ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 497อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 498อ่านอรรถกถา 20 / 499อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑
๘. ติกรรณสูตร

               อรรถกถาติกัณณสูตรที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในติกัณณสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               คำว่า ติกณฺโณ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น.
               บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า พราหมณ์คิดว่า ได้ข่าวว่า พระสมณโคดมเป็นบัณฑิต เราจักไปยังสำนักของท่าน ดังนี้ รับประทานอาหารเช้าแล้วมีมหาชนห้อมล้อม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ภควโต สมฺมุขา ความว่า นั่งเบื้องหน้าพระทศพล.
               บทว่า วณฺณํ ภาสติ ความว่า ถามว่า เพราะเหตุไร จึงกล่าวสรรเสริญ.
               ตอบว่า ได้ทราบว่า ก่อนแต่นี้ พราหมณ์นั้นไม่เคยไปสำนักของพระตถาคตเลย พราหมณ์จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเข้าเฝ้าได้ยาก เราทูลก่อนแล้ว จักตรัสหรือไม่ตรัสก็ได้ ถ้าพระองค์จักไม่ตรัสคราวนั้น คนทั้งหลายจักต่อว่าเราผู้พูดในที่สมาคมอย่างนี้ว่า เหตุไร ท่านจึงพูดในที่นี้ เพราะว่า ท่านไปยังสำนักของพระสมณโคดมแล้ว ก็ยังไม่ได้แม้เพียงการดำรัสด้วย เพราะเหตุนั้น พราหมณ์เมื่อสำคัญอยู่ว่า เราจักพ้นข้อครหาไปได้ด้วยอุบายอย่างนี้ จึงทูลขึ้น.
               พราหมณ์พูดสรรเสริญพราหมณ์ทั้งหลายก็จริง แต่พูดถึงวิชชาสามด้วยความประสงค์อย่างเดียวว่า เราจักต่อ (ลองเชิง) พระญาณของพระตถาคต.
               บทว่า เอวมฺปิ เตวิชฺชา พฺราหฺมณา ความว่า พราหมณ์ผู้ทรงวิชชา ๓ เป็นบัณฑิตอย่างนี้ คือเป็นนักปราชญ์อย่างนี้ คือเป็นผู้ฉลาดอย่างนี้ คือเป็นพหูสูตอย่างนี้ หมายความว่าเป็นผู้มีปกติกล่าวอย่างนี้. อธิบายว่า เป็นผู้ได้รับสมมติอย่างนี้.
               ด้วยบทว่า อิติปิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการกำหนดอาการของบัณฑิตเป็นต้น แห่งพราหมณ์เหล่านั้น. ก็ในข้อนี้มีอธิบายอย่างนี้ว่า เป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเท่านี้ ฯลฯ เป็นผู้ได้รับสมมติด้วยเหตุเท่านี้.
               บทว่า ยถา ในบทว่า ยถา กถํ ปน พฺราหฺมณา นี้ เป็นคำแสดงเหตุ.
               บทว่า กถํ ปน เป็นคำถาม.
               ข้อนี้สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ไว้อย่างไร. ท่านจงบอกเหตุที่จะให้รู้จักพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ นั้น.
               พราหมณ์ครั้นได้ฟังดังนั้นแล้วดีใจว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามในธรรมที่มีฐานะพอรู้ได้ ไม่ใช่มีฐานะที่รู้ไม่ได้ จึงทูลคำเป็นต้นว่า อิธ โภ โคตม ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุภโต ได้แก่ทั้งสองฝ่าย.
               บทว่า มาติโต จ ปิติโต จ ความว่า ผู้ใดมีมารดาเป็นพราหมณี มียายเป็นพราหมณี แม้ยายชวดก็เป็นพราหมณี มีบิดาเป็นพราหมณ์ มีปู่เป็นพราหมณ์ แม้ปู่ชวดก็เป็นพราหมณ์ ผู้นั้นชื่อว่าเกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา.
               บทว่า สํสุทฺธคหณิโก ความว่า ผู้ใดมีที่ถือกำเนิด คือท้องของมารดาบริสุทธิ์แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าสังสุทธเคราหณี.
               แต่ในคำว่า สมเวปากินิยา คหณิยา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า การถือเอาเตโชธาตุที่เกิดแต่กรรม.
               ในคำว่า ยาว สตฺตมา ปิตามหยุคา นี้ มีความว่า บิดาของบิดาชื่อว่า ปิตามหะ. ยุค (ชั้น) แห่งปู่ ชื่อว่า ปิตามหยุค (ชั้นปู่). ประมาณแห่งอายุ ท่านเรียกว่ายุค.
               ก็คำว่า ยุค นี้ เป็นเพียงคำเรียกกันเท่านั้น. แต่โดยความหมายแล้วปิตามหะนั่นเอง ชื่อว่า ปิตามหยุค. บรรพบุรุษแม้ทั้งหมดต่อจากปิตามหยุคลงไป ก็เป็นอันหมายเอาด้วยศัพท์ว่า ปิตามหะนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ชื่อว่าสังสุทธเคราหณี จะมีเพียง ๗ ชั่วคน (เป็นอย่างต่ำ).
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงแสดงว่า พราหมณ์ผู้อุภโตสุชาตนั้นจะไม่ถูกคัดค้าน ถูกตำหนิ ด้วยการกล่าวอ้างถึงชาติ.
               บทว่า อกฺขิตฺโต ความว่า ไม่ถูกตามคัดค้านอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงนำคนผู้นี้ออกไป คนผู้นี้จะมีประโยชน์อะไร.
               บทว่า อนุปกฺกุฏฺโฐ ความว่า จะไม่ถูกติเตียน ไม่เคยถูกด่า หรือไม่เคยถูกนินทา.
               ถามว่า ด้วยเหตุไร.
               ตอบว่า ด้วยการกล่าวอ้างถึงชาติ. อธิบายว่า ด้วยการกล่าวเห็นปานนี้ว่า คนนี้ชาติเลว แม้ด้วยประการนี้.
               บทว่า อชฺฌายโก นี้ พึงทราบความดังต่อไปนี้
               คำครหาเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ผู้เว้นจากฌาน๑- ในกาลแห่งปฐมกัป อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้ชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ ไม่เพ่งอยู่อย่างนี้แล อักขระว่า อชฺฌายกา อชฺฌายกา (ผู้ไม่เพ่ง หมายถึงผู้แต่งและสอนคัมภีร์) จึงอุบัติขึ้นเป็นครั้งที่ ๓.#- แต่ในปัจจุบันนี้ พราหมณ์ชื่อว่า อชฺฌายโก เพราะศึกษาพระเวทนั้น. คนทั้งหลายกล่าวคำสรรเสริญ ด้วยอรรถาธิบายนี้ว่า พราหมณ์ร่ายมนต์ (พระเวท).
               พราหมณ์ชื่อว่า มนฺตธโร เพราะทรงจำมนต์ (พระเวท) ไว้ได้.
____________________________
๑- ปาฐะว่า ฐานวิรหิตานํ ฉบับพม่าเป็น ฌานวิรหิตานํ แปลตามฉบับพม่า.
#- อักขระที่ ๑ ว่า พราหมณา ที่ ๒ ว่า ฌายิกา ฌายิกา ที่ ๓ ว่า อชฺฌายิกา อชฺฌายกา.

               บทว่า ติณฺณํ เวทานํ ได้แก่ อิรุพเพท ยชุพเพทและสามเพท. พราหมณ์ ชื่อว่าปารคู เพราะถึงฝั่งด้วยสามารถแห่งการเลิกท่องบ่น (คือทรงจำได้แล้ว).
               (ไตรเพท) พร้อมด้วยนิฆัณฑุศาสตร์ และกฏุภศาสตร์ ชื่อว่าสนิฆัณฑุเกฏุภะ.
               บทว่า นิฆัณฑุ ได้แก่ ศาสตร์ที่จำแนกชื่อ (สิ่งของต่างๆ) คือศาสตร์ที่ว่าด้วยชื่อของต้นไม้เป็นต้น.
               บทว่า เกฏุภํ ได้แก่ศาสตร์ที่กำหนดอากัปกิริยา คือศาสตร์ที่เป็นอุปการะแก่กวี. พระเวท พร้อมด้วยประเภทของอักษร ชื่อว่า สากขรปเภทฺ สิกขา และนิรุตติ ชื่อว่าอักขรัปปเภทะ.
               บทว่า อิติหาสปญฺจมานํ ความว่า พระเวท ชื่อว่ามีอิติหาสเป็นที่ ๕ เพราะมีอิติหาสที่ประกอบด้วยคำเช่นนี้ว่า อิติ-ห-อาส, อิติ-ห-อาส กล่าวคือคัมภีร์ปุราณะ หรือกล่าวคือคัมภีร์ว่าด้วยวิชาของกษัตริย์ (นักรบ) เป็นที่ ๕. โดยนับเอาอาถัพพนเวทเป็นที่ ๔ แห่งพระเวทเหล่านั้นซึ่งมีอิติหาสเป็นที่ ๕. ชื่อว่า รู้บท รู้ไวยากรณ์ เพราะทรงจำ คือรู้ทั้งตัวบท ทั้งพยากรณ์ (คำอธิบาย) ตัวบทที่เหลือนั้น.
               วิตัณฑวาทศาสตร์ (พูดกันเล่นสนุกๆ) ท่านเรียกว่า โลกายตะ.
               บทว่า มหาปุริสลกฺขณํ ได้แก่ ศาสตร์ที่มีบทร้อยกรองประมาณ ๑๒,๐๐๐ คัมภีร์ที่แสดงลักษณะของมหาบุรุษมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าพุทธมนต์ ประมาณ ๑๖,๐๐๐ บทคาถามีความสามารถเป็นเหตุให้รู้ความแตกต่างกันดังนี้ว่า
               ผู้ประกอบด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยลักษณะนี้ชื่อว่าเป็นพระอัครสาวกทั้งสอง ด้วยลักษณะนี้ชื่อว่าเป็นพระอสีติมหาสาวก ด้วยลักษณะนี้ชื่อว่าเป็นพระพุทธมารดา ด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่าเป็นพระพุทธบิดา ด้วยลักษณะนี้ชื่อว่าเป็นอรรคอุปัฏฐาก ด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่าเป็นอรรคอุปัฏฐายิกา และด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.
               บทว่า อนวโย ได้แก่ เป็นผู้ไม่บกพร่อง คือเป็นผู้บริบูรณ์ในคัมภีร์โลกายตะและคัมภีร์มหาปุริสลักษณะเหล่านี้. มีคำอธิบายว่า ไม่ใช่เป็นผู้ย่อหย่อน. คนผู้ไม่สามารถจะทรงจำศาสตร์เหล่านั้นไว้ได้ ทั้งโดยอรรถาธิบายและโดยคัมภีร์ ผู้นั้นชื่อว่าย่อหย่อน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อนวโย ตัดบทเป็น อนุ อวโย ด้วยอำนาจสนธิ ลบอุอักษรออก (ฉะนั้น) อนุ-อวโย จึงเป็น อนวโย. อธิบายว่า มีศิลปบริบูรณ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นพราหมณ์นั้นทูลอาราธนาอยู่ ทรงรู้ว่า บัดนี้ เป็นเวลาสมควรที่เราจะกล่าวแก้ปัญหาของพราหมณ์นั้น จึงตรัสคำนี้ว่า เตนหิ ดังนี้.
               บทว่า เตนหิ นั้น มีความหมายว่า เพราะเหตุที่ท่านขอร้องเราไว้ ฉะนั้น ท่านจงฟัง.
               บทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ เป็นต้น ได้อธิบายไว้อย่างพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วทีเดียว. แต่ในที่นี้ คำว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ เป็นต้นนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วเพื่อทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติที่เป็นบุพภาคของวิชชาทั้ง ๒.
               บรรดาวิชชาทั้ง ๓ นั้น การพรรณนาวิชชาทั้ง ๒ ไปตามลำดับบทก็ดี นัยแห่งการเจริญวิชชาทั้ง ๒ ก็ดีได้ให้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเหมือนกัน.

               กถาพรรณนาปุพเพนิวาสานุสติญาณ               
               บทว่า ปฐมา วิชฺชา ความว่า วิชชาชื่อว่าปฐมา เพราะเกิดขึ้นครั้งแรก. ที่ชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่ากระทำให้แจ่มแจ้งแล้ว.
               ถามว่า กระทำอะไรให้แจ่มแจ้ง.
               ตอบว่า กระทำขันธ์ที่เคยอาศัยในชาติก่อนให้แจ่มแจ้ง.
               โมหะที่ปิดบังปุพเพนิวาสานุสติญาณนั้น เพราะความหมายว่าทำปุพเพนิวาสานุสติญาณนั้นนั่นแหละไม่ให้แจ่มชัด ตรัสเรียกว่าอวิชชา.
               บทว่า ตโม ความว่า โมหะนั้นแลเรียกว่าตมะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุปกปิด.
               บทว่า อาโลโก ความว่า วิชชานั่นแหละตรัสเรียกว่าอาโลกะ เพราะความหมายว่าทำความสว่างไสว. ก็ในพระสุตรนี้มุ่งความว่า ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว.
               คำที่เหลือเป็นคำกล่าวสรรเสริญ.
               ก็ในข้อนี้ ประกอบความว่า เธอได้บรรลุวิชชานี้แล้ว ลำดับนั้น อวิชชาก็เป็นอันเธอผู้บรรลุวิชชาแล้วกำจัดแล้ว. อธิบายว่า ให้พินาศแล้ว.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะวิชชาที่เกิดขึ้นแล้ว.
               ในบททั้ง ๒ แม้นอกนี้ก็มีนัยอย่างนี้แหละ.
               บทว่า ยถา ในคำว่า ยถา ตํ นี้ เป็นอุปมา.
               บทว่า ตํ เป็นเพียงนิบาต.
               ชื่อว่าไม่ประมาทแล้ว เพราะไม่ขาดสติ. ชื่อว่ามีความเพียร เพราะมีความเพียรเครื่องเผากิเลส. ชื่อว่ามีตนอันส่งไปแล้ว เพราะไม่อาลัยใยดีในร่างกายและชีวิต.
               ท่านอธิบายไว้ดังนี้ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งใจไปแล้วอยู่ อวิชชาจะจางหายไป วิชชาจะเกิดขึ้น ความมืดจะจางหายไป ความสว่างจะพึงเกิดขึ้นฉันใด อวิชชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นอันพราหมณ์นี้ขจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดเป็นอันถูกขจัดแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นแล้ว. พราหมณ์นั้นจึงได้รับผลอันสมควรแก่การประกอบความเพียรนั้นแล้วฉะนี้แล้ว.
               จบกถาพรรณนาปุพเพนิวาสานุสติญาณ               

               กถาพรรณนาจุตูปปาตญาณ               
               พึงทราบวินิจฉัยในกถาพรรณนาจุตูปปาตญาณ ดังต่อไปนี้ :-
               วิชชาคือทิพจักขุญาณ ชื่อว่าวิชชา. ความไม่รู้ที่ปกปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอวิชชา.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล.
               จบกถาพรรณนาจุตูปปาตญาณ               

               กถาพรรณนาอาสวักขยญาณ               
               พึงทราบวินิจฉัยในวิชชาสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
               ในบทว่า โส เอวํ สมาหิเต จิตฺเต พึงทราบว่า ได้แก่จตุตถฌานจิตอันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า อาสวานํ ขยญาณาย ความว่า เพื่อประโยชน์แก่อรหัตมัคคญาณ เพราะอรหัตมรรค ท่านเรียกว่าชื่อว่าธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะยังอาสวะทั้งหลายให้พินาศ. และอรหัตมัคคญาณ ในบทว่า อาสวานํ ขยญาณาย นั้นเรียกว่า ชื่อว่าญาณ เพราะนับเนื่องในพระอรหัตมรรคนั้น.
               บทว่า จิตฺตํ อภินินฺนาเมติ ความว่า น้อมจิตไปในวิปัสสนา.
               ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า โส อิทํ ทุกขํ พึงทราบความอย่างนี้ว่า เขาย่อมรู้ คือย่อมแทงตลอดทุกขสัจแม้ทั้งหมด ตามเป็นจริงโดยการแทงตลอดลักษณะพร้อมด้วยกิจ ว่าทุกข์มีเพียงเท่านี้ ไม่มากกว่านี้ และรู้คือแทงตลอดตัณหาอันให้เกิดทุกข์นั้น ว่านี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นตามความเป็นจริง โดยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจ รู้คือแทงตลอดสถานที่ใดถึงแล้ว ทุกข์และสมุทัยทั้งสองนั้นดับไปที่นั้น คือนิพพานที่ทุกข์และสมุทัยทั้งสองนั้นไม่เป็นไปตามความจริง โดยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจ ว่านี้เป็นความดับทุกข์ และรู้คือแทงตลอดอริยมรรคที่ให้ถึงนิพพานนั้นตามความจริง โดยการแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจ ว่านี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์.
               จบกถาพรรณนาอาสวักขยญาณ               

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงสัจจะทั้งหลายโดยสรุปอย่างนี้แล้ว ต่อนี้เมื่อจะทรงแสดงสัจจะทั้งหลายโดยอ้อมด้วยสามารถแห่งกิเลส จึงตรัสคำมีอาทิว่า อิเม อาสวา ดังนี้.
               บทว่า ตสฺส เอวํ ชานโต เอวํ ปสฺสโต ความว่า ของภิกษุนั้นผู้รู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมรรคอันถึงที่สุด พร้อมด้วยวิปัสสนาไว้ (ในที่นี้).
               บทว่า กามาสวา แปลว่า จากกามาสวะ.
               ด้วยบทว่า จิตฺตํ วิมุจฺจติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงมัคคขณะ (ขณะจิตที่สัมปยุตด้วยมรรค). อธิบายว่า ในขณะแห่งมรรคจิต จิตกำลังหลุดพ้น. ในขณะแห่งผลจิต จิตเป็นอันหลุดพ้นแล้ว.
               ด้วยบทว่า วิมตตสมึ วิมตตมิติ ญาณํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปัจจเวกขณญาณ.
               ด้วยคำทั้งหลายมีอาทิว่า ขีณา ชาติ ทรงแสดงภูมิของพระขีณาสพนั้น. เพราะว่า พระขีณาสพนั้น เมื่อพิจารณาด้วยญาณนั้น ย่อมทราบข้อความเป็นต้นว่า ชาติสิ้นแล้วดังนี้.
               ถามว่า ก็ชาติชนิดไหนของพระขีณาสพนั้นสิ้นไปแล้ว และท่านจะรู้ว่า ชาตินั้นสิ้นไปได้อย่างไร.
               ตอบว่า ก่อนอื่นอดีตชาติของท่านไม่ได้สิ้นไปแล้ว เพราะอดีตชาตินั้นสิ้นไปก่อนแล้ว ชาติอนาคตก็ไม่สิ้น เพราะไม่มีการพยายามในอนาคต. ชาติปัจจุบันก็ยังไม่สิ้น เพราะชาติปัจจุบันนั้นยังมีอยู่ แต่ชาติใดที่แยกประเภทเป็นขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ และขันธ์ ๕ จะพึงเกิดขึ้นในเอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพ เพราะไม่ได้อบรมมรรค ชาตินั้นชื่อว่าสิ้นไปแล้ว โดยการถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะได้อบรมมรรคแล้ว. ท่านครั้นพิจารณากิเลสที่ได้แล้ว ด้วยมัคคภาวนา เมื่อรู้ว่า กรรมถึงจะมีอยู่ ก็ไม่แต่งปฏิสนธิต่อไป เพราะไม่มีกิเลสดังนี้ ชื่อว่ารู้ชาตินั้น.
               บทว่า วุสิตํ ได้แก่ อยู่จบแล้ว คืออยู่เสร็จสิ้นแล้ว. อธิบายว่า ทำสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว.
               บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มัคคพรหมจรรย์ พระเสขะ ๗ จำพวกพร้อมด้วยกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย ชื่อว่ายังประพฤติพรหมจรรย์อยู่ (ส่วน) พระขีณาสพ ชื่อว่าอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านเมื่อพิจารณาการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของตน ย่อมรู้ชัดว่าพรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว.
               บทว่า กตํ กรณียํ มีอธิบายว่า กิจทั้ง ๑๖ อย่างด้วยสามารถแห่งการบรรลุ โดยปริญญากิจ ปหานกิจ สัจฉิกิริยากิจและภาวนากิจ ด้วยมรรคทั้ง ๔ ในสัจจะทั้ง ๔ อันท่านให้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว. เพราะว่ากัลยาณปุถุชนเป็นต้นกำลังกระทำกิจนั้นอยู่ ส่วนพระขีณาสพกระทำกิจเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านเมื่อพิจารณากิจที่ตนจะต้องทำ ย่อมรู้ชัดว่ากิจที่ควรทำเราทำเสร็จแล้ว.
               บทว่า นาปรํ อิตฺถตฺตาย ความว่า ท่านย่อมรู้ชัดว่า กิจคือการบำเพ็ญมรรค เพื่อความเป็นอย่างนี้อีก คือเพื่อความเป็นกิจ ๑๖ อย่าง หรือเพื่อความสิ้นกิเลสอย่างนี้ ไม่มีแก่เรา.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อิตฺถตฺตาย ความว่า รู้ชัดว่า การสืบต่อแห่งขันธ์อื่นจากความเป็นอย่างนี้ คือการสืบต่อแห่งขันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีประการอย่างนี้ นี้ไม่มีแก่เรา เบญจขันธ์เหล่านี้ที่เรากำหนดรู้แล้วยังดำรงอยู่ (แต่เป็น) เหมือนต้นไม้ที่มีรากขาดแล้ว เบญจขันธ์เหล่านั้นจักดับไปเพราะวิญญาณดวงสุดท้ายดับ เหมือนเปลวไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไปฉะนั้น.
               วิชชา คืออรหัตมัคคญาณ ชื่อว่าวิชชาในที่นี้. อวิชชาที่ปิดบังอริยสัจ ๔ ไว้ ชื่อว่าอวิชชา.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อนุจฺจาวจสีลสฺส ความว่า ผู้มีศีลบางเวลาเสื่อม บางเวลาเจริญ ชื่อว่ามีศีลลุ่มๆ ดอนๆ. ส่วนพระขีณาสพมีศีลเจริญโดยส่วนเดียวเท่านั้น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า มีศีลไม่ลุ่มๆ ดอนๆ.
               บทว่า วสีภูตํ ได้แก่ ถึงความชำนาญ.
               บทว่า สุสมาหิตํ ได้แก่ตั้งไว้ด้วยดี คือตั้งไว้ดีแล้วในอารมณ์.
               บทว่า ธีรํ ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาที่ทรงจำ.
               บทว่า มจจฺหายินํ ได้แก่ ละทิ้งมัจจุราชแล้วดำรงอยู่.
               บทว่า สพฺพปฺปหายินํ ได้แก่ ละบาปธรรมทั้งหมดแล้วดำรงอยู่.
               บทว่า พุทฺธํ ได้แก่ ตรัสรู้สัจจะทั้ง ๔.
               บทว่า อนฺติมเทหธารํ ความว่า ทรงไว้ซึ่งร่างกายครั้งหลังสุด.
               บทว่า ตํ นมสฺสนฺติ โคตมํ ความว่า สาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนมัสการพระองค์ผู้โคตมโคตร. อีกอย่างหนึ่ง มีอธิบายว่า แม้สาวกของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ ก็ชื่อว่าโคตมะ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนมัสการสาวกผู้ชื่อว่าโคตมะนั้น.
               บทว่า ปุพฺเพนิวาสํ ได้แก่ ขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนสืบต่อกันมา.
               บทว่า โยเวติ ความว่า ผู้ใดไม่เสื่อม คือไม่ตกต่ำ. ปาฐะว่า โยเวทิ ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ผู้ใดได้รู้แล้ว คือทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏดำรงอยู่.
               บทว่า สคฺคาปายญฺจ ปสฺสติ ความว่า ผู้นั้นเห็นสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้น พรหมโลก ๙ ชั้นและอบายทั้ง ๔.
               บทว่า ชาติกฺขยํ ปตฺโต ความว่า บรรลุอรหัตผล.
               บทว่า อภิญฺญาโวสิโต ความว่า อยู่ด้วยการสิ้นสุดกิจ เพราะรู้.
               มุนี คือพระขีณาสพ ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้รู้ ชื่อว่ามุนี
               บทว่า เอตาหิ ความว่า ด้วยญาณทั้งหลายมีปุพเพนิวาสานุสติญาณเป็นต้นที่ทรงแสดงไว้แล้วในหนหลัง.
               บทว่า นาญฺลํ ลปิตลาปนํ ความว่า แต่เราตถาคตไม่เรียกคนอื่นที่เรียกเอาอย่างที่คนอื่นเรียกว่า เตวิชฺโช (ผู้มีวิชชา ๓) ว่าเป็น เตวิชฺโช. อธิบายว่า เราตถาคตเรียกผู้รู้โดยประจักษ์แก่ตนแล้วบอกวิชชา ๓ แก่ผู้อื่นด้วย ว่าเป็นผู้มีวิชชา ๓.
               บทว่า กลํ แปลว่า ส่วน. บทว่า นาคฺฆติ แปลว่า ไม่ถึง.
               บัดนี้ พราหมณ์เลื่อมใสพระพุทธพจน์แล้ว เมื่อจะแสดงอาการของผู้เลื่อมใส จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อภิกฺกนฺตํ ดังนี้.

               จบอรรถกถาติกัณณสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑ ๘. ติกรรณสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 497อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 498อ่านอรรถกถา 20 / 499อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=4285&Z=4371
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=3683
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=3683
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :