ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 1อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 20 / 22อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี
นีวรณปหานวรรคที่ ๒

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อรรถกถาสูตรที่ ๖               
               ในสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อนุปฺปนฺโนว กามฉนฺโท นุปฺปชฺชติ ความว่า กามฉันทะที่ไม่เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ อย่างเท่านั้นคือ ด้วยความไม่ฟุ้งขึ้น หรือด้วยอารมณ์ที่ไม่เคยเสวย ก็ไม่เกิดขึ้น. กามฉันทะนั้นเป็นอันภิกษุข่มได้แล้วอย่างนั้น ย่อมไม่ได้เหตุหรือปัจจัยอีก.
               แม้ในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบความไม่ฟุ้งขึ้นด้วยอำนาจวัตรเป็นต้น.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุบางรูปประกอบอยู่ในวัตร กระทำวัตรอยู่นั่นเอง โดยนัยดังกล่าวแล้ว กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส เพราะฉะนั้น กามฉันทะนั้นเป็นอันชื่อว่าภิกษุข่มไว้ได้ด้วยอำนาจวัตร ภิกษุนั้นกระทำกามฉันทะนั้นให้เป็นอันตนข่มไว้ได้อย่างนั้น แล้วเว้นขาดย่อมยึดเอาพระอรหัตได้ เหมือนพระมาลกติสสเถระฉะนั้น.
               ได้ยินว่า ท่านพระมาลกติสสะบังเกิดในครอบครัวพรานในที่ภิกขาจารแห่งคเมณฑวาสีวิหาร ในโรหณชนบท เจริญวัยแล้วก็ครองเรือน คิดว่าจักเลี้ยงบุตรและภรรยา วางฟ้าทับเหวไว้ ๑๐๐ คัน ดักบ่วงไว้ ๑๐๐ บ่วง ฝังหลาวไว้ ๑๐๐ แห่ง สร้างสมบาปไว้เป็นอันมาก.
               วันหนึ่งถือเอาไฟและเกลือจากเรือนไปป่า ฆ่าเนื้อที่ติดบ่วง กินเนื้อที่สุกด้วยถ่านเพลิง กระหายน้ำ ก็เข้าไปคเมณฑวาสีวิหาร ไม่ได้ดื่มน้ำแม้เพียงบรรเทาความกระหาย ในหม้อน้ำประมาณ ๑๐ หม้อในโรงน้ำดื่ม เริ่มยกโทษว่า อะไรกันนี่ ในที่อยู่ภิกษุมีประมาณเท่านี้ ไม่มีน้ำดื่มเพียงบรรเทาความกระหาย สำหรับผู้มาเพื่อหวังจะดื่ม.
               พระจูฬบิณฑปาติกติสสเถระฟังถ้อยคำของเขาแล้ว จึงไปหาเขา เห็นหม้อน้ำดื่มประมาณ ๑๐ หม้อเต็มน้ำในโรงดื่ม คิดว่าสัตว์นี้ชะรอยจักเป็นชีวมานเปรต จึงกล่าวว่า อุบาสก ถ้าท่านกระหายน้ำก็จงดื่มเถิด ดังนี้แล้ว ยกหม้อขึ้นรดลงที่มือของเขา เพราะอาศัยกรรมของเขา น้ำดื่มที่ดื่มแล้วๆ ก็ระเหยไปเหมือนใส่ลงในกระเบื้องร้อน. เมื่อเขาดื่มน้ำในหม้อทั้งหมด ความกระหายก็ไม่หายขาด.
               ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะเขาว่า ดูก่อนอุบาสก ก็ท่านทำกรรมหยาบช้าเพียงไรไว้ ท่านจึงเกิดเป็นเปรตในปัจจุบันทีเดียว วิบากจักเป็นเช่นไร?
               เขาฟังคำของพระเถระแล้ว ได้ความสังเวช ไหว้พระเถระ แล้วรื้อเครื่องประหารมีฟ้าทับเหวเป็นต้นเหล่านั้นเสีย รีบไปเรือนตรวจดูบุตรและภรรยาแล้วทำลายหอก ทิ้ง ประทีบ เนื้อและนกไว้ในป่า กลับไปหาพระเถระขอบรรพชา.
               พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ บรรพชาเป็นกิจที่ทำได้ยาก ท่านจักบวชได้อย่างไร? เขากล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมเห็นเหตุแจ้งประจักษ์อย่างนี้ จักไม่บวชได้อย่างไร. พระเถระให้ตจปัญจกรรมฐานแล้วให้เขาบวช ท่านเริ่มวัตรปฏิบัติ ยินดีเรียนเอาพุทธพจน์.
               วันหนึ่ง ได้ฟังฐานะนี้ในเทวทูตสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกนายนิรยบาลย่อมใส่สัตว์ตัวผู้เสวยกองทุกข์มีประมาณเท่านี้ เข้าในมหานรกอีก. จึงกล่าวว่า นายนิรบาลใส่สัตว์ผู้เสวยกองทุกข์ มีประมาณเท่านี้แล้วลงในมหานรกอีก โอ มหานรก หนักนะขอรับ. พระเถระตอบว่า เออ ผู้มีอายุ หนัก.
               ท่านถามว่า ผมอาจจะมองเห็นไหมขอรับ.
               พระเถระกล่าวว่า ท่านไม่อาจมองเห็น (แต่) เราจักแสดงเหตุอย่างหนึ่งเพื่อจะกระทำให้เหมือนกับที่มองเห็นแล้ว กล่าวว่า เธอจงชักชวนพวกสามเณรทำกองไม้สด บนหลังแผ่นหินสิ ท่านได้กระทำเหมือนอย่างนั้น. พระเถระนั่งอยู่ตามเดิม สำแดงฤทธิ์นำสะเก็ดไฟประมาณเท่าหิ่งห้อยจากมหานรก ใส่ลงไปที่กองฟืนของพระเถระนั้นผู้กำลังดูอยู่นั่นแล การที่สะเก็ดไฟนรกตกลงไปในกองฟืนนั้น แลการที่กองฟืนไหม้เป็นเถ้า ปรากฎไม่ก่อนไม่หลังกันเลย.
               ท่านเห็นเหตุนั้นแล้วถามว่า ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าธุระในพระศาสนานี้มีเท่าไร? พระเถระตอบว่า ผู้มีอายุ มี ๒ คือ วาสธุระ (วิปัสสนาธุระ) และคันถธุระ.
               ท่านกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าคันถะ เป็นภาระของผู้สามารถ แต่ศรัทธาของกระผมอาศัยทุกข์เป็นเหตุ กระผมจักบำเพ็ญวาสธุระ ขอท่านจงให้กรรมฐานแก่กระผมเถิด ไหว้แล้วก็นั่ง.
               พระเถระตั้งอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติด้วยคิดว่า ภิกษุต้องเป็นผู้สมบูรณ์อยู่ด้วยวัตร แล้วจึงบอกกรรมฐานแก่ท่าน.
               ท่านรับกรรมฐานแล้วกระทำกรรมในวิปัสสนา และบำเพ็ญวัตรกระทำวัตรที่จิตตลบรรพตมหาวิหารวันหนึ่ง, ทำที่คาเมณฑวาสีมหาวิหารวันหนึ่ง, ทำที่โคจรคามมหาวิหารวันหนึ่ง พอถีนมิทธะครอบงำ จึงทำใบไม้ให้ชุ่มน้ำวางไว้บนศีรษะ นั่งเอาเท้าแช่น้ำ เพราะกลัววัตรจะเสื่อม วันหนึ่งทำวัตรตลอด ๒ ยาม ที่จิตตลบรรพตวิหาร เมื่อเริ่มจะหลับ ในเวลาใกล้รุ่งจึงนั่งวางใบไม้สดไว้บนศีรษะ
               เมื่อสามเณรกำลังท่องบ่นอรุณวติสูตรอยู่ ณ ข้างเขาด้านตะวันออก ได้ยินฐานะนี้ว่า
                                   อารภถ นิกฺขมถ         ยุญฺชถ พุทฺธสาสเน
                                   ธุนาถ มจฺจุโน เสนํ     นฬาคารํว กุญฺชโร
                                   โย อิมสฺมึ ธมฺมวินเย    อปฺปมตฺโต วิหริสฺสติ
                                   ปหาย ชาติสํสารํ         ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ.
                         จงพากเพียร พยายาม บากบั่น ในพระพุทธศาสนา
                         จงกำจัดกองทัพของมฤตยู เหมือนกุญชรกำจัด
                         เรือนไม้อ้อฉะนั้น ผู้ใดไม่ประมาทในพระธรรมวินัย
                         นี้อยู่ จักละชาติสงสาร ทำที่สุดทุกข์ได้.

               จึงเกิดปีติขึ้นว่า คำนี้จักเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสโปรดภิกษุผู้ปรารภความเพียรเช่นกับเรา ดังนี้แล้วทำฌานให้บังเกิด กระทำฌานนั้นนั่นแลให้เป็นบาทแล้ว ดำรงอยู่ในอนาคามิผล พยายามสืบๆ ไปก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               แม้ในเวลาปรินิพพาน เมื่อแสดงเหตุนั้นนั่นแหละ จึงกล่าวคาถาอย่างนี้ว่า
                                   อลฺลปลาสปุญฺชาหํ         สิเรนาทาย จงฺกมิ
                                   ปตฺโตสฺมิ ตติยฎฐานํ     นตฺถิ เม เอตฺถ สํสโย
                         เราเอาศีรษะเทินฟ่อนใบไม้สดเดินจงกรม เราเป็นผู้ถึง
                         ฐานที่ ๓ (อนาคามิผล) เราไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้.

               กิเลสที่ข่มไว้ด้วยอำนาจแห่งวัตรของภิกษุเห็นปานนี้ ชื่อว่าย่อมเป็นอันข่มไว้อย่างนั้นเทียว เมื่อภิกษุบางรูปขวนขวายในคันถะ (คัมภีร์พุทธวจนะ) เรียน แสดงและประกาศคันถะ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส เป็นอันข่มไว้ได้ด้วยอำนาจคันถะนั่นแล ท่านกระทำกิเลสนั้นให้เป็นอันข่มได้อย่างนั้นนั่นแล คลายกำหนัดได้แล้วก็ยึดเอาพระอรหัตไว้ได้ เหมือนพระมาลิยเทวเถระฉะนั้น.
               ได้ยินว่า ท่านพระมาลิยเทวเถระผู้มีอายุนั้นเรียนอุเทศและทำวิปัสสนากรรมฐาน ที่มณฑลารามวิหาร ในกัลลคาม ในเวลาเป็นภิกษุได้ ๓ พรรษา ครั้นวันหนึ่ง เมื่อท่านเที่ยวภิกษาจารในกัลลคาม อุบาสิกาคนหนึ่งถวายข้าวยาคูกะบวยหนึ่ง เกิดความสิเนหาเหมือนดังบุตร ให้พระเถระนั่งภายในนิเวศน์ ถวายโภชนะอันประณีตแล้ว ถามว่า ท่านเป็นชาวบ้านไหนละพ่อ?
               ท่านตอบว่า อุบาสิกา อาตมาทำกิจกรรม คือการเรียนคันถะ ในมณฑลารามวิหาร. อุบาสิกากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พ่อจงรับภิกษาเป็นประจำในที่นี้แหละ ตราบเท่าที่เรียนคันถะ.
               ท่านรับคำนั้นแล้ว รับภิกษาในที่นั้นเป็นประจำ ในเวลาเสร็จภัตกิจ เมื่อจะทำอนุโมทนา จึงกล่าวเฉพาะ ๒ บทว่า สุขํ โหตุ ทุกฺขา มุจฺจตุ (ขอท่านจงเป็นสุข จงพ้นจากทุกข์) แล้วก็ไปกระทำการสงเคราะห์แก่นางนั้นนั่นแล ตลอด ๓ เดือนภายในพรรษา กระทำความยำเกรงต่อบิณฑบาต ในวันมหาปวารณาก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               พระมหาเถระผู้เป็นเจ้าถิ่นกล่าวว่า ท่านมหาเทวะ วันนี้ มหาชนจักประชุมกันในวิหาร ท่านจงให้ธรรมทานแก่มหาชนนั้น. พระเถระก็รับคำเชิญ ภิกษุหนุ่มและสามเณรได้ให้สัญญาแก่อุบาสิกาว่า วันนี้ บุตรของท่านจักแสดงธรรม ท่านพึงไปวิหารฟังธรรม.
               อุบาสิกากล่าวว่า พ่อทั้งหลาย ชนทั้งหมดไม่รู้ธรรมกถา บุตรของดิฉันแสดงแก่ดิฉันตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ แสดงเฉพาะ ๒ บทเท่านั้นว่า ขอท่านจงมีความสุข ขอท่านจงพ้นจากทุกข์ ท่านอย่าเย้ยหยันเลย.
               ภิกษุหนุ่มและสามเณรกล่าวว่า อุบาสิกา ท่านจะรับรู้หรือไม่รับรู้ ก็จงไปวิหารฟังธรรมเท่านั้น. อุบาสิกาถือเอาสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปบูชา แล้วนั่งฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท. พระธรรมกถึกและภิกษุผู้สวดสรภัญญะตอนกลางวัน รู้ความพอดีของตนก็ลุกกลับไป.
               ลำดับนั้น พระมาลิยเทวเถระนั่งบนธรรมาสน์ จับพัดวิชนีกล่าวบุรพกถาแล้วคิดว่า เราทำอนุโมทนาแก่มหาอุบาสิกกาด้วย ๒ บทมาตลอด ๓ เดือน วันนี้เราจักจับเอา (ข้อความ) จากพระไตรปิฎกแล้วกล่าวความหมายของบททั้ง ๒ นั้นตลอดทั้งคืน จึงเริ่มแสดงธรรมเทศนาตลอดคืนยังรุ่ง ในเวลาจบเทศนา อรุณขึ้น มหาอุบาสิกาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               พระเถระอีกรูปหนึ่งนามว่าติสสภูตเถระ ในวิหารนั้นนั่นเอง เรียนพระวินัย เข้าไปภายในบ้านในเวลาภิกขาจาร ได้แลเห็นวิสภาคารมณ์ ท่านเกิดความโลภขึ้น ท่านทำเท้าที่ยืนอยู่อย่างนั้น ไม่ให้เคลื่อนไปไหน เทข้าวยาคูในบาตรของตนลงในบาตรของภิกษุหนุ่มผู้เป็นอุปัฏฐาก คิดว่า ความวิตกนี้ เมื่อเพิ่มมากขึ้นจักทำเรา ให้จมลงในอบาย ๔ จึงกลับจากที่นั้นไปยังสำนักของอาจารย์ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กล่าวว่า พยาธิอันหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผมแล้ว ผมไม่สามารถจะเยียวยามันได้ จึงมาหา ไม่ได้มาโดยเรื่องนอกนี้เลย ขอท่านจงโปรดตรวจดูกระผมตั้งอุเทศกลางวันและอุเทศตอนเย็น แต่อย่าตั้งอุเทศในเวลาใกล้รุ่งเลย.
               ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ได้ไปยังสำนักของพระมัลลยวาสิมหารักขิตเถระ พระเถระกำลังทำการล้อมรั้วบรรณศาลาของตน ไม่มองดูท่าน กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ จงเก็บงำบาตรและจีวรของท่านเสีย ภิกษุนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมมีพยาธิอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าท่านสามารถเยียวยามันได้ไซร้ กระผมจึงจักเก็บงำ. พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ คุณมายังสำนักของท่านผู้สามารถเยียวยาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว คุณจงเก็บงำเสียเถิด. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่ายคิดว่า อาจารย์ของพวกเราไม่รู้ คงไม่กล่าวอย่างนั้น แล้ววางบาตรและจีวรแสดงวัตรแก่พระเถระไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พระเถระรู้ว่าผู้นี้เป็นราคจริต จึงได้บอกอสุภกรรมฐาน ท่านลุกขึ้นคล้องบาตรและจีวรไว้บนบ่า ไหว้พระเถระไหว้แล้วไหว้อีก พระเถระถามว่า ท่านมหาภูติ ทำไม คุณจึงแสดงอาการเคารพนบนอบเกินไป. ท่านกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ถ้ากระผมจักทำกิจของตนได้ไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี ถ้าไม่ได้เช่นนั้น การเห็นครั้งนี้จะเป็นการเห็นครั้งสุดท้ายของผม.
               พระเถระกล่าวว่า ท่านมหาภูติไปเถิด ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี กุลบุตรผู้ประกอบความเพียรเช่นนั้นได้ไม่ยากดอก. ภิกษุนั้นฟังถ้อยคำของพระเถระแสดงอาการนอบน้อมแล้วไปสู่โคนกอไม้มะลื่น อันร่มที่ตนกำหนดหมายตาไว้ในตอนมา นั่งขัดสมาธิ ทำอสุภกรรมฐานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนา ดำรงอยู่ในพระอรหัต ทันแสดงปาติโมกข์ ในเวลาใกล้รุ่ง.
               ภิกษุเห็นปานนี้ข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจคันถะ เป็นอันชื่อว่าข่มได้ด้วยประการนั้นเหมือนกัน
               ก็เมื่อภิกษุบางรูปบริหารธุดงค์โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส กิเลสนั้นเป็นอันท่านข่มได้ด้วยอำนาจธุดงค์ ท่านทำกิเลสนั้นให้เป็นอันข่มได้แล้วนั่นแล คลายกำหนัดได้แล้ว ยึดพระอรหัตไว้ได้ เหมือนท่านพระมหาสิวเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขาใกล้บ้าน.
               ได้ยินว่า พระมหาสิวเถระอยู่ในติสสมหาวิหาร ใกล้มหาคาม สอนพระไตรปิฏกกะภิกษุคณะใหญ่ ๑๘ คณะทั้งโดยอรรถ ทั้งโดยบาลี ภิกษุ ๖๐,๐๐๐ รูปตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว
               บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งปรารภธรรมที่ตนได้แทงตลอดแล้ว เกิดโสมนัสขึ้น คิดว่า ความสุขนี้มีแก่อาจารย์ของเราบ้างไหมหนอ ภิกษุนั้นเมื่อคำนึงอยู่ก็รู้ว่า พระเถระยังเป็นปุถุชน คิดว่า เราจักให้ความสังเวชเกิดขึ้นแก่พระเถระด้วยอุบายนี้ จึงจากที่อยู่ของตนไปยังสำนักของพระเถระ ไหว้แสดงวัตรแล้วนั่ง.
               ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะภิกษุนั้นว่า ท่านปิณฑปาติกะ มาทำไม. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ท่านขอรับ กระผมมาด้วยหวังว่า ถ้าท่านจักกระทำโอกาสแก่กระผม กระผมก็จักเรียนธรรมบทๆ หนึ่ง.
               พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ ภิกษุเป็นอันมากเรียนกัน ท่านจักไม่มีโอกาสดอก. ภิกษุนั้นเมื่อไม่ได้โอกาสในส่วนกลางคืนและกลางวัน จึงกล่าวว่า เมื่อโอกาสไม่มีอย่างนั้น ท่านจักได้โอกาสแห่งมรณะอย่างไร? เวลานั้นพระเถระคิดว่า ภิกษุนี้ไม่มาเพื่อเรียนอุเทศ แต่เธอมาเพื่อทำความสังเวชให้เกิดแก่เรา แม้ภิกษุนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมดาว่าภิกษุพึงเป็นผู้เช่นเรา ดังนี้ แล้วไหว้พระเถระ เหาะไปในอากาศอันมีสีดังแก้วมณี.
               พระเถระเกิดความสังเวช ตั้งแต่เวลาที่ภิกษุนั้นไปแล้ว บอกอุเทศตอนกลางวันและในตอนเย็น วางบาตรและจีวรไว้ใกล้หัตถบาส ในเวลาใกล้รุ่งจึงเรียนอุเทศ ถือบาตรและจีวรลงไปกับภิกษุผู้กำลังลงไปอยู่ อธิษฐานธุดงคคุณ ๑๓ ให้บริบูรณ์แล้วไปยังเสนาสนะที่เงื้อมเข้าใกล้บ้าน ปัดกวาดเงื้อมเขาแล้วให้ยกเตียงและตั่งขึ้น ผูกใจว่าเรายังไม่บรรลุพระอรหัต จักไม่เหยียดหลังบนเตียง จึงลงสู่ที่จงกรม.
               เมื่อท่านพยายามอยู่ด้วยหวังใจว่า เราจักบรรลุพระอรหัตในวันนี้ เราจักบรรลุพระอรหัตในวันนี้ วันปวารณาก็มาถึง เมื่อใกล้วันปวารณา ท่านคิดว่า เราจักละความเป็นปุถุชน ปวารณาเป็นวิสุทธิปวารณา ก็ลำบากอย่างยิ่ง ท่านเมื่อไม่สามารถจะทำมรรคหรือผลให้เกิดในวันปวารณานั้นได้ จึงกล่าวว่า ผู้ปรารภวิปัสสนาแม้เช่นเราก็ยังไม่ได้ พระอรหัตนี้ช่างเป็นคุณอันได้ยากจริงหนอ จึงเป็นผู้มากไปด้วยการยืนและการเดินโดยทำนองนี้แล กระทำสมณธรรมตลอด ๓๐ ปี เห็นพระจันทร์เพ็ญลอยเด่นอยู่ในท่ามกลางดิถีวันมหาปวารณา คิดว่า ดวงจันทร์บริสุทธิ์หรือศีลของเราบริสุทธิ์ รำพึงว่า ในดวงจันทร์ยังปรากฏมีลักษณะเป็นรูปกระต่าย แต่รอยดำหรือจุดด่างในศีลของเรา ตั้งแต่เราอุปสมบทจนถึงทุกวันนี้ไม่มี เกิดโสมนัส ข่มปีติเพราะมีญาณแก่กล้า บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ภิกษุเห็นปานนี้ข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจธุดงค์ เป็นอันชื่อว่าข่มกิเลสได้แล้ว โดยประการนั้นนั่นแล.
               เพราะภิกษุบางรูปมากไปด้วยการเข้าปฐมฌานเป็นต้นโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส เป็นอันข่มได้ด้วยอำนาจสมาบัติ ท่านกระทำกิเลสให้เป็นอันข่มได้โดยประการนั้นนั่นแล คลายกำหนัดได้แล้ว ย่อมยึดพระอรหัตไว้ได้ เหมือนพระมหาติสสเถระฉะนั้น.
               ได้ยินว่า พระมหาติสสเถระได้สมาบัติ ๘ ตั้งแต่เวลาที่มีพรรษา ๘ ท่านกล่าวธรรมได้ใกล้เคียงอริยมรรค ด้วยอำนาจเรียนและการสอบถาม เพราะกิเลสที่ถูกข่มไว้ด้วยสมาบัติไม่ฟุ้งขึ้น แม้ในเวลาที่ท่านมีพรรษา ๖๐ ก็ไม่รู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชน
               ครั้นวันหนึ่ง ภิกษุสงฆ์จากติสสมหาวิหาร ในบ้านมหาคาม ได้ส่งข่าวแก่พระธัมมทินนเถระผู้อยู่ที่หาดทรายว่า ขอพระเถระจงมากล่าวธรรมกถาแก่พวกกระผม. พระเถระรับคำแล้ว คิดว่า ภิกษุผู้แก่กว่าไม่มีในสำนักของเรา แต่พระมหาติสสเถระเล่าก็เป็นอาจารย์ผู้บอกกรรมฐานแก่เรา เราจะตั้งท่านให้เป็นพระสังฆเถระแล้วจักไป ท่านอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วไปยังวิหารของพระเถระ แสดงวัตรแก่พระเถระในที่พักกลางวัน นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พระเถระกล่าวว่า ธัมมทินนะ ท่านมานานแล้วหรือ?
               พระธัมมทินนเถระกล่าวว่า ท่านผู้เจริญขอรับ ภิกษุสงฆ์ส่งข่าวสาสน์จากติสสมหาวิหารมาถึงกระผม ลำพังกระผมผู้เดียวก็จักไม่มา แต่กระผมปรารถนาจะไปกับท่านจึงได้มา ท่านกล่าวสาราณิยกถาถ่วงเวลาให้ช้าๆ แล้วถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านบรรลุธรรมนี้เมื่อไร?
               พระเถระกล่าวว่า ท่านธัมมทินนะ ประมาณ ๖๐ ปี. พระธัมมทินนเถระกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านใช้สมาธิหรือ? พระเถระกล่าวว่า ขอรับท่าน. พระธัมมทินนเถระกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านเนรมิตสระโปกขรณีสระหนึ่งได้ไหม? พระเถระกล่าวว่า ท่าน ข้อนั้นไม่หนักเลย แล้วเนรมิตสระโปกขรณีขึ้นในที่ต่อหน้า และถูกท่านกล่าวว่า ท่านจงเนรมิตกอปทุม กอหนึ่งในสระนี้. ก็เนรมิตกอปทุมแม้นั้น. พระธัมมทินนเถระกล่าวว่า บัดนี้ ท่านจงสร้างดอกไม้ใหญ่ในกอปทุมนี้ พระเถระก็แสดงดอกไม้แม้นั้น ถูกกล่าวว่า ท่านจงแสดงรูปหญิงมีอายุประมาณ ๑๖ ปีในดอกไม้นี้ ก็แสดงรูปหญิงแม้นั้น.
               ลำดับนั้น พระธัมมทินนะกล่าวกะพระเถระนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงใส่ใจถึงรูปหญิงนั้นบ่อยๆ โดยความงาม. พระเถระแลดูรูปหญิงที่ตนเนรมิตขึ้น เกิดความกำหนัดขึ้นในเวลานั้น จึงรู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชน จึงกล่าวว่า ท่านสัปปุรุษ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผม แล้วนั่งกระโหย่งในสำนักของอันเตวาสิก. พระธรรมทินนะกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมมาเพื่อประโยชน์นี้เอง แล้วบอกกรรมฐานเบาๆ เนื่องด้วยอสุภแก่พระเถระ แล้วออกไปข้างนอกเพื่อให้โอกาสแก่พระเถระ. พระเถระผู้มีสังขารอันปริกรรมไว้ดีแล้ว พอพระธัมมทินนะนั้นออกไปจากที่พักกลางวันเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ลำดับนั้น พระธัมมทินนเถระกระทำท่านให้เป็นพระสังฆเถระ ไปยังมหาติสสวิหาร แสดงธรรมกถาแก่สงฆ์ กิเลสอันพระเถระเห็นปานนั้นข่มแล้ว ก็เป็นอันข่มแล้วโดยประการนั้นนั่นแล.
               แต่สำหรับพระภิกษุบางรูปกระทำวิปัสสนากรรมฐานโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส เป็นอันข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจวิปัสสนานั่นแล ภิกษุนั้นกระทำกิเลสให้เป็นอันข่มได้ด้วยประการนั้น คลายกำหนัดได้แล้วย่อมยึดพระอรหัตไว้ได้ เหมือนภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาประมาณ ๖๐ รูป ในครั้งพุทธกาล.
               ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นรับพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดาแล้วเข้าไปป่าอันเงียบสงัด กระทำกรรมในวิปัสสนา (แต่) ไม่กระทำความพยายามเพื่อประโยชน์แก่มรรคผล ด้วยสำคัญว่า เราบรรลุมรรคผลแล้ว เพราะกิเลสไม่ฟุ้งขึ้น คิดว่าเราจักกราบทูลถึงธรรมที่เราแทงตลอดแล้วแด่พระทสพล จึงมาเฝ้าพระศาสดา แต่ก่อนที่ภิกษุเหล่านั้นจะมาถึง พระศาสดาได้ตรัสกะพระอานนทเถระว่า อานนท์ ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรจะมาพบเราในวันนี้ เธออย่าให้โอกาสแก่ภิกษุเหล่านั้นเพื่อจะพบเรา พึงส่งไปว่า พวกท่านจงไปป่าช้าทิ้งศพดิบ ทำภาวนาอสุภสด. พระเถระบอกข่าวที่พระศาสดาสั่งไว้แก่ภิกษุที่มาแล้วเหล่านั้น.
               ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า พระตถาคตไม่ทรงทราบแล้วคงไม่ตรัส ชะรอยจักมีเหตุในข้อนี้เป็นแน่ ดังนี้แล้วจึงไปยังป่าช้าศพดิบ ตรวจดูอสุภสดก็เกิดความกำหนัดขึ้น เกิดความสังเวชขึ้นว่า ข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธคงจักทรงเห็นแล้วเป็นแน่ จึงเริ่มกรรมฐานเท่าที่ตนได้ตั้งแต่ต้น.
               พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเริ่มวิปัสสนา ประทับนั่งที่พระคันธกุฎีนั่นแล ได้ตรัสโอภาสคาถาว่า
                                   ยานีมานิ อปตฺถานิ     อลาพูเนว สารเท
                                   กาโปตกานิ อฏฺฐีนิ     ตานิ ทิสฺวาน กา รติ
                         จะยินดีไปใย เพราะได้เห็นกระดูกที่มีสีดังนกพิราบ
                         ที่ใครๆ ไม่ปรารถนา เหมือนน้ำเต้าในสารทกาล ฉะนั้น.

               ในเวลาจบคาถา ภิกษุเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล.
               ภิกษุเห็นปานนี้ข่มกิเลสได้แล้วด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา เป็นอันชื่อว่าข่มได้แล้วโดยประการนั้นนั่นแล.
               เมื่อภิกษุบางรูปกระทำนวกรรมโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล กิเลสย่อมไม่ได้โอกาส เป็นอันชื่อว่าท่านข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจนวกรรม ท่านกระทำกิเลสนั้นให้เป็นอันข่มไว้แล้วอย่างนั้น คลายกำหนัดได้แล้วย่อมยึดพระอรหัตไว้ได้ เหมือนพระติสสเถระในจิตตลบรรพต ฉะนั้น.
               ได้ยินว่า ในเวลาที่พระติสสเถระนั้นได้ ๘ พรรษาเกิดความอยากสึก ท่านไม่อาจบรรเทาความอยากสึกนั้นได้ ซักย้อมจีวรปลงผมแล้ว ไหว้พระอุปัชฌาย์ ยืนอยู่.
               ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะท่านว่า ท่านมหาติสสะ อาการของท่านเหมือนไม่ยินดีหรือ? ภิกษุนั้นตอบว่า ขอรับท่าน กระผมอยากสึก กระผมบรรเทามันไม่ได้. พระเถระตรวจอัธยาศัยของท่าน เห็นอุปนิสัยพระอรหัต จึงกล่าวโดยความเอ็นดูว่า ผู้มีอายุ พวกเราเป็นคนแก่ ท่านจงสร้างสถานที่อยู่ สำหรับพวกเราสักหลังหนึ่ง ภิกษุผู้ไม่เคยถูกใครพูดเป็นคำที่ ๒ จึงรับว่าดีละ ขอรับ.
               ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุเมื่อท่านกำลังทำนวกรรม ก็อย่าได้สละแม้แต่อุเทศ จงมนสิการพระกรรมฐานและจงกระทำบริกรรมกสิณตามกาลอันสมควร. ภิกษุนั้นกล่าวว่า กระผมจักกระทำอย่างนั้นขอรับ ไหว้พระเถระแล้ว ตรวจดูที่อันเป็นเงื้อมเห็นปานนั้น คิดว่า ตรงนี้ทำได้ จึงนำฟืนมาเผาชำระ (ที่) ให้สะอาด แล้วก่ออิฐ ประกอบประตูและหน้าต่าง ทำที่เร้นเสร็จ พร้อมทั้งก่ออิฐบนพื้นที่จงกรมเป็นต้น แล้วตั้งเตียงและตั่งไว้แล้ว ไปยังสำนักพระเถระไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ที่เร้นเสร็จแล้ว โปรดจงอยู่เถิด.
               พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ ท่านทำงานนี้ได้โดยยาก วันนี้ท่านอยู่ในที่นี้เสียวันหนึ่ง. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ดีละขอรับ ล้างเท้าแล้ว เข้าไปยังที่เร้นนั่งสมาธิ รำลึกถึงกรรมที่ตนทำ เมื่อท่านคิดว่า การทำการขวนขวายด้วยกายอันเป็นที่ถูกใจ เรากระทำแก่พระอุปัชฌาย์แล้ว ปีติเกิดขึ้นในภายใน ท่านข่มปีตินั้นได้แล้ว เจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ ภิกษุเห็นปานนี้ข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจนวกรรม เป็นอันชื่อว่าท่านข่มได้แล้วโดยประการนั้นเหมือนกัน.
               ส่วนภิกษุบางรูปมาจากพรหมโลก เป็นสัตว์บริสุทธิ์ กิเลสไม่ฟุ้งขึ้น เพราะท่านไม่มีอาเสวนะ (คือการทำจนคุ้น) เป็นอันชื่อว่าท่านข่มได้ด้วยอำนาจภพ. ท่านเว้นขาดกิเลสนั้นอันข่มได้แล้วโดยประการนั้น ยึดพระอรหัตไว้ได้ เหมือนท่านพระมหากัสสปะฉะนั้น.
               จริงอยู่ ท่านพระมหากัสสปะนั้นไม่บริโภคกามทั้งที่อยู่ครองเรือน ละสมบัติใหญ่ออกบวช เห็นพระศาสดาเสด็จมาเพื่อต้อนรับในระหว่างทาง ถวายบังคมแล้ว ได้อุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ข้อ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในอรุณที่ ๘ ภิกษุเห็นปานนี้ข่มกิเลสได้ด้วยอำนาจภพ เป็นอันชื่อว่าข่มกิเลสได้อย่างนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง ภิกษุใดได้อารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นซึ่งไม่เคยได้เสวย เริ่มตั้งวิปัสสนาในอารมณ์นั้นนั่นเอง คลายกำหนัดได้แล้วย่อมยึดพระอรหัตไว้ได้ กามฉันท์ที่ไม่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอารมณ์ที่ไม่เคยเสวย ก็ชื่อว่าไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุเห็นปานนี้
               บทว่า อุปฺปนฺโน ในคำว่า อุปฺปนฺโน วา กามจฺฉนฺโท ปหียติ นี้ได้แก่ เกิดแล้ว มีแล้ว ฟุ้งขึ้นแล้ว
               บทว่า ปหียติ ความว่า ท่านละได้ด้วยปหานะ ๕ เหล่านี้ คือตทังคปหาน วิกขัมภนปหาน สมุจเฉทปหาน ปัสสัทธิปหาน นิสสรณปหาน. อธิบายว่า ไม่เกิดขึ้นอีก.
               ในปหาน ๕ อย่างนั้น กิเลสที่ท่านละได้ด้วยวิปัสสนาด้วยอำนาจตทังคปหาน เพราะเหตุนั้น วิปัสสนาพึงทราบว่าตทังคปหาน. ส่วนสมาบัติย่อมข่มกิเลสได้ เพราะฉะนั้น สมาบัตินั้นพึงทราบว่าวิกขัมภนปหานละได้ด้วยการข่ม. มรรคตัดกิเลสได้เด็ดขาดก็เกิดขึ้น ผลสงบระงับเกิดขึ้น พระนิพพานสลัดออกจากกิเลสทั้งปวง มรรคผลนิพพานทั้ง ๓ ดังว่ามานี้ ท่านเรียกว่า สมุจเฉทปหาน ปัสสัทธิปหาน และนิสสรณปหาน. อธิบายว่า กิเลส ท่านละด้วยปหาน ๕ อันเป็นโลกิยะและโลกุตตระเหล่านี้
               บทว่า อสุภนิมิตฺตํ ได้แก่ ปฐมฌานพร้อมทั้งอารมณ์เกิดขึ้นในอสุภ ๑๐ ด้วยเหตุนั้น พระโปราณาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า อสุภนิมิตมีในอสุภ ธรรมทั้งหลายอันมีอสุภเป็นอารมณ์ ชื่อว่าอสุภนิมิต.
               บทว่า โยนิโส มนสิกโรโต ความว่า ผู้ใส่ใจอยู่ด้วยอำนาจมนสิการโดยอุบายดังกล่าวแล้ว โดยนัยมีอาทิ ดังนี้ว่า ในธรรมเหล่านั้น โยนิโสมนสิการเป็นไฉน? คือ มนสิการในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง
               บทว่า อนุปฺปนฺโน เจว กามจฺฉนฺโท นุปฺปชฺชติ ได้แก่ กามฉันท์ที่ยังไม่ฟุ้งก็ไม่ฟุ้งขึ้น.
               บทว่า อุปฺปนฺโน กามจฺฉนฺโท ปหียติ ความว่า กามฉันทะฟุ้งขึ้นแล้ว ท่านละได้ด้วยปหานทั้ง ๕.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๖ เป็นไปเพื่อละกามฉันทะ คือ
                         การเรียนอสุภนิมิต
                         การประกอบเนืองๆ ในอสุภภาวนา
                         ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
                         ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
                         การกล่าวถ้อยคำแต่ที่เป็นสัปปายะ.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุเรียนเอาอสุภนิมิตทั้ง ๑๐ ก็ดี เจริญอสุภภาวนาอยู่ก็ดี คุ้มครองในอินทรีย์ก็ดี รู้จักประมาณในโภชนะ เพราะเมื่อมีโอกาสกลืนกินได้ ๔-๕ คำก็ดื่มน้ำเสียแล้ว ยังอัตภาพให้เป็นไปเป็นปกติก็ดี ท่านย่อมละกามฉันทนิวรณ์ได้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   จตฺตาโร ปญฺจอาโลเป     อภุตฺวา อุทกํ ปิเว
                                   อลํ ผาสุวิหาราย              ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน
                         ภิกษุไม่พึงบริโภคคำข้าวเสีย ๔-๕ คำแล้วดื่มน้ำ (แทน)
                         ก็พออยู่เป็นผาสุก สำหรับภิกษุผู้มีจิตอันสงบ.
               ภิกษุ คบหากัลยาณมิตร ผู้ยินดีในอสุภภาวนา เช่นกับพระติสสเถระผู้บำเพ็ญอสุภกรรมฐาน ย่อมละกามฉันท์ได้ด้วยอสัปปายกถาอันอาศัยอสุภ ๑๐ ในการยืนและนั่งเป็นต้นก็ละกามฉันท์ได้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันท์.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๖               

               อรรถกถาสูตรที่ ๗               
               ในสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เมตตาเจโตวิมุตฺติ ได้แก่ เมตตาที่แผ่ประโยชน์เกื้อกูลไปในสัตว์ทุกจำพวก ก็เพราะเหตุที่จิตประกอบด้วยเมตตานั้น ย่อมหลุดพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น ฉะนั้น เมตตานั้น ท่านจึงเรียกว่า เจโตวิมุตติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ว่าโดยพิเศษ เมตตานั้นพึงทราบว่า ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องกลุ้มรุมคือพยาบาททั้งหมด.
               ด้วยคำเพียงเท่านี้ว่า เมตตาในคำว่า เมตฺตาเจโตวิมุตฺติ นั้น แม้ปฏิปทาเป็นส่วนเบื้องต้นก็ใช้ได้. แต่เพราะท่านกล่าวว่า เจโตวิมุตติ ในที่นี้ท่านประสงค์เอาเมตตาเฉพาะที่เป็นอัปปนาโดยอำนาจติกฌานและจตุกกฌานเท่านั้น.
               บทว่า โยนิโส มนสิกาโร ความว่า มนสิการอยู่ ซึ่งเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ด้วยมนสิการโดยอุบายซึ่งมีลักษณะดังกล่าวแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละพยาบาท คือ
                         การเล่าเรียนเมตตานิมิต
                         การประกอบเนืองๆ ในเมตตาภาวนา
                         การพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน
                         ความเป็นผู้มากไปด้วยการพิจารณา
                         ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
                         การกล่าวถ้อยคำแต่ที่เป็นสัปปายะ.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุถือเมตตาด้วยการแผ่ไปโดยเจาะจงและไม่เจาะจง ก็ย่อมละพยาบาทได้ เมื่อพิจารณาถึงความที่ตนและบุคคลอื่น เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนอย่างนี้ว่า ท่านโกรธเขาแล้วจักทำอะไรเขา จักทำศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศได้หรือ ท่านมาด้วยกรรมของตนแล้วก็ไปด้วยกรรมของตนเท่านั้นมิใช่หรือ ชื่อว่าการโกรธผู้อื่น ย่อมเป็นเหมือนจับถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวไฟ ซี่เหล็กที่ร้อนและคูถเป็นต้นแล้วประสงค์ประหารผู้อื่น คนผู้โกรธต่อท่านแม้คนนี้จักกระทำอะไรได้ จักอาจทำศีลเป็นต้นของท่านให้พินาศหรือ เขามาด้วยกรรมของตนแล้วจักไปด้วยกรรมของตนเท่านั้น ความโกรธนั้นจักตกบนกระหม่อมของผู้นั้นเท่านั้น เปรียบเหมือนห้วงน้ำใหญ่ที่ไม่มีอะไรปิดกั้นไว้ และเหมือนกำธุลีซัดไปทวนลมฉะนั้น ดังนี้ก็ดี ผู้พิจารณาความที่เขาทั้ง ๒ เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนแล้วตั้งอยู่ในการพิจารณาก็ดี คบหากัลยาณมิตร ผู้ยินดีในการเจริญภาวนา เหมือนกับพระอัสสคุตตเถระก็ดี ย่อมละพยาบาทได้ ย่อมละพยาบาทได้แม้ด้วยการกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะที่อิงเมตตา ทั้งในการยืนและนั่งเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละพยาบาท.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในที่นี้และในที่อื่นจากนี้นั่นแล แต่ข้าพเจ้าจักกล่าวเพียงที่แปลกกันเท่านั้นแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๗               

               อรรถกถาสูตรที่ ๘               
               ในสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ความเพียรครั้งแรกชื่อว่าอารัพภธาตุ ในคำมีอาทิว่า อารพฺภธาตุ. ความเพียรมีกำลังแรงกว่านั้น เพราะออกจากความเกียจคร้านได้ ชื่อว่านิกกมธาตุ ความเพียรที่แรงกว่านั้น เพราะก้าวไปยังฐานข้างหน้าๆ ชื่อว่าปรักกมธาตุ.
               แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าวไว้ว่า ความเพียรเริ่มแรกเพื่อบรรเทากาม ๑ การก้าวออกเพื่อกำจัดกิเลสดุจลิ่ม ๑ ความบากบั่นเพื่อตัดกิเลสดุจเครื่องผูก ๑ แล้วกล่าวว่า เรากล่าวว่า ความเพียรมีประมาณยิ่งกว่าทั้ง ๓ อย่างแม้นั้น.
               บทว่า อารทฺธวิริยสฺส ได้แก่ ผู้มีความเพียรที่บริบูรณ์ และมีความเพียรที่ประคองไว้.
               ในสองอย่างนั้น ความเพียรที่ปราศจากโทษ ๔ อย่างพึงทราบว่า ความเพียรที่เริ่มแล้วแต่ไม่ใช่ที่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ใช่ที่ประคองเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ความเพียรที่หดหู่ในภายในและไม่ใช่ความเพียรที่ฟุ้งซ่านไปภายนอก
               ความเพียรนี้นั้นมี ๒ อย่าง คือความเพียรทางกาย ๑ ความเพียรทางใจ ๑.
               ในสองอย่างนั้น พึงทราบความเพียรทางกายของภิกษุผู้พากเพียรพยายามทางกายตลอด ๕ ส่วนของกลางคืนและกลางวันอย่างนี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมชำระจิตเสียจากธรรมที่พึงกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวัน.
               พึงทราบความเพียรทางจิตของภิกษุผู้พากเพียรพยายามผูกใจด้วยการกำหนดโอกาสอย่างนี้ว่า เราจักไม่ออกไปจากที่เร้นนี้ ตราบเท่าที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น หรือด้วยการกำหนดอิริยาบถมีการนั่งเป็นต้นอย่างนี้ว่า เราจักไม่เลิกนั่งขัดสมาธินี้ ตราบเท่าที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่น.
               ความเพียรแม้ทั้ง ๒ นั้นย่อมสมควรในที่นี้.
               ก็สำหรับท่านผู้ปรารภความเพียรด้วยความเพียรแม้ทั้ง ๒ อย่างนี้ ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละได้ เหมือนพระติสสเถระเผ่ามิลักขะ เหมือนพระมหาสิวเถระผู้อยู่เงื้อมเขาใกล้ละแวกบ้าน เหมือนพระปีติมัลลกเถระและเหมือนพระติสสเถระบุตรกุฏุมพีฉะนั้น.
               ก็บรรดาพระเถระเหล่านั้น พระเถระ ๓ รูปข้างต้นและพระเถระเหล่าอื่นเห็นปานนั้นเป็นผู้เริ่มบำเพ็ญเพียรด้วยความเพียรทางกาย พระติสสเถระบุตร กุฏุมพีและพระเถระเหล่าอื่นเห็นปานนั้นเป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยความเพียรทางใจ.
               ส่วนพระมหานาคเถระผู้อยู่ที่อุจจวาลุกวิหารเป็นผู้ปรารภความเพียรทั้ง ๒ อย่าง.
               ได้ยินว่า พระเถระเดินจงกรมสัปดาห์ ๑ ยืนสัปดาห์ ๑ นั่งสัปดาห์ ๑ นอนสัปดาห์ ๑ พระมหาเถระไม่มีแม้สักอิริยาบถหนึ่งที่จะได้ชื่อว่าไม่เป็นสัปปายะ ในสัปดาห์ที่ ๔ ท่านเจริญวิปัสสนาก็ตั้งอยู่ในพระอรหัต.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ
                         การถือเอานิมิตในการบริโภคเกินไป ๑
                         การเปลี่ยนอิริยาบถโดยสม่ำเสมอ ๑
                         มนสิการถึงอาโลกสัญญา ๑
                         การอยู่กลางแจ้ง ๑
                         ความมีกัลยาณมิตร ๑
                         การกล่าวถ้อยคำแต่ที่เป็นสัปปายะ ๑.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุบริโภคโภชนะเหมือนอย่างพราหมณ์ที่ชื่อว่าอาหรหัตถกะ พราหมณ์ที่ชื่อว่าภุตตวัมมิตกะ พราหมณ์ที่ชื่อว่าตัตถวัฏฏกะ พราหมณ์ที่ชื่อว่าอลังสาฏกะ และพราหมณ์ที่ชื่อว่ากากมาสกะเป็นต้น นั่งในที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน กระทำสมณธรรมอยู่ ถีนมิทธะย่อมครอบงำ เหมือนช้างใหญ่ฉะนั้น แต่เมื่อภิกษุหยุดพักคำข้าว ๔-๕ คำแล้วดื่มน้ำเสีย พอทำอัตตภาพให้เป็นไปเป็นปกติ ถีนมิทธะนั้นก็ไม่มี.
               แม้เมื่อภิกษุถือเอานิมิตในการบริโภคเกินไปดังกล่าวแล้วนี้ ย่อมละถีนมิทธะได้ ถีนมิทธะก้าวลงในอิริยาบถใด เมื่อท่านเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่นจากอิริยาบถนั้นเสียก็ดี มนสิการถึงแสงสว่างแห่งดวงจันทร์ แสงสว่างแห่งประทีป แสงสว่างแห่งคบเพลิงตอนกลางคืน และแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ตอนกลางวันก็ดี อยู่กลางแจ้งก็ดี คบกัลยาณมิตรผู้ละถีนมิทธะได้แล้ว เสมือนกับพระมหากัสสปเถระก็ดี ย่อมละถีนมิทธะได้ แม้ด้วยการกล่าวสัปปายกถาอันอิงธุดงคคุณในอิริยาบถมีการยืนและการนั่งเป็นต้นก็ย่อมละได้
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะแล.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๘               

               อรรถกถาสูตรที่ ๙               
               ในสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า วูปสนฺตจิตฺตสฺส ได้แก่ ผู้มีจิตสงบแล้วด้วยฌานหรือวิปัสสนา
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละอุทธัจจะกุกกุจจะ คือ
                         ความเป็นผู้พหูสูต
                         ความเป็นผู้สอบถาม
                         ความเป็นผู้ชำนาญวินัย
                         การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่
                         ความมีกัลยาณมิตร
                         การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ.
               จริงอยู่ เมื่อภิกษุแม้เรียนได้ ๑ นิกาย ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกายหรือ ๕ นิกายด้วยอำนาจบาลีและด้วยอำนาจอรรถแห่งบาลี ย่อมละอุทธัจจะกุกกุจจะได้ แม้ด้วยความเป็นพหูสูต เมื่อภิกษุมากด้วยการสอบถามในสิ่งที่ควรและไม่ควรในอิริยาบถยืนและนอนเป็นต้นก็ดี เป็นผู้ชำนาญ เพราะมีความช่ำชองชำนาญในวินัยบัญญัติก็ดี ผู้เข้าหาพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้เฒ่าก็ดี คบกัลยาณมิตรผู้ทรงพระวินัย เสมือนกับพระอุบาลีเถระก็ดี ย่อมละอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ย่อมละได้แม้ด้วยคำอันเป็นสัปปายะที่อิงสิ่งที่ควรและไม่ควรในอิริยาบถยืนแลนั่งเป็นต้น
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจะกุกกุจจะ.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๙               

               อรรถกถาสูตรที่ ๑๐               
               บทว่า โยนิโส มนสิกโรโต ความว่า มนสิการอยู่โดยอุบายตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา คือ
                         ความเป็นผู้พหูสูต
                         การสอบถาม
                         ความเป็นผู้ชำนาญวินัย
                         ความเป็นผู้มากด้วยน้อมใจเชื่อ
                         ความมีกัลยาณมิตร
                         การกล่าวถ้อยคำอันเป็นสัปปายะ.
               เมื่อภิกษุเรียน ๑ นิกาย ๒ นิกาย ๓ นิกาย ๔ นิกายหรือ ๕ นิกายด้วยอำนาจบาลีและด้วยอำนาจอรรถ ย่อมละวิจิกิจฉาได้ แม้ความเป็นพหูสูต เมื่อภิกษุมากด้วยการสอบถามเกี่ยวกับพระรัตนตรัยก็ดี ผู้มีความช่ำชองชำนาญในพระวินัยก็ดี ผู้มากไปด้วยอธิโมกข์กล่าวคือศรัทธาปักใจเชื่อในฐานะ ๓ ก็ดี ผู้ซ่องเสพกัลยาณมิตรเสมือนพระวักกลิเถระผู้น้อมไปในศรัทธาก็ดี ย่อมละวิจิกิจฉาได้ ย่อมละได้ แม้ด้วยการกล่าวถ้อยคำอันเป็นสัปปายะอิงคุณพระรัตนตรัยในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา.
               จบอรรถกถาสูตรที่ ๑๐               

               ในนีวรณปหานวรรคนี้ ท่านกล่าวไว้ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะแล.

               จบอรรถกถาสูตรนีวรณปหานวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี นีวรณปหานวรรคที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 1อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 20 / 22อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=42&Z=93
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=14&A=608
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=14&A=608
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :