ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 510อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 511อ่านอรรถกถา 20 / 512อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อานันทวรรคที่ ๓
๑. ฉันนสูตร

               อานันทวรรควรรณนาที่ ๓               
               อรรถกถาฉันนสูตรที่ ๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในฉันนสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ฉนฺโน ได้แก่ ปริพาชกผู้มีผ้าปกปิด (ร่างกาย) ผู้มีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า ตุมฺเหปิ อาวุโส ความว่า ฉันนปริพาชกถามว่า ดูก่อนอาวุโส พวกเราบัญญัติการละกิเลส มีราคะเป็นต้นอย่างใด แม้ท่านทั้งหลายก็บัญญัติอย่างนั้นหรือ?
               ลำดับนั้น พระเถระคิดว่า ปริพาชกนี้กล่าวกะพวกเราว่า เราทั้งหลายบัญญัติการละราคะเป็นต้น แต่การบัญญัติการละราคะเป็นต้นนี้ ไม่มีในลัทธิภายนอก ดังนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า มยํ โข อาวุโส ดังนี้.
               ศัพท์ว่า โข ในคำว่า มยํ โข อาวุโส นั้น เป็นนิบาตใช้ในความหมายว่าห้าม. อธิบายว่า พวกเราเท่านั้นบัญญัติไว้.
               ลำดับนั้น ปริพาชกคิดว่า พระเถระนี้เมื่อจะคัดลัทธิภายนอกออกไป จึงกล่าวว่า พวกเราเท่านั้น สมณะเหล่านี้เห็นโทษอะไรหนอจึงบัญญัติการละราคาเป็นต้นเหล่านี้ไว้. ลำดับนั้น ฉันนปริพาชกเมื่อจะเรียนถามพระเถระ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กึ ปน ตุมฺเห ดังนี้.
               พระเถระเมื่อจะพยากรณ์แก่เขา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า รตฺโต โข อาวุโส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺตตฺถํ ความว่า ประโยชน์ของตนทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ.
               แม้ในประโยชน์ของผู้อื่นและประโยชน์ทั้งสอง ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อนฺธกรโณ เป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               ราคะชื่อว่า อนฺธกรโณ เพราะทำผู้ที่มีราคะเกิดขึ้นให้มืดบอด โดยห้ามการรู้การเห็นตามความเป็นจริง.
               ชื่อว่า อจกฺขุกรโณ เพราะไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ.
               ชื่อว่า อญฺญาณกรโณ เพราะไม่กระทำให้เกิดญาณ.
               ชื่อว่า ปญฺญานิโรธิโก เพราะปัญญาทั้ง ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กัมมัสสกตปัญญา (ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน) ฌานปัญญา (ปัญญาทีเกิดจากการเพ่ง) และวิปัสสนาปัญญา (ปัญญาพิจารณาเห็นแจ้ง) ดับไป โดยไม่ทำให้เป็นไป.
               ชื่อว่า วิฆาตปกฺขิโก เพราะเป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความเดือดร้อน กล่าวคือทุกข์ เพราะอำนวยผลที่ไม่น่าปรารถนาเท่านั้น.
               ชื่อว่า อนิพฺพานสํวตฺตนิโก เพราะไม่ยังการดับกิเลสให้เป็นไป.
               บทว่า อลํ จ ปนาวุโส อานนฺท อปฺปมาทาย ความว่า ฉันนปริพาชกอนุโมทนาถ้อยคำของพระเถระว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้มีอายุ ถ้าหากปฏิปทาแบบนี้มีอยู่ไซร้ ก็เพียงพอ เหมาะสมเพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ประมาท ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญความไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้ว หลีกไป.
               ในพระสูตรนี้ พระอานนทเถระเจ้ากล่าวถึงอริยมรรคที่เจือด้วยโลกุตระไว้แล้ว.
               คำที่เหลือในพระสูตรนี้ มีใจความง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาฉันนสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อานันทวรรคที่ ๓ ๑. ฉันนสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 510อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 511อ่านอรรถกถา 20 / 512อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=5667&Z=5721
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=5189
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=5189
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :