ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 473อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 474อ่านอรรถกถา 20 / 475อ่านอรรถกถา 20 / 596
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔
๕. หัตถกสูตร

               อรรถกถาหัตถกสูตรที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในหัตถกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-

               หัตถกราชบุตร               
               บทว่า อาฬวิยํ แปลว่า ในแคว้นอาฬวี.
               บทว่า โคมคฺเค แปลว่า ทางไปของฝูงใด.
               บทว่า ปณฺณสนฺตเร ได้แก่ บนเครื่องลาดด้วยใบไม้ที่หล่นเอง.
               บทว่า อถ๑- ความว่า เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงปูลาดจีวรผืนใหญ่ของพระสุคต ลงบนเครื่องลาดที่กวาดเอาใบไม้ที่หล่นเองมากองไว้ ในป่าประดู่ลาย ชิดทางหลวงสายตรง ที่เป็นทางโคเดิน (แยกออกไป) อย่างนี้แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ.
____________________________
๑- ปาฐะว่า อถาบิ ฉบับพม่าเป็น อถาติ (เป็นบทตั้ง) แปลตามฉบับพม่า.

               บทว่า หตฺถโก อาฬวโก ได้แก่ ราชบุตรชาวเมืองอาฬวี ทรงได้พระนามว่า (หัตถกะ) อย่างนั้น เพราะเสด็จจากมือ (ของอาฬวกยักษ์) ไปสู่พระหัตถ์ (ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า).

               เหตุเกิดเทศนา               
               บทว่า เอตทโวจ ความว่า หัตถกราชบุตรได้กราบทูลคำนั้น คือคำมีอาทิว่า กจฺจิ ภนฺเต ภควา.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปประทับนั่งยังที่นั้นเล่า (และ) เพราะเหตุไร พระราชกุมารจึงเสด็จไปในที่นั้น?
               ตอบว่า อันดับแรก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุเกิดพระธรรมเทศนา ซึ่งมีเรื่องเป็นต้นเหตุให้เกิดอยู่แล้ว จึง (เสด็จไป) ประทับนั่งในที่นั้น
               ฝ่ายพระราชกุมารเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ มีอุบาสก ๕๐๐ คนห้อมล้อม กำลังเสด็จดำเนินไปยังที่ที่พระพุทธเจ้า (ประทับอยู่) แยกออกจากทางใหญ่ ยึดทางโคเดิน เสด็จไปด้วยพระประสงค์ว่า เราจะเลือกเก็บดอกไม้คละกันไป เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้ว ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
               พระราชกุมารนั้นเสด็จไปที่นั้น ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้.

               หัตถกกุมารทูลถามพระพุทธเจ้า               
               บทว่า สุขมสยิตฺถ ความว่า (หัตถกกุมารทูลถามพระพุทธเจ้าว่า) พระผู้มีพระภาคเจ้าบรรทมเป็นสุขดีหรือ.
               บทว่า อนฺตรฏฺฐโก ความว่า ในระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ เป็นกาลเวลา (ที่หิมะตก) อยู่ ๘ วัน. อธิบายว่า กาลเวลาที่หิมะตก เรียกว่า อันตรรัฏฐกะ (อยู่ในระหว่าง) เพราะในช่วงปลายเดือน ๓ มีอยู่ ๔ วัน (และ) ในช่วงต้นเดือน ๔ มีอยู่อีก ๔ วัน.
               บทว่า หิมปาตสมโย แปลว่า สมัยที่หิมะตก.
               บทว่า ขรา ได้แก่ หยาบ หรือแข็ง.
               บทว่า โคกณฺฏกหตา ความว่า ตรงที่ที่โคเหยียบย่ำซึ่งมีฝนตกใหม่ๆ โคลนทะลักขึ้นมาช่องกีบเท้าโคไปตั้งอยู่. โคลนนั้นแห้ง เพราะลมและแดด เป็นเหมือนฟันเลื่อยกระทบเข้าแล้วเจ็บ หัตถกกุมารหมายเอาโคลนนั้น จึงกล่าวว่า โคกัณฏกหตาภูมิ. อนึ่ง มีความหมายว่า แผ่นดินที่แยกออกเพราะช่องกีบเท้าโค.
               บทว่า เวรมฺโพ วาโต วายติ ความว่า ลมย่อมพัดมาจากทิศทั้ง ๔. ก็ลมที่พัดมาจากทิศเดียว ๒ ทิศหรือ ๓ ทิศ ไม่เรียกว่าลมเวรัมพา.
               พระศาสดาทรงดำริว่า พระราชกุมารนี้ไม่รู้จักบุคคลที่อยู่เป็นสุข ไม่รู้จักบุคคลที่อยู่เป็นทุกข์ในโลก เราจักทำให้พระราชกุมารนั้นรู้จักให้ได้ เมื่อจะทรงขยายพระธรรมเทศนาให้สูงขึ้น จึงตรัสคำนี้ว่า เตนหิ ราชกุมาร.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถา เต ขเมยฺย ความว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระราชกุมารว่า) พึงชอบใจแก่พระองค์โดยประการใด.
               บทว่า อิธสฺส ได้แก่ พึงมีโลกนี้.
               บทว่า โคณกตฺถโต ความว่า แท่น (บัลลังก์) ที่ปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์สีดำที่มีขนยาว ๔ นิ้ว.
               บทว่า ปฏิกตฺถโต ความว่า ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดสีขาวทำด้วยขนแกะ.
               บทว่า ปฏฺลิกตฺถโต ความว่า ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดที่ทำด้วยดอกไม้และขนแกะที่หนา.
               บทว่า กทฺทลิมิคปวร ปจฺจตฺถรโณ ความว่า ปูลาดด้วยเครื่องปูลาดชั้นดีทำด้วยหนังกวาง. เล่ากันมาว่า เครื่องปูลาดชนิดนั้น เขาทำโดยลาดหนังกวางไว้บนผ้าขาวแล้วเย็บ.
               บทว่า สอุตฺตรจฺฉโท ได้แก่ (แท่น) พร้อมทั้งเครื่องมุงบังข้างบน. อธิบายว่า พร้อมทั้งเพดานแดงซึ่งผูกไว้ข้างบน.
               บทว่า อุภโต โลหิตกูปธาโน ได้แก่ หมอนสีแดงที่วางไว้ทั้งสองด้านของแท่น.
               บทว่า ปชาปติโย ได้แก่ ภริยาทั้งหลาย.
               บทว่า มนาเปน ปจฺจุปฏฺฐิตา อสฺสุ ความว่า พึงได้รับการปรนนิบัติด้วยวิธีปรนนิบัติที่น่าชอบใจ.
               บทว่า กายิกา วา ความว่า ความเร่าร้อนที่ยังกายอันประกอบด้วยทวาร ๕ ให้กำเริบ.
               บทว่า เจตสิกา วา ได้แก่ ทำมโนทวารให้กำเริบ.
               บทว่า โส ราโค ตถาคตสฺส ปหีโน ความว่า ราคะเห็นปานนั้น พระตถาคตละได้แล้ว. ส่วนราคะที่เขามีอยู่ ไม่ชื่อว่าพระตถาคตละ.
               แม้ในโทสะและโมหะก็มีนัย (ความหมายอย่างเดียวกัน) นี้แล.
               บทว่า พฺราหฺมโณ คือ บุคคลผู้ลอยบาปได้แล้ว ได้แก่พราหมณ์ คือพระขีณาสพ ชื่อว่าดับสนิท เพราะดับกิเลสได้สนิท.
               บทว่า น ลิปฺปติ กาเมสุ ความว่า ไม่ติดอยู่ในวัตถุกามและกิเลสกาม ด้วยเครื่องฉาบทาคือตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า สีติภูโต ความว่า ชื่อว่าเย็น เพราะไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้เร่าร้อนในภายใน.
               บทว่า นิรูปธิ ความว่า ชื่อว่าไม่มีอุปธิ เพราะไม่มีอุปธิคือกิเลส.
               บทว่า สพฺพา อาสตฺติโย เฉตฺวา ความว่า กิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น เรียกว่าเครื่องข้อง. (พราหมณ์) ตัดกิเลสเครื่องข้องเหล่านั้นทั้งหมด ซึ่งแผ่ซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูป เป็นต้น.
               บทว่า วิเนยฺย หทเย ทรํ ความว่า กำจัดคือระงับความกระวนกระวายที่อยู่ในใจ.
               บทว่า สนฺตึ ปปฺปุยฺย เจตโส ความว่า ถึงการดับกิเลสแห่งจิต.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เจตโส นั่นเป็นกรณะ (ตติยาวิภัติ). อธิบายว่า บรรลุนิพพานด้วยจิต เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า สพฺพํ เจตสา สมนฺนาหริตฺวา แปลว่า ประมวลทุกสิ่งมาด้วยใจ.

               จบอรรถกถาหัตถกสูตรที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ เทวทูตวรรคที่ ๔ ๕. หัตถกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 20 / 1อ่านอรรถกถา 20 / 473อรรถกถา เล่มที่ 20 ข้อ 474อ่านอรรถกถา 20 / 475อ่านอรรถกถา 20 / 596
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=3583&Z=3628
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=2946
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=2946
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :