั้ง แล้วเสด็จขึ้นไปโพธิมัณฑสถาน ทรงลาดเครื่องลาดคือหญ้าคา ณ ที่สูง ๑๔ ศอก ประทับนั่งอธิษฐาน ความเพียรมีองค์ ๔ ทรงกำจัดมารและพลมารในขณะนั้นนั่นเอง ทรงชำระวิชชา ๓ ในยามทั้ง ๓ ทรงกวนมหาสมุทรคือปฏิจจสมุปบาท ทั้งอนุโลมทั้งปฏิโลม ด้วยเครื่องกวนคือยมกญาณ พระญาณคู่ เมื่อทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว หมื่นโลกธาตุก็ไหว ด้วยอานุภาพพระสัพพัญญุตญาณนั้น พึงทราบเหมือนการกำจัดธุลีในตัวของราชสีห์.
               การที่พระตถาคตทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประทับอยู่ ณ โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ เสวยข้าวมธุปายาสเป็นพระกระยาหาร ทรงรับอาราธนาแสดงธรรมของท้าวมหาพรหม ณ โคนอชปาลนิโครธ ประทับอยู่ ณ ที่นั้น ในวันที่ ๑๑ ทรงระลึกว่า พรุ่งนี้ ก็จักเป็นวันอาสาฬหปุรณมี ในเวลาใกลรุ่ง ทรงตรวจดูว่าเราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ทรงทราบว่าอาฬารดาบสและอุททกดาบสสิ้นชีพเสียแล้ว ก็ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์สมควร รับพระธรรมเทศนาก่อน พึงเห็นเหมือนการเหลียวดู ๔ ทิศของราชสีห์.
               เวลาที่พระตถาคตทรงถือบาตรและจีวรของพระองค์ เสด็จลุกจากต้นอชปาลนิโครธ เสด็จไปสิ้นทาง ๑๘ โยชน์ ภายหลังเสวยพระกระยาหารด้วยหมายพระหฤทัยจักประกาศธรรมจักรแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ พึงเห็นเหมือนเวลาราชสีห์ออกหาเหยื่อไปได้สามโยชน์.
               เวลาที่พระตถาคตเสด็จไปสิ้นทาง ๑๘ โยชน์ ทรงทำภิกษุปัญจวัคคีย์ให้เข้าใจแล้ว ประทับนั่งเหนืออจลบัลลังก์ขัดสมาธิ อันหมู่เทพได้ประชุมพร้อมกัน หมื่นจักรวาลห้อมล้อมแล้วจึงประกาศพระธรรมจักร โดยนัยเป็นอาทิว่า อันตะส่วนสุด ๒ นี้ อันนักบวชไม่ควรเสพดังนี้ พึงทราบเหมือนเวลาราชสีห์แผดสีหนาท.
               ก็แลเมื่อตถาคตทรงแสดงพระธรรมจักรนี้ เสียงอุโฆษแห่งธรรมของราชสีห์คือพระตถาคต ก็ปกคลุมหมื่นโลกธาตุเบื้องต่ำถึงอเวจี เบื้องบนจดภวัคคพรหม. เวลาเมื่อพระตถาคตแสดงลักษณะ ๓ ตรัสธรรมจำแนกสัจจะ ๔ พร้อมด้วยอาการ ๑๖ จนถึงพันนัย พวกเทวดาที่มีอายุยืนก็เกิดสะดุ้งด้วยญาณ พึงทราบเหมือนเวลาพวกสัตว์เล็กๆ สะดุ้ง เพราะเสียงของราชสีห์.
               อีกนัยหนึ่ง พระตถาคตทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณก็เหมือนราชสีห์ เวลาที่เสด็จออกจากพระคันธกุฎีก็เหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทองที่อยู่อาศัย เวลาเสด็จเข้าไปธรรมสภาก็เหมือนราชสีห์สะบัดตัว การที่ทรงเหลียวดูบริษัทก็เหมือนการเหลียวดูทิศ เวลาทรงแสดงธรรมก็เหมือนการแผดสีหนาท การเสด็จไปบำราบลัทธิอื่นก็เหมือนการออกหาเหยื่อ.
               อีกนัยหนึ่ง พระตถาคตก็เหมือนราชสีห์ การออกจากผลสมาบัติที่อาศัยนิพพานโดยอารมณ์ ก็เหมือนการออกจากกาญจนคูหาที่อาศัยหิมวันตบรรพต ปัจจเวกขณญาณ ก็เหมือนการสะบัดตัว การตรวจดูเวไนยสัตว์ ก็เหมือนการเหลียวดูทิศ การแสดงธรรมแก่บริษัทที่มาถึงแล้ว ก็เหมือนการแผดสีหนาท การเสด็จเข้าไปหาเวไนยสัตว์ที่ยังมาไม่ถึง พึงทราบเหมือนการออกไปหาเหยื่อ.
               บทว่า ยทา แปลว่า ในกาลใด.
               บทว่า ตถาคโต ได้แก่ ชื่อว่าตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ที่กล่าวแล้วในหนหลัง.
               บทว่า โลเก คือ ในสัตวโลก.
               บทว่า อุปฺปชฺชติ ความว่า ตถาคตชื่อว่ากำลังเกิดขึ้น ตั้งแต่อภินิหารบำเพ็ญพระบารมีจนถึงโพธิบัลลังก์ หรืออรหัตมัคคญาณ แต่เมื่อบรรลุอรหัตผล ชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นอาทิ ท่านขยายไว้พิสดารแล้ว ในนิทเทสว่าด้วยพุทธานุสติ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
               บทว่า อิติ สกฺกาโย ความว่า นี้เป็นสักกายะ คือประมาณเท่านี้ เป็นสักกายะยิ่งกว่านี้ไม่มี อุปาทานขันธ์ ๕ แม้ทั้งปวงเป็นอันท่านแสดงแล้วโดยสภาวะ โดยกิจ โดยที่สุด โดยกำหนด โดยรอบทาง ด้วยเหตุประมาณเท่านี้.
               บทว่า อิติ สกฺกายสฺส สมุทโย ได้แก่ นี้ชื่อสักกายสมุทัย. บทเป็นอาทิว่า เพราะอาหารเกิด รูปจึงเกิดดังนี้ ก็เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยเหตุประมาณเท่านี้.
               บทว่า อิติ สกฺกายสฺส อตฺถงฺคโม ความว่า นี้เป็นสักกายนิโรธ ดับสักกายะ. บทเป็นอาทิว่า เพราะอาหารดับ รูปจึงดับดังนี้ ทั้งหมดเป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยบทแม้นี้.
               บทว่า วณฺณวนฺโต ได้แก่ ผู้มีวรรณะงาม ด้วยวรรณะแห่งสรีระ.
               บทว่า ธมฺมเทสนํ สุตฺวา ความว่า เทวดาเหล่านั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคต ที่ประดับด้วยลักษณะ ๕๐ ในเบญจขันธ์.
               บทว่า เยภุญเยน ความว่า ถามว่า เว้นเทวดาเหล่าไหนในที่นี้?
               ตอบว่า เว้นเทวดาผู้เป็นอริยสาวก.
               ก็เพราะเทวดาผู้เป็นอริยสาวกเหล่านั้น ไม่เกิดแม้เพียงความกลัวด้วยความหวาดสะดุ้งแห่งจิต เพราะท่านสิ้นอาสวะแล้ว ความสังเวชด้วยญาณ ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้สังเวชแล้ว เพราะท่านบรรลุธรรมที่พึงบรรลุ ด้วยความเพียรโดยแยบคายก็มี ความกลัวด้วยความหวาดสะดุ้งแห่งจิต ย่อมเกิดขึ้นแก่พวกเทวดาพวกนี้ ผู้กระทำไว้ในใจถึงความไม่เที่ยงก็มี ความกลัวด้วยญาณ ย่อมเกิดขึ้นในเวลาวิปัสสนามีกำลังก็มี.
               บทว่า โภ นั่นเป็นเพียงคำเรียกโดยธรรม.
               บทว่า สกฺกายปริปนฺนา ได้แก่ นับเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕. ดังนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโทษในวัฏฏะแล้ว ทรงแสดงธรรมนำไตรลักษณ์มา เทวะเหล่านั้นก็เกิดหวาดกลัวด้วยญาณ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อภิญฺญาย คือ ทรงรู้แล้ว.
               บทว่า ธมฺมจกฺกํ ได้แก่ ปฏิเวธญาณบ้าง เทศนาญาณบ้าง.
               พระพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ โพธิบัลลังก์ ทรงแทงตลอดสัจจะ ๔ พร้อมด้วยอาการ ๑๖ จนถึงพันนัยด้วยพระญาณใด พระญาณนั้น ชื่อว่าปฏิเวธญาณ. ทรงประกาศพระธรรมจักรมีปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ ด้วยพระญาณใด พระญาณนั้น ชื่อว่าเทศนาญาณ. ญาณทั้ง ๒ อย่างนั้น เป็นญาณที่เกิดในคราวแรกแก่พระทศพล.
               ในญาณ ๒ เหล่านั้น ควรถือเอาธรรมเทศนาญาณ ก็ธรรมเทศนาญาณนั่นนั้น ชื่อว่าย่อมเป็นไปอยู่ ตราบเท่าที่โสดาปัตติผลยังไม่เกิดขึ้นแก่พระอัญญาโกณทัญญเถระ พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ เมื่อโสดาปัตติผลนั้นเกิดขึ้นแล้ว พึงทราบว่าธรรมเทศนาญาณ ชื่อว่าเป็นไปแล้ว ดังนี้.
               บทว่า อปฺปฏิปุคฺคโล คือ เว้นบุคคลที่จะเทียมทัน.
               บทว่า ยสสฺสิโน คือ ถึงพร้อมด้วยบริวาร.
               บทว่า ตาทิโน คือ ผู้เป็นเสมือนหนึ่ง (คงที่) กับโลกธรรมมีลาภเป็นต้น.

               จบอรรถกถาสีหสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จักกวรรคที่ ๔ ๓. สีหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 32อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 33อ่านอรรถกถา 21 / 34อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=877&Z=911
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=7600
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=7600
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :