ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
วรรคที่ ๑

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๐.

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               ประวัติพระมหากัจจายนเถระ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สงฺขิตฺเตน ภาสิตสฺส ความว่า ของธรรมที่ตรัสไว้โดยย่อ.
               บทว่า วิตฺถาเรน อตฺถํ วิภชนฺตานํ ความว่า จำแนกอรรถออกทำเทศนานั้นให้พิสดาร.
               นัยว่า พวกภิกษุเหล่าอื่นไม่อาจทำพระดำรัสโดยย่อของพระตถาคตให้บริบูรณ์ ทั้งโดยอรรถทั้งโดยพยัญชนะได้ แต่พระเถระนี้อาจทำให้บริบูรณ์ได้แม้โดยทั้ง ๒ อย่าง เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นยอด.
               ก็แม้ความปรารถนาแต่ปางก่อนของพระเถระนั้น ก็เป็นอย่างนี้.
               อนึ่ง ในปัญหากรรมของพระเถระนั้น มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้ :-
               ได้ยินว่า ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระเถระนั้นบังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มหาศาล เจริญวัยแล้ว วันหนึ่งไปวิหารตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้พิสดาร จึงคิดว่า ภิกษุซึ่งพระศาสดาทรงชมเชยอย่างนี้ เป็นใหญ่หนอ แม้ในอนาคตกาล เราก็ควรเป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งดังนี้.
               จึงนิมนต์พระศาสดา ถวายมหาทาน ๗ วันตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. หมอบลงแทบบาทมูลของพระศาสดา กระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เหมือนภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งในวันสุดท้าย ๗ วันนับแต่วันนี้.
               พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาล ทรงเห็นว่าความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า กุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งคำที่ตรัสโดยสังเขปให้พิสดาร ในศาสนาของพระองค์ดังนี้ ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับไป.
               ฝ่ายกุลบุตรนั้นบำเพ็ญกุศลตลอดชีพแล้วเวียนว่ายในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแสนกัป. ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็มาถือปฏิสนธิในครอบครัวกรุงพาราณสี เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็ไปยังสถานที่สร้างเจดีย์ทอง จึงเอาอิฐทองมีค่าแสนหนึ่งบูชา ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สรีระของข้าพระองค์จงมีวรรณเพียงดังทองในที่ๆ เกิดแล้วเถิด. ต่อแต่นั้น ก็กระทำกุศลกรรมตราบเท่าชีวิต เวียนว่ายในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง.
               ครั้งพระทศพลของเราอุบัติ มาบังเกิดในเรือนแห่งปุโรหิต ในกรุงอุชเชนี ในวันขนานนามท่าน มารดาบิดาปรึกษากันว่าบุตรของเรามีสรีระมีผิวดั่งทอง คงจะถือเอาชื่อของตนมาแล้ว จึงขนานนามท่านว่า กาญจนมาณพ ดังนี้.
               พอท่านโตขึ้นแล้วก็ศึกษาไตรเพท เมื่อบิดาวายชนม์แล้วก็ได้ตำแหน่งปุโรหิตแทน โดยโคตรชื่อว่ากัจจายนะ. พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชุมอำมาตย์แล้วมีพระราชดำรัสว่า พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว พวกเจ้าเป็นผู้สามารถจะทูลนำพระองค์มาได้ ก็จงนำพระองค์มานะพ่อนะ.
               อำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ คนอื่นชื่อว่าเป็นผู้สามารถจะนำพระทศพลมาไม่มี อาจารย์กาญจนพราหมณ์เท่านั้นสามารถ ขอจงทรงส่งท่านไปเถิด พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสเรียกให้กัจจายนะมาตรัสสั่งว่า พ่อจงไปยังสำนักของพระทศพลเจ้า.
               อ. ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์ไปแล้วได้บวชก็จักไป.
               พระราชาตรัสว่า เจ้าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็นำพระตถาคตมาซิพ่อ.
               กัจจายนอำมาตย์นั้นคิดว่าสำหรับผู้ไปสำนักของพระพุทธเจ้าไม่จำต้องทำด้วยคนจำนวนมากๆ จึงไปเพียง ๘ คน.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่อำมาตย์นั้น จบเทศนาท่านได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทากับชนทั้ง ๗ คน พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า เอถ ภิกฺขโว (ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุเถิด) ในขณะนั้นนั่นเทียว ทุกๆ คนก็มีผมและหนวดหายไป ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ เป็นประดุจพระเถระ ๑๐๐ พรรษาฉะนั้น.
               พระเถระเมื่อกิจของตนถึงที่สุดแล้วไม่นั่งนิ่ง กล่าวสรรเสริญการเสด็จไปกรุงอุชเชนี ถวายพระศาสดาเหมือนพระกาฬุทายีเถระ. พระศาสดาสดับคำของท่านแล้วทรงทราบว่า พระกัจจายนะย่อมหวังการไปของเราในชาติภูมิของตน แต่ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอาศัยเหตุอันหนึ่ง จึงไม่เสด็จไปสู่ที่ที่ไม่สมควรเสด็จ. เพราะฉะนั้นจึงตรัสกะพระเถระว่า ภิกษุ ท่านนั่นแหละจงไป เมื่อท่านไปแล้ว พระราชาจักทรงเลื่อมใส.
               พระเถระคิดว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ตรัสเป็นคำสอง ดังนี้จึงถวายบังคมพระตถาคต ไปกรุงอุชเชนีพร้อมกับภิกษุทั้ง ๗ รูปที่มาพร้อมกับตนนั่นแหละ ในระหว่างทางภิกษุเหล่านั้นได้เที่ยวบิณฑบาตในนิคมชื่อว่า นาลินิคม.
               ในนิคมแม้นั้น มีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเกิดในตระกูลเก่าแก่เข็ญใจ เมื่อมารดาบิดาล่วงไปแล้ว ก็อาศัยเป็นนางนมเลี้ยงชีพ. แต่อัตภาพของเธอบึกบึน ผมยาวเกินคนอื่นๆ. ในนิคมนั้นนั่นแหละ ยังมีธิดาของตระกูลอิสรเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีผม เมื่อก่อนนั้นมาแม้นางจะกล่าวว่า ขอให้นาง (ผมดก) ส่งไปให้ ฉันจักให้ทรัพย์ ๑๐๐ หนึ่ง หรือ ๑,๐๐๐ หนึ่งแก่เธอ ก็ให้เขานำผมมาไม่ได้.
               ก็ในวันนั้น ธิดาเศรษฐีนั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระมีภิกษุ ๗ รูปเป็นบริวาร เดินมามีบาตรเปล่า คิดว่าภิกษุผู้เป็นเผ่าพันธุ์พราหมณ์รูปหนึ่ง มีผิวดังทองรูปนี้เดินไปบาตรเปล่า ทรัพย์อย่างอื่นของเราก็ไม่มี แต่ว่าธิดาเศรษฐีบ้านโน้น (เคย) ส่ง (คน) มาเพื่อต้องการผมนี้ ตอนนี้เราอาจถวายไทยธรรมแก่พระเถระได้ด้วยทรัพย์ที่เกิดจากที่ได้ค่าผมนี้ ดังนี้จึงส่งสาวใช้ไปนิมนต์พระเถระทั้งหลายให้นั่งภายในเรือน พอพระเถระนั่งแล้ว (นาง) ก็เข้าห้องตัดผมของตน กล่าวว่า แน่แม่ จงเอาผมเหล่านี้ให้แก่ธิดาเศรษฐีบ้านโน้น แล้วเอาของที่นางให้มา เราจะถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
               สาวใช้เอาหลังมือเช็ดน้ำตา เอามือข้างหนึ่งกุมเนื้อตรงหัวใจปกปิดไว้ในสำนักพระเถระทั้งหลาย ถือผมนั้นไปยังสำนักของธิดาเศรษฐี. ธรรมดาขึ้นชื่อว่าของที่จะขายแม้มีสาระ (ราคา) เจ้าของนำไปให้เอง ก็ไม่ทำให้เกิดความเกรงใจ. ฉะนั้น ธิดาเศรษฐีจึงคิดว่า เมื่อก่อนเราไม่อาจจะให้นำผมเหล่านี้มาได้ด้วยทรัพย์เป็นอันมาก แต่บัดนี้ตั้งแต่เวลาตัดออกแล้ว ก็ไม่ได้ตามราคาเดิม จึงกล่าวกะสาวใช้ว่า เมื่อก่อนฉันไม่อาจให้นำผมไปแม้ด้วยทรัพย์เป็นอันมาก แต่ผมนี้นำไปที่ไหนๆ ก็ได้ ไม่ใช่ผมของคนเป็น มีราคา ๘ กหาปณะ จึงให้ไป ๘ กหาปณะเท่านั้น
               สาวใช้นำกหาปณะไปมอบให้แก่ธิดาเศรษฐี.
               ธิดาเศรษฐีก็จัดบิณฑบาตแต่ละที่ให้มีค่าที่ละกหาปณะหนึ่งๆ ให้ถวายแด่พระเถระทั้งหลายแล้ว. พระเถระรำพึงแล้วเห็นอุปนิสัยของธิดาเศรษฐี จึงถามว่า ธิดาเศรษฐีไปไหน. สาวใช้ตอบว่า อยู่ในห้อง เจ้าค่ะ.
               พระเถระว่า จงไปเรียกนางมาซิ.
               พระเถระพูดครั้งเดียวนางมาด้วยความเคารพในพระเถระ ไหว้พระเถระแล้วเกิดศรัทธาอย่างแรง บิณฑบาตที่ตั้งไว้ในเขตอันบริสุทธิ์ ย่อมให้วิบากในปัจจุบันชาติทีเดียว เพราะฉะนั้น พร้อมกับการไหว้พระเถระ ผมทั้งหลายจึงกลับมาตั้งอยู่เป็นปกติ.
               ฝ่ายพระเถระทั้งหลายถือเอาบิณฑบาตนั้นเหาะขึ้นไปทั้งที่ธิดาเศรษฐีเห็น ก็ลงพระราชอุทยานชื่ออุทธยานกัญจนะ คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นพระเถระนั้นแล้วจึงไปเจ้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระคุณเจ้ากัจจายนะปุโรหิตของเราบวชแล้วกลับมายังอุทยานแล้วพระเจ้าข้า.
               พระเจ้าจันฑปัชโชตจึงเสด็จไปยังอุทยาน ไหว้พระเถระผู้กระทำภัตกิจแล้วด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ตรัสถามว่า ท่านเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนล่ะ.
               พระเถระทูลว่า พระองค์มิได้เสด็จมาเอง ทรงส่งอาตมะมา มหาบพิตร.
               พระราชาตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้พระคุณเจ้าได้ภิกษา ณ ที่ไหน.
               พระเถระทูลบอกเรื่องที่กระทำได้โดยยากที่ธิดาเศรษฐีกระทำทุกอย่างให้พระราชาทรงทราบ ตามถ้อยคำควรแก่ที่ตรัสถาม.
               พระราชาตรัสให้จัดแจงที่อยู่แก่พระเถระ แล้วนิมนต์พระเถระไปยังนิเวศน์ แล้วรับสั่งให้ไปนำธิดาเศรษฐีมาตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีแล้ว ก็การได้ยศในปัจจุบันชาติได้มีแล้วแก่หญิงนี้ จำเดิมแต่นั้นพระราชาทรงกระทำสักการะใหญ่แด่พระเถระ.
               มหาชนเลื่อมใสในธรรมกถาของพระเถระ บวชในสำนักของพระเถระ จำเดิมแต่กาลนั้น ทั่วพระนครก็รุ่งเรื่องด้วยผ้ากาสาวพัตรเป็นอันเดียวกัน คลาคล่ำไปด้วยหมู่ฤาษี.
               ฝ่ายพระเทวีนั้นทรงครรภ์ พอล่วงทศมาสก็ประสูติพระโอรส ในวันถวายพระนามโอรสนั้น พระญาติทั้งหลายถวายพระนามของเศรษฐีผู้เป็นตาว่า โคปาลกุมาร.
               พระมารดาก็มีพระนามว่า โคปาลมารดาเทวี ตามชื่อของพระโอรส. พระนางทรงเลื่อมใสในพระเถระอย่างยิ่ง ขอพระราชานุญาตสร้างวิหารถวายพระเถระในกัญจนราชอุทยาน.
               พระเถระยังชาวอุชเชนีให้เลื่อมใสแล้ว ไปเฝ้าพระศาสดาอีกครั้งหนึ่ง.
               ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงกระทำพระสูตร ๓ สูตรเหล่านี้คือ มธุบิณฑิกสูตร, กัจจายนเปยยาลสูตร, ปรายนสูตร ให้เป็นอัตถุปบัติเหตุ แล้วทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งพระดำรัสที่ทรงตรัสโดยย่อให้พิสดารแล้ว.

               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               จบวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 139อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 146อ่านอรรถกถา 20 / 147อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=628&Z=643
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=2634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=2634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :