ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 130อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 21 / 141อ่านอรรถกถา 21 / 274
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ตติยปัณณาสก์
๑. ปุคคลวรรค

               ปุคคลวรรควรรณนาที่ ๔               
               อรรถกถาสังโยชนสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในสังโยชนสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลบางคนได้อุปบัติได้ภพ ในระหว่างด้วยสังโยชน์เหล่าใด สังโยชน์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นปัจจัยให้ได้อุปบัติ.
               บทว่า ภวปฏิลภิยานิ ได้แก่ เป็นปัจจัยแก่การได้อุปบัติภพ.
               บทว่า สกทาคามิสฺส นี้ ท่านถือโดยส่วนสูงสุดในพระอริยะทั้งหลาย ที่ยังละสังโยชน์ไม่ได้ ก็เพราะเหตุนี้ อันตราอุปบัติ (การเกิดในระหว่าง) ของพระอริยบุคคลผู้เป็นอันตราปรินิพพายีไม่มี แต่ท่านเข้าฌานใดในที่นั้น ฌานนั้นนับว่าเป็นปัจจัยแก่อุปบัติภพ เพราะฌานเป็นฝ่ายกุศลธรรม ฉะนั้น จึงตรัสสำหรับพระอริยบุคคลผู้เป็นอันตราปรินิพพายีนั้นว่า ละอุปบัติปฏิลาภิสังโยชน์ได้ (สังโยชน์ที่เป็นเหตุให้มีความเกิด) แต่ละภวปฏิลาภิสังโยชน์ (สังโยชน์ที่เป็นเหตุให้มีภพ) ไม่ได้. หมายถึงสังโยชน์ส่วนที่ยังละไม่ได้ในโอรัมภาคิยสังโยชน์ทั้งหลาย จึงตรัสว่า ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ดังนี้ โดยความไม่ต่างกันแห่งสกทาคามีบุคคล.
               บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น.
               จบอรรถกถาสังโยชนสูตรที่ ๑               

               อรรถกถาปฏิภาณสูตรที่ ๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฏิภาณสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ยุตฺตปฏิภาโณ โนย มุตฺตปฏิภาโณ ความว่า บุคคล เมื่อแก้ปัญหาก็แก้แต่ปัญหาที่ผูกเท่านั้น แต่แก้ได้ไม่เร็ว คือค่อยๆ แก้.
               บททั้งปวง พึงทราบโดยนัยนี้.
               จบอรรถกถาปฏิภาณสูตรที่ ๒               

               อรรถกถาอุคฆฏิตัญญุสูตรที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุคฆฏิตัญญุสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               พึงทราบความต่างกันแห่งบุคคลแม้ ๔ จำพวกด้วยสูตรนี้ ดังนี้
               อุคฆฏิตัญญูเป็นไฉน? บุคคลตรัสรู้ธรรมขณะที่ท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง เรียกว่าอุคฆฏิตัญญูบุคคล.
               วิปจิตัญญูบุคคลเป็นไฉน? บุคคลตรัสรู้ธรรมต่อเมื่อท่านแจกแจงความโดยพิสดาร เรียกว่าวิปจิตัญญูบุคคล.
               เนยยบุคคลเป็นไฉน? บุคคลต้องเรียน ต้องสอบถาม ต้องใส่ใจโดยแยบคาย ต้องคบหา อยู่ใกล้กัลยาณมิตร จึงตรัสรู้ธรรมตามลำดับขั้นตอน เรียกว่าเนยยบุคคล
               ปทปรมบุคคลเป็นไฉน? บุคคลฟังมากก็ดี พูดมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี สอนมากก็ดี ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น เรียกว่าปทปรมบุคคล.
               จบอรรถกถาอุคฆฏิตัญญุสูตรที่ ๓               

               อรรถกถาอุฏฐานสูตรที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในอุฏฐานสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลจำพวกหนึ่ง ใช้วันเวลาให้ล่วงไปด้วยความเพียรคือความหมั่นเท่านั้น ได้อะไรมาเพียงเป็นผลของความเพียรนั้น ที่หลั่งออกมาเลี้ยงชีวิต เขาอาศัยแต่ความหมั่นนั้น ไม่ได้ผลบุญอะไร บุคคลจำพวกนี้ ชื่อว่าดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่นมิใช่ดำรงอยู่ด้วยผลของกรรม.
               ส่วนเหล่าเทวดาแม้ทั้งหมด ตั้งแต่เทวดาชั้นจาตุมมหาราชเป็นต้นไป เพราะเข้าไปอาศัยผลบุญดำรงชีพ เว้นความเพียรคือความหมั่น ชื่อว่าดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกรรม มิใช่ดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น.
               อิสระชนมีพระราชามหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น ชื่อว่าดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่น และดำรงชีพอยู่ด้วยผลของกรรม.
               พวกสัตว์นรกดำรงชีพอยู่ด้วยผลของความหมั่นก็มิใช่ ด้วยผลของกรรมก็มิใช่.
               ผลบุญนั่นแล ท่านประสงค์ว่าผลของกรรมในสูตรนี้ ผลบุญนั้นไม่มีแก่พวกสัตว์นรกเหล่านั้น.
               จบอรรถกถาอุฏฐานสูตรที่ ๔               

               อรรถกถาสาวัชชสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในสาวัชชสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               คนจำพวกที่หนึ่ง ได้แก่ปุถุชนคนโง่เขลา.
               จำพวกที่สอง ได้แก่โลกิยปุถุชนผู้บำเพ็ญกุศลในระหว่างๆ.
               จำพวกที่สาม ได้แก่พระโสดาบัน ถึงพระสกทาคามีและอนาคามีก็รวมกับคนจำพวกที่สามนั้นเหมือนกัน.
               จำพวกที่สี่ ได้แก่พระขีณาสพ.
               จริงอยู่ พระขีณาสพนั้น หาโทษมิได้โดยส่วนเดียว.
               จบอรรถกถาสาวัชชสูตรที่ ๕               

               อรรถกถาปฐมสีลสูตรที่ ๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสีลสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
               คนจำพวกที่หนึ่ง ได้แก่โลกิยมหาชน.
               จำพวกที่สอง ได้แก่พระโสดาบันและพระสกทาคามี ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน.
               จำพวกที่สาม ได้แก่พระอนาคามี.
               จริงอยู่ พระอนาคามีนั้น เพราะเหตุที่ได้ฌานที่ทำอุปบัติให้เกิดแม้ขณะนั้น ฉะนั้น ท่านแม้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ก็ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิโดยแท้.
               จำพวกที่สี่ ได้แก่พระขีณาสพเท่านั้น.
               จริงอยู่ พระขีณาสพนั้นชื่อว่าทำให้บริบูรณ์ในศีลสมาธิและปัญญาทั้งหมด เพราะท่านละธรรมที่เป็นข้าศึกต่อศีลเป็นต้นทั้งหมดได้แล้ว.
               จบอรรถกถาปฐมสีลสูตรที่ ๖               

               แม้ในทุติยสีลสูตรที่ ๗ พึงทราบการกำหนดบุคคลโดยนัยอันกล่าวแล้วในปฐมสีลสูตรที่ ๖.

               อรรถกถานิกกัฏฐสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิกกัฏฐสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า นิกฺกฏฺฐกาโย แปลว่า มีกายออกไป.
               บทว่า อนิกฺกฏฺฐจิตฺโต แปลว่า มีจิตไม่ออก. ท่านอธิบายว่า คนมีกายเท่านั้นออกจากบ้าน แม้อยู่ในป่าก็ยังเอาจิตเข้าบ้านอยู่นั่นเอง.
               เนื้อความในบททุกบท พึงทราบโดยนัยนี้.
               จบอรรถกถานิกกัฏฐสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาธัมมกถิกสูตรที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในธัมมกถิกสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อสหิตํ คือ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
               บทว่า น กุสลา โหติ คือ เป็นผู้ไม่ฉลาด.
               บทว่า สหิตาสหิตสฺส ความว่า ต่อสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์.
               เนื้อความในบททั้งปวงพึงทราบอย่างนี้.
               จบอรรถกถาธัมมกถิกสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาวาทีสูตรที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในวาทีสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อตฺถโต ปริยาทานํ คจฺฉติ ความว่า นักพูดถูกถามถึงคำอรรถก็ยอมจำนนสิ้นท่าไม่สามารถจะตอบโต้.
               บทว่า โน พฺยญฺชนโต ความว่า แต่พยัญชนะของเขายังไปได้ ก็ไม่ยอมจำนน.
               ในบททุกบทก็นัยนี้แล.
               จบอรรถกถาวาทีสูตรที่ ๑๐               
               จบปุคคลวรรควรรณนาที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ๑. ปุคคลวรรค จบ.
อ่านอรรถกถา 21 / 1อ่านอรรถกถา 21 / 130อรรถกถา เล่มที่ 21 ข้อ 131อ่านอรรถกถา 21 / 141อ่านอรรถกถา 21 / 274
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=3712&Z=3834
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=8741
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=8741
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :