ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 146อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 147อ่านอรรถกถา 20 / 148อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๒

หน้าต่างที่ ๖ / ๙.

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ประวัติพระโสณโกฬวิสเถระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อารทฺธวิริยานํ ความว่า ผู้ตั้งความเพียรแล้ว ผู้มีความเพียรบริบูรณ์แล้ว.
               คำว่า โสโณ โกฬวิโส เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
               คำว่า โกฬวิโส เป็นโคตร.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ชื่อว่า โกฬเวโส อธิบายว่า เด็กแห่งตระกูลแพศย์ ผู้ถึงที่สุดด้วยความมีอิสสระ ก็เพราะเหตุที่ธรรมดาว่าความเพียรของภิกษุเหล่าอื่น ย่อมต้องทำให้เจริญ แต่ของพระเถระพึงอบรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระเถระนี้ชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว.
               ในปัญหากรรมของท่าน มีเรื่องที่จะพึงกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่าในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระนี้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี พวกญาติขนานนามของท่านว่า สิริวัฑฒกุมาร.
               ท่านเจริญวัยแล้วไปวิหารโดยนัยก่อนนั่นแล ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นอย่างภิกษุนี้ในอนาคต.
               จบเทศนาจึงนิมนต์พระทศพล ถวายมหาทาน ๗ วัน ได้กระทำความปรารถนา โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของท่านสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์โดยนัยก่อนนั่นแล เสด็จกลับพระวิหาร.
               ฝ่ายสิริวัฑฒเศรษฐีนั้นกระทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ล่วงไปแสนกัป เมื่อพระกัสสปทศพลปรินิพพานแล้วในกัปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงบังเกิด ก็มาถือปฏิสนธิในครอบครัวกรุงพาราณสี ท่านไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา พร้อมกับหมู่สหายของตน.
               ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งมีจีวรเก่า เข้าอาศัยกรุงพาราณสี สร้างบรรณศาลาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ตั้งใจว่าจะเข้าจำพรรษา จึงไปดึงท่อนไม้และเถาวัลย์ที่ถูกน้ำพัดมาติดอยู่ออก.
               กุมารนี้กับสหายเดินไปยืนอภิวาทอยู่ถามว่า ทำอะไร เจ้าข้า.
               ป. พ่อเด็ก จวนเข้าพรรษาแล้ว ธรรมดาบรรพชิตควรได้ที่อยู่.
               กุมารกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า วันนี้ ขอพระคุณเจ้ารอสักวันหนึ่งก่อน, พรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจะกระทำที่อยู่ถวายพระคุณเจ้า.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ายับยั้งอยู่ เพราะเป็นผู้มาแล้วด้วยตั้งใจว่า จักกระทำความสงเคราะห์กุมารนี้เหมือนกัน.
               กุมารนั้นทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ารับนิมนต์แล้ว วันรุ่งขึ้นจึงจัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะไปยืนคอยพระปัจเจกพุทธเจ้ามา.
               ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงรำลึกว่า วันนี้เราจักเที่ยวหาอาหารที่ไหนหนอ จึงไปยังประตูเรือนของกุมารนั้น กุมารเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็นึกรัก รับบาตรถวายอาหาร นิมนต์ว่า ตลอดภายในพรรษานี้ ขอได้โปรดมายังประตูเรือนของข้าพเจ้าเท่านั้น.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ารับคำฉันเสร็จแล้วก็หลีกไป, จึงไปกับสหายของตนช่วยกันสร้างบรรณศาลาที่อยู่ ที่จงกรมและที่พักกลางวันและกลางคืน ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วเสร็จในวันเดียว.
               กุมารนั้นคิดว่า เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าบรรณศาลา เปือกตมบนพื้นดินที่ฉาบด้วยของเขียวสด อย่าได้ติดที่เท้า จึงลาดผ้ากัมพลแดงมีค่าพันหนึ่งอันเป็นผ้าห่มของตนปิดพื้น เห็นรัศมีมีสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นเช่นเดียวกับสีของผ้ากัมพลก็เลื่อมใสอย่างยิ่ง กล่าวว่า จำเดิมแต่เวลาที่พระคุณเจ้าเหยียบแล้ว ประกายแห่งผ้ากัมพลนี้แวววาวอย่างยิ่งฉันใด แม้วรรณะแห่งมือและเท้าของข้าพเจ้าก็จงมีสีเหมือนดอกหงอนไก่ ในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วเกิดอีกฉะนั้น ขอให้ผัสสะจงเป็นเช่นกับผัสสะแห่งแผ่นผ้าฝ้ายที่เขายีแล้วถึง ๗ ครั้งเทียว.
               กุมารนั้นบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอดไตรมาส ได้ถวายไตรจีวรเมื่อเวลาปวารณาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้ามีบาตรและจีวรบริบูรณ์แล้ว จึงไปยังภูเขาคันธมาทน์ตามเดิม.
               ฝ่ายกุลบุตรนั้นเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์มาถือปฏิสนธิ ในเรือนของอุสภเศรษฐี ในเมืองกาลจัมปาก ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ตั้งแต่เวลาที่กุลบุตรนั้นถือปฏิสนธิ เครื่องบรรณาการหลายพันมาในสกุลเศรษฐี ในวันที่เกิดนั่นเอง ทั่วพระนครได้มีเครื่องสักการะสัมมานะเป็นอันเดียวกัน.
               ต่อมาในวันตั้งชื่อกุมารนั้น มารดาบิดาคิดว่า บุตรของเรารับชื่อของตนมาแล้ว รัศมีสรีระของเขาเหมือนรดด้วยทองมีสีสุกแดง เพราะฉะนั้น จึงตั้งชื่อของกุมารนั้นว่า โสณกุมาร.
               ครั้งนั้น เศรษฐีให้พี่เลี้ยงนางนมบำรุงบุตรนั้นให้เจริญด้วยความสุขประหนึ่งเทพกุมาร การจัดแจงอาหารสำหรับกุมารนั้นได้มีแล้วอย่างนี้ หว่านข้าวลงยังที่มีประมาณ ๖๐ กรีส เลี้ยงด้วยน้ำ ๓ อย่าง เอาตุ่มใส่น้ำนมและน้ำหอมหลายพันตุ่ม รดลงในเหมือนน้ำที่ไหลเข้าไปในนาดอน เวลารวงข้าวสาลีเป็นน้ำนม ก็ฝังหลักล้อมรอบๆ และในระหว่างๆ เพื่อป้องกันสัตว์ทั้งหลายมีนกแก้วเป็นต้น กระทำเป็นเดนและเพื่อจะให้รวงข้าวมีความนุ่มนวล ลาดผ้าเนื้อละเอียดไว้บนหลัก เอาไม้พาดข้างบน ปิดด้วยเสื่อลำแพน กั้นม่านโดยรอบ จัดอารักขาไว้ในที่รอบๆ ทุกส่วน.
               เมื่อข้าวสุกขึ้นฉางก็ประพรมด้วยคันธชาติ ๔ อย่าง อบด้วยของหอมอย่างดีเลิศไว้ข้างบน หมู่คนหลายแสนลงแขกเกี่ยวขั้วรวงข้าวสาลี ทำเป็นกำๆ มัดด้วยเชือก ตากให้แห้ง ต่อนั้น ลาดของหอมที่พื้นล่างฉาง แผ่รวงข้าวไว้ข้างบน แผ่ไปให้มีระหว่างช่อง อย่างนี้จน เต็มฉางจึงปิดประตู เมื่อครบ ๓ ปี จึงค่อยเปิดฉางข้าว เวลาเปิดก็มีกลิ่นอบอวลไปทั่วพระนคร.
               เมื่อฟาดข้าวสาลี พวกนักเลงก็พากันมาซื้อแกลบเอาไป ส่วนรำ จุลลปัฏฐากได้ไป เวลาซ้อมด้วยสากก็มาเลือกเก็บเอาข้าวสารไป คนเหล่านั้นใส่ข้าวนั้นไว้ในกระเช้าแฝกทอง จุ่มลงครั้งเดียวในชาติรส ใส่ข้าวไว้ในกระเช้าที่สานด้วยแฝกทอง ใส่ชาติรสน้ำผลจันทน์ที่ยังร้อน ซึ่งกรอง ๗ ครั้ง เอามาครั้งเดียวแล้วก็ยกขึ้น น้ำผลจันทน์ที่เดือดแล้วซึ่งเขากรอง ๗ ครั้งแล้วยกขึ้นตรอง ข้าวสาลีที่ยกขึ้นพ้นน้ำแล้วก็เหมือนดอกมะลิ.
               ชนทั้งหลายจึงใส่โภชนะนั้นไว้ในถาดทอง เอาไว้บนถาดเงินที่เต็มด้วยข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยที่ยังร้อนอยู่ ถือไปวางไว้ข้างหน้าบุตรเศรษฐี เศรษฐีบุตรนั้นบริโภคพอยังอัตภาพให้เป็นไปสำหรับตน แล้วล้างปากด้วยน้ำที่อบด้วยของหอม แล้วล้างมือและเท้า ตอนนั้นจึงนำเครื่องอบปากมีประการต่างๆ มาให้แก่เศรษฐีบุตรนั้นซึ่งได้ล้างมือและเท้าแล้ว ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี.
               ในที่ที่เศรษฐีบุตรนั้นเหยียบ ฝ่ามือและฝ่าเท้าของเศรษฐีบุตรนั้นมีสีดุจสีดอกหงอนไก่ โลมาซึ่งมีวรรณะดุจสีแก้วมณีและแก้วกุณฑล เกิดที่ฝ่าเท้า ดุจสัมผัสของผ้าฝ้ายที่เขายีแล้วถึง ๗ ครั้ง. เศรษฐีบุตรนั้นโกรธใครๆ จะพูดว่า จงรู้ไว้ ฉันจะเหยียบพื้นดิน เมื่อเธอเจริญวัยแล้วให้สร้างปราสาท ๓ หลังที่เหมาะแก่ฤดู ๓ แล้วให้นางฟ้อนบำรุงบำเรอเศรษฐีบุตรนั้นเสวยมหาสมบัติอาศัยอยู่ปานเทพเจ้า.
               ต่อมา เมื่อพระศาสดาของเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว อาศัยกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่. เศรษฐีบุตรนั้นอันพระเจ้ามคธตรัสเรียกมาเพื่อจะทอดพระเนตรขนที่เท้าแล้วส่งไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับชาวบ้าน ๘๐,๐๐๐ ฟังพระธรรมเทศนาได้ศรัทธา จึงขอบรรพชากะพระศาสดา.
               ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามเขาว่า มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ ทรงสดับว่า ยังมิได้อนุญาต จึงทรงเห็นว่า โสณะ ตถาคตไม่ให้กุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตบวชได้. เศรษฐีบุตรนั้นรับพระดำรัสของพระตถาคตด้วยเศียรเกล้าว่า ดีละพระเจ้าข้า จึงไปหามารดาบิดาให้ท่านอนุญาตแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระตถาคต ได้บวชในสำนักของภิกษุรูปหนึ่ง.
               นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้, โดยพิสดาร พิธีบรรพชาของท่านมาแล้วในพระบาลีนั่นแล.
               เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว อยู่ในกรุงราชคฤห์ หมู่ญาติและสายโลหิตเป็นอันมาก และเพื่อเห็นเพื่อนเป็นอันมาก ต่างนำสักการะและสัมมานะมา กล่าวสรรเสริญความสำเร็จแห่งรูป แม้คนเหล่าอื่นก็พากันมาดู.
               พระเถระคิดว่า คนเป็นอันมากมายังสำนักของเรา เราจักทำกิจกรรมในกัมมัฏฐานหรือในวิปัสสนา ได้อย่างไร ถ้ากะไร เราพึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปสุสานสีตวัน บำเพ็ญสมณธรรม เพราะคนเป็นอันมากเกลียดสุสานสีตวันนั้น จักไม่ไป เมื่อเป็นอย่างนี้ กิจของเราจักถึงที่สุดได้ จึงรับกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปยังสีตวัน เริ่มบำเพ็ญสมณธรรม.
               ท่านคิดว่า สรีระของเราละเอียดอย่างยิ่ง แต่ไม่อาจจะให้ถึงความสุขโดยความสะดวกนั่นเอง แม้ถึงจะลำบาก กายก็ควรบำเพ็ญสมณธรรม แต่นั้นจึงอธิฐานการยืนและการจงกรมมีแต่โลหิตอย่างเดียว เมื่อเท้าเดินไม่ได้ ก็พยายามจงกรมด้วยเข่าบ้าง ด้วยมือบ้าง แม้ถึงกระทำความเพียรอย่างมั่นคงถึงเพียงนี้ ก็ไม่อาจทำคุณแม้เพียงโอภาสให้บังเกิด จึงคิดว่า แม้หากว่าคนอื่นพึงปรารถนาความเพียรพึงเป็นเช่นกับเราไซร้ แต่เราพยายามอยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจทำมรรคหรือผลให้เกิดขึ้นได้ เราไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือไม่ใช่วิปจิตัญญูบุคคล ไม่ใช่ไนยบุคคล เราพึงเป็นปทปรมบุคคลแน่แท้ เราจะประโยชน์อะไรด้วยบรรพชา เราจะสึกออกไปบริโภคโภคะและกระทำบุญ.
               สมัยนั้น พระศาสดาทรงทราบความปริวิตกของพระเถระ เวลาเย็นทรงมีหมู่ภิกษุแวดล้อมไปในสุสานสีตวันนั้น ทอดพระเนตรเห็นที่จงกรมเปื้อนเลือด ทรงโอวาทพระเถระโดยโอวาทเทียบดังพิณ ตรัสบอกกัมมัฏฐานแก่พระเถระ เพื่อให้ประกอบความเพียรเพลาๆ ลงบ้าง แล้วเสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.
               ฝ่ายพระโสณเถระได้พระโอวาทในที่ต่อพระพักตร์ของพระทศพล ไม่นานนักก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล.
               ต่อมาภายหลัง พระศาสดามีหมู่ภิกษุแวดล้อมทรงแสดงธรรมในพระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ปรารภความเพียร.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 146อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 147อ่านอรรถกถา 20 / 148อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=644&Z=659
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=4479
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=4479
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :