ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 146อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 147อ่านอรรถกถา 20 / 148อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๒

หน้าต่างที่ ๓ / ๙.

               อรรถกถาสูตรที่ ๔               
               ประวัติพระสุภูติเถระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทกฺขิเณยฺยานํ แปลว่า ผู้ควรแก่ทักษิณา พระขีณาสพทั้งหลายเหล่าอื่นก็ชื่อว่า พระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ในบทว่า ทกฺขิเณยฺยานํ นั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น พระเถระกำลังบิณฑบาตก็เข้าฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ ออกจากสมาบัติแล้ว จึงรับภิกษาในเรือนทุกหลัง ด้วยทายกผู้ถวายภิกษาจักมีผลมาก เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ผู้ควรแก่ทักขิณา อัตภาพของท่านงามดี รุ่งเรืองอย่างยิ่งดุจซุ้มประตูที่เขาประดับแล้วและเหมือนแผ่นผ้าวิจิตร ฉะนั้นจึงเรียกว่า สุภูติ.
               ในปัญหากรรมของท่านมีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               เล่ากันว่า ท่านสุภูตินี้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ยังไม่ทรงอุบัติขึ้น ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงหงสวดี ญาติทั้งหลายขนานนามท่านว่า นันทมาณพ.
               ท่านเจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท ไม่เห็นสาระในไตรเพทนั้น พร้อมด้วยบริวารของตนมีมาณพประมาณ ๔๔,๐๐๐ คนออกบวชเป็นฤาษี อยู่ ณ เชิงบรรพต ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว ได้กระทำแม้อันเตวาสิกทั้งหลายให้ได้ฌานแล้ว.
               ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงบังเกิดในโลก ทรงอาศัยกรุงหงสวดีประทับอยู่. วันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นอรหัตตุปนิสัยของเหล่าชฏิลอันเตวาสิกของนันทดาบส และความปรารถนาตำแหน่งสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ของนันทดาบส จึงทรงปฏิบัติพระสรีระแต่เช้า ทรงถือบาตรและจีวรในเวลาเช้า เสด็จไปยังอาศรมของนันทดาบส โดยนัยที่ได้กล่าวแล้วในเรื่องของพระสารีบุตรเถระ ในที่นั้น พึงทราบการถวายผลไม้น้อยใหญ่ก็ดี การตกแต่งปุปผาสนะก็ดี การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี โดยนัยที่กล่าวแล้ว.
               ก็พระศาสดาออกจากนิโรธสมาบัติ ทรงส่งพระสาวกองค์หนึ่งผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือ อรณวิหารองค์ ๑ ทักขิไณยองค์ ๑ ว่า เธอจงกระทำอนุโมทนาปุปผาสนะแก่คณะฤาษี ดังนี้.
               พระเถระนั้นอยู่ในวิสัยของตนพิจารณาพระไตรปิฎกกระทำอนุโมทนา เมื่อจบเทศนาของท่านแล้ว พระศาสดาจึงทรงแสดง (ธรรม) ด้วยพระองค์เอง เมื่อจบเทศนา ดาบสทั้ง ๔๔,๐๐๐ ได้บรรลุพระอรหัตทุกรูป. ส่วนนันทดาบสถือเอานิมิตแห่งภิกษุผู้อนุโมทนาไม่อาจส่งญาณไปตามแนวแห่งเทศนาของพระศาสดาได้ พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ไปยังภิกษุที่เหลือว่า เอถ ภิกฺขโว (จงเป็นภิกษุมาเถิด) ภิกษุทั้งหมดมีผมและหนวดอันตรธานแล้ว ครองบริขารอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ปรากฏดุจพระเถระ ๑๐๐ พรรษา.
               นันทดาบสถวายบังคมพระตถาคตแล้วยืนเฉพาะพระพักตร์ กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ภิกษุผู้กระทำอนุโมทนาปุปผาสนะแก่คณะฤาษีมีนามว่าอะไรในศาสนาของพระองค์.
               ตรัสว่า ภิกษุนี้เป็นเอตทัคคะด้วยองค์คือความมีปกติอยู่โดยไม่มีกิเลส ๑ ด้วยองค์ของภิกษุผู้ควรทักษิณา ๑.
               นันทดาบสได้ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกรรมคือกุศลอันยิ่งที่ได้ทำมา ๗ วันนี้ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ข้าพระองค์พึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ เหมือนอย่างพระเถระนี้ในศาสนาของพระทศพลองค์หนึ่งในอนาคต.
               พระศาสดาทรงเห็นความไม่มีอันตรายจึงทรงพยากรณ์ แล้วเสด็จกลับไป.
               ฝ่ายนันทดาบสฟังธรรมในสำนักพระทศพลตามสมควรแก่กาล ไม่เสื่อมจากฌานแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก.
               อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์มิได้กล่าวถึงกัลยาณกรรมของดาบสนี้ในระหว่างไว้.
               ล่วงไปแสนกัป ท่านมาบังเกิดในเรือนแห่งสุมนเศรษฐีในกรุงสาวัตถี พวกญาติได้ขนานนามท่านว่า สุภูติ.
               ต่อมา พระศาสดาของพวกเราทรงบังเกิดในโลกอาศัย กรุงราชคฤห์ประทับอยู่.
               ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกเศรษฐีนำสินค้าที่ผลิตในกรุงสาวัตถีไปยังเรือนของราชคฤห์เศรษฐีสหายของตนทราบว่าพระศาสดาทรงอุบัติแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับอยู่ ณ สีตวัน ด้วยการเฝ้าครั้งแรกนั่นเอง ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสด็จมายังกรุงสาวัตถี ให้สร้างวิหารด้วยการบริจาคทรัพย์แสนหนึ่งๆ ทุกๆ โยชน์ตลอดทาง ๔๕ โยชน์ ซื้อที่อุทยานของพระราชกุมารนามว่าเชต ประมาณ ๑๘ กรีสด้วยเครื่องนับของหลวงในกรุงสาวัตถี โดยเรียงทรัพย์โกฏิหนึ่งสร้างวิหารในที่ที่ซื้อนั้น ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
               ในวันฉลองวิหาร สุภูติกุฏุมพีก็ได้ไปฟังธรรมกับอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ศรัทธาจึงบวช ท่านอุปสมบทแล้วกระทำมาติกา ๒ บทให้แคล่วคล่อง ให้บอกกัมมัฏฐานให้ บำเพ็ญสมณธรรมในป่าเจริญวิปัสสนา กระทำเมตตาฌานให้เป็นบาท บรรลุอรหัตแล้ว. เมื่อแสดงธรรมก็กล่าวธรรมโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล เมื่อเที่ยวบิณฑบาต ออกจากเมตตาฌานแล้วจึงรับภิกษาโดยนัยที่กล่าวแล้วเช่นกัน.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงอาศัยเหตุ ๒ อย่างนี้ จึงสถาปนาท่านไว้ในภิกษุผู้ควรแก่ทักษิณา แลตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปกติอยู่โดยไม่มีกิเลส.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 146อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 147อ่านอรรถกถา 20 / 148อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=644&Z=659
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=4479
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=4479
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :