ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 475อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 476อ่านอรรถกถา 20 / 477อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔
๗. ราชสูตรที่ ๑

               อรรถกถาปฐมราชสูตรที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในปฐมราชสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

               เทวดาตรวจดูโลกมนุษย์               
               บทว่า อมจฺจา ปาริสชฺชา ได้แก่ ปาริจาริกเทวดา (เทวดารับใช้).
               บทว่า อิมํ โลกํ อนุวิจรนฺติ ความว่า ได้ยินว่า ในวัน ๘ ค่ำ ท้าวสักกเทวราชทรงบัญชาท้าวมหาราชทั้ง ๔ ว่า ท่านทั้งหลาย วันนี้เป็นวัน ๘ ค่ำ ท่านทั้งหลายจงท่องเที่ยวไปยังมนุษย์โลก แม้จดเอาชื่อและโคตรของมนุษย์ที่ทำบุญมา. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นก็กลับไปบัญชาบริวารของตนว่า ไปเถิด ท่านทั้งหลาย ท่านจงท่องเที่ยวไปยังมนุษยโลก เขียนชื่อและโคตรและมนุษย์ที่ทำบุญลงในแผ่นทองแล้วนำมาเถิด. บริวารเหล่านั้นทำตามคำบัญชานั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิมํ โลกํ อนุวิจรนฺติ ดังนี้.
               บทว่า กจฺจิ พหู เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงอาการตรวจตราดูของเทวดาเหล่านั้น.
               จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายท่องเที่ยวไปตรวจตราดูโดยอาการดังกล่าวมานี้.

               การรักษาอุโบสถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโปสถํ อุปวสนฺติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายอธิษฐานองค์อุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง.
               บทว่า ปฏิชาคโรนฺติ ความว่า ทำการ (รักษา) ปฏิชาครอุโบสถ. ชนทั้งหลายเมื่อทำการ (รักษา) ปฏิชาคร อุโบสถนั้นย่อมทำด้วยการรับและการส่งวันอุโบสถ ๔ วันในกึ่งเดือนหนึ่ง (คือ) เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๕ ค่ำก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๖ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๗ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๙ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๓ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๑๕ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๕ ค่ำก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวันแรม ๑ ค่ำ.
               บทว่า ปุญฺญานิ กโรนฺติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายทำบุญมีประการต่างๆ มีการถึงสรณะ รับนิจศีล บูชาด้วยดอกไม้ ฟังธรรม ตามประทีปพันดวง และสร้างวิหารเป็นต้น.
               เทวดาเหล่านั้นท่องเที่ยวไปอย่างนี้แล้ว เขียนชื่อและโคตรของมนุษย์ผู้ทำบุญลงในแผ่นทอง แล้วนำมาถวายท้าวมหาราชทั้ง ๔.
               บทว่า ปุตฺตา อิมํ โลกํ อนุวิจรนฺติ ความว่า (โอรสของท้าวมหาราชทั้ง ๔) ท่องเที่ยวไป (ตรวจดู) เพราะถูกท้าวมหาราชทั้ง ๔ ส่งไปตามนัยก่อนนั่นแล.
               บทว่า ตทหุ แปลว่า ในวันนั้น.
               บทว่า อุโปสเถ แปลว่า ในวันอุโบสถ.
               บทว่า สเจ ภิกฺขเว อปฺปกา โหนฺติ ความว่า บริษัทอำมาตย์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้าไปยังคาม นิคมและราชธานีเหล่านั้นๆ. ก็เทวดาที่อาศัยอยู่ตามคาม นิคมและราชธานีเหล่านั้นๆ ทราบว่า อำมาตย์ของท้าวมหาราชทั้งหลายมาแล้ว ต่างก็พากันถือเครื่องบรรณาการไปยังสำนักของเทวดาเหล่านั้น.
               เทวดาอำมาตย์เหล่านั้นรับเครื่องบรรณาการแล้ว ก็ถามถึงการทำบุญของมนุษย์ทั้งหลาย ตามนัยที่กล่าวไว้ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มนุษย์จำนวนมากยังเกื้อกูลมารดาอยู่หรือ? เมื่อเทวดาประจำคาม นิคมและราชธานี รายงานว่า ใช่แล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ ในหมู่บ้านนี้ คนโน้นและคนโน้นยังทำบุญอยู่ ก็จดชื่อและโคตรของมนุษย์เหล่านั้นไว้แล้วไปในที่อื่น.
               ต่อมาในวัน ๑๔ ค่ำ แม้บุตรของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถือเอาแผ่นทองนั้นแล้วท่องเที่ยวไป จดชื่อและโคตรตามนัยนั้นนั่นแล. ในวัน ๑๕ ค่ำอันเป็นวันอุโบสถนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็จดชื่อและโคตรลงไปแผ่นทองนั้นนั่นแล้วตามนัยนั้น. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นทราบว่า เวลานี้มีมนุษย์น้อย เวลานี้มีมนุษย์มาก ตามจำนวนแผ่นทอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาข้อนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า สเจ ภิกฺขเว อปฺปกา โหนฺติ มนุสฺสา ดังนี้.

               เทวดาชั้นดาวดึงส์               
               บทว่า เทวานํ ตาวตึสานํ ความว่า เทวดาทั้งหลายได้นามอย่างนี้ว่า (ดาวดึงส์) เพราะอาศัยเทพบุตร ๓๓ องค์ผู้เกิดครั้งแรก. ส่วนกถาว่าด้วยการอุบัติของเทวดาเหล่านั้น ได้อธิบายไว้แล้วอย่างพิสดารในอรรถกถาสักกปัญหสูตรในทีฆนิกาย.
               บทว่า เตน คือ เพราะการบอกนั้น หรือเพราะมนุษย์ผู้ทำบุญมีน้อยนั้น.
               บทว่า ทิพฺพา วต โภ กายา ปริหายิสฺสนฺติ ความว่า เพราะเทพบุตรใหม่ๆ ไม่ปรากฏ หมู่เทวดาก็จักเสื่อมสิ้นไป เทวนครกว้างยาวประมาณหนึ่งหมื่นโยชน์ อันน่ารื่นรมย์ ก็จักว่างเปล่า.
               บทว่า ปริปูริสฺสนฺติ อสุรกายา ความว่า อบาย ๔ จักเต็มแน่น.
               ด้วยเหตุนี้ เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงเสียใจว่า พวกเราจักไม่ได้เล่นนักษัตร ท่ามกลางหมู่เทวดาในเทวนครที่เคยเต็มแน่น.
               แม้ในสุกปักษ์ก็พึงทราบความหมายโดยอุบายนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว สกฺโก เทวานมินฺโท ดังนี้ ทรงหมายถึงที่พระองค์เป็นท้าวสักกเทวราช. อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงอัธยาศัยของท้าวสักกะพระองค์หนึ่ง.
               บทว่า อนุนยมาโน แปลว่า เตือนให้รู้สึก.
               บทว่า ตายํ เวลายํ คือ ในกาลนั้น.

               นิพันธอุโบสถ               
               ในบทว่า ปาฏิหาริยปกฺขญฺจ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               อุโบสถที่รักษาติดต่อกันตลอดไตรมาสภายในพรรษา ชื่อว่าปาฏิหาริยปักขอุโบสถ. เมื่อไม่สามารถ (จะรักษา) อุโบสถตลอดไตรมาสนั้นได้ อุโบสถที่รักษาประจำตลอดเดือนหนึ่งในระหว่างวันปวารณาทั้ง ๒ บ้าง เมื่อไม่สามารถ (จะรักษา) อุโบสถประจำตลอดเดือนหนึ่งนั้นได้ (อุโบสถ) กึ่งเดือนหนึ่ง ตั้งแต่วันปวารณาแรกบ้าง ก็ชื่อว่าปาฏิหาริยปักขอุโบสถเหมือนกัน.
               บทว่า อฏฐงฺคสุสมาคตํ แปลว่า ประกอบด้วยองคคุณ ๘.
               บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า สัตว์แม้ใดพึงเป็นเช่นเรา.
               เล่ากันว่า ท้าวสักกะทราบคุณของอุโบสถมีประการดังกล่าวแล้ว จึงละสมบัติให้เทวโลกไปเข้าจำอุโบสถเดือนละ ๘ วัน.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า สัตว์แม้ใดพึงเป็นเช่นเรา. อธิบายว่า พึงปรารถนาเพื่อได้รับมหาสมบัติ.
               ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ก็บุคคลสามารถที่จะได้รับสมบัติของท้าวสักกะด้วยอุโบสถกรรมเห็นปานนี้.

               อธิบายบทว่า วุสิตวา เป็นต้น               
               บทว่า วุสิตวา ได้แก่ มีการอยู่จบแล้ว.
               บทว่า กตกรณีโย ได้แก่ ทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ อยู่.
               บทว่า โอหิตภาโร ได้แก่ ปลงขันธภาระ กิเลสภาระและอภิสังขารภาระอยู่.
               บทว่า อนุปฺปตฺตสทตฺโถ ความว่า อรหัตผลเรียกว่าประโยชน์ของตน บรรลุประโยชน์ของตนนั้น.
               บทว่า ปริกฺขีณภวสํโยชโน ความว่า ชื่อว่ามีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว เพราะสังโยชน์ที่เป็นเหตุให้ผูกสัตว์ แล้วฉุดคร่าไปในภพทั้งหลายสิ้นแล้ว.
               บทว่า สมฺมทญฺญาวิมุตฺโต ความว่า หลุดพ้นเพราะรู้โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ.
               บทว่า กลฺลํ วจนาย แปลว่า ควรเพื่อจะกล่าว.
               บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า แม้บุคคลใดจะพึงเป็นพระขีณาสพเช่นกับเรา บุคคลแม้นั้นพึงเข้าจำอุโบสถเห็นปานนี้ คือ เมื่อรู้คุณของอุโบสถกรรมพึงอยู่อย่างนี้.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า สัตว์แม้ใดพึงเป็นเช่นกับเรา. อธิบายว่า พึงปรารถนาเพื่อได้รับมหาสมบัติ.
               ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ก็บุคคลสามารถที่จะได้รับสมบัติของพระขีณาสพด้วยอุโบสถกรรมเห็นปานนี้.

               จบอรรถกถาปฐมราชสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔ ๗. ราชสูตรที่ ๑ จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 475อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 476อ่านอรรถกถา 20 / 477อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=3717&Z=3740
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=3107
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=3107
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :