ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 151อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 161อ่านอรรถกถา 21 / 171อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
๒. ปฏิปทาวรรค

               ปฏิปทาวรรคที่ ๒               
               อรรถกถาสังขิตตสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสังขิตตสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่าปฏิบัติลำบาก เพราะปฏิเสธการปฏิบัติสะดวก.
               ชื่อว่าปฏิปทา เพราะควรปฏิบัติ.
               ชื่อว่าทันธาภิญญา เพราะมีความรู้ได้ช้า โดยความเป็นของหนัก เพราะปฏิบัติได้ไม่เร็ว.
               พึงทราบความแม้ในทั้งปวงโดยนัยนี้.
               จบอรรถกถาสังขิตตสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาวิตถารสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในวิตถารสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อภิกฺขณํ แปลว่า เนืองๆ.
               บทว่า อนนฺตริยํ ได้แก่ มรรคสมาธิอันให้ผลเป็นอนันตริยคุณ.
               บทว่า อาสวานํ ขยา ได้แก่ เพื่ออรหัตผล.
               บทว่า ปญฺจินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ อันมีวิปัสสนาเป็นที่ ๕.
               ก็ในบทว่า ปญฺญินฺทฺริยํ นี้ ท่านประสงค์เอาวิปัสสนาปัญญาเท่านั้นว่า ปัญญินทรีย์.
               คำที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้นโดยอำนาจที่ตรัสไว้แล้วในบาลี.
               ก็กถาจำแนกปฏิปทาเหล่านี้มีดังนี้.
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เคยทำการยึดถือมาเบื้องต้น ย่อมลำบากในการกำหนดรูป ย่อมลำบากในการกำหนดอรูป ย่อมลำบากในการกำหนดปัจจัย ย่อมลำบากในกาลทั้งสาม ย่อมลำบากในมัคคามัคคะทางและมิใช่ทาง.
               เมื่อลำบากในฐานะ ๕ อย่างนี้ ย่อมบรรลุวิปัสสนา ครั้นบรรลุวิปัสสนาแล้ว ก็ลำบากในวิปัสสนาญาณ ๙ เหล่านี้ คือ ในอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นทั้งความเกิดและความดับ) ๑ ในภังคานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นความดับ) ๑ ในภยตุปัฏฐานญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว) ๑ ในอาทีนวานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงเห็นโทษ) ๑ ในนิพพิทานุปัสสนาญาณ (ปรีชาคำนึงถึงความเบื่อหน่าย) ๑ ในมุญจิตุกามยตาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไป) ๑ ในสังขารุเบกขาญาณ (ปรีชาคำนึงด้วยความเฉยในสังขาร) ๑ ในอนุโลมญาณ (ปรีชาคำนึงโดยสมควรแก่กำหนดรู้อริยสัจ) ๑ ในโคตรภูญาณ (ปรีชากำหนดรู้ญาณอันเป็นลำดับอริยมรรค) ๑ และจึงบรรลุโลกุตรมรรค โลกุตรมรรคนั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่าปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ลำบาก เพราะทำให้แจ้งโดยความหนักไปด้วยทุกข์อย่างนี้ ก็ภิกษุใดเบื้องต้นลำบากในญาณ ๕ แต่เบื้องปลายไม่ลำบากในวิปัสสนาญาณ ๙ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งมรรค มรรคนั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่าปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เพราะทำให้แจ้งโดยไม่หนักด้วยทุกข์อย่างนี้.
               อีกสองปฏิปทาก็พึงทราบโดยอุบายนี้.
               อนึ่ง ปฏิปทาเหล่านี้จะพึงแจ่มแจ้งก็ด้วยข้ออุปมาเปรียบด้วยคนหาโค. โค ๔ ตัวของชายคนหนึ่งหนีเข้าไปในดง. เขาหาโคเหล่านั้นในป่าซึ่งมีหนามหนาทึบ ทางที่ไปก็ไปด้วยความยากลำบาก โคซ่อนอยู่ในที่อันหนาทึบเช่นนั้น ก็เห็นด้วยความยากลำบาก. ชายคนหนึ่งไปด้วยความลำบาก โคยืนอยู่ในที่แจ้งก็เห็นได้ฉับพลันทันที. อีกคนหนึ่งไปทางโล่งไม่หนาทึบ โคซ่อนอยู่เสียในที่ หนาทึบก็เห็นด้วยความยากลำบาก. อีกคนหนึ่งไปสะดวกตามทางโล่ง โคยืนอยู่ในที่โล่งก็เห็นได้ฉับพลัน.
               ในข้ออุปมานั้น อริยมรรค ๔ พึงเห็นดุจโค ๔ ตัว พระโยคาวจรดุจชายหาโค การปฏิบัติลำบากในเบื้องต้นของภิกษุผู้ลำบากในญาณ ๕ ดุจไปทางหนาทึบด้วยความยากลำบาก การเห็นอริยมรรคในเบื้องปลายของผู้เหนื่อยหน่ายในญาณ ๙ ดุจการเห็นโคที่ซ่อนอยู่ในที่หนาทึบความยาก.
               พึงประกอบแม้ข้ออุปมาที่เหลือโดยอุบายนี้
               จบอรรถกถาวิตถารสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาอสุภสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในอสุภสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อสุภานุปสฺสี กาเย วิหรติ ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นในกรชกายของตนว่าไม่งาม ด้วยการเข้าไปเปรียบเทียบกับอสุภะ ๑๐ ที่ตนเห็นแล้วในภายนอกโดยนัยนี้ว่า นั่นฉันใด นี้ก็ฉันนั้น. อธิบายว่า เห็นกายของตนด้วยญาณ โดยเป็นสิ่งไม่งาม โดยเป็นสิ่งปฏิกูล.
               บทว่า อาหาเร ปฏิกฺกุลสญฺญี ความว่า มีความสำคัญในกวฬีการาหาร ว่าเป็นปฏิกูลด้วยอำนาจปฏิกูล ๙.
               บทว่า สพฺพโลเก อนภิรตสญฺญี ความว่า ประกอบด้วยความไม่น่ายินดี คือด้วยสัญญาว่าน่าเอือมระอา ในโลกสันนิวาสอันเป็นไตรธาตุ แม้ทั้งหมด.
               บทว่า สพฺพสงฺขาเรสุ อนิจฺจานุปสฺสี ความว่า พิจารณาเห็นสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมด โดยความเป็นของไม่เที่ยง.
               บทว่า มรณสญฺญา ได้แก่ สัญญาอันเกิดขึ้นเพราะปรารภความตาย.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ สุปฎฐิตา โหติ ได้แก่ เข้าไปตั้งไว้ด้วยดีในภายในกายของตน. ท่านกล่าววิปัสสนาอันมีกำลังด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
               บทว่า เสกฺขพลานิ ได้แก่ กำลังของพระผู้ยังต้องศึกษา.
               คำที่เหลือในบทนี้ง่ายทั้งนั้นโดยอำนาจบาลี.
               ก็บทว่า อสุภานุปสฺสี เป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงถึงปฏิปทาลำบาก ปฐมฌานเป็นต้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงปฏิปทาสะดวก. ด้วยว่าอสุภะเป็นต้นมีปฏิกูลเป็นอารมณ์. ก็ตามปกติจิตที่ใฝ่รักย่อมติดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะเจริญอสุภะเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติปฏิทาลำบาก. ปฐมฌานเป็นต้นเป็นสุขประณีต เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติปฐมฌานเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติปฏิปทาสะดวก.
               ในข้อนี้มีอุปมาอันเป็นสาธารณะดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ บุรุษผู้เข้าสงคราม ทำซุ้มแผ่นกระดานแล้วสอดอาวุธ ๕ เข้าสู่สงคราม เขาประสงค์จะพักในระหว่างจึงเข้าไปซุ้มแผ่นกระดานพักผ่อน และดื่มน้ำบริโภคอาหารเป็นต้น จากนั้น เขาก็เข้าสู่สงครามทำการรบต่อไป.
               ในข้ออุปมานั้นพึงเห็นว่า การสงครามกับกิเลสดุจเข้าสงคราม กำลังเป็นที่อาศัย ๕ ดุจซุ้มแผ่นกระดาน พระโยคาวจรดุจบุรุษเข้าสู่สงคราม อินทรีย์มีวิปัสสนาเป็นที่ ๕ ดุจเครื่องสอดอาวุธ ๕ เวลาเจริญวิปัสสนาดุจเวลาเข้าสงคราม เวลาที่พระโยคาวจรเจริญวิปัสสนา ขณะจิตตุปบาทไม่มีความยินดีก็อาศัยพละ ๕ ปลอบจิตให้ร่าเริง ดุจเวลาที่นักรบประสงค์จะพักก็เข้าไปซุ้มแผ่นกระดาน เวลาที่พระโยคาวจรครั้นปลอบจิตให้ร่าเริงด้วยพละ ๕ แล้วเจริญวิปัสสนาอีก ก็หันกลับมายึดพระอรหัตไว้ได้ พึงทราบเหมือนเวลาที่นักรบพักผ่อนกินดื่มแล้ว กลับเข้าสู่สงครามต่อไป.
               ก็ในสูตรนี้ตรัสพละ และอินทรีย์คละกัน
               จบอรรถกถาอสุภสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาปฐมขมสูตรที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฐมขมสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อกฺขมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้ไม่อดทน.
               บทว่า ขมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้อดทน.
               บทว่า ทมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้ฝึกอินทรีย์.
               บทว่า สมา ได้แก่ ปฏิปทาของผู้สงบอกุศลวิตก.
               บทว่า โรสนฺตํ ปฏิโรสติ ได้แก่ เขากระทบ ย่อมกระทบตอบ.
               บทว่า ภณฺฑนฺตํ ปฏิภณฺฑติ ได้แก่ เขาประหาร ย่อมประหารตอบ.
               จบอรรถกถาปฐมขมสูตรที่ ๔               

               ทุติยขมสูตรที่ ๕ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               อุภยสูตรที่ ๖ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.

               อรรถกถามหาโมคคัลลานสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในโมคคัลลานสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               มรรค ๓ เบื้องต่ำของพระมหาโมคคัลลานเถระได้เป็น สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้ได้ช้า) อรหัตมรรคเป็น ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา (ปฏิบัติยาก รู้ได้เร็ว).
               เพราะฉะนั้น ท่านมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ยายํ ปฏิปทา ทุกฺขา ขิปฺปาภิญฺญา อิมํ เม ปฏิปทํ อาคมฺม อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตํ วิมุตฺตํ (จิตของผมหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะอาศัย ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา (ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว) ดังนี้.
               จบอรรถกถามหาโมคคัลลานสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในสารีปุตตสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               มรรค ๓ เบื้องต่ำ ของพระธรรมเสนาบดีเถระได้เป็น สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้ช้า). อรหัตมรรคเป็น สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา (ปฏิบัติง่าย รู้เร็ว).
               เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ยายํ ปฏิปทา สุขา ขิปฺปาภิญฺญา ดังนี้เป็นอาทิ.
               ก็ในสองสูตรเหล่านี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวปฏิปทาคละกัน.
               จบอรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสสังขารสูตรที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในสสังขารสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลที่ ๑ ที่ ๒ เป็นสุกขวิปัสสก ยังสังขารนิมิตให้ปรากฏด้วยความเพียรเรี่ยวแรง.
               ในบุคคลเหล่านั้น คนหนึ่งย่อมปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพานในอัตภาพนี้ เพราะอินทรีย์คือวิปัสสนามีกำลัง คนหนึ่งปรินิพพานไม่ได้ในอัตภาพนี้ เพราะอินทรีย์ไม่มีกำลัง ต่อได้มูลกรรมฐานนั้นเท่านั้นในอัตภาพลำดับไป ยังสังขารนิมิตให้ปรากฏด้วยความเพียรเรี่ยวแรงแล้วจึงปรินิพพานด้วยกิเลสปรินิพพาน.
               บุคคลที่ ๓ ที่ ๔ เป็นสมถยานิก (สมถะนำไป).
               บรรดาบุคคลเหล่านั้น พึงทราบว่า คนหนึ่งทำกิเลสให้สิ้นไปในอัตภาพนี้ เพราะอินทรีย์มีกำลังด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง คนหนึ่งทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้อัตภาพในโลกนี้ เพราะอินทรีย์ไม่มีกำลัง ต่อได้มูลกรรมฐานนั้นเท่านั้นในอัตภาพลำดับไป ทำกิเลสให้สิ้นไปด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรงดังนี้.
               จบอรรถกถาสสังขารสูตรที่ ๙               

               อรรถกถายุคนัทธสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในยุคนัทธสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สมถปุพฺพงฺคมํ ได้แก่ ทำสมถะไปเบื้องหน้า คือให้เป็นปุเรจาริก.
               บทว่า มคฺโค สญฺชายติ ได้แก่ โลกุตรมรรคที่ ๑ ย่อมเกิดขึ้น.
               บทว่า โส ตํ มคฺคํ ความว่า ชื่อว่าอาเสวนะเป็นต้น ไม่มีแก่มรรคอันเป็นไปในขณะจิตเดียว. แต่เมื่อยังมรรคที่ ๒ ให้เกิดขึ้น ท่านกล่าวว่า เธอซ่องเสพเจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นนั่นแล.
               บทว่า วิปสฺสนา ปุพฺพงฺคมํ ได้แก่ ทำวิปัสสนาไปเบื้องหน้า คือให้เป็นปุเรจาริก.
               บทว่า สมถํ ภาเวติ ความว่า โดยปกติผู้ได้วิปัสสนาตั้งอยู่ในวิปัสสนา ย่อมยังสมาธิให้เกิดขึ้น.
               บทว่า ยุคนทฺธํ ภาเวติ ได้แก่ เจริญทำให้เป็นคู่ติดกันไป.
               ในข้อนั้น ภิกษุไม่สามารถจะใช้จิตดวงนั้นเข้าสมาบัติแล้วใช้จิตดวงนั้นนั่นแลพิจารณาสังขารได้. แต่ภิกษุนี้เข้าสมาบัติเพียงใดย่อมพิจารณาสังขารเพียงนั้น พิจารณาสังขารเพียงใดย่อมเข้าถึงสมาบัติเพียงนั้น.
               ถามว่า อย่างไร.
               ตอบว่า ภิกษุเข้าปฐมฌาน ครั้นออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ครั้นพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว เข้าทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ครั้นออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุนี้ชื่อว่าเจริญปฐมวิปัสสนาให้เป็นคู่ติดกันไป.
               บทว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตํ ความว่า อันอุทธัจจะได้แก่วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนาจับแล้ว คือจับดีแล้ว.
               ด้วยบทว่า โหติ โส อาวุโส สมโย นี้ท่านกล่าวถึงกาลที่ได้สัปปายะ ๗.
               บทว่า ยนฺตํ จิตฺตํ ได้แก่ จิตที่ก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาในสมัยใดเป็นไปแล้ว.
               บทว่า อชฺฌตฺตํเยว สนฺติฏฐติ ความว่า จิตก้าวลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนาแล้วหยุดอยู่ในอารมณ์อันได้แก่ อารมณ์ภายในนั้นนั่นเอง.
               บทว่า สนฺนิสีทติ ได้แก่ นิ่งโดยชอบด้วยอำนาจของอารมณ์.
               บทว่า โอโกทิ โหติ ได้แก่ จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               บทว่า สมาธิยติ ได้แก่ จิตตั้งไว้โดยชอบ คือตั้งไว้ดีแล้ว.
               คำที่เหลือในสูตรนี้มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               จบอรรถกถายุคนัทธสูตรที่ ๑๐               
               จบปฏิปทาวรรควรรณนาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ๒. ปฏิปทาวรรค จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 151อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 161อ่านอรรถกถา 21 / 171อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=4083&Z=4299
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8891
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8891
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :